เลี้ยงปูนิ่ม-ปูขุน ตามสไตล์ง่ายๆ ของ วิบูลย์ ลีศิริชัยกุล ที่แม่กลอง
เทคโนโลยีการประมง

ไชย ส่องอาชีพ

เลี้ยงปูนิ่ม-ปูขุน ตามสไตล์ง่ายๆ ของ วิบูลย์ ลีศิริชัยกุล ที่แม่กลอง

บนพื้นที่ 40 ไร่ ณ บ้านเลขที่ 2/5 หมู่ที่ 5 ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ถูกแบ่งเป็นล็อค ล็อคละ 4 ไร่ และขุดเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มีประตูน้ำเข้าและออก

เดิมเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อมีโรคระบาดเข้ามารบกวน ก็เปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงปูทะเล เพื่อขุนขายสู่ท้องตลาด และต่อมาถูกพัฒนาเป็นฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ฟาร์มเลี้ยงปูที่นี่ใหญ่ที่สุดในแถวภาคกลาง เจ้าของชื่อ คุณวิบูลย์ ลีศิริชัยกุล (เล็ก) ซึ่งคนอยู่ในแวดวงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปูทะเลคงรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยว่าเขาคลุกคลีกับงานด้านนี้มายาวนานกว่า 10 ปี นั่นเอง

คุณเล็ก เรียนหนังสือจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นก็เข้าสู่วงการสัตว์น้ำเลย โดยเข้าเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนๆ เพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ช่วงแรกๆ ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อมีโรคระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัด คือสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม กุ้งที่เลี้ยงไว้ในบ่อก็หนีไม่พ้นกับโรคภัยที่มาเยือน ทำให้ตกชะตากรรมเหมือนกับเพื่อนร่วมอาชีพนับร้อยๆ รายที่ต้องสูญเสียทรัพย์ในน้ำไป รวมๆ แล้วจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว

"ผมไม่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงสัตว์น้ำมาเลย อาศัยเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น แต่หลังประสบปัญหาดังกล่าว เพื่อนๆ เริ่มถอยและถอนหุ้น ผมขอเดินหน้าสู้คนเดียว โดยมาศึกษาหาความรู้จากตำราในการเลี้ยงขุนปูทะเลขาย เมื่อเห็นว่ามีช่องทาง ก็ทดลองเลี้ยงปูทันที โดยช่วงแรกซื้อพันธุ์ปูมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นปูที่ลักษณะเนื้อยังไม่แน่น จากนั้นก็นำมาปล่อยเลี้ยงในบ่อกุ้งเดิม และให้อาหารกินทุกวัน เมื่อเลี้ยงครบ 15 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว เนื่องจากเนื้อปูจะแน่น และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวทีเดียว" คุณเล็ก เล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลงของอาชีพ

คุณเล็ก เลี้ยงปูทะเลเพื่อขุนขายสู่ท้องตลาดอยู่หลายปี จนเริ่มมีฐานะการเงินดีขึ้น ก็คิดที่จะพัฒนาอาชีพต่อ โดยการนำปูทะเลส่วนหนึ่งมาเลี้ยงเป็นปูนิ่ม ทั้งนี้ เพื่อสนองความต้องการของตลาดที่เปิดกว้างขึ้นนั่นเอง

"เลี้ยงขุนปูทะเลมันมีข้อกำจัดอยู่เรื่องหนึ่ง คือหากเราจับปูจากบ่อขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องนำออกไปขายในทันที เพราะว่าตลาดต้องการสัตว์เป็น แต่ถ้าเป็นปูนิ่มนั่นเราสามารถเก็บไว้ในตู้แช่แข็งได้นานนับปีเลยทีเดียว ซึ่งถ้าช่วงไหนเรามองว่าราคารับซื้อถูก ก็ไม่ขาย เก็บแช่แข็งไว้ ค่อยๆ ทยอยปล่อยไปเรื่อยๆ ก็ยังได้ โดยที่รสชาติคงเดิม ไม่จำเป็นต้องง้อตลาดก็ได้ พอใจขายก็ขาย ไม่พอใจก็ไม่ขาย นี่เป็นข้อดีของการเลี้ยงปูนิ่ม ที่ตรงกันข้ามกับขุนปูทะเลที่ไม่สามารถนำไปแช่แข็งได้ เพราะว่าตลาดไม่นิยม"

นอกจากนี้ การขุนปูทะเลในบ่อดินนั้น ก็ยังมีความจำเป็นต้องรีบจับขายทุกๆ 15 วัน หรือ 20 วันด้วย เพราะว่าหากเลี้ยงนานกว่านี้ย่อมเกิดความเสียหายขึ้นได้ โดยเฉพาะปูเพศเมียที่มีไข่แก่เต็ม ด้วยว่าธรรมชาติของปูทะเลจะวางไข่หรือออกไข่ที่มีคลื่นทะเลเป็นตัวกระตุ้น ไม่เช่นนั้นมันจะแน่นท้อง และตายไปในที่สุด

แม้ว่าคุณเล็กจะรับรู้ถึงข้อกำจัดเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเลี้ยงขุนปูทะเลขายอยู่ เนื่องจากในการสั่งปูเข้ามาแต่ละครั้งมักมีปูตัวเมียติดมาด้วย ซึ่งถ้านำไปเลี้ยงเป็นปูนิ่มจะใช้เวลานานและไม่ค่อยได้ผลดีเท่าที่ควร

"นอกจากนี้ บางครั้งลูกน้องตรวจเช็คปูนิ่มไม่ทัน หรือดูแลไม่ทั่วถึงก็กลายเป็นปูแข็ง หากนำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่มต่อต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วผมจะนำมาเลี้ยงเป็นปูขุนแทน เพราะว่าใช้ระยะเวลานาน 15-20 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว" คุณเล็ก กล่าว

สำหรับราคารับซื้อหรือขายสู่ตลาดนั้น คุณเล็กบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นปูนิ่มหรือปูทะเลราคาจะใกล้เคียงกัน คือ 250 บาท (ขนาดปู 6 ตัว ต่อกิโลกรัม) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือช่วงเทศกาลด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ฟาร์มเลี้ยงปูของคุณเล็กปัจจุบันนี้จะเน้นเลี้ยงปูนิ่มเป็นหลัก ส่วนขุนปูทะเลนั้นได้กลายเป็นงานเสริมไปแล้ว เนื่องจากมีข้อกำจัดดังกล่าวนั่นเอง



เลี้ยงปูนิ่มต้องลงทุนเพิ่ม

บ่อเลี้ยงปูนิ่มนั้นตรงกลางบ่อคุณเล็กจะลงทุนสร้างศาลาและทางเดินตามแนวกว้างของบ่อทุกบ่อ ทั้งนี้ ไม่เพียงสามารถเดินไปมาได้สะดวกเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการให้คนงานนั่งคัดเลือกและให้อาหารปูนิ่มด้วย

หลังคามุงด้วยหญ้าคา ส่วนทางเดินทำด้วยไม้มะพร้าวปูแนบสนิท สำหรับเสานั้นใช้ไม้ไผ่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนนั่นเอง

"ผมคิดและออกแบบเอง แม้กระทั่งแพและตะกร้าเลี้ยงปูผมต้องค้นคว้าหาข้อดีข้อเสียก่อน จากนั้นจึงประดิษฐ์ออกมา ทุกวันนี้ผมยังพอใจกับผลงานอยู่เลย เพราะว่าใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรมากนัก และที่สำคัญราคาไม่สูงด้วย" คุณเล็ก กล่าว

คุณเล็ก ใช้ท่อ พีวีซี ทำเป็นแพ โดยต่อท่อยาวประมาณ 8-9 เมตร ประมาณ 8 ท่อ วางขนานกันเป็นแนวยาว ซึ่งแต่ละท่อจะมีระยะห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่วางเป็นแนวขวางและใช้เชือกผูกติดกับท่อ พีวีซี

1 บ่อ มีแพอยู่ประมาณ 20 แพ ซึ่งแต่ละแพสามารถนำตะกร้าพลาสติคเพื่อใช้เลี้ยงปูนิ่มได้หลายร้อยตัวเลยทีเดียว

"เมื่อเราทำแพเสร็จแล้ว ก็สั่งทำตะกร้าพลาสติคจากโรงงาน ขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร สูง 20 เซนติเมตร มีฝาปิดเปิดเรียบร้อย นำไปวางไว้บริเวณระหว่างช่องท่อ พีวีซี ซึ่งสามารถเรียงตะกร้าได้จำนวนมากและไม่กลัวว่าจะหลุดหรือร่วงลงสู่พื้นบ่อ เนื่องจากท่อ พีวีซี ที่เราออกแบบไว้นี้จะทำหน้าที่เป็นคานและบีบรัดตะกร้าด้วย" คุณเล็ก กล่าว

ด้านบนของตะกร้าจะถูกออกแบบให้มีรูใหญ่เท่ากับเหรียญ 5 จำนวน 12 รู ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการให้อาหาร และสามารถมองเห็นพฤติกรรมหรือช่วงลอกคราบของปูได้อย่างสะดวกนั่นเอง

"จริงๆ แล้ว ตะกร้าเลี้ยงปูนิ่มนั้น 1 ชุด มันจะมีสองลูก คือส่วนล่างกับบน ส่วนล่างนั้นเราออกแบบให้เป็นรูเล็กๆ เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้สะดวกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นรูใหญ่เหมือนกับด้านบน เพราะว่าทำหน้าที่แตกต่างกัน"

คุณเล็ก บอกว่า เมื่อสั่งซื้อพันธุ์ปูมา เราก็นำมาใส่ไว้ในกระชังหรือตะกร้าดังกล่าว จากนั้นก็หาเชือกมาผูก เพื่อให้ส่วนล่างกับบนตะกร้าประกบติดกัน

"หน้าที่พวกนี้ระยะหลังๆ ผมไม่ได้ทำเอง ส่วนใหญ่จะสั่งงานลูกน้องเกือบ 30 คน เป็นผู้ปฏิบัติ เรามีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเท่านั้น"



เลี้ยงปูนิ่ม ต้องตรวจเช็คทุกๆ 4 ชั่วโมง

ในการดูแลหรือการเลี้ยงปูนิ่มนั้นคุณเล็กบอกว่า ไม่ใช่มีเรื่องอะไรยุ่งยากนั้น เพราะว่าได้วางระบบไว้ค่อนข้างดี คือทุกๆ 4 ชั่วโมง คนงานจะเข้าไปตรวจเช็คการลอกคราบของปู โดยเข้าไปนั่งที่ศาลาหรือตามทางเดิน จากนั้นก็ดึงแพเข้ามาหาตัวเองอย่างช้าๆ สายตามองภายในตะกร้า หากพบว่า มีปูอยู่ 2 ตัว ก็จะยกตะกร้าขึ้น เพราะว่าปูลอกคราบเป็นปูนิ่มแล้ว

"เราให้อาหารกินทุกวันในช่วงบ่าย วันละ 1 ครั้ง โดยประมาณ 15 วัน ปูก็ลอกคราบแล้ว เพราะว่ามันสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งปัจจัยการลอกคราบนี้ ไม่เพียงเรื่องอาหารการกินเท่านั้น ความเค็มของน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย ส่วนใหญ่บ่อเลี้ยงปูนิ่มของผมนั้นความเค็มอยู่ที่ 20-25 พีพีที"

"และหากเราปล่อยไว้โดยไม่ตรวจเช็คการลอกคราบ ก็เป็นการทำให้กำไรหายหมด เพราะว่าปูทะเลพวกนี้ธรรมชาติกำหนดไว้ว่า หลังลอกคราบ 1-2 ชั่วโมง อวัยวะทุกส่วนก็เริ่มแข็งตัวแล้ว โอกาสที่จะเป็นปูนิ่มก็หลุดลอยไป ต้องใช้ระยะเลี้ยงหรือให้อาหารอีก 2-4 สัปดาห์ ถึงจะลอกคราบใหม่อีกครั้งหนึ่ง" คุณเล็ก กล่าว

สำหรับอาหารที่นำมาให้ปูกินนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกลูกปลานิล เพราะว่าราคาถูก โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ ที่ 6 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนปลาอื่นๆ อาทิ ปลาทู ปลาข้างเหลือง ซึ่งเป็นปลาทะเลนั้น ราคาไม่ต่ำกว่า 10 บาท ต่อกิโลกรัม ดังนั้น ที่ฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มของคุณเล็กมักนิยมใช้พวกลูกปลานิลเท่านั้น โดยวันหนึ่งๆ จะใช้ไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม เลยทีเดียว

"ปลานิลพวกนี้มันอาศัยอยู่ในบ่อกุ้งร้างๆ หรือไม่ก็ตามหนอง บึง ธรรมชาติ ชาวบ้านจะจับ แล้วนำมาขาย หากวันไหนมีน้อยหรือไม่มี ผมก็ต้องไปซื้อพวกปลาทู หรือปลาข้างเหลือง จากทะเลมาเลี้ยง ซึ่งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูง แต่ต้องซื้อ ไม่เช่นนั้นปูจะไม่มีอาหารกิน ส่งผลให้หยุดการเจริญเติบโตและยืดระยะเวลาการลอกคราบไปด้วย"

คุณเล็ก บอกว่าในการดูแลนั้น เราไม่เพียงให้อาหารวันละ 1 ครั้ง เท่านั้น แต่ทุกๆ 7 วัน ก็หว่านพวกจุลินทรีย์ อีเอ็ม ทั่วทั้งบ่อ ทั้งนี้เพื่อช่วยในการจำกัดของเสียที่อยู่ตามก้นบ่อ

"การดูแลปูนิ่มนี้แตกต่างกับการเลี้ยงปูขุนอยู่ที่ไม่ต้องเตรียมบ่ออะไรมากนัก เพียงดูดน้ำเข้ามาให้มีระดับความสูง 1 เมตรเศษๆ ก็สามารถเลี้ยงปูติดต่อกันได้หลายๆ รุ่น นานนับปีทีเดียว แต่ถ้าเลี้ยงปูขุนนั้นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย เพราะว่าอาหารที่เราให้นั้นจะใช้วิธีหว่านลงไป ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ พื้นบ่อก็จะสกปรก เป็นสถานที่หมักหมมของเชื้อโรคได้"

"ปูขุนนี้ผมจะใช้เวลาเลี้ยงแต่ละรุ่นนานกว่าปูนิ่ม คือประมาณ 45-60 วัน ถึงเนื้อจะแน่นและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้พื้นบ่อค่อนข้างสกปรก แม้ว่าเราได้จุลินทรีย์ลงไปช่วยแล้วก็ตาม ดังนั้นหลังจากการจับขายทุกครั้งผมจะเปิดน้ำทิ้ง และดันน้ำใหม่เข้ามาแทนที่" คุณเล็ก กล่าว

ที่ฟาร์มเลี้ยงปูของคุณเล็กในแต่ละเดือนจะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดทั้งปูนิ่มและปูขุนไม่ต่ำกว่า 7 ตัน

"เดิมผมซื้อพันธุ์ปูมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช แต่ตอนนี้สองจังหวัดนี้มีปริมาณน้อยลง ก็หันไปสั่งปูจากจังหวัดระยอง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่าผ่านชายแดนเข้ามา และส่วนหนึ่งมาจากบังกลาเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ในการสั่งซื้อพันธุ์ปูนั้น ผมจะไม่ค่อยเหนื่อย เพราะว่าจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาทำหน้าที่แทน เพียงแต่ยกหูโทรศัพท์เท่านั้นก็สั่งซื้อได้แล้ว"

คุณเล็ก บอกว่า เมื่อพันธุ์ปูมาถึงฟาร์ม ก็สั่งให้ลูกน้องคัดเลือกแยกเพศปู ซึ่งมักจะมีปูกะเทยติดมาด้วย แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่หนักใจ เพราะว่าสามารถนำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่มได้เหมือนปูเพศผู้

ส่วนปูเพศเมียนั้น เขาจะเลี้ยงเป็นปูขุนอย่างเดียว เพราะว่าใช้เวลาเลี้ยงนานและไม่ค่อยลอกคราบนั่นเอง

"ปูกะเทย ผมเข้าใจว่า เมื่อมันเจริญวัยหรือตัวโตขึ้นคงจะเป็นตัวเมียมากกว่าตัวผู้ เพราะว่าผมสังเกตที่ปิ้งมันใหญ่ และหากได้รับการผสมพันธุ์ต่อไป มันก็จะกลับกลายเป็นตัวเมียอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม มาถึงที่ฟาร์มผมก็จะสั่งให้เลี้ยงเป็นปูนิ่มทั้งหมด และก็ได้ผลดีเหมือนกัน" คุณเล็ก กล่าว

คุณเล็ก บอกว่า อาชีพการเลี้ยงปูนั้น เมื่อก่อนได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี เพราะว่าซื้อมากิโลกรัมละ 80-90 บาท ขายได้ 250 บาทเศษ และเสียหายหรือปูตายน้อย แต่เดี๋ยวนี้ตายมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน 10,11,12 ปีที่ผ่านมา ปูตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ทำให้ขาดทุน แต่สู้ต่อไป พร้อมกับศึกษาหาสาเหตุและแนวทางป้องกันต่อไป

"เมื่อก่อนได้กำไรดีมาก แต่ตอนนี้ได้น้อย บางครั้งก็ขาดทุน ผมกำลังเร่งหาแนวทางป้องกันอยู่ คิดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะว่าปูเป็นสัตว์ทะเลที่มีความอดทนสูง" คุณเล็ก กล่าว

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้รัฐบาลหรือกรมประมงน่าจะมีการศึกษาลงลึกเหมือนกุ้งกุลาดำบ้าง เพราะว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเหมือนกัน



Create Date : 21 เมษายน 2551
Last Update : 21 เมษายน 2551 7:45:23 น.
Counter : 7896 Pageviews.

0 comments
แผ่นยิปซั่ม งานคุณภาพ ได้มาตรฐาน ราคาไม่แพง สมาชิกหมายเลข 7660567
(13 เม.ย. 2567 01:54:15 น.)
ล้อมรั้วกั้นกวางมากินดอกไม้ สวยสุดซอย
(8 เม.ย. 2567 14:56:09 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันกล้วยไม้โทนสีร้อน ทนายอ้วน
(3 เม.ย. 2567 13:06:31 น.)
ดอกติ้วขาว บานแล้ว สมาชิกหมายเลข 4313444
(30 มี.ค. 2567 03:12:50 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด