เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๒๒)

46. พระนางเจ้าสุวัทนา


พระมหากษัตริย์ไทย ทรงร่วมแสดงละครเป็น “นายมั่นปืนยาว” ทำให้ได้เจ้าจอมองค์ใหม่


“ให้แม่ติ๋ว แม่ยอดชีวิตของโต เพื่อที่ระลึกถึง”

ถ้อยคำนี้มีอยู่หลังพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ซึ่งพระราชทานให้แก่เจ้าจอมองค์ใหม่ คำว่า “โต” หมายถึงพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ย่อมาจากคำว่า “ทูลกระหม่อมโต” อันเป็นพระนามเดิม คำว่า “ติ๋ว” หมายถึงนางสาวติ๋ว อภัยวงศ์ ธิดาเจ้าคุณอภัยภูเบศร์ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ได้ทรงเปลี่ยนให้เป็นนางสาวสุวัทนา อภัยวงศ์ เมื่อได้มีประกาศเป็นทางการเลื่อนนางสาวสุวัทนา อภัยวงศ์ เป็นเจ้าจอมสุวัทนาแล้ว พระองค์ก็พระราชทานพระบรมรูปให้โดยจารึกอักษรตามที่กล่าวมาแล้ว

สาเหตุที่พระองค์ได้พบกับพระนางเจ้าสุวัทนานั้น กล่าวกันว่าเนื่องจากการแสดงละครเรื่อง “พระร่วง” เพื่อเก็บเงินที่ ร.ร. มหาดเล็กหลวง โดยพระองค์ทรงร่วมแสดงด้วยในบทบาทของนายมั่นปืนยาว และพระนางเจ้าสุวัทนา แสดงในบทตัวละครหญิงที่จะต้องรบกับฝ่ายขอมพระนางเจ้าสุวัทนานั้น ในระยะหลังนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อ “ชีวิต” ของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุที่ทรงพระครรภ์อยู่ และเป็นเครื่องชี้ว่าจะได้มงกุฏราชกุมาร ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปหรือไม่

เพื่อที่จะได้ให้ท่านเข้าใจชีวิตในราชสำนักไทย ตอนหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนกษัตริย์ขอเล่าเรื่องภายในราชวังตอนนี้ให้ละเอียดสักหน่อย ซึ่งในชั่วโมงนี้ชั่วโมงเดียว มีการคอยอยู่ถึง 2 อย่าง คือคอยว่าพระนางเจ้าสุวัทนาจะประสูติพระราชโอรสหรือธิดา และคอยอยู่ต่อไปอีกว่า ถ้าได้พระราชโอรสหรือธิดาแล้วจะเป็นผลสืบเนื่องไปถึงพระชนมชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกำลังทรงประชวรอยู่เพียงใดหรือไม่

“มัทธนะพาธา” หรือ “ความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากความรักของพระองค์กำลังดำเนินต่อไป และในขณะที่ทรงนิพนธ์ “มัทธนะพาธา” หรือตำนานดอกกุหลาบเป็นภาษาอังกฤษ พระองค์ก็ประชวรพระโรคพระอันตะ”

ข้าราชการสำนักทั้งมวลรู้ดีว่าพระชนมชีพของพระองค์ ขึ้นอยู่กับการทรงครรภ์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชชายา ซึ่งใกล้กำหนดประสูติเข้าไปทุกที เป็นที่ทราบกันว่า ได้พระราชทานพระนามไว้ล่วงหน้าแล้วด้วยซ้ำไป ว่าถ้าเป็นพระราชโอรสจะทรงพระนามว่ากระไร พระราชธิดาทรงพระนามว่าอย่างไร รวมทั้งเพลงเห่กล่อมเจ้าฟ้าน้อยนั้นด้วยเวลาประมาณ 3 น.เศษ ในขณะที่ประทับอยู่ที่พระราชวังพญาไท ก่อนบรรทมได้เสด็จเข้าห้องสรง คงทิ้งมหาดเล็กห้องบรรทมไว้เพียงลำพังคนเดียว คือนายจ่ายวด (หลวงภูมินาทสนิท) ในขณะกำลังสรงอยู่นั้น นายจ่ายวดได้ยินพระกระแสเสียงแผ่วเบาเรียกว่า “สืบ-สืบ” (นายจ่ายวดเดิมชื่อสืบ ตังคะรัตน์) หลวงภูมินาท จึงตรงเข้าอุ้มพระองค์มายังห้องบรรทม แล้วจัดการให้ติดตามตัวขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พร้อมกับคณะแพทย์

คืนสำคัญคือวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ขณะที่พระอาการกำลังเพียบอยู่นั้น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชชายา ก็ได้ประสูติพระราชธิดาซึ่งได้ทรงนามตามที่ทรงตระเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว คือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี การประสูติพระราชธิดาครั้งนี้ ราชวัลลภชั้นผู้ใหญ่ไม่กล้าเข้าไปกราบทูล เพราะกำลังประชวรหนัก นายแพทย์ลงความเห็นว่า พระชนมชีพจะไม่ยืดไปเกิน 24 ชั่วโมงแน่ สมควรเข้าไปถวายข่าวการประสูติพระราชธิดาได้แล้ว เพื่อจะได้ทราบข่าวดีเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต พระยาอัศวินฯ ได้เข้าไปกราบถวายบังคมทูลกระซิบในขณะที่หลับพระเนตรอยู่บนพระที่ ว่าพระนางเจ้าประสูติแล้ว และทูลถามว่า

“You Majesty, Do you want to see your baby?”

“Yes, Sure” คือพระดำรัสตอบอย่างช้า ๆ ขณะลืมพระเนตรขึ้น

เจ้าพระยารามฯ จึงอัญเชิญพระราชธิดาไปยังพระที่ ทรงพยายามที่จะเบือนพระพักตร์มาทอดพระเนตรพระราชธิดา แต่ไม่สำเร็จ เจ้าพระยารามฯ จึงทอดพระราชธิดาลงเคียงข้างพระองค์ เมื่อทรงรู้สึกเช่นนั้น ได้พยายามที่จะยกพระหัตถ์ลูกไล้พระราชธิดา แต่ก็ไม่สามารถจะทรงกระทำได้เช่นกันเจ้าพระยารามฯ จึงทำหน้าที่ยกพระหัตถ์มาวางบนพระอุระของเจ้าฟ้าหญิงเพียงชั่วครู่หนึ่ง แล้วเจ้าพระยารามฯ ก็อัญเชิญกลับ ครั้นเมื่อพ้น 24.00 น. ไปแล้ว ก็เสด็จสวรรคตหลังจากดำรงทรงพระชนมชีพอยู่ได้ 46 พรรษา นี่คือเหตุผลว่าทำไม พระนางเจ้าสุวัทนาจึงมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงพระชนมชีพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ

- - - - - - - - - - - - - - - -


47. พระนางเธอลักษมีลาวัณ



นางเอกละคร นักประพันธ์ กวีและมเหสีผู้เคราะห์ร้าย

งามสิ่งใด ไม่อร่าม เท่าความรัก ชวนใจรัก ให้คิด พาจิตต์เหลิง
รักมิสม ตรมกลุ้ม ดังสุมเพลิง เราบรรเทอง เริมสวาท เพราะมาทปอง
นี่แหละหนอ ข้อกรรม ที่ช้ำจิต
สุดจะคิด ผันแปร แก้หม่นหมอง


ใครจะกล้า พร่าโศก โรคคนอง

นำสนอง รักข้า ครานี้เอย ฯ


ฉันไม่บ้า แม้ใครบ้า มาว่าฉัน

ก็ผู้นั้น นั่นแหละบ้า จึงว่าเขา


เราไม่บ้า แม้ใครบ้า มาว่าเรา

มันก็เข้า คนที่ว่า เป็นบ้าเอย ฯ


นัยนา คู่นี้ ที่แถลง

ให้ใจแจ้ง จ่อรัก สลักจิต


กรคู่นี้ ที่เหนี่ยว เกี่ยวกอดชิด

บอกว่ามิตร ต้องการ สมานใจ


กรรณคู่นี้ ที่สดับ รักบอกรัก

ให้ประจักษ์ จิตแน่ ไม่แก้ไข


โอถจิ้มลิ้ม ยิ้มยวน ชวนชื่นใจ

รักจะไม่ รู้ลา ระอาเอย ฯ



กลอนทั้งหมดนี้ เป็นพระนิพนธ์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ผู้มีความเป็นศิลปินและกวีอย่างแท้จริง ถ้าจะนับตามพระชาติกำเนิด พระบาทคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ก็ทรงเป็นศิลปินโดยแท้ คือทรงเป็นเจ้าของละครคณะปรีดาลัย ซึ่งนับเป็นละครยุคใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิง ร้องเพลงไทยมีบทร้องแล้วใช้บทเจรจาแทรก และถ้าจะนับตามสิ่งแวดล้อม ก็ปรากฏว่าพระนางเธอลักษมีลาวัณ ก็ได้ทรงคลุกคลีอยู่กับงานละครอยู่เป็นเวลานาน

พระนางเธอลักษมีลาวัณ มีพระนิสัยถือพระองค์เป็นของพระองค์เอง ทรงมีมานะและเชื่อในความสามารถของพระองค์ ทรงมั่นในพระปัญญาและความกล้าหาญพระนางทรงใช้เวลาว่างประพันธ์กวีนิพนธ์ต่าง ๆ และบทละครโดยทรงใช้พระนามว่า “ปัทมะ” ครั้นล่วงมาในยุคหลัง ก็ได้นิพนธ์เป็นร้อยแก้วซึ่งบางครั้งก็ทรงใช้พระนามเดิมเช่น “ชีวิตหวาม” “เรือนใจที่ไร้ค่า” “ยั่วรัก” “โชคเชื่อมชีวิต” และอื่น ๆ อีกเป็นอันมากเฉพาะในด้านนาฎกรรม ได้ทรงตั้งละครขึ้นคณะหนึ่งใช้ชื่อ “ปรีดาลัย” เป็นการสืบสนองพระบิดา

เมื่อ พ.ศ.2476 ได้ทรงปฏิวัติการแสดงละครให้เป็นชายจริงหญิงแท้ มีเพลงร้องประกอบทั้งทำนองไทยและสากล โดยมีวงดนตรีวงใหญ่ ที่มีฝรั่งเป็นผู้เล่นถึง 40 คน เบิกโรงด้วยฉากระบำฟากฟ้า แล้วแสดงเรื่อง “พระอาลัสะนัม” อันเป็นพระนิพนธ์ของพระบิดา เริ่มแสดงครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุงในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2477 และต่อมาใน พ.ศ.2478 ก็ได้ไปแสดงที่โรงมหรสพนครเขษม ละครที่แสดงนี้ใช้เรื่องที่เป็นพระนิพนธ์ของพระนางบ้างของ น.ม.ส. บ้าง เช่น “ศรีธนญชัย” นิพนธ์ของหม่อมเจ้าทองต่อ ทองแถม ทรงใช้นามปากกาว่า “คันธาลีมาส” เป็นต้น

ใน พ.ศ.2476 ได้ร่วมกับบริษัทสหศินิมาจำกัด แสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง และครั้งสุดท้ายได้แสดงที่ศาลาเฉลิมนคร เมื่อปี พ.ศ. 2488 – พ.ศ. 2489 นอกจากโรงมหรสพดังกล่าวแล้ว ยังทรงจัดหาเงินช่วยการกุศลบ่อย ๆ เช่น กองทัพเรือ และงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในระยะหลังปรากฎว่าได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยเสด็จประพาสยุโรป ละครปีดาลัยจึงสิ้นสุดลง

ในด้านการแสดง พระนางก็เคยทรงแสดงละคนในหมู่ข้าราชสำนักหลายเรื่อง และในการแสดงนั้นก็มักจะทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเธอลักษมีลาวัณเป็นนางเอก เรื่องที่เด่น ๆ เช่น “กุศโลบาย” อันเป็นละครพูด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงแปลมาจากภาษาต่างประเทศ ชื่อ The Royal Family พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแสดงเป็นเจ้าหญิงแอนเจล่า ในเรื่อง “วิวาห์พระสมุทร” ทรงแสดงเป็นเจ้าหญิงอันโดรเมดา

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ประสูติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ทรงได้รับการศึกษาอันดีเยี่ยม โดยเฉพาะในด้านโคลงฉันท์กาพย์กลอน และร้อยแก้ว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะทรงได้รับการถ่ายทอดมาจากพระบิดา คือ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ต้นตระกูล วรวรรณ ณ อยุธยา)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบพระนางเธอลักษมีลาวัณในงานประกวดการเขียนภาพ ที่พระราชวังพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ ปัจจุบันนี้) พร้อม ๆ กับพระองค์เจ้าหญิงวัลลภาเทวีซึ่งต่อมาโปรดให้ทำพิธีหมั้นและสถาปนาเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี เพื่อเตรียมการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส แต่ต่อมาอีก 4 เดือน ก็โปรดให้ถอนหมั้นโดยมิได้คาดฝัน (พระบรมราชโองการประกาศเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2464 “มีความเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทรงทราบตระหนักแน่ชัดขึ้นว่า การจะไม่เป็นไปโดยเรียบร้อย สมพระราชประสงค์อันดีที่กล่าวมาแล้ว เพราะเหตุที่พระราชอัธยาศัยของพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมิได้ต้องกัน”)

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงถอนหมั้นในครั้งนี้เอง ทำให้จุดแห่งการเพ่งเล็งตกไปอยู่ “ท่านติ๋ว” หรือหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ พระขนิษฐภคินีต่างมารดา ซึ่งทรงมีความงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระองค์เจ้าหญิงวัลลภาเทวี ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2464 จึงโปรดให้หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ เป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า และอีก 4 เดือนต่อมาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ” โดยทรงมีเหตุผลว่า

“พระราชดำริว่า พระวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณเป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังมีความแจ้งอยู่ในประกาศราชโองการ วันที่ 4 เมษายน พระพุทธศักราช 2464 นั้นแล้ว บัดนี้ได้ทรงพระราชวินิจฉัยแล้วว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส ณ เบื้องหน้า จึงเป็นการสมควรที่จะยกย่องพระเกียรติยศยิ่งขึ้น”

ต่อมา ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2465 เมื่อพระนางมีพระชนมายุได้ 23 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตรัสว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ และประพฤติพระองค์เรียบร้อยดี เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงทรงประกาศยกย่องเป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะได้รับทายาท จึงโปรดให้แยกพระนางเธอลักษมีลาวัณไปชั่วคราว เพื่อจะได้เป็นแบบ Monogamy ตามแบบอย่างตะวันตก

ในระยะที่แยกกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ นี้เอง พระนางเธอลักษมีลาวัณได้ทรงใช้เวลาว่างเขียนบทประพันธ์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองลงในนิตยสารต่าง ๆ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ เสด็จสวรรคต

เมื่อเดือนตุลาคม ในปี พ.ศ.2504 ประชาชนชาวไทยก็ต้องได้รับความเศร้าสลดครั้งยิ่งใหญ่ นั่นคือเมื่อได้ทราบข่าวว่า พระนางเธอลักษมีลาวัณถูกลอบปลงพระชนม์ สาเหตุแห่งการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ ก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากการแย่งชิงทรัพย์ และผู้ร้ายก็ไม่ใช่ใครอื่น คือบุคคลที่พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงชุบเลี้ยงมาเป็นเวลานาน ให้คอยรับใช้ภายในพระตำหนักที่ประทับ ณ สี่แยกพญาไท พระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ ได้รับการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายในที่ประดิษฐานพระศพ ณ ศาลามรุพงศ์วัดมกุฏกษัตริยาราม ในวันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2504

พระนิพนธ์ร้อยแก้ว ซึ่งทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือแจกงานสมายุมงคลครบห้ารอบ มีบางตอนว่า

“…ผู้ชราย่อมรักสันติสุขคล้ายกับในยามค่ำ เราย่อมปิดประตูบ้านเรือน เพื่อพักผ่อนหลับนอนหาความสงบ หมดเวลาต่อสู้กับโลกแล้ว เพราะเป็นไม้ใกล้ฝั่ง นั่งคอยความตาย แต่ก่อนจะตาย ก็ใคร่จะได้รับความบันเทิงใจติดตัวกลับไปบ้าง…”

- - - - - - - - - - - - - - - -





Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:06:19 น. 0 comments
Counter : 655 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.