เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๑๒)

๒๗.สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา



ธิดาพระพี่นางตำหนักทอง

จะกล่าวถึงพระชนกเงินเป็นเศรษฐี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลถนนตาล ชานพระนครศรีอยุธยา บุรพชนของพระชนก เงินนั้นสืบเนื่องมาแต่จีนแซ่ต้น ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตกมาถึงสมัยกรุงธนบุรี พระชนกเงินมีแพค้าขายสิ่งของทางพาณิชยกรรม จอดอยู่ที่ปากคลองบางใหญ่ (วัดกัลยาณมิตรเดี๋ยวนี้) สถานที่จอดแพนั้น รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างไว้เป็นหอไตร)

พระชนกเงินนี้ เป็นพระภัสดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (ทรงพระนามว่า “แก้ว”) ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐภคินีพระองค์น้อยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ กรมพระศรีสุดารักษ์ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดหงส์ อันเป็นวัดใกล้แพค้าขายที่จอดอยู่ในบริเวณนั้นไว้แต่เดิม ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงร่วมกับพระปิ่นเกล้าฯ พระราชทานนามวัดหงส์ว่า “วัดหงส์รัตนาราม” คำว่า “รัตน” แปลว่าแก้ว ซึ่งหมายถึงพระนามเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์นั้นเอง พระชนกเงินและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ มีพระโอรสและธิดาหลายพระองค์ แต่องค์หนึ่งซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าบุญรอด เป็นพระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

ก่อนอื่นเราจึงควรจะรับทราบ พระประวัติของเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์เสียก่อน

เมื่อ “ทองดี” พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ บิดาก็สู่ขอธิดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่หลังตำบลบ้างหลังป้อมเพชร ชื่อ “ดาวเรือง” ให้เป็นภรรยา มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ

1. สา (หญิง ต่อมาได้เป็นกรมพระเทพสุดาวดี “พระพี่นางตำหนักขาว”

2. ณรงค์ (ชาย) สิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์วัย

3. แก้ว (หญิง) กรมพระศรีสุดารักษ์ “พระพี่นางตำหนักแดง”

4. ทองด้วง (ชาย) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

จึงนับว่า “สา” และ “แก้ว” เป็นพี่สาวที่คอยเอาใจใส่ระแวดระวัง “ทองด้วง” น้องชายเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งกรุงแตก “ทองด้วง” หนีภัยพม่าเข้าป่า “แก้ว” หรือกรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางตำหนักแดงก็ยังติดตามไปด้วยดังนั้นเมื่อ “ทองด้วง” เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยเป็นกรมพระศรีสุดารักษ์ด้วย นอกจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมพระศรีสุดารักษ์แล้ว ตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติยังได้กล่าวว่า

“อนึ่งเจ้าฟ้าตัน พระราชภาคิไนย ซึ่งเป็นพระโอรสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยนั้น โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระราชภาคิไนย ซึ่งเป็นพระธิดาในสมเด็จพระศรีสุดารักษ์อีกสองพระองค์นั้น โปรดให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าภายในรวมอยู่ในกรมนั้น”

พระเจ้าหลานเธอพระองค์หนึ่งคือเจ้าฟ้าบุญรอด ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ กับสมเด็จพระพี่นางเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้านี้มีเกร็ดเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จะทรงผนวชพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศร์ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระพี่นางทั้งสองนั้น มีพระชันษาแก่กว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทั้งสองพระองค์ เสนาบดีปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จะชันษาน้อยกว่า แต่ก็มีพระเกียรติยศสูงกว่า ควรให้ทรงผนวชก่อน คำปรึกษาอันนี้ไม่เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระเทพสุดาวดี พระพี่นางองค์ใหญ่ ถึงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชประสงค์จะระงับความขุ่นเคืองของสมเด็จพระพี่นางเธอ จึงโปรดให้รับอุปสมบทตามลำดับพระชันษา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้น ในจดหมายเหตุอาลักษณ์ว่า ต้องรอไปจนเสร็จการศึกษาพม่าแล้ว จึงได้ทรงสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงเป็นปฐม เมื่อจุลศักราช 1172 การตั้งกรมพระราชวงศานุวงศ์ นอกจากนั้นทรงตั้งก็ต่อเมื่อจุลศักราช 1175 เป็นคราวแรก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชโอรสด้วยสมเด็จพระบรมราชินี 3 พระองค์ คือ

1. เจ้าฟ้าชาย (ราชกุมาร) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2344 เป็นเจ้าฟ้าที่ 1 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี และเป็นที่ 37 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ ในสมัยรัชกาลที่ 1

2. เจ้าฟ้าชายมงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2347 ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงผนวชอยู่ 27 พรรษา เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้เป็นเปรียญ ในรัชกาลที่ 3 เป็นพระราชาคณะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4

3. เจ้าฟ้าชายจุธามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2351 ที่ 3 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี และที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า

-----------------------------


๒๘. ท้าวสมศักดิ์



ครั้งหนึ่งเคยมีหน้าที่ตรวจตรานางในให้นุ่งจีบ ตามพระราชบรรหาร


ท้าวสมศักดิ์ เป็นพระนามที่รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา แต่ความจริงในสมัยรัชกาลที่ 3 ท้าวสมศักดิ์มีพระยศเป็นเจ้าจอมมารดาอึ่งเจ้าจอมมารดาอึ่ง มีพระราชธิดา ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงวรเสรฐสุดา เจ้าจอมมารดาอึ่ง ในรัชกาลที่ 3 เป็นธิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เมื่อได้เป็นเจ้าจอมมารดาก็มีหน้าที่ปฏิบัติราชกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปตามพระราชประเพณีทุกประการพระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้

เมื่อทรงขึ้นที่บรรทมแล้ว หาได้ตื่นพระบรรทมด้วยพระองค์เองไม่ จนตลอดรัชสมัยของพระองค์ แต่มีกำหนดเวลาเช้า 1 โมง ให้ปลุกบรรทม ห้ามไม่ให้ต้องพระองค์อย่างหนึ่งอย่างใดเลย ต้องทูลแต่ว่าโมง 1 แล้ว การปลุกนั้นไม่สู้ง่าย ทูลไปตั้งแต่โมง 1 คงจะบรรทมตื่นราว 2 โมง เสด็จสรงพระพักตร์ที่พระแท่นลดช้างเหนือ แต่น้อยนัก ด้วยภายหลังมาพระแท่นนั้นเป็นที่ทรงนมัสการ โดยปกติเสด็จเข้าสรงทีเดียว ตอนแรก ๆ ไม่ได้เสวย เสด็จออกมาพระแท่นทรงเครื่องซึ่งอยู่ห้องนอกข้างใต้ทันที ทรงเครื่องพระสำอางแล้ว เสด็จลงทรงบาตร แต่ในครั้งหลังเมื่อพระชนมพรรษา 50 เศษล่วงไปแล้ว ทรงทนหิวไม่ได้ จึงต้องตั้งเครื่องพระกระยาต้น แต่เครื่องพระกระยาต้นนั้นเป็นเครื่องเล็ก โต๊ะเงินนิดเดียว เสวยบนพระแกลถัดพระแท่นลดออกไปแท่นหนึ่งหันพระพักตร์ไปข้างใต้ ที่พระเฉลียงมีของฉันต่าง ๆ ซึ่งโปรดฯ ให้ทำถวายพระเป็นพิเศษ คาวบ้าง หวานบ้าง ถวายเฉพาะพระราชาคณะ หรือพระรูปหนึ่งรูปใด ซึ่งเคยโปรดปรานในของเหล่านี้ มีแตงหนูน้ำกะทิอย่างหนึ่งซึ่งเป็นของแปลก แต่ไม่ได้กำหนดว่ากี่ที่ และจะพระราชทานผู้ใดสุดแต่มีของเท่าใด นำมาเท่าใด ก็รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอจดลงว่า ของสิ่งนั้น ๆ ถวายพระองค์นั้น ๆ จึงไปปรากฎว่า พระองค์จินดาไม่รู้หนังสือขึ้นจนถูกกริ้ง เป็นเรื่องที่สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่เขาเอามาขู่เวลาขี้เกียจอ่านหนังสือ

คงจะเสวยเสร็จไม่เกิน 3 โมงเช้า เป็นได้เสด็จทรงบาตร เมื่อทรงบาตรแล้วเสด็จขึ้นหอพระเจ้า แต่ก่อนที่จะขึ้น พระราชทานอาหารเต่าเผือก อาหารนั้นอย่างดีก็ฝอยทาง เป็นเรื่องที่พูดล้อกันเล่น ใครชอบกินฝอยทองเรียกว่า ทำเต่า ในหอพระนั้น เจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ ต้องถวายดอกไม้สำหรับนมัสการ เมื่อนมัสการเสร็จแล้ว เสด็จลงทางพระทวารพระที่นั่งไพศาล พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเฝ้า พระเจ้าลูกเธอจับต้นตั้งแต่หอพระเจ้าไปต่อพระเจ้าน้องนางเธอ แล้วพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เฝ้าเรียงเป็นแถวไปตามหน้าช่องกบจนตลอดถึงช่องกลางตอนข้างตะวันตก เจ้าจอมอยู่งานเฝ้าตั้งแต่ช่องกลางไปจนถึงหอพระอัฐิ ถ้าจะมีพระกระแสรับสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดในเวลานั้นทรงยืน แต่โดยมากรับสั่งแต่กับกรมขุนกัลยาสุนทรองค์หนึ่งสององค์เท่านั้น แล้วเสด็จไปขึ้นหอพระอัฐิ เมื่อนมัสการที่หอพระอัฐิแล้ว เสด็จกลับมาที่พระทวารเทวราชมเหศร เจ้าจอมเชิญพระแสง ซึ่งเชิญตามเสด็จแต่บนที่ไปทรงบาตร และกลับขึ้นหอพระต้องคลานผ่านเจ้านายตลอดพระที่นั่งไพศาล มาถวายพระแสงที่พระทวารเทวราชมเหศร ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า พระทวารา ชื่อนี้เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 4 แต่เจ้าจอมเชิญเครื่องกลับจากที่ทรงบาตรมาทางท้องพระโรงหน้าขึ้นขานพักตะวันตก เครื่องนั้นกองไว้มีช่องไม่ได้ส่งข้างหน้า

เวลาเสด็จออกจวน 4 โมง ธรรดาพระเจ้าแผ่นดินคงจะต้องลงอัฒจันทร์ข้างตะวันตกทางเดียว ไม่ลงตะวันออกเลย ทรงพระดำเนินผ่านหลังพระที่นั่งเศวตฉัตร ซึ่งในเวลานั้นชักม่าน ไปประทับที่ข้างพระที่นั่งเศวตฉัตรข้างตะวันออก พระบรมวงศานุวงศ์และข้างใน ตามเสด็จพระราชดำเนินออกไปนั่งในม่าน เพื่อจะรับศีลเวลาทรงศีล เมื่อสวดถวายพระพรพระเสร็จแล้ว ทรงถวายสังฆทานแล้วจึงทรงประเคน ในเวลานั้นพระบรมวงศานุวงศ์ทรงปฏิบัติพระ ข้าราชการก็เฝ้าได้ แต่ไม่ได้ประจำตำแหน่ง ไม่พรักพร้อม ถ้าใครมีราชการมาเฝ้าเวลานั้นรับสั่งถามราชการก็ได้ มหาดเล็กเฝ้าพระเฉลียงตะวันออก พอพระออกแล้วข้างในขึ้น ไขพระวิสูตร มีเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และคลังต่าง ๆ ประมาณ 3 คน 4 คน เข้าไปเฝ้าหน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา ทูลรายงานจ่ายเงินหลวง ทานาธิบดีทูลรายงานโรงทาน มหาดเล็กเชิญพระอาการทูลอาการ แต่ไม่ได้อ้อมเข้ามาหน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา ทูลพระเฉลียงตะวันออก ในเวลานั้นซึ่งหลวงอุดมสมบัติได้จดลงไว้ว่า รับสั่งก่อนขึ้นพระแท่น คือพระออกแล้วข้าราชการที่มาเฝ้าในเวลาปฏิบัติพระ ยังคงเฝ้าอยู่ทำนองในเวลานี้เป็นที่ปรึกษาการ หรือสั่งการคล้าย ๆ กันในคราวหนึ่ง พอท่วงทีจะเสด็จขึ้นพระแท่น ท่วงทีนั้นเป็นไฉน คือทรงพระกล้อง ถ้าพอทรงพระกล้องแล้ว ข้าราชการที่เฝ้าอยู่ก็ถอยออกหมด มหาดเล็กเตรียมตัวซึ่งจะไปทำหน้าที่ พอเสวยพระสุธารสร้อนบ้วนพระโอษฐ์เสร็จแล้ว ก็เสด็จขึ้นพระแท่น มหาดเล็กเชิญเครื่องตั้ง พร้อมกันกับตำรวจเข้าเฝ้า ตำรวจจะเข้านั้นด้วย อาศัยนายเวร 2 คน ซึ่งหมอบอยู่หน้าลับแบ พอเสด็จขึ้นพระแท่น นายเวร 2 คนนั้นถวายบังคมที่หน้าลับแล แล้วขึ้นไปเฝ้าเสมอใต้เสาที่ 2 ตั้งแต่หน้าท้องพระโรงเข้าไป ในขณะนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติพระ มีกรมพระราชวังเป็นต้นเข้าเฝ้ามหาดเล็กย้ายไปเฝ้าห้องพระที่นั่งเศวตฉัตร รับสั่งด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และถามความตำรวจ ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือเกือบชั่วโมงก็มี แล้วแต่ความสำคัญไม่สำคัญหรือผ่านใบสัตย์ แล้วจึงมีรับสั่งให้หาขุนนางเข้ามา ขุนนางซึ่งเข้าไปคอยอยู่หลังขวาง ตั้งแต่อัครมหาเสนาบดี เป็นต้น เข้าตามลำดับยศ หยุดถวายบังคม 3 ครั้ง ที่หน้าลับแลทุกคน แล้วจึงคลานศอกเข้าไป อัครมหาเสนาบดีนั่งตรงช่องกลางระหว่างเสาที่ 2 และที่ 3 จตุสดมภ์ เจ้าประเทศราชนั่งเหนือเสาที่ 2 ข้าราชการนอกนั้นเฝ้าหลามลงมาจนหน้าลับแล ถ้าเป็นเวลาค่ำมีเทียนตั้งอยู่หน้าอัครมหาเสนาบดีช้างละเล่ม เพราะเหตุที่การทูลเบิกนั้น ไม่ได้ใช้ปลัดทูลฉลองเป็นนิตย์ อัครมหาเสนาบดีหรือจตุสดมภ์ทูลด้วยปาก บางทีก็ต้องดูบัญชีหรือต้องดูอะไรบ้าง จะได้หยิบเทียนนั้นดูง่าย ๆ เมื่อว่าโดยรูปความกันเสียเสร็จแล้ว ถ้าทรงพระราชดำริเห็นว่า ใบบกฉบับใดจะได้ความละเอียดจึงให้อ่าน ถ้าไม่สลักสำคัญก็ไม่ต้องอ่าน เพราะเหตุฉะนั้นปลัดทูลฉลองต้องมีหนังสือนั้นมาพร้อมทุกอย่าง แล้วแต่จะรับสั่งเรียกเวลาใดเรียกได้ ถ้าปลัดทูลฉลองเป็นคนที่ว่องไวในการหนังสือ ปลัดทูลฉลองอ่าน ถ้างุ่มง่ามอยู่ พระหลวงหรือในกรม หรือที่สุดนายเวรก็เข้าไปอ่านถวายได้ เพราะเหตุฉะนั้นจึงได้เล่าถึงพระยาเทพคลานเข้าไปหยิบเทียน ถูกกริ้วด้วยต้องคลานไกลอยู่

เสด็จออกในเวลาเช้าไม่ช้าเพราะทรงหิว บางวันถ้ามีราชการมากก็ถึงรับสั่งบ่น คงจะเสด็จขึ้นในระหว่าง 5 โมง (11 นาฬิกา) เสวยที่พระที่นั่งไพศาลตรงช่องพระนารายณ์เขียวสี่กรข้างพระทวารนั้นเอง ทอดพระยี่ภู่พับและเขนยอิงผนัง มีเจ้าจอมรับพระแสงและทรงสะพัก ทรงสะพักนั้นทรงแต่แรกเสด็จลงบาตร ตลอดจนเวลาขึ้นพระแท่นจึงทรงคาด เสวยแล้วเสด็จออกช่องเจ้าคุณท้าวนางเฝ้ากราบทูลราชกิจฝ่ายใน โดยปกติประมาณครึ่งชั่วโมง เว้นไว้แต่มีการฝ่ายในจึงช้าไปบ้าง บ่ายโมงหนึ่ง จนบ่ายโมงครึ่ง เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทร์ประทับพระยี่ภู่อิงเสาปลายพระแท่น แปรพักตร์ทิศใต้ มหาดเล็กถวายสิ่งของซึ่งโปรดฯ ให้ทำช่างถวายตัวอย่างต่าง ๆ จนเช่น สมเด็จองค์น้อยจะถวายตัวอย่างก็ถวายเวลานี้ บางเวลาเสด็จออกศาลาข้างท้องพระโรงซึ่งเป็นพระที่นั่งราชฤดีทอดพระเนตรแต่งพระพุทธรูป เครื่องหยก เครื่องศิลา บางเวลาเสด็จลงเรือข้างตำหนักแพ ทอดพระเนตรเหลาเรือและแต่งเรือพระที่นั่ง บางเวลาเสด็จทอดพระเนตรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทอดพระเนตรหล่อปืน ขันปืนที่โรงหล่อ ซึ่งตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ (คือศาสาสหทัยเดี๋ยวนี้) ยิงเป้าที่โรงลครซึ่งอยู่ข้างประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (โรงลครนั้นรื้อลงทำสนามตรงหน้าศาลาสหทัย) ถ้าเป็นการจรซึ่งมีแต่ครั้งเดียวหรือสองครั้ง ทอดพระเนตรงานวัดพระเชตุพน คงจะสร้างขึ้นเวลาบ่าย 1 โมง หรือบ่าย 2 โมงครึ่ง แล้วออกพระเฉลียงด้านใต้ ไม่มีใครเฝ้า เฝ้าแต่กรมหลวงวรเสรฐ สมเด็๗พระเทพศิรินทร สมเด็จพระนางโสมนัสทรงพระอักษร หรือเล่นกับเจ้านาย 3 พระองค์นี้ จนเวลาบ่าย 4 โมงครึ่ง หรือ 5 โมง เสด็จเข้าที่ ครั้นเวลา 1 ทุ่ม ปลุกพระบรรทมอีก แต่คงจะบรรทมตื่นแต่ 2 ทุ่ม สรงแล้วเสวย เสวยนอกห้องตรงพระทวาร แปรพระพักตร์ทิศใต้ ยามหนึ่งเสด็จออกขึ้นหอพระเจ้า หอพระอัฐิ แล้วเสด็จประทับที่ข้างพระที่นั่งเศวตฉัตร ชักพระวิสูตรข้างในออกเหมือนเวลาเช้า ทรงธรรมพระแล้วไขพระวิสูตร แต่ประทับฟังรายงานมหาดเล็กรายงานนั้นพระอาการและอาการ ใบบอกหัวเมืองมาถึง ทูลแต่จำนวนบอกและเรื่องย่อ…

…4 ทุ่มครึ่งไปหา 5 ทุ่ม จึงจะเสด็จขึ้นพระแท่น ตำรวจเฝ้าก่อน แล้วพระบรมวงศานุวงศ์เข้าเฝ้า แต่ในกลางคืนนี้เรื่องความน้อย ไม่มีอ่านใบสัตย์ เบิกข้าราชการเข้าเฝ้าเร็ว พิพากษาการแผ่นดินและการศึก ร่างท้องตราที่สำคัญ ถ้าอย่างเร็วไม่มีราชการเสด็จขึ้น 2 ยาม ถ้ามีราชการขึ้น 8 ทุ่มโดยมาก ถ้ามีราชการสำคัญที่คับขันเสด็จออก 1 ทุ่ม เสวยใบพระจากแล้วขึ้นพระแท่นอยู่จนกระทั่งเวลาตี 11 (5 นาฬิกา) จึงเสด็จขึ้นตามปกติ เข้าที่อยู่ใน 8 ทุ่ม 3 ยาม (2 หรือ 3 นาฬิกา) แต่ถึงจะเสด็จออกอยู่จนดึกเท่าไร เวลาเช้าคงเสด็จลงทรงบาตรตามเวลา ไม่ให้เคลื่อนคลาด ถ้าจะร่นเวลาเสด็จออกบ่ายโมงสั้นเข้าและเลิกเล่นพระเฉลียงเปลี่ยนเป็นเข้าที่กัน เวลามาใช้เนื้อที่ต้องอดพระบรรทมเช่นนี้เสมอไป

เนื่องจากเจ้าจอมมารดาอึ่ง เป็นผู้เคยชินกับระเบียบประเพณีภายในราชสำนักเป็นอย่างดีเยี่ยม เมื่อรัชการที่ 5 โปรดฯ ให้จัดระเบียบพระราชานุกิจในครั้งนั้น การฝ่ายในจึงได้ทรงมอบให้ท้าวเจ้าจอมมารดาอึ่งเป็นผู้อำนวยการจัดการทุกอย่างซึ่งจะพึงเป็นได้ให้กลับเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3

ตัวอย่างที่สำคัญในเรื่องนี้ คือเรื่องการแต่งตัวของสตรีมีบรรดาศักดิ์ฝ่ายในเมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดให้นุ่งโจงเหมือนกับสตรีทั้งปวง รัชกาลที่ 5 ทรงบัญญัติให้กลับนุ่งจีบ ความเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้ ปรากฏว่าเจ้าจอมมารดาอึ่งขึ้นไปตรวจตราว่ากล่าวสั่งสอนพระสนมอยู่ในประราชมณเฑียรแทบทุกวัน

-----------------------------



Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:08:52 น. 0 comments
Counter : 659 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.