เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๕)

9 .กรมพระเทพามาตย์

มเหสีกษัตริย์ผู้อยู่ในวัด

กรมพระเทพามาตย์นี้เป็นพระมเหสีดั้งเดิมของพระเพทราชามาตั้งแต่ยังมิได้ราชสมบัติ ครั้นเมื่อพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ได้โปรดให้พระอัครมเหสีเดิมเป็นพระอัครมเหสีกลาง ตั้งเจ้าฟ้าศรีสุวรรณหรือพระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นพระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา และตั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาแห่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้ายกรมพระเทพามาตย์จึงนับเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือ และได้แสดงความรักใคร่เอ็นดูต่อพระเจ้าเสือมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ มีนามว่านายเดื่อด้วยเมื่อพระเพทราชาสวรรคต กรมพระเทพามาตย์จึงทูลลาพระเจ้าเสือไปตั้งตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต

พระอารามวัดดุสิตนี้ มีความสำคัญมาแต่ในกาลก่อน คือเคยเป็นพระตำหนักมาแล้ว กล่าวคือ เจ้าแม่ผู้เฒ่า ผู้เป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ฯ และเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เป็นพระสนมเอกพระนารายณ์ฯ แต่คงผิด เพราะเจ้าพระยาโกษาเหล็กและเจ้าพระยาโกษาปาน มิได้เป็นโอรสสมเด็จพระนารายณ์) เจ้าแม่ผู้เฒ่านี้ เคยใช้พระอารามวัดดุสิตเป็นพระตำหนักมาก่อน จึงเรียกว่า เจ้าแม่วัดดุสิต (เจ้าแม่วัดดุสิตนี้ เคยขึ้นไปขอพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ ให้แก่หลวงสรศักดิ์ คราวชกปากเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นผลสำเร็จ)

กรมพระเพทามาตย์ มีบทบาทสำคัญเพียงครั้งเดียว ในสมัยพระเจ้าเสือ และเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้อื่นเช่นเดียวกับที่เจ้าแม่วัดดุสิตเคยทำมาแล้ว เรื่องราวนั้นมีดังนี้

ในปีมะเมีย จัตราศก พระเจ้าเสือปรารถนาจะเสด็จไปประพาสล้อมช้างเถื่อนในป่า โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอสองพระองค์ คือ พระบัณฑูรน้อยกับพระเจ้าลูกเธอ กรมพระราชวังบวรเสด็จด้วยคราวนั้นตรงกับฤดูฝน ฝนตกน้ำนองท่วมไปทั้งป่า ผู้คนต้องลุยน้ำเร่งรัดกันตั้งค่ายทั้งวันทั้งคืน กล่าวกันว่าจนกระทั่งเท้าเปื่อยเป็นที่ทุกขเวทนา ล้มตายลงไปเสียก็มากต่อมากระหว่างค่ายหลวงที่ประทับและค่ายล้อมช้างต่อกันนั้น มีบึงขนาดใหญ่ขวางอยู่กลาง พระเจ้าเสือจึงให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ เป็นแม่กองกะเกณฑ์คนถมถนนหลวงข้ามบึง เพราะไม่สามารถอ้อมบึงใหญ่ไปทอดพระเนตรช้างเถื่อนในค่ายล้อมได้ครั้งรุ่งขึ้น พระเจ้าเสือก็เสด็จยาตราพระคชาธารข้ามบึง ครั้นไปถึงกลางบึงที่เป็นหล่มลึกที่ดินไม่แน่นพอ เท้าหน้าช้างต้นก็เหยียบถลำจมลงไปแล้วกลับขึ้นได้ จึงค่อยจ้องจดยกต่อไป จึงทรงพระพิโรธแก่พระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ดำรัสว่า

“อ้ายสองคนนี้ มันเห็นว่ากูแก่ชราแล้ว จึงชวนกันคิดเป็นกบฏ และทำถนนให้เป็นพลุหล่มไว้ หวังจะให้ช้างซึ่งกูขี่นี้เหยียบถลำหล่มล้มลงแล้วมันจะชวนกันฆ่ากูเสีย หมายจะเอาราชสมบัติ”

ครั้นเสด็จข้ามพ้นบึง ขึ้นถึงฝั่งแล้ว ทอดพระเนตรเห็นช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ตามเสด็จมา ก็ทรงพระพิโรธนัก จึงเยื้องพระองค์ทรงพระแสงของ้าว เงื้อจะฟันเอาพระเศียรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวร แต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมพระบัณฑูรน้อย เอาด้ามพระแสงขอซึ่งทรงอยู่นั้น ยกขึ้นกันรับพระแสงของ้าวไว้ได้เสียก่อน เพราะทรงชำนิชำนาญในทางกระบี่กระบองและมวยปล้ำ แล้วเอาช้างทรงเข้ากันช้างพระเชษฐา และพากันขับช้างหนีไปพระเจ้าเสือก็ยิ่งทวีความพิโรธและจะไสพระคชาธารไล่ตามไป แต่ควานซึ่งนั่งอยู่ท้ายช้างพระที่นั่ง เกรงว่าพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์จะหนีไปไม่ทัน จึงเอาขอท้ายช้างเกี่ยวท้ายช้างพระที่นั่งเข้าไว้ให้ค่อยรอช้าลง พระเจ้าลูกเธอทั้งสองจึงรีบไสช้างพระที่นั่งแล่นหนีบุกป่าไปได้ต่อมา ตำรวจและข้าราชการทั้งหลายตามจับพระเจ้าลูกเธอทั้งสองได้ และนำมาถวายที่ค่ายหลวง จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์นั้น ได้ยกหนึ่ง 30 ทีแล้วให้พันธนาเข้าไว้ด้วยสังขลิกพันธ์ แล้วดำรัสสั่งว่าให้ลงพระอาญาเฆี่ยนรับเสด็จเพลาเช้ายกหนึ่ง เย็นยกหนึ่งเป็นนิจทุก ๆ วันไปอย่าให้ขาดกว่าจะเสด็จกลับพระนครนายผลข้าหลวงเดิมคนหนึ่งเกรงว่าพระเจ้าลูกเธอจะสิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงทูลแนะให้เอาตำรวจไปทูลเชิญสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทพามาตย์ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระตำหนุกริมวัดดุสิตขึ้นมาช่วยกราบทูลขอโทษข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีว่า

“เห็นว่าจะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้เป็นมั่นคง ด้วยเหตุว่ากรมพระเทพามาตย์นี้มีคุณูปการเป็นอันมาก ได้อุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงรักษาสมเด็จพระราชบิดามาแต่ทรงพระเยาว์นั้น จะว่าไรก็ว่ากันได้ เห็นจะขัดกันมิได้ และซึ่งจะอุบายคิดไปอย่างอื่นนั้น เห็นจะไม่พ้นโทษ”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์จึงให้หลวงเกษตรรักษา เอาเรือเร็วรีบลงไปเฝ้าสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทพามาตย์ กราบทูลเชิญขอให้ขึ้นมาช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษหลวงเกษตรรักษา จึงลงเรือเร็วรีบลงไป ณ กรุง สามวันก็ถึง จึงเข้าไปเฝ้ากรมพระเทพามาตย์ ณ พระตำหนักริมวังดุสิต กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการสมเด็จกรมพระเทพามาตย์จึงรีบเสด็จขึ้นมา แล้วกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ สมเด็จพระเจ้าเสือจึงพระราชทานอภัยโทษให้ พร้อมกับตรัสว่า

“เจ้าคุณจงรับเอามันทั้งสองนั้นลงไปเสียด้วยเถิด อย่าให้มันอยู่กับข้าพเจ้าที่นี่เลย และถ้าจะเอามันไว้ที่นี่ด้วยข้าพเจ้าไซร้ มันจะคิดการกบฏฆ่าข้าพเจ้าเสียอีกเป็นมั่นคง”

กรมพระเทพามาตย์ จึงไปถอดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ออกจากโทษ แล้วทูลลาสมเด็จพระเจ้าเสือ พาเอาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกลับไปด้วยพระนางเป็นที่พึ่งของผู้อื่นโดยตลอดมา อย่างเช่นเมื่อครั้งพระองค์เจ้าดำถูกพระเจ้าท้ายสระประหารชีวิต พระองค์เจ้าแก้ว ซึ่งเป็นบาทบริกาพระองค์เจ้าดำนั้นเป็นหม้ายอยู่ ก็เสด็จไปทรงผนวชเป็นพระรูปชีอยู่ ณ พระตำหนักวัดดุสิตกับสมเด็จกรมพระเทพามาตย์ด้วยสมเด็จพระเทพามาตย์สวรรคตเมื่อศักราช 1073 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ



- - - - - - - - - - - - - - - -




10. กรมหลวงโยธาทิพ

มีโชคเป็นมเหสีกษัตริย์ฝ่ายขวาได้เพราะตู้หนังสือ

กรมหลวงโยธาทิพนี้ ในขั้นต้นเรียกกันว่า พระราชกัลยาณี เป็นขนิษฐาพระนารายณ์ พระราชกัลยาณีมีความสำคัญต่อราชบัลลังก์เป็นอันมาก เพราะเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของพระนารายณ์ และเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้พระนารายณ์ได้ราชสมบัติ

เรื่องราวเริ่มในรัชกาลเจ้าฟ้าไชย ซึ่งได้ราชสมบัติจากพระราชบิดา คือ พระเจ้าปราสาททอง แต่พระนารายณ์ไม่เห็นด้วย จึงส่งคนสอดออกมาคิดราชการด้วยพระศรีสุธรรมราชาผู้เป็นพระเจ้าอา พระเจ้าอาก็กำหนดเข้าไปครั้งเพลาค่ำ พระนารายณ์ก็พาพระราชกัลยาณี หนีออกมาทางประตูตัดสระแก้ว ไปหาพระเจ้าอา แล้วร่วมกันสุมผู้คนยกเข้ามาในพระราชวัง กุมเอาเจ้าฟ้าไชยไปสำเร็จโทษเสีย ณ วัดโคกพระยา พระเจ้าอาคือพระศรีสุธรรมราชาจึงได้ราชสมบัติแต่เนื่องจากพระราชกัลยาณีมีสิริโฉมงดงามมาก กล่าวกันว่าแม้นใครได้ยลพระราชกัลยาณีแล้ว จะมีเสน่หานั้นเป็นไม่มีเลย

เมื่อพระศรีสุธรรมราชาได้ราชสมบัติแล้วประมาณสองเดือนเศษ ทอดพระเนตรเห็นพระราชกัลยาณีผู้เป็นราชนัดดาทรงพระรูปสิริวิลาศ ก็มีพระทัยเสน่หาผูกพัน ปราศจากลัชชีสมโภค จึงให้หาขึ้นไปบนที่หวังจะร่วมรสสังวาสกับพระราชกัลยาณีพระราชกัลยาณี จึงหนีลงมายังพระตำหนัก แล้วบอกเหตุกับพระนม พระนมจึงเชิญพระราชกัลยาณีเข้าไว้ในตู้พระสมุด แล้วหามออกมา แสร้งว่าจะเอาพระสมุดไปยังพระราชวังบวรสถานมงคล นายประตูก็มิได้สงสัยครั้นไปถึงพระราชวังบวรสถานมลคลแล้ว พระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าไปเฝ้าสมเด็จเชษฐาธิราช คือสมเด็จพระนารายณ์ แล้วทรงพระกันแสงทูลเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงเกี่ยวกับพระเจ้าอาให้ฟัง

สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงโทมนัสน้อยพระทัย ตรัสว่า

“พระเจ้าอาก็เหมือนพระบรมราชบิดา… ควรหรือมาเป็นดังนี้ จะละไว้ก็มิได้ ด้วยพระองค์ก่อแล้วจะสานตาม จะเสี่ยงเอาบารมีเป็นที่พึ่ง”

ต่อจากนั้น ก็ตรัสให้หาขุนนางเข้ามาภายในพระราชวัง แล้วจัดแจงแต่งรี้พล สมเด็จพระนารายณ์ฯ เองเสด็จช้างต้นพลายมงคลไอยรา เสด็จไปทางหน้าวัดพลับพลาชัยครั้นสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทราบเหตุจึงจดทัพเข้าสู้ ได้รบพุ่งกันตั้งแต่ค่ำจนรุ่ง โดยฝ่ายพระนารายณ์มีญี่ปุ่นร่วมด้วยต่อมา ทหารฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ฯ กระทุ้งประตูเข้าไปในวังได้ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาจึงหนีไปยังวังหลัง แต่ถูกจับได้ พระนารายณ์ฯ ก็ให้ประหารเสียที่วัดโคกพระยาตามประเพณีครั้นพ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว พระราชกัลยาณีก็มีบทบาทสำคัญอีก คือเมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ ก็โปรดให้พระราชกัลยาณี (เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ) เป็นกรมหลวงโยธาทิพ ตำรงตำแหน่งอัครมเหสีฝ่ายขวาข้อนี้ เห็นทีกรมหลวงโยธาทิพจะไม่ร่วมตกลงปลงพระทัยด้วย เพราะเมื่อพระเพทราชาจะเสด็จไปเข้าที่บรรทม ณ ตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพ พระนางกลับให้ทูลพระอาการว่าประชวรอยู่ เมื่อเสด็จไปคราวหลังพระนางจึงยินยอมต่อมาสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายขวากระหลวงโยธาทิพ ประสูติราชโอรสได้นามว่า เจ้าพระขวัญกล่าวกันว่า ในวันประสูติเจ้าพระยาขวัญนั้น เป็นอัศจรรย์ด้วยแผ่นดินไหว จึงมีคนนับถือมาก ประกอบกับเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าพระขวัญพระชนม์ครบ 13 พรรษา จึงมีพระราชพิธีโสกันต์ ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทต่อมา กรมพระราชวังบวร (พระเจ้าเสือ) ทรงพระราชดำริแคลงเจ้าพระขวัญ ด้วยเห็นข้าไทมาก จึงร่วมคิดกับเจ้าฟ้าเพชรคอยทีอยู่เมื่อพระเพทราชาทรงประชวรหนักใกล้สวรรคต จึงให้มหาดเล็กไปทูลเชิญเจ้าพระขวัญ ว่ามีรับสั่งให้ไปเฝ้า เพื่อให้ทรงม้าเทคให้ทอดพระเนตร เจ้าพระขวัญกำลังเสวยผลอุลิตหวานค้างอยู่ เมื่อทราบว่ามีรับสั่งให้หาก็มิได้เสวยต่อไป และซีกซึ่งยังมิได้เสวยนั้นเอาใส่ไว้ในเครื่อง แล้วทูลลาสมเด็จมารดา เสด็จไปเฝ้ากรมพระราชวังบวร ณ พระตำหนักหนองหวาย เมื่อเจ้าพระขวัญไปถึง ก็มีพระบัณฑูรห้ามพระพี่เลี้ยงและข้าไททั้งปวงมิให้เสด็จเข้าไป และให้ปิดประตูกำแพงแก้ว แล้วให้จับเจ้าพระขวัญสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ ต่อจากนั้นให้เอาพระศพใส่ถุงแล้วใส่ลงในแม่ขัน ให้ข้าหลวงเอาไปฝังไว้ ณ วัดโคกพระยาพี่เลี้ยงและข้าไททั้งปวงจึงชวนกันร้องไห้ แล้วกลับไปทูลเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ

เหตุการณ์ตอนนี้ เป็นเรื่องราวของอภินิหาร พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ เมื่อเจ้าพระขวัญทูลลาไปนั้น กำลังเข้าที่บรรทมอยู่ พอเคลิ้มหลับก็ได้ยินพระราชบุตรมาทูลว่า ข้าพเจ้าขอพระราชทานผลอุลิตหวานซีกซึ่งเหลืออยู่นั้นเสวยต่อไป ก็ตกพระทัยตื่นขึ้นมาทันทีทันใดพอดีกับมหาดเล็กมาทูลว่าเจ้าพระขวัญถูกปลงพระชนม์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพได้ฟังก็ตกพระทัย ทรงพระกันแสงถึงพระราชบุตร แล้วเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระเพทราชา ซึ่งกำลังทรงพระประชวรหนักพระเพทราชาได้ทรงฟังก็ตกพระทัยอาลัยในพระราชโอรส แล้วมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ และเสด็จสวรรคตในคืนนั้นเองแต่เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ไม่กล้ารับราชสมบัติ จึงถวายให้พระเจ้าเสือ

เมื่อพระเจ้าเสือได้ราชสมบัติแล้ว กรมหลวงโยธาทิพก็ทูลลาออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธศวรรย์ พร้อมกับกรมหลวงโยธาเทพพระอัครมเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชากรมหลวงโยธาทิพ ทิวงคตที่พระตำหนักนั้นเอง



- - - - - - - - - - - - - - - -





Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:11:10 น. 0 comments
Counter : 3252 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.