นักวิจัยชูพืชพลังงานชนิดใหม่ "มะเยาหิน" พืชพลังงานจากประเทศลาว ปลูกได้ดีในไทย ให้น้ำมันมาก
ศ.วิจิตรา



นับย้อนไป 2-3 ปี ให้หลัง แนวโน้มการศึกษาวิจัยพืชพลังงานทดแทนภายในประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สบู่ดำ และปาล์มน้ำมัน พืชพลังงานทดแทนน้ำมันในอันดับต้นๆ ที่นักวิชาการหลายคนเล็งเห็นถึงคุณค่า และประโยชน์ทางน้ำมัน กระทั่งนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลและนำไปทดลองใช้กับเครื่องยนต์จริงๆ บ้างแล้ว และจากความพยายามในการค้นหาแหล่งพลังงานทดแทนชนิดอื่นที่สามารถให้น้ำมันได้มากกว่าพืชทั้ง 2 ชนิด ที่กล่าวข้างต้นนั้น ล่าสุด นักวิจัย จากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ออกมาเปิดเผยว่า พบแหล่งพลังงานบนดินชนิดใหม่ จาก "มะเยาหิน" พืชพลังงานทดแทนน้ำมันจากฝั่งลาว วิจัยปลูกได้ผลดีในประเทศไทย คาดจะเป็นแหล่งพืชพลังงานชนิดใหม่ ที่เป็นทางเลือกทดแทนพืชน้ำมันเดิมในประเทศไทย เนื่องจากมีค่าความร้อนที่มีศักยภาพสูง พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการปลูกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนน้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลของเกษตรกร หรือผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล



เดินหน้า...โครงการวิจัย มะเยาหิน

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี หัวหน้าโครงการการประเมินศักยภาพพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) สำหรับภาคเหนือของประเทศไทย ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมมือกับสหกรณ์ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเพื่อชาติ ได้วิจัยโครงการการประเมินศักยภาพพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เครือข่ายภาคเหนือ) และจากวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศไทยสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการครองชีพและรายได้ที่ลดต่ำลงของประชาชน การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชพลังงานขึ้นใช้ภายในประเทศเป็นแนวทางในการลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ โครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาศักยภาพของการผลิตพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกในประเทศลาว

จากการศึกษาเบื้องต้นของศูนย์วิจัยพลังงานและสหกรณ์ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเพื่อชาติ พบว่าผลผลิตต่อไร่สูงกว่าสบู่ดำ มีปริมาณน้ำมันสูงถึง 400-500 ลิตร ต่อไร่ ใกล้เคียงปาล์มน้ำมัน มีค่าความร้อน 9,279 cal/g ใกล้เคียงกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ปริมาณผลผลิต ปริมาณน้ำมันของมะเยาหิน เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยก่อนที่จะนำไปส่งเสริมการผลิตเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศต่อไป

สำหรับการวิจัยโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

1.การศึกษาศักยภาพการให้ผลผลิตและปริมาณน้ำมันของมะเยาหิน

2. การศึกษาสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อใช้น้ำมันที่สกัดจากต้นมะเยาหิน โดยกระบวนการวิจัยจะเริ่มจากการรวบรวมสายพันธุ์มะเยาหินจากประเทศลาว นำมาทดสอบการให้ผลผลิต โดยมีการทดสอบที่ระยะการปลูกต่างๆ กัน และศึกษาแนวทางการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นเตี้ย สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และศึกษาแนวทางการสกัดน้ำมันที่เหมาะสม ทั้งการสกัดน้ำมันด้วยวิธีกล และการสกัดน้ำมันโดยใช้ตัวทำละลายทางเคมี นำน้ำมันที่ได้ไปศึกษาคุณสมบัติทางความร้อน เคมี และฟิสิกส์ หลังจากนั้นนำไปใช้ทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก สำหรับการเกษตร และประเมินผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ของการผลิตมะเยาหิน เปรียบเทียบกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสุ่มสำรวจเบื้องต้นของพืชน้ำมันชนิดใหม่ที่ปลูกในประเทศลาว พบว่าพืชชนิดนี้ ที่อายุ 5 ปี ติดผลปานกลาง ให้ผลผลิตต้นละประมาณ 3,026 ลูก คิดเป็นน้ำหนักเมล็ดประมาณ 22 กิโลกรัม ถ้าประเมินที่ระยะปลูก 4x4 เมตร จะให้ผลผลิตประมาณ 1,200-1,500 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผลผลิตสบู่ดำที่ปลูกในประเทศไทย 3-4 เท่า จากการนำตัวอย่างน้ำมันที่ได้มาวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า ค่าความร้อนใกล้เคียงกับสบู่ดำ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าพืชพลังงานชนิดใหม่มีศักยภาพสูงที่จะส่งเสริมการปลูกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์เกษตร หรือผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล แต่อย่างไรก็ตาม การนำพืชน้ำมันชนิดใหม่นี้มาปลูกในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการนำข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ทั้งทางด้านการผลิต เช่น ปริมาณการให้ผลผลิต การตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี อัตราการใช้น้ำ ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ การตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ต้นทุนการผลิต รวมถึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิง เช่น ค่าความร้อน ค่าความหนืด จุดวาบไฟ ฯลฯ ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ที่จะส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย

สำหรับพืชพลังงานชนิดใหม่ มะเยาหิน เป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่คนส่วนมากยังไม่ค่อยรู้จัก และมีศักยภาพในการผลิตพืชน้ำมันสูง รวมถึงอีกหลายคุณสมบัติที่เด่นชัดคือ เป็นพืชโตเร็ว ภายใน 2-3 ปี จะให้ผลผลิตและขนาดต้นที่ใหญ่ ช่วยคืนความชุ่มชื้นให้กับสภาพแวดล้อมและพื้นดิน มีอายุยาวนาน 60-70 ปี การบริหารจัดการน้อย เนื่องจากเป็นพืชป่า สามารถโตได้ตามธรรมชาติ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่สนใจนำไปทดลองปลูกแซมในพื้นที่สวน อาทิ สวนลำไย สวนลิ้นจี่ เป็นต้น



Create Date : 21 เมษายน 2551
Last Update : 21 เมษายน 2551 7:58:20 น.
Counter : 1405 Pageviews.

0 comments
แผ่นยิปซั่ม งานคุณภาพ ได้มาตรฐาน ราคาไม่แพง สมาชิกหมายเลข 7660567
(13 เม.ย. 2567 01:54:15 น.)
สวนรถไฟ : นกจับแมลงตะโพกเหลือง ผู้ชายในสายลมหนาว
(9 เม.ย. 2567 10:26:41 น.)
นุ่งซิ่นชมสวน๑/๖๗ ตะลีกีปัส
(3 เม.ย. 2567 10:35:45 น.)
ดอกไม้หายาก เอื้องดอกมะเขือ สมาชิกหมายเลข 4313444
(3 เม.ย. 2567 13:06:48 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด