เส้นทางการเลี้ยงปลาช่อนเงินล้าน ที่บ้านบางบอน สุพรรณบุรี (ตอนที่ 1)
เส้นทางการเลี้ยงปลาช่อนเงินล้าน ที่บ้านบางบอน สุพรรณบุรี (ตอนที่ 1)

ปลาช่อน เป็นสัตว์น้ำจืดที่ผู้คนรู้จักกันดี เนื่องจากทุกๆ แหล่งน้ำมักมีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ เนื้อและรสชาติค่อนข้างดีด้วย

แถวๆ จังหวัดสุพรรณบุรีมีผู้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพมายาวกว่า 30 ปีแล้ว บางคนสร้างฐานะด้วยปลาชนิดนี้ สร้างบ้านเรือนใหญ่โตดังคฤหาสน์

ที่บ้านบางบอน ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมชาวบ้านยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้หันมาปรับสภาพพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลาช่อนกันเกือบทั้งหมด

ด้วยสาเหตุหลักๆ ดังนี้ คือมีผลตอบแทนดีกว่าทำนา และอยู่ใกล้กับทะเล ทำให้สามารถหาซื้อปลาเป็ดมาเป็นอาหารปลาช่อนได้สะดวก นอกจากนี้ สภาพพื้นที่นี้อยู่ติดกับแม่น้ำ ทำให้มีสายน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีด้วย

"น้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาช่อน เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบความสะอาด หากมีไหลผ่านตลอด จะทำให้กินอาหารได้เก่ง และเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งยังปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

บ้านบางบอน มีคลองสองพี่น้องไหลผ่าน ในอดีตดูดน้ำมาทำนา ทำไร่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป ด้วยชาวบ้านสองฟากฝั่งคลองหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลาช่อนแทน และได้อาศัยสายน้ำดังกล่าวเป็นหัวใจหลักในการยึดอาชีพนี้

ชาวบ้านที่นี่จะดูดน้ำจากคลองเข้าบ่อเลี้ยงปลาตั้งแต่เช้าตรู่ยันพระอาทิยต์อัสดง โดยน้ำไหลผ่านบ่อเลี้ยงปลาช่อนและบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนไหลลงสู่กลับลำคลองอีกครั้ง

ในการเลี้ยงปลาช่อนแต่ละรุ่นต้องใช้ระยะเวลานานเกือบ 8 เดือน ถึงจะสามารถจับขายได้ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้น้ำและอาหารปริมาณมากเลยทีเดียว

ที่นี่ชาวบ้านจะเดินทางไปซื้อปลาทะเลหรือปลาเป็ดที่มหาชัยทุกวัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปลาสดๆ มาเป็นอาหารปลาช่อน โดยไม่หวังพึ่งอาหารสำเร็จรูป ด้วยว่าการเจริญเติบโตช้า ต้นทุนสูง ไม่คุ้มกับการลงทุนนั่นเอง

ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ ทดลองเรื่องอาหารมาหลายสูตรแล้ว สุดท้ายสู้ปลาเป็ดจากท้องทะเลไม่ได้ เพราะว่าเจริญเติบโตดี คุ้มกับการลงทุน

บ้านบางบอน อยู่ห่างจากจังหวัดสมุทรสาครไม่ถึงร้อยกิโลเมตร ขับรถไปกลับใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นเอง

การเลี้ยงปลาช่อนของชาวบ้านที่นี่จึงมีความพร้อมหรือสะดวกกว่าที่อื่นๆ มิแปลกใจเลยที่ผู้คนส่วนใหญ่ยึดอาชีพนี้ จนกลายเป็นหมู่บ้าน "ปลาช่อน" ไปเลย

หันมาเรื่องตลาดรับซื้อปลาช่อนนั้น มีอยู่ 3 แห่งใหญ่ๆ คือตลาดไท ตลาดปลาน้ำจืดที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดนครปฐม ซึ่งทุกๆ วันจะมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเข้ามาซื้อผลผลิตปลาช่อนของชาวบ้าน เพื่อนำส่งในตลาดดังกล่าว

น้อยรายที่เลี้ยงเอง ส่งขายเอง ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าคนกลางจัดการให้ ทั้งนี้เพราะว่าไม่ต้องเสียเวลาในการขนส่ง และไปนั่งขายเองด้วย

ปลาช่อนที่วางขายในตลาดไทหรือตลาดอ่างทองและนครปฐมนั้น จะถูกพ่อค้าขายส่งซื้อสินค้าไปกระจายเข้าสู่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทยเลยทีเดียว

รู้จัก ผู้ใหญ่ประจวบ สมเหมาะ สร้างฐานะด้วยปลาช่อน

คุณประจวบ สมเหมาะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพกว่าสิบปีแล้ว และใครเป็นแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นประจำ ก็คงรู้ประวัติความเป็นมาแล้ว เพราะว่าได้สัมภาษณ์นำมาตีพิมพ์ เมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา

กาลเวลาผ่านไปผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางกลับไปหาคุณประจวบอีกครั้ง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา วันนี้แตกต่างกับวันนั้นโดยสิ้นเชิง

บ้านที่เคยอาศัยหลังเล็กๆ ได้กลายเป็นหลังใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินดินปากทางเข้าฟาร์มเลี้ยง

รถยนต์ที่เคยใช้รถกระบะเก่าๆ แต่วันนี้เปลี่ยนไป กลับมีรถสี่ประตูใช้เป็นพาหนะคู่ใจ

แม้ว่าอายุมากขึ้น แต่สีหน้าและรอยยิ้มยังเหมือนเดิม บ่งบอกถึงความสุขในครอบครัว และอาชีพที่เขาบรรจงเลือก

ผู้ใหญ่ประจวบ บอกว่า เหตุที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว ก็เพราะว่าเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ส่งผลให้สัตว์น้ำมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะปลาช่อน ทำให้เจ้าของฟาร์มได้กำไรกันมาก

"ช่วงนั้นหมู่บ้านของผมคึกคักมากเลย ทุกคนมีเงินเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือคนที่หาลูกปลามาขาย อีกทั้งมีพวกพ่อค้าแม่ค้าขาจร ขับรถกระบะเข้ามารับซื้อปลาช่อนปากบ่อ เพื่อนำสินค้าไปขายทั่วประเทศ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านมาก"

"ผมเลี้ยงปลาช่อนไว้กว่า 10 บ่อ จับขายได้แต่ละบ่อ 10 ตันเศษ ทำเงินไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านต่อบ่อ ในขณะที่ปลาเหยื่อหรือปลาเป็ดราคายังไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก คือ 6-7 เท่านั้นเอง เพราะว่าราคาน้ำมันยังถูกอยู่ ผมและชาวบ้านที่เลี้ยงปลาช่อนได้กำไรค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว" ผู้ใหญ่ประจวบ เล่าด้วยรอยยิ้ม

ปีนี้ราคาดี แต่ผู้เลี้ยงเศร้า

แต่สำหรับปีนี้ผู้ใหญ่ประจวบพูดด้วยน้ำเสียงเบาๆ ว่า คงไม่เหมือนปีที่ผ่านๆ มา เพราะว่าราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ และสภาพเศรษฐกิจขาลง ผู้บริโภคเริ่มประหยัดกันมาก

ราคาน้ำมันสูง ทำให้ราคาปลาเป็ดที่มหาชัย ปรับตัวขึ้นจาก 6-7 บาท เป็น 9-10 บาท นอกจากนี้ ค่าน้ำมันที่ใช้กับเครื่องสูบน้ำก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

"ปัจจุบันนี้ราคาซื้อปลาใหญ่อยู่ที่ 80 บาท ต่อกิโลกรัม แต่เฉลี่ยไซซ์รวมอยู่ที่ 68-69 บาท ถ้าเป็นปีก่อนๆ ได้กำไรมาก แต่ปีนี้เกือบขาดทุนเลย เนื่องจากปัจจัยมาจากราคาน้ำมันเป็นหลัก" ผู้ใหญ่ประจวบ กล่าวและว่า โอกาสที่ราคาปลาปรับตัวมากกว่านี้ ก็แทบไม่มีด้วย เนื่องจากปัจจุบันนี้ปลาช่อนที่จังหวัดสุพรรณบุรีออกสู่ท้องตลาดน้อยลง ไม่ใช่สาเหตุมาจากคนเลี้ยงน้อยหรอก เข้าใจว่าผู้บริโภคหันไปซื้ออาหารชนิดอื่นที่มีราคาถูกมากขึ้น ด้วยว่ามีเงินน้อยลงนั่นเอง

"เมื่อก่อนราคารับซื้อปลาจะแพงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน แต่เดี๋ยวนี้แพงตลอดเกือบทั้งปี แต่โอกาสขยับสูงกว่า 80 บาท แทบจะไม่มี เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อจำกัด เมื่อก่อนปลาช่อนจากจังหวัดสุพรรณบุรีออกสู่ตลาดวันละ 3,000 ลัง แต่ปีนี้เหลือเพียง 2,000 ลัง หรือ 1,000 กิโลกรัมเท่านั้นเอง"

เมื่อราคารับซื้อไม่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ตามสภาวะต้นทุนการผลิต เพราะว่าผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก โดยเฉพาะปลาช่อน ด้วยว่าเป็นปลาเศรษฐกิจ แต่มาบัดนี้เริ่มส่อแววให้เห็นแล้ว

ผู้ใหญ่ประจวบ บอกว่า หากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดคะเนไว้ ผู้เลี้ยงทุกคนต้องได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่หรือลดปริมาณการเลี้ยงลง เพื่อประคองตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤตให้ได้

"ผู้เลี้ยงปลาช่อนมีขึ้นมีลง หากจำไม่ผิดเราเคยมีเหตุการณ์ราคาปลาตกต่ำมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 5-6 ปี ที่ผ่านมา พวกเราก็สามารถประคองตัวเองมาได้จนถึงทุกวันนี้เลย"

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นผู้ใหญ่ประจวบบอกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของสินค้าเกษตร มีขึ้นและมีลง แต่ที่สำคัญเราจะปรับตัวอย่างไร ถึงจะปลอดภัย ไม่ขาดทุน และอยู่วงการนี้ได้ตลอดไป

"อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลาช่อน ยังดีกว่าอาชีพอื่นอยู่มาก โดยเฉพาะทำนา เพราะว่าผมเคยผ่านอาชีพนี้มาแล้ว ทำนานั้นมีอยู่มีกินไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะร่ำรวยได้ แต่อาชีพการเลี้ยงปลาช่อนมีสิทธิ์ที่ก้าวกระโดด และขณะเดียวกันมีสิทธิ์จนหรือเป็นหนี้ได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับการจัดการหรือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากกว่า เป็นงานที่ท้าทาย แต่สำหรับผมนั้นประสบการณ์ช่วยได้เยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูแลหรือเลี้ยงปลา และการตลาด เป็นต้น มันช่วยให้ผมประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้เลย" ผู้ใหญ่ประจวบ กล่าว

สำหรับมือใหม่หรือคนที่กำลังจะเข้าสู่อาชีพนี้ผู้ใหญ่ประจวบแนะนำว่า ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนได้เกือบทั้งปี และต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม อยู่ใกล้แหล่งน้ำและอาหารปลาสดๆ จากท้องทะเล

"ปลาช่อนนี้กินอาหารมาก ผมเลี้ยง 10 บ่อ วันหนึ่งๆ ต้องซื้อปลาสดมาให้กิน 20,000-30,000 บาท แล้วเดือนๆ กินอาหารหลายแสนบาท เราต้องมีเงินทุนสำรอง ไม่ใช่ไปกู้เงินดอกเบี้ยสูงมาเลี้ยง มันอาจจะขาดทุนได้ ทางออกที่ดีสำหรับมือใหม่ ให้เริ่มจากจุดเล็กๆ เลี้ยงเพียง 1-2 บ่อ เพื่อให้ได้ประสบการณ์และใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างน้อยด้วย เมื่อจับขายได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้ว ก็ค่อยขยับขยายบ่อออกไป โดยทยอยปล่อยปลา 2-3 เดือน ต่อบ่อ ทั้งนี้เพื่อป้องกันเรื่องเงินหมุนเวียนไม่ทันได้ เพราะว่าสามารถทยอยจับปลาขายได้ไปเรื่อยๆ เกือบทุกเดือนเลยทีเดียว" ผู้ใหญ่ประจวบ กล่าวแนะนำสำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ

ส่วนราคารับซื้อจะดีหรือไม่ดี มันเป็นเรื่องกลไกลด้านตลาด ปีนี้ตกต่ำ ปีหน้าอาจจะกระโดดสูงก็ได้ ใครจะไปรู้ ขอให้เตรียมความพร้อมไว้ก่อนก็แล้วกัน



Create Date : 20 กรกฎาคม 2549
Last Update : 20 กรกฎาคม 2549 8:27:24 น.
Counter : 11971 Pageviews.

1 comments
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
ไม่ลอดช่องโหว่ ปัญญา Dh
(2 ม.ค. 2567 13:44:30 น.)
ประสบการณ์ ทำพาสปอร์ตที่สายใต้ใหม่ newyorknurse
(2 ม.ค. 2567 17:45:17 น.)
  
โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) วันที่: 20 กรกฎาคม 2549 เวลา:15:24:06 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด