ในห้วงฤดูแล้งแห่งชีวิต
1

เคยใช่ไหม...กับการจ่อมจมอยู่กับเรื่องราวของตนเองภายใน

ระเหระหน สับสนก่นทุกข์กับปัญหานานาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต

เรามักจะโหยหาอดีตที่ผันผ่านมา ทั้งเคยเปี่ยมสุขทั้งทุกข์หนาว ขึ้นมาในทันทีทันใด

ในขณะที่เรากำลังอยู่ท่ามกลางชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่ ซึ่งนับวันช่างดูแห้งแล้งเหลือทน



เหมือนกับผมในห้วงยามนี้...

เมื่อมีความรู้สึกเหมือนว่า ฤดูแล้งแห่งชีวิตกำลังพัดโหมเข้ามาเยือนอีกครั้ง

แน่นอน ย่อมเกิดความรู้สึกโหยหาเรื่องราวเก่าๆ นึกไปถึงพื้นที่ชุมชนที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ผู้คนที่ยังมีกลิ่นกรุ่นของความบริสุทธิ์ ผสานกับความรักที่ไม่มีสิ่งใดเจือปนข้องเกี่ยวเข้ามาครอบงำดวงจิต เป็นความรักที่ยาวนาน แม้จะผันผ่านมานับสิบปีแล้วก็ตาม

ในค่ำคืนดื่นดึก...ผมหวนนึกไปถึงวิถีเรื่องราวของ “ชุมชนบ้านน้ำบ่อใหม่” ขึ้นมาอีกครั้ง

เป็นชุมชน ชนเผ่าลีซูบนดอยสูง ไม่ใกล้ไม่ไกลนักจากชายแดนไทย-พม่าของอำเภอเวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองในหุบเขาที่มีทั้งร่องรอยประวัติศาสตร์ และกลิ่นอายของวัฒนธรรม ประเพณีที่หลากหลายคลี่คลุมอยู่ไปทั่ว



แล้วภาพวันคืนเก่าๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นครูดอยสอนอยู่ที่นั่น พลันฉายภาพให้เห็นแจ่มชัดอีกครั้งในห้วงความทรงจำ ภาพของตัวเองแบกเป้ที่บรรจุสัมภาระเครื่องใช้ส่วนตัวอาหารแห้งที่อัดแน่นจนเต็มบ่าหลัง ดุ่มเดินเดินไปบนทางเล็กๆ ข้างหน้า ผ่านทุ่งแล้ง ที่มีฝูงควายหลายสิบตัวกำลังก้มเล็มหญ้าในผืนนา




ภาพของตัวเองเดินลัดเลาะผ่านลำห้วย ผ่านดงไผ่ ก่อนขึ้นสู่เนินสูงชัน นานนับนาน กว่าจะโผล่พ้นเนินราบที่ทอดยาวไปในดงป่าสน เป็นทางเดินแคบๆ เส้นทางเดียวที่คดโค้งทอดยาวนำไปสู่ชุมชนลีซูน้ำบ่อใหม่ แน่นอน เนื้อตัวเสื้อผ้าที่สวมใส่นั้นย่อมเปียกโซกด้วยเหงื่อที่ผุดพราย และย่อมเป็นการเดินทางที่แสนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า



ทว่ายามที่ชีวิตได้นั่งพักผ่อนบนขอนไม้ที่ล้มวางข้างหน้า ปล่อยให้สายลมภูเขาพัดผ่านทิวสนมากระทบร่าง สัมผัสถึงความเย็นระรื่นชื่นสด หอมสายลม หอมกลิ่นสน พลันพลอยให้ชีวิตนั้นคลายความอ่อนล้าลงได้ ยิ่งยามได้พบและสนทนากับพ่อเฒ่าคนเลี้ยงวัวระหว่างทาง นั่นยิ่งเน้นย้ำให้มองเห็นคุณค่าความหมายของการเดินทางมากยิ่งขึ้น




ชีวิต เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ขุนเขา ป่าไม้ สายน้ำ แสงแดด สายลม …ย่อมทำให้ผมรู้สึกสงบ และเมื่อชีวิตพลัดไปสู่โลกกว้างของเด็กน้อย หัวใจผมยิ่งรู้สึกสดชื่น เบิกบาน เสียงใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กดอยร้องเพลงชาติไทย.. ปะเถ่ไท ลัวเลือเนื้อซะเซื้อไท แม้ไม่ชัดถ้อยชัดคำ…ทว่ายังคงขับขานความรู้สึกให้ผู้คนชนเผ่าได้แอบภูมิใจลึกๆ ว่า พวกเขาก็คือส่วนหนึ่งของประเทศไทย แม้ในยามนี้ พวกเขาจะยังคงถูกกีดกันว่าเป็นคนชายขอบก็ตาม



ช่วงเช้า ผมจะสอนหนังสือให้เด็กในเพิงพัก

พอสายๆ เธอจะปล่อยให้พวกเด็กวิ่งเล่นกันตามทุ่งหญ้าในไร่ใกล้ๆ หมู่บ้าน

บ้างจับกลุ่มกันวาดรูป บ้างวิ่งไล่จับแมลงปอที่บินว่อนว่ายไปมา

ผมมองโลกของเด็กๆ ช่างสวยสดงดงาม

“เด็กน้อย กลางทุ่งหญ้าความฝัน”



พอถึงตอนบ่าย อากาศอ้าว แดดเริงแรง เปลวแดดเต้นยิบๆ จนแสบตา

เด็กๆ หลายคนเริ่มบ่นว่าร้อน เนื้อตัวเหนียวเหนอะหนะ ผมจึงบอกให้ทุกคนลงไปเล่นน้ำในลำห้วยท้ายหมู่บ้าน พอสิ้นเสียง เด็กๆ ต่างร้องเฮ! ด้วยความดีใจ ต่างวิ่งลงจากเนินไปกันอย่างเร็วรี่จนฝุ่นสีแดงกระจายฟุ้งไปทั่ว เจ้าตัวเล็กร้องลั่นจ้า เมื่อรู้ว่าถูกพี่ทิ้ง วิ่งลิ่วลงไปก่อน ผมต้องรีบเข้าไปปลอบให้หยุดร้อง ก่อนที่จะจับเจ้าตัวเล็กขึ้นขี่คอวิ่งตามกลุ่มนั้นไปยังลำห้วย



ผมชอบนั่งอยู่บนโขดหินกลางลำห้วย ปล่อยเท้าลงแช่น้ำอันเยียบเย็น จ้องมองวิถีของเด็กดอย พวกเด็กโตช่วยกันยกก้อนหินก้อนเล็กก้อนน้อยมากั้น เอาเศษใบไม้ ดินเหนียวเข้าโปะ เพียงครู่เดียว น้ำก็เอ่อเต็มฝั่งให้พวกเขาได้แหวกว่ายเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน



บางกลุ่ม ก็ลงไปข้างล่างหุบห้วยที่เริ่มแห้งขอด ก้มๆ เงยๆ ใช้สองมือเปล่าจับปลา ในหลืบหิน บางคนจับปลาตัวใหญ่ได้ พอมันดิ้นก็รีบโยนขึ้นบก ให้คนที่อยู่ข้างบนรีบเอาก้อนหินทุบหัวมัน ก่อนยัดใส่กระบอกไม้ไผ่

“เร็วๆ พวกเรา เย็นนี้เราจะหลามปลาด้วยกระบอกไม้ไผ่กินด้วยกัน” เสียงอะตาผะ ตะโกนเรียกพรรคพวกให้มาช่วยกัน



เด็กหญิงตัวโต พากันเก็บยอดผักกูดที่ขึ้นตามริมลำน้ำ บ้างก็เก็บมะแว้งที่ออกเองตามทุ่งไร่ แต่ที่ทำให้ผมยิ้มและหัวเราะออกมาดังๆ ได้ ก็คือเจ้าเด็กตัวน้อยเหล่านั้น ที่พากันไปเก็บลูกไม้ป่าลูกเล็กๆ สีแดง คล้ายลูกสตอร์เบอรี่ พร้อมกับเด็ดยอดหญ้าอวบอิ่มสีเขียว เดินมายื่นให้ผม



“คู คู มากินด้วยกันสิ กินได้ ไม่ตาย…” อะตาผะร้องเรียก… พวกเด็กๆ ต่างนั่งกินกันอย่างเอร็ดอร่อย ผมนั่งมองและมีความรู้สึกว่าโลกนี้ง่ายงามน่าอยู่ยิ่งนัก



ใช่หรือไม่ว่า ความอ่อนล้าของชีวิตนั้น ผ่อนคลายได้ด้วยเสียงเพลง ด้วยความรัก ความบริสุทธิ์ ท่ามกลางธรรมชาติที่โอบคลุมไปทั่ว และภาพเก่าๆ ก็ผุดพรายออกมาอีกครั้ง ภาพครูคนเดียว กับเด็กๆ ชนเผ่ากว่าห้าสิบคนนั่งล้อมวงร้องเพลงรอบๆ กองไฟในคืนหนาว แสงไฟสีเหลืองนวลสาดสะท้อนมองเห็นรอยยิ้มของความเยาว์วัยไร้เดียงสา เสียงเพลงที่ผมแต่งง่ายๆ ให้เด็กๆ ได้ร่วมร้อง ดังก้องไปทั่วหุบเขา...



ดูมาดูมาดู ดูมาดูด้วยกัน

คนดอยอยู่ป่าดงดอน

บ่ฮู้ฮ้อน ฮู้หนาวกับไผ

ลำบากลำบนเพียงใด

หมู่เฮาดีใจ ที่เป็นคนดอย...




2



ผ่านไปนานนับสิบปี...ผมหวนคืนกลับไปเยือนชุมชนน้ำบ่อใหม่อีกครั้ง

เป็นการหวนคืนในยามที่รู้สึกว่า ชีวิตมันช่างไหวว้างว่างโหวงกลวงเปล่า

ในห้วงยามที่รู้สึกสัมผัสได้ว่า ชีวิตในเมืองใหญ่นั้นเริ่มแล้งแห้งขึ้นทุกวันๆ

ความเมตตาเริ่มแหว่งวิ่น ความเอื้ออาทรกันและกันเริ่มพังภินท์

ความรักเริ่มจางหาย ความเกลียดชังแผ่กระจายปกคลุมไปทุกทั่วพื้นที่

ใช่หรือไม่ว่า สังคมเมืองกำลังกลายเป็นสังคมแห่งความหวาดระแวงกันมากขึ้นทุกที

ยังคงมีความแบ่งแยกแตกต่างกันอยู่เช่นนั้น ทั้งวันและคืน



ทว่าเมื่อพาชีวิตมายืนอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขา…

ผมกลับรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่ชีวิตนั้นขาดหาย และต้องการเติมให้เต็ม

ที่นั่น...ดอกไม้ยังคงบานชูช่อแม้ในห้วงฤดูแล้ง

มีสายน้ำของความดีงาม มีสายแดดอุ่นทอทาบทากายใจให้อบอุ่น

มีกองไฟที่ลุกโชนในคืนหนาว สัมผัสต้องกับชีวิตที่มอมแมมเปื้อนฝุ่น เปื้อนรอยยิ้มอยู่อย่างนั้น

มีเด็กๆ มีหนุ่มสาว มีผู้เฒ่า มีท้องฟ้า มีป่าไม้ มีขุนเขา

มีแคนน้ำเต้า ซึงหนังแลน ขลุ่ยไม้ไผ่ และเสียงเพลงพื้นบ้านคอยขับขานกังวานไพร

จดจ้องมองดูสิ, เราจะมองเห็นความรักและสัมผัสได้

ถึงน้ำอุ่นๆ บริสุทธิ์ที่กลั่นหยดหยาดออกมาจากทรวงอกของแม่





Create Date : 29 มีนาคม 2549
Last Update : 29 มีนาคม 2549 14:13:21 น.
Counter : 632 Pageviews.

2 comments
  
26 มกราคม 2549

ใครสักสองสามคนชวนฉันไป "เวียงแหง"

บอกว่าครูปิ่นเดือนควรได้ไปเห็น...อาจมีบางอย่างเอามาเป็นข้อมูลวิจัยได้..

ฉันถามว่า "เวียงแหง" คืออะไรเหรอ...ไกลไหม..

เด็กหนุ่มตอบว่า..ไกล..ลำบาก..มีศูนย์ผู้ลี้ภัย..

ฉันถามกลับไปว่า...จะออกเดินทางกี่โมง

เด็กหนุ่มตอบว่า...บ่าย 3

ฉันตอบว่า...คงไปไม่ได้ เราต้องไปบรรยายให้ทหารฟังตอนบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น...

...เป็นอันว่าไม่ไปเวียงแหง...


ตอนนั้นฉันหวังว่าเรื่องที่ฉันกำลังไปพูดจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่....

ไม่ใช่แก่ตัวเอง...แต่เพื่อคนอีกกลุ่มที่ฉันได้พบเห็นตลอดช่วงหลายเดือนก่อนหน้านั้น

ฉันคิดไปเองว่า..ครูเล็กๆ อย่างฉันอาจอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้




....แต่.....


คำพูดเล็กๆ ไม่อาจเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกหล่อหลอมมาอย่างเข้มข้นได้

แนวทางที่แตกต่าง ย่อมไม่เป็นที่เข้าใจและยอมรับของ วิธีคิดที่แตกต่าง

สิ่งที่สะท้อนกลับคือทัศนคติที่ไม่อาจปรับเข้าหากันได้โดยง่าย

สิ่งที่ได้ฟังล้วนแข็งกร้าวทำให้ฉันสะเทือนใจอย่างรุนแรง...เปล่า..ไม่ใช่ถ้อยคำหรอกที่ร้าย..แต่เป็นความคิดต่างหาก..

ค่ำวันนั้นฉันนั่งดูภาพถ่ายเก่าของคนเหล่านั้น..ภาพแล้ว..ภาพเล่า..

น้ำตาหยดลงบนโต๊ะทำงาน...


ใจคิดว่า .."ขอโทษ..ฉันช่วยอะไรพวกเธอไม่ได้เลย"


........................................


รู้งี้..ไปเวียงแหงยังจะดีเสียกว่า











โดย: ปิ่นเดือน ครูดอย วันที่: 3 เมษายน 2549 เวลา:11:45:12 น.
  
ผมก็ได้รับการติดต่อจากน้องนักศึกษารัฐศาสตร์ มช.ให้ไปคุยให้นักศึกษาฟังที่เวียงแหงเหมือนกันครับ แต่ไม่ว่าง ก็เลยอดไปคราวนั้น...

น่าจะเป็นกิจกรรมเดียวกันแน่เลยครับ...
โดย: ภู เชียงดาว IP: 210.86.185.134 วันที่: 5 เมษายน 2549 เวลา:17:58:31 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pu_chiangdao
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



ภาพและงานเขียนทุกชิ้นที่ปรากฏในเวบไซต์นี้
เป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของบทประพันธ์นั้นๆ แต่เพียงผู้เดียว
ห้ามกระทำการดัดแปลง แก้ไข
หรือแอบอ้างไปเป็นผลงานของตน
โดยไม่มีการอ้างถึงเจ้าของลิขสิทธิ์
หากผู้ใดมีความประสงค์
จะนำข้อมูลดังกล่าวออกเผยแพร่ ตีพิมพ์
หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นใด
โปรดติดต่อเจ้าของบทประพันธ์โดยตรง


***************************

งานที่มีการเขียนลงบน WEB SITE แล้วส่งผ่านอินเตอร์เนตนั้นถือว่าเป็น สิ่งเขียนซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของงานวรรณกรรม ดังนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (มาตรา 15) หากผู้ใดต้องการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน มิฉะนั้นจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (มาตรา 27) การดัดแปลงงานจากอินเตอร์เนตเป็นภาษาไทย จึงต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการคุ้มครองอัตโนมัติ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้สร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ที่มา : เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา









มีนาคม 2549

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
31
 
 
All Blog
Friends Blog
[Add pu_chiangdao's blog to your weblog]