Group Blog
All Blog
--- ห นั ง สื อ เ ล่ ม นี้ ฉั น ช อ บ ---















เพิ่งอ่าน'ร า ชั น ผู้ พ ลั ด แ ผ่ น ดิ น เ มื่ อ พ ม่ า เ สี ย เ มือ ง’
จบเช้านี้ อ่านเต็มที่สองวัน อ่านแบบกลัวหนังสือจะจบ ทั้งเศร้า สะเทือนใจ เห็นใจและเข้าใจในความเป็นไปในภาวะนั้น ๆ ของกษัตริย์ ( แอบนึกถึงจักรพรรดิ์ปูยีเหมือนกัน )หลังจากที่อ่าน 'ราชินีศุภยาลัต' และ 'พม่ารำลึก ' จบไปก่อนหน้านี้ไม่นาน

เมื่อต้นปีได้อ่าน 'จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์' และ 'สิ้นแสงฉาน' สองเล่มนั้นยังประทับใจและตรึงใจมาก

ฉันเปิดใจและเปลี่ยนมุมมองจากเดิมเกี่ยวกับเรื่องราวของพม่าตั้งแต่ได้อ่าน ' ไ ป เ ป็ น เจ้ า ช า ย ใน แ ค ว้ น ศั ต รู ' ของคามิน คมนีย์

ดีใจที่ได้อ่านทุกเล่มที่เอ่ยชื่อมานี้ ชอบมากทุกเล่ม ขอบคุณผู้เขียน ขอบคุณผู้แปลและผู้จัดทำ
















หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนทรงคุณค่ามากอีกเล่มหนึ่ง(สำหรับเรา)ที่นอกจากอ่านสนุกด้วยภาษาสละสลวยและถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้อย่างประณีต ละเอียดลออแล้ว ยังเห็นแง่มุมที่เศร้าสะเทือนใจ พร้อมคืนชีวิต ความเข้าใจผิดที่มีต่อกษัตริย์พม่าและพระราชินีศุภนาลัต เราจะเห็นความเป็นไป ความผันแปรของกษัตริย์และเจ้าหญิงทุกพระองค์


โดยรวมจะเป็นเรื่องราวของพระเจ้าธีบอและพระมเหษีศุภยาลัตถูกถอดจากบัลลังก์ปลายปี 1885 หลังจากพ่ายแพ้สงครามกับอังกฤษจนทำให้สูญเสียราชอาณาจักร ทั้งสองพระองค์ถูกนำเสด็จจากพระราชวังมัณฑะเลย์ไปประทับที่เมืองรัตนคีรีในอินเดียนานถึง 31 ปี อันเป็นที่พำนักพลัดถิ่นของอดีตกษัตริย์และครอบครัว ผู้เขียนนำเสนอถึงพวกเขาอย่างสามัญ... เยี่ยงคนธรรมดา

ผู้เขียนได้ถ่ายทอดชะตากรรมที่ถดถอยของประเทศและทุกชีวิตในครอบครัวของพระเจ้าธีบอในทุกมิติ ทั้งงดงาม หม่นเศร้า หยิ่งยโส ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ในความเห็นของพระนางศุภนาลัต พวกอังกฤษน่ารังเกียจ ขาวข้างนอก แต่ดำอยู่ข้างใน แต่กระนั้นพระนางก็สำนึกในความผิดที่ทำให้ระบบกษัตริย์ล่มสลายจนถูกเนรเทศไปรัตนคีรีกว่าสามสิบปี แม้กระทั่งพระศพของพระเจ้าธีบอก็ไม่ได้กลับมัณฑะเลย์ เจดีย์ที่เก็บพระศพของพระเจ้าธีบอและเจ้าหญิงใหญ่อยู่ที่รัตนคีรี แต่พระราชีนีศุภยาลัตต่อสู้จนได้คืนสู่แผ่นดินแม่ในบั้นปลายของชีวิต ทุกเรื่องราวในอดีตยังคงอยู่ในความทรงจำของลูกหลานของพระนาง ทุกพระองค์ดำเนินชีวิตโดยละความเกลียดชังและความโกรธแค้นเพื่อก้าวข้ามอดีตในด้านลบ ส่วนความหวังถึงอนาคตราชวงศ์นั้น...ได้สลายลงไปนานแล้ว














พม่ารำลึก เป็นนวนิยายเรื่องแรกของออร์เวลล์ที่อ่านได้ลื่นไหล ไม่ต้องตีความเชิงสัญลักษณ์ซับซ้อนแต่ยังคงเสียดสีเพื่อนร่วมชาติได้แสบลึกในฐานะเจ้าอาณานิคมที่แทรกซึมเข้าไปทุกอณูของชีวิตของชาวพม่าไม่ว่าจะวิธีคิด เหยียดหยัน ข่มขี่ข่มเหง ความรุนแรง เห็นความเจ้าเล่ห์เพทุบายช่วงชิงอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ ทะเยอทะยาน วิ่งเต้นสร้างเรื่องในแวดวงการเมือง ทั้งน่าอึดอัดแต่ก็ลุ้น เร้าใจให้ติดตามและออกตัวเชียร์ ฟลอรี่ ฝรั่งผิวขาวชาวอังกฤษที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจชนพื้นเมืองชาวพม่า
.
เขาถูกครหาจากพวกเดียวกัน มีเพื่อนเป็นหมอชาวอินเดียที่เทิดทูนวัฒนธรรมอังกฤษแบบถวายชีวิตหรือเป็นคนอังกฤษยิ่งกว่าคนอังกฤษเสียอีก
.
เขาเป็นพระเอกที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบใด ๆ เลย มีความเป็นมนุษย์สูง มีความคิดเห็นทั้งเชิงบวกและลบ มีทัศนคติทีรวบรวมความรู้สึกแย่ ๆ มากองไว้ในตัวละครที่คล้ายกับความรู้สึกจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเองสมัยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพม่า (เราคิดนะ) อาจจะดูอคติกับเพื่อนร่วมชาติอย่างช่วยไม่ได้ ดังที่เขาสบถเสียดสีใส่ตัวละครตัวหนึ่งว่า ‘ ...ไอ้ชาติหมา ขี้ขลาด หลังยาว ขี้เมา สำส่อน ชอบวิเคราะห์จิตใจ ช่างสงสารตัวเอง...’

เนื้อหายังลงลึกในชีวิตประจำวันอย่างมีมิติและสีสัน สะท้านสะเทือนใจ สะสาใจที่ผู้เขียนปิดฉากอูโพจีง (ชนพื้นเมืองผู้ไต่เต้าจากความต่ำต้อย ทะเยอทะยานวางแผนชั่วร้ายเพื่อจะได้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สูงสุดในสโมสรชาวผิวขาว )ในแบบที่ตัวเขาเองไม่เคยนึกถึง

ฉันแอบเชียร์ให้ชายวัยสามสิบห้า ผิวซีดเหลือง มีปานอันน่าชังเป็นรูปเสี้ยวจันทร์ขยุกขยิกที่แก้มข้างซ้ายคนนี้สมหวังในความรักบนดินแดนแปลกที่แปลกทางบ้างเถิด
.
แต่ชีวิตเราก็เท่านี้จริง ๆ ถอนใจเฮือก...ดัง ๆ ...

เป็นนวนิยายอีกเล่มที่ได้ครบรสชาติ
ยอดเยี่ยม ชอบมาก ๆ ขอบคุณค่ะ











ผู้เขียนเรื่อง ' จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์' ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา เล่มนี้ เป็นนักเขียนสตรีชาวอเมริกันคือ เอ็มม่า ลาร์คิน (Emma Larkin) เป็นผู้หญิงเก่งที่คุ้นเคยกับเอเชียอย่างดี เธอช่ำชองภาษาพม่าด้วยการเริ่มเรียนภาษาที่แสนยากนี้ที่กรุงลอนดอน เธอเข้า ๆ ออก ๆ พม่าในยุคเผด็จการเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ เธอเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถเดินท่อม ๆ คนเดียวท่ามกลางสังคมที่ทหารชายใหญ่คับแผ่นดิน เธอนั่งจิบชาหาข้อมูลเกี่ยวกับชีวิต 5 ปีของออร์เวลล์สมัยที่เขาเป็นข้าราชการตำรวจอยู่ในพม่า ไม่ว่าจะลุยไปในมัณฑะเลย์ ในภูมิภาคดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ในย่างกุ้ง เมาะละแหม่งและท้ายสุดที่กะต่า เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของพม่าติดกับรัฐฉาน เธอไปในที่ที่ชายอกสามศอกอาจจะไม่กล้าไป

ทั้งหมด 5 บทนี้เป็นฉากที่เอ็มม่าใช้เดินเรื่องในการ 'ตามหา' จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนขวัญใจของเธอ แต่สิ่งที่น่าทึ่งในงานเขียนชิ้นนี้คือ การทำการบ้าน เอ็มม่าอ่านงานเขียนของออร์เวลล์ทุกเรื่องอย่างทะลุปรุโปร่ง มีทั้งสารคดี นวนิยายและเรื่องสั้นที่เธออ้างถึง ตลอดจนจดหมายของออร์เวลล์

เช่น นิยายทุกเรื่องของออร์เวลล์จบลงด้วยความพ่ายแพ้ ตัวละครพยายามต่อสู้กับระบบ วินสตัน สมิธ ใน 1984 เขาถูกทรมานและถูกเค้นความลับจนหมดสิ้น หรือใน เบอร์มีส เดย์ส จอห์น เฟลอรี่ตายที่กะต่า แม้เขาจะสนิทกับหมอวีรสวามี แต่เขาไม่มีความกล้าพอที่จะเสนอชื่อหมอเข้าเป็นสมาชิกสโมสร เป็นต้น




ฉันชอบลีลาการเล่าเรื่อง มีทั้งตลกร้ายที่เศร้าลึกรวมถึงการลงลึกถึงข้อมูล ชอบบทสนทนาของเอ็มม่ากับผู้คน เปี่ยมไปด้วยศิลปะในการดึงความรู้สึกนึกคิดมาระบายเป็นภาพความเป็นจริงอันขื่นขมของผู้คนไปกับการจิบชาที่มีรสชาติกลมกล่อมแปมความปร่าขมของน้ำตา มิติของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวราวกับมะเร็งร้ายของผู้คนในพม่า ฉันสลดใจกับเรื่องราวในคุกและทุกความโหดร้ายในพม่า เราปรารถนาจะเรียนรู้วันเวลาในพม่ามากกว่าความเกลียดชัง
ที่นั่น..ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มักถูกลบทิ้งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะถูกบันทึกในรูปแบบของจดหมาย เอกสารข้อมูลหรือความทรงจำ

สิ่งที่สะเทือนใจมากที่สุดคือ การที่รัฐบาลจงใจทำลายระบบการศึกษา ไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคต ไร้ซึ่งแสงแห่งความหวังทั้งปวง นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ

วันเวลาในพม่าเป็นจุดหักเหสำคัญในชีวิตของออร์เวลล์ ความเกลียดชังของออร์เวลล์ต่อลัทธิล่าอาณานิคมซึ่งถูกหล่อเลี้ยงด้วยความโดดเดี่ยวและอากาศอ้าวระอุ เติบโตงอกงามเหมือนดอกไม้ในเรือนกระจก การอ่านครั้งนี้ทำให้ซาบซึ้งกับการมีชีวิตอยู่ของเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ

ออร์เวลล์สักร่างกายขณะที่อยู่พม่า เพราะเขาเชื่อว่ารอยสักคุ้มครองป้องกันกระสุน งูพิษและมนต์ดำ รอยสักนี้ยืนยันถึงแรงกระตุ้นของออร์เวลล์ที่จะแยกตัวออกจากสังคมความเป็นนายของเจ้าอาณานิคมด้วย อังกฤษทำลายสถาบันการปกครองดั้งเดิมของพม่าทั้งระบบกษัตริย์และสถาบันสงฆ์

อ่านแล้ว รู้สึกร่วมกับเขาว่า เขาและเราต่างเป็นมนุษย์เดินดินด้วยกันทั้งนั้น เราเห็น เราได้ยิน เรารู้สึก เราเข้าใจ บนโลกใบเดียวกัน
ทุกตัวอักษรของเขาดูบอบช้ำ สะเทือนใจในวังวนของประวัติศาสตร์ที่พร่ำบอกเราเสมอว่า รัฐบาลที่ปกครองประเทศโดยขัดต่อเจตจำนงของประชาชนนั้นไม่มีทางยั่งยืนนาน และกลับมามองบ้านเราอย่างพิจารณาอีกครั้ง อ่านเขาและจะได้อ่านเราต่อ




















ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่พิถีพิถันในการเลือกเนื้อหามาตั้งแต่ต้น ผู้อ่านจะเห็นสัจธรรมที่ผู้เขียนสอดแทรกไว้ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ชี้ให้เราเห็นถึงการเกิด ความตกต่ำและการเสื่อมสลายของราชธานีอย่างมัณฑะเลย์และยังให้เห็นถึงการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองและคลี่คลายประวัติศาสตร์ของเมือง จากที่มัณฑะเลย์เคยเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์พม่าจนกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของอังกฤษในพม่าตอนบน ความเจริญมั่คั่งทางการค้าทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลสู่เมือง เมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น เมืองบาป อันเป็นแหล่งอบายมุขทุกประเภท ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมายอย่างคนไร้บ้านและผู้คนที่หมดเนื้อประดาตัวจากการพนัน...

เรื่องที่ว่ากษัตริย์เป็นคนขี้เมานั้น..ทุกคนที่ใส่ใจใคร่รู้ก็ย่อมได้เรียนรู้ด้วยว่าพระเจ้าธีบอเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด เคยบวชเรียนมาก่อนจะขึ้นครองราชย์ อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสังฆราชผู้เป็นที่เคารพบูชา

ส่วนเรื่องที่พระนางศุภยาลัตโหดร้ายกระหายเลือด ก็ไม่เห็นว่าพระนางต่างจากสตรีพม่าอื่น ๆ ตรงไหน ใครรู้จักผู้หญิงพม่าคงไม่อาจกล่าวหาสตรีจิตใจอ่อนโยนและกิริยานุ่มนวลอย่างที่พวกเรายกย่องว่าโหดร้ายได้ พระเจ้าธีบอรักพระนางมากและพระนางก็รักพระองค์มากเช่นกัน หากพระนางร้ายกาจจริงอย่างที่คนกล่าวหา จะทรงเป็นทั้งผู้รักและผู้ได้รับความรักเยี่ยงนี้หรือ

ทุกเรื่องมีเรื่องเล่า...และหลายเรื่องเล่าย่อมรวมถึงเรื่องลับ

'ใครก็ตามที่รู้จักพระนาง
จะรู้สึกได้เพียงสองประการเท่านั้น
ถ้าไม่รักตราบนิรันดร์ ก็จะชิงชังพระนาง
เหมือนที่บุรุษเกลียดและกลัวความตาย'

::

ราชินี ศุภยาลัต
จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน







ขอบคุณค่ะ
ภูพเยีย






















Create Date : 18 ธันวาคม 2560
Last Update : 18 ธันวาคม 2560 8:54:57 น.
Counter : 1091 Pageviews.

3 comment
--- ก า ร ก ลั บม า ข อ ง เ จ้ า ช า ย ( ห นุ่ ม) น้ อ ย ---
















center>







เมื่อไม่นานมานี้ อ่านภาคต่อของดากานดากับไข่นุ้ย แล้วออกอาการเศร้าเล็ก ๆ ในใจ ไม่ใช่งานภาคต่อไม่ดีนะ อย่าได้เข้าใจผิด เพียงเพราะความเป็นผู้ใหญ่ดึงพวกเขาเข้าสู่โลกที่ต้องรับมือ รับผิดชอบกับอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง แต่ความประทับใจที่มีต่อเขาและเธอในภาคแรกนั้นยังคงอยู่ รับรู้ความเป็นไปของเธอในภาคผู้ใหญ่

สำหรับ ‘การกลับมาของเจ้าชาย(หนุ่ม)น้อย’ ทำให้เรากระตือรือร้นอยากอ่าน อยากรู้ว่าเขาจะเก็บรักษาความพิสุทธิ์ในใจหรือให้บทเรียนอะไรแก่เราอีกบ้าง อ่านอย่างไม่คาดหวังอะไร อย่างน้อยเขาก็กลับมาให้หายคิดถึงหนังสือ ‘เจ้าชายน้อย’ สมัยเราเป็นนักศึกษา ย้ำสิ่งสำคัญที่ไม่อาจเห็นด้วยตา ว่าสิ่งที่อยู่ในใจ ยังอยู่กับเราหรือไม่

ภาคนี้ เจ้าชายน้อยเติบโตขึ้น ทักถามถึง แกะในกล่อง ดอกกุหลาบที่เฉพาะเจาะจงดอกนั้น ณ ดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่กระแสคลื่นแห่งวันเวลาขับเคลื่อนบนความเปลี่ยนแปลง

ครั้งนี้ เจ้าชายน้อยเพียงมาเยือน ถามถึงความเป็นไปและหนีกลับดวงดาว รอให้เราคิดถึง และปล่อยให้เราแหงนมองท้องฟ้า ฟังเสียงระฆังจากดวงดาวบางดวงที่กำลังกระพริบยิ้มให้เราอยู่ลิบ ๆ

หรือเขากลับมาครั้งนี้
เพื่อบอกว่า
มีเจ้าชายน้อยอยู่ทุกหนทุกแห่ง
เขามาเพื่อ...มาอยู่กับเรา
และ...อยู่ในใจเรา

และย้ำให้ลึกล้ำอยู่ในใจว่า
สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา
ต้องใช้หัวใจมอง

คอยส่องฉายความเป็นเด็กในตัวเรา
ให้มีทัศนวิสัยในเชิงบวกกับโลกปัจจุบัน
จะได้ไม่โศกศัลย์จนเกินไป

ยิ่งไปกว่านั้น
เขาแอบบอกว่า คนเราควรจะเติบโต
ในความรักและมีความสุข

ให้เราพบสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเขา
เพื่อจะได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเรา

ขอบคุณนะเจ้าชาย(หนุ่ม)น้อย





::
การกลับมาของเจ้าชาย(หนุ่ม)น้อย
A.G. Roemmers เขียน
ศรรวริศา เมฆไพบูลย์ แปล

ภูพเยีย
10 พฤศจิกาย 2560














Create Date : 10 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2560 11:38:22 น.
Counter : 1337 Pageviews.

2 comment
(ช่วยอ่านสักนิด) นิยายวรรณกรรม : โยอาคิม เซลเทอร์ เขียน เจนจิรา เสรีโยธิน แปล



























นั ก เ ขี ย น ตา ย แ ล้ ว นี่คือคำขวัญของสำนักโครงสร้างนิยมฝรั่งเศสที่บอกว่า บทวรรณกรรมสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวนักเขียน ความตั้งใจของนักเขียนในการเขียนงานชิ้นหนึ่งนั้นหาได้มีบทบาทที่แท้จริงไม่ นักเขียนไม่ได้เข้าใจสิ่งใดเกี่ยวกับวรรณกรรมทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ในงานของตนเอง...

ปัจจุบันในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ นั ก เ ขี ย น ไ ม่ ต า ย แ ล้ ว เขาเพลิดเพลินกับสถานะและชีวิตตนเองมากที่สุด เขาไม่ได้เป็นสิ่งจำทนในบทของตนอีกต่อไป

สถานการณ์เกือบกลับกันเลยทีเดียว ดังบทวรรณกรรมกลับเป็นเพียงภาพสะท้อนของตัวนักเขียนที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำนิยมหรือภาพ

ตัวอย่างเช่น การแสดงภาพความเยาว์บริสุทธิ์ที่สุดและความงามเกินบรรยายที่ปรากฏบนแผ่นพับนับไม่ถ้วนของสำนักพิมพ์ที่ว่านักเขียนหญิงหรือชายของหนังสือเล่มนี้มีตัวตนน่าประทับใจ ก่อนที่พวกเขาจะเขียนหรือก่อนที่เราจะได้อ่านงานของเขาหรือเธอสักสองสามบรรทัดเสียอีก เป็นการยกย่องความขัดแย้งในตัวเองอันชวนหลงใหล

นั่นคือ นักเขียนไม่ชายหรือหญิง ทั้งอายุน้อยทั้งมีเสน่ห์ มีเสน่ห์อย่างคาดไม่ถึงจนไม่อยากเชื่อ ราวกับเรากำลังพูดถึงความขัดแย้งในตนเองที่แสดงผลกระทบอันรุนแรงที่สุด พูดถึงความสำเร็จแบบอาว็องการ์ด หรือพวกศิลปะแนวทดลอง แม้ว่านักเขียนจะไม่ดึงดูด อย่างน้อยก็น่าสนใจ แม้ว่าไม่ใช่หน้าตาแต่อย่างน้อยประวัติของเขาก็น่าสนใจ

เช่น เกิดในอุซเบกิสถาน โตที่มอนเตเนโกร อาศัยอยู่ในอียิปต์ เป็นนักแสดงบทนโปเลียนในโทรทัศน์ที่นั่น ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสในวิหารคอพติก...นี่คือตัวอย่างอันโดดเด่นของประวัตฺย่อที่ทรงพลังซึ่งนักเขียนธรรมดาสามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่างได้ ประวัติย่อกลายเป็นนิยายขึ้นเรื่อย ๆ และตัวนักเขียนก็เป็นผลงานศิลปะเสียยเองอย่างที่ ออสการ์ ไวลด์เคยพูดไว้

พรสวรรค์ไม่ได้อยู่ที่งานศิลป์
แต่อยู่ในชีวิตต่างหาก

ความเป็นจริงจึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเหนือเรื่องแต่ง ชีวประวัติย่อมสำคัญกว่าเรื่องที่คิดขึ้น ชีวิตย่อมสำคัญกว่าศิลปะ
::
(ช่วยอ่านสักนิด) นิยายวรรณกรรม
โยอาคิม เซลเทอร์ เขียน
เจนจิรา เสรีโยธิน แปล





เล่มนี้เพิ่งอ่านจบค่ะ น้องซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ฝากมาให้อ่าน เนื่องจากเพื่อนของเธอเป็นผู้แปลนวนิยายเล่มนี้จากภาษาเยอรมัน และเธอเป็นบรรณาธิการต้นฉบับ

อ่านจบก็ โอ๊ย...อะไรกันนี่ เขาพูดถึงเนื้อของภาษาและให้คุณค่ากับวรรณกรรมเยอรมันที่เกิดขึ้นในยุคนี้ หรือแอบพาดพิงถึงวรรณกรรมที่อื่น ๆ ด้วยก็ได้ที่เน้นผลทางธุรกิจมากกว่าความยืนยง มั่นคงของเนื้องานในฐานะนักเขียนที่บูชาวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างสูงส่ง อย่างที่คาดหวังว่าจะเป็นหนังสือดีอยู่ยงคงกระพันไปอีกหลายเจนเนอเรชั่นพันปีอย่างที่เคยมีมา ถ้าอ่านไม่ผิดก็น่าจะแนวนี้ซึ่งเขาคงรักวรรณกรรมมากจึงกล้าเขียนออกมา และก็น่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์พอควร ว่าแต่ระเบิดลูกนี้จะไปโดนใครเข้า

ใช่นะ หนังสือดีไม่มีวันตาย เขาเสียดสีแม้กระทั่งภาษาที่นักเขียนคนหนึ่งใช้ในเรื่อง มีความเป็นนักการตลาด เรียกร้องความสนใจโดยใช้ประวัติย่อที่น่าประทับใจ และยกคำพูดของออสการ์ ไวลด์มาประชดประชันได้เข้ากันพอดิบพอดี

เขากำลังพูดถึงการเป็นนักเขียนในยุคนี้ที่ต้องเกาะติดโลกโซเชี่ยล พล็อตต่าง ๆ ก็เน้นทางธุรกิจ นักเขียนต้องช่วยโปรโมตตัวเองมากขึ้นแทนที่จะเอาเวลาไปคิดงานสร้างสรรค์และทุ่มเทกับงานของตัวเองให้สุดตัว

เขาว่า ' มีนักเขียนอยู่สองประเภท
คนที่เริ่มเขียนและเมื่อประสบความสำเร็จ
ก็ยึดอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหลัก
กับคนที่ตัดสินใจจะเป็นนักเขียนก่อนและเริ่มเขียน...'


เขาคงส่งสารถึงนักเขียนและนักอยากเขียน...

แล้วงานแบบไหนล่ะ ที่จะมีคุณค่าคู่ควรกับการถูกเรียกว่าเป็นวรรณกรรม ความหมายที่แท้จริงของวรรณกรรมคืออะไร งานเขียนมีแตกต่างกันไป ไม่มีใครเขียนหนังสือแทนกันได้ นอกจากนี้ สิ่งที่นักเขียนควรมีคือซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อตัวละครที่สร้างขึ้นมา รู้จริงและจริงใจกับสิ่งที่ตัวเองเขียน ทำให้ดีเท่าที่จะดีได้แล้วก็วาง ทุกงานเขียนไม่อาจถูกใจใครได้ทุกคน

หนังสือเล่มบางเล่มนี้มีอะไรให้คิดต่อ แต่เล่นเอาแสบ ๆ คัน ๆ ได้เหมือนกัน

ขอบคุณค่ะ
ภูพเยีย
8 พฤศจิกายน 2560












ห ม า ย เ ห ตุ :
คุ ย กั บ เ พื่ อ น

Kawaka Nalanta พรสวรรค์ไม่ได้อยู่ที่งานศิลป์
แต่อยู่ในชีวิตต่างหาก

ภู ภูพเยีย คำของออสการ์ ไวลด์น่ะโอเค แต่ในบริบทของนวนิยายที่ผู้เขียนยกมา พี่คิดว่าคือการประชดประชันเสียมากกว่า

เรื่องของเรื่องคือ ชายคนหนึ่งอยากเป็นนักเขียน พยายามเสนอต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และอยากสนิทชิดเชื้อกับนักเขียน เขาเรียกนักเขียนว่า คุณนะเขียน อยากติดสอยห้อยตามคุณนะเขียนของเขาไปทุกหนทุกแห่ง ขอให้เขาช่วยอ่านต้นฉบับและขัดเกลา จนกระทั่งงานได้ตีพิมพ์ ดังพลุแตก แต่ตัวนักเขียนจริง ๆ นั้นกลับตกอับ พล็อตประมาณนี้ แต่บทสนทนาจะเป็นแบบละคร น่าสนใจดี มีอะไรให้ตั้งคำถามมากมายและประเมินค่างานเขียนในแบบวรรณกรรมน่ะค่ะ สำหรับพี่ก็อ่านยากนิดนึง ไม่เข้าใจไปทุกอย่างน่ะค่ะ

ตัวผู้เขียนเองอาจจะเจอวิกฤติในแวดวงวรรณกรรมประเทศเขา เพื่อจะบอกว่า งานอยู่แม้คนไม่อยู่แล้ว แต่ปัจจุบัน คนมาก่อน ผลงานยังไงไม่รู้...




Kawaka Nalanta ภู ภูพเยีย ผมว่าประเทศเราตอนนี้นักเขียนก็เจอวิกฤตไม่แพ้กันเลยครับพี่ 5555

ภู ภูพเยีย มันก็มีสองแบบแบบในหนังสือว่านะว่า คุณจะเป็นนักเขียนต่อเมื่อผลงานคุณประสบความสำเร็จ หรือตัดสินใจเป็นนักเขียนเพราะเลือกว่าจะเป็น

ถ้าเลือกจะเป็นก็ไม่ต้องโอดครวญอะไร สำนักพิมพ์ก็มีบรรณาธิการที่เลือกงานของนักเขียนอยู่แล้ว ปัจจัยในการเลือกงานก็ไม่ได้อยู่ที่เรา ถ้างานของเราไม่มีใครตีพิมพ์เลยเพราะเขาคิดว่าขายไม่ได้แน่ เราจะเขียนอยู่มั้ย อันนี้ตอบเองในใจ

ส่วนในนิยายเล่มนี้นะ พี่ว่านักเขียนที่ถูกพล็อตทำให้อับแสง เสื่อมความนิยมน่ะ ก็คงเล่นกับกระแสโซเชี่ยลล่ะหนึ่ง แต่ถ้างานของนักเขียนที่ตกกระแสมีเนื้องานดี ก็น่าจะดีใจนะในแง่ที่ว่า มันก็มีมาตรฐานของมันไง นักเขียนตายแต่งานอยู่

สำหรับบ้านเรา พี่ไม่แน่ใจค่ะ ทั้งในแง่ของนักเขียนอาชีพและสำนักพิมพ์ ...


Kawaka Nalanta ผมมองไปที่การพิมพ์เอง ขายเอง ถ้าผลงานดีจริง ยังไงก็ต้องขายได้ แถมช่องทางการขายเปิดกว้างกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ ที่ต้องขายผ่านสายส่งและร้านขายหนังสือ เพียงแต่ผมคิดว่าธรรมชาติของนักเขียนไม่ค่อยอยากยุ่งกับเรื่องการจัดการที่วุ่นวายทางธุรกิจ ถ้ามีคนจัดการให้ก็จะดีมาก นักเขียนจะได้ทุ่มเทสมาธิกับการเขียนอย่างเดียวไปเลยครับ



หนอน เมืองกรุง เห็นด้วยกับคุณก๋านะ


Kawaka Nalanta หนอน เมืองกรุง ผมแอบฝันเล็กๆนะครับพี่หนอน ว่าน่าจะมีสำนักพิมพ์เล็กๆหลายๆที่มารวมตัวกัน แล้วทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมา ให้นักเขียนส่งงาน แล้วแอพฯนี้ก็ดูแล ออกแบบ จัดรูปเล่ม ทำบรู๊ฟ ตรวจต้นฉบับ จากนั้นก็เปิดโหลดขายแบบ หรือ Print on demand ด้วยยิ่งดี รายได้ก็แบ่งกันกับนักเขียน หรือจะดีกว่านั้นหาฝ่ายการตลาดเก่งๆ ช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือยิ่งดีเลยครับ





ภู ภูพเยีย หนอน เมืองกรุง ความคิดเห็นส่วนตัวนะคะพี่หนอน การพิมพ์เองขายเองน่ะ เกิดจากการที่สำนักพิมพ์ไม่ตีพิมพ์เพราะเหตุผลของสำนักพิมพ์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งหรือคุณสมบัติเราไม่ผ่านสักอย่างไม่ว่าจะเนื้อหาของงานและตัวเรา มันขายไม่ได้หรือทำสำนักพิมพ์เขาขาดทุน เราก็เคารพเขาตรงนั้นแล้วกลับมาดูว่างานของเราพอมีประโยชน์บ้างไหม หรือพอขอใครช่วยอ่านและแก้ไขได้บ้าง ตรงนี้แหละสำคัญ ขอใครก็เกรงใจไปหมด เขียนเองก็มองไม่เห็นภาพรวมของมัน มีใครสักคนช่วยอ่านน่าจะดี ขัดเกลาให้เต็มที่ ดีเท่าที่มันจะดีได้และพิมพ์เองเผื่อมีใครสนใจอยากอ่าน
เคยมีเพื่อนแซวทีเล่นทีจริงว่า เราไม่ง้อสำนักพิมพ์ ซึ่งไม่ใช่เลย (ยืนยันล้านหน) งานเราไม่ผ่านต่างหากค่ะ

หนังสือที่ถูกตีพิมพ์หรือที่เราอยากพิมพ์ควรอยู่ได้ด้วยเนื้อหาและผู้อ่าน(รวมทั้งเพื่อน) อยากทำหนังสือให้สวย ให้ดี มีคุูุณค่าในตัวของมันพอ ให้ผู้อ่านเลือกซื้อเพราะชอบและอยากอ่าน




ภู ภูพเยีย Kawaka Nalanta พี่เห็นด้วยกับคุณก๋าในเรื่องการทุ่มเทไปกับการเขียนนะคะ แต่พอเกี่ยวพันกับธุรกิจการขายก็คงต้องมีคนเข่้ามาร่วมตัดสินใจอยู่ดี





Kawaka Nalanta ภู ภูพเยีย พอนักเขียนต้องมายุ่งกับเรื่องธุรกิจ ผมว่ามันดึงสมาธิไปเยอะเลยนะครับพี่ ไม่เหมือนกับการเขียนๆๆๆๆๆๆ มุ่งไปเรื่องเดียว ยังไงก็ดีกว่า ไม่ต้องไปเสียเวลากับการโปรโมท ออกแบบปก หรือต่อรองเปอร์เซ็นต์กับสายส่ง ---- หลัง ๆถ้าต้องทำหนังสือ ไม่สนุกเลยครับ ผมเองยังถูกบอกให้ปรับงานเขียนให้เบาลง ให้เขียนเรื่องที่เข้าใจง่าย ๆ ขายง่าย ซึ่งผมก็เลือกที่จะไม่เขียนนะครับ ยอมไม่มีงานหนังสือออกมาเลยดีกว่า เอาเวลานี้ไปนั่งเขียนในสิ่งที่เราอยากเขียน เขียนเก็บไว้ แบ่งปีนให้เพื่อนๆอ่านในเฟซ ในบล็อก ถ้าพลังเหลือก็ทำหนังสือแบบ Print on demand ทำขายบ้าง แจกบ้าง สบายใจด้วยครับ 5555




Kawaka Nalanta ผมนึกถึงประโยคนี้ครับ พยายามลองตีความว่ามันหมายถึงอะไร หลายปีก่อนร้านขายหนังสือชื่อดังแจ้งต่อบรรณาธิการว่า หนังสือธรรมะขายยาก พิมพ์แนวอื่นที่ขายง่ายออกมาดีกว่า ผมฟังแล้วก็อึ้งไปครับ ว่านักเขียนต้องรับใช้ร้านขายหนังสือ จากนั้นก็รับใช้สำนักพิมพ์ แล้วตัวตนและความซื่อสัตย์ต่องานเขียนของตนเองจะอยู่ที่ใด



Kawaka Nalanta และมาสรุปลงตรงความรู้สึกของตนเองว่า "จงเขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน และจงเขียนในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ว่าจะมีใครอยากอ่านหรือไม่ก็ตาม"





Lovereason Non ทำให้อยากอ่านอีกแล้วค่ะ ><



ภู ภูพเยีย ช่วยกันอ่าน ช่วยกันตีความนะ เราอาจจะอ่านไม่แตก เข้าใจผิดก็ได้ แต่ก็แบบที่เขียนนั่นแหละ อ่านแล้วคุยกันอีกนะคะ :)




Lovereason Non เดี๋ยวอ่านบ้างค่า ^^



ภู ภูพเยีย หนังสือเล่มนี้ นักเขียนคงให้ผู้อ่านช่วยคิดหาคุณค่าและความหมายของคำว่าวรรณกรรมว่าแท้จริงคืออะไรกันแน่ นักเขียนคือใคร อะไรทำนองนั้น แต่ตอนที่เขาสะบัดมีดโกนเกี่ยวกับการรับงานของนักเขียนหน้าใหม่มาอ่านนี่ เลือดซิบเลย เราไม่รู้หรอกว่า ในสำนักพิมพ์จะมีนักอ่านต้นฉบับก่อนถึงมือบรรณาธิการตัวจริง มีแพทเทิร์นในการตอบปฏิเสธนักเขียนที่งานไม่ผ่านอย่างไม่ให้บอบช้ำและให้กำลังใจเขียนหนังสือต่อไปด้วย หนังสือเล่มนี้บางมากแต่เขาเก่งนะที่ยิงมาหลายประเด็นเลย เขาเขียนถึงบ้านเมืองเขานะ บ้านเราอย่างไรไม่ทราบ แต่เราคิดว่าหนังสือต้องมีบรรณาธิการค่ะ มาตรฐานของสำนักพิมพ์ก็คือบรรณาธิการนี่แหละ เขาคือผู้คัดสรรงานไปพิมพ์ ^^



















Create Date : 08 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2560 11:44:24 น.
Counter : 822 Pageviews.

1 comment
---THE SPY : เปาโล คูเอลญู เขียน / ติกขปัญญ์ มณีนุ่ม แปล ---






















...ในนามของทุกสิ่งที่ฉันต้องเจ็บปวดอย่างไม่เป็นธรรม ความอับอายขายหน้าซึ่งฉันต้องฝืนแบกรับ การเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อหน้าธารกำนัลที่ฉันต้องทนทรมานเบื้องหน้าคณะผู้พิพากษาในสภาสงครามที่สาม และคำโกหกของทั้งสองฝ่าย ราวกับว่าทั้งพวกเยอรมันและฝรั่งเศสซึ่งประหัตประหารกันและกันมา ไม่อาจปล่อยให้ผู้หญิงคนเดียวซึ่งมีบาปหนักในข้อหามีจิตอิสระในโลกที่ผู้คนเริ่มพากันปิดกั้นตัวเองนั้นอยู่ตามลำพังได้

THE SPY
เปาโล คูเอลญู เขียน
ติกขปัญญ์ มณีนุ่ม แปล




ใช่แล้ว...อาชญากรรมเพียงหนึ่งเดียวของเธอคือการเป็นหญิงผู้มีอิสรเสรี

มาตา ฮารี นักเต้นระบำเปลื้องผ้าผู้สร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้ชม เป็นที่อิจฉาของบรรดาผู้หญิง มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้มีอำนาจชั้นสูง ท่ามกลางภาวะสงครามที่เกิดอาการหวาดระแวง เธอตกเป็นแพะรับบาป ถูกจับและถูกตั้งข้อหารุนแรง กระบวนการทั้งหมดเกิดจากการอนุมาน คาดการณ์และสมมติเอาทั้งนั้น เธอต้องกลายเป็นอาชญากรสงครามรับโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต
เปาโล คูเอลญู นำเค้าโครงเหตุการณ์จริงมาเขียนในรูปแบบของจดหมาย ทำให้เราได้รับรู้ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กของเธอที่ถูกครูใหญ่ข่มขืน และต้องเผชิญฝันร้ายในชีวิตครอบครัวเป็นซ้ำสองก่อนติดปีกไปปารีส
เธอเป็นผู้หญิงใจกล้า ทว่าเกิดมาผิดยุคสมัย รักอิสระ ทะเยอทะยาน ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาอย่างโชกโชน เราได้อ่านความรู้สึกนึกคิดของเธออย่างลึกซึ้งและสะเทือนใจ
ขอบคุณค่ะ

วันนี้เดินนิดหน่อย
อากาศหนาว ว่าจะรีบนอน
7 พฤศจิกายน 2560









Create Date : 08 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2560 10:05:09 น.
Counter : 844 Pageviews.

2 comment
--- BOOKSTORE STYLE ---
























ไม่รู้สิ
ฉันว่า การเข้าร้านหนังสือมือสอง
เป็นเหมือนการเล่นซ่อนหากับของรัก
วันไหนเจอหนังสือถูกใจ
วันนั้นฉันจะขอบคุณเจ้าของร้าน
แล้วเดินไปยังร้านกาแฟเล็ก ๆ
ขณะมีถ้วยชาอุ่น ๆ อยู่ในมือ
ฉันก็จะจมลงไปในสิ่งที่เพิ่งได้มา
และเป็นช่วงเวลานี้เองที่ฉันรู้สึกว่า
จิตใจนั้นแสนจะสงบและมีความสุข
Jason books









หนังสือที่มีคุณค่า
ก็คือหนังสือที่ถูกอ่าน
ไม่ใช่หนังสือที่ถูกวางไว้เฉย ๆ โดยแท้
Bookstore Style









การทำร้านหนังสือนั้นมีหลายส่วนเหมือนกับการทำหนังสือ
เหมือนในแง่ที่ว่า การ 'มีอะไรให้ค้นหา' นั้นสำคัญ












ร้านหนังสือที่อยู่รอดมักเป็นร้านเล็ก ๆ
ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำจุดสนใจอื่นเข้ามาร่วม
และที่สำคัญ เป็นร้านที่เข้าใจดีว่า
การทำให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ใช่แค่มีหนังสืออยู่ในร้าน
แต่ยังต้องการการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง
มีปฏิสัมพันธ์จนลูกค้าผูกพัน
และรู้สึกว่า ร้านเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
BOOKSTORE STYLE

















Create Date : 26 ตุลาคม 2560
Last Update : 26 ตุลาคม 2560 7:49:05 น.
Counter : 589 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

ภูเพยีย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



  •  Bloggang.com