แปรรูปผลไม้กันเถอะ
แปรรูปผลไม้กันเถอะ

เป็นที่ทราบกันดีว่าบ้านเราเป็นดินแดนแห่งผลไม้นานาชนิด ทุกเดือนทุกฤดูเรามีผลไม้ให้กินไม่ซ้ำกัน อย่างช่วงนี้มะม่วงชุกชุมกินกันไม่หวาดไม่ไหวในทุกพื้นที่ ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งอร่อยไปกับลิ้นจี่ ลำไย ส้มสายน้ำผึ้งจากเมืองเหนือ และหลังจากนี้ก็จะมีผลไม้จำพวกทุเรียน มังคุด เงาะ จากภาคตะวันออก และอีกไม่นานผลไม้จากเมืองใต้ก็จะตามมา

สรุปว่ามีผลไม้ให้เลือกรับประทานได้ทั้งปี

เมื่อผลไม้บ้านเราออกมามาก แน่นอนว่าจะทำให้เกิดการล้นตลาด หนีไม่พ้นราคาตกต่ำ บางช่วงบางฤดูเกษตรกรของเราต้องขนผลไม้มาทิ้งบนถนนเป็นการประท้วงให้ภาครัฐออกมาดูแลรับผิดชอบ บ้างก็ขอให้ประกันราคารับซื้อ ได้บ้างไม่ได้บ้าง สุดแล้วแต่ว่าจะช่วยกันจริงจังมากน้อยแค่ไหน

นี่ละหนอวงจรเกษตรไทย เวรกรรมแต่ปางไหน ที่ผลักไสให้เกษตรกรตัวดำๆ ต้องรับกรรม

มีหลายท่านที่เคยพูดคุยกับผมถามว่าจะแก้ไขปัญหาผลไม้ล้นตลาดอย่างไร ผมก็ได้แนะนำว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายได้แนะนำเรื่องการแปรรูป เพราะคิดว่าน่าจะเป็นทางออกอย่างหนึ่ง และที่สำคัญคนไทยเรามีฝีมือ ทุกคนทำได้ไม่ยาก ลงทุนก็ไม่สูง หากเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อพูดถึงการแปรรูปทำให้ผมคิดถึงหลายคนที่เคยเห็นผลงานของเขาว่าเขาทำได้ดี

ว่าแล้วก็ขอยกตัวอย่างสัก 2-3 คน

คนแรกนั้น เป็นผู้หญิง เธอชื่อ "ศรีภา แสงฟ้าสุวรรณ" ผมเพิ่งพบกับเธอเมื่อไม่กี่วันมานี้ ในงานเปิดอบรมผู้ประกอบการใหม่ สาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอาหารฯ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดขึ้น

คุณศรีภา เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ "กล้วยอบเล็บมือนาง" หรือภาษาอังกฤษ "DRIED LADY FINGER BANANA" โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "SRIPA" ซึ่งตอนนี้สามารถส่งสินค้าแบบกล้วยๆ นี้ไปขายถึงแคนาดา และฝรั่งเศส

จุดเริ่มมาจากการที่บ้านเกิดของเธอที่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มีผลผลิตกล้วยเล็บมือนางมาก ทำให้คิดนำมาแปรรูปด้วยกรรมวิธีง่ายๆ โดยอาศัยความรู้ทางด้านการตลาดที่เรียนจบมาผสาน ปรากฏว่าใช้เวลาไม่นานกล้วยอบเล็บมือนางก็ติดตลาด จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

ทุกวันนี้ สินค้าของเธอสามารถนำไปวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศ อีกทั้งในร้านโกลเด้นเพลส ทุกสาขา

จากเดิมที่ผลิตในโรงงานเล็กๆ มีเครื่องอบแค่ 3 ตัว ก็เพิ่มเป็น 7 ตัว มีโรงอบที่ทันสมัย มีโรงเรือนบ่มกล้วย รวมทั้งโรงเรือนบรรจุภัณฑ์ กลายเป็นธุรกิจขนาดย่อม "SMEs ภูมิปัญญาไทย" ที่สามารถนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูปจนสร้างชื่อเสียงและสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

"ผลผลิตของเราเวลานี้เดือนละหลายสิบตัน เฉพาะที่ผลิตส่งออกก็ตกเดือนละ 5 ตัน และมีแนวโน้มว่าจะขยายตลาดได้อีก" คุณศรีภา บอกอย่างภูมิใจ

อันที่จริงยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ผมทึ่งในเรื่องงานแปรรูป คือ "มนรัตน์ สารภาพ" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "ไร่คุณมน" โดยเฉพาะกล้วยหอม มะขามแปรรูป ส่งขึ้นเสิร์ฟบนการบินไทย ผมเคยแวะไปเยี่ยมโรงงานของเธอที่กาญจนบุรี นึกไม่ถึงว่าจะดำเนินไปได้ก้าวไกลเพียงนี้

ไว้โอกาสดีๆ ค่อยมาพูดถึงกันอีกที

คนต่อมาเป็นสุภาพบุรุษ ที่มีชื่อเสียงเรียงนามระดับโกอินเตอร์ในเวลานี้ เขาชื่อ "อำนาจ อึ้งเจริญ" หรือ "คุณตุ๋ย" หรือที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตั้งฉายาว่า "มิสเตอร์ฟรุ้ต" เจ้าของผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง "เอโกะ" แหม! ฟังชื่อเหมือนว่าเป็นแบรนด์เนมของญี่ปุ่น แต่จริงๆ ไทยแท้ 100%

เรื่องนี้มีที่มาครับ

คุณตุ๋ยเล่าว่า วันที่ไปขอจดทะเบียนชื่อได้เตรียมไว้หลายชื่อแต่ตรวจสอบแล้วซ้ำหรือคล้ายกับชื่อที่เขามีอยู่แล้ว สุดท้ายก็มาคิดว่าตัวเองชื่อ "อำนาจ" ภาษาอังกฤษขึ้นต้นด้วยตัว "A " ข้างภรรยาชื่อ "กิ่งอ้อ" ขึ้นต้นด้วยตัว "K" กลายเป็น "AK" ออกเสียงไปออกเสียงมา ก็เลยกลายเป็น "เอโกะ" ด้วยประการละฉะนี้

ชีวิตหนหลังก่อนมาทำผลไม้แปรรูป ผ่านมาอย่างโชกโชน

"แต่เดิมแม่ผมเป็นแม่ค้า พ่อทำงานรับจ้างขนส่ง ผมเริ่มเก็บเงินทุนได้ก็มาทำสวนผลไม้ ตั้งใจจะปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี แต่กลับถูกหลอกให้พันธุ์สายน้ำผึ้งมา หลังจากนั้นอีก 4 ปี ผลไม้เกิดล้นตลาด ทำให้ราคาถูกลง เป็นวิกฤติที่ผมไม่มีวันลืมเลย"

นี่เป็นเพียงแค่เสี้ยววิกฤติในชีวิตของคุณตุ๋ยเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เขาหันมาลองทำสวนผักดูบ้าง แต่ไม่พ้นต้องประสบปัญหาผักล้นตลาดอีก

จากปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทำให้คุณตุ๋ยเริ่มศึกษาถึงทางหลุดพ้น เขาคิดว่าการที่จะขายผลไม้ให้ได้กำไรมากขึ้นจะต้องเป็นช่วงก่อนและหลังฤดูผลไม้ จึงตัดสินใจลงทุนทำห้องเย็นเพื่อเก็บผักผลไม้ไว้ขาย

กระทั่งวันหนึ่งได้ไปเจอขนุนที่จังหวัดหนองคาย เกิดมีความคิดว่าผลไม้เหล่านี้น่าจะมาทำอบแห้ง จึงเริ่มศึกษาข้อมูลการแปรรูปต่างๆ

ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจสร้างโรงงานแปรรูปขึ้นมา

คุณตุ๋ยได้สั่งซื้อเครื่องระบบทำแห้งแบบสุญญากาศ (VACCUM DRY) ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบจำนวน 1 เครื่อง จากนั้นงานแปรรูปก็เริ่มต้นขึ้น

ประจวบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฝีมือชาวบ้าน หรือผลิตภัณฑ์ OTOP งานแปรรูปของเขาจึงเริ่มต้นด้วยดี

ปัจจุบันผลไม้ที่อบแห้งมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ กล้วยหอม สับปะรด ขนุน ทุเรียน และมะม่วง ซึ่งมีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วไป

รวมทั้งส่งไปตีตลาดที่อเมริกาและจีน และอีกหลายประเทศที่กำลังดำเนินการ

จากการที่ลงมาคลุกคลีเรื่องการแปรรูปผลไม้ ทำให้ความคิดไม่หยุดนิ่ง คุณตุ๋ยมองเห็นว่านอกจากเนื้อผลไม้แล้ว ยังมีส่วนอื่นๆ ของผลไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ขายเป็นเงินหมุนเวียนได้อีก

อย่างเช่น ขนุน ยางขนุน สามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นกาวได้ เม็ดขนุน สามารถนำมาทำขนม แข่งกับเกาลัดได้ ส่วนเปลือกขนุน นำมาทำเป็นของหวานให้หมูและวัวกินได้

มะม่วง (ใช้พันธุ์มหาชนก) เปลือกมะม่วง สามารถนำมาแปรรูปทำเค็มกินเล่นได้ เม็ดมะม่วง นำไปเพาะปลูกต่อ ส่วนเนื้อมะม่วงที่สุกเกินกว่าที่จะนำมาอบแห้ง จะถูกนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้

หรืออย่างสับปะรด เปลือกสามารถนำมาทำของหวานให้สัตว์กินได้ เนื้อผลไม้ที่เหลือนำมาแปรรูปทำน้ำผลไม้ได้เช่นกัน

"ในการทำธุรกิจ สิ่งเหลือใช้ คุณอย่าคิดว่าเป็นขยะ ใช้การไม่ได้ หากนำมาพิจารณาให้ดี ขยะเหล่านี้สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจคุณได้อีก" คุณตุ๋ย ให้ข้อคิด

ในอนาคต คุณตุ๋ยตั้งใจที่จะเพิ่มผลผลิตเพื่ออบแห้งมากขึ้น ที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำคือมังคุด ลองกอง สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ เชอร์รี่ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังทดลองทำสะตออบแห้ง ได้นำมาผัดกับกุ้ง ปรากฏว่ารสชาติอร่อยไม่แพ้สะตอสดๆ

สิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งในการทำผลไม้อบแห้งของคุณตุ๋ยคือ การมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง เขาบอกว่า หากใครมีผลผลิตล้นตลาดไม่รู้ว่าจะไปขายให้ใคร เขายินดีรับซื้อทุกอย่าง ซึ่งไม่เฉพาะผลไม้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลผลิตชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทผักสดต่างๆ มะขามเปียก พริกขี้หนูแห้ง ฯลฯ

คุณตุ๋ย พร้อมที่จะเดินสายไปรับซื้อทั่วประเทศ

คุณตุ๋ย เล่าให้ฟังว่าเคยไปรับซื้อมังคุดที่จังหวัดพัทลุง เคยเจอผู้มีอิทธิพลเรียกค่าคุ้มครอง ต้องให้ระดับผู้ว่าฯ มาเจรจาก็เคยมีมาแล้ว

เหตุที่เขารับซื้อได้ไม่อั้น เพราะว่ามีห้องเย็นขนาดใหญ่ที่พร้อมจะรองรับผลผลิตได้นั่นเอง

นอกจากนี้ คุณตุ๋ยยังมีจิตใจช่วยเหลือสังคม เช่น คนงานที่มีประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ว่างงาน หรือแผนกที่ทำงานเบาๆ เช่น ปอกผลไม้ จะใช้คนสูงอายุ เขามีคนงานที่อายุมากที่สุด 78 ปี

ใครที่ได้อ่านเรื่องราวของคุณตุ๋ย เชื่อว่าอาจจะมีบ้างที่อยากจะพูดคุยกับตัวตนที่แท้จริง หรืออยากจะไปดูงานขั้นตอนการแปรรูปผลไม้ต่างๆ ก็เชิญได้ที่โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ ก.ม. 81 ถนนพหลโยธิน อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โทร. (01) 853-0219

ผมบอกได้เลยว่าคุณตุ๋ย ไม่หวงความรู้ ผมเองเคยไปเยี่ยม 2 ครั้ง พาสมาชิกไปดูงานนับร้อยคน เจ้าตัวไม่บ่นสักคำ แถมต้อนรับเป็นกันเอง

นอกจากนี้ ท่านที่สนใจงานแปรรูปผลไม้ หรือแปรรูปอาหารชนิดอื่นๆ ผมอยากแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ลองแวะไปเสาะหาความรู้ได้ที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่นั่นเขามีองค์ความรู้อยู่มาก ทั้งงานแปรรูปแบบพื้นๆ ไปจนเทคโนโลยีการแปรรูประดับอุตสาหกรรม

ผมเล่าเรื่องนี้มายืดยาวก็ไม่ได้หวังผลอะไรมาก

หวังแต่เพียงว่า จะได้จุดประกายในเรื่องงานแปรรูปให้กับพี่น้องเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจได้บ้าง เพราะผมมั่นใจว่า บ้านเรามีศักยภาพ มีวัตถุดิบเพียงพอ

พูดกันตรงๆ ผมไม่อยากเห็นพวกผลไม้แปรรูปที่บรรจุหีบห่อสวยๆ ของที่ไหนก็ไม่รู้ มาวางขายเย้ยสายตาถึงหน้าบ้านเรา

ผมว่าเราจะทำได้ดีกว่า แต่เราต้องรีบทำนะครับ



Create Date : 20 กรกฎาคม 2549
Last Update : 20 กรกฎาคม 2549 8:28:08 น.
Counter : 3445 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
ประสบการณ์ ทำพาสปอร์ตที่สายใต้ใหม่ newyorknurse
(2 ม.ค. 2567 17:45:17 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด