เรื่องราวผู้หญิงกับการเดินทางด้วยหัวใจ 2 ล้อ (มอเตอร์ไซด์) รวมถึงการท่องไปในโลกกว้างด้วยวิธีการอื่นๆ คลอเคล้าด้วยคนตรีไพเราะหลากหลายรูปแบบ เรามาผจญภัยด้วยกันนะคะ

ดราม่า "โตโน่" กับการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง เพื่อหาเงินบริจาค

เด๋วนี้ฉันไม่ค่อยเสพข่าวเท่าไหร่ แต่ชอบเล่น Twitter อะไรกำลังเป็นประเด็นร้อน ฉันก็ได้รับรู้เสมอๆ 

จากสมัยที่พี่ตูนวิ่งใต้จรดเหนือเพื่อรับบริจาคก็เป็นที่ถกเถียงกันมากมาย 

เช่นว่า

ในกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำเช่นนี้เพราะเห็นว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างระบบสาธรณสุขที่แท้จริง

ในกลุ่มคนที่เห็นด้วยก็มองว่าเป็นสิ่งที่คนไทยทำให้คนไทยด้วยกันได้ แก้ปัญหาโครงสร้างไม่ได้ เงินบริจาคก็ยังเอาไปช่วยซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เข้า รพ ก็ยังดี

ในกรณี "โตโน่" มันดูเป็นประเด็นรุนแรง เพราะการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงมันดูค่อนข้างเสี่ยงอันตราย และต้องใช้บุคลากรหลายๆ แขนงในการดูแลกิจกรรมนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากภาคส่วนราชการ

มันก็นานาจิตตังก็ว่ากันไป

ใน Twitter มันกลายเป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับถกเถียงกันลามไปเรื่องอื่น

สิ่งที่เรารับรู้กันคือระบบสาธารณสุขไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการ บุคลากรทางการแพทย์ของรัฐมีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป และได้รับค่าตอบแทนที่น้อยกว่าที่ควรจะได้ถ้าเทียบกับการทำงานในภาคเอกชน

ไปจนถึงการบริการของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูจะไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่

กลายเป็นว่าคนเข้าใจว่าบุคลากรทางแพทย์ต่อต้านระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) อยากให้เป็นแบบร่วมจ่ายมากกว่า เพราะคิดว่าประชาชนไทยที่ได้รับการรักษาฟรี ไม่ค่อยจะดูแลตัวเอง

ในฐานะหมอคนนึง สมัยที่ยังทำงาน รพ.รัฐอยู่ เราพบปัญหาเหล่านี้จริงๆ คือ คนไข้มาใช้บริการตามใจฉัน อยากมาดึกๆ ก็มา ห้องฉุกเฉินที่ควรจะมีไว้รักษาโรคฉุกเฉินต้องเปิดรับรักษาโรคทั่วไป การที่คนไข้โรคเรื้อรังมารับยาแต่ไม่ทานตามสั่งและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ คนไข้ที่ป่วยจากการดื่มสุราหนักจนเรื้อรังแล้วไม่ยอมเลิกดื่มกลับเข้ามารักษาซ้ำๆ หรือการขอยาเผื่อไว้ก่อนทั้งๆ ที่ไม่ป่วย เมาแล้วขี่มอเตอร์ไซด์จนประสบอุบัติเหตุแล้วโวยวายใน ER เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้หมอๆ เอือมระอากับคนไข้ในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก

เรื่องของการดื่มสุราไม่ว่าจะรวยจนล้วนแต่ดื่มกันทุกชนชั้น เพราะมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราหลีกหนีจากความเครียดความทุกข์ความกังวลได้แม้จะเพียงชั่วขณะที่เราดำรงอยู่ในฤทธิ์ของมัน แต่การดื่มก็ต้องดื่มแต่พอดี ไม่ให้เสียสุขภาพ ไม่ให้เสียงาน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

ไม่มีใครอยากป่วย มันเป็นความจริง ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ไม่มีแพทย์คนไหนต่อต้านหรอก พวกเรายินดีด้วยซ้ำที่ประเทศเรามีระบบนี้รองรับ เราทุกคนสามารถได้รับการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานแน่ๆ ไม่ว่าจะรวยหรือจน

หมอเชื่อว่าระบบนี้ไม่ได้ทำให้คนกินเหล้าสูบบุหรี่หรือไม่รักษาสุขภาพมากขึ้น แต่คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้อยู่แล้ว ก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหรือให้ความร่วมมือในการดูแลตัวเอง เพราะคิดว่ายังไงก็รักษาฟรีมันก็มีอยู่ไม่น้อย ทำไมหมอพูดแบบนี้ ก็เพราะเจอมากับตัว ได้ยินมากับหู จะตีกับคนไข้ก็หลายครั้ง สุดท้ายเลือกที่จะยอมแพ้ คือลาออกจาก รพ รัฐบาล

ปัญหาโครงสร้างของระบบสาธารณสุขนั้น บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ก็พยายามที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขกันอยู่ตลอด แต่มันก็ทำไม่ได้ง่ายๆ บุคลากรทางการแพทย์งานหนักได้ค่าตอบแทนน้อยถ้าเทียบกับการออกไปทำงานในภาคเอกชน แต่งบประมาณในส่วนค่าตอบแทนนี้ไม่ได้แยกขาดออกจากงบอื่นๆ ที่ รพ ได้ในแต่ละปี ทำให้แก้ปัญหาได้ยาก บุคลากรทางการแพทย์ก็ไหลออกไปนอกระบบ ก็คือลาออกไปทำ รพ.เอกชน ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนก็เกิดตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ ผลิตเพิ่มมาเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ เพราะไม่มีใครอยากอยู่ในระบบราชการ ที่ยังคงอยู่ส่วนนึงก็เพราะใจล้วนๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าคำว่าใจมันดูเหมือนจะไม่มีความหมายสักเท่าไหร่ เพราะผู้คนมองว่าหมอคืออาชีพๆ หนึ่งเช่นกัน งานที่ทำก็เป็นเพียงหน้าที่ๆ ต้องทำเหมือนหน้าที่อื่นๆ แต่ลองคิดดูสักนิด การดูแลผู้ป่วยนั้น แม้กระทั่งพ่อแม้ญาติพี่น้องของท่านๆ เอง เวลาป่วยหนักๆ บางคนยังไม่อยากแม้จะดูแล แต่มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในอาชีพกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทำงานตรงนี้อยู่ และต้องยอมเอาชีวิตตัวเองเข้าไปเสี่ยง อย่างเช่นในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ยินดีที่จะทำ ไม่เรียกว่าใจแล้วจะให้เรียกอะไร

จนถึงทุกวันนี้ก็ยินดีที่ประเทศไทยเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสมอมา และอยากให้มีตลอดไป และก็ได้แต่หวังว่าทุกคนจะเข้าใจถึงสถานการณ์ของระบบสาธารณสุขไทย แล้วช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น เพื่อให้พวกเราคนไทยได้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้ได้มากกว่านี้และดีขึ้นเรื่อยๆ ให้สมกับที่ประเทศไทยพยายามจะผลักดันตัวเองให้เป็น Medical Hub โดยที่ต่างชาติก็มองความสามารถทางด้านนี้ของเราเป็นเช่นนั้นจริงๆ


 




 

Create Date : 24 ตุลาคม 2565    
Last Update : 24 ตุลาคม 2565 5:22:48 น.
Counter : 119 Pageviews.  

ว่าด้วยเรื่อง ....กัญชา

ในฐานะแพทย์คนหนึ่ง ที่ช่วงนี้เรื่องของกัญชาเป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างมาก จะว่าไปในวิถีชีวิตของคนไทยเองได้ใช้กัญชาจากธรรมชาติมานานแล้ว ไม่ว่าทั้งการเสพหรือการนำมาประกอบอาหาร พอมีข่าวถึงการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์คือนำมารักษาโรคในคนกลุ่มที่หมดหวังบางโรคจากการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันในปัจจุบัน ทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจกันอย่างมากจนถึงขึ้นตื่นตูม เพราะราคาขายในปัจจุบันสูงมากจนสามารถสร้างอาชีพได้ กลายเป็นว่าเสียงจากกลุ่มคนที่รักในการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการที่เห็นด้วยในการเปิดกัญชาเสรีมากกว่ากลุ่มคนป่วยจริงๆ มากกว่าเสียอีก เป็นประเด็นร้อนกันไป ยิ่งช่วงนี้เราเริ่มได้ข่าวคนที่ลองใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคต่างๆ ด้วยตัวเองจนเกิดผลข้างเคียงเป็นจำนวนมากนั้นน่าเป็นห่วงมาก 

อยากให้ตระหนักถึงความจำเป็นจริงๆ ก่อนจะทดลองใช้ ไม่ได้ว่ากัญชาไม่ดี แต่กัญชามีสายพันธ์ที่เยอะมาก สารออกฤิทธ์ในกัญชามีเป็นร้อยๆ ตัว ตัวที่สามารถออกฤทธิ์ในการรักษาโรค เป็นตัวไหน ต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่ พันธ์ุไหนเหมาะกับโรคอะไร ปริมาณและวิธีการใช้ อื่นๆ อีกมากมายที่ยังต้องรอผลการทดลองและเก็บสถิติเพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุดและเกิดผลเสียน้อยที่สุด 

.... รวบรวมมาจากการประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 26 เมษายน 2562 ผู้นำเสนอคือ 
รศ.พญ.สุดา วรรณประสาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.นพ.วรพันธ์ เกรียงสุนทร ศิริราชพยาบาล
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ข้อดี ข้อเสียข้อเสียของกัญชา.....

ประวัติศาสตร์ของการใช้กัญชาเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่19 ในอังกฤษและอเมริกาเพื่อรักษาอาการปวดและอาการคลื่นไส้

ปี 1851 กัญชาได้รับบรรจุอยู่ในตำรายาของอเมริกา

 แต่ต่อมาในปี 1942 ได้ถูกถอดถอนออกไป

ปี 1970 เป็นยุคฮิปปีที่คนหนุ่มสาวอเมริกาหันมาใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายอย่างกว้างขวาง

ปี 1990 ทางการแพทย์มีการค้นพบ Canabinoid system(ระบบสารสกัดกัญชา)ในสมอง และเป็นที่มาของการสนใจนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์

ปี 2010 มี 11 รัฐในอเมริกามีการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ แต่ไม่รับรองการใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน(recreational use)

ปี 2014 มี 23 รัฐออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และมี 5 รัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่รัฐ Alaska, Colorado,Oregon,Washington และ
District of Columbia.

...... ในกัญชานั้นมีสารเคมีมากกว่า 104 ชนิด(สารเคมีเหล่านี้เรียกรวมกันว่าสาร Cannabinoids แต่ที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 2 ชนิดคือ THC กับ CBD

สาร 2 ชนิดนี้มีฤทธิ์แตกต่างกันชัดเจน กล่าวคือ 

-THC ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท(Psychoactive) ทำให้เมาเคลิ้ม ประสาทหลอน และเกิดโรคจิต(Psychosis)

- ในขณะที่สาร CBD มีฤทธิ์ทำให้สงบ ลดอาการวุ่นวาย และต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอน 

.... ดังนั้นในการนำกัญชามาใช้นั้นจะต้องทราบจุดประสงค์ที่แน่นอน และควรทราบปริมาณที่แน่นอนของสารทั้งสองชนิดในสารสกัดกัญชานั้น 
ควรทราบว่าสารทั้งสองชนิดนี้นอกจากจะมีอยู่ในกัญชาแล้ว ยังสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ด้วย

... การสังเคราะห์ขึ้นมาสามารถทำให้ทราบปริมาณของสารทั้งสองชนิดอย่างแม่นยำแน่นอน

... ส่วนในใบกัญชานั้น แต่ละสายพันธ์ให้ปริมาณของ THC กับ CBD แตกต่างกันไป มีการศึกษากัญชาในภาคเหนือของประเทศไทย พบว่ามีปริมาณสารทั้งสองอย่างแตกต่างกันมากแม้จะอยู่ในแหล่งเดียวกัน

.... และ อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่าการใช้กัญชานั้นมี วัตถุประสงค์ 2 ประการคือ

1.ใช้ในทางการแพทย์ หรือว่า

2.ใช้เพื่อความเพลิดเพลิน 

...กัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินนั้น ในต่างประเทศมักจะกำหนดให้มีปริมาณของสาร THC ต่ำมากๆและแม้กระนั้นก็ยังมีการควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณ สถานที่ที่จะใช้

... สารทั้งสองชนิดที่มีอยู่ในกัญชานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำมาสูบให้เข้าทางลมหายใจ หรือหากมีการสังเคราะห์เป็นของเหลวแบบเข้มข้นก็นำมาหยดไต้ลิ้นซึ่งจะมีการดูดซึมได้เร็วพอๆกับการสูบ แต่การกินเข้าไปจะไม่ได้ผลเพราะจะถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหารเกือบหมด 

...สำหรับการ ใช้ในทางการแพทย์นั้นมีการรับรองการใช้(ในต่างประเทศ)ดังต่อไปนี้

1.รักษาภาวะเกร็งในโรคทางระบบประสาท Multiple Sclerosis

2.รักษาโรคลมชัก(Epilepsy)ชนิดรุนแรงบางชนิด

3.รักษาโรค Parkinson(บางอาการ)

4.รักษาโรค Alzheimer(ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม)

5.แก้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด(ที่ให้ยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล)

6.แก้ปวดจากมะเร็ง ปวดปลายประสาท ปวดเรื่อรัง

7.ใช้รักษามะเร็งสมอง มะเร็งต่อมลูกหมาก(ยัง
ต้องการการศึกษาเพิ่มเติม)

8.ใช้เพิ่มน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเอดส์(ช่วยให้ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น)

9.ใช้รักษาต้อหิน(ยังไม่ยืนยันผล)

10.ใช้รักษาโรค Post traumatic stress syndrome

11.ใช้รักษาโรควิตกกังวล

.....แต่ข้อบ่งชี้ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังต้องการการศึกษายืนยันอีกมาก และในแต่ละโรคนี้บางโรคเป็นผลของ THC บางโรคเป็นผลของ CBD จึงไม่สามารถนำกัญชามาใช้อย่างสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ทราบสัดส่วนและปริมาณของสารทั้งสองชนิดอย่างชัดเจน

....การนำสารสกัดกัญชามาใช้นั้นมีหลายรูปแบบทั้งสูด ทั้งหยดไต้ลิ้น และปัจจุบันมีชนิดกินโดยผสมในขนมต่างๆเช่นในคุ๊กกี้ บราวนี เค๊ก Oeo Keef Kat ทำเป็นเนยกัญชา ขี้ผึ้งกัญชา น้ำมันกัญชา

....อย่างไรก็ตามการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีก็หาไม่ จากการศึกษาพบว่ามีผลเสียดังต่อไปนี้

1.เพิ่มการเกิดโรคทางจิต 3.9 เท่า
2.พบการฆ่าตัวตายเพิ่มชึ้น 2.5 เท่า
3.ทำให้ติดกัญชา 10%(ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ชึ้นเรื่อยๆ)(อยู่ในวัยเรียน 17%)
4.ทำให้สมองฝ่อ
5.มีปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ และความจำ
6.สัมพันธ์กับการเกิดภาวะถุงลมโป่งพอง
7.สัมพันธ์กับภาวะเส้นเลือดสมองตีบ
8.สัมพันธ์กับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
9.สัมพันธ์กับมะเร็งอัณฑะ
10.เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด
11.พบอุบัติการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สัมพันธ์กับการใช้กัญชาสูงขึ้น

....ผลอย่างเฉียบพลันของกัญชานั้น อาจทำให้อารมณ์ครื้นเครงขึ้นแต่จะตามด้วยอาการง่วงซึม
หากใช้ปริมาณมากจะทำให้ความจำลดลง และเพิ่มความวิตกกังวล ประสาทหลอนทางตา 
หวาดระแวง(paranoid) และเกิด panic attack

....หากใช้ในคนตั้งครรภ์ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการพัฒนาการของเด็กในครรภ์ ทำให้การสร้างน้ำนมแม่ลดลง และสารกัญชาจะเข้าไปในน้ำนมด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในคนท้องและให้นมบุตร

....การใช้ในเด็กจะนำไปสู่การติดสารเสพติดชนิดอื่นมากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

- ดูเหมือนว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการใช้สารจากกัญชามากที่สุดในโลกโดยพบว่ามีการใช้ในทางการแพทย์ 30 รัฐ ใช้เพื่อการผ่อนคลาย 9 รัฐ แต่รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกายังถือเป็นสารต้องห้าม แต่ในรัฐที่อนุญาตให้ใช้นั้นก็มีระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.5-5% แล้วแต่รัฐ และมีปริมาณสาร CBD มากกว่า 5% ขึ้นไป

... ส่วนในประเทศอื่นๆพบแตกต่างกันดังนี้

- ประเทศCanada สามารถใช้ทางการแพทย์ได้ไม่ผิดกฎหมายหากมีข้อบ่งชี้ชัดเจน

- ประเทศ Australia และ England ถือว่าการเสพกัญชาผิดกฎหมาย ส่วนการใช้ทางการแพทย์ต้องผลิตโดยบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น แพทย์ที่จะใช้ก็ต้องขึ้นทะเบียน

- ผู้ป่วยที่ใช้ก็ต้องลงทะเบียน ติดตามได้ ผู้ปลูกก็ต้องขึ้นทะเบียน 

- ในประทศ Netherland นั้นคล้ายๆ Australia แต่เพิ่มสามารถปลูกใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน5 ต้น และสามารถสูบกัญชาได้ในสถานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

- ประเทศที่ถือว่ากัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายทุกกรณีได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์

.... รวบรวมมาจากการประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 26 เมษายน 2562 ผู้นำเสนอคือ 
รศ.พญ.สุดา วรรณประสาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.นพ.วรพันธ์ เกรียงสุนทร ศิริราชพยาบาล
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ โรงพยาบาลรามาธิบดี

************************************************

ขอบพระคุณบรรดาอาจารย์แพทย์และผู้รวบรวมข้อมูลอย่างสูงมา ณ ที่นี้




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2562    
Last Update : 25 พฤษภาคม 2562 15:28:02 น.
Counter : 1233 Pageviews.  

ทำไมกองทุนสุขภาพสามกองทุนจะเจ๊งหมดภายใน 30 ปี และจะแก้ไขได้อย่างไร?



เผยแพร่:  โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ผอ.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต Business analytics and data science
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


กองทุนสุขภาพของไทยสามกองทุนคือ

หนึ่ง กองทุนบัตรทอง ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลคนไทยราว 48 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณปีละประมาณแสนแปดหมื่นล้านบาทต่อปี

สอง สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการและผู้มีสิทธิ ดูแลคนไทยราว 6 ล้านคนและใช้เงินงบประมาณปีละประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาทต่อปีและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี

สาม สิทธิประกันสังคม ซึ่งมีผู้ประกันตนประมาณสิบล้านคน และเป็นกองทุนเดียวที่ต้องส่งเงินสมทบ หรือมีการร่วมจ่ายมากที่สุด

ข้อพยากรณ์คือ กองทุนทั้งสามกองทุนจะขาดทุนหรือร่อแร่ในระยะเวลาอันใกล้ บางกองทุนอาจจะภายใน 4-5 ปีนับจากวันนี้เท่านั้น สาเหตุหลักร่วมกันของทั้งสามกองทุนคือภาวะสังคมสูงวัย (Aging society) ซึ่งจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลของรัฐจะเจ๊งทั้งหมด

สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการนั้น การฉายภาพประชากรข้าราชการไทยโดยอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์และคณะพบว่าพิระมิดประชากรข้าราชการหัวคว่ำ รูปสามเหลี่ยมหัวคว่ำ คือเต็มไปด้วยคนแก่ที่เริ่มเจ็บและป่วย อายุเฉลี่ยข้าราชการเกือบ 50 ปี อายุเฉลี่ยข้าราชการแรกเข้าคือ 31 ปี เราจะมีปัญหา aging society ของสิทธิราชการรุนแรงกว่าทุกสิทธิ์เพราะข้าราชการไทยเต็มไปด้วยคนแก่

ข้าราชการไทยแก่หนักมาก แก่กว่าประชากรของไทยที่จัดว่าแก่แล้ว ประชากรข้าราชการไทยนั้นไม่ได้เป็น aging society หรือภาวะสังคมสูงวัย แต่เป็น aged society หรือภาวะสังคมสูงวัยเต็มขั้น และกำลังเลื่อนเข้าไปสู่ super aged society หรือภาวะสังคมสูงวัยขั้นสุด ในเร็ววัน



คนเราเมื่อแก่มา ก็เจ็บป่วยมากขึ้นตามความเสื่อมของสังขาร ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็มากขึ้นเป็นทวีคูณ ตรีคูณ ที่ต้นทุนของค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไทยสูงกว่าสิทธิอื่น ๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชากรข้าราชการไทยและผู้มีสิทธิแก่กว่าประชากรไทยโดยเฉลี่ยค่อนข้างรุนแรง 

ผลการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuarial valuation) พบว่ามีภาระทางการคลังจากสิทธิ์รักษาพยาบาลราชการอย่างหนักหน่วงเพราะประชากรราชการไทยแก่มาก ป่วยมาก เจ็บมาก จนจะเกิดปัญหาภาระทางการคลัง น่าจะแตะแสนล้านภายใน 10 ปี และกระทรวงการคลังจะจ่ายไม่ไหว

สำหรับกองทุนประกันสังคมนั้นองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International labour organization: ILO) ได้ทำการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ actuarial valuation เช่นกันแล้วพบว่าเงินกองทุนจะติดลบใน 28 ปีจากนี้ สาเหตุคือ

หนึ่ง ประเทศไทยมีอัตราการจ่ายเงินสมทบรวมหรือ total contribution rate ต่ำที่สุดในโลกคือนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ จ่ายสมทบรวมกันต่ำมากไม่ถึง 8% ในขณะที่กองทุนประกันสังคมของจีนมี total contribution rate สูงกว่าร้อยละ 20 ต่ำที่สุดใน OECD และน่าจะต่ำที่สุดในโลก แล้วไม่จ่ายเงินแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายบำนาญและจ่ายให้สวัสดิการรักษาพยาบาล

สอง คืออายุเกษียณที่จะได้รับบำนาญ (Pensionable age) ของประเทศไทยนั้น ยอมให้ผู้ประกันตนของสิทธิ์ประกันสังคมเกษียณเพื่อรับเงินบำนาญได้ไวที่สุดในโลกคือ 55 ปี ซึ่งต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำหนดอายุเกษียณไว้สูงถึง 67 ปี ส่งเงินสมทบไม่นานก็สามารถได้รับบำนาญเสียแล้ว

เรื่องของ total contribution rate นั้นยังเป็นปัญหา เพราะในอดีตที่ผ่านมานักการเมืองนิยมหาเสียงด้วยการลด total contribution rate นี้เนื่องจาก ทำให้ได้เสียงจากนายจ้าง ที่ได้ผลประโยชน์เต็มที่จากการลดการจ่ายเงินสมทบลง ฝ่ายลูกจ้างและบรรดาสหภาพและสหพันธ์แรงงานที่ขาดสติและปัญญาหลงคิดสั้น ๆ ว่าเป็นผลงานตัวเอง ทำให้ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายสมทบมากนัก ทั้ง ๆ ที่หลักการคือ ถ้าลูกจ้างสมทบไปเท่าใด นายจ้างและรัฐก็ต้องจ่ายสมทบให้ไปเท่านั้น แรงงานขาดวิสัยทัศน์ไม่คิดให้รอบคอบก็หลงดีใจไปว่าตัวเองได้ประโยชน์ทั้ง ๆ ที่ในระยะยาวเสียประโยชน์ไปเต็ม ๆ ส่วนรัฐบาลเองยิ่งชอบใจดีใจที่ได้จ่ายเงินสมทบลดลง เอาเงินงบประมาณไปทำอย่างอื่น ที่อาจจะได้ประโยชน์เข้าตัวนักการเมืองหรือข้าราชการก็ได้เช่นกัน กลายเป็นเรื่องของประชานิยมที่ทำให้กองทุนประกันสังคมยอบแยบลงไป เพราะทุกคนเห็นแก่ได้ในระยะสั้นพากันดีใจบนความหายนะของตัวลูกจ้างเองและตัวกองทุนประกันสังคม

สำหรับบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นปีละหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปีและโรงพยาบาลของรัฐก็ขาดทุนหนักเพราะบัตรทองทุกปี ขณะนี้โรงพยาบาลของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีเงินบำรุงติดลบ ขึ้นตัวแดง ขาดทุนย่อยยับถึงหกร้อยกว่าโรงพยาบาลจากแปดร้อยโรงพยาบาลหรือคิดเป็นร้อยละ 75 ขึ้นไป งบบัตรทองจะแตะร้อยละ 25 ของงบประมาณแผ่นดินภายในไม่เกิน 10 ปีซึ่งสูงที่สุดในโลก ผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบเช่นเดียวกัน เพราะเราเข้า aging society หนีไม่พ้น จนและแก่ ประเทศที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปเพื่อการสาธารณสุขแตะร้อยละ 20 ของเงินงบประมาณแผ่นดินมีอยู่สองประเทศ คือกรีซและอาร์เจนติน่า ซึ่งสองประเทศนี้มีภาระหนี้สาธารณะท่วมท้นจนเศรษฐกิจแทบจะล้มละลาย หรือเราจะต้องการเช่นนั้น




สรุปง่าย ๆ คือทางข้างหน้าของโรงพยาบาลของรัฐมีแต่เหวลึกทางการเงินและไม่มีทางรอดพ้นไปได้ ทุกอย่างมีตัวเลขพยากรณ์หมด ถ้าไม่เริ่มทำวันนี้ รับรองว่ากระทรวงสาธารณสุขจะตายเรียบเพราะไม่มีเงิน ต้องแก้ตอนนี้ทันที ก่อนจะสายเกินไป

ทางแก้คือต้องมีการร่วมจ่าย (Copayment) โดยรูปแบบที่ดีที่สุดคือการให้ประชาชนมีประกันสุขภาพร่วมจ่ายล่วงหน้า ก่อนที่จะเจ็บป่วยเป็นการสร้างเสริมวินัยทางการคลัง ให้คนไทยรู้จักออมเพื่อรองรับการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อจ่ายเงินไปแล้วต้องได้รับบริการที่ดีขึ้น ชนชั้นกลางที่พอจ่ายไหวต้องร่วมจ่าย แต่การร่วมจ่ายนั้นต้องนำไปสู่การบริการที่ดีขึ้น รัฐควรลดหย่อนภาษีให้สำหรับการซื้อประกันสุขภาพร่วมจ่าย ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงให้ระบบสุขภาพไม่ล่มสลาย

ส่วนปัญหาของแต่ละสิทธิต้องไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา

กองทุนประกันสังคมต้องค่อย ๆ ขยายอายุเกษียณและทยอยเพิ่ม Total contribution rate การขยายอายุเกษียณเพิ่มขึ้นหนึ่งปี โดยประกาศแบบปีเว้นปีจะช่วยลดแรงต้านจากภาคแรงงานลงไป เช่นเดียวกันกับการเพิ่ม Total contribution rate ที่ต้องทยอยเพิ่มขึ้นปีเว้นปี เพื่อให้เกิดการต่อต้านลดลง แต่จำเป็นต้องทำ และควรพัฒนาการบริการด้านการรักษาพยาบาลของสิทธิประกันสังคมให้ดีขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

สำหรับสิทธิรักษาพยาบาลราชการต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

หนึ่ง ต้องพยายามแก้ไขปัญหาประชากรข้าราชการแก่มาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ต้องดึงดูดบัณฑิตอายุเฉลี่ย 20 ปีเข้ารับราชการ ไม่ใช่รับคนอายุเฉลี่ย 31 ปีเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สอง ควรตั้งสำรอง (reserve) ให้ลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีสำหรับใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลราชการในอนาคต ไม่ใช่จ่ายอย่าง pay as you go เป็นปี ๆ ไปเช่นทำอยู่ในปัจจุบัน

และ สาม เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสิทธิราชการให้ดีขึ้น เช่นควรทำ public-private partnership ให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนซึ่งมีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการควบคุมการเบิกจ่ายสินไหมรักษาพยาบาล (Medical claim control) มากกว่ามาก จะช่วยทำให้การเบิกจ่ายมีจุดรั่วไหลลดลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองและทุกสิทธิต้องเน้นการป้องกันโรคที่ได้ผลจริง โยงหา health outcome ได้จริง ไม่ใช่เน้นการทำ event แบบ สสส ที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือใช้เงินไม่คุ้มค่าอย่างเช่นที่เป็นมาในอดีต

ปัญหาใหญ่คือองค์การตระกูล ส ที่ดูแลระบบสาธารณสุขหลายส่วน เช่น สปสช และ สสส ต้องแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และการใช้จ่ายเงินผิดประเภทโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลหรือแม้แต่สุขภาพ และต้องเลิกประชานิยมและส่งเสริม copayment เพื่อให้เกิดการเป็นผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน

กระทรวงสาธารณสุขต้องปฏิรูป ให้มีการบริหารแบบเขตสุขภาพจะทำให้เกิด risk sharing และ risk pooling ที่ดีขึ้น

สปสช. ต้องไม่บริหารการรักษา เพราะไม่ใช่หน้าที่ และไม่มีความรู้เพียงพอ การบริหารการรักษาโดยการกำหนดกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินเช่น DRG นั้นเป็นการก้าวล่วงอำนาจของแพทยสภาและราชวิทยาลัย ต้องยกเลิกการทำสัญญาผลงานกับโรงพยาบาล ให้ทำกับเขตสุขภาพแทน ลดขนาดองค์การ สปสช. ลง ยกเลิกกองทุนย่อยทั้งหมด สปสช. มีขนาดใหญ่มาก บุคลากร สปสช. ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการดีกว่าข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในการรักษาและดูแลสุขภาพประชาชนในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลขาดทุนและไม่มีเงินจะจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าแรงของบุคลากร แต่พนักงาน สปสช. กลับได้รับโบนัส

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนคือ หนึ่ง ต้องรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ให้เจ็บป่วยได้นานที่สุด ให้เจ็บป่วยและแก่ให้ช้าที่สุด ต้องมี health literacy หรือมีความรู้ในการดูแลสุขภาพให้ดี สองประชาชนต้อออมเงินและลงทุนเพื่อเตรียมตัวเกษียณสำหรับตนเอง อย่าหวังพึ่งรัฐแต่ถ่ายเดียว ซึ่งคนไทยกว่าร้อยละ 60 คิดว่ารัฐต้องดูแลตนเองตอนแก่ ซึ่งรัฐไทยไม่มีความสามารถขนาดนั้น ตนเองต้องเป็นที่พึ่งของตนเอง อย่าไปหวังพึ่งใครแม้กระทั่งรัฐบาล

ที่มา: mgronline




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2562    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2562 1:10:35 น.
Counter : 859 Pageviews.  

สิทธิการรักษาพยาบาลในแบบต่างๆ ควรเท่าเทียมกันหรือไม่



ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพและต้องนำเงินส่วนหนึ่งที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรงไปเสียภาษีเงินได้จากการประกอบอาชีพทั้งในรูปแบบส่วนบุคคลและในรูปแบบบริษัท รวมไปถึงภาษีในหลากหลายรูปแบบ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้ายในการประกอบกิจการ อื่นๆ อีกมากมาย แม้กระทั่งภาษี Vat


แล้วภาษีที่เราจ่ายนั้นถูกจัดสรรเป็นงบประมาณในการนำไปดุแลสุขภาพประชากรในประเทศส่วนหนึ่งที่มีแรงกายที่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพ หรือ อยู่ในกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่ได้จ่ายภาษี มันก็ออกจะดูเอาเปรียบไม่ใช่น้อย ส่วนตัวยินดีให้สิทธ์ สปสช ในกลุ่มเด็ก คนพิการ คนชรา


วมไปถึงนโยบายประชานิยมอื่นๆ ซึ่งตอนนี้เห็นแต่นโยบายแต่ละอัน เน้นไปทางส่งเสริมไปยังคนที่ไม่ทำงานแต่รอรายได้จากรัฐทั้งนั้น อ้างอยู่อย่างเดียวความไม่เท่าเทียม 


ส่วนตัวไม่ใช่ข้าราชการนะ  แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการไปลดสิทธิต่างๆ ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าข้าราชการไทยดูเหมือนจะทำงานไม่โอเค แต่ข้าราชการก็ยังทำงานให้รัฐ ถ้าข้าราชการไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรในการทำงานในจุดนี้ ใครจะรับราชการ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องมีการควบคุมการใช้เงินในสิทธิ์ต่างๆ ไม่ให้นำไปใช้จ่ายเกินควรหรือไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง


และก็เข้าใจว่ามันก็ควรมีสิทธิการรักษาพยาบาลที่ดูแลทุกคนในประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดสิทธิ์บัตรทองหรือที่เราเรียก สปสช เพื่อทุกคนนั้น มีก็ดี แต่คนไทยต้องมีสำนึกในการดูแลตนเอง เพื่อให้ใช้งบประมาณในส่วนนี้ไม่มากเกินไป และจงเข้าใจว่าสิทธิ์นี้เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานหลักวิชาชีพแพทย์ที่การรักษาฟรีโดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แม้แต่ประเทศในที่เจริญแล้วหลายประเทศยังไม่มีเลย ประเทศไทยเรานี้แสนดีขนาดไหน



เอาล่ะ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า



ในประเทศไทย มีสิทธิ์การรักษาอยู่ 3 สิทธิ์

  1. กระทรวงสาธารณสุขสปสช. - จ่าย 30 บาท หรือ ฟรี
  2. กระทรวงแรงงาน - ประกันสังคม - ต้องถูกบังคับจ่ายเงิน โดยนายจ้างจ่ายเงินสมทบ
  3. กรมบัญชีกลาง - ข้าราชการ - เงินเดือนน้อย กว่าการทำงานเอกชน พ่อ,แม่, บุตร ได้สิทธิ์นี้ด้วย

งบ สปสช นี่รัฐจ่ายล้วนๆ โดยที่ไม่ได้มีการสมทบจากภาคประชาชนหรือประชาชนในส่วนนี้ทำงานให้รัฐแต่อย่างใด ส่วน ปกส เป็นการจ่ายประกันตนเองร่วมกับนายจ้าง ในส่วนของ ขรก นั้นก็มาจากนายจ้างซึ่งก็คือรัฐ อย่าพูดถึงการเสียภาษีเข้ารัฐนะ ซึ่งจริงๆ มาจากคนกลุ่มไหนล่ะ มีคนบางคนมองว่าแต่ละสิทธิ์นั้นมันไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมันก็ไม่ควรจะเท่าเทียมกัน 


จริงๆ สิทธิ์ที่น่าสงสารมากที่สุดคือกลุ่มแรงงานที่เมื่อทำงานในบริษัทที่มีการจ่ายเงินในรูปแบบรายเดือน ก็จะต้องถูกบังคับให้จ่ายเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคม หรือ ปกส โดยคุณจะถูกตัดสิทธิ์บัตรทองไปโดยอัตโนมัติ จนกว่าจะตกงาน จริงอยู่ว่าถ้าป่วยหนักจริงๆ ยังไงก็ได้รับการรักษา แต่ถ้าไปดุรายละเอียดในสิทธิ์แทบจะไม่ได้ดีไปกว่าบัตรทองเลย (แล้วจะต้องจ่ายเงินไปทำไมวะ) และถ้าใครเคยอยู่ในสิทธิ์นี้จะรู้ว่าโรงพยายาลเอกชนที่ดูแลสิทธิ์นี้จะดุแลแบบรัดเข็มขัดมากๆ และในปัจจุบัน รพ.เอกชนก็รับดูแลสิทธิ์นี้น้อยลง เลยกลายเป็นต้องโยนกลับใปให้ รพ.รัฐบาลที่แออัดอยู่แล้วรับไปดุแลอย่างปฏิเสธไม่ได้


จากภายนอกคนจะมองว่าข้าราชการได้สิทธิ์พิเศษทางการรักษามากมาย ต้องมองเข้าไปให้ลึกถึงระบบเบิกจ่ายมากกว่า ว่าทำไมสิทธิ์นี้ถึงผลาญงบประมาณมากมายเกินไปต่อจำนวนของผู้ที่ได้รับสิทธิ์ ต้องเข้าไปควบคุมตรงนี้ แต่หากจะไปตัดสิทธิ์การรักษาพยาบาลของบิดา มารดา ภรรยา บุตร ออกไปก็ดูจะไม่เป็นธรรม เพราะข้าราชการเงินเดิอนน้อยกว่า ถ้าเทียบกับการทำงานในภาคเอกชน หลายคนบอกว่าข้าราชการทำงานเช้าชามเย็นชาม นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาระบบการทำงานของราชการ ไม่ใช่ไปลดสิทธิเขา


แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ความพยายามที่จะมีการยุบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกันนะ เราลองไปดูกันค่ะ



ข้อความต่อนี้มาจาก ลุงกวิ้น เดอะบรรลัยแมน ในทวิตเตอร์ ขอนำมารวบรวมไว้ในที่นี้



มารู้จักกับแนวางยุบรวม 3 กองทุน สปสช.กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกรมบัญชีกลาง พยายามผลักดันมานานเกือบสิบปี และเริ่มลงมือใช้มาแล้วปีนี้ก็นับเป็นปีที่ 6


ก่อนที่จะมีคนหรือพรรคการเมืองมาแอบอ้างผลงานตัวเองอีก


ภาครัฐในยุคนั้น เริ่มเห็นว่านโยบายบัตรทองมีความมั่นคง แต่ว่าสิทธิยังคงมี "ความเหลื่อมล้ำ" กับราชการมากเกินไป ตัวเลขรายหัวของราชการกับสปสช. ต่างกันราวๆ 4 เท่า จึงเริ่มมีแนวคิดว่าควรคุมรายจ่ายตรงนี้


ปัญหาคือตอนนั้นราชการเอง โดนบีบด้วยนโยบายสำคัญที่มีมาตั้งแต่ยุคทักษิณ คือการคุมจำนวนการจ้างงานแบบ "ข้าราชการ" ที่เรียกกันว่า Zero Growth ทำให้การไปบีบด้วยการตัดสิทธิสวัสดิการ ยิ่งทำให้คนอยากออกจากระบบมากขึ้น มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า คนยอมมาทำเพราะหวัง "บรรจุ"


ปัญหานี้ใหญ่ขนาดที่ว่า มีงานวิจัยที่พยายามทำ เพื่อหา Benefit Package ที่เหมาะสมกับการ "ไม่บรรจุ" เช่น เพิ่มเงินเดือนเท่าไร เพิ่มสวัสดิการอื่นได้ไหม


แต่คำตอบมาในแนวทางว่า

1. ขอสิทธิรักษาพยาบาล

2. ขอให้สามารถอยู่ใกล้บ้านได้


สองอย่างนี้ คือผลประโยชน์หลักที่คนอยาก "บรรจุ"


ดังนั้น การบีบให้คนไม่รอบรรจุ มันเลยมีวิธีง่ายๆ คือหาทางให้คนกลับบ้าน หรือบรรจุด้วยวิธีอื่นๆ ใกล้บ้าน ที่ราชการชอบเรียกว่า "ใกล้บ้าน ใกล้ใจ"


กับอีกทางคือทำให้คนไม่เห็นความต่างของการใช้สิทธิราชการ กับสิทธิอื่น


ซึ่งสิทธิอื่นที่ว่าคือบัตรทองและประกันสังคม


แนวคิดนี้เมื่อมารวมกับความเหลื่อมล้ำทางต้นทุนระบบสุขภาพ จึงเกิดการผลักดันการยุบรวม 3 กองทุน อย่างเป็นรูปธรรม ช่วงประมาณปี 52-53 จึงเริ่มมีเวทีที่กล่าวถึงความต่างของเงินและชุดสิทธิประโยชน์มากขึ้นมาก และก็นับว่าได้ผล ราชการร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน


สิ่งที่เป็นภาระให้กับระบบสวัสดิการทางการแพทย์ของข้าราชการ (Civil Servant Medical Benefit Scheme - CSMBS) มากที่สุด กลับไม่ใช่การรักษาราคาแพงมาก แต่เป็นการรักษาด้วยยาธรรมดานี่แหละ ที่มีความต่างกับชาวบ้านมาก ในขณะที่การรักษาด้วยเครื่องมือนั้น CSMBS โดนจำกัดมากกว่า พอเริ่มมีการไล่ดู ก็พบว่าต้นทุนยานั้น อยู่ในระดับค่อนข้างสูง และที่สูงคือยาที่มีการใช้ยาต้นแบบ หรือยาใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยตลาด ที่ระบุว่า มูลค่าตลาดยานั้น 80% อยู่ในระบบโรงพยาบาลเหมือนกับที่ NGO หลายๆ คนพยายามดันเรื่องนี้ ว่าหมอหลอกจ่ายยาใหม่ ฯลฯ


โดยพื้นฐานแล้ว ประชาชนไทยทุกคน มีสิทธิเข้าถึงการใช้ยา ตาม "บัญชียาหลักแห่งชาติ" ไม่ว่าคุณจะใช้สิทธิไหน ส่วนราชการนั้น จะมีสิทธิเพิ่มเติม ในการใช้ยาที่อยู่ในรายการของกรมบัญชีกลาง ซึ่งรายการตรงนี้แหละ ที่คนชอบยกมาว่า "ไม่เท่าเทียม" เพราะมักจะเป็น "ยาใหม่" หรือ "ยาต้นแบบ"


ยาต้นแบบ หรือยา Original หมายถึงยาที่บริษัทผู้พัฒนายานั้น เป็นผู้ขายเอง ซึ่งก็มักจะเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เราเรียกกันว่า "ยานอก" และเรียกยาที่โรงงานอื่นมาผลิตโดยใช้สารเคมีตัวเดียวกันว่า "ยาใน" ซึ่งการผลิต "ยาใน" จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานหลายอย่าง จึงจะทำได้ ดังนั้นหากผ่านมาตรฐานที่ทางรัฐกำหนด ทั้งแง่การพัฒนาสูตร การผลิต ก็ทำให้ยาในและยานอกโดยทั่วไปนั้น ไม่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะโดยทฤษฎี หรือปฏิบัติ ยกเว้นบางกรณี เช่น ยาที่ต้องการความแม่นยำสูงในการผลิต ยังอาจจะทำได้ไม่เท่ากันอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะเริ่มใช้ยา .ไหนก่อน


ซึ่งยาในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น จะกำหนดชนิดของยา โดยยึดตาม "ชื่อสามัญทางยา" หรือ Generic Name (GN) โดยไม่สนใจว่าจะเป็นบริษัทใด ดังนั้นจะยานอกยาใน ถ้าโรงพยาบาลซื้อมาแล้ว ก็ใช้ได้หมด ถ้าเป็น GN เดียวกัน แต่โรงพยาบาล มักจะเก็บยานอกไว้จ่ายให้กับคนไข้บางสิทธิเท่านั้น


การที่รพ.ทำแบบนั้นเพราะกรมบัญชีกลางและ สปสช. มีการกำหนดราคาขายจากต้นทุน เช่น ถ้าต้นทุนไม่เกิน 50 สตางค์ ขายได้ 50 สตางค์ แต่ 50-100 สตางค์ ขายได้ไม่เกิน 150 สตางค์ (ตัวเลขสมมติ) ดังนั้นยานอกที่ต้นทุนแพงกว่า จึงสามารถบวกราคาได้มากกว่า และกำไรจะเป็นรายได้เข้าโรงพยาบาล


ในบัญชียาหลักนั้น แต่ละโรคจะมี ยาบัญชี

(1)

(2)


ถ้าใช้แล้วไม่หาย แพ้ หรือมีความจำเป็นอื่น หมอสามารถเลือกเปลี่ยนกลุ่มให้คนไข้ได้ โดยมีระดับการควบคุมต่างกัน แต่ราชการจะมีการยกเว้น สามารถใช้ยาข้ามขั้นได้ ไม่ต้องไล่ตามบัญชี ตรงนี้คือรูรั่วของระบบ


นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังอนุญาตให้แพทย์ใช้ยาอื่นที่อยู่นอกบัญชี แต่ยังอยู่ในกรอบที่กรมบัญชีกลางอนุมติได้ โดยที่แพทย์เห็นสมควรว่าต้องใช้ “โดยไม่เกี่ยวกับราคาและชื่อการค้าของยา" ดังนั้น ส่วนเหลื่อมล้ำจริงๆ อยู่ที่ "ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ" ไม่ใช่ "ยานอก" แต่แพงที่ยานอก


ถาม: ยา GN มียานอกบัญชียาหลักไหม?

คำตอบ: เพียบ


ถาม: ถ้าใช้ยา GN กับยานอกบัญชียาหลักแทน Original หละ ได้ไหม

ตอบ: ก็ได้


แต่การบีบสิทธิมันทำแค่นั้นไม่ได้ 6 ปีก่อน เลยมีการตั้ง "National Clearinghouse" เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการรับผิดชอบการเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ของทั้ง 3 กองทุน พร้อมกันนั้น เริ่มมีการบีบ โดยเริ่มจากระบบ "การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล" (Rational Drug Use - RDU) โดยคุมยา 10 กลุ่ม ที่มีมูลค่าการใช้สูงสุด เช่น ยาโรคทางเดินอาหาร, ยาแก้ปวด, ยาต้านจุลชีพ และมีการลดสิทธิประโยชน์อื่นๆ คู่ไปด้วย เช่น ห้ามการเบิกจ่ายยาบางตัวอย่าง Glucosamine


ก้าวที่ 2 คือการคุมราคายา โดยใช้ "Reference Price" หรือราคากลาง แต่เป็นราคากลางในระดับ “Global" แปลว่าสั่งได้นะ แต่ราคาที่ให้เบิกคืน ต้องไม่เกินราคากลาง ราคากลางนี้ปรกติจะได้จากราคาขายยาทั้งประเทศมาเฉลี่ยด้วยวิธี “ใดก็ได้" ถ้าไม่มี ให้เอายาที่หาได้ "ทั้งโลก" มาเฉลี่ย


การบีบจนบริษัทพังอยู่ตรงราคากลางนี่แหละ เพราะการที่ตั้งราคาขายสูงกว่าราคากลาง รพ.เบิกคืนไม่ได้ ก็ต้องซื้อจากบ.ที่ขายถูกกว่า ถ้ายานอกจะแข่ง ก็ต้องลดราคามาให้เท่าราคากลาง ซึ่งยา GN ก็จะหั่นราคาลงไปอีก ทำให้ราคากลางขยับลงไป สุดท้าย .ทั้งหมด ก็จะขายราคาเท่าๆ กัน พอ .ขายเท่ากัน ทีนี้ .นอกจะเริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว ก็มีสองทาง คือตั้งแบรนด์ใหม่มาขายสู้ หรือถอนตัวออกไป ซึ่งอันหลัง เจอเยอะขึ้นเรื่อยๆ ระบบนี้ต่างกับประเทศอื่นตรงที่หลายที่ใช้ "เพดาน" คือคุณจะขายเท่าไรก็ได้ แต่ห้ามเกินเพดาน ส่วนบ.ที่ขายถูกกว่า ก็ดึงให้คนมาซื้อได้มากกว่า


เรื่องตลกคือ การกำหนดราคากลางนั้นใช้กับยา


แต่พอเป็นเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จะใช้ระบบ "ชุดสิทธิประโยชน์" แทน ซึ่งในชุดสิทธิประโยชน์นั้นจะประกอบด้วย โรคอะไร เบิกอะไรได้บ้าง ข้อจำกัดการเบิกเป็นอย่างไร


โดยแต่ละกองทุน มีชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ กันไป ข้อได้เปรียบเสียเปรียบนี้ ยังคงถกเกียงกันว่าใครดีกว่าใคร เพราะแต่ละคน ไม่พอใจของตัวเองเสมอ


ยกตัวอย่าง สิทธิ์การใช้รถพยาบาล ราชการไม่สามารถใช้รถพยาบาลหรือคอปเตอร์ได้ ในขณะที่บัตรทองทำได้ หรือประกันสังคม ได้ค่าทำฟันแค่ปีละ 900 บาท ราชการและประกันสังคมสามารถใช้ได้เต็มที่ ในบางโรค ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ 30 บาทสามารถใช้ได้ไม่จำกัด ในขณะที่ในระบบราชการและประกันสังคมนั้น เกือบทุกโรคมีเพดานในการเบิกหมด ทำให้ปัจจุบัน ทุกกองทุนถูกบังคับให้เท่าเทียมกันมากขึ้นด้วยระบบเบิกจ่าย ในขณะที่บัตรทองเอง มีแนวโน้มที่จะได้รับชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น


ความเป็นจริงแล้ว ทั้งสามกองทุนนั้น กองทุนที่น่าจะเสียเปรียบที่สุดคือกองทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมมีระบบเบิกจ่ายที่ไม่เข้มงวดเท่ากับ 30 บาท ทำให้เงินในกองทุนนั้น ถูกนำไปใช้งานได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่ถึงตัวคนไข้จริงๆ ในขณะที่ 30 บาท กว่าจะเบิกได้ต้องทำตามกติกาสารพัด


เงินในกองทุนประกันสังคมที่ส่งให้ รพ. ไม่เอามาใช้กับผู้ป่วยก็ได้ แต่ 30 บาทไม่ได้ ทำให้เงินลงไปถึงผู้ป่วยมากที่สุด


****แต่สิ่งที่ทำให้ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีปัญหาการเงิน ไม่ใช่ปริมาณงบ แต่เป็นระบบจ่ายเงินเดือน ที่เอาเงินในกองทุนสปสช. ไปจ่ายเงินเดือนแทนกรมบัญชีกลาง


ท่ากับว่า เงินรายหัวปีละ 3,400 บาทต่อคน โดนหักไปแล้วราว 50% ในการบริหารจัดการ และลงถึงผป.จริง < 2,000 ต่อคนต่อปี และระบบเบิกจ่ายที่เข้มงวดเกินไป ทำให้รพ.เกิดภาวะขาดสภาพคล่อง


ซึ่งเรื่องนี้พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ยกมาพูด เข้าใจว่าไม่มีข้อมูลตรงนี้ มากกว่าจะเลือกปกปิดไว้


การเบิกจ่ายที่เข้มงวดนั้น ไม่ใช่แต่บัตรทองที่โดน ตอนนี้มีนโยบายเรื่อง 1 Generic 1 SKU หมายความว่า ยา 1 รายการ จะมี 2 ยี่ห้อไม่ได้ แม้กระทั่งจะจ่ายยาแพงให้ผู้ป่วยจ่ายเอง แล้วยาถูกให้คนที่ใช้สิทธิยังทำไม่ได้ “ทุกคนเท่ากัน" แต่วิธีนี้ช่วยให้รพ.ลดภาระคลังได้ 30-50% ดังนั้น ใครที่ยังเข้าใจว่า "ราชการสิทธิรักษาดีกว่าบัตรทอง" ควรปรับความเข้าใจ


และหันไปขอโทษคนใช้ "ประกันสังคม" ด้วยนะ เงินจ่ายเอง สิทธิน้อยสุด


ปล. รพ.ไม่ได้ขาดทุน รพ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน


การเรียกว่าขาดทุน เพื่อให้เข้าใจง่ายว่า บัญชีติดตัวแดง แค่นั้น


คำถามว่า อ้าว มันก็แค่ขยับมาใกล้กัน ไม่ได้เท่ากัน


ครับ มันไม่เท่ากัน เพราะสิทธิพื้นฐานของทุกคนมีเท่ากัน


อย่างที่เคยอธิบายไป ราชการได้เพิ่ม เพราะการทำงานแลกกับค่าจ้างที่น้อยกว่าตลาด มันคือการสร้างแรงจูงให้คนอยู่ในระบบ แต่ตำแหน่งไม่เปิดเพิ่มนะครับ ... แปลว่าใครที่เข้ามาอยู่ในระบบ ก็ต้องถูกคัดกรองมาแล้ว อย่าไปคิดถึงข้าราชการยุคเก่าๆ ครับ 17 ปีที่ปฏิรูประบราชการมา ตำแหน่งข้าราชการไม่มีเปิดเพิ่ม คนที่รับราชการหลังปี 2545 ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์อะไรมากมายเลย แถมจะเป็นลูกจ้างก็ไม่ใช่ง่าย จำนวนลูกจ้างก็โดนบีบอีกต่างหาก






 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2562    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2562 1:42:55 น.
Counter : 2893 Pageviews.  

ติดมือถือ ก็ป่วยได้



SMARTPHONE ADDICTION & BAD SIDE EFFECTS


ทันทีที่คุณรับสมาร์ทโฟนเข้ามาอยู่ในชีวิต กดคลิกแอพฯ เกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์คมาใช้การ นั่นแปลว่าคุณได้เปิดประตูตอนรับโรคภัยจากเจ้าเทคโนโลยีเหล่านี้มาสู่ตัวแล้ว และนี่คือนิยามของอาการป่วยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของสมาร์ทโฟน ซึ่งพอรู้แล้วบอกเลยว่า ไม่สมาร์ทต่อสุขภาพเอาเสียเลย

1. Cell Phone Elbow ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม พิมพ์ข้อความ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้คุณต้องเคลือนนิ้วไปมาบนสมาร์ทโนเป็นเวลานานๆ นั่นเป็นการล็อกให้เส้นประสาทบริเวณข้อศอกเกิดการยึดเกร็ง เลือดไปเลี้ยงเส้นเลือดไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการขาบริเวณนิ้วกลางและนิ้วนางเจ็บจี๊ดที่ปลายข้อศอก เรียกอาการนี้ว่า Cell Phone Elbow
2. Text Claw มีบางคนที่ชอบถือและเล่นโทรศัพท์ด้วยมือเดียว โดยพยายามจะใช้นิ้วโป่งควบคุมสมาร์ทโฟนทั้งเครื่อง หรือพิมพ์ข้อความทั้งหมดให้ได้ จนเกิดเป็นลักษณะมือที่คล้ายอุ้งเท้า เป็นอาการที่เรียกว่า Text Claw เกิดจากการส่งข้อความมากเกินไป ทำให้ปวดข้อนิ้วโป้ง ปวดข้อมือ เป็นต้นเหตุของโรคข้ออักเสบ คนไทยรู้จักอาการนี้ในภาษาชาวบ้านเรียกว่า นิ้วล็อก
3. Sleep Texting ช็อคแน่ๆ หากตื่นนอนมาแล้วพบว่า เมื่อคืนคุณส่งข้อความไปให้กับใครบางคนโดยไม่รู้ตัว อาการที่ว่านี้คือผลข้างเคียงจากการที่คุณติดโทรศัพท์มากๆจนถึงขั้นละเมอส่งเท็กซ์ หรือละเมอพิมพ์ข้อความ เรียกว่า Sleep Texting หากคุณมีอาการที่ต้องหยิบมือถือทุกครั้งที่ได้ยินเสียงแจ้งเตือนหรือวิตกกังวลทุกครั้งที่มีสัญญาณเตือนสมาร์ทโฟนดังแล้วไม่ได้เช็คหรือตอบข้อความ คุณมีสิทธิ์เป็น Sleep Texting โดยไม่ต้องสงสัย ซึ่งแพทย์ระบุว่าอาการดังกล่าวจะรบกวนการนอนหลับพักผ่อน และส่งผลในแง่ลบต่อองค์รวมของสุขภาพในที่สุด
4. Text Neck และ iPosture นิยามของคนที่มีอาการไหลห่อคอตกจากการก้มมองโทรศัพท์จนรู้สึกปวดเมื่อยคอ สะบัก ลุกลามไปถึงหัวไหล่ ซึ่งหากเป็นหนักๆ เข้าอาจโยงใยไปสู่อาการปวดหัว ปวดแขน และปวดตามข้อต่อต่อได้ ส่งผลเสียให้ร่างกายเติบโตแบบผิดรูปผิดร่าง เส้นเอ็นอ่อนแอ สันหลังด้านบนปูดบวม เส้นประสาทถูกกดทับ น่ากลัวน้อยซะที่ไหน
5. Nomophobia อาการทางจิตเวชที่ดัดแปลงชื่อบัญญัติมาจากคำว่า “No-Mobile-Phone Phobia” แปลเป็นไทยได้ว่า “โรคกลัวไม่มีมือถือใช้” สังเกตง่ายๆคือ หากเวลาแบตโทรศัพท์หมด หรือเวลาคุณหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่งที่ไม่มีสัญญาณมือถือ เช่น ในต่างประเทศ หรือบนเขาบนดอย แล้วรู้สึกเครียด จิตตก หงุดหงิด ที่ไม่สามารถใช้มือถือได้พึงรู้เลยว่า คุณแอดเข้ากรุ๊ปโนโมโฟเบียเรียบร้อยแล้วละ
6. Computer Vision Syndrome และ Cyber Sickness หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย คล้ายจะเป็นลม อาการเช่นนี้ ยาดม ยาหอม ยาหม่อง ช่วยได้บางส่วน แต่ถ้าจะให้ผลชะงัด คุณต้องหากจากสมาร์ทโฟนเสียบ้าง เพราะสัญญาณที่บอกว่าแสงจากจอมือถือกำลังเล่นงานประสาทตาของคุณ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานๆ สายตาพังแน่ๆบร้อยแล้วละ
7. Phantom Smartphone Vibration Syndrome คำว่า “มโน” ที่กำลังฮิต น่าจะเหมาะแก่การอธิบายอาการที่เรียกว่า Phantom Smartphone Vibration Syndrome หรืออาการนึกว่ามือถือสั่นยังไม่ได้สั่น พบได้ 7 ใน 10 ของคนใช้สมาร์ทโฟน ในเวลาที่รอรับสายหรือรอข้อความจากคนสำคัญ




https://www.psychguides.com/guides/signs-and-symptoms-of-cell-phone-addiction/




 

Create Date : 04 กันยายน 2561    
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2562 20:51:54 น.
Counter : 226 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

blue passion
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 47 คน [?]




มีหัวใจไว้เดินทาง ค้นหาความหมายของชีวิต เพื่อเติมเต็มให้กับคำถามที่เกิดขึ้นมากมายระหว่างการเติบโต วิธีการในการเดินทางมีมากมาย แต่ ณ วันนี้ ขอเลือกสองล้อเป็นพาหนะในการนำพาไปสู่จุดหมายปลายทาง

Site Meter

Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add blue passion's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.