การทำนาด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านแบบอีสาน2
ข้าวและเรื่องราวแห่งชาวนา

การทำนาด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านแบบอีสาน (2) เทคนิคดั้งเดิม ลืมกันหรือยัง

หลัง จากที่ได้กล่าวถึงการเตรียมแปลงตกกล้าและการคัดเลือกพันธุ์ข้าวในการทำนา อินทรีย์ตามแบบภูมิปัญญาภาคอีสานมาแล้ว ครั้งนี้จะมาเรียนรู้เพิ่มเติมในกระบวนการทำนาต่อไปในกรรมวิธีของการตกกล้า ของชาวนาในแถบภาคอีสานมักจะทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

การตกกล้าน้ำ เป็นการตกกล้าในแปลงที่มีน้ำขังอยู่ไม่มากนัก ซึ่งหลังเตรียมแปลงเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำพันธุ์ข้าวหว่านลงในแปลงตกกล้า วิธีการหว่าน จะใช้มือที่ถนัดกำเมล็ดข้าวยกขึ้นอยู่ระหว่างสายตา แล้วหว่านโดยใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง ดีดเมล็ดข้าวออกไป และอีก 2 นิ้ว กำเมล็ดข้าวที่เหลือไว้ แล้วค่อยๆ ปล่อยเมล็ดข้าวออกไปจนหมดกำ พร้อมกับเดินถอยหลังช้าๆ เพื่อทำให้มองเห็นเมล็ดข้าวที่หว่านไปว่าถี่หรือห่างเกินไป อาจจะให้ห่างกันประมาณ 2 เซนติเมตร หรือมองให้เห็นพื้นดินได้ เพราะหากหว่านข้าวติดกันเกินไปจะทำให้ต้นข้าวต้นเล็ก เมื่อนำมาดำจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่

การตกกล้าน้ำนั้น หากดินในแปลงนาตกกล้ามีลักษณะเป็นดินเลนหรือดินเละจนเกินไป ควรรอให้ดินแข็งตัวขึ้นประมาณ 15-20 นาที จึงหว่านข้าวลงไป เนื่องจากหากหว่านข้าวในขณะที่ดินยังเละอยู่จะทำให้กล้าถอนยาก แต่ในกรณีที่ในนามีน้ำมากก็อาจนำพันธุ์ข้าวที่เตรียมไว้มาหว่านลงไปในแปลงนา ตกกล้าเหมือนเดิม แต่หลังจากหว่านแล้วประมาณ 1-2 คืน รากข้าวจะหยั่งลงดินและจะเริ่มตั้งตัวได้ก็จะปล่อยน้ำออกเพื่อให้เมล็ดข้าว ได้รับอากาศและสามารถแทงหน่อได้ เกิดเป็นต้นกล้าต่อไป

ส่วนการตก กล้าผง (การตกกล้าแห้ง) เป็นการตกกล้าในขณะที่แปลงนาไม่มีน้ำ ดังนั้น หลังจากเตรียมแปลงตกกล้าแล้ว หว่านข้าวจะเหมือนกับวิธีตกกล้าน้ำ เพียงแต่พันธุ์ข้าวไม่ต้องแช่น้ำเหมือนการตกกล้าน้ำ เมื่อหว่านข้าวแล้วก็จะเก็บหญ้าไปพร้อมกันด้วย เพราะการเก็บหญ้าจะทำให้ดินถมเมล็ดข้าวด้วย หลังจากที่หว่านข้าวแล้วก็ต้องไถคราดเพื่อให้ดินกลบเมล็ดข้าวอีกครั้ง



เทคนิคการถอนกล้า

การ ทำนาอินทรีย์อาจประสบกับปัญหาการถอนกล้ายาก เนื่องจากการปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยคอกลงในนาทำให้ดินร่วนซุย ส่งผลให้รากข้าวจะใหญ่ เยอะ และหยั่งลงในดินได้ลึก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะดินในแต่ละแปลงด้วย ทั้งนี้การถอนกล้าในนาอินทรีย์หากจะให้ถอนง่าย ควรเอาน้ำหมักชีวภาพมาฉีดใส่ในแปลงนาตกกล้าก่อนที่จะถอนกล้าประมาณ 7 วัน จากนั้นจึงค่อยถอนกล้าจะทำให้ต้นกล้าถอนง่ายขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ว่าใช้ได้เฉพาะในการตกกล้าน้ำเท่านั้น นอกจากนี้ พันธุ์ข้าวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะข้าวบางพันธุ์มีลักษณะรากใหญ่ ไม่เหมาะกับการทำนาดำ เช่น ข้าว กข เป็นต้น แต่ข้าวที่มีลักษณะเด่นเรื่องการถอนกล้าง่าย คือ ข้าวนางนวล ซึ่งเป็นข้าวพื้นบ้านที่กำลังจะสูญหายไปหากไม่มีการอนุรักษ์พันธุ์ไว้

นอก จากนี้ วิธีการถอนกล้าในนาอินทรีย์ให้ง่ายขึ้นจะทำโดยการเปิดน้ำเข้านาให้รากข้าว ได้ดูดซับน้ำ รากจะขาวสวย แล้วเวลาจะถอนกล้าก็เปิดน้ำออกจากนาให้น้ำแห้งอยู่หลายวัน แล้วจึงเปิดน้ำใส่นาใหม่อีกครั้งเพื่อจะได้มีน้ำไว้หล่อเลี้ยงรากของต้นกล้า ที่ถอนแล้ว จากนั้นรีบถอนกล้าทันที เนื่องจากดินจะแข็ง เวลาถอนกล้าจะทำให้ดินไม่ติดรากข้าวมามากเกินไป

ต้นกล้าที่อยู่ใน ระยะที่เหมาะสำหรับการถอนกล้า (หลกกล้า) ไปดำนั้น จะเป็นกล้าที่มีอายุประมาณ 20-25 วัน กรณีหากมีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่หากน้ำในแปลงนาตกกล้าไม่มี ก็สามารถรอจนกระทั่งมีน้ำ แต่ก็ไม่ควรเกิน 30-35 วัน เพราะหากเกินระยะเวลานี้ไปจะทำให้กล้าบั้ง (คือกล้าที่แก่มากแล้ว ต้นข้าวจะมีปล้องเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถนำไปดำได้) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะห่างของการหว่านกล้าด้วย ซึ่งหากหว่านกล้าถี่เกินไปจะทำให้กล้าแน่น ต้นกล้าจะแตกกอไม่ได้ ส่งผลให้กล้าแตกปล้องเร็ว กลายเป็นกล้าบั้ง

ลักษณะของต้นกล้าที่ เป็นกล้าบั้งแล้ว มีวิธีการแก้ไขอยู่บ้าง แต่มีข้อจำกัดคือใช้ได้สำหรับนาตมเท่านั้น โดยการถอนต้นกล้าที่เป็นกล้าบั้งแล้วไปปักดำในแปลงนาดำ ให้ปล้องต้นข้าวที่เกิดอยู่ใต้ดิน แต่ก็จะมีข้อเสียตามมาคือ ต้นข้าวจะไม่สามารถแตกกอได้ จะมีข้าวเพียงต้นเดียว แต่ในกรณีนี้เกษตรกรบางคนจะชอบ เนื่องจากการดำข้าวต้นเดียวจะทำให้รวงใหญ่ หนัก ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถอนต้นกล้าคือ ช่วงตอนเย็นแดดอ่อนๆ ซึ่งการถอนกล้าก็ต้องมีความระมัดระวังในการถอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากเราถอนกล้าไม่เป็นก็จะทำให้กล้าขาดได้

เมื่อถอนกล้า ได้ พอกำแล้วบางครั้งต้นกล้าในกำอาจจะมีต้นที่รากขาดติดอยู่ด้วย วิธีการเลือกเอาต้นกล้าที่ขาดออก ทำได้โดยการจับรากข้าวขึ้นข้างบนแล้วให้ยอดข้าวอยู่ข้างล่าง จากนั้นจึงสั่นต้นกล้าเบาๆ ต้นกล้าที่รากขาดก็จะร่วงลงมา เนื่องจากไม่มีรากติดอยู่

เมื่อถอนต้นกล้าประมาณพอมือกำได้แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในระยะการถอนกล้าก็คือ การเตะกล้า เพื่อทำให้ดินและวัชพืชที่ติดอยู่ที่รากข้าวหลุดออกไป เพราะหากต้นกล้ามีดินติดอยู่จะทำให้เวลาย้ายกล้าไปปักดำจะทำให้มัดกล้าหนัก เกินไปรวมทั้งการแยกต้นกล้าไปปักดำก็ทำได้ลำบาก ข้อควรระวังในการเตะต้นกล้าก็คือ อย่าเตะต้นกล้าแรงจนเกินไปเพราะจะทำให้ต้นกล้าช้ำ ลักษณะการเตะ ควรเตะในระยะห่างจากรากกล้าขึ้นมาเล็กน้อยแต่ไม่ควรถึงช่วงกลางต้นกล้า แต่สามารถหลีกเลี่ยงการเตะต้นกล้าได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อแปลงนาตกกล้าอยู่ใกล้คลองน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยใช้วิธีการโยกน้ำ (หยวกกล้า) แทน คือนำต้นกล้าที่ถอนแล้วไปแกว่งในน้ำเพื่อให้ดินหลุดออกจากรากต้นกล้า แต่ถ้าลักษณะแปลงนาตกกล้าเป็นดินเหนียวก็ต้องใช้วิธีโยกน้ำอย่างเดียว เนื่องจากดินเหนียวจะติดอยู่ที่ต้นกล้า ไม่สามารถเตะออกได้

เมื่อดิน ออกจากรากต้นกล้าแล้ว เราก็จะทอบกล้า คือการรวบต้นกล้าและจัดให้ต้นกล้ามีรากที่สม่ำเสมอกัน เมื่อได้กล้าพอที่จะมัดได้แล้ว จึงมัดกล้าโดยใช้ตอกรวบต้นกล้าเข้าหากัน โดยระยะการมัดตอกนั้นต้องประมาณให้พอดี หากมัดตอกในระยะที่ใกล้กับรากกล้าจนเกินไปจะทำให้รากต้นกล้าบานออกไม่แข็ง แรง ซึ่งช่วงการมัดต้นกล้าจะมัดอยู่ประมาณช่วงกลางของต้นกล้าพอดี หรือมัดเลยจากบือกล้า (ช่วงที่ใบของต้นกล้าแยกออกจากกัน) ขึ้นไปเล็กน้อย



วิธีการพักกล้า

เมื่อ ถอนกล้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องพักกล้าไว้ก่อน เนื่องจากหากมีการพักต้นกล้าไว้ก็จะทำให้ต้นกล้าแข็งตัวขึ้น ทำให้ดำได้ง่าย ไม่อ่อนเหมือนการถอนต้นกล้าแล้วดำเลย ซึ่งวิธีการพักกล้านั้นจะต้องนำเอามัดกล้ามาเบียดกันให้แน่นเพื่อทำให้ลำต้น กล้าแข็งแรง แล้วยังเป็นการกระตุ้นการงอกของรากใหม่ที่จะเป็นตัวดูดซับอาหารและสะสมน้ำ ส่วนรากเก่าก็เป็นที่สะสมอาหารด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ต้นกล้าที่ได้รับการพักตัวจะไม่เหี่ยวเฉา ถึงแม้จะถูกแดดมากก็ตาม ส่วนระยะการพักกล้าควรพักไว้ประมาณ 1-2 คืน และต้องแช่รากกล้าไว้ โดยให้ปริมาณน้ำพอท่วมรากกล้าพอดี หรือประมาณน้ำท่วมหลังเท้าก็ได้



วิธีการเตรียมแปลงนาปักดำ

การ เตรียมแปลงนาปักดำจึงไม่แตกต่างไปจากการเตรียมแปลงตกกล้ามากนัก คือการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไปในแปลงนาปักดำแล้วจึงไถดะ (ไถฮุด) กลบปุ๋ย ตอฟาง วัชพืชต่างๆ ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อพร้อมที่จะปักดำก็จะไถพรวน (ไถค่น) แล้วจึงคราดแปลงนาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพของแปลงนาปักดำด้วย หากแปลงนาเป็นดินทรายก็ไม่ต้องคราดอีกเพราะดินทรายหากพื้นดินเรียบจะทำให้ ดินแข็งปักดำได้ยาก แต่หากแปลงนาดินตมก็อาจจะใช้การคราดอีกครั้งเพราะจะทำให้ดินนิ่ม ปักดำได้ง่าย นอกจากนี้ ยังทำให้ดินร่วนซุยและจัดการวัชพืชด้วย

วิธี การใส่ปุ๋ยในการเตรียมแปลงนาปักดำ ควรจะใส่ในช่วงการไถดะ (ไถฮงุด) จะดีกว่าการใส่ปุ๋ยในช่วงไถพรวนแล้วปักดำ เนื่องจากแปลงนาปักดำจะมีน้ำทำให้เดินใส่ปุ๋ยลำบาก ซึ่งหากใส่ตั้งแต่ตอนไถดะให้เพียงพอ เมื่อไถพรวนและคราดเพื่อเตรียมปักดำ ก็จะเป็นการไถเพื่อพลิกดินที่มีปุ๋ย และเศษซากวัชพืชต่างๆ ที่ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยเช่นเดียวกันกลับขึ้นมาอยู่บริเวณหน้าดิน ทำให้เมื่อปักดำแล้วรากข้าวจะสามารถดูดกินปุ๋ยที่อยู่หน้าดินได้ง่าย เพราะลักษณะของรากข้าวจะไม่แทงรากลงในดินลึกเกินไป

ต้นกล้าที่จะนำ มาปักดำ จะต้องตัดยอดของต้นกล้าออก เพื่อความสะดวกในการนำไปปักดำ เพราะหากดึงต้นกล้าออกมาปักดำ ต้นกล้าจะไม่ติดตอกมัดกล้า ดึงได้สะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญการตัดยอดกล้าออกจะทำให้เวลาปักดำต้นกล้าจะตั้งตัวได้ดี ลมพัดจะไม่ล้มและทำให้ต้นกล้าคายน้ำได้ดีอีกด้วย ซึ่งหากในแปลงนาดำมีน้ำน้อยก็ให้ตัดยอดออกห่างจากระยะมัดกล้าประมาณ 10-15 เซนติเมตร หรือระยะ 1 กำมือ แต่หากในแปลงนาดำมีน้ำมาก ก็ให้ตัดขึ้นมาอีก ที่สำคัญต้องไม่ให้น้ำท่วมต้นกล้าที่เอาไปปักดำได้ เพราะจะทำให้ต้นกล้าเน่าตายได้ วิธีการตัดยอดของต้นกล้านี้อาจจะกระทำในช่วงระยะพักกล้าไว้เลยก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของชาวนาในแต่ละพื้นที่



การปักดำ หรือการดำนา

การ ปักดำจะทำโดยการอุ้มมัดกล้าด้วยมือที่ไม่ถนัดและมืออีกข้างหนึ่งดึงต้นกล้า ลงมาปักดำ การดำ 1 ต้น จะใช้ต้นกล้าประมาณ 2-3 ต้น (กีบ) ถ้าต้นกล้าสวยต้นใหญ่จะใช้ต้นกล้าดำแค่ต้นเดียว หรือ 1 ต้น อาจจะแยกเป็น 2-3 ต้นก็ได้ แต่หากต้นกล้ามีน้อย ก็จะปักดำประมาณไม่เกิน 2 ต้น (ต้น) ต่อข้าว 1 ต้น ระยะห่างของการปักดำต้นกล้าอยู่ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของดินอีกเช่นกัน ซึ่งหากดินในแปลงปักดำดีก็ปักดำในระยะห่างกว่านี้เพื่อให้ข้าวแตกกอดี แต่ถ้าดินในแปลงปักดำไม่ดีก็ให้ปักดำต้นข้าวให้ถี่ขึ้น ตามคำของชาวนาในอดีตกล่าวไว้ว่า "ดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง"

ลักษณะ การปักดำจะมีการปักดำถอยหลังเป็นแถวแบบสับหว่างไปเรื่อยๆ และปักดำต้นกล้าลงไปให้ลึกพอที่ต้นข้าวจะสามารถอยู่ได้และรากต้นข้าวไม่ลอย ขึ้นมา การปักดำจะใช้นิ้วหัวแม่มือปักลงไปในดินให้อยู่ประมาณข้อของนิ้วหัวแม่มือ และใช้นิ้วก้อยเกี่ยวต้นข้าวไว้ แต่ถ้าแปลงนาไม่มีน้ำ จะใช้ไม้เจาะให้เป็นรูแล้วเอาต้นข้าวลงไปปักดำ จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือกดดินถมลงไปให้แน่น นิ้วก้อยเกี่ยวต้นข้าวเช่นเดียวกับการปักดำนามีน้ำ แต่ต้องระวังว่าอย่าให้รากข้าวอยู่ลึกจนเกินไปเพราะอาจทำให้ต้นข้าวไม่ สามารถแตกกอได้

ในช่วงแรกของการปักดำ ภายในแปลงนาปักดำต้องระบายน้ำออกให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้ต้นข้าวเจริญ เติบโต แตกกอดีและแข็งแรง ซึ่งการรักษาระดับน้ำต้องไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป หรือให้ประมาณพอท่วมหลังเท้า ประมาณ 5 เซนติเมตร พอให้ดินเป็นขี้ตม ข้อควรระวังคือ อย่าให้น้ำในแปลงนาปักดำแห้งเพราะจะทำให้ดินแน่นและแตกเขิบ (ลักษณะดินจะแตกออกจากกันและม้วนขึ้น) ต้นข้าวจะไม่สามารถแตกกอและเจริญเติบโตได้ เมื่อต้นข้าวเกิดและสามารถแตกกอได้แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าในแปลงนาปักดำอีก ครั้ง

การทำนาแบบอินทรีย์นั้นมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน เพียงแค่ใส่ใจในรายละเอียดบางขั้นตอน หรือเรียนรู้เทคนิคจากบรรพบุรุษที่ได้สั่งสมกันมาเป็นระยะเวลานาน เท่านี้เราก็จะสามารถสร้างการพึ่งตนเองให้กับครอบครัวได้แล้ว เป็นเสมือนเกราะคุ้มกันภาวะความเสี่ยงของชาวนาในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน ที่ไม่รู้ว่าราคาข้าวในอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่หากสามารถลดต้นทุนในการผลิตให้น้อยที่สุดก็คงจะสร้างทางเลือกใหม่ให้กับ ชาวนาได้ โดยการกลับมาทำนาอินทรีย์ เลิกใช้ปุ๋ย ใช้ยาปราบศัตรูพืช อนาคตคงสดใสขึ้นเป็นแน่

ติดตามต่อได้ในฉบับต่อไป



เทคนิคการตกกล้าและการดูแล

ไม่ควรหว่านกล้าก่อนฝนตกใหญ่ เพราะเมล็ดจะกระเด็น ทำให้บางจุดมีข้าวฝังลึก ถอนลำบาก

เวลาหว่านกล้า อย่าให้น้ำขังในแปลงนามาก เพราะตรงที่น้ำขัง ข้าวจะงอกช้าหรือเน่า หรือจะทำให้ต้นข้าวมีราก ถอนยาก

กล้า 1 งาน ใช้พันธุ์ข้าวหว่านประมาณ 30-40 กิโลกรัม สามารถดำนาได้ประมาณ 8-10 ไร่ (กล้าที่ใช้ดำ ถ้าเป็นกล้าอ่อนหรืออายุไม่ถึง 1 เดือน จะดำได้พื้นที่น้อย แต่ถ้าเป็นกล้าแก่ จะดำได้พื้นที่มากกว่า)

หลังจากหว่าน ให้ขังน้ำไว้ 1 คืน แล้วค่อยๆ ระบายน้ำออก อย่าให้น้ำไหลแรง เพราะเมล็ดข้าวจะไหลมากองรวมกัน

ให้รักษาระดับน้ำในแปลงตกกล้า เพียงระดับน้ำเจือพื้น

การ หว่านกล้า อย่าให้น้ำขังเป็นแอ่ง เพราะในกรณีที่ยังไม่ได้แช่ข้าวก่อน แต่มีน้ำในแปลงตกกล้าพอ ให้นำข้าวเปลือกมาแช่น้ำประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นนำมาหว่านและให้ขังน้ำหมักข้าวที่หว่านในแปลงประมาณ 3 วัน จึงค่อยระบายน้ำออก

ต้นข้าวเมื่อเริ่มงอก จะใช้อาหารจากเมล็ด ต่อเมื่อกล้ามีใบ 4 ใบ จึงเริ่มหาอาหารจากดิน ดังนั้น ถ้าตกกล้าอายุไม่เกิน 30 วัน ไม่ควรใส่ปุ๋ย เพราะจะทำให้ต้นกล้าสูง รากน้อยและอ่อนแอ ไม่เหมาะที่จะนำไปดำนา

เมื่อกล้าข้าวงอกได้ 7 วัน สูงประมาณ 7-10 เซนติเมตร และมีใบ 2 ใบ ควรปล่อยน้ำเข้าแปลง ให้ระดับน้ำสูง 5-7 เซนติเมตร (ประมาณเกือบท่วมยอดเพื่อให้ข้าวยืนตัวได้เร็ว)

เมื่อกล้าสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ถ้าน้ำในแปลงยังไม่แห้ง ยังไม่ต้องปล่อยน้ำเข้าแปลงเพิ่ม เพราะถ้าให้น้ำมาก กล้าข้าวจะแตกข้อ (กล้าบั้ง) เมื่อนำไปดำ ข้าวจะแตกกอไม่ดี และออกรวงน้อย

ต้นกล้าที่เหมาะนำไปดำ ควรมีอายุประมาณ 40 วัน สูง 40 เซนติเมตร มีสีเขียวตลอดต้น มีใบ 5-6 ใบ มีต้นเตี้ย กาบใบสั้น มีรากมาก รากมีขนาดใหญ่ (ถ้ากล้ามีสีเขียว ซีด-จางเหลือง แสดงว่ากล้านั้นขาดน้ำมากเกินไป หรือดินแน่นเกินไป เมื่อนำไปดำแล้วมีปัญหาฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง กล้าประเภทนี้จะเหี่ยวและตายก่อน

การ ตกกล้าหงอก คือการตกกล้าล่าช้าซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ลักษณะของต้นกล้าจะเป็นสีขาวฝอย ต้นน้อย แต่ก็สามารถนำไปปักดำได้ตามปกติ การเจริญเติบโตจะดีเหมือนการตกกล้าธรรมดา





เทคนิคการปักดำ

ต้อง มีน้ำพอเพียงในแปลงนาที่จะนำกล้าไปดำ ประมาณ 10 เซนติเมตร แต่ไม่น้อยกว่า 5-7 เซนติเมตร และไม่เกิน 30 เซนติเมตร หรือสูงเกินต้นกล้า เพราะถ้าน้ำสูงมาก ต้นกล้าที่ปักดำอาจลอยน้ำได้

ระยะห่างของการปักดำ คือ 25x25 เซนติเมตร หรือ 30x30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับพื้นที่ดิน ถ้าดินดีควรดำห่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นข้าวล้มทับกัน

ควรปักดำให้รากจมดินประมาณ 2-3 เซนติเมตร ถ้าปักดำลึก จะทำให้ต้นข้าวแตกกอช้า

การจับ ต้นกล้าสำหรับปักดำ ถ้าเป็นต้นกล้าแก่ ให้จับ 2-3 ต้น แต่ถ้าเป็นกล้าอ่อน ให้จับ 3-4 ต้น เพื่อว่าถ้าต้นบางส่วนตาย จะมีต้นอื่นทดแทน

ควรปักดำให้เป็นแถว เพื่อง่ายต่อการดูแล และการกำจัดวัชพืช

ควรปักดำกล้าเฉียงๆ ให้ปลายหันไปตามทางลม และทำมุมประมาณ 60 องศา จากพื้นดิน



Create Date : 30 ธันวาคม 2552
Last Update : 30 ธันวาคม 2552 8:49:37 น.
Counter : 4673 Pageviews.

0 comments
สวนรถไฟ : นกจับแมลงตะโพกเหลือง ผู้ชายในสายลมหนาว
(9 เม.ย. 2567 10:26:41 น.)
นุ่งซิ่นชมสวน๑/๖๗ ตะลีกีปัส
(3 เม.ย. 2567 10:35:45 น.)
เก๋งจีนดอกปลาดาว (Stapelia Gigantea) 2 ฟ้าใสวันใหม่
(27 มี.ค. 2567 08:42:58 น.)
森林公園 (Shinrin koen park) ช่วงดอกบ๊วยบาน (24 Feb 2024) SN_monchan
(25 มี.ค. 2567 06:28:37 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด