เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๑๕)

33. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์


ใครแตะต้ององค์พระมเหสี จะต้องถูกประหารชีวิต ถ้าเป็นท่านท่านจะกล้าเสี่ยงกฏมณเฑียรบาล กระโดดลงไปช่วยสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์หรือเปล่า ?


ที่ระลึกถึงความรัก แห่งสมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อรรคมเหสี อันเสด็จทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้โดยความสุขสบาย และเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รักและสนิทสนมอย่างยิ่ง

อนุสาวรีย์สร้างขึ้นโดย

จุฬาลงกรณ์ บรมราช

ผู้เป้นสามีอันได้รับความโศกเศร้า เพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิต ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย

จุลศักราช 1243

To The Beloved Memory

Of Herlate And Lamented Majesty Sunanda Kumariratana Queen Consort Who Went To Spend Her Most Pleasant And Happiest Hours In This Garden Amidst Those Loving Ones And Dearest To Her

This Memorial Is Erected

By

Chulalonkorn Rex.

Her Beleaved Husband Whose

Suffering From So Crued And Endurance

Through Those Hours Made Death

Seemed So Near And Yet Preperable


ข้อความทั้งภาษาไทยและอังกฤษนี้ มีจาตึกอยู่ที่อนุสาวรีย์ ณ พระราชวัง บางปะอิน แสดงความรัก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ อัครมเหสีผู้สิ้นพระชนมชีพด้วยสาเหตุเรือพระที่นั่งล่มความจริง พระนางน่าจะไม่สูญเสียพระชนมชีพ เพราะสาเหตุเรือพระที่นั่งล่า ครั้งนั้น ถ้าหากใครสักคนหนึ่งในบริเวณนั้นช่วยเหลือ ทุกคนกลับได้แต่เฝ้ามองพระนางจมน้ำไปอย่างทุกขเวทนา ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ ไม่มีใครกล้าทำการช่วยเหลือเพราะด้วยสาเหตุเดียว คือกฏมณเฑียรบาล ซึ่งมิใช่จะประหารชีวิตผู้ทำความช่วยเหลือทั้งนั้น แต่เป็นการประหารล้างโคตร จึงอาจจะกล่าวได้ทีเดียวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ไปเพราะกฏมณเฑียรบาล กฏหมายอันมีมาแต่บุราณกาล และกฏหมายที่พระสวามีของพระนางกำลังผดุงอยู่

กฏมณเฑียรบาลตอนนี้ มีความว่า

“…ถ้าเรือประเทียบล่ม ให้ชาวเรือว่ายน้ำหนี ถ้าอยู่กับเรือโทษถึงตาย ภูดาษแลชาวเรือยื่นเสร้า แลซัดหมากพร้าวให้เกาะ ตามแต่จะเกาะได้ ถ้ามิได้อย่ายืด ถ้ายืดขึ่นให้รอด โทษถึงตาย ถ้าซัดหมากพร้าวให้รอด รางวัลเงินสิบตำลึง ขันทองหนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่ม มีผู้อื่นเห็น แลซัดหมากพร้าวเอาขึ้นให้รอด โทษทวีคูณตายทั้งโคตร์

“อนึ่งเรือประเทียบล่ม แลซัดหมากพร้าวเข้าไปริมฝั่ง โทษฟันคอริบเรือน

“อนึ่ง ตัดเรือประเทียบโทษถึงตาย ข้ามเรือจวนประเทียบ โทษถึงตาย

“อนึ่งถ้าเสด็จไล่เรือ แลเรือลูกขุนผู้ใด ไปโดยทางลัดเลี้ยว มิมาให้ทัน พระที่นั่ง โทษฟันคอริบเรือน

“อนึ่ง ท้าวพระยามนตรีมุขลูกขุน หัวหมื่นหัวพันทั้งปวง ฝ่ายประเทียบก็ดี ตัดประเทียบชั่วลำเรือก็ดี โทษฟันคอริบเรือน

“อนึ่ง ผู้ใดตีด่ากัน เข้ามาตัดหน้านางเทพี โทษเท่าฝ่าประเทียบ”

หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จทิวงคต พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้อย่างน้อย 3 แห่ง แห่งแรกคือ ณ บริเวณพระราชวังบางปะอินดังกล่าวแล้ว แห่งที่สองคืออนุสาวรีย์ที่วังสราญรมย์ พระนคร และแห่งที่สามคือที่น้ำตกพลิ้ว จันทบุรี

คำจารึกที่อนุสาวรีย์วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นรูปปราสาท 5 ยอด ทำด้วยหินอ่อน มีว่าดังนี้

“ที่ระฦกแห่ง สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีแล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์โสภางค์ทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดยพระราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ในจุลศักราฃ 1242”

มีภาษาอังกฤษในด้านที่ 2 ว่า

To The Memory Of Herlate & Lamented Majesty Sunanda Kumariratna Queen Consort And Herlate & Lamented Royal Highness Somdetch Chaw Fa Karnabhorn Bejrratn Sobhancdasniyalakshn Accawarajakumari This Monument Is Erected By The Royal Mandate His Most Gracious Majesty Somdetch

Phra Paramindr Mahachulalonkorn Phra Chulachomklao

The King

In Cicdcccl Xxx Ac.


สำหรับด้านที่ 3 นั้น เป็นคำฉันท์ “ภุชงคประยาต” พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชาการ ทรงแต่งถวายรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2423

พระเป็นเจ้าคธารัตน์ สยามปัถพีทรง

คนึงหวังจะดำรง สฤษฎ์ที่ระลึกมี

ณ สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารี

ประโยชน์สืบพระราชปี ย อยู่เชิดพระสมญา

พระนางเจ้าเสด็จนา ณ โลกนี้ ณ ปีสวา

ดิถคโททสาวา ร เสาร์กัตติกามาศ

ทวาทัสสตาเสส ทวีทัศทวีขาด

ทวีศกและศักราช ประสูติ์สืบพระชนมาน

พระนางเจ้าเสด็จเนา ณ โลกนี้กำหนดนาน

นพาทัสพรรษกาล กำหนดแล้วครรไลสวรรค์

ณ วันจันทรเดือนเจ็ด ดิถีแปดมะโรงวรรษ์

ทวีศกและพันพรร ษ สองร้อยกำหนดมี

จตูทัศทวีเส ส ศักราชประจำปี

เสด้จโดยประเพณี อนิตยโลกยมรรคา

ประดิษฐ์ปรางคปาสาณ ประทานไว้ดำรงปรา

ถนานุสร์พระนุชนา มาอยู่คู่ฦดาธาร

ด้านสุดท้ายคือด้านที่ 4 ก็เป้นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเช่นเดียวกัน แต่แต่งเป็นสาลินีฉันท์ กล่าวถึงประวัติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ

สมเด็จพระบรมนาถเจ้า พิภพเฝ้าสยามทรง

ปรารภรำลึกองค์ ดนูราชองค์อร

อันทรงนามสมเด็จ พระเจ้าราชบุตรีสมร

เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ พิเชียรรัตน์ สุขุมพันธ์

เสด็จมาในโลกนี้ ดิถีศุกรปักษ์วัน

สิบสี่ค่ำวารจันทร์ ชลาพรรษศกศูนย์

อยู่ยี่สิบเอ็ดมาศ เส็จโดยอนิตย์มูล

จำตามบังคับบูรพ์ กุศลคุณจะหนุนนำ

มีเกิดย่อมมีดับ ประทับตามประกวดทำ

ไม่รู้ไม่เที่ยงกรรม จะถึงทัน ณ วันใด

ธรรมดาสามัญมรรค จะจำเป็นจะจำไป

รวมร่วมมรรคาไคล บ คลาดแคล้วและคลาดทาง

จอมภพทรงปราร์ถนา จะไว้ที่ระภกวาง

นามไว้จึงรังปรางค์ ประดิษฐ์ด้วยศิลาผอง

บรรเจิดบรรจงตั้ง สถิตสืบพระเกียรติ์คง

ระลึกลักษณ์จำลององค์ สฤษฏ์ด้วยพระโองการ

อนุสาวรีย์แห่งที่สาม สำหรับ “พระนางเรือล่ม” อยู่ในบริเวณน้ำตกพลิ้ว จันทบุรี โปรดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี สร้างเป็นรูปพีระมิดทำด้วยแผ่นอิฐหน้าวัวถือปูน ขึ้นข้างเคียงเป็นคู่กับอลังกรณ์เจดีย์ และได้เชิญพระอังคารส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ และได้ทรงจารึกว่า ดังนี้

“ที่ระลึกถึงความรักแห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อรรคมเหสี ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้วด้วยเธอมาถึงที่นี่ เมื่อจุลศักราช 1236 โดยความยินดี ชอบใจมาก

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้น โดย จุฬาลงกรณ์ บรมราชผู้เป็นพระราชสามี อันมีความทุกข์เพราะเธอเป็นอย่างยิ่งในจุลศักราช 1243”

กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ นั้น เป็นพระบรมราชเทวีองค์เดียวของไทย ซึ่งเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว มีอนุสาวรีย์สำหรับพระนางมากที่สุด มากกว่าราชินีพระองค์ใด ทั้ง ๆ ที่เมื่อสิ้นพระชนม์นั้น พระนางมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ดำรงตำแหน่งอัครมเหสีอยู่ไม่กี่ปี ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะความงามและความดีของพระนางยิ่งกว่าสิ่งอื่น

พระนางมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และสมเด็จพระปิยะมาวดี รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทางนามพระราชธิดา และพระราชทานพรว่าดังนี้

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ขอตั้งแต่งนามบุตรหญิงที่เกิดแต่เปี่ยม ในวัน 7 12 12 ค่ำ ปีวอก โทศก นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า สุนันทากุมารีรัตน์

ในพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีไปถึงพระองค์เจ้าปัทมาชนั้นมีตอนหนึ่งว่า

“ปีนี้กระหม่อมฉันมีบุตรชายอีก 2 คน บุตรหญิง 1 บุตรชาย 2 คนนั้น คนหนึ่งชื่อเจริญรุ่งราษี เป็นน้องมารดาเดียวกับชายทองกองทองแถม ออกเมื่อเดือน 4 อีกคนหนึ่งชื่อสวัสดิประวัติ ออกเมื่อเดือน 10 มารดาชื่อหุ่น มิใช่เมขลา เสด็จไม่ทรงรู้จักดอก ด้วยเป็นคนใหม่ หญิงคนหนึ่งนั้นชื่อ สุนันทากุมารีรัตน์ เป็นน้องมารดาเดียวกับชายอุณากรรณ และชายเทวัญอุทัยวงศ์ ออกเมื่อเดือน 12”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทางทรัพย์สิน และพระบรมราโชวาทให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ดังต่อไปนี้

“…ผู้พระบิดาของพระองค์ เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์บุตรี จะขอสั่งสอนผู้บุตรไว้ว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เอ๋ย พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวผูกติดกับหนังสือนี้ “มีตราของพ่อผูกปิดไว้เป็นสำคัญเท่านี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตใหญ่ อายุได้ 16 ปีแล้ว จงคิดอ่านเอาเป็นทุนทำมาหากินแลเลี้ยงตัวต่อไป แลใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งให้มากนักหนา

“อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้ เป็นเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน เอาแต่กำไรใช้สอย เจ้าจงอย่าเล่นเบี้ย เล่นโด เล่นหวยเลยเป็นอันขาด แลอย่าทำสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินทองง่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง จงคิดอ่านทำมาหากิน ตริตรองให้ดี อย่าให้นักเลงคนโกงมักหลอกลวงได้จะเสียทรัพย์ด้วย อายเขาด้วย

“เมื่อสืบไปภายหน้า นานกว่าจะสิ้นอายุตัวเจ้า ตัวเจ้าจะตกเป็นข้าแผ่นดินใดใดเท่าใด ก็จงอุตสาหตั้งใจทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านแชเชือนแลเป็นอย่างอื่น ๆ บรรดาที่ไม่ควรเจ้าอย่าทำ อย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วย ว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้เป็นกำลังตั้งเป็นทุน เอากำไรใช้การบุญ แลอุดหนุนตัวทำราชการแผ่นดินเทอญ

“ถ้าทรัพย์เท่านี้พ่อให้ไว้ ไปขัดขวางฤาร่อยหรอไปด้วยเหตุมีผู้ข่มเหงผิด ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าจงเอาหนังสือคำสั่งของพ่อนี้ กับคำประกาศที่ให้ไว้ด้วยนั้น ให้เจ้านายแลท่านผู้ใหญ่ข้างในข้างหน้าดูด้วยกันให้หลายแห่งปฤกษาหารือ อ้อนวอนขอความกรุณาเมตตา แลสติปัญญาท่านทั้งปวงให้อนุเคราะห์โดยสมควรเถิด เล่าความเล่าเหตุที่เป็นอย่างไรนั้น ให้ท่านทั้งปวงฟังโดยจริง ๆ พูดจาให้เรียบร้อยเบา ๆ อย่าทำให้ท่านที่เป็นใหญ่ในแผ่นดินขัดเคืองกริ้วกราดชิงชังได้ จงระวังความผิดให้มาก

“อย่างตามใจมารดาแลคนรักมาก ทรัพย์นี้ของพ่อให้เจ้าดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าแลคนอื่นเข้าทุนด้วย จงคิดถึงพ่อคนเดียวให้มาก เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาทจึงจัดแจงให้ไว้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแก่เจ้าก่อน ถ้าอายุถึง 16 ปีแล้วสั่งให้ใคร พ่อจะให้ผู้นั้นถ้ายังไม่ถึงกำหนดฤาไม่ได้สั่ง พ่อขอเอาคืน จะทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตและอำนาจไปนาน ทำมาหาได้ ก็จะเพิ่มเติมให้อีก แล้วจะแก้หางว่าง”

พระบรมราโชวาทนี้ พิมพ์ด้วยแผ่นดิน พระราชทางพร้อมกับเงิน 100 ชั่ง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ สวรรคต สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ มีพระชนม์เพียง 8 พรรษา และเมื่อพระชนมายุ 15-16 พรรษา ก็ได้เป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และประสูติเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เมื่อ พ.ศ. 2421 ในการประสูติพระราชธิดาครั้งนี้ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ดังต่อไปนี้

“…เวลา 5 ทุ่ม 11 นาที กับ 25 วินาที พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดอยู่ประมาณ 15 นาทีจึงออก เราอยู่ที่วังสมเด็จกรมพระ สมเด็จกรมพระกับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้น มีติ่งที่ริมพระกรรณข้างขวาหน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ 3 กระเบียดน้อย เมื่อเรากลับออกมากับสมเด็จกระนั้น ฝนตกเวลา 7 ทุ่ม 45 มินิต ถึงบ้าน”

และเนื่องในการประสูติคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า

“เราถวายสายนาฬิกาเพชรทรงซื้อราคา 15 ชั่ง พระราชทางพระองค์เจ้าสุนันทาประสูติ กับรับสั่งให้เติมแหวนที่ทรงซื้อเงินพระคลังข้างที่อีก 2 วง ที่ราคาวงละ 19 ชั่ง รวม 38 ชั่ง ขายเงินงวดตามธรรมเนียม”

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา” ทรงมีพระเชษฐา พระภคินีและพระอนุชา พระขนิษฐภคินี ร่วมพระชนกชนนีเดียวกัน คือ


พระองค์เจ้าชายอุณากรรณอนันตนรไชย


พระองค์เจ้าชายเทวัญอุไทยวงศ์


พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา


พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี


พระองค์เจ้าชายสวัสดิโสภณ

ทีนี้ก็ถึงเหตุการณ์ตอนเรือพระที่นั่งล่ม จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้ ได้บรรยายไว้ว่า

“… ออกเรือเวลาเช้า 3 โมงครึ่ง ขึ้นไปถึงบางตลาดจวนจะเข้าเกร็ด พบเรือราชสีห์จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้าย ลงมากราบทูลว่า เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้น ล่มที่บางพูด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์สิ้นพระชนม์ จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งขึ้นไปถึงบางพูดเช้า 5 โมง เห็นเรือไฟและเรือประเทียบทอดอยู่กลางน้ำที่เขาดำทราย เหนือบ้านพระยาเกียรติ์หน่อย ประทับเรือพระที่นั่งที่เรือปานมารุต ไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรกับพระยามหามนตรีด้วยเรื่องเรือล่ม พระยามหามนตรีทูลว่า เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภา ตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน เรือยอชต์สมเด็จกรมหลวง ซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตก แล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นขึ้นมาช่องกลาง ห่างเรือโสรวารสัก 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวาร น้ำเป็นระลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง พระยามหามนตรีว่าได้ลงน้ำดำเข้าไปในเก๋ง เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมาก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่กรมหมื่นอดิศรซัดพระยามหามนตรี ว่าเป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุเรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก ต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงดูที่คนอื่น ๆ ทีละคนสองคน แยกกันถามจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทาก็สิ้นพระชนม์ด้วยกับแก้วพระพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งตาย และคนที่อยุ่ในเก๋งออกไม่ทันบ้าง ที่สลบก็แก้ฟื้นขึ้นได้หลายคน จึงไล่เลียงได้ความว่าเมื่อเรือล่มคว่ำนั้น พระองค์เจ้าสุนันทาประทับอยู่ในเก๋ง ยังเสด็จออกไม่ได้ จึงได้ช่วยกันหงายเรือขึ้น การที่หงายขึ้นช้าอยู่มากกว่าครึ่งชั่วโมง จึงได้เสียท่วงที เมื่อเชิญพระศพขึ้นมาที่เรือปานมารุตแล้วก็ช่วยแก้ไขกันมาก ครั้งนี้เผอิญให้หลวงราโชมาในเรือปานมารุตด้วย ได้ช่วยแก้เต็มกำลังก็ไม่ฟื้น ชาวบ้านที่แก้พวกข้าหลวงรอดหลายคน เอามาแก้ก็ไม่ฟื้นได้ เมื่อได้ความดังนี้แล้ว จึงได้ทราบใต้ฝ่าละอองฯ ว่าพระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย เมื่อพระที่นั่งมาประทับไล่เลียงอยู่นั้น สัก 10 นิมิตกว่าก็ไม่ทราบ ไม่มีใครกราบบังคมทูล และกรมสมเด็จพระสุดารัตน์กับเจ้านายก็มาประชุมพร้อมอยู่ในเรือปานมารุตให้ช่วยกันแก้ไข ด้วยพระองค์ยังร้อนอ่อนอยู่ จนบ่าย 2 โมง ก็ไม่ฟื้นขึ้นได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก”

ต่อจากนั้น ท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต ได้กล่าวเล่าเรื่องเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า

“เมื่อได้เกิดอุปปัติพลวะเหตุเรือล่ม และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ สิ้นพระชนม์ชีพ พระยามหามนตรี (อ่ำ) ผู้บังคับการกรมทหารหน้า ผคือพระยาพิไชยสงครามอ่ำ) ต้องโทษรับพระราชอาญาแล้ว ในระหว่างนั้นพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิโยคเศร้าโศกเป็นอันมาก จนไม่มีใครจะเข้ารอพระพักตร์ได้ และมีพระกระแสรับสั่งให้ปิดพระทวารกั้นเป็นพิเศษ มิให้ข้าราชการฝ่ายในออกมาพลุกพล่านรบกวนได้ มีแต่เจ้าหมื่นไวยวรนารถและพวกมหาดเล็กคอยตั้งเครื่องอานรับใช้ อยู่แต่เพียงหกเจ็ดคนเท่านั้น ขณะที่ทรงได้ยินเสียงกลองชนะประโคมพระศพขึ้นครั้งไร ก็ทรงพระกันแสงพิลาปร่ำรำพันไปต่าง ๆ นานา จนกระทั่งทรงประชวรพระวาโยไป เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสงชูโต) ก็เข้านวดฟั้นคั้นพระบาท และคอยอาน้ำหอมกับทรงดมรอพระนาสิกไว้ให้คลายพระประชวร”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานโกษฐ์ทองใหญ่ ซึ่งเป็นพระโกษฐ์สำหรับทรงพระบรมศพกษัตริย์ ให้ทรงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งนับเป็นพระเกียรติยศอย่างใหญ่หลวง

เพื่อแสดงถึงความเศร้าโศกของพระพุทธเจ้าหลวงในการสูญเสียครั้งนี้ จึงขอเสนอราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (มหาโกษาธิบดี ท้วม บุญนาค) ด้วยเห็นว่าจดหมายนี้แสดงถึงความวิปโยคของพระองค์ได้ดีที่สุด

ร. ที่ 93

42

“ถึงท่านกรมท่า

“ด้วยฉันมีความเสียใจที่จะแจ้งความให้ทราบ เมื่อ ณ วัน 2 แรม 8 ค่ำเดือน 7 ฉันขึ้นไปบางปะอิน สุนันทากับลูกหญิงไปใน เรือโบต เรือปานมารุตลาก ถึงบางพูดโดนเรือโสรวาร ซึ่งพระยามหามนตรีไปในลำนั้นล่มจมคว่ำอยู่ช้านาน ไม่มีผู้ช่วยทันทันที สุนันทาแลลูกหญิงและขรัวยายเลี้ยงคนหนึ่งตาย ฉันมีความวิตกว่า ถ้าจะพาศพลงมากรุงเทพฯ จะขายหน้าแก่สมเด็จพระนางโสมนัส คิดจะพาศพขึ้นไปทำที่บางปะอิน แต่เจ้านายมีสมเด็จกรมพระยาเป็นหัวหน้า ขุนนางมีพระยาประภากรวงษ์เป็นหัวหน้า ขอให้พาลงมากรุงเทพฯ รับจะช่วยการศพให้เหมือนแต่ก่อน ๆ มา ฉันจึงพาศพลงมากรุงเทพฯ คุณสุรวงษ์ก็มีความสงสารด้วยได้รับช่วยการแข็งแรงเหมือนกัน

“ศพนั้นควรจะขึ้นอยู่ปราสาทได้ตามอย่างเจ้านายวังหลวงสำคัญที่ตายมาแต่ก่อน แต่ฉันกลัวว่า คนทั้งปวงจะพากันว่าเอาศพคนมีท้องขึ้นไว้บนปราสาท จึงได้เอามาไว้ที่หอธรรมสังเวช เหมือนอย่างครั้นกรมสมเด็จพระเทพสิรินทร สมเด็จกรมพระยากับคุณสุรวงษ์ได้คิดการเกนไม้ จะมาทำเมรุท้องสนามกำหนดไว้ในเดือน 4 ปีนี้ กงสุลต่างประเทศมีมิสเตอ
บัลเครฟ กงสุลเยเนราลอังกฤษ เป็นต้น ได้แสดงความโศกเศร้าถามข่าวด้วยแทบทุกกงสุล

“ชื่อที่ใช้นั้น ฉันขอให้ใช้เรียกคำนำเป็นสมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์ พออย่าให้เป็นที่อับอายแก่ลูก
ต่างกรม แต่คำอังกฤษนั้นใช้ปรินเซส ใช้กวีนแต่คนเดียว ที่กวีนนั้นนึกว่าจะให้ใช้แปลกกัน เป็นสมเด็จพระนางเจ้ามีชื่อแล้ว จึงใช้พระราชเทวีเติมข้างท้าย การซึ่งเป็นขึ้นครั้งนี้ เพราะฉันเชื่อผิด คิดผิด มีความโทมนัส เสียใจยิ่งนัก แทบจะถึงกับชีวิต จึงได้จดหมายมาถึงเธอช้าไป มีความคิดถึงเธอเป็นที่สุด ถ้าอยู่แล้วจะเป็นที่หวังไว้วางใจของฉันทุกอย่างทุกประการ การซึ่งตกลงกันไปแล้วนี้ จะเป็นการตลอดไป ฤาไม่ตลอดก็ไม่ทราบ

“แต่เห็นว่าชีวิตฉันในเวลานี้จะให้ตายนั้น ไม่สู้ยากนัก จะบอกอะไรอีกไม่ได้แล้ว ไม่มีเสียงจะพูด”

“เขียนที่หอธรรมสังเวช ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ ณ วันที่ 7 แรม 13 ค่ำเดือน 7 ปี มะโรง โทศกศักราช 1242 ตรงกับวันที่ 5 เดือนยูน คฤสตศักราช 1880”

ลูกหญิงนั้น ชื่อกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ อายุได้ 1 ปี กับ 9 เดือน กับ 20 วัน แม่อายุได้ 19 ปี กับ 6 เดือน กับ 22 วัน มีท้องอยู่ได้ 5 เดือนเต็ม

พระราชหัตถเลขาที่มี่ไปพระราชทานพระยาเทพประชุน (เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์พุ่ม) ซึ่งดำรงตำแหน่งปรีวีเคานชิลข้าหลวงเชียงใหม่ มีความตอนหนึ่งว่า

“…เรื่องเรือล่มนั้น นึกจะบอกให้พระยาเทพประชุนทราบแต่แรก แต่ไม่มีแรงจะบอก ทีหลังมาก็มีการมากเสีย ไม่มีเวลาจะเขียน เพื่อจะเล่าความโดยย่อ ดังนี้ คือ ที่ตำบลบางพูดนั้น เป็นที่น้ำตื้น พระยาเทพประชุนทราบอยู่แล้วเรือโสรวารซึ่งนายอ่ำไป แล่นริมฝั่งตะวันออก เรือสมเด็จพระสุดารัตน์ แล่นริมฝั่งตะวันตก เรือปานมารุต ซึ่งลากเรือสุนันทาแล่นไปทีหลัง ขึ้นไปในหว่างกลาง ระยะห่าง ๆ กัน ฝั่งข้างตะวันออกว่าน้ำตื้น

“พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปเกือบจะเสมอเรือโสรวาร เรือโสรวารเบนหัวเรือมาข้างตะวันตก เรือปานมารุตก็เบนหัวเรือหนีไปข้างตะวันตกบ้าง แต่เรือที่สุนันทาไป คนถือท้ายกลับคัดท้าย เฉหัวไปตะวันออก ทวนคลื่นเข้าอยู่ในระหว่างเรือไฟทั้งสองลำ จนเชือกถอนหลักแจวที่ผูก เรือโสรวารก็ไม่หยุด แล่นมาจนหัวเรือบีกนิกและเรือโสรวารโนกัน เรือก็แอบเข้าข้างกัน คนอยู่บนดาดฟ้าเรือโสรวาร รับเพดานเรือบตผลักออกมา เรือเพียบเปลี้ยอยู่แล้ว ก็คว่ำกันลอยลงไปห่างเรือโสรวารลิบ เพราะนายอ่ำยังเรียกเรือสำปั้นที่จะลงไปช่วยอยู่ แต่บ่าวที่ลงเรือครัวมา กระโดดลงน้ำไปช่วยก่อนคนหนึ่ง เรือนั้นไม่ได้พลิกขึ้นเลย จนรับคนที่ว่ายน้ำขึ้นหมดแล้ว แลบ่าวไปงมเอาศพเจ้าขึ้นมาได้ แล้วจึ่งได้พลิกเรือ”

“ในเวลานั้นเราไปถึงกลางทาง จมื่นทิพเสนาลงเรือไฟกลับมาบอก เมื่อไปพ้นปากเกร็ดหน่อยหนึ่ง ว่าเรือล่ม เราถามว่าใครเป็นอันตรายอย่างไรบ้าง บอกแต่ว่าลูกตายคนเดียว นอกนั้นดีหมด ครั้นไปถึงบางพูด คิดว่าลูกเล็กนัก คงจะตายแล้วเสร็จ ก็ไม่รีบร้อนเข้าไปดู รอไล่เลียงความอยู่ประมาณสัก 15 นิมิต นายอ่ำแจ้งความว่า ตายแต่ลูกคนเดียว ตัวเองได้โดดน้ำลงไปรับขึ้นมา ก็หมายว่าเป็นจริงทั้งนั้น ต่อเทวัญขึ้นไปเห็นจึงได้มาบอกว่า หญิงใหญ่ก็เต็มทีเหมือนกัน”

“รีบขึ้นไปก้ไขอยู่ถึง 3 ชั่วโมง แต่เปล่า แก้ไขคนตายแล้วทั้งนั้น ตายเสียแต่เมื่อเอาขึ้นมาจากน้ำแล้ว จนเขาไม่แก้ไขกันแล้ว การที่เป็นดังนี้ เพราะไว้ใจคนผิด เข้าใจว่า บุญคุณจะลบล้างความริษยาเกลียดชังกันได้ แต่การกลับเป็นอย่างอื่น ก็เป็นอันจนใจอยู่ เราไม่ว่า ว่าเป็นการแกล้งฆ่า ที่คิดไว้ว่าจะฆ่าด้วยอย่างนี้แล้วแลสมประสงค์ เห็นว่าเป็นเหตุที่เผอิญจะเกิดขึ้นให้เป็นช่องที่จะให้อคติเดินได้สะดวกตามประสงค์”

“หญิงใหญ่นั้นเป็นคนว่ายน้ำแข็ง ที่ตายครั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะห่วงลูก เพราะพี่เลี้ยงของลูกว่ายน้ำไม่เป็น คนที่อยู่ในเก๋งเรือนั้น ถึง 6-7 คนด้วยกัน นอกนั้นรอดหมด ตายแต่พี่เลี้ยงของลูกที่ว่ายน้ำไม่เป็นคนหนึ่ง กับแม่ลูกเท่านั้น เก๋งเรือนั้นปิดฝาเกล็ดแลเอาม่านลง ข้างแถบตะวันออกตลอด เพราะแดดร้อน ข้างแถบตะวันตก เปิดฝาเกล็ดอยู่สองช่อง ช่องนั้นเฉพาะพอตัวคนลอดออกมาได้ เมื่อได้หญิงใหญ่นั้น ได้ที่ช่องหน้าต่างนั้น จะว่าเพราะติดท้องก็จะไม่ติด กลัวว่าจะพาลูกออกมาด้วย แต่สิ้นกำลังออกมาไม่ได้ จึงได้ค้างอยู่”

“การซึ่งเป็นขึ้นครั้งนี้ จะให้ได้ทุกข์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ได้เคยพบเลยตั้งแต่เกิดมาเกือบจะไม่ได้เห็นหน้าพระยาเทพประชุนต่อไป คุณสุรวงษ์แสดงอาการกิริยาดีนัก ตั้งแต่ต้นจนปลาย ควรจะเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่จริงได้ แต่สมเด็จเจ้าพระยานั้นไม่อยู่ การทั้งปวงจัดได้โดยเรียบร้อยพร้อมเพรียง ทั้งเจ้านายข้าราชการ”

เราจึงพอจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงอาลัยถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นที่สุด พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศให้อย่างมากมาย รวมทั้งการบำเพ็ยพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันเสด็จทิวงคตของพระนางด้วย

เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฏราชกุมารได้ทรงบันทึกไว้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526 ว่า

“ทูลกระหม่อนบน (พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง) เสด็จลงมาทรงลาก (รถ) ประทานเรา แล้วเสด็จประทับที่ตะพาน เกือบค่ำ เสด็จขึ้นไปบนเรือนทอดพระเนตรเจาะหน้าต่างใหม่ แล้วรับสั่งว่า คิดถึงสมเด็จป้าที่สิ้นพระชนม์”

สาเหตุแห่งความอาลัยอาวรณ์ครั้งใหญ่หลวงนี้ ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นเพราะสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ด่วนเสด็จทิวงคตก่อนถึงเวลาอันสมควรนั่นเอง ทั้ง ๆ ที่ถ้ามีใครสักคนหนึ่ง ยอมเสี่ยงกฎมณเฑียรบาลช่วยพระนางไว้ ก็ทำได้ แต่ไม่มีใครทำ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยง

- - - - - - - - - - - - - - - -




Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:08:05 น. 0 comments
Counter : 640 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.