MY LIFE AS JEDIYUTH
 
 

Cowboys & Aliens - บทวิจารณ์

Cowboys & Aliens ดัดแปลงจากนิยายภาพของสก็อต มิเชล โรเซนเบิร์ก ที่เป็นการผสมผสานของเรื่องราวแนวคาวบอยกับนิยายวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน และหนังเองก็ดูจะผสมสูตรของหนังทั้งสองแนวได้ค่อนข้างลงตัวด้วยครับ โดยให้คาวบอยเป็นส่วนผสมหลัก และให้ไซไฟเป็นส่วนผสมรอง ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เสียทีเดียวเพราะในปี 1969 ก็มีหนังอย่าง The Valley of Gwangi ที่เป็นการผสมหนังคาวบอยเข้ากับไซไฟมาก่อน (จะต่างกันที่เรื่องหนึ่งเป็นไดโนเสาร์ อีกเรื่องเป็นมนุษย์ต่างดาว) แต่ก็เป็นส่วนผสมที่นานๆ เราจะได้เห็นสักครั้ง และเมื่อวัดจากหน้าหนังแล้ว Cowboys & Aliens ก็น่าจะเป็นหนังที่สร้างความพึงพอใจได้ไม่ยาก เพราะมีส่วนผสมที่สนุกของหนังทั้งสองแนวมาอยู่ร่วมกัน มีวัตถุดิบชั้นดีที่เป็นนักแสดงเก่งๆ อย่างแดเนียล เครก, แฮริสัน ฟอร์ด, โอลิเวีย ไวลด์, แซม ร็อคเวลล์ และพอล ดาโน มีผู้กำกับที่เก่งคนหนึ่งอย่างจอน เฟฟโร มาเป็นผู้ปรุง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมากลับค่อนข้างจืดชืด และทำได้ไม่ถึงศักยภาพที่ควรจะเป็น เหตุผลหลักมากจากบทหนังที่ซ้ำซาก เดาง่าย และหาทางออกให้แก่หนังง่ายเกินไป


โดยรวมแล้วหนังไม่ถึงกับแย่ครับ เพราะยังมีช่วงเวลาดีๆ อยู่ในนั้นหลายตอน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือฉากเปิดเรื่องที่คล้ายหนังลึกลับ หนังเปิดเรื่องที่เจค โลนเนอร์แกน (เครก) สิงห์ปืนไวแห่งตะวันตกแดนเถื่อนในนิวเม็กซิโก ปี 1875 ที่ตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ปูมอดีตของตัวเอง จำไม่ได้แม้แต่ชื่อ รู้แต่ว่าตัวเองมีบาดแผลคล้ายถูกยิง มีภาพถ่ายของหญิงงามคนหนึ่งติดตัว และข้อมือมีอุปกรณ์คล้ายกำไลเหล็กรัดอยู่ ซึ่งช่วงเปิดเรื่องนี้ดูน่าติดตามดี ต้องยกความดีให้ความสามารถทางการแสดงของเครกที่ถ่ายทอดตัวละครนี้ออกมาได้ดูน่าสนใจ ด้วยบุคลิกคล้ายตัวละครของคลินท์ อีสต์วู้ด ในหนังคาวบอยประเภทที่มักพูดน้อยต่อยหนัก ใช้ความนิ่งสงบความเคลื่อนไหว แต่แสดงออกอย่างมีเสน่ห์แบบสตีฟ แม็คควีน

ช่วงต่อมาเป็นช่วงเวลาที่แนะนำให้เรารู้จักตัวละครอื่นๆ และความสัมพันธ์ของพวกเขาเหล่านั้น หนังดูจะมีการจัดการค่อนข้างดีในช่วงนี้เช่นกันครับ แม้ว่าตัวละครจะเป็นสูตรสำเร็จของหนังคาวบอยไปนิด แต่ด้วยความที่ฮอลลีวู้ดไม่ค่อยมีหนังคาวบอยออกมาในระยะหลังนี้ ทำให้ฉากเหล่านี้ดูน่าสนใจในแง่การหวนระลึกถึงหนังคาวบอยยุคเก่าที่พระเอกเป็นคนแปลกหน้า มีภูมิหลังดำมืด เข้าไปยังเมืองที่อาจไม่ต้อนรับเขา และคนในเมืองก็อยู่อย่างยำเกรงในอิทธิพลเหนือกฎหมายของเจ้าพ่อ

ตัวละครเจ้าพ่อในที่นี้คือพันโทดอลาร์ไฮด์ที่รับบทโดยแฮริสัน ฟอร์ด ซึ่งฟอร์ดเล่นออกมาได้ดูมีบารมี และน่าเกรงขาม จนอดทำให้นึกถึงตัวละครคาวบอยของจอห์น เวย์น ไม่ได้ ตัวละครอื่นๆ ก็เป็นตัวละครที่มีอยู่ทั่วไปในหนังคาวบอยครับ แต่ได้นักแสดงที่มีฝีมือมาเล่น จึงทำให้ดูมีสีสันมาก เช่นลูกชายที่ไม่เอาไหนของเจ้าพ่อ (พอล ดาโน) ผู้ชอบเบ่งอำนาจและกดขี่ชาวบ้านไปวันๆ เจ้าของร้านเหล้า(แซม ร็อคเวลล์) ที่ไม่ชอบใช้กำลังและเก็บกดจากการถูกกดขี่ นักเทศน์(แคลนซี บราวน์)ที่เลื่อมใสในพระเจ้าและเป็นผู้ชี้ทางเดินที่ถูกต้องให้พระเอก เด็กชายไร้เดียงสา(โนอาห์ ริงเกอร์) ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่จากการผจญภัย และที่โดดเด่นที่สุดคือเอลล่า (โอลิเวีย ไวลด์) หญิงสาวลึกลับที่ดูจะเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดดีที่สุด และพยายามคอยช่วยเหลือพระเอก

หนังปูความขัดแย้งระหว่างเจคและดอลาร์ไฮด์ได้ค่อนข้างดี เป็นศัตรูที่จะฆ่าแกงกันได้ แต่เพราะการรุกรานของมนุษย์ต่างดาวอย่างเต็มตัวและมาลักพาคนในเมืองไป ตัวละครเหล่านี้จึงต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อไปช่วยคนอันเป็นที่รักของพวกเขา ดอลาร์ไฮด์จำเป็นต้องพึ่งเจคเพราะมีอาวุธไฮเทคที่จะสู้กับผู้บุกรุกที่บินได้เหล่านี้ ขณะที่เจคก็มีอีกเหตุผลในการออกเดินทางครั้งนี้ นั่นก็คือความจริงเกี่ยวกับอดีตของตัวเขา


ครึ่งหลังของหนังคล้าย The Searchers หนังปี 1956 ของจอห์น ฟอร์ด หรือ The Missing หนังปี 2003 ของรอน เฮาเวิร์ด ที่เหล่าตัวเองต้องแกะรอยและบุกถิ่นเสือแดนสิงห์เพื่อช่วยผู้คนออกมา ซึ่งเปลี่ยนจากอินเดียนแดงเผ่าอาปาเช่อันน่ากลัวเป็นเอเลี่ยนแทน แล้วระหว่างเดินทางก็ได้พบตัวละครที่มาช่วยไขปริศนาอดีตของเจค และเฉลยความลึกลับของเอลล่าที่มีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับเอเลี่ยน ครึ่งหลังของหนังนี่แหละที่น่าจะเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของหนังครับ

อย่างแรกก็คือการเน้นไปที่เรื่องราวสืบหาอดีตของเจคมากเกินไป ทำให้เรื่องราวที่แทนที่จะเดินไปข้างหน้ากลับหนืดลงในบางขณะ ทั้งที่น่าจะแบ่งพื้นที่เพื่อคลี่คลายปมขัดแย้งของตัวละครให้มากกว่านี้ ความเข้มข้นของหนังจึงถูกลดทอนลงไป

เจคกับพันโทดอลาร์ไฮด์ดูจะญาติดีกันเร็วมาก ทั้งที่ควรจะสร้างเรื่องราวให้ค่อยเป็นค่อยไป ดอลาร์ไฮด์ที่ดูน่ายำเกรงในตอนแรกก็ดูเหมือนคนละคนในครึ่งหลัง และหลายครั้งกลายเป็นตัวฮาแทน ทำให้อารมณ์ไปได้ไม่สุดเมื่อตอนหลังจะต้องสวมบทเหี้ยมเพื่อลุยกับเอเลี่ยน

ตัวละครสมทบอื่นๆ ที่น่าจะได้เป็นสีสันในครึ่งหลังก็ดูจะถูกลืมหายไปด้วยครับ เช่นตัวละครของร็อคเวลล์ที่ในตัวอย่างหนังเหมือนจะมีบทบาทมากกว่านี้ก็ดูจะถูกตัดหายออกไป

เอเลี่ยนก็เป็นปัญหาใหญ่สำคัญในหนังเรื่องนี้เช่นกัน งานออกแบบอสุรกายไม่เพียงดูเชยเมื่อเทียบกับหนังแนวนี้ในรอบหลายปี แต่ยังดูตลกด้วย เหมือนหลุดมาจากหนัง Men in Black และทำให้รู้สึกหมือนพวกมันมาอยู่ผิดเรื่องเมื่อจะสวมบทน่ากลัวแบบ Alien ของริดลี่ย์ สก็อต

ฉากปะทะกันในตอนท้ายของหนังก็ทำออกมาได้ราบเรียบ เดาง่าย และไร้อารมณ์ร่วมอย่างมาก เพราะหนังใช้สูตรสำเร็จของหนังไซไฟเอเลี่ยนบุกโลกที่เห็นกันจนเกร่อในยุคหลังจนคนดูจับทางได้ไม่ยากว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ ฉากภาวะคับขันบางฉากก็เล่นบ่อยเกินไป เช่นที่ตัวละครหนึ่งจนมุมและจะไม่รอดแล้วจู่ๆ ก็มีอีกตัวละครโดดมาช่วยจากไหนก็ไม่รู้ หนังเรื่องนี้ดูจะใช้มุขนี้บ่อยจนเฝือ

การออกแบบฉากบู้ที่ช่วยสร้างความมันส์ให้แก่หนังก็ทำได้ไม่ดี เพราะออกแบบได้ธรรมดา และสะเปะสะปะในบางครั้ง คงจะดีกว่านี้หากหนังยืมแนวทางของฉากบู้จากหนังหนังคาวบอยในตำนานที่ไม่ได้เห็นนานแล้วมาใช้

Cowboys and Aliens นับว่าเป็นอีกตัวอย่างอันคลาสสิคของฮอลลีวู้ดที่มีของดีอยู่ในมือ แต่บริหารจัดการผิดพลาด ทำให้หนังที่มีศักยภาพที่จะเป็นหนังที่ดีมากเรื่องหนึ่ง ไปได้ไม่สุดทางของมัน

คะแนน 7/10

เจไดยุทธ

(JEDIYUTH.COM)

ข้อมูลหนัง Cowboys and Aliens
ชื่อไทย สงครามพันธุ์เดือด คาวบอยปะทะเอเลี่ยน
วันฉายในไทย 25 สิงหาคม 2554
แนวหนัง แอ็คชั่น,ไซไฟ,แฟนตาซี
ผู้กำกับ จอน แฟฟโร
นักแสดง เดเนี่ยล เครก, แฮริสัน ฟอร์ด, โอลิเวีย ไวลด์, แซม ร็อคเวลล์ และ พอล ดาโน
เว็บไซต์ทางการ //www.cowboysandaliensmovie.com





 

Create Date : 18 มกราคม 2555   
Last Update : 18 มกราคม 2555 18:43:27 น.   
Counter : 2792 Pageviews.  


Captain America: The First Avenger - บทวิจารณ์

หนึ่งในแผนการอันชาญฉลาดของมาร์เวล สตูดิโอ ในการสร้างหนังซูเปอร์ฮีโร่จากตัวละครหนังสือการ์ตูนของตัวเองก็คือ พวกเขาพยายามแนะนำผู้ชมให้รู้จักตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในเครือ เช่นไอร์ออนแมน, ฮัลค์ และธอร์ ไปพร้อมๆ กับโยงตัวละครเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อปูให้แต่ละตัวได้มาเจอกันในหนังรวมพลซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์ The Avengers ที่มีแผนออกฉายในปี 2012 และกัปตันอเมริกาคือตัวละครสุดท้ายที่จะทำให้ The Avengers ครบทีม แต่ผลลัพธ์สุดท้ายเมื่อเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นก่อนหน้านี้ Captain America: The First Avenger ดูจะทำออกมาได้ด้อยกว่าในเกือบทุกทาง

Captain America: The First Avenger ถือว่าเป็นหนังที่ดีในระดับหนึ่งถ้าเทียบกับหนังโดยทั่วไปในแง่งานสร้างและการแสดง แถมยังมีแนวคิดที่ฉลาดในการสร้างให้เป็นหนังผจญภัยย้อนยุคที่มีฉากเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้โดดเด่นจากหนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องอื่นๆ และยังเป็นแนวคิดที่เอาไปสร้างสรรค์อะไรได้เยอะมาก แต่การที่ผู้กำกับโจ จอห์นสตัน (The Wolfman และ Jurassic Park III) ไม่สามารถเล่าเรื่องให้มีอารมณ์ร่วมได้มากพอ มีจังหวะการเล่าเรื่องที่ไม่คมพอ และสร้างฉากแอ็คชั่นส่วนใหญ่ได้ธรรมดา จึงทำให้หนังเรื่องนี้ไปได้ไม่สุดทางของมัน เป็นได้เพียงอาหารเรียกน้ำย่อยก่อนจะไปถึง The Avengers ทั้งที่มีศักยภาพจะเป็นอาหารมื้อหลักอิ่มท้องได้เหมือนกับ Iron Man และ Thor
หนังเปิดเรื่องในยุคปัจจุบันที่ทีมสำรวจของหน่วยชีลด์ได้ค้นพบตำแหน่งของร่างใต้น้ำแข็งของกัปตันอเมริกาก่อนที่จะพาย้อนสู่อดีตเพื่อเล่าความเป็นมา นั่นก็คือสตีฟ โรเจอร์ส (คริส เอแวนส์) เด็กหนุ่มผอมกระหร่องและตัวเล็ก แต่มีจิตใจกล้าหาญ ดีงาม มุ่งมั่น และอยากเป็นทหารรับใช้ชาติเพื่อรบไปกับนาซี แล้วยอมเอาตัวเองไปเป็นหนูทดลองในโครงการสร้างสุดยอดทหารของกองทัพสหรัฐที่ดูแลโดยดร.อับราฮัม (สแตนลี่ ทุชชี) จนในที่สุดทำให้เขากลายเป็นกัปตันอเมริกา ซูเปอร์ฮีโร่ที่สามารถใช้พลังได้สุดขีดจำกัดที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้

ขณะเดียวกันก็เล่าถึงแผนการอันชั่วร้ายของไอ้กะโหลกแดง (ฮิวโก้ วีฟวิ่ง) หัวหน้าของหน่วยไฮดราของนาซี ที่หมายใช้ลูกบาศน์พลังงานในการทำลายล้างโลก เพื่อปูเรื่องให้ทั้งคู่ต้องมาเผชิญหน้ากันในฉากไคลแม็กซ์สุดท้าย ซึ่งช่วงเปิดเรื่องของหนังนี้ทำได้เข้มข้นและน่าติดตามอย่างมาก

หลังจากเป็นกัปตันอเมริกาแล้ว รัฐบาลสหรัฐยังไม่รู้ว่าจะใช้เขาเพื่อประโยชน์ใดดี จึงใช้เขาเป็นเครื่องมือหาทุนทำสงคราม และนำทัพสันทนาการไปสร้างขวัญกำลังใจให้ทหารแนวหน้า แต่เมื่อทราบข่าวว่าเพื่อนรักชื่อบัคกี้ บาร์นส์ (เซบาสเตียน สแตน) ถูกจับเป็นเชลย เขาจึงลุยเดี่ยวเข้าไปในแนวข้าศึก ภายใต้การช่วยเหลือของเพ็กกี้ คาร์เตอร์ (เฮย์ลี่ แอ็ทเวลล์) และ เฮาเวิร์ด สตาร์ก (โดมินิก คูเปอร์) เพื่อช่วยเพื่อนออกมาจนวีรกรรมเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ผู้การเชสเตอร์ (ทอมมี่ ลี โจนส์) ยอมรับในตัวเขา และใช้เขาต่อกรและทำลายโรงงานผลิตอาวุธของหน่วยไฮดรา

ในครึ่งหลังของหนังที่กัปตันอเมริกาเริ่มปฏิบัติภารกิจ ดูเหมือนว่าหนังไม่อาจไต่ระดับความเข้มข้นและเล่าเรื่องได้น่าสนใจไปกว่าที่ปูเอาไว้ในตอนต้น การปฏิบัติภารกิจแต่ละครั้ง มีฉากต่อสู้ที่มีการออกแบบมาดีหลายฉาก (แต่ก็มีอีกหลายฉากที่ออกแบบมาได้ธรรมดา) แต่ไม่อาจสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก หรือมีอารมณ์ร่วมในฉากเหล่านั้นได้มากพอหรือบางครั้งแทบไม่มีเลย

เมื่อสลับเข้าสู่โหมดดราม่าของหนัง ผู้กำกับก็ยังขยี้อารมณ์ได้ไม่มากพอที่จะทำให้เราสะเทือนใจได้ ฉากร่ำลาท้ายเรื่องที่น่าจะขยี้อารมณ์จนร้องไห้ได้ก็เล่าอย่างรีบเร่ง และยังไม่อาจสร้างความผูกพันกับตัวละครบางตัวได้มากพอจนรู้สึกสงสารในชะตากรรมได้ อันเป็นเหตุให้อารมณ์ของหนังเหมือนถูกกั๊กเอาไว้ เมื่อดูจบจึงไม่อิ่ม ต่างจากตอนที่เราชม Thor หรือ Iron Man ที่ทำให้เราอยากดูภาคต่อได้ในทันที

ฉากหลังที่เป็นสงครามโลกครั้งที่สองที่สามารถเอาไปสร้างฉากแอ็คชั่นสงครามที่ยิ่งใหญ่ได้ กลับไม่ถูกนำมาใช้ แต่กลับไปเน้นฉากขนาดที่เล็กแทน จึงดูเป็นการใช้แนวคิดของหนังไปอย่างไม่คุ้มค่า หนังพยายามสร้างฉากแอ็คชั่นในอารมณ์หนังยุคเก่าแบบ Indiana Jones แต่ก็ยังทำได้ไม่ถึงขั้นนั้น

ในด้านการแสดง คริส เอแวนส์ก็ดูจะยังไม่มีเสน่ห์บนจอมากพอแม้ว่าจะหล่อล่ำก็ตาม บทกัปตันอเมริกาที่ได้รับก็ออกไปในทางพระเอกจ๋า มีระดับความซับซ้อนไม่มาก และเมื่อประกบกับตัวละครสมทบที่มีสีสันจากบทบาทของทอมมี่ ลี โจนส์, ฮิวโก้ วีฟวิ่ง, สแตนลี่ ทุชชี่ และ โดมินิก คูเปอร์ ทำให้กัปตันอเมริกาไม่อาจฉายแววเด่นได้เต็มๆ

ผมอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อ The Avengers ออกฉาย และกัปตันอเมริกาของเอแวนส์ต้องประชันกับตัวละครที่มีสีสันและซับซ้อน จากนักแสดงที่มีเสน่ห์บนจอแรงๆ อย่างธอร์ (คริส เฮล์มสเวิร์ธ), ไอร์ออน แมน (โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์), นิค ฟิวรี่ (แซมมวล แอล. แจ็คสัน) และ ฮัลค์ (มาร์ค รัฟฟาโล) ตัวละครกัปตันอเมริกาอาจถูกกลืนหายไปหนักกว่าในหนังของตัวเองเลยด้วยซ้ำ



คะแนน: 7/10

เจไดยุทธ

(JEDIYUTH.COM)


ข้อมูลของหนัง Captain America: The First Avenger

ชื่อไทย: กัปตันอเมริกา – อเวนเจอร์ ที่ 1

ผู้กำกับ: โจ จอห์นสตัน

ผู้เขียนบท: คริสโตเฟอร์ มาร์กัส และ สตีเฟ่น แม็คฟีลี่

นักแสดง: คริส เอแวนส์, ทอมมี่ ลี โจนส์, ฮิวโก้ วีฟวิ่ง, สแตนลี ทุชชี, เฮย์ลี่ แอ็ทเวลล์, เซบาสเตียน สแตน, โดมินิก คูเปอร์ และ โทบี้ โจนส์

บริษัทผู้สร้าง: มาร์เวล สตูดิโอ

บริษัทจัดจำหน่าย: ยูไอพี ประเทศไทย

เว็บไซต์ทางการ: //captainamerica.marvel.com/





 

Create Date : 18 มกราคม 2555   
Last Update : 18 มกราคม 2555 18:13:16 น.   
Counter : 1443 Pageviews.  


The Age of Innocence: วัยบริสุทธิ์มิอาจพรากรัก

ผมไม่นิยมหนังของมาร์ติน สกอร์เซซี นัก เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบหนังที่มีภาพรุนแรง หรือฉากโหดๆ ที่ดูสมจริง จึงไม่คุ้นเคยกับหนังของเขานัก แม้จะรู้จักดีว่าเคยกำกับหนังสำคัญๆ เรื่องใดมาบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้สนใจอยากดู The Age of Innocence เมื่อครั้งที่ออกฉายในโรงเกือบสิบปีก่อนก็เพราะการที่สกอร์เซซีหันมากำกับงานที่ผิดจากธรรมเนียมที่เขามักนำเสนอ จากหนังโหดๆอย่าง Goodfellas หรือ Taxi Driver มาเป็นหนังจากวรรณกรรมที่พูดถึงชีวิตและความรักของคนในอดีตแบบที่มักพบกับหนังของ Merchant-Ivory และสกอร์เซซีก็สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้อย่างงดงามและอย่างอัจฉริยะ

หนังเปิดเรื่องด้วยการนำเรารู้จักสังคมชนชั้นสูงของนิวยอร์กในช่วงวิคทอเรียน ช่วงปี 1870 ในโอเปร่าเฮาส์ที่ทุกคนแต่งองค์ทรงเครื่องกันเต็มยศและหรูหรา แต่เพียงไม่ช้าก็ได้ให้เราเห็นนิสัยใจคอของผู้คนในสังคมนี้ เพราะแทนที่จะสนใจชมโอเปร่า ผู้คนที่นี่กลับส่องกล้องคอยจับผิดกัน และเพียงไม่ทันไรที่เคาน์เตสเอลเลน โอเลนสก้า (มิเชล ไฟเฟอร์) มาถึง ก็มีเสียงติฉินนินทาแล้วว่าญาติพี่น้องของเธอไม่ควรนำเธอออกงาน ทั้งนี้เพราะเธอไม่คุ้นและไม่นิยมธรรมเนียมปฏิบัติของชาวนิวยอร์ก รวมถึงการที่มีเรื่องอื้อฉาวกับสามีชาวยุโรป และหนังก็นำเสนอให้ผู้คนที่ตั้งตนเป็นผู้ชำนาญในเรื่องกรอบประเพณีและช่างขุดคุ้ยเรื่องของผู้คนมาตีแผ่สร้างความเจ็บช้ำให้แก่กัน และนั่นคือโลกของตัวละครในเรื่อง โลกที่ทรงตัวโอนเอนที่ซึ่งความสมานฉันท์สั่นคลอนได้ด้วยลมปาก

"This was a world balanced so precariously that its harmony could be shattered by a whisper."

นิวแลนด์ อาร์เชอร์ (เดเนียล เดย์-ลูอิส) ชายหนุ่มรูปงามแห่งตระกูลอาร์เชอร์ ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตา และเป็นตระกูลใหญ่ ตัดสินใจประกาศการหมั้นของเขากับหญิงสาวที่เขาจะแต่งงานด้วย เมย์ เวลแลนด์ (วิโนนา ไรเดอร์) หญิงสาวผู้อ่อนหวานใสซื่อต่อเล่หกลใดๆ ในความคิดของนิวแลนด์ ผู้เป็นญาติผู้น้องของเคาน์เตสโอเลนสก้า เพื่อให้ดูว่าสองตระกูลหนุนหลังเคาน์เตสให้เป็นที่ยอมรับแก่วงสังคม ด้วยเพราะสงสารและเมตตาเธอ ทั้งนิวแลนด์และเคาน์เตสโอเลนสก้ารู้จักกันมาก่อนตั้งแต่เด็ก ก่อนที่เธอจะไปแต่งงานและอยู่ที่ยุโรป

จากท่าทีของนิวแลนด์เมื่อแรกพบเธออีกครั้ง ก็พอดูออกว่าเขาอาจเคยหลงรักเธอมาก่อน แต่มาดามโอเลนสก้าอาจเคยหลงรักชายอื่นอยู่ และอาจเพราะรักความถูกต้องและทนไม่ได้ที่เห็นสังคมรังเกียจเธอเพียงเพราะเธอมีเรื่องหย่าร้าง และความเป็นหญิงที่ดูลึกลับ รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ซึ่งแปลกจากคนอื่นๆ ทำให้นิวแลนด์ชื่นชอบเธอและหาทางช่วยเธอให้เป็นที่ยอมรับ โดยการร้องขอต่อผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลในวงสังคมให้ช่วยส่งเสริมเธอ ตรงนี้เองที่ทำให้ทั้งคู่ได้สนิทสนมกันมากขึ้น และหลงรักกันและกันในที่สุด แม้ฝ่ายหนึ่งมีคู่หมั้น และอีกฝ่ายยังไม่ได้หย่าร้าง

นิวแลนด์พยายามเร่งรัดเพื่อจะแต่งงานกับเมย์ เพราะกลัวว่าความรักที่เขามีต่อมาดามโอเลนสก้าจะเพิ่มพูนขึ้น จนทำให้เขาทำผิดต่อเธอ ในขณะที่มาดามโอเลนสก้าก็หลบหน้านิวแลนด์เพราะกลัวว่าเธอจะรักเขา เมย์เองก็อาจระแคะระคายว่านิวแลนด์ปันใจให้หญิงอื่น จึงให้เขาทบทวนให้ดีก่อนแต่งงานกับเธอ ให้เขามีโอกาสทิ้งเธอเพื่อไปหาคนที่เขารักจริงๆ

เมื่อนิวแลนด์ได้พบมาดามโอเลนสก้าอีกครั้ง ทั้งคู่ได้มีโอกาสเปิดใจพูดกันหมดเปลือกถึงความรักที่มีต่อกัน แต่มาดามโอเลนสก้าขอร้องให้เห็นแก่เมย์ เธอเองไม่สามารถจะมีความสุขได้หากความรักของเธอสร้างทุกข์ให้ผู้อื่น เช่นเดียวกับไม่อยากเห็นนิวแลนด์กลายเป็นคนใจดำที่ทำร้ายผู้อื่น ในที่สุดทั้งคู่ก็จากกันไป นิวแลนด์แต่งงานกับเมย์ และเคาน์เตสเดินทางไปยุโรป และหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของนิวแลนด์ประหนึ่งการทดลองที่ถูกทอดทิ้ง

แต่เมื่อเคาน์เตสโอเลนสก้ากลับมายังนิวยอร์กอีกครั้ง ถ่านไฟเก่าก็คุขึ้นอีก และนิวแลนด์ก็พยายามจะสานการทดลองของเขาให้เสร็จ แม้เคาน์เตสจะพยายามหนีหน้าเขาเพียงใด แต่โดยหารู้ไม่ว่าสายตาทุกคู่ในนิวยอร์กจับตาดูพวกเขาอยู่เงียบๆ และเมย์เองก็ดูจะเชื่อในข่าวลือนั้น

The Age of Innocence ดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกันของ Edith Wharton ซึ่งนิยายของเธออีกเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังอยู่บ่อยๆ ก็คือ The House of Mirth ที่ในฉบับล่าสุดได้กิลเลียน แอนเดอร์สัน สาวเอกซ์-ไฟล์ มารับบทนำ


Wharton เป็นคนในแวดวงสังคมชั้นสูงของนิวยอร์กในยุคนั้นและดูจะเข้าใจแวดวงสังคมของเธอเป็นอย่างดี พร้อมทั้งความเป็นเลิศในการเขียนวรรณกรรม ทำให้เธอถ่ายทอดภาพของผู้คนผ่านตัวหนังสือได้อย่างชัดเจน เจ็บแสบ และสวยงาม

บทซึ่งดัดแปลงโดยมาร์ติน สกอร์เซซี และ Jay Cocks ก็ทำได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน จนถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ เพียงแต่พ่ายให้กับ Schindler's List (1993) ของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ไป โดยเขาให้เรื่องราวเล่าผ่านสายตาของนิวแลนด์ อาร์เชอร์ โดยมีเสียงเล่าเรื่องของ Joanne Woodward นักแสดงหญิงที่เคยคว้าออสการ์จาก The Three Faces of Eve และรับบทเป็นแม่ของทอม แฮงก์ ใน Philadelphia เป็นผู้ถ่ายทอดความในใจของเขา ซึ่งเป็นกลอุบายที่ใช้ในการเล่าเรื่องที่เหมาะสมกับหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง ด้วยเพราะหนังต้องการให้เห็นถึงสังคมที่ตกเป็นทาสของการนินทาว่าร้ายและการซุบซิบ เหมือนที่ในหนังเปรียบว่าเป็นเหมือนองค์กรลับที่ตัดสินผู้คน โดยไม่เคยสอบสวนความเป็นจริงก่อน หรือไต่ถามสิทธิในการกระทำของผู้ที่ตกเป็นจำเลย น้ำเสียงของ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวให้เราฟัง ซึ่งบางครั้งเหน็บแนม บางครั้งขบขัน และโดยส่วนใหญ่ที่เหมือนแอบเล่าเรื่องนินทาชาวบ้านให้เราฟัง เหมือนเราได้นั่งฟังเรื่องซุบซิบไปด้วย

นอกจากนี้ การเล่าเรื่องด้วยภาพของมาร์ติน สกอร์เซซี ก็ยังทำออกมาได้แปลกกว่าธรรมเนียมที่หนังแนวนี้มักนิยม เช่นการให้ตัวละครพูดข้อความในจดหมาย หรือการใช้แสงและสีแสดงความรู้สึกของตัวละคร

การแสดงของแดเนียล เดย์-ลูอิส และ มิเชล ไฟเฟอร์ นั้นไม่ต้องพูดถึง สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกที่ซ่อนลึกอยู่ในใจได้ดีมาก แต่ที่สะดุดตาที่สดคงเป็นวิโนนา ไรเดอร์ ในบทที่ดูต่างไปจากที่เคยเห็นเธอแสดง ด้วยใบหน้าที่อ่อนหวานดูเดียงสา และบริสุทธิ์ แต่เก็บซ่อนความรู้สึกแท้จริงเอาไว้ตลอด เหมือนที่อาร์เชอร์คิดว่า

"But what if all her calm, her niceness were just a negation, a curtain dropped in front of any emptiness? Archer felt he had never lifted that curtain."

และเราเห็นได้ชัดในภายหลังถึงความแยบยลของเธอที่ใช้ความใสซื่อบริสุทธิ์และเปราะบางเป็นปราการกีดขวางความรักของคนทั้งสองที่ไม่อยากทำร้ายจิตใจเธอเพียงใด เหมาะสมกับการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ และอาจจะเป็นครั้งเดียวของเธอที่มีโอกาสได้บทบาทเช่นนี้

งานกำกับศิลป์ออกแบบฉาก และเครื่องแต่งกายก็ทำได้ปราณีต ตั้งแต่การจำลองฉากไทม์สแควร์ในอดีต จนถึงปลายของชายกระโปรงและลายสลักบนไฟแช็ค รวมถึงมีดนตรีประกอบที่ไพเราะเข้ากับเรื่อง เป็นงานที่สมบูรณ์ในทุกด้านภายใต้การกำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี

คะแนน 10/10

*** หมายเหตุ***
เป็นบทวิจารณ์ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2545 ครับ เอามาลงให้อ่านใหม่




 

Create Date : 24 กันยายน 2554   
Last Update : 24 กันยายน 2554 10:16:00 น.   
Counter : 9700 Pageviews.  


The Adjustment Bureau: โรแมนติกในฉบับไซไฟ

ถ้ามองจากหน้าหนัง The Adjustment Bureau ดูคล้ายหนังไซไฟเขย่าขวัญเกี่ยวกับองค์กรลึกลับที่แอบแฝงทำอะไรบางอย่างกับมนุษย์ แต่ในแกนแล้วเป็นหนังโรแมนติก ว่าด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มที่ฝ่าฟันอุปสรรค์เพื่อให้ได้อยู่กับคนที่เขารัก ซึ่งอุปสรรคในที่นี้ก็คือ “ชะตาลิขิต” ครับ

หนังเป็นผลงานกำกับครั้งแรกของจอร์จ นอลฟี มือเขียนบทจาก Ocean’s Twelve และ Bourne Ultimatum ซึ่งแม้ว่าวิธีเล่าเรื่องจะไม่โดดเด่นหรือมีความพิเศษ มีความลักลั่นในตัวบท แต่ก็มีจังหวะในการบอกเล่าได้ค่อนข้างดี ชวนซึ้ง และมีการแสดงอันน่าเชื่อและเข้าขากันอย่างดีของแมต เดมอน กับ เอมิลี่ บลันท์ มาช่วยเสริมความน่าติดตามให้แก่หนังครับ

The Adjustment Bureau ดัดแปลงจากเรื่องสั้นแนวไซไฟของฟิลิป เค. ดิ๊ค นักเขียนที่ฮอลลีวู้ดนิยมเอามาผลงานมาดัดแปลงเป็นหนังบ่อยๆ เป็นต้นว่า Blade Runner, Minority Report, Total Recall และ A Scanner Darkly เปิดเรื่องมาโดยพาเราไปรู้จักกับเดวิด นอริส (เดมอน) นักการเมืองหนุ่มไฟแรงและกำลังไปโลดในการแข่งขันชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของนิวยอร์ก ภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กรลับที่คอยช่วยให้เขาก้าวหน้า ตามแผนของชะตาลิขิต แต่ความหุนหันพลันแล่นของเดวิดก็ได้ทำให้อาชีพทางการเมืองที่กำลังรุ่งของเขาต้องสะดุด องค์กรลับที่ว่านี้จึงต้องเข้ามา “ปรับแต่ง” เพื่อให้เดวิดได้เดินกลับไปตามเส้นทางที่ชะตาได้ลิขิตไว้อีกครั้ง

ในระหว่างที่ชะตาสะดุด เดวิดได้พบกับเอลิส (บลันท์) สาวนักเต้นบัลเล่ต์ที่เปรียว ไม่มีฟอร์ม และแสดงออกตรงกับใจ ผู้มาเป็นแรงบันดาลใจให้เดวิดเลิกที่จะสร้างภาพให้ตัวเอง และด้วย “ความบังเอิญ” อีกครั้งทำให้ทั้งคู่พบกันอีกบนรถบัสจนทำให้เดวิดรู้สึกพิเศษต่อเธอมากขึ้น

ความบังเอิญที่ว่านี้ บางครั้งเกิดจากการทำงานผิดพลาดของคนองค์กรลับ บางครั้งก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของชะตา เพราะชะตาลิขิตเอาไว้แต่เฉพาะแผนโดยกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่สาเหตุที่ทำให้เดวิดได้พบเอลิสอย่างผิดแผน แต่ยังทำให้เดวิดได้ล่วงรู้ความลับขององค์กรนี้ด้วย ที่หลายครั้งแอบใส่ความคิดเข้าไปในหัวของเพื่อนร่วมงานของเดวิดแบบหนัง Inception เพื่อให้เดวิดเดินไปตามแผนที่พวกเขากำหนด

ริชาร์ดสัน (จอห์น สแลทเตอรี) เป็นหัวหน้าหน่วยขององค์กรลับที่เขามาดูแลคดีของเดวิด ขู่ไม่ให้เดวิดเปิดเผยความลับขององค์กร มิเช่นนั้นจะทำลายความทรงจำของเขาทั้งหมด และสั่งห้ามเดวิดพบเอลิสอีกเพราะชะตาไม่ได้ลิขิตให้พวกเขามาคู่กัน ซึ่งองค์กรจะทำทุกวิธีเพื่อขัดขวางไม่ให้ได้พบกันอีก

เดวิดไม่เชื่อเรื่องชะตาลิขิต และไม่เชื่อว่าเขาจะรักกับเอลิสไม่ได้ เพราะมิเช่นนั้น เขาคงไม่รู้สึกพิเศษต่อเธอมากขนาดนี้ เดวิดนั่งรถบัสคันเดิม เที่ยวเดิมทุกเช้าเป็นเวลา 3 ปี จนในที่สุดความบังเอิญก็เป็นใจอีกครั้งให้เขาได้พบเอลิส และครั้งนี้เขาก็ทำทุกวิธีไม่ให้เอลิสหลุดไปจากมือไม่ว่าองค์กรลับจะใช้วิธีขัดขวางยังไง โดยมีแฮรี่ (แอนโธนี แม็คกี้) คนองค์กรที่สงสารเขาแอบให้คำแนะนำอยู่ลับๆ

ต่อมา เราก็ได้รู้ความจริงว่าทำไมเดวิดบังเอิญได้พบเอลีสอีก แม้องค์กรลับจะทำหน้าที่เข้มงวดแล้ว นั่นก็เพราะว่าทั้งคู่เป็นเนื้อคู่กัน เป็นคู่รักกันมาจากชาติปางก่อน แต่ชะตาได้มากำหนดแผนชีวิตของพวกเขาใหม่ในชาตินี้ ริชาร์ดสันจึงพบว่าอยู่เหนืออำนาจที่เขาจะขัดขวางได้ องค์กรจึงส่งธอมป์สัน (เทอเรนซ์ สแตมป์) ขุนค้อนจอมโหดเข้ามาทำลายความรักของทั้งคู่ ด้วยการขู่จะทำลายอนาคตอาชีพนักเต้นของเอลิส และให้เดวิดต้องเลือกระหว่างได้อยู่กับเอลิส แต่อาชีพของเธอต้องตกอับ กลับปล่อยเอลิสไปแต่งงานกับคนอื่นเพื่อให้อาชีพของเธอรุ่งโรจน์

โดยรวม หนังต้องการจะเน้นประเด็นที่ว่า “ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะคน” หรือ การเอาชนะชะตาลิขิต แต่หนังก็ยังดูเหมือนขาดความคมชัดในประเด็นที่ต้องการนำเสนอครับ เพราะมีการใส่เข้ามาในเนื้อเรื่องว่าเดวิดกับเอลีสเคยเป็นเนื้อคู่กัน แต่มาถูกจับแยกกันในชาตินี้ มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าฝ่ายไหนกันแน่ที่พยายามจะฝืนชะตา และยิ่งใส่ประเด็นเรื่องความบังเอิญเข้าไป ยิ่งเหมือนจะบอกเราว่า “คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน” มากกว่า ทำให้เกิดความลักลั่นในประเด็นที่ต้องการจะเสนอ

อีกส่วนที่จะเสริมให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจยิ่งขึ้นได้ แต่ยังขาดอยู่ก็คือความโดดเด่นด้านเทคนิคการเล่าเรื่อง เพราะแม้หนังจะสร้างบรรยากาศของโลกอันพิศวงแบบหนังไซไฟอย่าง Inception หรือ The Matrix ได้ดีในระดับหนึ่งก็ตาม แต่ก็ยังขาดเทคนิคการเล่าเรื่องที่น่าตื่นเต้นและแปลกใหม่แบบทั้งสองเรื่องนั้น หนังจะน่าสนใจมากขึ้นไปอีกหากฉากที่ต้องลุ้นระทึกหรือมีความเหนือธรรมชาติใส่เทคนิคที่มีจินตนาการแหวกแนวลงไป


อย่างไรก็ดี ผู้กำกับก็ยังทำให้เราอยากติดตามไปได้จนจบว่าเรื่องราวจะลงเอยแบบไหนครับ แม้เราอาจจะพอเดาได้เลาๆ ก็ตาม ทั้งนี้น่าจะมาจากการที่ผู้กำกับนอลฟีเลือกให้ตัวละครเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราว เน้นไปที่การฝ่าฟันเพื่อความรักที่ดูโรแมนติกแทนที่จะไปเน้นสร้างความเขย่าขวัญ ผู้กำกับทำให้เราเข้าใจเดวิดได้เมื่อรู้สึกอึดอัดที่ชีวิตถูกขีดเส้นไว้ ไม่อาจจะทำสิ่งที่หัวใจเรียกร้อง รู้สึกสงสารเดวิดเมื่อถูกขัดขวางความรัก และรู้สึกอยากให้เดวิดเอาชนะอุปสรรคได้สำเร็จ

การให้ตัวละครเป็นผู้ขับเคลื่อนนั้นจะไม่สำเร็จได้เลย หากไม่ได้นักแสดงที่เก่งมาถ่ายทอดบทบาท ความสามารถทางการของเดมอนและบลันท์ช่วยเสริมให้เรื่องราวน่าติดตามไปได้ตลอด และเมื่อเล่นคู่กันก็ดูกลมกลืนและเข้าขากันอย่างมาก

นักแสดงสมทบก็มีส่วนช่วยเช่นกัน โดยเฉพาะบทคนองกรค์ลับที่ไร้หัวใจของสแตมป์ที่เล่นน้อย แต่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงรังสีอำมหิต ซึ่งเมื่อยิ่งแสดงความโหดร้ายออกมาก็ยิ่งทำให้เราเห็นใจเดวิด

7.5/10

ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง
The Adjustment Bureau
ชื่อไทย พลิกชะตาฝ่าองค์กรนรก
ผู้กำกับ/เขียนบท จอร์จ นอลฟี่
นำแสดง แม็ตต์ เดม่อน, เอมิลี่ บลันท์, แอนโธนี่ แม็คกี้, จอห์น สแล็ตเทอรี่, และ เทอเรนซ์ สแตมป์
กำหนดฉายในไทย 3 มีนาคม 2554
บริษัทจัดจำหน่าย ยูไอพี ประเทศไทย
เว็บไซต์ทางการ //www.theadjustmentbureau.com/




 

Create Date : 07 มีนาคม 2554   
Last Update : 7 มีนาคม 2554 19:58:07 น.   
Counter : 1912 Pageviews.  


Blue Valentine: จริงจนเจ็บ

“เมื่อแรกรักน้ำผักก็ว่าหวาน ครั้นเนิ่นนานน้ำอ้อยก็กร่อยขม” เป็นประโยคที่ลอยเข้ามาในหัวของผมหลังจากชมหนัง Blue Valentine จบ พร้อมกับความรู้สึกจุกแบบพูดไม่ออกครับ เพราะว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอออกมาได้อย่าง “จริง” จนเราเจ็บตาม

Blue Valentine เป็นเรื่องราวชีวิตคู่ของดีน (ไรอัน กอสลิ่ง) และ ซินดี้ (มิเชล วิลเลียมส์) ที่ยามแรกรักนั้นหวานชื่น แต่กลายเป็นความจืดจางหมางเมินหลังจากใช้ชีวิตคู่อยู่กินกันไป เป็นเนื้อหาที่ไม่ได้แปลกใหม่บนโลกภาพยนตร์ แต่สิ่งที่ทำให้หนังโดดเด่นออกมาคือการนำเสนอที่เน้นความสมจริงทั้งทางอารมณ์และทางการแสดง มีการตัดต่อและการถ่ายภาพที่เปรียบเทียบให้เห็นชัดและเก๋

หนังเล่าเรื่องขนานกันไประหว่างช่วงปัจจุบันที่รักจาง กับอดีตเมื่อแรกรักและยินดีให้โอกาสกัน เปรียบเทียบความแตกต่างของนิสัยและความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวเอก โดยให้คนดูเป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อเปรียบเทียบเอาเอง และไม่พยายามตัดสินแทนว่าใครผิดหรือถูก

หนังไม่ได้บอกเราว่าแบบตรงๆ ว่าระหว่างกึ่งกลางของอดีตและปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น แต่ให้คนดูเดาเอาจากการเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันว่าการที่เลิกถนอมน้ำใจกัน เลิกทะนุถนอมกัน และสร้างความผิดหวังให้แก่กันนั้นคงเป็นสาเหตุสำคัญ และก็คงค่อยๆ สั่งสมมาจนถึงวันที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเหลืออด

ในภาคปัจจุบัน ดีนปากร้าย หยาบคาย ขี้เหล้า ขณะที่ซินดี้เองก็ดูจะไม่พอใจกับพฤติกรรมของสามี และเหมือนผู้หญิงที่เครียดอยู่ตลอด แล้วตัดย้อนกลับไปในอดีตตอนที่แรกรักกันก็จะเห็นพวกเขาเป็นอีกแบบ ดีนเป็นคนมีอารมณ์ขัน โรแมนติก ขยันทำงาน ช่างเอาใจ เป็นที่พึ่งได้ ส่วนซินดี้เองก็เป็นคนร่าเริง ยิ้มแย้ม ตาเป็นประกาย และชีวิตมีอนาคต

สาเหตุของรักจางอาจมาจากการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตั้งความหวังไว้แล้วไม่ได้ดังหวัง ซินดี้นั้นท้องตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้ไม่อาจเป็นหมอได้ดังที่หวัง และเธอเองก็ดูจะหวังให้ดีนพาชีวิตของเธอไปในทางที่รุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่ สังเกตได้ตอนที่ทั้งคู่พูดคุยกันเรื่องศักยภาพของดีนที่ตอนหนุ่มเป็นคนมีพรสวรรค์ แต่ดีนไม่ต้องการใช้ชีวิตเหมือนหัวหน้าครอบครัวที่ทำหน้าที่หาเลี้ยงเท่าไหร่ อยากทำตัวเป็นแค่สามีที่ให้ความรักลูกกับภรรยาเพียงอย่างเดียว

แต่ความรักอย่างเดียวของดีนนั้นอาจยังไม่พอที่จะช่วยประสานรอยร้าว เพราะตัวเขาเองก็เลิกที่จะพูดดีและรักษาน้ำใจภรรยา มีฉากหนึ่งตอนที่สุนัขตาย ดีนตะคอกด่าซินดี้ที่ไม่ปิดประตูให้ดี ซึ่งแตกต่างจากตอนที่เขารู้ว่าซินดี้ท้อง เขาให้กำลังใจซินดี้และอยู่เคียงข้างเธอตลอด

และเมื่อความคิดไปกันคนละทาง และรักจางจืดแล้ว สิ่งที่เคยทำให้มีความสุขได้สมัยแรกรักก็ไม่อาจใช้ได้ผลอีก ดูได้จากฉากร่วมรัก สิ่งที่ดีนเคยทำให้ซินดี้มีความสุขเมื่อก่อนไม่อาจทำให้เธอพึงพอใจได้เมื่อดีนพยายามทำให้เธอตอนไปเช่าโรงแรมเพื่อรักษาชีวิตคู่กัน

การถ่ายภาพเองก็ช่วยเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบันได้อย่างชัดเจน โดยการใช้กล้อง 16 ม.ม. มาถ่ายฉากในอดีตให้ดูฟุ้ง สดใส มีความหวัง สวยงาม และโรแมนติก ขณะที่ใช้กล้อง RED ถ่ายฉากปัจจุบันที่เน้นภาพชัดเจน ดูจริง เหมือนดูสารคดี และหดหู่

สิ่งที่ทำให้เราอินเป็นพิเศษคงไม่พ้นการแสดงอันสุดยอดของทั้งวิลเลี่ยมส์และไรอันแสดงได้เข้าขากันมากๆ จนเหมือนเป็นคู่สามีภรรยากันจริงๆ ซึ่งต้องขอบคุณผู้กำกับเดเร็ก เซียนฟรานซ์ ให้ทั้งคู่ได้ทดลองไปอยู่ในรถเทรลเลอร์ด้วยกัน ให้ซื้อของชำเข้าบ้านเอง และให้แสดงสดโดยไม่ใช้บท ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็คือความสมจริงจนเรารู้สึกเหมือนไม่ได้ดูการแสดงอยู่ แต่ดูชีวิตของคนคู่หนึ่งจริงๆ

หนังบอกเล่าจนมาถึงจุดที่ซินดี้ต้องตัดสินใจบางอย่าง และเพราะการเล่าเรื่องของหนังก่อนมาถึงจุดนี้นั้นค่อยๆ สร้างอารมณ์ร่วมได้เป็นอย่างดี ทำให้ฉากจุดแตกหักที่ดูง่ายๆ นั้นทรงพลังอย่างมาก อดทำให้เราเจ็บปวดตามตัวละครไปไม่ได้ แล้วยิ่งเจ็บปวดเข้าไปอีกเมื่อเราเห็นภาพของพวกเขาตอนที่เพิ่งแต่งงานกันและดูรักกันเหลือเกิน

การใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันนั้น บางครั้งแค่ความรักอย่างเดียวก็ไม่พอครับ มันต้องมีทั้งความเข้าใจกัน การรักษาน้ำใจกัน หนังเรื่องนี้จึงเหมาะแก่คู่สามีภรรยาเป็นอย่างยิ่งที่จะดูเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ว่า จะทำยังไงให้อยู่ด้วยกันอย่างหวานชื่นและยาวนานที่สุด

8.5/10

เกี่ยวกับหนัง

กำหนดฉาย 10 กุมภาพันธ์ 2011

เว็บไซด์ภาพยนตร์ //www.bluevalentinemovie.com

บริษัทจัดจำหน่าย มงคลเมเจอร์

กำกับ/เขียนบท เดเร็ค เซียนฟรานซ์ (Brother Tied)

นำแสดง ไรอัน กอสลิ่ง, มิเชล วิลเลียมส์, ไมค์ โวเกล และเบน แชงค์แมน




 

Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2554 3:30:18 น.   
Counter : 3281 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  

JEDIYUTH
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




เป็นนักทำซับไตเติ้ลครับ แปลซับหนังครั้งแรกในปี 2538 ครับ ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ เริ่มจากแปลหนังขาวดำให้แก่ช่อง TNT ก่อน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำให้ HBO และ Cinemax Asia จนถึงวันนี้ก็เลย 10 ปีแล้ว ต่อมาก็เริ่มมีโอกาสได้ทำซับไตเติ้ลให้ช่องอื่นบ้างรวมถึงหนังในโรงภาพยนตร์บ้างในระยะหลังนี้

ผลงานซับไตเติ้ล
เคเบิ้ลทีวี: ในหลายๆ ตอนของ Sex and the City และ Six Feet Under, Battlestar Galactica, The Smith, The Company, Heroes ซีซั่น 1, Dune, Star Trek: The Motion Pictures, Star Trek II: Wroth of Khan, Star Trek: The Final Frontier, Star Trek: Generation, Star Trek: First Contact, Star Trek: Insurrection, Star Trek: Nemesis, Apollo 13, Red Planet, Grease, Rent, Forrest Gump, Twister, Men in Black, Nightmare Before Christmas, Prince of Egypt, Jurassic Park, The Lost World, Back to the Future III, The Matrix, The Postman, Godfather Part II etc.

ผลงานซับไตเติ้ลในโรงภาพยนตร์: The Chorus, Swiming Pool, The Company, A Home at the End of World, Step Up 2

งานไม่ประจำ: ขีดๆ เขียนๆ ตามหนังสือที่รับเชิญไป

งานอดิเรก: ทำเว็บไซต์ข่าวสารภาพยนตร์ซึ่งเน้นของฮอลลีวู้ดเป็นหลัก ชื่อ JEDIYUTH.Com
[Add JEDIYUTH's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com