Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 

ยาเบาหวาน


Diabetesเมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ยาเบาหวานก็จะมีบทบาทช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยเหล่านี้ขาดฮอร์โมนอินสุลินโดยสิ้นเชิง การรักษาผู้ป่วยเบาหวานในกลุ่มนี้จึงต้องใช้ฮอร์โมนอินสุลินเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นมีฮอร์โมนอินสุลินอยู่บ้าง จึงใช้ยารับประทานเพื่อรักษาเบาหวานได้ แต่บางรายตับอ่อนเสื่อมสมรรถภาพมาก จำเป็นต้องฉีดอินสุลิน ในผู้สูงอายุการใช้ยารักษาจะเริ่มเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้บรรลุเป้าหมายด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย การใช้ยาจึงมีความสำคัญมากต่อชีวิตผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบันซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากในอดีต โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาที่เหมาะสมคือออกฤทธิ์ไม่แรงและหมดฤทธิ์เร็ว เริ่มจากขนาดยาต่ำๆ ก่อน มีวิธีการใช้ยาที่ง่ายและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ใช้ยาจะต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วยเสมอ

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กระบวนการรักษาเบาหวานมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก มีการผลิตยาชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลการศึกษาข้อมูลของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ติดตามอย่างต่อเนื่องมานานสิบๆ ปี และข้อมูลของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีผลการศึกษาตรงกัน สรุปได้ว่าการควบคุมระดับน้ำตาลที่มีฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) เฉลี่ยน้อยกว่า 7% ระดับไขมัน ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ได้แก่ เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต ได้อย่างชัดเจนมีความสำคัญทางสถิติ มีการคำนวณพบว่าระดับฮีโมโกลบินเอวันซีที่ลดลงจาก 9% เป็น 7% จะลดภาวะแทรกซ้อนเบาหวานได้มากถึง 34-70% ต่อมามีผลการศึกษาตามเพิ่มเติม พบว่าระดับน้ำตาลก่อนและหลังอาหาร 2 ชั่วโมงก็มีความสัมพันธ์โดยตรงกับค่าฮีโมโกลบินเอวันซีและมีผลระยะยาวต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นกัน

ยาเม็ดลดระดับน้ำตาล



  1. ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย

  2. ยากลุ่มไบกัวไนด์


Diabetes


ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย



  1. ยาเม็ดที่ใช้กินรักษาเบาหวานมักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลไม่สูงมากนัก เช่น คนที่เพิ่งจะมีอาการเบาหวานหลังอายุ 40 ปี หรือมีอาการน้อยกว่า 10 ปี หรือคนที่ใช้ยาฉีดอินซูลินไม่เกินวันละ 40 ยูนิต

  2. ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียเป็นยาที่กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินสุลิน ยากลุ่มนี้ควรรับประทานก่อนอาหาร 30 นาที เพื่อให้มีระดับอินสุลินขึ้นสูงทันกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจากมื้ออาหาร

  3. ผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแพ้ยา น้ำหนักตัวเพิ่ม ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือออกกำลังกายมากกว่าปกติ

  4. ยาเม็ดคลอร์โปรปาไมด์ (Chlorpropamide) เป็นยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ซึ่งมี 2 ขนาด คือขนาด 100 มิลลิกรัม และ 250 มิลลิกรัม นอกจากขององค์การเภสัชกรรมแล้ว ยังมียาของบริษัทเอกชนหลายยี่ห้อ เช่น ไดอาบีนีส (Diabenese) ดูไมด์ (Dumide) ราคาชนิด 100 มิลลิกรัม เม็ดละ 12-60 สตางค์ ชนิด 250 มิลลิกรัม เม็ดละ 24-120 สตางค์ กินวันละครั้งก่อนอาหารเช้า โดยเริ่มจากชนิด 100 มิลลิกรัมก่อน กินไป 10 วัน ถ้าไม่ได้ผล ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะบวกสองถึงบวกสี่ จะเพิ่มเป็นชนิด 250 มิลลิกรัม เพิ่มได้สูงสุดจนกระทั่งกินชนิด 250 มิลลิกรัมถึงวันละ 2 เม็ด ถ้ายังไม่ได้ผล ควรพิจารณาเปลี่ยนยาชนิดอื่นแทน

  5. ยาเม็ดไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) เป็นยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย มีอยู่ขนาดเดียวคือ ขนาด 5 มิลลิกรัม ชื่อยี่ห้อ เช่น ดาโอนิล (Daonil) ยูกลูคอน (Euglucon) เป็นต้น ราคาเม็ดละ 1.50-2.00 บาท มักจะเริ่มให้กินวันละครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้าก่อน ถ้าไม่ได้ผลจะเพิ่มอีกเม็ด ถ้าไม่ได้ผลจะเพิ่มเป็นวันละ 2 เม็ด แบ่งให้กินเช้าเม็ด-เย็นเม็ด ถ้ายังไม่ได้ผลอีกจะเพิ่มเป็น 3 เม็ด แบ่งเป็น เช้าเม็ดครึ่ง-เย็นเม็ดครึ่ง ให้ได้สูงสุด วันละ 4-5 เม็ด

  6. ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียอื่นๆ ได้แก่
    - โทลบูตาไมด์ (Tolbutamide) เช่น ราสตินอน (Rastinon), อาร์โทซิน (Artosin)
    - อะซีโตเฮกซาไมด์ (Acetohexamide) เช่น ดัยมีลอร์ (Dymelor)
    - ทาลาซาไมด์ (Talazamide) เช่น ทอลิเนส (Tolinase)


Diabetes



ยากลุ่มไบกัวไนด์



  1. ยากลุ่มไบกัวไนด์ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำตาลกลูโคสจากตับ ทำให้อินสุลินออกฤทธิ์ดีขึ้นในกล้ามเนื้อ

  2. เป็นยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยอ้วน เนื่องจากไม่เพิ่มน้ำหนักตัว

  3. ผลข้างเคียง อาจเกิดเลือดเป็นกรดได้ จึงไม่ควรใช้ในผู้เป็นโรคตับ โรคไต หัวใจวาย อาการปวดมวนท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ หากมีอาการทางเดินอาหารให้รับประทานยาหลังอาหารทันที เพื่อลดผลข้างเคียง



ยากลุ่มอัลฟ่ากูลโคซิเดส อินฮิบิเตอร์



  1. ยากลุ่มอัลฟ่ากูลโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ ออกฤทธิ์ยับยั้งเอมไซม์ที่ย่อยอาหารจำพวกแป้ง ข้าว ขนมปัง ทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารคาร์โบไฮเดรตช้าลง เป็นผลให้ระดับน้ำตาลกูลโคสในเลือดไม่ขึ้นอย่างรวดเร็ว

  2. ควรรับประทานยาพร้อมอาหารคำแรก

  3. ผลข้างเคียง ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผายลม อาจทำให้ท้องเสียได้



ยากลุ่มไธอะโซลิไดโอน



  1. ยากลุ่มไธอะโซลิไดโอน เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดภาวะดื้อฮอร์โมนอินสุลิน ทำให้เนื้อเยื่อตอบสนองต่อการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินสุลินดีขึ้น

  2. ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้

  3. ผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้

  4. ควรระวังการเมื่อใช้ร่วมกับการฉีดอินสุลิน และควรลดอาหารเค็ม


ยากลุ่มดีพีพีโฟร์ อินฮิบิเตอร์



  1. ยากลุ่มดีพีพีโฟร์ อินฮิบิเตอร์ ยับยั้งเอมไซม์ที่จะทำลายฮอร์โมน GLP-1 จากลำไส้ ทำให้ฮอร์โมน GLP-1 สูงขึ้น

  2. ฮอร์โมน GLP กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินสุลินและลดการหลั่งของฮอร์โมนกลูคากอน ซึ่งยานี้จะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินสุลินเฉพาะมื้ออาหาร

  3. โอกาสเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำพบน้อย ไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

  4. ผลข้างเคียง คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง



ข้อแนะนำในการใช้ยาเม็ดลดน้ำตาลในเลือด



  1. การใช้ยาเม็ด ไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่น

  2. เรียนรู้ชื่อยา ขนาดและวิธีใช้ยา เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ใช้ยามากกว่า 1 ชนิด

  3. ควรกินยาให้สม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ ในกรณีควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมากๆ ไม่ควรรับประทานยาถ้างดอาหารมื้อนั้น

  4. ถ้าลืมรับประทานยาซัลโฟไนล์ยูเรีย ก่อนอาหารมื้อเช้า ให้รับประทานยาก่อนอาหารมื้อถัดไป

  5. หากใช้ยาวันละครั้ง และลืมรับประทานยา 1 วัน ไม่ควรรับประทานยาชดเชยเป็น 2 เม็ดในวันถัดไป

  6. หากใช้ยาวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และลืมรับประทานยามื้อเช้าไม่ควรรวบยา 2 มื้อในมื้อเย็นแทน

  7. เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ไม่ต้องแช่เย็น หากสีเม็ดยาเปลี่ยนไปไม่ควรใช้

  8. เก็บยาไว้ติดตัวตลอด เมื่อเดินทางไม่ควรใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า ควรเตรียมยาไว้เกินปริมาณที่ต้องการใช้

  9. หากเจ็บป่วยไม่สบาย ควรเช็คระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ และไม่ควรขาดยา



ยาฉีดอินสุลิน



  1. อินสุลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งปัจจุบันยาชนิดนี้มีในรูปยาฉีด ฮอร์โมนอินสุลินถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นเลยไม่มียาฮอร์โมนชนิดนี้รูปกิน มีการพัฒนาเป็นยาอินสุถลินชนิดสูดด้วย แต่ยาออกฤทธิ์สั้น และต้องอาศัยการเรียนรู้ความชำนาญในการใช้ยาของผู้ป่วยทำให้ยังไม่ได้รับความนิยม

  2. ยาฉีดอินสุลินใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เพราะผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ขาดฮอร์โมนอินสุลินโดยสิ้นเชิง ต้องรักษาด้วยยาฉีดอินสุลินเท่านั้น

  3. ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะใช้อินสุลินเมื่อ
    - การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ดีแม้จะใช้ยาลดระดับน้ำตาลร่วมกันในขนาดสูงสุด
    - การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเลวลงเมื่อมีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การผ่าตัด การติดเชื้อ บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรุนแรง การเจ็บป่วยร้ายแรงอื่นๆ
    - น้ำหนักตัวลดลงมากจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ดี
    - ภาวะฉุกเฉินในโรคเบาหวานได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรด
    - ภาวะตั้งครรภ์
    - ภาวะการทำงานของไตและตับบกพร่อง
    - แพ้ยาเม็ดลดน้ำตาล


ยาฉีดฮอร์โมน GLP-1



  1. ยาฉีดฮอร์โมน GLP-1 เป็นยาใหม่เพิ่งเข้าประเทศไทย เกิดจากการที่พบว่ามีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่รียกว่า GLP-1 หลั่งออกมาจากลำไส้เวลาเรารับประทานอาหาร ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปกระตุ้นการหลั่งอินสุลินจากตับอ่อนได้ และพบว่าคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ขาดฮอร์โมนชนิดนี้

  2. เนื่องจากยานี้ต้องใช้ในคนที่ยังมีฮอร์โมนอินสุลินอยู่จึงไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 1 ข้อดีของยานี้คือเมื่อฉีดไปแล้วผู้ป่วยจะน้ำหนักลดลงเรื่อยๆ ทำให้ลดความดื้อต่อฮอร์โมนอินสุลินได้ ข้อเสียคือมีฤทธิ์ข้างเคียงเรื่องคลื่นไส้ อาเจียน

  3. อินคริตินฮอร์โมน (Incretin hormones) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร และมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนอินสุลินจากตับอ่อน ถูกนำมาใช้รักษาโรคเบาหวานมากขึ้นในปัจจุบัน อินคริตินฮอร์โมนเกิดขึ้นเมื่ออาหารผ่านลงไปในทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนดูโอดินัม เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารจะสร้างอินคริตินฮอร์โมนออกมาสู่กระแสเลือด ไปมีผลต่อเบต้าเซลล์ของตับอ่อน กระตุ้นให้ทำการสร้างฮอร์โมนอินสุลิน ในคนปกติพบว่าอินคริตินฮอร์โมนมีผลมากถึงร้อยละ 50-70 ที่จะกระตุ้นตับอ่อนให้สร้างฮอร์โมนอินสุลิน

  4. บทบาทและหน้าที่ของอินคริตินฮอร์โมนเป็นที่รู้กันมานานแล้ว นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ดร.ซันซ์ และ ดร.ลาแบร์ เป็นผู้ค้นพบอินคริตินฮอร์โมน และรายงานผลการศึกษาลงในวารสารการแพทย์ครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1929 นำเสนอการค้นพบว่า อินคริตินฮอร์โมนเป็นสารที่กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลิน ในครั้งนั้นทั้งสองท่านค้นพบอินคริตินฮอร์โมนจากการสกัดลำไส้เล็กส่วนดูโอนัม ซึ่งเป็นสำไส้เล็กส่วนแรกสุดถัดจากกระเพาะอาหาร

  5. อินคริตินฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารชนิด K-cells และ L-cells ร่างกายสร้างอินคริตินฮอร์โมน เมื่อมีอาหารเคลื่อนมาถึงกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น แล้วมีผลให้เซลล์ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินสุลิน ความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ตับอ่อนชนิดที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินสุลิน กับเซลล์ของเยื่อบุทางเดินอาหารที่สร้างอินคริตินฮอร์โมน เรียกว่า entero-insular axis นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อสมองส่วนควบคุมการกินที่เป็นศูนย์กลางความรู้สึกหิว-อิ่มอีกด้วย

  6. กลไกทางสรีรวิทยาที่ควบคุมการสร้างและหลั่งอินคริตินฮอร์โมน รวมทั้งกลไกการออกฤทธิ์ของอินคริตินฮอร์โมน หรือที่เรียกว่า "incretin effect" ปัจจุบันพบว่า คนไข้โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน หรือ type 2 diabetes ทุกรายจะมี incretin effect ลดลง หรือมีการตอบสนองต่อผลของฮอร์โมนอินคริตินลดน้อยลง จึงเป็นหลักการสำคัญที่นำมาใช้เป็นแนวทางการรักษาใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งเท่าที่มีรายงานการศึกษาวิจัยในช่วงสองปีหลังมานี้ พบว่าผลการรักษาโรคเบาหวานดีขึ้นกว่าเดิมมาก อินคริตินฮอร์โมนชนิดที่สำคัญและนำมาพัฒนาเป็นยาเบาหวานรุ่นใหม่มีสองชนิด มีชื่อเรียกว่า GIP และ GLP-1

  7. GIP (gastric inhibitory polypeptide) ถูกค้นพบในปี 1971 เป็นฮอร์โมนชนิดกรดอะมิโน 42 ตัวเรียงกัน สร้างจากเซลล์ชนิด K-cells ในเยื่อบุทางเดินอาหาร โดยสร้างมากที่ลำไส้ส่วนดูโอนินัมและเจจูนัม อาหารประเภทแป้งและน้ำตาล รวมทั้งอาหารไขมัน เป็นตัวกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน GIP ที่สำคัญ ในคนปกติจะมีค่าครึ่งชีวิต 7 นาที สามารถพบโปรตีนตัวรับของฮอร์โมน GIP ที่เซลล์ตับอ่อนเป็นจำนวนมาก

  8. GLP-1 มีชื่อเต็มว่า glucagon-like peptide-1 ถูกค้นพบในปี 1982 เป็นโปรตีนที่สร้างจากกลูคากอนยีน glucagon gene โครงสร้างประกอบด้วยกรดอะมิโน 30/31 ตัวเรียงกัน สร้างจากเซลล์ชนิด L-cells ของลำไส้เล็กส่วนไอเลียมและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น พบโปรตีนตัวรับของฮอร์โมน GLP-1 ที่เซลล์ตับอ่อน สมอง หัวใจ ไต และทางเดินอาหาร GLP-1 เป็นสายเปปไทด์ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 30/31 ตัว โดยสร้างและหลั่งออกมาจากเซลล์ชนิด enteroendocrine L cells เซลล์ดังกล่าวพบได้เป็นส่วนใหญ่ที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ พบได้ประปรายที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ออกฤทธิ์โดยลดการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน จะเกิดขึ้นในภาวะที่น้ำตาลในเลือดปกติ หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเท่านั้น และจะไม่เกิดขึ้นในภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ GLP-1 มีผลต่อเบต้าเซลล์ในตับอ่ออน ทำให้มีการแบ่งตัวมากขึ้น อายุของเบต้าเซลล์ยาวนานขึ้นอีกด้วย GLP-1 มีผลทำให้อาหารผ่านลำไส้ช้าลง เป็นการลดระดับน้ำตาลภายหลังมื้ออาหาร


Diabetes


การรักษาโรคเบาหวานชนิด incretin-based therapies



  1. เป็นแนวทางใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอินคริติน และใช้ยาที่ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนอินคริติน

  2. ยาออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของอินคริตินฮอร์โมน เรียกว่า incretin enhancers ยาในกลุ่มนี้ ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอ็นซัยม์ DPP-4 ซึ่งเป็นเอ็นซัยม์ย่อยสลาย GLP-1 ทำให้ระดับของ GLP-1 เพิ่มขึ้น และเสริมฤทธิ์ของฮอร์โมนอินคริติน


Vildagliptin
Vildagliptin เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท Novartis เดิมเรียกว่า LAF237 เป็นยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มระดับ GLP-1 อาจใช้เป็นยาตัวเดียว monotherapy หรือใช้ร่วมกับยาเบาหวานชนิดอื่นๆ MK 431 เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท Merck — MK 431 เป็นยาชนิดรับประทาน ออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินสุลิน และลดระดับของกลูคากอน นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าสามารถลดระดับฮีโมโกลบิน A1C อย่างมีนัยสำคัญ

GLP-1 Analogues
ยาที่ออกฤทธิ์เหมือน GLP-1 เรียกว่า GLP-1 Analogues ได้แก่



  • Exenatide (Amylin/Lilly) เป็นยาฉีดวันละสองครั้ง ได้รับอนุมัติจาก FDA เมื่อเดือนเมษายน 2005 Exenatide เป็นสารสังเคราะห์จาก exendin-4 ซึ่งเป็นฮอร์โมนในน้ำลายของกิ้งก่าชนิด Gila monster ซึ่งเป็นกิ้งก่าพื้นเมืองในอเมริกาตอนใต้ มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับ human GLP-1



  • Liraglutide (Novo Nordisk) เป็นยาฉีดวันละครั้ง ออกฤทธิ์ลดระดับของกลูคากอน และเพิ่มปริมาณของเบต้าเซลล์ในตับอ่อน เชื่อว่าอาจมีคุณสมบัติทำให้เบต้าเซลล์เกิด regeneration ได้อีกด้วย



  • DAC:GLP-1 (ConjuChem) เป็น GLP-1 analogue ลดระดับกลูโคสในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งวัน รวมทั้งระดับน้ำตาลตอนเช้าหลังอดอาหาร เป็นยาที่ออกฤทธิ์นาน มีความปลอดภัยสูง และไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอิมมูน



imageที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ ที่นี่




 

Create Date : 11 มีนาคม 2554
1 comments
Last Update : 11 มีนาคม 2554 9:44:11 น.
Counter : 2061 Pageviews.

 

ทำไม GLP-1 ถึงไม่ทำงานในภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดตำ่คะ

 

โดย: กิฟ IP: 110.77.250.10 8 สิงหาคม 2554 18:54:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.