กันยายน 2551

 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
13
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
 
 
All Blog
ย้อนอดีต (5) ตอนโครงการนิคมอุสาหกรรมบางปู
ผมเคยเขียนไว้ใน ย้อนอดีต(4)ตอนโครงการเชียงใหม่แลนด์ว่า ผมเคยร่วมงานกับอาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ มาบริหารจัดการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารศรีนครหลายโครงการ อีกหนึ่งโครงการที่จะมาย้อนอดีตวันนี้คือ
 


โครงการ "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" เป็นการร่วมลงทุนระหว่างสองตระกูลใหญ่คือ "อื้อจือเหลียง" และ "เตชะไพบูลย์" พื้นที่โครงการประมาณ 9000 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท สายเก่า สมุทรปราการ ใกล้กับ เมืองโบราณ

การจัดทำธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ "การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" หรือ กนอ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ดำเนินการภายใต้การบริหารจัดการของ บริษัท พัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของสองตระกูลใหญ่ตามที่กล่าวมาแล้ว มี คุณนิพิธ โอสถานนท์ เป็นกรรมการผู้จัดการ


เข้าใจว่าตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มาสองสามปี ก่อนที่อาจารย์ไพบูลย์จะเข้าไปบริหารจัดการ โครงการนี้แทบจะไม่ได้วางแผนดำเนินการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แบบที่เรียกว่าบริหารตามสไตล์เศรษฐีนั่นเอง วันแรกที่อาจารย์ไพบูลย์และทีมงานชุดใหม่เข้าไปดูสถานที่โครงการ สิ่งที่พวกเราเห็นก็คือด้านหน้าโครงการที่ติดกับถนนสุขุมวิทสายเก่านั้น มีลำธารหรือจะเรียกว่าคลองก็ได้ขวางกั้นอยู่ คลองนี้ขนานคู่ไปกับถนนสุขุมวิท มีสะพานไม้แคบๆพอรถวิ่งข้ามได้เข้าพื้นที่โครงการ


ถนนที่ตัดไว้ภายในโครงการและแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นล็อกๆนั้น เริ่มชำรุดทรุดโทรม บางล็อกก็มีอาคารปลูกสร้างอยู่ พื้นที่ที่ไม่มีการปลูกสร้างอะไรก็จะมีหญ้าและพันธ์ไม้ต่างๆขึ้นปกคลุมไปทั่วบริเวณอันกว้างใหญ่
เมื่อกลับมายังบริษัทฯซึ่งตั้งอยู่ชั้นที่ 13 อาคารธนาคารศรีนคร สำนักงานใหญ่ สวนมะลิ อาจารย์ไพบูลย์ก็เรียกประชุมทีมงานทันที ซึ่งมีฝ่ายการตลาดและการขาย ฝ่ายส่งเสริมการขาย (ซึ่งผมเป็นผู้จัดการฝ่าย) ฝ่ายบัญชีและการเงิน เพื่อวางแผนดำเนินงานใหม่ทั้งหมด



 


สรุปแผนงานเบื้องต้นคือ จะต้องรีบดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคเป็นการด่วน เช่นสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองหน้าโครงการ จัดสร้างถนนภายในโครงการ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ แบ่งพื้นที่โครงการออกเป็นสามโซน คือโซนสำหรับสร้างโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก โซนสร้างอาคารพาณิชย์ โซนสร้างสนามกอล์ฟ เป็นต้น


ทั้งหมดตามที่กล่าวมานี้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ผู้บริหารระดับสูงทำท่าว่าจะไม่เห็นด้วย แต่อาจารย์ไพบูลย์ก็ยืนยันว่าถ้าไม่ดำเนินการตามนี้จะไม่มีทางขายพื้นในโครงการได้ เพราะพาลูกค้ามาดูโครงการแล้วไม่มีสิ่งจูงใจแต่อย่างใด สุดท้ายผู้บริหารระดับสูงของบริษัทก็อนุมัติตามที่เสนอไป


แผนงานขั้นต่อไปคือการวางแผนการตลาด กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทคือ เจ้าของโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ตามอาคารพาณิชย์ทั่วไป จากข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า บรรดาโรงงานเหล่านี้มีนับจำนวนเป็นหมื่นโรงงาน หากขายได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ก็สบายแล้ว
 


ทีมงานฝ่ายการตลาดต้องประชุมวางแผนงานกันอย่างคร่ำเคร่ง และติดตามประเมินผลการขายวันต่อวัน ด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายก็ต้องดำเนินงานอย่างทันท่วงทีเช่นกัน มีการลงแอดโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อต่างๆ ตามตัวอย่างแบบโฆษณาด้านล่างนี้
 


ผลการดำเนินงานลุล่วงไปด้วยดีในระดับหนึ่ง ทุกคนทำงานกันอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพื่อต้องการแสดงให้ผู้ใหญ่ระดับสูงเห็นว่าพวกเราสามารถทำงานได้ผลตามที่อาจารย์ไพบูลย์เสนอแผนงานไป

เวลาผ่านไปหลายเดือนก็มีเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นที่นี่ ความจริงผมไม่อยากจะเขียนถึง เดี๋ยวผู้ที่เกี่ยวข้องคนหนึ่งจะหาว่าผมมาลำเลิกเบิกประจาน แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับผมคนเดียว อาจารย์ไพบูลย์ก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เรื่องของเรื่องมันเกิดขึ้นในตอนสายๆของวันหนึ่ง เลขาอาจารย์ไพบูลย์มาเชิญผมให้ไปพบที่ห้องทำงาน ผมก็ไปพบ ในห้องทำงานของอาจารย์ไพบูลย์ผมเห็นชายคนหนึ่ง รูปร่างผอมบาง สวมกางเกงสีเทา ใส่เชิร์ตสีขาว อาจารย์ไพบูลย์แนะนำให้ผมรู้จักว่า "นี่คือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อนผมสมัยทำงานอยู่ที่ กลุ่มธุรกิจ PSA " หลังจากทักทายกันตามมรรยาทแล้ว

อาจารย์ไพบูลย์ก็พูดกับผมว่า "คุณสนธิเขากำลังจะออกหนังสือใหม่เล่มหนึ่ง" แล้วหันไปถามชายคนนั้นว่า "ชื่อหนังสืออะไรนะ?" ชายคนนั้นตอบว่า "ผู้จัดการครับ"

"แล้วจะขายใคร?" อาจารย์ไพบูลย์ถามด้วยสีหน้ายิ้มๆ
ชายคนนั้นตอบว่า "ขายให้คนที่คิดว่าจะเป็นผู้จัดการหรือระดับผู้บริหารบริษัทต่างๆ"

ผมจะข้ามการสนทนาในรายละเอียดต่างๆไป ไม่ใช่ว่าจำไม่ได้ ผมจำได้ดีเสมือนเหตุการเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ สรุปแล้วอาจารย์ไพบูลย์สั่งผมว่า จัดโฆษณาให้ชายคนนั้น เดือนละสามชิ้น เพราะเขาจะออกเป็นนิตยสารรายเดือน ผมก็ดำเนินการตามที่อาจารย์ไพบูลย์สั่งมา นิตยสารรายเดือนชื่อ "ผู้จัดการ" ก็ออกมา ผมมีหน้าปกหนังสือให้ดูด้านล่างนี้ครับ


 


นี่เป็นหนังสือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน กันยายน 2526 นับถึงเดือนนี้ก็เป็นเวลา 25 ปีแล้ว เสียดายฉบับแรกผมหาไม่เจอ

โฆษณาที่ผมจัดให้เดือนละสามชิ้นนั้น เป็นโฆษณาสี่สีเต็มหน้า ขนาดของหนังสือตอนนั้นเป็นขนาดหนังสือ รีดเดอร์ไดเจ็ท หนาประมาณ 178 หน้าไม่รวมปก เป็นโฆษณาของโครงการเชียงใหม่แลนด์ โครงการนิคมอุตสาหกรรมบางปู และอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการหมู่บ้านศรีนครพัฒนา 2 อยู่ที่ถนนสุขาภิบาล 1 (ถนนนวมินทร์)
 


ผมขอจบย้อนอดีต (5) ตอนโครงการนิคมอุตสหกรรมบางปูเพียงเท่านี้นะครับ เพราะการดำเนินงานก็ดำเนินไปด้วยดี แต่ทีมงานของอาจารย์ไพบูลย์อยู่ทำงานโครงการนี้เพียงสองสามปีเท่านั้น ก็แยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิตของแต่ละคน วันนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรมบางปู ก็เป็นส่วนหนึ่งของอดีตพวกเราไปแล้ว ตามหลักสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้



Create Date : 14 กันยายน 2551
Last Update : 22 มกราคม 2566 9:46:37 น.
Counter : 3398 Pageviews.

1 comments
  
เพิ่งรู้อดีตของนิคมค่ะ
อยุ่ใกล้ ๆนิคมนี่เอง ผ่านไปบ่อย ๆ
ดีใจที่รุ้จักทีมจัดตั้งนิคมนะคะ
โดย: ยายศรีค่ะ (ยายศรี ) วันที่: 23 กันยายน 2551 เวลา:8:53:56 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง