เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๑)

1. นางเสือง


พระนามสลักอยู่บนหิน แต่ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางไว้เลย

ราชินีองค์แรก ผู้เคยร่วมสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 1800 ได้รับความสนใจน้อยเหลือเกิน ประวัติศาสตร์บันทึกไว้เพียงไม่กี่บรรทัด ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้อุ้มมหาราชมาก่อนใคร ๆ ทั้งหมดมัวแต่คำนึงถึงกษัตราธิราช จนไม่สนใจว่า สตรี คือ ครึ่งภาคของบุรุษ

นักเรียนท่องจำว่า กษัตริย์ไทยพระองค์แรก คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่มิได้จดจำว่า พระราชินีคู่พระทัยของพ่อขุนพระองค์นั้นทรงพระนามเต็มว่ากระไรทำไมจึง “นางเสือง” พระนามนี้ได้จากศิลาจารึก และตั้งแต่นั้นมา ก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามีนักประวัติศาสตร์คนไหนเรียกชื่อเต็มของพระนางเลย ซึ่งตามความเหมาะสมอย่างน้องควรจะเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าเมือง พระบรมราชินี” ถ้าจะอ้างว่าภาษาไทยสมัยนั้นมักใช้คำโดดเป็นคำไทยแท้ ก็แล้วเพราะเหตุใดคำว่า “ศรีอินทราทิตย์” จึงมิใช่คำไทยแท้ หากแต่เป็นคำสันสกฤต ถึงแม้จะอ้างถ้อยคำตามจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า “แม่กูชื่อนางเสือง” แล้วเลยถือว่า “เสือง” คือพระนามเต็มแล้วก็ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะนั่นเป็นเรื่องของลูกเรียกแม่ เรียกด้วยความรัก เรียกด้วยความเคารพ พ่อขุนรามคำแหงเรียกชื่อที่เรียกติดมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เรียกแบบที่ง่ายที่สุด และรู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุด บางท่านว่า คำว่า “นาง” เป็นศักดิ์สูงสุดที่จะเรียกสตรีในสมัยสุโขทัยสูงกว่า “อ้าย” สูงกว่า “อี”

เรามาศึกษาความเป็นไปของนางเสืองดีกว่า

ข้อแรก ราชินีพระองค์นี้ คงเป็นชาวเมือง “บางยาง” เพราะก่อนที่พ่อขุนบางกลางท่าวจะมาครองกรุงสุโขทัย ก็เคยเป็นเจ้าเมืองบางยางมาก่อนและเมื่อเป็นเจ้าเมือง ก็ย่อมมีพระอัครชายา และต้องเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกันด้วย เพราะเป็นสมัยที่สร้างตัวสร้างเมือง และสร้างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัย ก็คงไม่เลือกเอาชาวสุโขทัยเป็นพระบรมราชินี แต่คงแต่งตั้งนางเสืองว่า นางเสืองไม่ใช่ชาวสุโขทัย ที่พระองค์มาอุปภิเษกขึ้นใหม่ ก็คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมว่าที่ “…พ่อขุนบางกลางท่าวจึงเข้าเมือง พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองสุโขทัยให้ตั้งชื่อนตนแก่พระสหายเรียกชื่อ ศรีอินทรบดินทราทิตย์ นามเดิมกมรเตงอัยผาเมือง เมื่อก่อนผีฟ้า เจ้าเมืองศรีโสธรปุระ ให้ลูกสารชื่อนางสีขรมหาเทวี กับขันไชยศรี ให้นามเกียรติแก่พ่อขุนผาเมืองเหียมพ่อขุนบางกลางท่าวได้ชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์ เพื่อพ่อขุนผาเมือง เอาชื่อตนให้แก่พระสหาย”

จากข้อความนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าหากพ่อขุนบางกลางท่าวไม่มีพระอัครชยามาก่อน ก็คงจะกล่าวถึงการอุปภิเษกราชาสมรสในครั้งนี้ด้วยเป็นแน่

ข้อสันนิษฐานอันดับต่อไป ก็คือนางเสืองต้องเป็นคนสวย และเป็นการสวยที่เด่นและล้ำหน้าคนอื่น ๆ แน่ เพราะเจ้าเมืองมีอำนาจมาก ย่อมมีโอกาสที่จะเลือกได้เต็มที่ เนื่องจากในสมัยโบราณถือว่า หญิงมีความสำคัญน้อยกว่าชาย ดังนั้นรูปสมบัติขิฃองสตรีสมัยสุโขทัยจึงทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะผู้จะเป็นอัครชายาของเจ้าเมือง

ในด้านคุณสมบัติ นางเสืองก็เป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาด รอบรู้ สังเกตได้จากราชบุตร คือพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทรงความเป็นปราชญ์อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นมหาราชองค์แรก และเมื่อพระองค์เป็นโอรสของนางเสือง พระองค์ฉลาด พระราชมารดาก็ย่อมฉลาดด้วย ท่ำนองลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น สมัยนั้นกษัตริย์ต้องกรำอยู่กับการศึกและการปกครอง ต้องปล่อยให้งานบ้านงานเรือนตกเป็นหน้าที่ของมเหสี

นางเสืองเป็นพระราชินีที่รักโอรสธิดาเป็นพิเศษ มีความชำนาญในเรื่องการครองเรือนเป็นอย่างดี ข้อยืนยันสนับสนุนก็คือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแห่งที่ว่า

“เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อย กินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหน้าวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ป่าวได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู”

ข้อความเหล่านี้ แสดงว่า นางเสืองได้อบรมพระราชโอรสให้มีความกตัญญู เคารพบิดามารดา หรืออย่างหน้อยก็เคารพผู้อาวุโส เช่นพระเชษฐา

“พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม”

นอกจากนี้ นางเสืองยังสอนราชบุตรให้เป็นคนกล้าหาญ เป็นคนกล้าที่ยอมเสี่ยงชีวิตได้เสมอ ถ้าเพื่อความกตัญญู ท่านคงจำจารึกนี้ได้

“เมื่อกูขี้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด มาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับใสหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกูหนีญญ่าย กูบ่หนี กูขี่ช้างเนกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชน ตัวชื่อมาสเมืองแพ้ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เมื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน”

นางเสืองสอนราชบุตร ให้ตั้งอยู่ในธรรม เลิ่อมใสในพระบวรศาสนา ตอนนี้ศิลาจารึกว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักมักทานมักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวยเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน์ ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว”



- - - - - - - - - - - - - - - -




2. นางนพมาศ


เพลงพิณอันไพเราะ ทำให้นางได้เป็นพระสนมเอกผู้มีสมญาว่า “กวีหญิงคนแรกของไทย”

“ เมื่อข้าน้อยนี้ ปฏิสนธิในครรภ์มารดา มารดานิมิตรฝันว่า ได้เยี่ยมบัญชร พระเจ้าแผ่นดิน ชมแสงพระจันทร์อยู่จนตื่น บิดาฝันว่าพรรณดอกไม้ต่าง ๆ แย้มบานเกสรใช่ฤดูกาลหอมกลิ่นรวยรื่นไปทั่งทั้งจังหวัดพระนคร เหตุนิมิตดังนี้ ท่านทั้งสองก็ได้ทำนายไว้ ว่าจะได้บุตรเป็นธิดา จะมีบุญพาวาสนาพร้อมด้วยสติปัญญา และเกียรติยศเป็นที่พึ่งแก่วงศ์ญาติได้แท้”

นี่คือเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ เธอชื่อนางเรวดี นพมาศ

“วันข้าคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัสสร”

นางนพมาศสร้างสมกุศลกรรมอันใดไว้ จึงได้ขึ้นไปถึงตำแหน่งนางสนมเอกของพระร่วง และสามารถสร้างวรรณคดีเล่มแรกโดยฝีมือผู้หญิงขึ้นได้

“…ข้าน้อยได้สร้างสมกองการกุศลมาแต่อดีตชาติ จึงตกแต่งรูปสิริวิลาสให้เป็นที่จำเริญตา”

จากข้อความเหล่านี้ จะเห็นได้ว่านางนพมาศเป็นคนสวย คนดี และคนฉลาด ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เพียงเล่มเดียว ทำให้ยอมรับว่า วรรณคดีไทยเล่มแรกที่เขียนโดยผู้หญิงนั้น เริ่มต้นในสมัยสุโขทัย บิดานางนพมาศชื่อโชติรัตน์ มารดาชื่อเรวดี อยู่ในตระกูลพราหมณ์

“ประกอบกับลักษณะข้าน้อยอันมีฉวีวรรณเรื่อเหลือง ประดุจชโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกรัชกาย จึงให้นามกรข้าน้อยนี้ ชื่อ นพมาศ”

“แต่ข้าน้อยร่ำเรียนสรรพวิชาการทั้งมวล ตั้งแต่ 7 ขวบ จนจำเริญชนมายุได้ 15 ปี ก็ถึงซึ่งชำนิชำนาญสิ้นเสร็จ นับว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ฉลาดรู้ คดีโลกคดีธรรม ในแผ่นดินได้คนหนึ่งแท้จริงเบิ้องหน้าแต่นั้น”

ชาวสุโขทัยครั้งนั้น เมื่อได้เห็นนางเรวดีนพมาศ บริบูรณ์ไปด้วยสมบัติทั้ง 3 คือรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ และทรัพย์สมบัติต่างก็สรรเสริญกันอยู่ทั่วไป จนมีทิศาปาโมกข์นักเลงขับผู้หนึ่ง คิดนิพนธ์ผูกเป็นกลอนเพลงขัยสรรเสริญเอาไว้ว่า

เพลงขับยอเกียรตินางนพมาศ

พระศรีมโหสถ

ยศกมเลศครรไลหงศ์
มีธิดาประเสริฐเลิศโฉมยง

ชื่ออนงค์นพมาศวิลาศลักษณ์
ละไมละม่อมพร้อมพริ้งยิ่งนาวี

จำเริญศรีสมบูรณ์ประยูรศักดิ์
เนื้อเหลืองเล่ห์ทองผ่องผิวพักตร์

เป็นที่รักดังดวงจิตบิดรเอยฯ
*โฉมนวลนพมาศ

เป็นนักปราชญ์ฉลาดด้วยบิดาสอน
ช่างกล่าวถ้อยมธุรสบทกลอน

ถวายพรพรรณนาพระพุทธคุณ
สารพัดจะพึงใจไปครบสิ่ง

เป็นยอดหญิงยิ่งธิดาทุกหมื่นขุน
แต่ก่อนปางสร้างกุศลผลบุญ

มาเกื้อหนุนให้งามวิไลเอยฯ





*ดวงดอกอุทุมพร
ทั่วนครหายากฉันใดไฉน

จะหาสารศรีเสวตในแดนไพร
ยากจะได้ดังประสงค์ที่จงจินต์

จะหานางกัลยาณีนารีปราชญ์
ประหนึ่งนางนพมาศอย่าหมายถวิล

จะหาได้ในท้องพระธรณิน
ก็ด้วยบุญเจ้าแผ่นดินอย่างเดียวเอย ฯ



วันหนึ่งภายนพระราชฐาน นางบำเรอผู้มีหน้าที่ขับเพลงพิณ ก็ขับกลกลอนบทนี้ขึ้น กลอนบทนั้นบรรยายว่า มีหญิงคนหนึ่ง ในแว่นแคว้นสุโขทัยมีความงามจับใจบุรุษ และมีความดีจับใจสตรี นางคนนั้นเป็นนางแก้ว สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงดำรัสถามนางบำเรอทั้งปวงว่า เพลงขับเรื่องนี้ผู้ใดตกแต่ง นางบำเรอก็กราบทูลว่า

“ข้าพระองค์จะได้ทราบว่า ผู้ใดนิพนธ์ผูกเพลงขับเรื่องนี้นั้นหามิได้ แต่ข้าพระองค์ได้ฟังหญิงคนขับนอกพระราชฐานเข้ามาขับก็จำได้ จึงขับถวายด้วยสำคัยใจว่าไพเราะ”

สมเด็จพระร่วงเจ้าก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่ แล้วก็พระราชทานรางวัลเป็นต้นว่า เครื่องแต่งกายให้นางพนักงานบำเรอทั้งปวงตามสมควร อยู่มาวันหนึ่ง เป็นเวลาราตรี สมเด้จพระร่วงเจ้าเสด็จยังพระที่นั่งในพระราชอุทยาน ดำรัสสั่งให้นางพนักงานบำเรอขับเพลงพิณ เรื่องสรรเสริญความงามของนางในเพลงคนนั้น ถวายจนสิ้นบทตรัสถามนางท้าวขาวชะแม่ทั้งปวงว่า เพลงขับดังนี้ผู้ใดจะยังรู้บ้างว่า พระศรีมโหสถมีธิดาประกอบไปด้วยรูปลักษณะ และฉลาดรู้สรรพวิชาต่าง ๆ ดังนี้จริงละหรือ หรือจะเป็นเพราะผู้ผูกเพลงขับแสร้งประดิษฐ์สรรเสริญให้แต่พอไพเราะ ท้าวจันทรนาถภักดี กราบบังคมทูลว่า

“ข้าพระองคืทราบอยู่ว่า พระศรีมโหสถมีธิดารูปงามคนหนึ่ง ฉวีวรรณเรื่อเหลือง บิดาจึงให้นามนพมาศ มิอายุได้ 15 ปีปลาย เรียนรู้ไตรเพท ไตรวิชา เฉลียวฉลาด มีมรรยาทเป็นอันดีพร้อมด้วยศิลาจารวัตร์ ควรจะเป็นพระสนมกำนัลอยู่ในพระราชฐาน”

สมเด็จพระร่วงเจ้า จึงดำรัสสั่งท้าวจันทรนาถภักดี ให้นำธิดาโชติรัตน์ผู้เป็นพระศรีมโหสถ มาไว้เป็นนางพระสนมท้าวจันทรนาถภักดี ก็รับพระราชบัญชาไปสั่งออกญามนเทียรบาลวัง ให้มาแจ้งความแก่พระศรีมโหสถผู้บิดานางนพมาศ เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 10 ค่ำ จุลศักราช 6 ปีมะโรง ฉ ศก นางนพมาศมีอายุนับตามปีได้ 17 ตามเดือนได้ 15 ปี 8 เดือน 24 วัน ท้าวจันทรนาถภักดี กับท้าวศรีราชศักดิโสภา ก็พานางนพมาศกับมารดาเข้าไปเฝ้า สมเด็จพระร่วงเจ้าก็ดำรัสด้วยนางเรวดีตามพระอัชฌาสัย แล้วให้พระราชทานรางวัลพอเป็นเกียรติยศ ดำรัสให้นางนพมาศรับราชการอยู่ในตำแหน่งนางพระสนม ตั้งแต่นั้นมา นางนพมาศก็ได้เฝ้าแทนคอยสังเกตดูแบบแผนเยี่ยงอย่างคนอื่น ซึ่งเคยกระทำราชกิจต่าง ๆที่ถูกต้องตามพระราชอัชฌาสัยอยู่ได้ห้าวันวันที่หก ก็ถึงวันพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม หรือเรารู้จักกันในปัจจุบันว่าเป็นพิธีลอยกระทงบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคม ชักโคม แขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร ฝ่ายพระสนมกำนัล ก็ทำโคมลอยพร้อมด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่าง ๆ ประกวดกันถวาย ให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานที นางนพมาศได้บรรยายเรื่องราวของคืนวันเพ็ญ นี้ว่า

“ข้าน้อยก็กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึงเลือกผกาเกสรศรีต่าง ๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงพระจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลายแล้วก้เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณานกวิหคหงส์ให้จับจิกเกสรบุปผาชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเป็นระเบียบ เรียบเรียงวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดส่าง ควรจะพิจารณายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียนธูปและประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค”

ครั้นพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็เสด็จลงพระที่นั่งชลพิมานพราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพี พระราชวงศานุวงศื โคมพระสนมกำนัลเป็นลำดับกันลงมา

“ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลางทรงตรัสชมว่า โคมลอยอย่างนี้งามประหลาดยังหาเคยมีไม่เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ”

ท้าวศรีราชศักดิโสภา จึงกราบทูลว่าเป็นโคมของนางนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นได้ทรงทราบก็ดำรัสถามนางนพมาศว่า ทำโคมลอยให้แปลกประหลาดจากเยี่ยงอย่างเพราะเหตุใดนางนพมาศก็ทราบทูลว่า

“ข้าพระองค์ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานที อันเป็นที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน กับแกะรูปมยุราคณานกวิหคหงส์ประดับ และมีประทีบเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโคด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเอน 12 พระราชพีธีจองเปรียง”

สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงสดับก็ตรัสว่า นางนพมาศมีปัญญาฉลาด สมที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึงมีพระบรมราชโองการว่า

“แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทส ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากั]กัลปาวสาน”

นางนพมาศนอกจากจะเป็นคนรูปสวยแล้ว ยังเป็นคนมีปัญยาเลิศอีกด้วย และปัญญาของนางนพมาศ ก็เป็นไปในด้านความวิจิตรบรรจงทั้งในการเสริมของเก่าและสร้างของใหม่

“ข้าน้อยจึงเลือกพรรณบุปชาติที่มีสีอันเหลือง มีดอกการะเกดและดอกกรรณิกา เป็นต้น มาคิดกรองร้อยเป็นรูปพานสองชั้น รองขัน แล้วก็ซ้อนสลับ ประดับดอกไม้สีแดง สีขาว และสีต่าง ๆ แก่อ่อนประสานกันเป็นระย้าระบาย จึงแต่งเมี่ยงหมาก อบรมด้วยเครื่องหอม ใส่ลงในขัน มีตาข่ายดอกไม่ปกคลุม ครั้นแล้วก็นำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันกับพวงมาลาพระสนมกำนัลทั้งปวง

“สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงทอดทัศนาทั่วไป ครั้งทรงเห็นพวงดอกไม้รูปพานขันหมากของข้าน้อยนี้ก็ชอบพระราชอัชฌาสัย จึงดำรัสว่า อันคนมีปัญญาแล้วจะกระทำการสิ่งใดก็ถูกต้อง เป็นที่จำเริญใจจำเริญตาหมู่ชนชายหญิง อันดอกไม้ร้อยรูปพานขันหมากนี้ ควรจะเป็นแบบอย่างไว้ในแผ่นดินได้

“…แล้วสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงปกาสิตสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้ากษัตริย์ก็ดี คหบดีเศรษฐี และตระกูลทั้งหลายก็ดี ทั้วทุกราชธานีนิคมคามสยามประเทศ แม้นผู้ใดจะทำการรับแขกเป็นการสนานใหญ่ มีการอาวาหวิวาหมงคล เป็นต้น จะร้อยกรองบุปผาชาติใส่เมี่ยงหมากสู่แขก ก็ให้ร้อยกรองเป็นรูปพานขันหมากดังนี้ หรือจะเอาสิ่งใด ๆ กระทำใส่เมี่ยงหมากก็ดี ก็จงกระทำเป็นพานมีชั้นสองรองขัน ให้เรียกว่าพานขันหมากกราบกัลปาวสาน”

ความเป็นเจ้าความคิดของนางนพมาศนั้น หาได้มีเพียงแค่ที่กล่าวมานี้ไม่เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นการเข้าพิธีการสำคัญ ๆ ครั้งใด นางนพมาสมักมีโอกาสสำแดงความเฉลียงฉลาดแห่งตนออกมาให้ปรากฎแก่คนทั้งหลายเสมอ

“ข้าน้อยได้กระทำพนมดอกไม้ทอง และกอโกสุมประทุมทองอันวิจิตร ด้วยวาดเขียนทำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสชมข้าน้อยว่าเป็นคนฉลาดคิดโปรดพระราชทานสักการรางวัลเป็นอันมาก

“ข้าน้อยนพมาศก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นคนฉลาดปรากฎนามอยู่ในแผ่นดินได้อีกอย่างหนึ่ง”

นางนพมาศเป็นบุคคลที่ฉลาดถ่อมตัวเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่นที่เขียนไว้ว่า “ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฎชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน”

สำหรับชีวิตการเป็นพระสนมกำนัลนั้น

“งามทั้งรูปจริต กริยาวาจาก็อ่อนหวาน มีสติปัญญาวาสนา บรรดาศักดิ์ สมด้วยชาติตระกูล ตั้งใจรับราชกิจทั้งเช้าค่ำสม่ำเสมอ ประพฤติตนอย่างมฤคจามรี สู้สงวนชนมิให้คำติฉิน”

นี่คือนางนพมาศ สนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า ผุ้สามารถประดิษฐ์ ความคิดได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ จนสืบกลายมาเป็นประเพณีต่อมาอยู่ช้านาน ทั้ง ๆ ที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านสงสัยว่าจะมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

นางนพมาศนามแม่นี้
เติมมา

โปรดเปลี่ยนศรีจุฬา
ลักษณ์ล้ำ

ด้วยอุดมรูปปรีชา ชาญยิ่ง
นะแม่

หญิงภพใดจักก้ำ
กว่านี้ฤามี

- - - - - - - - - - - - - -



Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:11:55 น. 0 comments
Counter : 1085 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.