เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๓)

5. พระวิสุทธิกษัตรี


พระราชชนนีเป็นวีรกษัตรี พระราชโอรสเป็นมหาราช พระนางเองกลับประสบแต่เรื่องเศร้าตลอดพระชนมชีพ

ตลอดพระชนมชีพของพระราชินีไทยพระองค์นี้ มีแต่ความเศร้าและความผิดหวัง เริ่มตั้งแต่สมัยที่พระนางมีตำแหน่งเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักพรรดิ พระเจ้าช้างเผือก ไปจนกระทั่งได้เป็นพระราชินีโดยสมบูรณ์เพราะแผ่นดินไทย สมัยที่พระนางมีพระชนมชีพอยู่ เต็มไปด้วยเสียงศัสตราวุธและเพลงศึก

พระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระสุริโยทัย มีพระเชษฐา 2 พระองค์ คือ พระราเมศวร ราชโอรสพระองค์ใหญ่ และพระมหินทร ราชโอรสองค์รอง ส่วนพระภคนีนั้นมี 2 พระองค์เช่นเดียวกัน คือ พระองค์ที่ไม่ปรากฏพระนาม ซึ่งเสียพระชนมชีพพร้อมกับพระสุริโยทัยกลางศึก และพระเทพกษัตรี ซึ่งถูกพระเจ้าหงสาวดีส่งทัพมาแย่งเอาไปเสียกลางทาง ในขณะที่พระมหาจักรพรรดิส่งไปประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต

เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประทานพระสวัสดิราช ให้แก่พระมหาธรรมราชา (ขุนพิเรนทรเทพ) เป็นบำเหน็จความชอบในการช่วย “ชิง” ราชสมบัติจากขุนวรวงศาธิราชครั้งนั้น พระสวัสดิราชจึงได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า พระวิสุทธิกษัตรีในการพระราชทานครั้งนั้นพระมหาธรรมราชามีพระชนม์ 33 พรรษา และพระวิสุทธิกษัตรีมีพระชนม์เพียงยี่สิบกว่าพรรษาเท่านั้นเองสิ่งที่ขุนพิเรนทรเทพ ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระมหาจักรพรริด เมื่อ พ.ศ. 2072 เป็นบำเหน็จความดีความชอบ ในการเป็นประถมคิดนั้นคือ

ได้เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า
ได้รับพระบัณฑูรครองเมืองพิษณุโลก
ได้รับพระราชทานพระสวัสดิราช ถวายพระนามพระวิสุทธิกษัตรี เป็นตำแหน่งอัครมเหสีเมืองสวรรคโลก
เครื่องราชาบริโภค
ตำแหน่งศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือน
เรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง
เครื่องราชกุกุธภัณฑ์
คำสาปจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า
“กษัตริย์พระองค์ใดได้ครองพิภพไปภายหน้า อย่าได้กระทำร้ายแก่ญาติพี่น้องพวกพงศ์สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ให้โลหิตตกในแผ่นดิน ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดมิได้กระทำตามคำเราสาบานไว้ อย่าให้กษัตริย์พระองค์นั้นคงอยู่ในเศวตฉัตร”

ที่ว่าตลอดชีวิตของพระวิสุทธิกษัตรี น่าจะเต็มไปด้วยความเศร้านั้น ก็มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ดังนี้

ก่อนที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชบิดาจะได้ราชสมบัติแผ่นดินเต็มไปด้วยกลียุค เริ่มตั้งแต่พระชัยราชาธิราชคิดประทุษร้าย จับพระรัฎฐาธิราชกุมารผู้เป็นหลานสำเร็จโทษ และขึ้นครองราชสมบัติต่อมา เมื่อพระชัยราชาธิราชเสด็จสวรรคต ราชสมบัติตกอยู่แก่พระแก้วฟ้า ถูกนางพญาแม่อยู่หัวผู้เป็นพระราชชนนีเลี้ยง กับขุนวรวงศาธิราชชิงราชสมบัติ และหลังสุด พระราชธิดาของพระนางเอง ก็สมคบกับขุนพิเรนทรเทพ พระราชสวามีและพรรคพวกแย่งราชสมบัติได้
เมื่อพระมหาจักรพรรดิพระราชบิดาได้ราชสมบัติ แผ่นดินก็มิได้อยู่เย็นเป็นสุขเท่าที่ควร เพราะพม่าข้าศึกยกทัพใหญ่มารุกราน อย่างน้อยที่สุดก็สองครั้งสองครา จนถึงกับเสียกรุงไปในที่สุด
พระสุริโยทัย พระราชมารดา ก็สิ้นพระชนม์ไปกลางศึก โดยฝีมือของข้าศึกศัตรู
ตลอดเวลา เมืองพิษณุโลก ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าหรือด่านหลังที่จะต้องรบกับข้าศึกศัตรูที่ยกมาทุกครั้งไป
พระภคินีทั้งสองพระองค์มิได้ดำรงชีวิตโดยสงบสุขเท่าที่ควร พระองค์แรกซึ่งไม่ปรากฎพระนาม สิ้นพระชนม์กับคอช้างพร้อมกับพระสุริโยทัย ส่วนพระองค์หลัง คือพระเทพกษัตรี ซึ่งพระมหาจักรพรรดิประทานไปให้แก่พระไชยเชษฐา ก็ถูกพระเจ้าหงสาวดี แต่งทัพมาแย่งไปเสียกลางทาง อันเป็นเหตุให้พระมหาจักรพรรดิเสียพระทัยถึงกับเสด็จทรงผนวช (บางแห่งว่าพระมหาธรรมราชา มีพระราชสาสน์ขึ้นไปบอกพระเจ้าหงสาวดี เพื่อแต่งทัพมาซุ่มแย่ง)
พระราชธิดาพระองค์เดียวของพระนางคือ พระสุวรรณเทวี ก็ต้องพระราชทานให้กับพระเจ้าหงสาวดีไปอีก เมื่อคราวเสียกรุง รวมทั้งพระนเรศวร พระราชบุตรที่ต้องไปอยู่เมืองพม่า ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ด้วย
ความชื่นใจของพระวิสุทธิกษัตริย์เห็นจะมีในเรื่องพระนเรศวรเป็นสำคัญอย่างน้อยพระราชวงศ์ของพระนางก็พิสูจน์ความเป็นวีรชนตลอดมาความเก่งกล้าสามารถของพระนเรศวรกับพระเอกาทศรพนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป รวมที้งการประกาศอิสรภาพให้แก่ไทย ใน พ.ศ. 2127 ด้วย พระราชินีไทยพระองค์นี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นความสามารถจากการเป็นพระราชธิดาของพระสุริโยทัย โดยการอบรมพระราชธิดาให้อยู่ในโอวาท และพระราชบุตรให้กล้าหาญในการสงครามโดยเฉพาะพระนเรศวรมหาราชกับพระเอกาทศรถนั้น ปรากฎว่ามีความรักใคร่กลมเกลียวกันอย่างยิ่ง สมกับที่ร่วมพระราชชนนีกัน ด้วยเหตุผลดังนี้

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ราชสมบัติ ทรงอภิเษกสมเด็จพระนเรศวรพระองค์หนึ่ง สมเด็จพระเอกาทศรถอีกพระองค์หนึ่ง เป็นพระมหาอุปราชทำนองพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย
เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาสวรรคตนั้น ตามหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ว่าพระนเรศวรถูกนำไปเป็นตัวจำนำที่เมืองหงสาวดี ทางนี้ข้าราชการจึงยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระเอกาทศรพ พระเอกาทศรถไม่รับราชสมบัติ ว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราชยังมีอยู่ จงรักษาราชสมบัติไว้ถวาย ครั้นสมเด็จพระนเรศวรหนีกลับมาได้ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงถวายราชสมบัติแก่พระนเรศวร
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ราชสมบัติ ไม่โปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถ ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เป็นพระจ้าประเทศราชอย่างสมเด็จพระราชบิดา และพระองค์ได้เคยครองมา แต่ทรงพระดำรัสให้พระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชอย่างวิสามัญ มีพระเกียรติยศและให้พระราชโองการเหมือนเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งได้
ทั้งสองพระองค์ร่วมเป็นร่วมตายกู้บ้านกู้เมืองมาด้วยกัน ร่วมรบทัพจับศึกด้วยกัน อันแสดงให้เห็นน้ำพระทัยรักใคร่กลมเกลียวที่มีต่อกัน
ครั้งสุดท้ายที่ร่วมศึกกันใน พ.ศ. 2147 (ตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) ทั้งคู่เสด็จยกทัพขึ้นไปตีอังวะ เมื่อเสด็จไปถึงเชียงใหม่ ก็แยกทัพยกกันไป สมเด็จพระนเรศวรเสด็จทางเมืองห้างหลวง (ทาง) สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จทางเมืองฝาง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงทุ่งแก้ว (ทุ่งดอนแก้ว) ก็ประชวรพระอาการหนัก จึงดำรัสให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระเอกาทศรพเสด็จมาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต
จากความรักของทั้งสองพระองค์นี้เอง คนทั้งหบายตลอดจนเมืองรามัญ จึงเรียกกันว่า “เจ้าสองพี่น้อง” หรือ “พระองค์ดำ พระองค์ขาว”นี่คือเหตุผลที่นะพิสูจน์ได้ดีว่าพระวิสุทธิกษัตรี พระราชชนนีของพระสุวรรณเทวี พระนเรศวร และพระเอกาทศรถ ทรงปรีชาสามารถในการอบรมสั่งสอนบุตรราชธิดาเพียงไรพระนางจึงเป็นพระราชชนนีอันเป็นที่รักของราชบุตรราชธิดาพระนางจึงเป็นพระมเหสีอันเป็นที่รักของสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระนางจึงเป็นราชินีอันเป็นที่รักของคนไทย

- - - - - - - - - - - - - - - -



6. พระมหาเทวี


พระราชโองการของพระนางมี 4 กร

พระราชเทวี มีพระราชบุตรอันประเสริฐ ถ้าจะเชื่อตามข้อความในพงศาวดาร ก็เห็นจะเชื่อได้ว่า พระราชโอรสของพระนางนั้นมี 4 กร พระราชบุตรพระองค์นั้นมีพระนามว่า พระนารายณ์ พระราชบิดาของพระนารายณ์ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททองการที่จะศึกษาชีวิตของพระราชเทวี จึงควรกู้ถึงพระประวัติของพระเจ้าปราสาททองเสียก่อน

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีชีวิตอยู่ถึง 3 รัชสมัย กว่าจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และทั้ง 3 รัชสมัยนั้น พระองค์ได้รับราชการเป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสิ้นจะกล่าวทีละแผ่นดิน เริ่มด้วยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมสมเด็จพระจ้าปราสาททองนั้นเดิมมีพระนามว่าพระมหาอำมาตย์ แต่เรารู้จักในนามเข้าพระยากลาโหมสุรุยวงศ์สาเหตุที่พระมหาอำมาตย์ได้รับแต่ตั้งเป็นเจ้าพระยากลาโหมในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมนั้น มีดังนี้

ครั้งนั้น ญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก เรือญี่ปุ่นที่จอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีหลายลำ ครั้นญี่ปุ่นรู้ว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลธรรม (ภายหลังเป็นพระเจ้าทรงธรรม) พากันฆ่าพระมหากษัตริย์ (พระแก้วฟ้า) พวกญี่ปุ่นก็ไม่พอใจ จึงรวมพรรคพวกด้วยกันได้ประมาณ 500 คน ยกเข้ามาในสนามหลวง ญี่ปุ่นยกมาในสนามหลวงครั้งนี้ ก็เพื่อจะคอยกุมเอาพระเจ้าทรงธรรมซึ่งเสด็จออกไปฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้น พระสงฆ์วัดประดู่ทรงธรรมเข้ามา 8 รูป พาเอาพระเจ้าทรงธรรมเสด็จออกมาต่อหน้าญี่ปุ่น ครั้งพระสงฆ์และพระสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปแล้ว ฯ ญี่ปุ่นก็พากันร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเป็นไร จึงพากันนิ่งเงียบเสียหมด ญี่ปุ่นก็พากันทุ่มเถียงกันเป็นโกลาหลฝ่ายพระมหาอำมาตย์ก็รวบรวมพลได้ พากันไล่รุกรบญี่ปุ่นจนแตกกระจัดกระจายล้มตายลงเป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันลงสำเภาชักใบออกทะเลลึกแต่นั้นมามิได้กลับมาอีกเลย พระมหาอำมาตย์ จึงให้ไปทุลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระราชวัง

ต่อมาจากนั้น ก็ถึงแผ่นดินพระเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่เมื่อพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชโอรส 3 พระองค์ คือ พระเชษฐาธิราช พระศรีศิลป์ และพระอาทิตยวงศ์ เสนาพฤฒามาตย์ และปุโรหิตทั้งหลาย อันมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นประธาน จึงปรึกษาพร้อมกันทูลเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระเชษฐาธิราชาภิเษก ครองราชสมบัติต่อไป แต่เมื่อพระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่ถึงปี มารดาเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กาลกริยา เมื่อแต่งการศพเสร็จแล้ว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ออกไปตั้งการปลงศพ ณ วัดกุฎ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ผู้ใหญ่ผู้น้อยออก ไปช่วยนอนค้างเป็นเพื่อนศพอยู่เป็นอันมาก ด้วยรักใคร่ในน้ำใจเจ้าพระยากลาโหม แต่ฝ่ายพวกข้าหลวงเดิมพระเจ้าอยู่หัวนั้น กราบทุลยุยงเป็นความลับว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทำการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากเอาการศพเข้ามาบังไว้ เห็นทีจะคิดประทุษร้ายต่อพระองค์เป็นมั่นคง พระเชญฐาธิราชมิได้มีวิจารณ์ให้ถี่ถ้วน กลับตกลงพระทัยให้ชาวป้อมล้อมพระราชวังขึ้นประจำหน้าที่ แล้วเตียมทหารในไว้เป็นกองๆ จึงตรัสให้ขุนมหามนตรี ออกไปหาตัวเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้ามา ขุนจมื่นสรรเพชญ์ภักดี จึงสอดหนังสือลับไปก่อนว่า พระโองการจะให้หาเข้ามาดูมวยนั้น บัดนี้เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เมื่อเจ้าคุญจะเข้ามานั้นให้คาดเชือกเข้ามาทีเดียว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์แจ้งแล้วจึงว่า

“เราทำราชการกตัญญูแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวงมา ท่านทั้งปวงก็แจ้งอยู่สิ้น และเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตแล้ว ถ้าเรารักราชสมบัติ ท่านทั้งหลายเห็นจะพ้นเราเจียวหรือ ?”

ขุนนางทั้งปวงที่อยู่ในที่นั้นก็ว่าอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่เจ้าพระยากลาโหมทั้งสิ้น เจ้าพระยากลาโหมจึงว่าต่อไปว่า

“ท่านทั้งปวงจงเห็นจริงด้วยเราเถิด เรากตัญญูคิดว่าเป็นลูกเจ้าข้าวแดง จึงเป็นต้นคิดอ่านปรึกษามิให้เสียราชประเพณี ยกราชสมบัติถวายแล้ว ยังหามีความดีไม่ ฟังแต่คำคนยุยง กลับจะมาทำร้ายเราผู้มีความชอบต่อแผ่นดิจอีกเล่า ท่านทั้งปวงจะทำราชการไปภายหน้า จงเร่งคิดเถิด”

ขุนนางทั้งปวงก็เห็นชอบด้วย เจ้าพระยากลาโหมจึงสั่งทลวงฟันให้กุมเอาตัวขุนมหามนตรีและบ่าวไพร่ ซึ่งพายเรือมานั้นไว้ให้สิ้นต่อจากนั้นเจ้าพระยากลาโหมจึงร่วมกับพวกขุนนาง จัดแจงเป็นหมวดเป็นกอง กำหนดกฎหมายกันมั่นคง เมื่อจุดเพลิงศพเสร็จแล้ว จึงพากันลงเรือราว 100 ลำ คน 3,000 เศษ ล่วงมาขึ้นประตูชัยวันนั้นเป็นวันเสาร์ เจ้าพระยากลาโหมใส่เสื้อดำ กางเกงดำ ขี่ม้าดำ ยกพลเข้ามาทางประตูมงคลสุนทร ให้ทหารฟันประตู้เข้าไปได้ แล้วพากันกรูเข้าไปถึงในท้องสถานใน ไม่มีผู้ใดกล้าต่อสู้ พระเชษฐาธิราชก็ออกจากพระราชวังกับพวกข้าหลวงเดิม ลงเรือพระที่นั่งหนีไป แต่เจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเดโชพระยาท้ายน้ำตามไปจับมาได้ จึงสั่งให้เอาไปสำเร็จโทษตามประเพณีกษัตริย์ ต่อมา ก็เป็นแผ่นดินพรเจ้าอาทิตยวงศ์ ซั่งเจ้าพระยากลาโหมถวายราชสมบัติให้ แต่เนื่องจากมีพระชนม์เพียง 9 พรรษา มิได้รู้ที่จะว่าราชการสิ่งใด เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง

เรื่องราวของพระมหาเทวีพระมเหสีของพรเจ้าปราสาททองนั้น พงศาวดารบันทึกไว้ตอนประสูติพระราชโอรสว่า

“พระญาติพระวงศ์เหลือบเห็นเป็น 4 กร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแจ้งความมหัศจรรย์ ก็พระราช่ทานพระนามว่า พระนารายณ์ราชกุมาร”

พระเจ้าปราสาททอง มิได้มีพระราชโอรสพระองค์แรก คือพระนารายณ์แต่เคยมีมาแล้วคือ เจ้าฟ้าชัย ในปลายปีที่พระนารายณ์ประสูตินั่นเอง พระเจ้าปราสาททองก็เสด็จไปโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชัย (เดิมทรงพระนามว่าพระองค์อินทร์) ที่เกาะบ้านเลน พระราชโอรสพระองค์นี้ ประสูตินอกราชสมบัติต่างพระชนนีกับพระนารายณ์

สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับพระนารายณ์นี้พงศาวดารบันทึกเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ไว้มาก เช่นตอนที่เกี่ยวกับฟ้าผ่า พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลยาว่า

“เพลาเช้านั้น ฝนตกพร่ำอยู่พระนารายณ์ราชกุมารเสด็จออกไปเล่นที่เกยพระนมพี่เลี้ยงทูลห้ามก็ไม่ฟัง จะถวายพระกลดก็ห้ามเสีย พระนมพี่เลี้ยงจนใจก็ต้องเลี้ยงอยู่ด้วย พระองค์ยืนยุดเสาหลักชัยอยู่ อสุนีลงต้องหลักชัยแตกตลอดลงไปจนถึงดิน พระนารายณ์ราชกุมารจะเป็นอันตรายหามิได้”

เราจะทราบถึงพระอัธยาศัยของพระราชเทวี พระมเหสีในพระเจ้าปราสาททองได้ ก็โดยการสังเกตจากพระนารายณ์ราชกุมาร ซึ่งต่อมากลายเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้ในสรรพวิชา แผ่นดินเจริญถึงขีดสุดและเป็นมหาราชองค์ที่สามของไทย

พระมหาเทวีจึงเป็นพระราชินีไทยที่เราไม่ควรลืม



- - - - - - - - - - - - - - - -




Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:11:28 น. 0 comments
Counter : 839 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.