Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
30 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 

ปวดหัวไมเกรน

Migraineอาการปวดศีรษะอาจแบ่งโดยคร่าวๆ ออกเป็น 2-3 ชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากกล้ามเนื้อตึงตัว จากการนอนดึก ความเครียด ซึ่งจะปวดตามท้ายทอย ปวดรอบเบ้าตา ร้าวไปกลางศีรษะ จากขมับไปข้างหลัง ซึ่งจะพบบ่อย มักจะเกิดจากการที่เราพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือบางทีผู้ป่วยจะบอกว่ามันวิ่งจี๊ดไปมา แบบที่สอง เป็นการปวดซึ่งเกิดจากการที่หลอดเลือดขยายตัว แต่จะไม่เกี่ยวกับเส้นเลือดตีบ พวกอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งอาการเส้นเลือดที่ศีรษะขยายตัวที่เรารู้จักกันดีก็คือไมเกรน แบบที่สาม เป็นอาการปวดเนื่องจากมีอะไรอยู่ในสมอง เช่น ก้อนเนื้องอก พยาธิ หรืออะไรก็ตามที่มาทำให้ความดันในศีรษะเพิ่มขึ้น อาการปวดแบบนี้จะปวดตื้อๆลึกๆ อยู่ข้างใน ที่สำคัญคือจะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ คือเริ่มแรกอาจจะไม่ปวดเท่าไหร่ แต่ต่อมาอาจจะปวดถึงขั้นอาเจียน หรือเห็นภาพซ้อน ซึ่งโดยมากแล้วมักจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง หรืออาการชัก

โรคไมเกรนหรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ลมตะกัง”
เป็นสาเหตุอันดับแรกๆของอาการปวดศีรษะที่พบในคนทั่วไป ประมาณทุก ๆ 10 คน จะมีคนเป็นโรคนี้ 1-2 คน อาการแสดงที่เด่นชัด ก็คือปวดศีรษะแบบตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของชีพจรที่ขมับข้างเดียว นานครั้งละเป็นชั่วโมงๆ ถึง 1-2 วัน ก่อนจะปวดหัวมักมีอาการตาพร่าตาลายนำมาก่อนสักพักใหญ่ แล้วจะค่อย ๆ ปวดแรงขึ้น บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่ออาเจียนแล้วก็จะค่อยๆทุเลาไปได้เอง ขณะปวดจะคลำได้เส้นเลือดใหญ่พองตัวตรงขมับข้างที่ปวด คนไข้มักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ปีละหลายครั้ง บางคนอาจปวดถี่เดือนละ 1-2 ครั้ง ทุกครั้งมักจะมีสิ่งกระตุ้นหรือเหตุกำเริบ ถ้าเลี่ยงได้ก็จะทำให้ปวดห่างไปได้เอง ตำแหน่งที่ปวดแต่ละครั้งอาจไม่แน่นอน อาจปวดที่ขมับข้างเดิมหรือสลับไปอีกข้าง บางครั้งอาจปวดที่ขมับพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักมีพ่อแม่พี่น้องเป็นร่วมด้วย เกิดในคนวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และจะกำเริบได้บ่อย ๆ จนถึงวัยสูงอายุ แต่บางคนก็อาจปวดไปจนตลอดชีวิต แม้ว่าจะเป็นโรคที่ทำให้ปวดน่ารำคาญหรือทรมาน หรือทำให้เสียงานเสียการอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีอันนตรายร้ายแรง และไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด การปวดแต่ละครั้งแม้จะไม่ได้กินยา ก็มักจะทุเลาไปได้เอง เมื่อถึงจังหวะของมันเอง บางครั้งเมื่อเริ่มมีอาการใหม่ ๆ หากได้นอนหลับสักครู่ก็อาจทุเลาไปได้

สาเหตุ



  1. สาเหตุและกลไกการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ระยะหลังมานี้มีคณะวิจัยทางด้านจีโนมิกส์ พบว่ายีนชนิด ion-transport gene อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไมเกรน โดยพบว่าระบบประสาทของผู้ที่เป็นไมเกรนไวต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกายและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นไมเกรน เมื่อระบบประสาทมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆ สมอง

  2. บางทฤษฎีอธิบายจากความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อกระแสประสาทในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมอง

  3. หลักฐานข้อมูลทางระบาดวิทยา เชื่อว่าไมเกรนถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่จะเกิดอาการหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่มากระทบ ไมเกรนเป็นความผิดปรกติในกลุ่มโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมด้วย โดยมีอาการทางระบบประสาทก่อนมีอาการปวดศีรษะไมเกรน

  4. เดิมเชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดในสมองมีการหดตัวเกิดขึ้น หลังจากนั้นร่างกายมีการตอบสนองโดยการทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัว ซึ่งการขยายตัวของหลอดเลือดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะขึ้น


Migraine


แนวทางการวินิจฉัยแยกโรค



  1. ปวดมานานหรือยังและปวดอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่สุด เกือบทั้งหมดได้คำตอบของอาการปวดหัวจากแค่สองคำถามนี้
    - ปวดมาระยะสั้นและปวดรุนแรง คิดถึงโรคเส้นเลือดในสมองหรือเลือดออกในสมอง โดยเฉพาะถ้าคอตึงแข็ง หรืออาเจียน อาจเกิดจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมักมีไข้และอาเจียน หรือเกิดจากโรคเกี่ยวกับตา ซึ่งมักปวดในกระบอกตา หรือตามัวจากความดันสูงมากเฉียบพลัน
    - ปวดสม่ำเสมอ เหมือนเดิม นาน มักจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับปวดจากความตึงเครียด ปวดไมเกรน
    - ปวดมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง อาจเป็นเนื้องอกในสมอง
    - ปวดสม่ำเสมออยู่ดี ๆ แล้วช่วง 1-2 เดือนมามีอาการมากขึ้น หรือมีอาการอื่นๆร่วม อาจเป็นจากมีโรคแทรกอื่น ๆ ในคนที่เป็นไมเกรนอยู่

  2. ปวดอย่างไร และมีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่
    - ปวดหน้าผาก มีน้ำมูก เกิดจากไซนัสอักเสบได้
    - ปวดแปลบๆเหมือนไฟช๊อต หน้า แก้ม โดยเฉพาะเวลาเคี้ยว - ปลายประสาทอักเสบ
    - ปวดมากที่สุด น้ำตา น้ำมูกไหล พบในผู้ป่วยวัยกลางคน ปีละครั้งสองครั้ง สม่ำเสมอ เกิดจากปวดหัวแบบคลัสเตอร์
    - ปวดมึนๆตอนบ่าย หรือเวลาใช้สายตา
    - ปวดตึงท้ายทอยเวลาเครียด หลังการทำงานหนัก ลักษณะปวดหัวธรรมดา
    - ปวดเวลาออกกำลังหรือมีเพศสัมพันธ์
    - ปวดหัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามัวมากขึ้น หรือเห็นภาพซ้อน เดินเซ อ่อนแรงหรือมีอาการชา ให้ระวังมะเร็งสมอง โดยเฉพาะถ้ามีอาการผอมลงและกินอาหารไม่ได้
    - ปวดหัวตุบๆ ข้างเดียวหรือสองข้าง ก่อนปวดมีอาการเห็นแสงแปลก ๆ อาจมีคลื่นไส้ เกิดจากปวดไมเกรน
    - ปวดทันทีท้ายทอย เวียนหัว อาเจียนพุ่ง อาจอ่อนแรงทันที ให้ระวังเส้นเลือดสมองแตก
    - ปวดหัวและปากเบี้ยวตาปิดไม่สนิท อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีกอาจเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบได้
    - ปวดหัว ปวดหู บ้านหมุน เวียนหัว มักมีสาเหตุจากในหู|
    - ปวดมากขมับ ปวดเมื่อยทั้งตัว ในคนอายุมาก เกิดจากโรคเส้นเลือดอักเสบ

  3. อายุ เพศ โรคประจำตัวอื่น ๆ
    - อายุน้อย มักไม่ค่อยมีโรคอะไรร้ายแรง โดยเฉพาะไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
    - อายุมาก ชาย ประวัติเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมอง หรือประวัติโรคไขมันในเลือดสูง ให้ระวังโรคเกี่ยวกับเส้นโลหิตในสมอง


Migraine


การรักษา


โรคนี้ไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะที่ช่วยได้หายขาดไปได้ มียาที่ใช้บรรเทาอาการปวให้ทุเลาในแต่ละคราว ต่อไปเมื่อถูกสิ่งกระตุ้นก็จะกำเริบอีก
หายปวดไม่มาก จะปล่อยให้ทุเลาเองหรือนอนหลับสักตื่นโดยไม่กินยาก็ได้ แต่บางคนหากปล่อยไว้จะปวดแรงขึ้น และปวดนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือข้ามวัน ต้องหยุดงาน หยุดเรียน โดยทั่วไป จึงแนะนำให้คนที่เป็นไมเกรนพกยาแก้ปวดพวกพาราเซตามอล ติดตัวเป็นประจำ ทุกครั้งที่เริ่มมีอาการกำเริบ เช่น อาการตาพร่ามัว และเริ่มปวดกรุ่น ๆ ก็ให้รีบกินยาพารา 1-2 เม็ดทันที หากนอนได้ก็ให้นอนหลับสักตื่น หรือจะนั่งพักผ่อนลมหายใจเข้า-ออกยาวๆในห้องที่สลัว ไม่มีเสียงดัง และอากาศพอเย็นสบายไม่อบอ้าว ก็มักจะช่วยให้ทุเลาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

เคล็ดลับอยู่ที่ต้องรีบกินยาแก้ปวดทันทีเมื่อเริ่มมีอาการกรุ่น ๆ หากปล่อยให้มีอาการนานเกิน 30 นาที การใช้ยาอาจจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย ผู้ที่รู้สึกกินยาพาราเซตามอลผล ก็เนื่องเพราะกินช้าเกินไปนั่นเอง บางคนกลัวว่ากินยาพาราเซตามอลบ่อย ๆ จะมีโทษ ก็เลยไม่ค่อยกล้ากิน สำหรับอาการไมเกรนแล้ว การกินพาราเซตามอลเพียง 1-2 เม็ด หรืออย่างมากกินซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ทุก 6 ชั่วโมง เมื่อทุเลาก็หยุดกิน ไม่ได้กินเป็นประจำทุกวัน การใช้ยาขนาดนี้ ก็นับว่าปลอดภัย โดยทั่วไปห้ามกินยาพาราเซตามอล เกินวันละ 8 เม็ด และห้ามกินติดต่อกันเกิน 5 วัน การใช้ยานี้ในขนาดสูงอาจจะมีพิษต่อตับได้ หากไม่มีพาราเซตามอล อาจใช้ยาแอสไพรินแทนก็ได้ ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ ก็ไม่ควรกินแอสไพริน ส่วนยาคาเฟอร์กอตที่แพทย์อาจสั่งใช้กับคนไข้ไมเกรนบางคนนั้น ก็เพียงยาที่ใช้บรรเทาอาการ มิใช่ยาที่รักษาโรคให้หายขาด เป็นยาผสมระหว่างคาเฟอีนกับเออร์โกทามึน มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ เนื่องเพราะอาการปวดเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ขมับพองตัว เมื่อทำให้ตีบ ก็จะช่วยให้อาการทุเลา แต่ห้ามกินเกินวันละ 2 ครั้ง เมื่ออาการทุเลาก็ควรหยุดกิน ห้ามกินเป็นประจำทุกวัน เพราะอาจทำให้หลอดเลือดแดงทุกส่วนของร่างกายตีบ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นอันตรายได้ ส่วนกาเฟอีนที่ผสมอยู่ในยาตัวนี้จะมีขนาดสูง บางคนกินแล้วอาจมีอาการใจสั่นหวิว เวียนศีรษะด้วย เป็นลมได้ ยาชนิดนี้จึงไม่แนะนำให้ใช้กันเอง ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้ตามความจำเป็น

การป้องกัน


เนื่องจากไมเกรนเป็นโรคที่มีการกำเริบได้เลย และบางครั้งทำให้เสียงานเสียการ จึงควรหาทางป้องกันอย่าให้กำเริบบ่อย เคล็ดลับอยู่ที่ต้องสังเกตด้วยตัวเองว่า มีสิ่งอะไรที่กระตุ้นให้โรคกำเริบบ้าง แล้วหาทางหลีกเลี่ยง เช่น อย่าโดนแดดจ้าหรือแสงจ้า อย่าอดนอน อย่าอดข้าว อย่าอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง หรือมีกลิ่นแรง ๆ เป็นต้น ส่วนสตรีที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด แล้วทำให้ปวดไมเกรนบ่อยก็ควรหยุดกิน และหันไปใช้วิธีอื่นแทน ถ้าหากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นไม่ได้ และยังปวดอยู่บ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาให้กินยาป้องกันมิให้กำเริบ โดยต้องกินทุกวันนานเป็นเดือนๆ ยาที่นิยมใช้และราคาถูก ได้แก่ ยามีอะมิทริปไทลีน ขนาด 10 มิลลิกรัม กิน 1 เม็ดก่อนนอนทุกคืน ยาชนิดนี้อาจทำให้ง่วงนอน แต่เมื่อผ่านไปหลายวัน อาการจะน้อยลง ปากคอแห้ง ท้องผูก ใจสั่นได้ ถ้าไม่ได้ผลแพทย์อาจเปลี่ยนไปใช้ยาเม็ดฟลูนาริชิน ขนาด 5 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน ยานี้อาจทำให้ง่วงนอนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่น ๆ อีกหลายตัวที่แพทย์จะเลือกใช้ป้องกันอาการไมเกรน ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละคน


Migraine




สิ่งกระตุ้นให้โรคไมเกรนกำเริบ



  1. แสงแดด แสงไฟ แสงระยิบระยับ การเพ่งสายตานานๆ

  2. เสียงดังๆ

  3. กลิ่นฉุนๆ เช่น น้ำมันรถ สารเคมี ควันบุหรี่ สี น้ำหอม

  4. อาหารการกิน เช่น แอลกอฮอล์ ผงชูรส ช็อกโกแลต ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทะเล ถั่วต่างๆ สารกันบูด

  5. อากาศร้อนหรือเย็นจัด อดข้าว อดนอน นอนตื่นสาย ร่างกายเหนื่อยล้า ออกกำลังกายหักโหม ร่างกายเป็นไข้หรือเจ็บปวด

  6. ความเครียด คิดมาก อารมณ์ขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกใจ


ประคบร้อนและเย็นบรรเทาอาการ


วิธีที่ 1 ประคบเย็นที่หน้าผากหรือคอ ถ้าอาการไม่บรรเทา ให้ประคบร้อนและเย็นพร้อมกัน โดยประคบเย็นที่หน้าผากและประคบร้อนที่ท้ายทอย ประคบสลับที่กันทุก 2 นาที ทำได้ถึง 6 รอบ

วิธีที่ 2 ใช้ผ้าอุ่นจัดวางที่ท้ายทอย แล้วนวดคอ ไหล่ และสะบัก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคลึงเบาๆ ที่ขมับ จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า วิธีนี้ช่วยลดอาการปวดไมเกรนเนื่องจากความเครียด นอกจากการประคบแล้ว ยังมีการนวดกดจุดที่ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน


คลายปวดกับนวดกดจุด

การกดจุดเพื่อบรรเทาอาการไมเกรนมีอยู่ 3 จุดด้วยกัน



  1. มือ ให้กดตรงเนินเนื้อที่เชื่อมระหว่างหัวแม่มือและนิ้วชี้ในแนวตรงสู่กระดูกนิ้วหัวแม่มือ

  2. คอด้านบน ให้กดย้อนขึ้นไปทางใต้กะโหลกศีรษะข้างๆ กระดูกคอ

  3. เท้า กดที่เนินเนื้อที่เชื่อมต่อหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ กดไปทางฝ่าเท้า



imageที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ ที่นี่




 

Create Date : 30 มีนาคม 2554
2 comments
Last Update : 30 มีนาคม 2554 11:22:32 น.
Counter : 1471 Pageviews.

 

แวะเข้ามาอ่านค่ะ ปวดไมเกรนแทบทุกวันเลยค่ะ

 

โดย: Mimi-jaiko 30 มีนาคม 2554 13:16:54 น.  

 

ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

 

โดย: chaichoti 30 มีนาคม 2554 15:04:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.