เรื่องราวผู้หญิงกับการเดินทางด้วยหัวใจ 2 ล้อ (มอเตอร์ไซด์) รวมถึงการท่องไปในโลกกว้างด้วยวิธีการอื่นๆ คลอเคล้าด้วยคนตรีไพเราะหลากหลายรูปแบบ เรามาผจญภัยด้วยกันนะคะ

ประเภทของพยาบาล



ในโรงพยาบาล เราจะพบคนที่ใส่ชุดสีขาว ส่วนมากมักจะเป็นผู้หญิงที่คอยเป็นผู้ช่วยแพทย์ ที่เราเรียกว่าพยาบาลนั้น เพราะในบางโรงพยายาลก็จะใส่ชุดขาวเหมือนกันหมด จริงๆ แล้วมีความแตกต่างกันหรือไม่ มีการเรียนหรือวุฒิอย่างไรบ้าง คำเรียนเป็นภาษาอังกฤษที่ใส่มาให้ก็จะเป็นการเรียกในต่างประเทศนะคะ ลองมาดูกันค่ะ 



1. RN = Registerd Nurse
ก็คือ พยาบาลที่เรียน 4 ปี มีปริญาบัตรวุฒิ ป.ตรี  ที่เรียกว่า GN=General Nurse ของบ้านเรา 
โดยจะแยกกันที่มีการใส่หมวกขาว ที่ปีกหมวกจะมีขีดตามแนวยาวค่ะ

2. RPN = Registerd Practical  Nurse
ก็คือ พยาบาลเทคนิค เรียน 2 ปีในบ้านเราที่เรียกว่า  TN = Technical Nurse
แต่ถ้าจำไม่ผิด พยาบาลเทคนิคนี้ล้มเลิกมานานหลายสิบ ปีแล้ว
ทุกวันนี้ พอเขาล้มเลิก พยาบาลเทคนิค ที่มีอยู่ตามหลายๆมหาวิทยาลัย ก็คือ ผู้ช่วยพยาบาล เรียน 1 ปีหรือเรียกว่า  PN=Practical Nurse  ของบ้านเรานั่นเอง

3. PSW = Personal Support worker/Health Care Aid
ก็คือผู้ช่วยเลือคนไข้เรื่องเวลาเรียน แล้วแต่ สถาบันไหนจะจัดสอน สี่เดือน หกเดือน  = Nurse Aid ของบ้านเรานั่นเอง

ซึ่งในการจำแนกกลุ่มเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีความชำนาญที่ลงลึกไปอีก หากจะเลือกมาดูแลผู้ป่วย อาจต้องถามความชำนาญแยกย่อยออกไปอีก ว่าต้องการให้ดูแลเด็กเล็ก เด็กป่วย เด็กพิเศษ หรือผู้ใหญ่ที่ป่วยในลักษณะใน 
ในกลุ่มพยาบาล RN (GN) นั้น ก็จะมีการอบรมเพื่อรับในประกาศเฉพาะทางลึกลงไปอีกค่ะ




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2561    
Last Update : 2 มิถุนายน 2561 16:58:54 น.
Counter : 910 Pageviews.  

กินเข้าไป " กิน กิน กิน "...ให้ผอม

ตอนเด็กๆ กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ข้าวเอย ขนมเอย จัดเต็ม กินไม่มียัง แต่พออายุมากขึ้น ทำไมกินอะไรนิดอะไรหน่อยก็อ้วน เรามาดูสาเหตุกัน จริงๆ ก็คงพอรู้กันอยู่แล้วเนาะ แต่อยากเขียนให้ชัดๆ

1 กิจกรรมที่ลดลง ถ้าเรามองย้อนดูเราตอนเด็กกว่านี้ จะพบว่าเรามีกิจกรรมทางกายภาพที่ลดลงมากกว่าตอนเด็กๆ อย่างแน่นอน สมัยเรียนไหนจะกิจกรรมกีฬาในชั่วโมงเรียน หลังเลิกเรียนก็ยังเล่นกีฬา หรือ ไม่ก็ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะไปเที่ยวเตร่เฮฮา ระหว่างช่วงโมงเรียนก็เดินไปนู่นมานี่ และการเดินทางในวัยเด็ก แน่นอน...เรายังขับรถไม่ได้ ก็ต้องโหนรถเมล์ ใช้บริการรถมวลชนกันกันไป แต่พอเราทำงานแล้ว วันๆ ก็นั่งอยู่กับโต๊ะ ใช้สมองคิดนู่นคิดนี่ ตกเย็นก็ล้าเกินกว่าจะกระดิกกระเดี้ยตัวไปออกกำลัง ได้แต่เปรยกับตัวเองเบาๆ ว่าพรุ่งนี้แล้วกัน วันนี้เหนื่อยแล้ว

2 กินเยอะขึ้น ในที่นี้หมายถึง เรากินอาหารที่ดีขึ้น คือ เรากินอาหารตามร้านอาหารบ่อยขึ้น เพื่อความสะดวกและความสะบาย และการกินลักษณะนี้ทำให้เรากินอาหารต่อมื้อที่มากขึ้น ลักษณะอาหารที่มีแคลลอรี่สูงขึ้น รวมทั้งอาจจะมีการกินจุกกินจิกระหว่างที่นั่งทำงาน ในห้องเรียนเราแอบกิันไม่ได้นี่นะ และบางครั้งเราก็ใช้การกินเพื่อเข้าัสังคม ไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้ต่างๆ แถมพ่วงเข้าไปด้วยแอลกอฮอล์ เจ้านี่แหละตัวดีแคลอรี่สูงลิบลิ่ว

3 การเผาผลาญที่ลดลง เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดลง

เมื่อ 3 อย่างมาบวกกันแล้ว จะไม่น้ำหนักขึ้นอย่างไรไหว

งั้น...เี่ราจะทำอย่างไรดี ในเมื่อปากก็ยังอยากกินอยู่ หยุดไม่ไหว

กินอย่างไร...ให้ผอม

...ทำได้ด้วยเหรอ ...

คำตอบคือ ... ทำได้ค่ะ แต่ต้องใช้สมองตอนกินนิดหน่อย


วิธีการ ก็คือ กินอะไร อย่างไร เท่าไหร่ ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายต้องการต่อวัน

ในภาวะปกติถ้าเราอยู่เฉยๆ เพียงแค่เดินไปเดินมา นั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือ ดูทีวี ร่างกายเราจะใช้พลังงานประมาณ 1600-2400 แคลอรี่ โดยขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ส่วนสูง อายุ เพศ และโครงสร้างของร่างกาย เรียกการใช้พลังงานในภาวะปกตินี้ว่า Basal Metabolism Rate (BMR) ผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชายนิดหน่อย จะง่ายๆ ผู้หญิงประมาณ 1500 แคลอรี่ ส่วนผู้ชายต้องการประมาณ 2000 แคลอรี่ต่อวัน
แต่ถ้าอยากได้เ๋ป๊ะๆ ก็ต้องคำนวนด้วยสูตรดังนี้

สำหรับผู้ชาย BMR = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัวเป็น กก.) + (5 x ส่วนสูงเป็น ซม.) – (6.8 x อายุ)

สำหรับผู้หญิง BMR = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัวเป็น กก.) + (1.8 x ส่วนสูงเป็น ซม.) – (4.7 x อายุ)

เมื่อเรารู้แล้วว่าวันหนึ่งต้องไม่กินให้ปริมาณแคลอรี่เกินเท่าไหร่แล้ว ที่นี้จะกินอะไรก็ได้แต่อย่าให้เกินก็แล้วกัน ดังนั้นจะกินเค้ก ไอติม หรือ พิซซ่าก็ยังได้ เพียงแต่ถ้าคุณเลือกของที่แคลอรี่เยอะแต่ปริมาณน้อย ความรู้สึกหิวก็จะไม่หมดไปง่ายๆ ก็จะรู้สึกทรมานเล็กน้อย ต่อไปก็จะทำให้เรารู้จักคิดก่อนกินมาขึ้น ว่าจะเลือกกินอะไรอย่างไร ให้อร่อยทั้งปาก และสบายทั้งท้อง

การใช้สมองอีกเรื่องสำหรับการกินก็คือ ต้องรู้คร่าวๆ ว่าอาหารแต่ละชนิดมีแคลอรี่เท่าไหร่ จำให้ได้คร่าวๆ

ตัวอย่างปริมาณแคลอรี่ในอาหารแต่ละประเภท
- พิซซ่า ซูปเปอร์สุพรีม 1 ชิ้นใหญ่ 510 แคลอรี่
- บลูเบอร์รี่มัฟฟิน 1 ชิ้นใหญ่ 410 แคลอรี่
- ไอศครีม 1 ถ้วย 350 แคลอรี่
- คุกกี้ชอคชิพ 6 ชิ้นเล็ก 350 แคลอรี่
- เฟรนฟรายต์ 20 แท่ง 315 แคลอรี่
- โดนัทมีไล้ครีม 1 ชิ้น 310 แคลอรี่
- ครัวซองค์ 1 ชิ้น 275 แคลอรี่ เป็นต้น

พอดีไปเจอข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตจากเวปนี้ กองโภชนาการ และก็ไปเจอหมอแมววใน exteen blog ทำเป็น excel file ไว้และนำมาแจก ขอนำมาแจกต่อ ขอบคุณหมอแมวด้วยค่ะ มีเป็นพันรายการเลยหล่ะค่ะ

อีกหลักที่ตัวเองใช้ คือ การพลิกดูฉลากของกิน ปัจจุบันส่วนใหญ่จะบอกว่า 1 หน่วยบริโภคให้แคลอรี่เท่าไหร่ ถ้าอยากกินจริงๆ ก็จะพยายามเลือกอันที่ให้แคลอรี่น้อยที่สุด และพอพลิกดูก็จะเป็นการเตือนใจตัวเองไม่ให้กินมากเกินไปอีกด้วย

การมีสุขภาพที่ดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและมีวินัยอย่างสม่ำเสมอค่ะ




 

Create Date : 12 สิงหาคม 2554    
Last Update : 10 กันยายน 2554 20:10:50 น.
Counter : 971 Pageviews.  

เมื่อ "แพทย์" ไหลออกนอกระบบ

ถ้าติดตามข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมืองโดยตลอด จะพบว่าบุคลากรในทุกภาคส่วน ล้วนแล้วแต่ไหลออกจากระบบได้ เมื่อโอกาส (ของเขาเหล่านั้น) เอื้ออำนวย ยกเว้นการเมืองเพียงอย่างเดียวกระมัง ที่ไหลเข้าไม่เห็นจะไหลออกเอง ยกเว้นถูกถีบออกมา

ตัวเองอยู่ในสาขาสาธารณสุข แม้ก็ได้ไหลออกมาจากระบบราชการแล้วเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ได้ยินปัญหามากมายที่ไม่สามารถแก้ให้จบให้สิ้นได้เสียที ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ทางด้านการปฏิบัติงานที่แท้จริงในระบบราชการนั้นมีแต่จะรุนแรงขึ้น โดยที่ประชาชนตาดำๆ ไม่มีโอกาสได้รับรู้ และตามความคาดการณ์ของฉัน คิดว่าจะย่ำแย่ลง

แพทย์ในหน่วยงานราชการที่ต้องรับภาระงานล้นมือ แต่กลับได้ค่าตอบแทนน้อยเกินไป บวกกับแรงกดดันที่ได้จากการปฏิบัติงาน ทั้งจากเบื้องบนจนไปถึงคนไข้

ทุกวันนี้เรารู้ว่าแพทย์มีหลากหลายสาขา แต่แพทย์จำเป็นจริงๆ ไม่ได้จบสาขาเหล่านั้นหรอก แค่แพทย์ที่จบแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ให้เพียงพอที่จะอยู่ในพื้นที่โดยไม่โยกย้ายไปที่อื่นต่างหาก

แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าตาสีตาสาไหน ต่างก็เรียกร้องจะหาแต่เฉพาะทางๆ ทั้งนั้น

อีกหน่อยคงมีแบบนี้กันบ้าง
คนไข้: วันนี้เจ็บตาขวามาค่ะ
พยาบาล: ขอโทษทีนะคะ คุณหมอวันนี้เฉพาะทางตาซ้ายค่ะ รบกวนมาพรุ่งนี้ค่ะ

งานแพทย์ตรวจโรคทั่วไปทั้งหนักและเหนื่อย วันๆ ตรวจกันเป็นร้อยๆ คน ทำให้แพทย์เองก็กระเสีือกกระสนหาลู่ทางที่จะทำให้คุณภาพชีวิตตัวเองดีขึ้น แพทย์หรือหมอไม่ใช่พระ มีชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ก็ต้องมีมุมที่คิดถึงตัวเองมากกว่าคนเจ็บป่วยบ้าง และการที่คนไข้ไม่เชื่อถือผลการรักษาของหมอที่ไม่ได้จบเฉพาะทาง ก็ทำให้หมอคิดว่าการไปเรียนเฉพาะทางนั้นก็ดีต่อคนไข้มากกว่า การที่หมอคนหนึ่งจะจบเฉพาะทางได้นั้น ต้องเสียเวลาเรียนไปอีก 3-6 ปี อยากให้เหล่าคนไข้ ลองตระหนักให้ดี ว่าการเรียกร้องที่เกินความจำเป็นนั้นได้ส่งผลต่ออะไรบ้าง และการเรียกร้องเหล่านี้ยังผลให้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้นแล้วจริงๆ หรือ ค่านิยมที่เกิดขึ้นทำให้แพทย์ที่ไม่ได้ร่ำเรียนเฉพาะทางต้องการต่อยอดทางความรู้ของตัวเอง และเมื่อเรียนเฉพาะทางแล้ว ขอบเขตของงานก็แคบลง ความอยากที่จะตรวจรักษาโรคทั่วๆ ไปก็จะลดลง หรือ บางคนไม่ทำเลย บางคนเมื่อไปเรียนแล้ว ก็หาลู่ทางที่จะทำงานต่อในกรุงเทพ หรือไม่ก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วไม่กลับไปยังที่ๆ มาอีกเลยก็มาก หรือ หลังเรียนจบก็ออกไปทำคลีนิกส่วนตัวหรือโรงพยาบาลเอกชนเลยก็มี ทำให้มีการไหลออกจากระบบของแพทย์ตลอดเวลาและกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันปัญหาขาดแคลนแพทย์ก็ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาในจุดที่เป็นจริง ทำอย่างไรจึงจะฉุดรั้งไม่ให้แพทย์ที่มีอยู่ลาออก หรือ ดึงกลับเข้ามา บางคนเลิกเป็นแพทย์ไปเลยก็มี ช่างน่าเสียดายนัก แม้จะมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณภาพของแพทย์ที่แย่ลง เพราะศักยภาพของแหล่งผลิตเหล่านั้นที่ยังไม่ดีนัก ทั้งจากสถานที่และบุคลากร

การเป็นแพทย์ได้นั้นไม่ได้ยาก แต่มีองค์ประกอบ คือ ความภาคเพียรจากผู้ศึกษาเอง ครูผู้สอน ได้แก่ แพทย์ที่เป็นอาจารย์ และ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ คนไข้ ที่ได้พบเจอเป็นเคสตัวอย่างในช่วงชีวิตของการเล่าเรียนศึกษา

เป็นกำลังใจให้น้องๆ แพทย์ที่กำลังจะจบ, เหล่าแพทย์ไทยทุกคน และสดุดีแพทย์ที่ยังคงทำงานในระบบเพื่อช่วยเหลือประชาชน ได้แต่หวังว่าปัญหาที่ได้ยินได้ฟัง จะดีขึ้นในเร็ววัน




 

Create Date : 01 เมษายน 2554    
Last Update : 1 เมษายน 2554 16:54:05 น.
Counter : 582 Pageviews.  

"หมอครับ...ผมต้องการหายป่วยภายในพุธนี้" ... หมอจะรู้ได้ไงว่าจะหายทันมั๊ย

คนไข้มาด้วยอาการไข้มาแล้ว 3 วัน เมื่อวานมาพบแพทย์ได้ยาไปกินแล้ว วันนี้ยังมีไข้อยู่ จึงมาพบแพทย์อีกครั้ง

คนไข้ "หมอครับ หมอคิดว่ากี่วันจะหาย"
หมอ "หมอไม่สามารถตอบได้ค่ะ อาจจะเป็นสัปดาห์ก็ได้ หรือ พรุ่งนี้อาจจะหายก็ได้ การดำเนินของโรคแล้วแต่ค่ะ แต่โดยทั่วไปถ้าไม่รุนแรง 3-5 วันก็มักจะหายค่ะ"
คนไข้ "หมอครับ คือ ผมต้องเดินทางไปต่างประเทศอีก 3 วันข้างหน้า ทำให้หายได้ไหมครับ"
หมอ "..................."

หมอแผนปัจจุบันไม่ใช่หมอผีนะคะ จะได้ปัดเป่าอาการเจ็บป่วยให้ได้ราวกับเสกมนต์คาถา -_-'




 

Create Date : 23 มกราคม 2554    
Last Update : 23 มกราคม 2554 21:26:10 น.
Counter : 489 Pageviews.  

โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้คนเสียนิสัย

เช้าตรู่วันนี้ ณ ห้องฉุกเฉินแห่งเดิม
คุณป้าคนหนึ่งมาด้วยอาการเวียนศรีษะ
ทำการซักถามอาการ ตรวจร่างกาย ไม่พบความผิดปรกติร้ายแรง
จึงฉีดยา รอดูอาการ
ญาติเดินเข้ามาแล้วพูดว่าจะให้นอนโรงพยาบาล
โดยญาติจะไปเลย ไม่รอดูอาการ
หมอเห็นว่าอาการไม่ได้รุนแรง...ถ้าฉีดยาแล้วอาการทุเลาก็สามารถกลับบ้านได้
จึงบอกให้รอก่อน...
ญาติ (ลูกของผู้ป่วย) ได้พูดว่าเมื่อวานมาแล้วหมอจะให้นอนโรงพยาบาล
แต่ไม่ขอนอนเอง วันนี้จึงพามาและต้องการจะนอนที่โรงพยาบาล
หมอก็แจ้งว่าอาการที่เป็นไม่ได้ร้ายแรงถึงกับจะต้องนอนในทันที
ขอให้รอดูอาการ...
ญาติไม่พอใจ...บอกว่าปรกติก็นอนทุกๆ สามเดือนอยู่แล้ว
ให้เปิดประวัติเช็คดู
หมอทำการเปิดประวัติตรวจสอบก็ไม่พบโรคประจำตัวร้ายแรงใดๆ
นอกจากความดันโลหิตสูง และ อาการเวียนหัวเป็นครั้งคราว
รวมทั้งประวัติของเมื่อวานก็ไม่ได้มีบันทึกอาการป่วยที่จำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาลไว้
จึงได้สอบถามญาติอีกครั้ง พร้อมกับสอบถามว่าทำไมรีบกลับนัก จะไม่รอก่อน
ญาติตอบว่าต้องไปส่งลูกและเปิดร้าน !!??
และเดินออกไป...ตะโกนว่าถ้าเขาให้จ่ายค่าอะไรก็จ่ายไป
พร้อมกับปิดประตูใส่เสียงดัง...
(ซึ่งแน่นอน...เขาไม่มีทางต้องควักกระเป๋าจ่ายอะไรอยู่แล้ว)
หมอไม่ได้หมายความว่าไม่ให้นอน...
อยากให้รอดูอาการก่อน...บางทีอาจจะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลก็เป็นได้
แต่ถ้ามันจำเป็นต้องนอน...ไม่มีหมอคนไหนใจร้าย
ไล่ออกจากโรงพยาบาลไม่ให้ยอมให้นอนหรอกค่ะ

น่าแปลกใจ...คนหนึ่งคนอยากทำหน้าที่แม่ที่ดี
แต่กลับทำตัวเป็นลูกที่แย่...
มันจะเสียเวลามากไหม...ถ้าจะรอดูผลการรักษาของแม่
รอส่งท่านให้ถึงห้องพัก (ถ้าต้อง admit)
มันจะเป็นอะไรไหม...ถ้าต้องไปส่งลูกสายหน่อย
หลานตัวน้อยคงเข้าใจ...ว่าแม่ต้องไปส่งเขาไปโรงเรียนสาย เพราะยายป่วย
เมื่อเราเป็นแม่คน...เราคิดแต่จะทำหน้าที่แม่ให้ดีที่สุด
โดยลืมหน้าที่ของความเป็นลูก
บ่อยครั้งที่ความเป็นแม่...ถูกส่งผ่านไปถึงรุ่นหลาน
ยายมักเข้าใจทำไมแม่ว่าต้องให้หลานก่อน...
เพราะแม่ของหลาน...คือลูกของยาย
...เรากำลังทำอะไรกันอยู่...

สถานการณ์ที่เล่าให้ฟังเหล่านี้พบได้บ่อยในบรรดาญาติของผู้ป่วยในกลุ่มคนไข้สูงอายุที่มีสิทธิ์ 30 บาทหรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า บ่อยครั้งที่ญาตินำผู้ป่วยสูงอายุมาใช้บริการนอกเวลา เพียงเพราะตัวเองต้องทำงานไม่มีเวลาพามา แล้วก็โวยวายว่าทำไมต้องจ่ายเงิน ทั้งๆ ที่มันเป็นกฏระเบียบ ทำให้การมาพบแพทย์ยามค่ำคืน...คือการทำอย่างไรก็ได้...เพื่อให้ได้นอนโรงพยาบาล แสดงว่าป่วยหนัก ถือเป็นเรื่องฉุกเฉิน ก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล บ่อยครั้งที่ญาตินำผู้ป่วยสูงอายุมาทิ้งให้อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น มาส่งคนไข้แล้วก็ไปเลย อ้างว่าต้องรีบไปทำธรุะ...ประมาณว่าขอฝากไว้ก่อน ไม่สนว่าจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลจริงหรือไม่ ที่ทำกล้าทำและทำได้เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า...ฟรี ไม่มีบิลค่าใช้จ่ายตามหลังให้เป็นภาระหรือลำบากใจแน่นอนหรือถ้าเสียค่าใช้จ่าย ก็น้อยกว่า... แถมยังเรียกร้องเกี่ยวกับให้การบริการเพื่อต้องให้สร้างความพึงพอใจมากตามที่ต้องการ ถ้ามีส่วนที่ต้องจ่าย...แทบจะบีบคอถามกันเลยทีเดียวว่าทำไมต้องจ่าย ถ้าเป็น รพ.เอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐที่คุณไม่มีสิทธิ์รักษาบริการฟรี...ญาติคงไม่กล้าทำแบบนี้

โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะมันเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในประเทศว่าทุกๆคน...แม้จะไม่มีงานทำ คุณก็มีสิทธิ์ได้รับการรักษาอย่างน้อย...ก็ในขั้นพื้นฐาน เท่าที่คนไทยคนหนึ่งควรจะมีเท่าเทียมกัน แต่...แบบนี้ทำให้ญาติและคนไข้เคยตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่า...ชนชั้นกลาง...ของประเทศ บุคคลผู้ได้รับข่าวสารและการศึกษามาก ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นแห่งปัญญา เมื่อมีปัญหา...ทุกคนจะพูดว่า "ไม่ใช่ว่าจ่ายไม่ได้หรอกนะ แต่เมื่อมีสิทธิ์ก็ต้องใช้สิทธิ์" "จะเท่าไหร่ทำไปไม่ว่า มีปัญญาจ่าย" แต่ถึงเวลาที่ต้องจ่าย...มีปัญหาทุกที" คิดว่าต้องง้อเหรอ ไปที่อื่นก็ได้" ไม่ได้เข้าข้างพวกเดียวกันนะคะ แต่ทุกครั้งที่โวยวายอย่างนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความไม่พอใจในเรื่องไร้สาระ ไม่ได้อย่างใจ เช่น อยากให้หมอสั่งส่งไปทำการวินิฉัยบางอย่างตามที่คิดอยากจะได้ทำ, หรืออยากให้หมอรักษาในแบบที่เขาคิดอยากจะให้เป็น, หรืออยากจะให้หมอรักษาตามแบบที่เขารับทราบมาจากโรงพยาบาลอื่นที่เคยไปพบมาก่อนหน้า และแน่นอนมันต้องเป็นโรงพยาบาลเอกชนแพงหูฉี่ ...และแล้วท้ายที่สุด ก็กลับมายังโรงพยาบาลห่วยๆ แห่งเดิม ^_^

ตัวคนไข้ในโครงการเอง...เหล่าบรรดาผู้สูงอายุเหล่านี้ มีไม่น้อย... มาหาหมอแต่ละครั้ง...ขอยาเยอะมาก เรื่องที่ป่วยตั้งแต่หัวจรดเท้า...ประมาณว่าขอเผื่อไว้ก่อน เอ้า...แต่ไม่เป็นไร เข้าใจว่าเมื่อป่วย ลูกหลานคงไม่ค่อยมีเวลาพามาหาเลยขอไว้ก่อน แต่บางครั้งท่านๆ เหล่านี้ก็ดื้อซะจนปวดหัว อธิบายแล้ว...ไม่ค่อยเชื่อ มักจะเชื่อเพื่อน, ทีวี, หรือเขาเล่าว่า มากกว่าเชื่อหมอตัวเป็นๆ ที่อยู่ตรงหน้า

คนไข้บางประเภท...เหล่าบุคคลที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการทำตัวเอง เช่น คนที่ป่วยจากการดื่มสุราซ้ำแล้วซ้ำเล่า, เหล่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ดูแลตัวเองตามที่หมอสั่ง, คนทำร้ายร่างกายตัวเอง

บางคนมารับยาเดือนละหลายๆ ครั้ง ด้วยอาการป่วยเล็กๆ น้อยสารพัดโรค เยอะซะจนอดคิดไม่ได้ว่า เขาช่างโชคร้ายเสียจริงๆ ที่ป่วยมากขนาดนี้ แต่ก็ช่างโชคดีที่ยังมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเสียนี่กระไร ...เคยนึกเสมอว่ายามากมายก่ายกองที่มารับไปนั้น กินหมดจริงๆ หรือเอาไปทำอะไรกันแน่ -_-' (อย่าคิดว่าไม่มีนะคะ ไอ้ที่มาขอรับยาแล้วเอาไปขายต่อ) บางคนก็ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่รักษา มารับใหม่เรื่อยทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวันนัด อ้างว่าหายบ้าง เอาไว้อีกบ้านบ้าง บ่อยครั้งที่เมื่อคนไข้สูงอายุป่วยหนักจนญาติต้องหามมาโรงพยาบาล พร้อมกับยาถุงใหญ่ ที่ค้นๆ ดูแล้วถึงกับส่ายหัว เพราะเก่าเก็บและเยอะอย่างไม่น่าเชื่อ (ทั้งถุงคิดเป็นเงินก็หลายพันบาท นี่แค่คนเดียว...แต่มีอย่างนี้อีกมาก รวมแล้วคิดเป็นเงินเท่าไหร่ ที่เราโยนทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์) หมอไม่โทษผู้สูงอายุเหล่านี้ แต่โทษญาติ...ที่บอกได้เลยว่าไม่เคยใส่ใจดูแล

เพราะคำว่าฟรี...ทำให้คนไข้และญาติจำนวนมากเสียนิสัย
เพราะเรารู้ว่า "ฟรี" นี้ไม่ใช่ไม่มีคนจ่าย แต่คนที่จ่ายคือภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเราเอง จึงพยายามจะเอาคืนจากรัฐ ให้คุ้มกับค่าภาษีที่เสียไป

จึงไม่สนใจดูแลตัวเอง รวมทั้งไม่เคยคิดถึงความจำเป็นที่แท้จริง

หมอไม่ได้พูดเพียงเพราะไม่พอใจ หมอก็เป็นคนธรรมดาที่มีญาติพี่น้อง รวมทั้งญาติที่สูงอายุ หมอเองก็นำท่านไปใช้บริการ 30 บาทเช่นเดียวกัน โรงพยาบาลที่หมออยู่เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นสอง ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาท ได้รับรู้ถึงปัญหาด้านค่าใช้จ่าย บอกได้เลยว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในด้านงบส่วนนี้ โดยรวมออกไปทางติดลบขาดทุน หรือที่เรียกว่าชักเนื้อนั่นเอง และตัวหมอเองก็เคยอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัดทั้งโรงพยาบาลศูนย์ (500 เตียงขึ้นไป) โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ (120 เตียง) และโรงพยาบาลประจำตำบล (10-30 เตียง) แม้จะไม่นาน แต่ก็คิดว่าน่าจะได้เห็นคนไข้หลากหลายรูปแบบมากพอจะวิจารณ์ได้

ยอมรับด้วยความจริงใจและความจริงที่มีต่อเรื่องนี้กับบรรดาหมอๆ หลายท่าน เรื่องราวเหล่านี้บั่นทอนความรู้สึกเอื้ออาทรและเมตตาของหมอที่มีต่อคนไข้ไปมาก

หมอเข้าใจ...ยุคเศรษฐกิจแบบนี้ เราทุกคนล้วนแล้วแต่อยากประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมๆ กับการได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่อยากให้มองถึงความเป็นจริง เหล่าบุคลากรที่มาดูแลคุณ...ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์...มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน

"ของแพงที่สุดไม่จำเป็นต้องดีที่สุด แต่เราก็รู้กันอยู่แก่ใจว่าของดีมักจะแพง และของที่มีราคาถูกมักจะไม่ดี "

โรงพยาบาลเอกชนเองก็เป็นบริษัท...ซึ่งต้องการให้มีรายได้ มากกว่าการขาดทุน คนที่มาสร้างโรงพยาบาลหรือดำเนินกิจการสถานพยาบาล อย่างน้อยที่สุดต้องมีจิตใจที่ห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (หมอคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นอย่างนั้น แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ไม่ใช่ก็ตาม) จริงอยู่ว่าการทำมาหากินบนความเจ็บป่วยดูจะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่การทำธรุะกิจย่อมต้องการผลกำไร แต่ต้องไม่เป็นการค้ากำไรเกินควร และทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องมีค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่ดี บางครั้งเราจึงต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ถ่องแท้ และยอมลดความเห็นแก่ตัวลง... เพื่อให้ความร่วมมือและมีความเห็นใจกับโรงพยาบาลบ้าง... เพื่อให้ระบบนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนยังสนใจร่วมโครงการอยู่ ไม่อย่างนั้นต่อไป...เหล่าบรรดาโรงพยาบาลเอกชนแม้จะเป็นชั้นสองชั้นสามคงตบเท้าเดินออกกันหมด (แว่วๆ ว่าโรงพยาบาลที่หมออยู่ก็ว่าจะเลิกรับแล้วเหมือนกัน บอกว่าขาดทุนเยอะ) แล้วเมื่อนั่นจะลำบาก... ลองคิดดูว่าถ้าโครงการนี้จำกัดอยู่แค่โรงพยาบาลของรัฐจะเป็นอย่างไร เท่าที่เป็นอยู่เราก็ทราบกันดีว่าโรงพยาบาลรัฐบาลในแต่ละทีก็เนืองแน่นด้วยปริมาณคนไข้อย่างล้นหลามกันอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เลิกเข้าร่วมไปหลายโรงพยาบาลและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยคงร้องจ๊ากกันแน่ๆ

สงสารก็แต่กลุ่มคนไข้ที่ควรจะได้รับสิทธิ์ตรงนี้จริงๆ พลอยทำให้เขาเหล่านี้ต้องลำบากเพิ่มขึ้นไปด้วย จากการที่สัมพันธภาพระหว่างหมอกับคนไข้ที่เปลี่ยนไป และแนวโน้มอนาคตที่การบริการจากโรงพยาบาลจะถูกจำกัดจำเขี่ย การลดหรือเลิกการใช้ยาหรือการวินิจฉัยบางอย่างลง หรืออาจจะได้รับยากขึ้น... เพื่อลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลและปกป้องโรงพยาบาลจากการถูกโจมตีโดยใช้ช่องทางข่มขู่จากคนไข้หรือญาติว่าจะฟ้องร้องทั้งต่อส่วนกลางภาครัฐจนถึงการทำให้เป็นคดีความ

สุภาษิตโบราณ "ปลาเน่าตัวเดียว เหม็นไปทั้งข้อง" นั้นจริงแท้ หมอคิดว่าคนไข้กับญาติในลักษณะนี้จริงๆ แล้วคงเป็นส่วนน้อย แต่เหล่าบรรดาเจ้าหน้าที่ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในโรงพยาบาลแบบนี้ ต้องเจอะเจอกับบุคคลในกลุ่มนี้บ่อยเหลือเกิน

หมอเด็กๆ รุ่นใหม่นั้น Sensitive ไอ้ที่ทนไม่ได้ก็หนีออกไปจากระบบกันหมด หมอรุ่นเก่าๆ ที่เหลือก็เหลือแต่ดุๆ รึไม่ก็ไม่แคร์คนไข้ บรรดาหมอเก๋าๆ เก่งๆ ก็ยังอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพื่อทำตำแหน่งทางวิชาการหรือความก้าวหน้าทางหน้าที่ ควบกับทำการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนระดับหรู เหลือน้อยเหลือเกิน...บรรดาหมอที่กินแต่อุดมการณ์ อยู่ตามต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลรัฐไปเรื่อย จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะอุดมการณ์ไม่ใช่อาหาร...กินไม่ได้ แล้วแถมอาหารทางใจก็หาได้น้อยลงไปทุกวัน รักษาดีเสมอตัว รักษาไม่ถูกใจเมื่อไหร่...โดนเหยียบจนเละ ดังคำว่า...คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก

หนักใจ...กับทัศนคติระหว่างคนสองกลุ่มที่อยู่คนละด้านของปลายไม้ กับนิสัยประจำชาติที่แก้ยาก เพียงถ้าเราถอดหัวโขนออกสักนิด ลองมองในมุมที่ต่างไป เราจะได้มีจุดบรรจบที่พอใจกันได้ทั้งสองฝ่าย โดยที่ยังไม่สูญเสียความไว้วางใจแบบไทยอย่างที่เคยเป็นอยู่




 

Create Date : 15 กันยายน 2552    
Last Update : 15 กันยายน 2552 11:45:49 น.
Counter : 534 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

blue passion
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 47 คน [?]




มีหัวใจไว้เดินทาง ค้นหาความหมายของชีวิต เพื่อเติมเต็มให้กับคำถามที่เกิดขึ้นมากมายระหว่างการเติบโต วิธีการในการเดินทางมีมากมาย แต่ ณ วันนี้ ขอเลือกสองล้อเป็นพาหนะในการนำพาไปสู่จุดหมายปลายทาง

Site Meter

Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add blue passion's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.