เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๒)

3. นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์


เพราะเป็นกษัตริย์ผู้หญิงเพียงพระองค์เดียววีรกรรมของพระนางจึงกลายเป็นกบฎสนมเอกพระองค์นี้เคราะห์ร้าย ใครต่อใครเหมาเอาว่าเป็นคนชั่วเป็นคนทรยศ และเป็นกบฎต่อแผ่นดิน ประวัติศาสตร์มิได้บันทึกในแง่ดีเอาไว้เลยแต่เรามาลองศึกษากันดูเถอะ เพราะขีวิตคนเหมือนเส้นตรงที่สั้นนัก และบนเส้นตรงแห่งชีวิตที่สั้นแสนสั้นนี้ ก็อาจมีจุดเล็ก ๆ อย่างน้อยสักจุดหนึ่งก็ได้ ที่เป็นจุดแห่งความดี จุดที่ควรแก่การสรรเสริญเยินยอ และจุดที่มีค่าควรแก่การศึกษาด้วยศรัทธาที่เป็นธรรม ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นพระสนมเอก 1 ใน 4 องค์ของพระชัยราชาธิราช คือ

ท้าวอินทรสุเรนทร
ท้าวศรีสุดาจันทร์
ท้าวอินทรเทวี
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เราเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมมานานแล้วว่า เมื่อคนทำอะไรลงไป ก็ย่อมจะมีผลสะท้อนจากการกระทำนั้นเราจะศึกษากันถึงเรื่อง “กรรม” ของพระชัยราชาธิราช ผู้ได้ราชสมบัติมาจากการ “ชิง” และเสียราชสมบัติไปด้วยการถูก “ชิง” พระชัยราชาธิราช เป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เกิดจากพระสนมพระชัยราชาธิราช ได้ราชสมบัติเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2077 โดยการ “ชิง” จากพระรัษฏาธิราชกุมารผู้เป็นหลาน แล้วให้สำเร็จโทษเสียนี่คือเหตุผลว่า ทำไม พระชัยราชาธิราชจึงเสียราชสมบัติไปด้วยการถูก “ชิง” ตามนัย ของ “กฎแห่งกรรม” ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมนางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ จึงได้คิดชิงราชสมบัติจากพระแก้วฟ้า ผู้เป็นรัชทายาทโดยตรงของพระชัยราชาธิราชนั้น เราจะพบว่า เป็นไปเพราะความจำเป็น นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ไม่ได้คิดชิงราชสมบัติในขณะที่แผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข

ขั้นแรกเราลองมาศึกษาพงศาวดารกันถึงลางร้ายต่าง ๆ ที่ปรากฎขึ้นในรัชสมัยของพระชัยราชาธิราชดูก่อน เพราะเชื่อว่า ลางร้ายเหล่านี้ อย่างน้อยก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความไม่อยู่เย็นเป็นสุขของราษฎร ในรัชสมัยของพระชัยราชาธิราช ขอเสนอลางร้าย ต่าง ๆ ที่ได้มาจากพระชารพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ดังนี้

1.แรกให้พูนดินวัดชิเชียงถึงเดือน 11 เสด็จไปเชียงกราน ถึงเดือน 4 เวลาประมาณยามหนึ่งเกิดลมพายุพัดหนัก ในขณะเสด็จไปเชียงกราน คอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมานั้นหัก เรือไกรแก้วนั้นแตก

2.เดือน 3 พ.ศ.2068 เกิดเพลิงไหม้ในพระนคร แต่ท่ากลาโหมไปถึงพระราชวังท้าย่อตลาดยอด ลมหอบเอาลูกเพลิงไปตกลงตะแลงแกง ไหม้ลามลงไปป่าตองโรงครามฉะไกร สามวันจึงดับ มีบัญชีเรือน ศาลา กุฎิ พระวิหาร ไหม้แสนห้าสิบหลัง

3.เดือน 4 พ.ศ. 2069 บังเกิดอุบาทว์นิมิต เห็นโลหิตตกอยู่ ณ ประตูบ้าน และเรือนชนทั้งปวงในเมืองนอกเมืองทุกตำบล

4.ปี พ.ศ. 2070 อันเป็นที่พระชัยราชาธิราชาสวรรคต พระแก้วฟ้าราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติ เกิดแผ่นดินไหว

5.เดือน 5 พ.ศ. 2071 สมเด็จพระแก้วฟ้า เสด็จออกสนามพร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตย์มนตรี เฝ้าพระบาทบุคลเป็นอันมาก ดำรัสสั่งให้เอาช้างบำรูงากัน บังเกิดทุจริตนิมิต งาช้างพระยาไฟนั้นหักเป็นสามท่อน

6.ในวันเดือนปีดังกล่าวในข้อ 5 เพลาค่ำ ข้างต้นพระยาฉัททันตไล น้ำตาไหล ร้องเป็นเสียงคนร้องไห้

7.ในวันเดือนปีดังกล่าว ในข้อ 5-6 ประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ ราชาธิราช และพระแก้วฟ้านั้น แผ่นดินมิได้อยู่เย็นเป็นสุขเท่าที่ควร นักประวัติศาสตร์จึงบันทึกข้อความทำนองนี้ให้เห็นลางร้าย โดยเฉพาะการที่พระเทียรราชา ผู้สำเร็จราชการพระนคร เสด็จหนีออกทรงผนวช ณ วัดราชประดิษฐ์นั้น ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะหนีนางพญาแม่อยู่หัว ซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระองค์ ตามพงศาวดารสยามของเตอร์แปง

ดังนั้นถ้านางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ทำการ “ชิง” ราชสมบัติ เพราะแผ่นดิมิได้อยู่เย็นเป็นสุข ก็เป็นการสมควร มีเหตุผลประกอบอีก 7 ประการที่ชี้ให้เห็นว่า นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มิได้เป็นบุคคลที่มีจิตอำมหิตหรือกระทำการโดยพลการดังนี้

1.ถ้านางพญามุ่งในราชสมบัติเพื่อมอบให้คนรักจริง ก็คงชิงราชสมบัติเสียแต่ตอนแรก เมื่อพระชัยราชาสวรรคตใหม่ ๆ เพราะขณะนั้นก็มีกำลังแข็งพออยู่แล้ว แต่นางพญาหาได้ทำเช่นนั้นไม่ กลับปล่อยให้พระแก้วฟ้ารัชทายาทขึ้นครองราชสมบัติดูก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก เพียง 11 พรรษา โดยทนางพญาช่วยบำรุงปกครองราชการแผ่นดิน แต่พระแก้วฟ้าคงจะปกครองราชสมบัติไม่ได้ พระนางจึงจำเป็นต้องชิงราชสมบัติมาให้แก่ผู้ที่มีความสามารถมากกว่า

2.ในการชิงราชสมบัติ นางพญาก็มิได้ทรงทำโดยพลการ หากแต่มีพระเสาวนีย์ตรัสปรึกษาด้วยหมู่มุขมนตรีทั้งปวงว่า “พระแก้วฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชกิจการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่า ก็ยังมิปกติ จะไว้ใจแก่ราชการนั้นมิได้ เราคิดว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น จะเห็นประการใด” ท้าวพระยามุขมนตรีก็ทูลว่า ซึ่งตรัสโปรดมานี้ควรอยู่แล้ว

3.ในการ “ชิง” ราชสมบัติครั้งนั้น นางพญามิได้ประหารชีวิตพระแก้วฟ้า โดยทันทีทันใด กลับชุบเลี้ยงไว้ต่อไป ซี่งแสดงว่าอย่างน้อยนางพญาก็เป็นบุคคลที่มีเมตตา

4.การที่พระแก้วฟ้าถูกปลงพระขนม์นั้น ก็เป็นด้วยคิดอ่านกับข้าราชการอื่น ๆ จะกำจัดขุนวรวงศาธิราช ขุนวรวงศาธิราชจึงชิงปลงพระชนม์เสีย การคงจะจวนเกิดจราจลเต็มที ท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นจะแก้ไขด้วยอุบายอื่นไม่ได้ เชื่อว่าขุนวรวงศาธิราชมีกำลังทแกล้วทหารมากอยุ่แล้ว จึงออกหน้ากันไปตามเลย เอาขุนวรวงศาธิราชขึ้นราชาภิเษกอยู่ในราชสมบัติ (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ) ได้ 42 วัน ก็ถูกกำจัด

5.เมื่อจำเป็นต้องประหารชีวิตพระแก้วฟ้า ที่วัดโคกพะยา (เดี๋ยวนี้เป็นวัดร้างอยู่ข้างทางรถไฟ เหนือสถานีอยุธยา) ก็มิได้ประหารชีวิตพระศรีศิลป์ พระอนุชาพระแก้วฟ้า ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา แต่กลับโปรดให้เลี้ยงไว้ ซึ่งแสดงว่ามิได้ทำการชิงราชสมบัติตามแบบที่เรียกว่า “ฆ่าล้างโคตร”

6.ข้อพิสูจน์ที่ว่า นางพญามิได้เกลียดชังพระแก้วฟ้าและพระศรีศิลป์นั้น ก็เพราะพระมเหสีของพระชัยราชาธิราช อันเป็นพระราชชนนีของพระแก้วฟ้าและพระศรีศิลป์นั้น ได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ และอยู่ในความประคับประคองของนางพญาตลอดมา จนนางพญามีความดีความชอบที่ได้เลี้ยงดูพระราชโอรสทั้งสองด้วยความรักใคร่ จึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเจ้าแม่ยั่วเมือง มียศสูงกว่าพระสนมกำนัลทั้งปวง

7.สาเหตุที่พระชัยราชาธิราชสวรรคตนั้น ไม่น่าเชื่อตามเหตุผลของปินโตโปจุเกตุที่ว่า พระชัยราชาธิราช เสด็จถึงพระนครแล้วจึงสวรรคต เพราะถูกนางพญาเอายาพิษเจือลงในน้ำนมโคให้เสวย แต่น่าเชื่อตามพงศาวดารฉบับพิมพ์ 2 เล่ม และพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา ที่ว่า พระชัยราชาธิราชเสด็จกลับจากการขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ 2 และประชวรเป็นปัจจุบัน สวรรคตกลางทาง

ส่วนการที่นางพญา มีความเสน่หารักใคร่พันบุตรศรีเทพนั้น ก็เริ่มต้นและดำเนินไปตามปกติวิสัย มิใช่เรื่องลักลอบซ่อนเร้น และความรักครั้งนี้ก็เริ่มต้น เมื่อพระชัยราชาธิราชเสด็จสวรรครแล้ว ดังความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตเลขาว่า

“ครั้นอยู่มา นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เสด็จไปประพาสเล่น ณ พระที่นี่งพิมานรัตยา หอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพผู้เฝ้าหอพระ ก็มีความเสน่หารักใคร่พันบุตรศรีเทพ จึงสั่งสาวใช้ให้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้า ไปพระราชทานพันบุตรศรีเทพ พันบุตรศรีเทพรับแล้วก็รู้อัชฌาสัยว่า นางพญามีพระทัยยินดีรักใคร่ พันบุตรศรีเทพจึงเอาดอกจำปาส่งให้สาวใช้เอาไปถวายนางพญา นางพญาก็ยิ่งมีความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพเป็นอันมาก”

ทีนี้ เมื่อมีความรักแล้ว ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่นางพญาจะต้องทำนุคนรัก ทั้งในการส่งเสริมเกียรติและยศ เป็นการทำความดีมิใช่ทำชั่ว ถึงแม้จะเป็นความดีที่ทำลงไปเพราะความปฎัพัทธ์ของตัวเอง ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันนี้อธิบายต่อไปว่า

“จึงมีพระเสาวนีย์สั่งพระราราชภักดีว่า พันบุตรศรีเทพเป็นข้าหลวงเดิม ให้เอามาเป็นที่ขุนชินราช รักษาหอพระข้างใน ให้เปลี่ยนขุนชินราชออกไปเป็นพันบุตรศรีเทพ รักษาหอพระข้างหน้า ครั้นพันบุตรศรีเทพเป็นขุนชินราช เข้าไปอยู่รักาษหอพระข้างในแล้ว นางพญาก็ลอบลักสมัครสังวาสกับด้วยขุนชินราชช้านาน แล้วดำริจะเอาราชสมบัติให้สิทธิแก่ขุนชินราช จึงตรัสสั่งพระยาราชภักดีว่า ให้ตั้งขุนชินราชเป็นขุนวรวงศาธิราช ให้ปลูกจวนอยู่ริมศาลาสารบัญชี ให้พิจารณาเลขสังกัดสมพรรค์ (พนักงานชำระเรียกคนเข้ารับราชการทหาร) หวังจะให้กำลังมากขึ้น แล้วให้เอาเตียงที่อันเป็นราชอาสน์ไปตั้งไว้ข้างหน้า สำหรับขุนวรวงศาธิราชนั่ง เพื่อจะให้ขุนนางทั้งปวงอ่อนน้อมยำเกรง แล้วนางพญาสั่งให้ปลูกจวนให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการ ณ ประตูริมต้นหมัน”

เรื่องนี้คงเป็นไปทำนองเดียวกันกับพระนางแคธรีนฯ แห่งรัสเซีย ซึ่งทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนชู้รักตลอดเวลาการประหารชิวิตพระยามหาเสนานั้นเชื่อวย่า นางพญาทำถูก เพราะเมื่อได้เลื่อนยศศักดิ์ให้แก่ขุนวรวงศาธิราชแล้ว พระยามหาเสนากับพระยาราชภัดีก็พากันพูดจาซุบซิบว่า “แผ่นดินเป็นทุรยศ” ทั้ง ๆ ที่เวลานั้นพระแก้วฟ้ากำลังได้ราชสมบัติ อนึ่ง การที่พระยามหาเสนาถูกลอบฆ่านั้น ความก็มิได้แจ้งชัดว่านางพญาเป็นผู้สั่ง พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็มีไว้แต่เพียงว่า

“ครั้นรุ่งขึ้น นางพญารู้ว่าพระยามหาเสนา พูดกับพระยาราชภักดี จึงสั่งให้หาพระยามหาเสนามาเฝ้าที่ประตูดิน ครั้นเพลาค่ำ พระยามหาเสนากลับออกไป มีผู้แทงพระยามหาเสนาล้มลง เมื่อใกล้จะสิ้นใจ พระยามหาเสนาจึงว่า เมื่อเราเป็นดังนี้แล้ว ผู้อยู่ภายหลังจะเป็นประการใดเล่า”

เมื่อท้าวพระยามุขมนตรีเห็นภัยในการที่นางพญาจะให้เอาขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินแล้ว นางพญาก็ให้ปลัดวังเอาราชยานและเครื่องสูงแตรสังข์กับขัติยวงศ์ ออกไปรับขุนวรวงศาธิราช เข้ามาในพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน แล้วตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก (ไม่ใช่ปราบดาภิเษก) ยกขุนวรวงศาธิราชขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อจากนั้น ก็ดปรดให้เอานายจันทร์ผู้น้องขุนวรวงศาธิราช บ้านอยู่มหาโลก (ที่วัดมหาโลก ใต้พะเนียด ตรงหัวรอข้าม) เป็นมหาอุปราช ซึ่งทั้งนี้ขุนวรวงศาธิราช คงต้องการคนสนิทที่ไว้ใจได้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ขุนวรวงศาธิราช ก็ปรึกษากับนางพญาว่า

“บัดนี้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยรักเราบ้างชังเราบ้าง หัวเมืองเหนือทั้งปวงก็ยังกระด้างอยู่ เราจำจะให้หาลงมาผลัดเปลี่ยนเสียใหม่ จึงจะจงรักภักดีต่อเรา”

นางพญาก็เห็นด้วย ครั้นรุ่งขึ้น เสด็จออกขุนนางสั่งสมุหนายกให้มีตราขึ้นไปหาเมืองเหนือเจ็ดเมืองลงมาเหตุการณ์ต่อจากนี้ไป ก็นับเนื่องอยู่ใน “กฎแห่งกรรม” อีก กล่าวคือ ขุนวรวงศาธิราชได้ราชสมบัติมาด้วยการ “ชิง” ก็ย่อมเสียราชสมบัติไปด้วยการ “ชิง” เช่นกัน ข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีว่า

“ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพ เชื้อพระวงศ์กับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หาหลวงศรียศ บ้านลานตากฟ้า สี่คนไว้ใจกัน เข้าไปในที่ลับแล้วปรึกษากันว่า เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศดังนี้ เราจะละไว้ดูไม่ควร จำจะกุมเอาตัวขุนวรวงศาธิราชประหารชีวิตเสีย ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ จึงว่า ถ้าเราทำได้สำเร็จแล้ว จะได้ผู้ใดเล่าที่จะปกป้องครองประชาราษฎร์สืบไป ขุนพิเรนทรเทพจึงว่า เห็นแต่พระเทียรราชาที่บวชอยู่นั้นจะเป็นเจ้าแผ่นดินได้ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศจึงว่า ถ้าฉะนั้น เราจะไปเฝ้าพระเทียรราชา ปรึกษาให้เธอรู้ จะได้ทำด้วยกัน แล้วขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ ก็พากันไปยังวัดราชประดิษฐาน เข้าไปเฝ้าพระเทียรราชา นมัสการ จึงแจ้งความว่าทุกวันนี้ แผ่นดินเป็นทุรยศ ข้าพเจ้าทั้งสี่คนคิดกันจะจับขุนวรวงศาธิราชฆ่าเสีย แล้วจะเขิญพระองค์ลาผนวช ขึ้นครองสิริราชสมบัติจะเห็นประการใด พระเทียรราชาก็เห็นด้วย”

ตอนนี้ ก็ไม่ทราบว่า ทำไมพระเทียรราชาซึ่งยังทรงผนวชอยู่ จึงได้เห็นด้วยง่ายนักกับขุนนางทั้งสี่คน เห็นจะเป็นเพราะเริ่มต้นคิดมาด้วยกันมากกว่า และเมื่อได้ตกลงกันแล้ว ขุนนางทั้งสี่ก็ใช้วิธีเสี่ยงอธิษฐาน เป็นเครื่องตัดสินว่า งานที่ตนจะทำไปนั้น เป็นการได้ชัยชนะหรือไม่ ท่านลองอ่านสข้อความในพระราชพงศาวดารตอนนี้ดูแล้ววินิจฉัยว่า ทั้ง 4 คนนี้มีความกล้าหรือไม่

“ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ จึงว่า เราคิดการทั้งนี้เป็นการใหญ่หลวงนัก จำจะไปอธิษฐานเสี่ยงเทียนเฉพาะพักตร์พระพุทธปฏิมากรเจ้า ขอเอาพระพุทธคุณเป็นที่พำนัก ให้ประจักษ์แจ้งว่า พระเทียรราชากอปรด้วยบุญบารมีจะเป็นที่ศาสนูปถัมภก ปกป้องอาณาประชาราษฎรได้หรือ มิได้ประการใดจะได้แจ้ง พระเทียรราชาก็เห็นชอบด้วย ขุนพิเรนทรเทพจึงว่าเราคิดการใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ อนึ่งก็ได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว ถ้าเสี่ยงเทียนมิสมดังเจตนาจะมิเสียชัยสวัสดิมงคลไปหรือ ถ้าไม่เสี่ยงเทียน ตกจะไม่ทำหรือประการใด ว่าแล้วต่างคนก็ต่างไป

“ครั้นค่ำลงวันนั้น ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ พระเทียรราชา ก็ชวนกันฟั่นเทียนสองเล่ม ขี้ผึ้งหนักเท่ากัน ด้ายไส้นั้นนับเส้นเท่ากัน เล่มเทียนสั้นยาวเสมอกัน แล้วก็พากันไป ณ อุโบสถวัดป่าแก้ว ฝ่ายพระเทียรราชากราบถวายนมัสการพระพุทธปฏิมากรเจ้าโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงกระทำเสี่ยงวจีสัจจาธิษฐาน

“…ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำสัตย์เสี่ยงเทียนของข้าพระองค์เล่มหนึ่ง ของขุนวรวงศาธิราชเล่มหนึ่ง ถ้าข้าพระองค์จะสมลุมโนรถความปรารถนา ด้วยบุญญาธิการโบราณและปัจจุบันกรรม ควรจะได้มหาเศวตฉัตรสกลรัฐธิปไตย… ขอให้เทียนขุนวรวงศาธิราชดับก่อน ถ้ามิสมลุดังมโนรถความปรารถนาแล้ว ขอให้เทียนข้าพระองค์ดับก่อน…”

อธิษฐานเสร็จแล้ว ก็จุดเทียนทั้งสองเล่มนั้นเข้า ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพไปถึง เห็นเทียนขุนวงวงศาธิราชยาวกว่าเทียนพระเทียรราชา ก็โกรธจึงว่า

"ห้ามมิให้ทำสิขืนทำเล่า ก็คายชานหมากดิบทิ้งไป จะได้ตั้งใจทิ้งเอาเทียนขุนวรวงศาธิราชนั้นหามิได้ เป็นศุภนิมิตรเหตุพอไปต้องเทียนขุนวรวงศาธิราชดับลง”

เห็นได้ว่าขุนพิเรนทรเทพ หรือพระมหาธรรมราชาในกาลต่อมา เป็นบุคคลที่เรียกว่ามีความกล้า และเชื่อในการกระทำของตัวเองกว่าคนอื่น ๆ เรื่องที่ทำให้ขุนวรวงศาธิราชและนางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสียราชสมบัตินั้น เนื่องมาจากช้าง คือหลังจากวันเสี่ยงเทียนประมาณ 15 วัน กรมการเมืองลพบุรีบอกลงมาว่า ช้างพลายสูงหกศอกสี่นิ้ว หูหางสรรพต้องลักษณะติดโขลง สมุหนายกจึงนำความขึ้นกราบทูล ขุนวรวงศาธิราช ตรัสว่า เราจะขึ้นไปจับ อยู่อีกสองวันจะเสด็จ แต่แล้วมีตราสั่งงดการเสด็จเสีย คงให้กรมการจับกันเอง ครั้นต่อมาประมาณ 7วัน โขลงช้างชักปกเถื่อน เข้ามาทางวัดแม่นางปลื้ม เข้าพะเนียดวัดซอง (พะเนียดครั้งแรกก่อนขุคูชื่อหน้า และก่อกำแพงพระนคร) สมุหนายกก็นำความขึ้นกราบทูลอีก ขุนวรวงศาธิราชตรัสว่า พรุ่งนี้เราจะไปจับ

ครั้นเวลาค่ำ ขุนพิเรนทรเทพจึงสั่งหมื่นราชเสน่หา นอกราชการให้ออกไปคอยทำร้ายมหาอุปราช (นายจันทร์) อยู่ที่ท่าเสื่อ (ใกล้วัดซอง เป็นชื่อท่าข้ามคลองประตูข้าวเปลือก) สั่งแล้ว พอพระยาพิชัยพระยาสวรรคโลกลงมาถึง ขุนพิเรนทรเทพจึงให้ไปบอกโดยความลับ พระยาพิชัยพระยาสวรรคโลกก็ดีใจจึงไปซุ่มอยู่ที่คลองบางปลาหมอ (คงอยู่ใกล้กับวัดสระบัว) พร้อมพับขุนพิเรนทรเทพ หลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หา ในราชการขี่เรือคนละลำ พลพายมีศัสตราวุธครบมือ ฝ่ายหมื่นราชเสน่หานอกราชการถือปืนไปแอบคอยอยู่ ทำอาการดุจหนึ่ง ทนายเลือก ครั้นเห็นมหาอุปราชขี่ช้างจะไปพะเนียด หมื่นราชเสน่หาก็ยิงถูกมหาอุปราชตกช้างลงตาย

ครั้นเช้าตรู่ ขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ราชบุตรี รวมทั้งพระศรีศิลป์ก็ลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกัน มาตรงคลองสระบัว (เวลานั้นยังไม่ได้ขุด) ขุนอินทรเทพตามประจำมา ขุนพิเรนทรเทพ พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก หลวงศรียศ หมื่อนราชเสน่หาในราชการ ครั้นเห็นเรือพระที่นั่งขึ้นมาก็พร้อมกันสกัด ขุนวงวงศาธิราชร้องไปว่า เรือใครตรงเข้ามา ขุนพิเรนทรเทพร้องตอบไปว่า กูจะมาเอาชีวิตเอ็งทั้งสอง ฝ่ายขุนอินทรเทพก็เร่งให้พายรีบกระหนาบเรือพระทั่นั่งขึ้นมา แล้วชวนกันเข้ากลุ้มรุมจับขุนวรวงศาธิราช กับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และบุตรีซึ่งเกิดมาด้วยกันนั้นฆ่าเสีย แล้วให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง (อยู่ในคลองสระบัว)

ขอจบเรื่อง “นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” ลงด้วยข้อเขียนของ “ยาขอบ” ซึ่งเขียนเป็นทำนองคำนำเรื่อง “รักหลังราชบัลลังก์” ท่านผู้นี้ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เป็นนักประพันธ์ แต่เมื่อนักประพันธ์เขียนเรื่องประวัติศาสตร์ก็สนุก

“พงศาวดารปล่อยตัวขุนวรวงศาออกมาปรากฎคราวแรก เมื่อตอนแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ประพาสหอพระฝ่ายหน้า แล้วขุนวรวงศาซึ่งขณะนั้นยังเป็นพันบุตรศรีเทพสำแดงตนออกมาจากพงศาวดารในตำแหน่งผู้เฝ้าหอพระนั้น พงศาวดารยืนยันว่า ความรักชนิดแรกพบ ได้เกิดแก่นางแม่อยู่หัวโดยใช้บันทึกว่า “พอทอดพระเนตรเห็นก็มีความเสน่หารักใคร่…”

“ไม่เข้าใจว่าทำไม เมื่อแม่ม่ายผัวตายแต่ยังสาวอายุ 30 ปี กับผู้ชายซึ่งอายุอาจอ่อนกว่าบ้าง เกิดพิสมัยรักใคร่กัน จึงถือเป็นความผิด หรือถ้าจะด้วยความเป็นเจ้าเป็นข้าต่างวรรณะซึ่งกันและกัน ก็ความรักนั้นมีอะไรกีดกั้นได้ อย่าว่าแต่ความแตกต่างของชั้นวรรณะเลย แม้ลัทธิศาสนาก็ยังกีดกันไม่ได้ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นบอกถึงพระนางโดมิโก พระเจ้าแผ่นดินผู้หญิงพระองค์หนึ่งของประเทสอาทิตย์อุทัย รักกับนักบวชแห่งพุทธ นี่คืออภินิหารแห่งความรัก และเราจะเอาอะไรหนักหนากับความรักที่ผิดแต่ในด้านต่างชั้นวรรณะ เช่นแม่อยู่หัวม่ายสาว และเจ้าหนุ่มผู้เฝ้าหอพระ

“…ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความสัมพันธ์ของคนทั้งสองถูกฉุดให้ต่ำลงมาทั้งหมด ด้วยความต้องการอย่างเดียว คือ จะให้สมลักษณะที่คนชั่วช้าพึงกระทำเท่านั้น จะเห็นได้ว่าผู้บันทึกพงศาวดารได้ใช้ความพยายามในข้อนี้ไม่น้อย ถึงกับยืนยันบันทึกไว้ดุจตนเองได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจพันบุตรศรีเทพ…

“…หรือถ้าจะกล่าวกันว่าแม่ศรีสุดาจันทร์สันดานกำเริบราคะจริตนัก ก็ขุนชินราชผู้รักษาหอพระข้างในคนเก่ามีอยู่ จะต้องสับเปลี่ยนเอาตัวผู้รักษาหอพระข้างหน้าเข้ามาในทำไมกัน? ข้อนี้ หากจะมีข้อสันนิษฐานเถียงกันไปอีกว่าขุนชินราชไม่หนุ่มกระชุ่มกระชวยสวยเหมือนพันบุตรศรีเทพ… ก็เราเข้าใจกันว่าฝ่ายหญิงสันดานหนักไปทางนี้แล้ว ก็คนที่มีสันดานหนักในทางนี้แล้ว ก็คนที่มีสันดานหนักในกาม และถึงปานฉะนี้ด้วย ทั้งเพศชายเพศหญิงย่อมเหมือนกันหมด คือไม่ปรากฎว่า ต้องพิถีพิถันเลือกรูปและวัยของอีกฝ่ายหนึ่งเลย คนที่มีสันดานเช่นนี้ย่อมมุ่งแต่จะได้เริงโลกีย์เป็นสำคัญ แม่ศรีสุดาจันทร์สันดานกำเริบราคะจริงแล้ว จะร้อนรนเอาพันบุตรศรีเทพเข้าไปรักษาหอพระข้างในทำไมกัน ในเมื่อขุนชินราชก็เป็นผู้ชายบริบูรณ์ ?

“…เราพบหลายมือในพงศาวดาร ที่ไม่ได้สะอาดไปกว่ามือขุนวรวงศาธิราช แต่ทำไมเราจะเจาะจงเอาแต่มือเจ้ากรรมมือเดียว ว่าเป็นมือที่ลักราชสมบัติ ?”



- - - - - - - - - - - - - - - -



4 .สมเด็จพระสุริโยทัย


พระราชสวามีของพระนางทรงมีโชคในเรื่องช้างจนได้รับสมัญญาว่า “พระเจ้าช้างเผือก” แต่พระนางกลับสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

ประเทศไทยมีพระราชินีที่เป็นวีรสตรีเพียงองค์เดียว คือ พระสุริโยทัย เรื่องเกิดเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จขึ้นครองราชสมบัติไม่ทันถึงปี

พงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตั้งเป็นอิสระได้ในเมืองตองอู แล้วสะสมกำลังทหารไว้เป็นอันมาก โดยมีแม่ทัพที่เข้มแข็งมากคนหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นพี่เขยของพระองค์ด้วย ชื่อว่ากยอดินนรธา (แปลว่า ผู้มีอำนาจ) ต่อมาดได้เลื่อนเกียรติยศเป็นบุเรงนอง (แปลว่า พี่) ทั้งคู่ช่วยกันทำศึกสงครามดีได้ไทยใหญ่ และเมื่อพม่ารามัยสิ้น แล้วจึงตั้งราชธานีที่หงสาวดี สาเหตุที่จะมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น พงศาวดารพม่าว่าจะไปตียะไข่ แต่ไทยกลับไปตีทะวายก่อน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เสด็จกลับจากเมืองยะไข่ ก็ทรงพระพิโรธ จึงยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา

ใน พ.ศ. 2086 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะเสด็จยกพยุหโยธา ออกไปดูกำลังศึก ที่ทุ่งภูเขาทอง จึงทรงเครื่องอลังการยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว เป็นพระคชาธาร พระสุริโยทัยเอกอัครราชมเหสีก็โดยเสด็จด้วย โดยประดับพระองค์เป็นพระยามหาอุปราชทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้าง “พลายทรงสุริยกษัตริย์” สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร สำหรับพระราชโอรสนั้น พระราเมศวรทรงเครื่องสำหรับพิชัยสงคราม เสด็จทรงช้างต้น พลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว และพระมหินทราธิราชทรงเครื่องสำหรับพระมหาพิชัยยุทธ ทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว

เห็นได้ว่าช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์ ซึ่งเป็นช้างทรงของพระสุริโยทัยนั้น มีขนาดสุงที่สุดในกระบวนช้างแม่ทัพฝ่ายไทย คือสูงถึงหกศอก แต่ถ้าเทียบกับช้างศึกของฝ่ายพม่าแล้ว ช้างทรงของพระสุริโยทัยกลับต่ำกว่า ช้างของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ คือช้างต้นพลายมงคลทวีปสูงเจ็ดศอกและช้างของพระเจ้าแปรผู้ปลงพระชนม์พระนาง ชื่อพลายเทวนาคพินาย สูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว สูงกว่าช้างทรงของพระสุริโยทัยคืบเจ็ดนิ้วเต็ม

ในการศึกตอนนี้ ขอเสนอข้อความจากพระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา

“สมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ก็ยกหยุหโยธาทวยหาญ ออกตั้งยังท้องทุ่ง ตรงหน้าทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ห่างกันประมาณร้อยเส้น เสด็จยืนพระคชาธารคอยฤกษ์ จึงตรัสให้พลม้ารำทวน ชักชิงคลองกันไปให้พลเรืองหน้าทัพ ฝ่ายพลเครื่องเล่นเต้นรำร้องเฮฮาเป็นโกลาหล ฝ่ายพลดาบดั้ง ดาบสองมือ ก็รำล่อเลี้ยวกันไปมา

“ขณะนั้น สมเด็จพรเจ้าหงสาวดี ทอดพระเนตรดูบนอากาศ เห็นพระอาทิตย์แจ่มดวงหมดเมฆหมอก แล้วมีคิชฌราชบินนำหน้าทัพ ครั้นเห็นศุภนิมิตรราชฤกษ์ดังนั้น ก็ให้ลั่นฆ้องชัยอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรีขึ้นพร้อมกัน ก็ตรัสให้ขับพลเข้าโจมตีทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

“ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิดำรัสให้แยกพลเป็นปีกกา พลโยธาหาญทั้งสองฝ่าย บ้างเห่โห่เป็นโกลาหล เข้าปะทะประจันตีฟันแทงแย้งยุทธ์ ยิงปืนระดมศัสตรางธุมาการตระหลบไปทั้งอากาศ พลทั้งสองฝ่ายบ้างตายบ้างลำบากกลิ้งกลาดเกลื่อนท้องทุ่งเป็นอันมาก

“สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกเช่นนั้น ก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างกพระมหาจักรพรรดิพระสุริโยทัยเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับพระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสะพระสุริโยทัยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันเข้าแก้พระราชมารดาได้ทันที พอพระขนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครใต้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก

“สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จึงให้เชิญพระศพพระสุริโยทัยผู้เป็นพระอัครมเหสีมาไหว้ตำบลสวนหลวง”

ยุทธหัตถีคราวนี้ หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า มีพระราชธิดาสิ้นพระชนม์กับสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

เนื่องจากเราเสียพระสุริโยทัยไปกับคอช้าง จึงเห็นว่าเราน่าจะศึกษาเรื่อง “ช้าง” กันให้ละเอียดสักหน่อย เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ได้พระนามอีกอย่างหนึ่งว่า “เพราะเจ้าช้างเผือก” และเรียกสงครามกับพม่าว่า “สงครามช้างเผือก”

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้างในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักพรรดิมีดังนี้

เดือน 8 พ.ศ. 2078 เสด็จไปวังช้าง ตำบลบางละมุง ได้ช้างพลายพัง 60 ช้าง
เดือน 12 พ.ศ. 2078 ได้ช้างเผือก ตำบลกาญจนบุรี สูง 4 ศอกเศษ ให้ชื่อพระคเชนทโรดม
เดือน 12 พ.ศ. 2079 นักพระสุทัน ซึ่งเป็นพระราชบุตรของพระยาละแวก (มาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2075) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ไปครองสวรรคโลก ครั้นในปีนี้ญวนตีละแวกได้ ฆ่าบิดานักพระสุทันเจ้าเมืองละแวก จึงโปรดให้นักพระสุทันไปตีเมืองละแวกคืน ครั้งนั้นปรากฏว่าเสียนักพระสุทันกับคอช้างเหมือนกัน (ก่อนพระสุริโยทัย 7 ปี)
เดือน 5 พ.ศ. 2080 พระราชทานสัตสดกมหาทาน และให้ช้างเผือกมีกองเงินสี่เท้าช้าง เป็นเงินพันหกร้อยชั่ง
เดือน 7 พ.ศ. 2080 เสด็จไปวังช้าง ตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพัง 60 ช้าง
พ.ศ. 2081 เสด็จไปวังช้าง ตำบลแสนตอ ได้ช้างพลายพัง 40 ช้าง
พ.ศ. 2083 เสด็จไปวังช้าง ตำบลวัดกะได ได้ช้างพลาย 50 ช้าง
พ.ศ. 2085 เสด็จไปวังช้าง ตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลาย 70 ช้าง
พระเจ้าหงสาวดีขอแลกพระมหินทราธิราชและพระราเมศวรกับช้างพลาย 2 เชือก คือ ช้างพลายศรีมงคลทวปเห็นหมอควานผิดเสียง ก็อาละวาดเอาไว้มิอยู่ ต้องส่งกับคืนไทย
พ.ศ. 2088 เสด็จวังช้าง ตำบลไทรย้อย ได้ช้างเผือกพลายสูงสี่ศอกสิบนิ้วช้างหนึ่ง ให้ชื่อพระรัตนากาศ
พ.ศ. 2089 เสด็จวังช้างป่าเพชรบุรี ได้ช้างเผือกพลายสูงสี่ศอกเศษ ให้ชื่อพระแก้วทรงบาศ
เดือน 10 พ.ศ. 2089 เสด็จตำบลป่ามหาโพธิ์ ได้ช้างเผือกลูกเป็นเผือก พังแม่ก็เป็นเผือก
พ.ศ. 2090 เสด็จไปทะเลชุบศร ได้ช้างป่าเป็นเผือก ชื่อพระบรมไกรสร
เดือนอ้าย ปลายปีเดียวกันนี้ ได้ช้างเผือกพลาย ตำบลป่าน้ำทรง สูงสี่ศอกคืบ ให้ชื่อพระสุริยกุญชร
เนื่องจากทรงมีช้างเผือกรวมทั้งสิ้นถึง 7 ช้าง พระเจ้าหงสาวดีจึงมีพระราชสาส์นมาขอ 2 ช้าง อันเป็นสาเหตุแห่งสงครามช้างเผือกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีลูกเธอหลายพระองค์ เฉพาะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเกิดด้วยสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสีมี 5 พระองค์ คือ
พระราเมศวร ราชโอรสพระองค์ใหญ่
พระมหินทร
พระสวัสดิราช ที่ประทานนามว่า พระวิสุทธิกษัตรี เมื่ออภิเษกกับพระมหาธรรมราชา
พระราชบุตรี ไม่ปรากฎพระนาม (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า เสียพระชนม์ในกลางศึกคราวเดียวกับพระสุริโยทัย)
พระเทพกษัตรี
พระเทพกษัตรีเนื่อง ที่เป็นเครื่องพิสูจน์เกียรติคุณของสมเด็จพระสุริโยทัย ว่าความเป็นวีรกษัตรีของพระนางครั้งนั้น เลื่องลือไปจนถึนานาประเทศเพราะหลังจากพระนางสิ้นพระชนม์กลางศึกคราวนั้นแล้ว ล่วงมาอีก 2 ปี คือใน พ.ศ. 2093 พระไชยเชษฐา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (ลานช้าง) ทราบว่าพระราชบุตรีพระสุริโยทัย จำเริญวัยวัฒนาขึ้นแล้ว ก็แต่งทูตให้ถือพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการมาถวายแกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพื่อทูลขอพระเทพกษัตรี

ข้อความในพระราชสาสน์ ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีดังนี้

“ข้าพระองค์ผู้อ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระปีตุลาธิราช… ข้าพระองค์ยังไม่มีเอกอัครราชกัลยาณีที่จะสืบศรีสุริยวงศ์ในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้

“ข้าพระองค์ ขอพระราชทานพระราชธิดา อันทรงพระนามพระเทพกษัตรี”

สมเด็จพระมหาจักพรรดิหลังจากได้ประชุมท้าวพระยามุขมนตรีแล้ว ก็ดำรัสให้ตอบพระราชสาส์นขึ้นไปว่า

“ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีพระทัยจะร่วมพระราชโลหิตเป็นมหาสัมพันธมิตรไมตรีนั้น สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงพระอนุญาตแล้วให้แต่งมารับเถิด”

พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ก็แต่งทูตานุทูตกับไพร่ 500 และท้าวนางเถ้าแก่ลงมารับ ตอนนี้พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า พระเทพกษัตรีทรงพระประชวรหนัก พระมหาจักรพรรดิจึงยกพระแก้วฟ้า ราชธิดาอันเกิดจาก พระสนมให้แทน

ตอนต่อจากนี้ไป ก็คือการที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต โปรดให้ส่งสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุศรีคืน แต่เนื่องจากเรามีพระราชพงศาวดารตอนนี้ทุกฉบับ จึงขอนำมาเสนอเปรียบเทียบไว้ในที่นี้ เพื่อท่านจะได้วินิจฉัยถูกต้องว่าหนังสือพระราชพงศาวดารเหล่านี้ต่างฉบับผิดกันอย่างไร ของเดิมแต่งไว้อย่างไร และเกิดการแก้ไขกันเป็นชั้น ๆ โดยลำดับมาอย่างไร

ความฉบับหลวงประเสริฐ

(ฉบับเก่าที่สุดที่หาได้)

“ศักราช 916 ชวดศก พระเจ้าล้านช้าง จึงได้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้า พระราชบุตรี ลงมาส่งยังพระนครศรีอยุธยา และว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเทพกษัตรีเจ้านั้น และจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกษัตรีเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง”

ความฉบับ จ.ศ. 1136

“ในขณะพระแก้วฟ้า พระราชบุตรีพระเจ้าช้างเผือกปราสาททอง เธอส่งให้ไปถวายแก่พระยาล้านช้างนั้น ครั้นพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีไปถึงเมืองล้านช้างพระยาล้านช้างก็ว่า เราจะเพราะให้ไปขอพระเทพกษัตรี และพระแก้วฟ้าราชบุตรีนี้ เรามิได้ให้ไปขอ และเราจะส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนไปยังพระนครศรีอยุธยา และจะขอพระเทพกษัตรี ซึ่งจำกัดแต่ก่อนนั้น ครั้นเสด็จการศึกช้างเผือก พระยาล้านช้างก็แต่งพระยาแสน 1 พระยาทิพมนตรี 1 ให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรี และพระยาล้านช้างให้แต่งพระราชสาส์นมาถวาย ว่าจะขอพระเทพกษัตรี พระยาช้างเผือกก็ตรัสบัญชาตาม จึงตกแต่างการที่จะส่งพระเทพกษัตรีไปให้แก่พระยาล้านช้าง”

ความฉบับ จ.ศ. 1145

“ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า ใช่องค์พระเทพกษัตรี ก็เสียพระทัยนัก จึงตรัสว่าเดิมเราจำนงขอพระเทพกษัตรี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระสุริโยทัย อันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับคอช้าง เป็นตระกูลวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เป็นทูตานุทูตให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังพระนครศรีอยุธยา และมีพระราชบรรณการมาถวายสมเด็จพระมหาจักพรรดิ พระเจ้าช้างเผือก ในลักษณะพระราชสาส์นนั้นว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกษัตรีให้ กิตติศัพท์นี้ก็ทั่วไปในนิคมชนบทของขัณฑเสมากรุงศรีสันตคนหุตสิ้นแล้ว บัดนี้พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีเปลี่ยนไปแทนนั้น ถึงมาตรว่าพระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์กว่าพระเทพกษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไปล้างกิตติศัพท์พระเทพกษัตรีเสียได้ก็เป็นอัปยศทั่วกัลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วฟ้าพระราชธิดาคืน จงพระราชทานพระเทพกษัตรีแก่ข้าพระองค์ ดุจมีพระราชสาส์นอนุญาตมาแต่ก่อน” สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก แจ้งในลักษณะพระราชสาส์น และส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดังน้น ก็ละอายพระทัยนัก พอพระเทพกษัตรีหายประชวรพระโรค จึงตกแต่างการที่จะส่งพระราชธิดา

สำหรับความในพระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ คือ ฉบับ จ.ศ. 1157 ฉบับพิมพ์ 2 เล่ม และฉบับพระราชหัตถเลขา ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่มีการตกแต่งแก้ไข โดยมุ่งความไพเราะและสละสลวยเป็นสำคัญ จึงเป็นอันแน่ใจได้ว่า การต้องเป็นไปในทำนองนี้แน่ กล่าวคือต่อมาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็พระราชทานพระเทพกษัตรีไปให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต สาเหตุที่พระไชยเชษฐา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ต้องขอพระเทพกษัตรีไปเป็นพระมเหสีนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานคำอธิบายว่าเพราะมเหสีที่มีอยู่ มอญจับเอาไปเสียหมด และเป็นเวลากำลังแค้นพระเจ้าหงสาวดี เหมือนกับพระมหาจักรพรรดิ พระมหาจักรพรรดิเห็นว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตพอจะเป็นกำลังช่วยแก้แค้นได้ จึงอนุญาตประทานราชธิดาตามที่ขอมานั้น

เรื่องที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งพระเทพกษัตรีไปประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต และพระเจ้าหงสาวดีแย่งเอาไปเสียกลางทางนั้น มีต้องกันในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ และฉบับพระราชหัตถเลขา ส่วนพงศาวดารล้านช้าง และพงศาวดารพม่าไม่ปรากฎ

พงศาวดารพม่าว่า พระมหาอุปราชาไปตีเวียงจันทน์ จับพระมเหสีของพระไชยเชษฐาได้ 3 พระองค์ พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระแก้วมโนห์ราเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

ในคราวพระเทพกษัตรีนั้น พงศาวดารพม่ากล่าวว่า พ.ศ. 2019 ราชทูตของพระมหาธรรมราชาไปถึงเมืองหงสาวดี พาพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชา มีนามว่าพระอินทรเทวี ไปถวายพระเจ้าหงสาวดีน่าจะเชื่อตามสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่าพระอินทรเทวีน่าจะเป็นพระเทพกษัตรีนั้นเอง หลังจากเสร็จการศึกครั้งใหญ่กับพม่าแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็โปรดให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพพระสุริโยทัย แล้วให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้น เป็นเจดีย์วิหารเสร็จแล้ว ให้นามว่า “วัดสบสวรรค์”

หนังสือพงศาวดารเหนือ ค้านความตอนนี้ กับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา โดยพงศาวดารเหนือว่า พระยาแกรกให้ทำฌาปนกิจพระยาโคตระบอง และสร้างวัดลงตรงที่ทำศพนั้นให้ชื่อว่า วัดสบสวรรค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เฑอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานคำอธิบายว่า วัดสบสวรรค์ น่าจะมีมาก่อน เมื่อสมเด็จพระสุริโยทัยทิวงคต แล้วจึงอัญเชิญพระศพมาไว้ที่สวนหลวง ซึ่งเขตอยู่ติดกับวัดสบสวรรค์ ครั้นเสร็จการศึกจึงปลูกพระเมรุทำพระศพในสวนหลวง ที่ติดต่อกับเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างวัดขึ้นที่ตรงนั้นอีกวัดหนึ่ง เรียกว่าวัดสวนหลวงสบสวรรค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย ยังปรากฏอยุ่ในเขตโรงทหารที่กรุงเก่ามาจนทุกวันนี้

- - - - - - - - - - - - - -




Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:11:40 น. 0 comments
Counter : 1039 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.