"รัก" และ "กำลังใจ" ฉันมีไว้เพื่อแบ่งปัน Blog ของสาวน้อยขี้เหงาและช่างฝัน (Beee Diary & Music)
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
9 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 

จิตคืออะไร, จิตกับอารมณ์, ลักษณะของจิตและการทำงานของจิต / ชุดที่ ๒

บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์

ชุดที่ ๒

จิตคืออะไร


จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึก ต่อการสัมผัสถูกต้องทางกายและรู้สึกนึกคิดทางใจ จิตนี้ไม่ว่าจะเกิดแก่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็ตาม ย่อมมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะเหมือนกันทั้งสิ้น

จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสด้วยกายไม่ได้ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน สีสัน วรรณะใด ๆ แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริง ๆ เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติฝ่ายนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับ ไปอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยเหตุอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามกฎของธรรมชาติ

อำนาจของจิตมีอยู่มากมาย เช่น มีอำนาจในการกระทำ การพูด การคิด การสั่งสมกรรมดี กรรมชั่ว นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการสร้างฤทธิ์ ทำสมาธิ ทำฌาน ทำอภิญญา และอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์

จิต จะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว จิตจะมีการเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ คือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ครั้ง (หนึ่งล้านล้านครั้ง) จึงเป็นการยากที่บุคคลจะรู้เท่าทันได้

สถานที่เกิดของจิตมีอยู่ด้วยกัน ๖ แห่ง คือ


๑. ที่ตา เพื่อทำหน้าที่เห็นรูปที่ปรากฏทางตา จิตนี้มีชื่อว่า จักขุวิญญาณ (จักขุ = ตา)
๒. ที่หู เพื่อทำหน้าที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู จิตนี้มีชื่อว่า โสตวิญญาณ (โสต = หู)
๓. ที่จมูก เพื่อทำหน้าที่รู้กลิ่น ที่ปรากฎทางจมูก จิตนี้มีชื่อว่า ฆานวิญญาณ (ฆาน = จมูก)
๔. ที่ลิ้น เพื่อทำหน้าที่รู้รส ที่ปรากฏทางลิ้น จิตนี้มีชื่อว่า ชิวหาวิญญาณ (ชิวหา = ลิ้น)
๕. ที่กาย เพื่อทำหน้าที่รับความรู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทายกาย จิตนี้มีชื่อว่า กายวิญญาณ
๖. ที่ใจ เพื่อทำหน้าที่ รู้สึก นึก คิด ทางใจ จิตนี้มีชื่อว่า มโนวิญญาณ (มโน = ใจ)

ดังนั้น จิต หรือ วิญญาณ จึงหมายถึงสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ จิต ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่น หทัย, ปัญฑระ, มโน, มนัส, มนินทรีย์, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ, วิญญาณขันธ์, มนายตนะ เป็นต้น จึงขอให้เข้าใจว่า แม้จะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม ชื่อเหล่านั้นก็คือ จิต นั่นเอง


จิตกับอารมณ์

จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่รู้อารมณ์
อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ ถ้าจิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นคืออารมณ์

หากกล่าวโดยสรุปก็คือ จิตเป็นผู้รู้ อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้

คำว่า "อารมณ์" ในที่นี้หมายถึง เครื่องยึดหน่วงจิต อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ ตลอดจนเรื่องราวต่าง ๆ ที่คิดนึก มิได้มีความหมายดังที่ใช้กันทั่วไป เช่น อารมณ์ดี อารมณ์เสีย หรือมิได้หมายถึงสภาพนิสัยใจคอ เช่น อารมณ์เย็น อารมณ์ร้อน อารมณ์โรแมนติก อารมณ์ขัน เป็นต้น

จิตที่เกิดแต่ละขณะจะรับอารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น ในขณะที่เราดูโทรทัศน์ จิตที่เห็นภาพทางตากับจิตที่ได้ยินเสียงทางหู เป็นคนละขณะกัน ขณะที่เห็นภาพก็จะไม่ได้ยินเสียง ขณะที่ได้ยินเสียงก็จะไม่เห็นภาพ แต่เพราะจิตเกิดดับสลับกันเร็วมากจึงทำให้เราแยกไม่ออก และเข้าใจผิดว่าการเห็นและการได้ยินนั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน จริง ๆ แล้ว จิตแต่ละขณะจะรับอารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เพื่อความชัดเจนในเรื่องจิตกับอารมณ์ ขอให้พิจารณาการรับอารมณ์ของจิตทางทวาร หรือประตู หรือช่องทางที่จิตออกมารับอารมณ์ทั้ง ๖ ช่องทาง ดังนี้

ทางตา จิตทำหน้าที่เห็น สิ่งที่เห็น คืออารมณ์ของจิต
ทางหู จิตทำหน้าที่ได้ยิน เสียงที่ได้ยิน คืออารมณ์ของจิต
ทางจมูก จิตทำหน้าที่รู้กลิ่น กลิ่นที่ได้รับ คืออารมณ์ของจิต
ทางลิ้น จิตทำหน้าที่รู้รส รสที่ได้รับ คืออารมณ์ของจิต
ทางกาย จิตทำหน้าที่รู้การสัมผัสถูกต้อง สภาพเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึงที่สัมผัสถูกต้อง คืออารมณ์ของจิต
ทางใจ จิตทำหน้าที่รู้สึก, คิด, นึก สิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่รู้สึก คิด นึก คืออารมณ์ของจิต

จิตจะว่างจากอารมณ์ไม่ได้ เมื่อจิตเกิดขึ้นทุกครั้งจะต้องมีอารมณ์ให้รู้เสมอ จิตคือตัวรู้ อารมณ์คือตัวถูกรู้ ถ้าไม่มีตัวถูกรู้ ตัวรู้ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการรู้ก็ย่อมจะต้องมีสิ่งที่ถูกรู้อยู่ควบคู่กันด้วยเสมอไป

จิตและอารมณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละทวาร มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ดังนี้


.....ทวารทั้ง ๖..........ชื่อของจิตที่เกิด............................ชื่อของอารมณ์ที่ปรากฎ
.............................ทางแต่ละทวาร.............................ทางแต่ละทวาร


จักขุทวาร = ตา...........จักขุวิญญาณ.................รูปารมณ์ = สิ่งที่เห็น
โสตทวาร = หู.............โสตวิญญาณ.................สัททารมณ์ = เสียงที่ได้ยิน
ฆานทวาร = จมูก.........ฆานวิญญาณ.................คันธารมณ์ = กลิ่นที่ได้รับ
ชิวหาทวาร = ลิ้น.........ชิวหาวิญญาณ.................รสารมณ์ = รสที่ได้รับ
กายทวาร = กาย..........กายวิญญาณ.................โผฏฐัพพารมณ์ = สภาพเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง ที่สัมผัสถูกต้อง
มโนทวาร = ใจ............มโนวิญญาณ..................ธัมมารมณ์ = สิ่งต่าง ๆ หรือ เรื่องราว
...................................................................ต่าง ๆ ที่ปรากฏทางใจ



สภาพรู้ทั้งหลายมี จิต เป็นผู้รู้ แต่ปุถุชนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า เราเห็น เราได้ยิน เรารู้กลิ่น เรารู้รส เราเย็น เราร้อน เรารู้สึก เราคิดนึก ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว สภาพรู้ทั้งหลายนี้เป็นจิต ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว หาแก่นสาร หาเจ้าของ หาตัวตนมิได้เลย มีแต่ "จิต" กับ "อารมณ์" เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เพราะไม่รู้ความจริงเช่นนี้จึงหลงผิดคิดว่าเป็นเรามาตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย และเพราะเรานี่แหละจึงได้มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอด เพราะมี "เรา" นี่แหละจึงมีความรู้สึกเหมือนกับแบกโลกไว้ทั้งโลก ถ้าเอา "เรา" ออกเสียได้ก็จะรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังยืนอยู่เหนือโลก


ลักษณะของจิตและการทำงานของจิต


จิตมีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อนิจจลักษณะ คือ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลง (เกิด-ดับ) อยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือ มีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป)
๓. อนัตตลักษณะ คือ มีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด จะบังคับให้หยุดการเกิดดับก็ไม่ได้

สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายอันได้แก่ รูป จิตและเจตสิก ย่อมจะต้องมีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด

นอกจากจิตจะมีลักษณะสามัญตามที่กล่าวมาแล้ว จิตยังมีลักษณะเฉพาะตัว (วิเสสลักษณะ) อีก ๔ ป ระการ คือ

๑. มีการรู้อารมณ์.................................เป็นลักษณะ
๒. มีประธานในธรรมทั้งปวง....................เป็นกิจ
๓. มีการเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นผล
๔. มีอดีตกรรม ทวาร อารมณ์และเจตสิก...เป็นเหตุให้จิตเกิดขึ้น

การทำงานของจิตจะเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ในพระสูตรตอนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีใจความว่า "ยากที่จะนำสิ่งอื่น ๆ ทั้งหลายในโลก มาเปรียบเทียบกับความเกิดดับอันรวดเร็วของจิต เพราะจิตเกิดดับ ๆ รวดเร็วกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตจะเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ หรือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดวง (หนึ่งล้านล้านดวง)"

ที่ว่า จิตมีการเกิดดับสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย เพราะจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้นจิตดวงที่ ๒ ก็จะเกิดขึ้นติดต่อกันแล้วก็ดับไปอีก เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ

(โดยความจริงแล้ว จิตเป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐาน ที่เขียนเป็นดวงกลม ๆ นั้น เป็นการสมมุติเพื่อให้เข้าใจง่ายเท่านั้น)

ภาวะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันเป็นกระแสนี้ท่านเรียกว่า สันตติ ซึ่งสามารถเปรียบเทียนได้กับกระแสน้ำที่ประกอบไปด้วยอณูของน้ำเล็ก ๆ เรียงติดต่อกันเป็นสาย ขณะที่กระแสจิตไม่ออกมารับรู้เรื่องราว (อารมณ์) ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตในขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำหน้าที่รักษารูปนามในภพปัจจุบันไว้มิให้แตกทำลายไป จนกว่าจะสิ้นอายุจากภพนี้ แม้ในขณะหลับสนิท (ไม่มีการฝัน) หรือสลบไป ก็จะมีภวังคจิตเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา อารมณ์ของภวังคจิตเป็นอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในอดีตภพ

เมื่อใดก็ตามที่จิตออกมารับรู้เรื่องราวทางประตู (ทวาร), ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นจิตจะขึ้นสู่วิถีซึ่งเรียกว่า วิถีจิต และเมื่อสิ้นสุดแต่ละวิถีก็จะมีภวังคจิตที่คอยรักษาภพชาติเกิดคั่นอยู่ทุกครั้ง แต่เราจะไม่รู้สึกตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมานั้นเกิดขึ้นรวดเร็วมาก แม้แต่แสงไฟจากหลอดไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีการกระพริบ (เกิด-ดับ) ตามความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับด้วยความเร็วเพียง ๕๐ ครั้งต่อวินาทีเท่านั้น เราก็ยังไม่สามารถสังเกตเห็นการกระพริบของแสงไฟได้เลย ดังนั้น จิตซึ่งมีการเกิดดับอย่างรวดเร็วถึงประมาณ ๑ ล้าน ๆ ครั้งต่อวินาที (อนุมานว่าการลัดนิ้วมือ (การงอนิ้วเข้ามาหาฝ่ามือ) ใช้เวลาประมาณ ๑ วินาที) จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมเราถึงไม่สามารถที่จะรู้สึกได้

* อนุมานว่าการลัดนิ้วมือ (การงอนิ้วเข้ามาหาฝ่ามือ) ใช้เวลาประมาณ ๑ วินาที



ติดตามต่อตอนหน้า เรื่อง: บุญบาป เกิดขึ้นได้อย่างไร, ที่เกิดของจิต


ที่มา: เอกสารประกอบการศึกษา พระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๒ ชีวิตคืออะไร
หลักสูตร: การศึกษาพระอภิธรรมทางไปรษณีย์
ของ: อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2551
9 comments
Last Update : 17 กรกฎาคม 2553 16:24:09 น.
Counter : 10863 Pageviews.

 


แวะมาทักทาย ในวันที่คิดถึงพี่น้องผองเพื่อน สบายดีตามเคยเน๊าะ ระลึกถึงเสมอ จากอุ้ม
สร้าง Comment ง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง..คลิ๊กที่นี่

บอกได้คำเดียวจ๊ะน้องบี...สาธุ

 

โดย: อุ้มสี 9 พฤศจิกายน 2551 19:45:10 น.  

 

เรียนเหมือนกันเลย เย้

 

โดย: ออย ณ เพื่อนพราย IP: 119.31.38.223 9 พฤศจิกายน 2551 20:14:57 น.  

 

อ่านง่าย เข้าใจง่าย นะคะ

 

โดย: โสดในซอย 9 พฤศจิกายน 2551 21:07:26 น.  

 

เข้าใจง่าย แล้วก็ง่วงง่ายดีจังเลยค่ะ

 

โดย: ความเจ็บปวด 10 พฤศจิกายน 2551 3:58:25 น.  

 

อนุโมทนาบุญด้วยตรับ

 

โดย: pop IP: 112.142.18.88 1 มิถุนายน 2552 21:12:36 น.  

 

ขอบคุณสำหรับคำตอบที่ค้นหาอยู่ค่ะ

 

โดย: ชิลชิล IP: 77.126.122.174 21 มกราคม 2555 2:12:45 น.  

 

เข้าใจง่ายคับ รับเอาความดีนะคับ

 

โดย: เท่งคับ IP: 110.49.249.180 26 ธันวาคม 2555 8:33:05 น.  

 

อยากเป็นเพื่อนด้วยคน เพราะอ่านแล้วเข้าใจง่าย ต้องทำอย่างไรจึงจะติดต่อกันได้คะ กรุณาช่วยตอบด้วยคะ

 

โดย: nuttavee02@hotmail.com IP: 171.99.46.106 9 พฤษภาคม 2556 18:58:28 น.  

 

ถ้าเสียชีวิตไปแล้วการทำงานของจิตจะทำงานอยู่หรือไม่อย่างไรครับ

 

โดย: กราบเรียนท่านผู้รู้ IP: 49.228.247.70 27 พฤศจิกายน 2565 19:20:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Beee_bu
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




"ไม่ได้คิดถึงทุกครั้งที่หลับตา
แต่คิดถึงทุกเวลาที่หายใจ"


ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือเพื่อสุขภาพ
รายละเอียด
www.taradplaza.com/dxn

www.pantipmarket.com/mall/dxnshop/

www.facebook.com/SozityShop

www.facebook.com/BeeeGadgets

www.Sozity.com
Friends' blogs
[Add Beee_bu's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

สาวๆเอนมาหนุ่มๆเอนไปเทพมังกรอวยชัยเอนมาๆ width=40 height=40 align=middle vspace=2 hspace=2 border=0 title="cilladevi">
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.