Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
รู้ทันโรคต้อกระจก

อาการตามัวในผู้สูงอายุดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนหลายๆ คนไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งนี้เท่าใดนัก เพราะคิดไปว่า “แก่แล้ว หูตาก็ฝ้าฟางเป็นธรรมดา” แต่ในความเป็นจริงแล้ววิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถช่วยรักษาอาการตามัวในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้ ดังนั้น อย่าได้นิ่งนอนใจ ถ้าคุณหรือญาติผู้ใหญ่ของคุณตามัวลง

ดวงตาของเรานั้นจะสามารถเห็นภาพได้ชัดดี จะต้องอาศัยการมีกระจกตาที่ใส เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปยังเลนส์แก้วตา ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือใส และสามารถหักเหแสงให้โฟกัสพอดีที่จอประสาทตา คล้ายกับเลนส์ที่อยู่ในกล้องถ่ายรูป ซึ่งจะต้องโฟกัสภาพลงพอดีที่ฟิลม์ และฟิลม์หรือประสาทตาก็จะต้องมีคุณภาพดี ภาพที่ได้จึงจะชัดเจน ถ้าหากมีองค์ประกอบใดที่ทำงานผิดไป เราก็จะเห็นภาพไม่ชัดหรือเกิดตามัวขึ้นนั่นเอง

ต้อกระจกคืออะไร?

ต้อกระจก (Cataract) คือภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น แสงจึงผ่านเลนส์เข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง หรือบางครั้งการขุ่นนั้น จะก่อให้เกิดการหักเหแสงที่ผิดปกติไปโฟกัสผิดที่ ทำให้จอประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงตามัวลง โดยไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใดๆ ยิ่งเลนส์แก้วตาขุ่นขึ้น การมองเห็นก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ ต้อกระจกเป็นสาเหตุที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุตามัวลง

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับต้อกระจก

  • ต้อกระจกไม่ใช่โรคติดต่อ และจะไม่ลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ต้อกระจกจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองตา แต่ทั้งนี้ อาการอาจรุนแรงไม่เท่ากัน
  • การใช้สายตา และสภาวะของอาหารการกิน ไม่เป็นสาเหตุของต้อกระจก และไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
  • ต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ดังนั้น กว่าสายตาของผู้ป่วยส่วนมากจะขุ่นมัวจนรู้สึกได้ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี
  • แนวคิดเกี่ยวกับการรักษาต้อกระจกได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ว่าต้องรอให้ต้อกระจกสุกก่อน จึงจะทำการรักษาได้ผลดี ปัจจุบันมีวิทยาการในการรักษาโรคต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ที่เรียกว่าวิธี “สลายต้อกระจก” หรือย่อๆ ว่า “เฟโค” (Phacoemulsification) ซึ่งสามารถใช้รักษาต้อกระจกได้โดยไม่ต้องรอให้ต้อสุกก่อนและให้ผลการรักษาดีมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทนทรมานกับสายตาที่มัวลงเพื่อรอให้ต้อสุก ซึ่งอาจจะนานเป็นปี เพราะเมื่อใดที่ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกอึดอัดกับการที่สายตามัวลง จนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือการทำงาน ก็สามารถมาปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อขอรับการรักษาโดยไม่ต้องรอเช่นในอดีต
  • ต้อกระจกไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ที่เราพบว่าญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวหลายคนของเราเป็นต้อกระจก ก็เพราะว่าการขุ่นของเลนส์แก้วตาในโรคต้อกระจกนั้น เกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามวัย คล้าย ๆ กับที่ผู้สูงอายุทุกคนจะมีผมหงอกขาวนั่นเอง

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นต้อกระจก

ถึงแม้ว่าต้อกระจกส่วนใหญ่จะเกิดในผู้สูงอายุ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้บ้างในคนที่มีอายุน้อย กรณีนี้จะมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น

  • อุบัติเหตุ กรณีนี้ต้อกระจกเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ถ้าดวงตาเคยได้รับอันตรายจากการกระทบกระเทือนที่รุนแรง โดนของมีคมทิ่มตา ถูกสารเคมีบางชนิดหรือแสงรังสีที่บริเวณดวงตา ตลอดจนมีเศษโลหะกระเด็นเข้าไปฝังภายในลูกตา
  • โรคตา หรือโรคทางร่ายกายบางอย่าง เช่น การอักเสบติดเชื้อของกระจกตา โรคเบาหวาน โรคตาบางชนิดก็เป็นสาเหตุ หรือกระตุ้นให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้นได้
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ ก็ทำให้เป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด ในกรณีผู้ป่วยเด็ก ต้อกระจกเกิดได้จากการอักเสบติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์

อาการของต้อกระจก

  • ตามัวลงช้าๆ เหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง โดยไม่มีอาการปวดตา จะมัวลงช้ามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ ตำแหน่งของเนื้อเลนส์แก้วตาที่ขุ่น
  • เห็นภาพซ้อน สายตาพร่า สู้แสงไม่ได้ เห็นดวงไฟแตกกระจายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • ในบางรายอาการระยะแรกของต้อกระจกคือจะมีสายตาสั้นมากขึ้นๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ ในที่สุดเมื่อต้อกระจกขุ่นมาก สายตาจะมัวโดยที่แว่นตาช่วยให้ชัดไม่ได้อีกต่อไป
  • ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาในระยะเวลาอันสมควรจนต้อกระจกสุกมาก รูม่านตาที่ปกติเห็นเป็นสีดำ จะกลายเป็นสีเหลืองหรือขาวขุ่น นอกจากนี้ จะเกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้ กล่าวคือผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง และตาแดงมาก เนื่องจากโรคลุกลามกลายเป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน และม่านตาอักเสบ จนกระทั่งตาบอดได้ในที่สุด

ทำอย่างไร เมื่อสงสัยว่าอาจเป็นต้อกระจก?

เมื่อมีอาการตามัว หรืออาการอื่นที่สงสัยว่าจะเป็นต้อกระจก ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดวงตาโดยละเอียด เพื่อแยกชนิด และความรุนแรงของต้อกระจก นอกจากนี้ จักษุแพทย์จะต้องตรวจวัดความดันลูกตา และหยอดยาขยายรูม่านตา เพื่อตรวจประสาทตาโดยละเอียด ให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยตามัวลง หรือมีโรคอื่นร่วมด้วย เพื่อเป็นแนวทางการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและครบถ้วนต่อไป

วิธีการรักษาต้อกระจก

การใช้ยาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นยาหยอดตาหรือยารับประทาน ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถรักษา หรือยับยั้งการเกิดต้อกระจกได้ เมื่อต้อกระจกเป็นมากจนทำให้สายตาขุ่นมัว จนเกิดความไม่สะดวกในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติแล้ว การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ หรือเทคนิค “เฟโค” (Phacoemulsification) พร้อมทั้งใส่เลนส์แก้วตาเทียม เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยให้สายตาของผู้ป่วยดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยและได้ผลดีมาก โดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์ไปสลายเลนส์แก้วตาที่ขุ่นแล้วดูดออกจนหมด เหลือแต่เยื่อหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุงสำหรับให้จักษุแพทย์สอดเลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ การสลายต้อกระจกนี้ สามารถทำได้โดยการให้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้ยาสลบ นอกจากนี้ แผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาวิธีนี้จะมีขนาดเล็กมากเพียง 3 ม.ม. จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล สามารถมองเห็นได้ชัดเจนอย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลความสะอาด และระวังไม่ให้มีอุบัติเหตุกระทบกระแทกต่อดวงตา

ข้อจำกัดของการสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์

ในกรณีที่ต้อกระจกสุกมากหรือแข็งตัวมาก หรือในผู้ป่วยที่มีการเลื่อนหลุดของเลนส์แก้วตาจากเส้นใยที่ยึดเลนส์ที่เป็นต้อกระจกฉีกขาด ซึ่งพบได้ในรายที่ต้อกระจกสุกมากเกินไป หรือมีโรคทางตาบางชนิด หรือเคยได้รับอุบัติเหตุกระทบกระแทกบริเวณดวงตามาก่อน กรณีดังกล่าวข้างต้นไม่เหมาะสมสำหรับการสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ จักษุแพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาต้อกระจกด้วยวิธีดั้งเดิม ซึ่งจะต้องเปิดแผลกว้างประมาณ 10 - 12 ม.ม. เพื่อนำตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปในถุงของเยื่อหุ้มเลนส์เดิม หลังจากนั้น จึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บชนิดบางเล็กพิเศษ

ทั้งนี้ การเลือกวิธีการรักษาต้อกระจกว่าสมควรใช้วิธีใดนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยที่แพทย์จะสามารถให้ข้อมูลแก่คุณได้ หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยดวงตาของคุณโดยละเอียดแล้ว

ทำไมต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียม

ภายหลังจากการนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออกแล้ว ดวงตาจะไม่มีเลนส์แก้วตาทำหน้าที่รวมแสงอีกต่อไป การมองเห็นจึงยังไม่ชัดเจนเปรียบเหมือนกล้องถ่ายรูปที่ไม่มีเลนส์ ภาพจึงยังไม่โฟกัส จักษุแพทย์จะต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียม เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน

เลนส์แก้วตาเทียมมีคุณสมบัติใส ทำมาจากสารพิเศษที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบหรือปฏิกิริยาใดๆ กับดวงตา มีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีพ และจะอยู่ภายในถุงเยื่อหุ้มเลนส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของดวงตาคุณ โดยไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ

มีผู้ป่วยน้อยรายมากที่ไม่เหมาะสมในการใส่เลนส์แก้วตาเทียม ภายหลังนำต้อกระจกออกแล้ว เนื่องจากคนเหล่านั้นมีโรคของดวงตาบางชนิด ในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจต้องใช้แว่นสายตาพิเศษหรือคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษทดแทนการใส่เลนส์แก้วตาเทียม

เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด เลือกอย่างไรดี?

เลนส์แก้วตาเทียมแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  1. เลนส์ชนิดแข็ง ทำมาจากวัสดุที่เรียกว่า Polymethylmethacrylate หรือ PMMA มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 5.0 - 7.0 ม.ม. เลนส์ชนิดนี้จะต้องสอดเข้าดวงตาโดยผ่านแผลขนาดใหญ่ จึงใช้ในกรณีที่รักษาต้อกระจกแบบดั้งเดิม ซึ่งต้องเปิดแผลกว้างประมาณ 10 - 12 ม.ม. อยู่แล้ว
  2. เลนส์ชนิดนิ่มพับได้ (Foldable lenses) เป็นเลนส์ชนิดพิเศษ ซึ่งทำจากวัสดุกลุ่มอะคริลิก (Acrylic)หรือ ซิลิโคน (Silicone) ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถพับเพื่อสอดเข้าดวงตาผ่านแผลที่มีขนาดเพียง 3.0 - 3.5 ม.ม. แล้วจะไปคลายตัวในดวงตาให้อยู่ในรูปร่างที่สมบูรณ์พร้อมที่จะทำหน้าที่รวมแสงได้ในทันที จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์

มีเลนส์แก้วตาเทียมในดวงตาแล้ว ยังต้องใส่แว่นสายตาอีกหรือไม่?

เลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้กันแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ทั้งชนิดแข็งและชนิดนิ่มพับได้ เป็นชนิดที่มีจุดโฟกัสเพียงจุดเดียว เสียส่วนใหญ่ กล่าวคือจะไม่สามารถยืดหยุ่นเพื่อปรับระยะภาพ ให้เห็นชัดร่วมกันทั้งที่ระยะไกล และใกล้ ดังนั้น โดยทั่วไปจักษุแพทย์มักจะเลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่ผู้ป่วยจะเห็นชัดในระยะไกล ผู้ป่วยจึงสามารถทำกิจวัตรประจำวันทั่วๆ ไป เดินเหินไปมา ขึ้น-ลงบันได และเล่นกีฬาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นสายตา แต่จะต้องใช้แว่นสายตาเพื่อช่วยปรับระยะเวลามองใกล้ เช่น การอ่านหนังสือ ทำงานกับคอมพิวเตอร์ หรือเย็บปักถักร้อย และลักษณะนี้เป็นภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติของดวงตาคนปกติเมื่อสูงอายุเป็นที่สุดเลนส์แก้วตาเทียมชนิดจุดโฟกัสเดียวนี้มีข้อดี คือภาพที่ผู้ป่วยเห็นจะมีความคมชัดดี เป็นธรรมชาติที่สุด มีปัญหาแสงกระจาย เวลาขับรถช่วงกลางคืนน้อย แต่ผู้ป่วยจะมีภาระที่ต้องใช้แว่นสายตาเมื่อมองใกล้ดังกล่าว

ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตเลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มพับได้ บางรายคิดค้นเลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มที่มีจุดโฟกัสหลายจุด (Mulitfocal lens) ขึ้น ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากเลนส์ชนิดนี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ทั้งระยะไกล และใกล้ โดยไม่ต้องใช้แว่นสายตาช่วย แต่ความคมชัดของภาพจะน้อยกว่าเลนส์แก้วตาเทียมชนิดจุดโฟกัสเดียวเล็กน้อย และในผู้ป่วยบางรายอาจพบปัญหาแสงกระจาย ทำให้มีปัญหาในการขับรถเวลากลางคืนได้บ้าง เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนี้จึงไม่เหมาะสมกับผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องการความคมชัดสูงๆ และผู้ที่ต้องใช้สายตาขับรถกลางคืนอยู่เป็นประจำ

ทั้งนี้ การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดใดในผู้ป่วยแต่ละรายนั้น จักษุแพทย์สามารถให้ข้อมูล และคำแนะนำแก่คุณ เพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคุณและจักษุแพทย์ผู้รักษาต่อไป

แม้ว่าทุกคนจะหลีกเลี่ยงการเป็นต้อกระจกไปไม่พ้น แต่ด้วยวิทยาการอันทันสมัยของยุคปัจจุบัน ทำให้ต้อกระจกไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป ภายในเวลาไม่กี่นาทีของการสลายต้อกระจก คุณก็สามารถกลับมามองโลกได้สดใสอีกครั้งหนึ่ง

ศูนย์จักษุกรุงเทพ




Create Date : 08 มกราคม 2553
Last Update : 8 มกราคม 2553 11:30:25 น. 1 comments
Counter : 988 Pageviews.

 
มีความสุขดังสรวงสวรรค์

ลาภยศสรรเสริญทั้งหลาย

เงินทองความรักมากมาย

จงมุ่งหมายทำดีในปีใหม่


˛ 。° 。 ° 。˚ ˛ • ˚ ˚ ˛
*★Happy★* 。 • ˚ ˚ ˛ ˚ ˛ • •
。★New Year★ 。* 。° 。 ° ˛
˚˛ * _Π_____*。*˚ ˚ ˛ ˚ ˛ •˛
•˚ */______/~\\\\。˚ ˚ ˛ ˚ ˛ •˛
• ˚ | 田田 |門| ˚ ˛ ˚ ˛ •


โดย: Elbereth วันที่: 8 มกราคม 2553 เวลา:18:57:29 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.