Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
13 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
มะเร็งปอด

มะเร็งปอด (lung cancer) เป็นโรคที่พบมาก และเป็นสาเหตุการตายในอันดับต้นๆ ทั้งเพศชาย และหญิงในประเทศไทย และอุบัติการณ์ของโรคนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเพศหญิง ผู้ป่วยมะเร็งปอดร้อยละ 90 เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ ธรรมชาติทางชีววิทยาของโรคมะเร็งปอด ทำให้พบผู้ป่วยเมื่อเริ่มมีอาการ ในขณะที่โรคอยู่ในระยะลุกลาม และแพร่กระจาย เป็นผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 เสียชีวิตจากโรคมะเร็งภายในเวลา 1-2 ปี โรคมะเร็งปอดพบมากในผู้สูงอายุวัย 50-75 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ปริมาณมาก และประมาณร้อยละ 5 เป็นผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จำนวนมวนของบุหรี่ที่สูบต่อวัน และชนิดของบุหรี่ที่สูบจะสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ผู้ที่สูบบุหรี่ร้อยละ 15 จะเกิดโรคมะเร็งปอดภายในเวลา 30 ปี ถ้าเลิกสูบบุหรี่สามารถลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดลงเหลือเท่าผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ภายในเวลา 15 ปี

สารอันตรายในบุหรี่

ควันบุหรี่จะประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพกายของคนเราประมาณ 4000 ชนิด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรกได้แก่ ทาร์ หรือ น้ำมันดิน หรือที่เห็นเป็นคราบบุหรี่ เป็นที่รวมของสารเคมีในกลุ่มของไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะรวมตัวเป็นเป็นสารที่มีความเหนียวติดอยู่กับเนื้อปอด และมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งโดยตัวของมันเอง นอกจากนี้ยังเป็นสารที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หากผู้สูบบุหรี่นั้นมีโรคมะเร็งอยู่ในร่างกายแล้ว

กลุ่มที่สอง ได้แก่ นิโคติน ซึ่งจัดเป็นสารที่มีการกระตุ้นสมอง และประสาทส่วนกลางได้ในระยะแรก แต่ระยะต่อมาจะมีฤทธิ์กดระบบประสาท นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดหดตัว มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นด้วย นิโคตินมีส่วนทำให้คนที่สูบบุหรี่อยากสูบอยู่เรื่อยๆ

กลุ่มที่สาม ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ ซึ่งมีความเข้มข้นสูงในควันบุหรี่จะไปขัดขวางการรับออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง และยังทำให้ไขมันพอกพูนตามผนังเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ สายตาเสื่อม ลดประสิทธิภาพในการตัดสินใจ และลดการตอบสนองต่อเสียง ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนขับรถ นักบิน และมีผลทำให้สมรรถภาพของนักกีฬาลดน้อยลง

สาเหตุอื่นๆ

ผู้ป่วยส่วนน้อยอีกประมาณร้อยละ 10 ที่ไม่สูบบุหรี่ อาจมีประวัติได้รับสารก่อมะเร็งที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น แอสเบสตอส (ตัวอย่างเช่นผู้ที่ทำงานในโรงงานผลิตผ้าเบรครถยนต์ เป็นต้น) สารก่อมะเร็งอื่นได้แก่ แร่เรดอน มลภาวะในอากาศจากอุตสาหกรรมโลหะหนัก ควันมลภาวะในสิ่งแวดล้อม การฉายรังสีเพื่อรักษา นอกจากนี้พบว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งปอดด้วย

อาการ

  1. มะเร็งปอดส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่เยื่อบุผนังหลอดลม ทำให้อาจมีอาการไอ หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ปอดอักเสบบ่อยๆ เจ็บลึกที่หน้าอก และหายใจลำบากจากน้ำท่วมปอด เป็นต้น
  2. ผู้ป่วยอาจมีอาการเนื่องจากมะเร็๋งลุกลามหรือแพร่กระจาย เช่น เสียงแหบ อาการทางสมอง ปวดกระดูก เป็นต้น
  3. ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกอาจไม่แสดงอาการใดๆ ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะโรคลุกลาม และโอกาสรักษาหายขาดลดลง
  4. มะเร็งปอดเป็นโรคที่ตรวจค้นหาในระยะเริ่มแรกได้ยาก การนำเอาผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาตรวจเสมหะ และเอ็กซเรย์ปอด เพื่อพยายามจะลดอัตราการตายจากโรคมะเร็ง พบว่าสามารถพบผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มแรกมากขึ้น แต่ไม่สามารถลดอัตราตายลงได้ ความล้มเหลวเชื่อว่าเนื่องจากมะเร็งปอดแม้จะมีขนาดเล็กก็พบการแพร่กระจายได้สูง ทั้งนี้พบว่ามะเร็งปอดมักจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคลุกลามมากแล้ว

การวินิจฉัย

  1. การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดทำได้โดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง วิธีส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม การใช้เข็มแทงผ่านผนังทรวงอก หรือขลิบชิ้นเนื้อจากหลอดลมเพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อให้การวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา
  2. การถ่ายภาพรังสีทรวงอกเป็นวิธีตรวจพื้นฐานช่วยในการตรวจหามะเร็งปอดได้เป็นอย่างดี การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยในการถ่ายภาพแบบสามมิติ ช่วยให้ตรวจพบก้อนเนื้องอกที่อาจไม่ปรากฏบนภาพเอ็กซเรย์ธรรมดา การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใช้สนามแม่เหล็กที่มีกำลังสูง และประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพที่ทำให้เห็นรายละเอียดที่ชัดมากยิ่งขึ้น ภาพถ่ายรังสีจากหลายๆ วิธีสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับปอด และก้อนเนื้องอก อีกทั้งยังสามารถแสดงตำแหน่ง และขนาดของก้อนเนื้องอกได้อย่างแม่นยำ
  3. PET scan (Positron Emission Tomography) เป็นเครื่องมือใหม่ทางรังสีวิทยา แตกต่างจากเอ็กซ์เรย์ธรรมดา เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และอัลตร้าซาวด์ หลักการของวิธี้เป็นการตรวจหาเซลล์ที่มีเมตะบอลิซึมผิดปกติ โดยเป็นการตรวจหาการทำงานของเซลล์ และผ่านกลวิธีทำให้ปรากฏออกมาเป็นรูปภาพให้เห็น ในการตรวจมะเร็งปอดจะใช้น้ำตาลที่จับกับสารกัมมันตภาพฉีดเข้าไปในเส้นเลือด เซลล์ที่มีเมตะบอลิซึมสูงจะใช้น้ำตาลมาก เช่น เซลล์มะเร็ง ส่วนเซลล์ที่ตายหรือมีเมตะบอลิซึมต่ำจะใช้น้ำตาลน้อย เมื่อใช้เครื่องตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพ ก็จะพบว่าก้อนมะเร็งมีกัมมันตภาพสูงกว่าเนื้อเยื่อปกติธรรมดา
  4. วิธีส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (bronchoscopy) กระทำโดยใช้กล้องส่องสอดทางจมูกเข้าไปจนถึงหลอดลม เมื่อเห็นภาพโดยตรงของหลอดลม และท่อลม รวมถึงก้อนเนื้องอก จึงดูดหรือตัดชิ้นเนื้อบริเวณนั้นมาเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป ข้อดีของการส่องกล้องตรวจภายในหลอดลมคือช่วยให้ได้เห็นภาพของหลอดลมในปอดได้โดยตรง
  5. การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา (biopsy) เป็นวิธีตรวจโดยตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้องอก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ชิ้นตัวอย่างจะถูกตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาลักษณะผิดปกติของเซลล์มะเร็ง อาจเลือกใช้เข็มดูด โดยใช้เข็มที่บางมากในการดูดเอาชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาจากก้อนเนื้อที่สงสัย วิธีนี้ทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับอาการปวด การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยในการหาตำแหน่งที่แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับการแทงเข็ม
  6. การตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็งเคยเป็นวิธีตรวจมะเร็งปอดระยะแรกประจำปี พบว่าผลที่ได้น้อย จึงเสื่อมความนิยมไป ใน 10-20 ปีที่ผ่านมาการพยายามตรวจหามะเร็งปอดในระยะแรกได้เริ่มขึ้นใหม่ โดยใช้เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งจะให้ผลตรวจก้อนมะเร็งในระยะแรกได้ไวกว่าเอกซ์เรย์ธรรมดาถึง 3 เท่า และพบในระยะแรกที่ตัดออกได้มากกว่าถึง 5 เท่า

การแบ่งระยะของมะเร็งปอดด

ปัจจุบันการแบ่งระยะของมะเร็งปอด นิยมใช้ระบบจัดจำแนกชนิด TNM system โดยที่ T หมายถึงขนาดของก้อนมะเร็ง N หมายถึงมะเร็งกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้วหรือไม่ และไปที่ต่อมไหน ส่วน M หมายถึงมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้วหรือไม่

occult stage : พบเซลล์มะเร็งในเสมหะ หรือน้ำลาย แต่ไม่พบก้อนมะเร็งในปอด

Stage 0 : พบมะเร็งในหลอดลมแต่ไม่กินลึกลงไปในปอด อยู่เฉพาะที่ และไม่กระจายไปที่ใด

Stage I : มะเร็งจำกัดอยู่ในปอด ยังไม่กระจายแพร่ออกไป ก้อนมะเร็งจะโตเท่าไรก็ได้

Stage II : มะเร็งแพร่กระจายไปในต่อมน้ำเหลืองในปอดข้างเดียวกันแล้ว

Stage IIIA : มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ หลอดลม อาจลามไปถึงทรวงอก และกระบังลมข้างเดียวกัน

Stage IIIB : มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ปอดด้านตรงข้าม และต่อมน้ำเหลืองที่คอ

Stage IV : มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายแล้ว

การรักษา

  1. ส่วนการรักษาในผู้ที่พบว่าเป็นโรคมะเร็งปอดแน่นอนแล้ว แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาถึง อายุ ภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ระยะของโรคชนิดของชิ้นเนื้อ และการยอมรับของผู้ป่วย การรักษาอาจใช้วิธีการผ่าตัด การฉายแสง เคมีบำบัด รวมทั้งการรักษาบรรเทาอาการ และประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  2. มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ ถ้ามาพบแพทย์ในระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด วิธีป้องกันโรคมะเร็งปอดที่ดีที่สุดคือ การไม่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ให้ได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ ที่นี่

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ


Create Date : 13 พฤษภาคม 2552
Last Update : 13 พฤษภาคม 2552 15:24:27 น. 0 comments
Counter : 1238 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.