กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ห้องดำรง


อาคารเดิมหอสมุดดำรงราชานุภาพ



ห้องดำรง

การให้ของมีค่าเป็นสมบัติแก่ชาตินั้น ถ้าเป็นเรื่องในประเทศยุโรปหรืออเมริกา ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใดเลย เพราะเขาทำกันอยู่เสมอแล้ว แม้การให้แก่โลกโดยไม่เลือกชาติศาสนา เขาก็ทำกันได้และถือว่าเป็นยอดของจิตมนุษย์ด้วย ในเมืองไทยก็ได้มีผู้บริจาคมาแล้วมากมายเหมือนกัน เช่นโรงเรียน โรงพยาบาลและสิ่งของในพิพิธภัณฑ์เป็นต้น ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นแปลกประหลาดอันใดที่จะให้ห้องดำรงนี้แก่ชาติ แต่ได้มีเพื่อนฝูงหลายคนมาซักถามว่าเหตุใดจึงคิดให้ดังนี้ และในที่สุดรุ่งอรุณก็ขอให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ให้ ข้าพเจ้าลังเลใจว่าจะเขียนดีหรือไม่ดี แต่แล้วก็นึกได้ว่าการจดความจริงไว้ดีกว่าปล่อยให้เป็น “พระอินทร์สร้าง” ในภายหน้า แล้วก็ลงมือเขียนเล่าดังต่อไปนี้

ในสมัยเมื่อข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ในวงสมาคม พวกเพื่อนตามสถานทูตเคยถามว่า “พรินเซส ท่านเคยนึกถึงงานพ่อท่านที่ได้ทำไว้บ้างหรือเปล่า” ข้าพเจ้าถามว่า “ทำไมจะต้องนึกถึงเล่า” เขาตอบว่า “ฉันหมายความว่าต่อไปภายหน้าเมื่อไม่มีพระองค์ท่านแล้ว” ข้าพเจ้าสะดุ้งมองดูด้วยคำว่า “ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว” แล้วก็ตอบไปว่า “ยังไม่คิดละ” แต่..แล้วก็ทำให้ข้าพเจ้าคิดจริงๆ แต่นั้นมา เป็นแต่ยังไม่เห็นทางว่าจะทำอย่างไรดี

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ โชคชะจาเดาะเราไปสู่ยุโรปประเทศโดยมิได้นึกฝัน แล้วข้าพเจ้าก็เริ่มละเมอเพ้อพกไปตามความรู้เห็นใหม่ๆ นั้นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เมื่อข้าพเจ้าโผล่ขึ้นไปบนบันไดโรงออปราที่กรุงปารีส ได้เห็นท่านวากเนอร์ ท่านปูจินี และท่านโมซาต ฯลฯ ยืนถือโน้ตเป็นสง่าอยู่ ตัวโตใหญ่ และมีรูปหินอ่อนครึ่งตัวของผู้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงไว้เป็นระยะๆ ไปทั้งสองฟากโรงออปราที่มีชื่อเสียงนั้น ข้าพเจ้าร้องว่า “อ้อหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง” แล้วก็ตื่นเต้นดูอื่นต่อไป ครั้นข้ามทะเลไปถึงเมืองอังกฤษ เราก็ได้เข้าเฝ้าควีนอลิสซาเบธทรงฉลองพระองค์ของท่านประทับอยู่บนเก้าอี้ในห้องโบสถ์ เวมินสเตอร์ ถามผู้นำว่า “เหมือนหรือ” เขาตอบว่าพิมพ์จากพระพักตร์เมื่อสิ้นพะชนม์” เราได้พบท่านลอร์ดเนลซันใส่เสื้อและวิกของท่านอยู่หลังหมอนกำมะหยี่ที่วางดาบของนโปเลียนที่ ๑ ไว้ และมีเศษกระดาษลายพระหัตถ์ของนโปเลียนที่ ๑ เขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้ายอมแพ้และยอมเรียกชาติของท่านว่าผู้ครองทะเล”

ต่อมาเราไปดูพระราชวังวินเซอร์ พอก้าวขึ้นอัฒจันทร์ใหญ่ก็เห็นรูปเกราะยืนอยู่ตรงกลาง ข้าพเจ้าร้องทักออกไปทันทีว่า “แน่ เฮอรี่ที่ ๘” ราชบรรณารักษ์ผู้นำหันมาก้มหัวรับและอมยิ้ม แล้วเขาก็พาไปแวะดูกรอบกระจกติดไว้ที่ฝา มีหมวกและถุงตีนเด็กอ่อนและคอลเลอร์จีบซึ่งมีรอยจุดดำๆ ติดอยู่ในกรอบนั้น และมีการ์ดจดไว้ว่า “ของพระเจ้าชาร์ลที่ ๑” วันที่ลอร์ดแมร์เชิญเราไปกินกลางวันที่กรุงลอนดอน (City of London) เครื่องทองที่ตั้งอยู่กลางโต๊ะก็ล้วนแต่แกะสลักบอกเรื่องไว้ว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นๆ พระราชทานแก่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่และปีนั้นๆ ซึ่งย้อนหลังขึ้นไปตั้ง ๑๐๐ – ๒๐๐ ปี ท่านแมร์ก็ยินดีหยิบอวดให้เราดูเป็นชิ้นๆ ข้าพเจ้าอ้าปากว่า “ที่นี่ไม่มีใครตาย”

เมื่อกลับมาแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มคุยกับเสด็จพ่อว่า “แหมอยากเป็นคนไม่ตายบ้างจริง ทำไมเราไม่ทำอย่างนี้บ้าง มันหนุนกำลังดีพิลึก” ท่านทรงยิ้มอย่างสมเพชแล้วตรัสถามว่า “ทำยังไง” ข้าพเจ้าวางโตตอบว่า “ก็พระระเบียงวัดพระแก้มีถมไป ตั้งเข้าให้เป็นแถวก็จะดีจริงๆ” ท่านย้อนถามว่า “ใครจะเป็นคนเลือกว่าจะทำรูปใคร” ข้าพเจ้าดันต่อไปว่า “ก็เอางานที่ทำเป็นเครื่องตัดสินไม่ได้หรือ” ท่านทรงยิ้มแล้วตอบว่า “เธอมันยังรู้จักเมืองไทยน้อยนัก ถ้าเลือกผิดไปแม้คนเดียวมันก็หมดค่า แล้วจะเป็นประโยชน์อะไร นอกจากรกและรำคาญตา” ข้าพเจ้าหมดท่าตรงนี้เองเพราะเห็นว่าจริง

ครั้นเที่ยวต่อไปถึงเมืองแฮมเบิร์กพรินส์บิลมาร์ค หลานปู่ท่านบิสมาร์คเป็นผู้ใหญ่รวมอาณาจักรของเยอรมันนีได้เป็นปึกแผ่น เชิญเราไปเลี้ยงน้ำชาที่บ้าน แล้วพาดูห้องที่ท่านบิสมาร์ค เชิญเราไปเลี้ยงน้ำชาที่บ้าน แล้วพาดูห้องที่ท่าบิสมาร์คอยู่ เขาทิ้งไว้อย่างเวลามีชีวิตอยู่ทุกสิ่ง แม้กล้องยาสูบที่เป็นไม้เลวๆ ก็วางไว้ตรงที่เดิม เราดูแล้วก็รู้จักเจ้าของห้องได้ทันทีว่าเป็นคนชนิดไร ห้องนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกได้ว่า วามจนเป็นของไม่น่าอายเลย เราก็น่าจะทำได้เช่นห้องนี้ แล้วก็ลองพูดกับเพื่อนๆ ฝรั่งดูว่าอยากทำบ้าง เขาก็พากันเห็นชอบและหนุนว่าควรทำ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลเสด็จพ่อ เพราะข้าพเจ้ายังพูดเรื่องตายกับเสด็จพ่อไม่ได้เวลานั้น

ครั้นไปถึงเมืองแอมสเตอร์แดมด์ในฮอลแลนด์ มิสเตอร์ซาเดอแมนกงสุลเจนเนอราลของเรา ลุกขึ้นยืนสปีคด้วยอย่างหน้าแดง เมื่อลุกจากโต๊ะแล้ว มิสเตอร์ซาเดอแมนก็เดินมาหาข้าพเจ้าบอกว่า “พรินเซส นี่คือสปีคครั้งแรกของฉัน ความยินดีที่ได้รู้จักกับพ่อท่านให้ลืมอาย” ครั้นเห็นข้าพเจ้าขอบใจพอเป็นพิธี มิสเตอร์ซาเดอแมนก็พูดอย่างเคร่งขรึมต่อไปว่า “จริงๆ นะพรินเซส ท่านมีสิทธิเต็มที่ที่จะภาคภูมิใจในพ่อท่าน คนชนิดนี้เกิดมาเพื่อโลก เจาเป็นคนของโลกจริงๆ โลกเรามีคนชนิดนี้อยู่เพียง ๔ – ๕ คนเท่านั้น เผอิญคนหนึ่งใน ๔ – ๕ คนนี้ไปเกิดอยู่ในเมืองไทย” ข้าพเจ้าหัวเราะตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นคนไทยก็ควรจะภูมิใจซี ไม่ใช่ฉันคนเดียว” ทุกคนที่รู้จักมิสเตอร์ซาเดอแมนจะรับรอบได้ว่าเขาเป็นคนชั้น ๑ ทั้งรูปร่าง หน้าตา กิริยา และความสามารถ ไม่มีเกลียวหลวม (Screw loose) แต่อย่างไรแม้แต่น้อย ฉะนั้นข้าพเจ้าก็ตัวลอยกลับมาบ้าน และนึกอยู่ว่าเรามีสิทธิเต็มที่ที่จะภาคภูมิใจในพ่อของเรา

แต่...โลกย่อมหมุนไปสู่มืดและสว่างอยู่ทุกวินาที ไม่มีอะไรแน่นอนตามธรรมชาติ ฉะนั้นในเวลา ๒๐ เดือนต่อมาเสด็จพ่อของข้าพเจ้าก็หมุนไปตกชาตาเป็นคนขายชาติ หนังสือพิมพ์รายวันลงเรื่องต่างๆ ล้วนไม่มีดี ข้าพเจ้านึกปลอบใจตัวเองว่าเป็นคราวเคราะห์ แต่แล้วก็ได้พบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมียศเป็นถึงชั้นพระยา บอกข้าพเจ้าว่า “เรื่องขาย ๔ รัฐนี้ ใครๆ ก็เชื่อ คนที่มีอายุ ๓๐ ปีแล้วเชื่อทั้งนั้น กระหม่อมเองก็เชื่อเพราะเคยได้ยินเจ้านายท่านรับสั่งกัน” ข้าพเจ้าหัวเราะแล้วถามว่า “เอขายยังไงถึงไม่ถูกถอดเสียนานแล้ว” เจ้าคุณหัวเราะตอบว่า “ไม่รู้เลย” ถ้อยคำของเจ้าคุณผู้นี้บวกกับคำของมิสเตอร์ซาเดอแมน ชกตีกันยุ่งอยู่ในหูของข้าพเจ้า แล้วก็ทำให้ตกลงใจแน่นอนว่า จะต้องทำให้โลกรู้จักเสด็จพ่อจริงๆ ให้จงได้ ข้าพเจ้าเริ่มคิดถึงห้องดำรงแต่นั้นมา แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรและที่ไหน

ถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ เสด็จพ่อทรงตั้งต้นคิดทำพินัยกรรมใหม่ ท่านตรัสว่าจะต้องทำให้เหมาะแก่เวลา ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทูลตอบว่าอย่างไร จนเช้าวันหนึ่งในปีนัง เสวยกาแฟแล้วตรัสกับข้าพเจ้าว่า “พ่อตั้งเธอเป็นกรรมการคนหนึ่งในพินัยกรรม นั่งลงฟังเหตุผลก่อน” ข้าพเจ้ากำลังจะลุกไปทำงานก็กลับนั่งด้วยอาการไม่สบายใจ เพราะกลัวคำว่าพินัยกรรม ท่านตรัสต่อไปว่า “เพราะแม่เธอต้องทำขนมขายเมื่อแรกเข้ามาอยู่กับพ่อ” แล้วท่านทรงมองดูข้าพเจ้าด้วยน้ำพระเนตรเต็มพระเนตร ข้าพเจ้านั่งงงกลั้นหายใจแล้วรีบทูลตอบไปว่า “ขอประทานอย่าให้หม่อมฉันต้องฟังเรื่องพินัยกรรมเลย หม่อมฉันอยู่กับเสด็จพ่อด้วยความตั้งใจจะเป็นลูกดีและบูชาพระคุณที่ไม่เห็นมีใครเหมือน หม่อมฉันไม่อยากได้อะไรตอบแทน ถ้านึกถึงพินัยกรรมแล้ว หม่อมฉันก็จะมีราคาเท่าบ่าวคนหนึ่งเท่านั้น” ข้าพเจ้าพูดแล้วก็รีบลุกหนี ก่อนจะร้องไห้ออกมา ท่านก็ไม่ว่าหรือเรียกให้หยุด

รุ่งขึ้นอีก ๒ – ๓ วัน เราขึ้นรถเล่นเย็นๆ ตามหมอสั่ง ผ่านตึกหลังหนึ่งริมทะเล ท่านตรัสขึ้นว่า “ในพินัยกรรมพ่อสั่งไว้ว่า” คราวนี้ข้าพเจ้าหนีไม่ได้เพราะรถกำลังแล่น ข้าพเจ้ารีบทูลบ่ายเบี่ยงเปลี่ยนเรื่องขึ้นว่า “เออ ที่หม่อมฉันทูลว่าไม่อยากได้อะไรนั้น ดูเหมือนผิดเสียแล้ว มีของสิ่งหนึ่งที่หม่อมฉันอยากได้ และเชื่อว่าจะไม่ต้องแย่งกับใครด้วย” ท่านหันมาถามว่า “อะไร” ข้าพเจ้าทูลตอบว่า “หนังสือ เพราะหม่อมฉันต้องไปเห็นลายพระหัตถ์เสด็จพ่ออยู่ตามเวิ้งเขษมเล่มละ ๒๕ สตางค์ ละก็จะร้องไห้งอทีเดียว” ท่านถามว่า “จะเอาไปทำอะไร” ทูลตอบว่า “จะทำห้องดำรง เชื่อว่าคงจะมีใครรับรักษาไว้ให้สักแห่งหนึ่งเป็นแน่” ท่านทรงยิ้มแล้วถามว่า “จริงๆ หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “จริง” ท่านก็ตอบว่า “เอาซี แล้วพ่อจะบอกเขาให้” ต่อมาพี่น้องข้าพเจ้าทุกคนก็รู้กันว่าเสด็จพ่อประทานหนังสือและรูปเก่าๆ ทั้งหมดให้ข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว

ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ เราได้กลับมาจากปีนัง เพราะเสด็จพ่อไม่ทรงสบายเป็นโรคพระทัยพิการ เช้าขึ้นท่านก็ทรงแต่งหนังสือตามเคย แต่คราวนี้เติมทรงจัดห้องสมุดของท่าน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นหมวดๆ ด้วย บ่ายวันหนึ่งท่านกำลังเสวยน้ำมะนาวเมื่อบรรทมตื่นจากทรงพักแล้ว หญิงเหลือเดินมาตามข้าพเจ้าว่า “เจ้าพี่ เสด็จพ่อให้ไปเฝ้าแน่ะ ทำใจเสียให้ดี ฉันคิดว่าท่านจะพูดอะไรด้วย เพราะดูท่านนั่งคิดอะไรอยู่ก็ไม่รู้” ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้าในห้องหนังสือ ท่านชี้เก้าอี้ข้างพระองค์ “นั่งลงก่อน” แล้วท่านก็มองหนังสือรอบๆ ห้อง แล้วก้มลงมองพระบาทของท่านที่กำลังบวมอยู่ สักครู่ก็ตรัสถามว่า “เธอจะทำอย่างไรกับหนังสือของพ่อ” ข้าพเจ้าทูลว่าจัดเป็นห้องสำหรับค้นต่อที่ทรงทำไว้ แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับหรือไม่ และทำอย่างไรถึงจะไม่ให้หายได้ แต่ไม่เป็นไรถ้าทำที่นี่ก็ยังไม่ได้ หม่อมฉันก็จะให้หอสมุดในยุโรปหรืออเมริกาไปก่อน เมื่อคนไทยเราเห็นคุณค่าเมื่อไร เขาก็ไปจัดการเอามาก็แล้วกัน” ท่านมองดูข้าพเจ้าแล้วตรัสว่า “อย่าลืมซีว่าเราเกิดมาเป็นไทย” ข้าพเจ้าทูลว่า “ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาไม่ต้องการ หม่อมฉันก็จะยัดเยียดให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตามหม่อมฉันจะมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานอันนี้ถวายให้จงได้” ท่านหันมาจ้องถามว่า “แน่หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “แน่” แล้วก็ร้องไห้โฮอย่างกลั้นไม่อยู่ ท่านก็น้ำพระเนตรไหลเป็นทาง เรานิ่งกันอยู่ครู่ใหญ่แล้วข้าพเจ้าก็ลุกมา

แต่วันนั้นแล้วก็ไม่ได้พูดอะไรกันอีกในเรื่องนี้ สังเกตดูเห็นว่าท่านหมดกังวล แม้เมื่อได้ของที่ญี่ปุ่นริบไว้ในปีนังคืนมาท่านก็ทรงมองดูเฉยๆ เป็นแต่หยิบซองบุหรี่พระราชทานใน พ.ศ. ๒๔๔๐ มาทอดพระเนตร แล้วตรัสแต่ว่า “หมดเรื่องคนรู้แล้ว” เท่านั้น ต่อมาพระอาการประชวรดีขึ้นถึงทรงรถเที่ยวได้ วันหนึ่งเสด็จไปเยี่ยมหอพระสมุดพิพิธภัณฑสถานกลับมาถึงวัง ตรัสถามข้าพเจ้าว่า “ลูกพูนเห็นหลักก่อฤกษ์ที่หอพระสมุดหรือเปล่า” ข้าพเจ้าทูลว่า “เห็น” ตรัสถามว่า “นึกอะไรหรือเปล่า” “นึก” ท่านทรงยิ้มแล้วตรัสว่า “เหมาะสำหรับห้องหนึ่งนะลูกนะ” ข้าพเจ้าก็หัวเราะ

ถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ เสด็จพ่อก็ทรงทิ้งข้าพเจ้าไว้ให้นั่งอยู่กับพระโกศตลอดวัน เสียงบอมบ์ เสียอพยพกันทั่วกรุงเทพฯ เราก็คอยนั่งยกพระโกศและคอยดับระเบิดไฟในเวลาจำเป็นอยู่เช่นนั้น ในระยะนี้เอง น้องชายข้าพเจ้ากลับมาจากทำงานบอกว่า “มิสเตอร์มัซซุโมโต (คนสถานทูต) มาถามว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั่นจะทำอย่างไรกัน” เธอได้บอกไปแล้วว่า เป็นของพี่สาวเขาคนเดียว อีก ๒ – ๓ วันมาบอกอีกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นร้องออกไปว่า “เอ ถ้าเขาขอซื้อห้องสมุดโคโนเนบ้างจะขายไหมเล่า” ต่อมาน้องชายกลับมาบอกอีกว่า ได้ตอบไปแล้วว่าเข้าใจเจ้าพี่จะทำห้องดำรง ต่อมาน้องชายกลับมาบอกอีกว่า “วันนี้พบมัซซุโมโตอีก เขาขอโทษว่าเขาเสียใจที่ได้มาพูดเรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อ เขาไม่มีเจตนาจะดูถูกเลย”

ต่อมาไม่ช้ามีคนเดินเข้ามาที่พระศพเสด็จพ่อ ส่งการ์ดชื่อเลียว ผู้แทนหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ ขอพบท่านหญิงพูนฯ เพื่อถามว่าห้องสมุดของสมเด็จจะทำอย่างไรต่อไป ข้าพเจ้าถามว่า “ทำไมจึงอยากรู้นัก” นายเลียวบอกว่า “พวกญี่ปุ่นเขาอยากรู้กันมาก เพราะเขาอยากได้ไปเมืองโตเกียว” ข้าพเจ้าถามว่า “เอาไปทำไมกันถึงโตเกียว” เขาตอบว่า “เข้าใจว่าเขาจะเอาไปทำหนังสือเรียนมาให้คนไทยเอง” ข้าพเจ้าหัวเราะตอบว่า “บอกเขาเถิดว่าฉันจะให้ชาติของฉัน ถ้าญี่ปุ่นต้องการเรียนก็มาเรียนที่นี่ได้ แต่เวลานี้ยังคิดทำอะไรไม่ได้เพราะบอมบ์ยังอึกทึกนัก” คุยกันสักครู่เขาก็กลับไป

๒ – ๓ วันต่อมา ท่านปรีดีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ในเวลานั้น) ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้น ท่านปรีดีเห็นว่าควรเป็นของของชาติ ขอให้ข้าพเจ้าตริตรองให้ดี และอยากให้ข้าพเจ้าทำเป็นเล่มๆ ออกเป็นรายเดือนด้วย ข้าพเจ้าตอบขอบคุณแล้วบอกว่าจะเอาไว้บอกกับท่านเองเมื่อได้พบกัน

ครั้นถวายพระเพลิงพระศพเสด็จพ่อแล้ว ข้าพเจ้าก็ขนหนังสือที่หาไม่ได้แล้ว ใส่หีบไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติกับพระอังคาร เผอิญท่านปรีดีเชิญเสด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระราชวงศ์ ให้อพยพไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน และตัวท่านก็ออกไปเฝ้าเยี่ยมทุกวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์หนึ่ง ท่านปรีดีกับคุณหญิงข้ามฟากไปเฝ้าเยี่ยมพระอังคารเสด็จพ่อ แล้วแวะเยี่ยมข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้ขอบคุณท่านปรีดีที่ได้แนะนำเรื่องหนังสือของเสด็จพ่อ ตรงกับความตั้งใจของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าก็กำลังลำบากใจที่ไม่รู้จะตั้งต้นบอกกับใครว่า หนังสือของพ่อฉันนั้นดีถึงควรเป็นของชาติ ท่านปรีดีรับว่าจะช่วยเมื่อถึงเวลาที่ควรทำ แล้วก็ได้ช่วยจริงๆ ตั้งแต่บอกรัฐบาลจนสำเร็จเป็นรูปขึ้นได้ดังนี้

ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกๆ ท่านๆ ที่ได้มีส่วนช่วยในเรื่องห้องดำรงนี้จนเป็นผลสำเร็จ แม้ผู้ที่มีช่วยทางน้ำใจเพียงเห็นว่าดี ข้าพเจ้าก็ขอขอบคุณด้วย บัดนี้ห้องดำรงกำลังจะแล้วเสร็จ เปิดได้ในวันประสูติของเสด็จพ่อ คือวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าพเจ้าจึงยินดีที่ห้องดำรงนี้จะได้เกิดมาแทนพระองค์ และจะได้อยู่กับชาติซึ่งท่านได้อุทิศพระชนม์ชีพให้แล้วมาตลอดพระชนมายุของพระองค์ท่าน เมื่อห้องดำรงได้เปิดเป็นของชาติแล้ว ข้าพเจ้าก็จะได้รับความสุขใจว่าได้ทำหน้าที่ลูกดีแล้วโดยสิ้นเชิง ต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของชาติ คือไทยทุกคนที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นเองว่ารู้จักรักษาสมบัติของตัวเองหรือไม่ ข้าพเจ้าเชื่อถือว่าถ้าเรารักษาได้ ก็คงจะมีผู้เต็มใจให้ต่อไปอีก และเมืองไทยก็ได้มีสิ่งพิสูจน์แก่โลกได้ว่า เราเป็นพวกที่มีวัฒนธรรมและศีลธรรมมาแล้วอย่างวิเศษ.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล


Create Date : 23 กรกฎาคม 2550
Last Update : 23 กรกฎาคม 2550 10:23:27 น. 1 comments
Counter : 1461 Pageviews.  
 
 
 
 
โลกเรามีคนชนิดนี้อยู่เพียง ๔ – ๕ คนเท่านั้น เผอิญคนหนึ่งใน ๔ – ๕ คนนี้ไปเกิดอยู่ในเมืองไทย”

เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศชาติ และ มนุษยชาติในโลกนี้

 
 

โดย: Merchant Dream วันที่: 12 มกราคม 2552 เวลา:15:03:42 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com