|
ภูเขาทอง
 ภูเขาทอง กรุงเทพฯ หรือ พระบรมบรรพต จากสมุดภาพเมืองไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
ภูเขาทอง
วันนี้จะเล่าเรื่องภูเขาทองให้ท่านฟังดังนี้ เนื่องแต่เมื่อเสียกรุงให้แก่ข้าศึก พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น เราถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยจนเหลือกันอยู่เพียง ๖,๐๐๐ คนเศษ บ้านเมืองโดยเฉพาะทางเหนือถูกทอดทิ้งรกร้างเพราะไม่มีคนจะรักษาซ้ำเรายังต้องตีกันเองเพื่อรวบรวมอำนาจให้เป็นปึกแผ่นได้มั่นคงเป็นเวลาถึง ๒๕ ปี จึงได้ลงมือสร้างพระนครกรุงเทพฯ แผนผังพระนครกรุงเทพฯ นั้น ลอกแบบพระนครกรุงเก่ามาทุกอย่าง แม้ชื่อวัดก็นำมาตั้งให้วัดเก่าๆ ที่มีอยู่ทางกรุงเทพฯ นี้ ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ข้าศึกเห็นว่ากรุงศรีอยุธยานั้นมิได้ล่มจม เป็นแต่ย้ายราชธานีมาตั้งในที่ใหม่เท่านั้น
ในกรุงเก่านั้น มีวัดภูเขาทองอยู่วัดหนึ่งทางเหนือพระราชวัง สมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสของพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๐ ภายหลังสร้างกรุงเก่าแล้ว ๒๗ ปี ถึงกรุงเทพฯ พระมหานครนี้ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชปรารภจะสร้างพระปรางค์อีกองค์หนึ่งทางฝั่งพระนคร จึงโปรดให้พระยาศรีพิพัฒย์รัตนราชโกษาเป็นแม่กอง ก่อฐานถมดินและลงรากเข็ม แต่ดินทางแถววัดสระเกศเป็นที่ลุ่ม ไม่ตั้งรากฐานให้แน่นหนาได้ จึงรับงานนั้นไว้ด้วยพูนดินไว้ก่อน
ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้ก่อพระเจดีย์บนเนินนั้น และเรียกว่าพระบรมบรรพต-ในทางราชการ แต่สามัญชนเรียกว่า ภูเขาทอง ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาล รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาพิพัฒน์รัตนโกษา(แพ บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้ทำการก่อสร้างค้างมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ให้ทำการก่อสร้างต่อไปให้สำเร็จได้ในพงศ. ๒๔๒๑ แล้วโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุโดยกระบวนแห่จากพระบรมมหาราชวัง ไปตั้งพิธีมณฑลแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระบรมธาตุนั้น ในพระเจดีย์องค์ใหญ่บนยอดภูเขาทอง ในวันพฤหัสบดี เดือนอาย แรม ๑๐ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับทางสุริยคติคือวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๑
การเล่นฉลองในงานสมโภชภูเขาทองนี้มีหลายอย่าง ดังมีรายละเอียดอยู่ในราชกิจจานุเบกษาดังนี้ ๑. ละครของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ ๒. หุ่นจีนของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ๓. พิณพาทย์ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง วง ๑ ๔. พิณพาทย์ของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา วง ๑ ๕. พิณพาทย์ของเจ้าพระยามหามนตรีศรีองครักษ์ วง ๑ ๖. พิณพาทย์ของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง วง ๑ ๗. พิณพาทย์ของพระยาพิไชยบุรินทรา วง ๑ ๘. พิณพาทย์ของจมื่นสรรเพชญ์ภักดี วง ๑ ทำให้เห็นว่าข้าราชการในสมัยก่อนนั้น ได้เอาใจใส่ในศิลปะอยู่มิใช่น้อย หรือจะเป็นการครองชีพไม่สูงจึงเลี้ยงผู้คนได้เป็นจำนวนมากก็เป็นได้
ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ ลอร์ด เคอสัน อุปราชอินเดีย (Lord Curson Viceroy of India) มีจดหมายเข้ามากราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า บัดนี้มีมิสเตอร์ พีล (Mr. Peel) คนอังกฤษคนหนึ่งออกไปทำไร่ถางพงในเมืองกบิลพัสดุ์ได้พบพระเจดีย์ร้างองค์หนึ่งหักโค่นหมดแล้ว คงเหลือแต่กองดิน จึงเกลี่ยให้เป็นพื้นราบ ก็ได้พบผอบที่บรรจุพระบรมธาตุอยู่ในพื้นดินนี้ มีผอบอยู่ตรงกลาง และผอบเล็กอยู่ล้อมรอบอีก ๖ ผอบ มิสเตอร์พีลไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชนก็ไม่ได้เอใจใส่เป็นพิเศษ คิดเห็นเป็นเพียงโบราณวัตถุเท่านั้น จึงเปิดผอบเหล่านั้นเทอัฐิซึ่งเป็นกระดูกคนรวมกันในขวดแกวใบหนึ่ง แล้วส่งไปให้พิพิธภัณฑสถานพร้อมทั้งผอบ ๗ ใบนั้น เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ทำการตรวจค้น จึงได้พบหนังสือคฤนถ์ซึ่งใช้ในสมัยพุทธกาล จารึกไว้ที่ผอบในกลางนั้นว่า พระอัฐิสมณโคดม แต่ผอบเล็กอีก ๖ ใบนั้นไม่มีคำจารึก เขาจึงรายงานไปยังอุปราชอินเดียให้ทราบ
อุปราชคือ ลอร์ด เคอสัน เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินในโลกนี้ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกก็มีอยู่พระองค์เดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเมืองไทย จึงสมควรจะทูลเกล้าฯ ถวายมา แล้วก็มีจดหมายเข้ามากราบทูลเป็นทางการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (คือเจ้าพระยายมราช ปั้น สุขุม) ออกไปรับพระบรมธาตุนั้นมาจากประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๑
พระยาสุขุมนัยวินิต กลับมาถึงเมืองสมุทรปราการเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ นั้น โปรดเกล้าให้เชิญพระบรมธาตุขึ้นพักไว้ในพระวิหารที่พระสมุทรเจดีย์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง ลงไปนมัสการบูชาที่พระสมุทรเจดีย์นั้น เมื่อเปิดขวดออกทอดพระเนตรแล้ว เห็นว่ามีพระอัฐิรวมกันอยู่หลายองค์ ไม่เป็นที่แน่นอนโดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว จึงโปรดให้มีพระราชพิธีบรรจุพระอัฐิทั้งหมดนั้นไว้ในพระเจดีย์บนยอดภูเขาทองเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒
ผอบจำลองที่มีตัวอักษรจารึกว่า พระอัฐิพระสมณโคดม ที่พระยาสุขุมนัยวินิตขอมาจากพิพิธภัณฑ์ในอินเดีย เวลานี้ก็อยู่ในพิพิธภัณฑสถานของเรา เป็นที่เชื่อได้ว่าพระบรมธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องมีอยู่ในเจดีย์บนภูเขาทองนี้ส่วยหนึ่งแน่ และคงจะเป็นส่วนแบ่งของศากยวงศ์อยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ ผู้ที่ได้ไปถวายสักการบูชาในเวลางานประจำปี ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงจัดให้มีขึ้นเมื่อทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีธรรมการเป็นต้นมา ถ้าได้ทราบเรื่องราวเช่นนี้คงจะเกิดศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น และควรจะถือว่าเป็นสิริมงคลแก่เราทั่วกัน
.........................................................................................................................................................
คัดจาก "สารคดี้น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
Create Date : 21 กรกฎาคม 2550 |
Last Update : 21 กรกฎาคม 2550 16:46:30 น. |
|
0 comments
|
Counter : 3293 Pageviews. |
|
 |
|
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|