MY LIFE AS JEDIYUTH
 
 

JEDIYUTH’s Review: 9 (Animation) น่าเสียดายที่การเล่าเรื่องไม่ได้สุดโต่งเหมือนงานด้านภาพ

9 เป็นหนังอนิเมชั่นที่ดูแหวกแนวและพิเศษเมื่อมองจากการออกแบบงานสร้าง การออกแบบตัวละคร แนวคิด รวมถึงคำโปรยที่บอกว่ามนุษย์ตุ๊กตาปุปะพวกนี้เป็นความหวังของมนุษยชาติ แต่หลังจากชมแล้ว ผมพบว่าการเล่าเรื่องไม่ได้สุดโต่งเหมือนงานด้านภาพซึ่งน่าเสียดาย ไม่เช่นนั้นจะเป็นหนังที่ทรงพลังอย่างมากเรื่องหนึ่ง

หนังเปิดเรื่องมาพร้อมกับการตื่นขึ้นมามีชีวิตของ 9 ตัวละครตุ๊กตากระสอบตัวที่ 9 ซึ่งให้เสียงโดยเอไลจาห์ วู้ด และคนดูได้รู้จักโลกที่ดูแปลก ไม่เป็นมิตร และเต็มไปด้วยซากปรักหักพังนี้ไปพร้อมๆ กัน

นี่เป็นโลกที่ล่มสลาย จากสงครามระหว่างมนุษย์และจักรกล เครื่องจักรสังหารที่มนุษย์สร้างไว้ทำสงครามได้หันเข้ามาเล่นงานมนุษย์เสียเอง และใช้แก๊สพิษฆ่าสิ่งมีชีวิตหายไปจนหมดโลก คล้ายกับโลกจากหนัง Terminator Salvation หรือ I Am Legend หรือ Wall-E เพียงแต่ผู้กำกับเชค เอ็คเกอร์ได้ออกแบบมาให้ดูแหวกแนวและมีลักษณธเฉพาะตัว โดยการผสมผสานงานศิลปะแบบยุควิคทอเรียเข้าไป รวมถึงการสร้างแสงเงาให้ดูน่ากลัวอยู่ตลอดเวลา

สิ่งมีชีวิตบนโลกเหลือแต่ตุ๊กตากระสอบที่มีชีวิตเหล่านี้ซึ่งมีกัน 9 ตัว หรือที่ผู้กำกับแอ็คเกอร์เรียกพวกมันว่า “stitchpunks” และแต่ละตัวก็มีตัวเลขไว้เรียกแทนชื่อตัวเอง กับสิ่งมีชีวิตจักรกลที่คอยไล่ตามจับพวกมัน

ผมพบว่าองค์ประกอบที่น่าหลงใหลที่สุดในหนังเรื่องนี้อยู่ที่การออกแบบตัวละครเหล่านี้ครับ ที่นอกจากมีความพิเศษและแหวกแนวแล้ว ยังใช้บอกลักษณะของตัวละคร และเป็นตัวแทนของคนแต่ละกลุ่มได้ดี เป็นต้นว่า 3 กับ 4 ตุ๊กตาคู่แฝดที่ขี้อาย ไม่พูดจา แต่รอบรู้ และช่างอยากรู้อยากเห็น อันเป็นตัวแทนของนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ หรือ 6 ศิลปินผู้มีโลกส่วนตัวสูง และใช้การวาดภาพเป็นตัวคอยชี้นำหรือบอกใบ้ ตัวละครเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างมีเสน่ห์ โดดเด่น และน่ารักไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ตัวละครจักรกลหลายตัวก็ถูกสร้างมีเสน่ห์เช่นกัน ผมชอบเจ้าหุ่นยนต์ที่คล้ายงูมากเป็นพิเศษที่ถูกออกแบบมาได้เหมือนปีศาจเจ้าเล่ห์แสนกลและน่ากลัวอย่างมาก

9 ตื่นขึ้นมาพร้อมกลไกบางอย่างที่มีตัวอักษรประหลาด เขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่รู้สึกว่าควรจะต้องรักษามันไว้ จากนั้นก็ได้พบกับ 2 (ให้เสียงโดยมาร์ติน แลนเดา) ผู้เป็นยอดนักประดิษฐ์ และช่วยให้ 9 สามารถพูดได้ และยังยอมเสียสละตัวเองให้เครื่องจักรจับตัวไปเพื่อช่วย 9 ไว้ 9 ถูกพาไปยังโบสถ์ซึ่งมี 1 (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) ตัวละครที่คล้ายนักบวช และเป็นผู้นำของสิ่งมีชีวิตตุ๊กตาเหล่านี้ 9 พยายามโน้มน้าวให้ทุกคนไปช่วย 2 แต่ 1 เห็นว่าสายไปแล้ว และการหลบซ่อนคือหนทางที่ดีที่สุด พร้อมทั้งออกคำสั่งห้าม แต่ 9 ฝ่าฝืนคำสั่งและออกเดินทางไปพร้อมกับ 5 (จอห์น ซี. ไรลี่) และโดยความช่วยเหลือของ 7 (เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่) จึงเกิดการแตกคอกันในหมู่มนุษย์ตุ๊กตาเหล่านี้ หลังจากนั้น เรื่องราวก็เข้าสูตรการเดินทางผจญภัย มีการไล่ล่า หลบซ่อน หลีกหนี เสียสละ และสูญเสีย และท่ามกลางเรื่องราวผจญภัย 6 ได้บอก 9 ให้กลับไปยังบ้านหลังที่เขาถือกำเนิดขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจว่าพวกเขาเกิดขึ้นมาจากอะไร และเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร

เมื่อหนังเฉลยว่า 9 ตุ๊กตาเหล่านี้คือความหวังของมนุษยชาติยังไง และพวกมันมีที่มายังไง ผมรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นควรเป็นอะไรที่ทรงพลัง แต่กลับรู้สึกว่ามันแห้งแล้งมาก ไม่เกิดความรู้สึกร่วมแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะมันเป็นเรื่องราวแนวคิดที่ใหญ่ แต่หนังใช้เวลาเล่าเรื่องน้อยมาก เพียง 81 นาที ซึ่งไม่พอที่จะจูงใจ และขยี้ประเด็นได้มากพอ และเมื่อเล่าเรื่องคราใดก็จากการบอกเล่าของตัวละคร มีบางครั้งที่เหมือนจับบทใส่ปากตัวละครให้พูดอย่างไม่มีชั้นเชิง และดูง่ายเกินไป

นอกจากนี้ หนังยังขาดความทรงพลังในด้านดราม่าอีกเช่นกัน เพราะหนังทำเพียงให้เรารู้จักตัวละครเหล่านี้ รู้ว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันยังไง แต่ไม่อาจทำให้เราร่วมซาบซึ้งหรือเข้าถึงได้ เมื่อตัวละครเผชิญชะตากรรมบางอย่าง มันไม่อาจมีพลังพอให้เรารู้สึกสงสารหรือสะใจไปด้วยได้เลย

ส่วนที่ยังพอมีพลังอยู่บ้างก็ความตื่นเต้นในฉากผจญภัย และฉากไล่ล่า หนังทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นระดับเดียวกับที่เราเคยเห็นในหนังการ์ตูนสำหรับเด็กทั่วไป ทั้งที่น่าจะทำได้น่ากลัวและน่าเอาใจช่วยกว่านี้เมื่อดูจากเนื้อหาและบรรยากาศที่เหมือนหนังสำหรับผู้ชมวัยโตกว่านั้น และหากจะทำให้เป็นหนังผจญภัยสำหรับเด็ก ความสนุกก็ยังไม่เท่ากับการผจญภัยไปช่วยเพื่อนของเหล่าของเล่นใน Toy Story หรือการเดินทางไปช่วยลูกของพ่อปลาใน Finding Nemo

จึงเป็นความน่าเสียดายที่องค์ประกอบทางศิลป์ที่พิเศษและแหวกแนว และแนวคิดของหนังที่พิเศษและแหวกแนว ตัวละครที่พิเศษ กลับไปอาจส่งพลังได้มากพอเมื่อการเล่าเรื่องนั้นง่ายเกินไปและสั้นเกินไป

คะแนน 7/10




9 (Animation)

ผู้กำกับ-โครงเรื่อง : เชน แอ็คเกอร์

ผู้ให้เสียงตัวละคร: เอไลจาห์ วู้ด, คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์, เจนนิเฟอร์ คอลเนลลี, มาร์ติน แลนเดา, จอห์น ซี. ไรลี่, คริสปิน โกลเวอร์

ผู้เขียนบท: พาเมลลา เพตต์เลอร์

เรต PG-13

ความยาว 81 นาที

เว็บไซต์ทางการของหนัง: 9themovie.com

เว็บไซต์เกี่ยวข้อง: IMDB




 

Create Date : 08 กันยายน 2552   
Last Update : 8 กันยายน 2552 20:36:19 น.   
Counter : 1777 Pageviews.  


AVATAR: ความเห็นหลังจากชมพรีวิว 15 นาที ของ "อวตาร"

เพิ่งกลับมาจากชุมฟุตเตสหนัง Avatar ครับ มาใส่ความเห็นก่อน เดี๋ยวจะมาวิจารณ์เต็มๆ ให้อ่านทีหลัง

เพื่อนผมที่ไปด้วยบอกว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คนกลับเข้าไปดูหนังในโรงหนังอีกครั้ง และผมก็เห็นด้วยเช่นกัน
เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่วิเศษ ใหม่และไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน มันต้องดูด้วยแว่น 3 มิติ ในโรงหนังเท่านั้น เพราะภาพแบบ 2 มิติเทียบไม่ติดเลย
คุณไม่อาจชมแล้วรู้สึกดีได้เท่านี้หากชมด้วยสื่ออื่นๆ

อยากใช้คำว่า "breathtaking" ครับ หรือแทบลืมหายใจไปเลย ในการชมพรีวิวครั้งนี้ครับ

โลกบนแพนโดร่าช่างวิจิตร มหัศจรรย์ และอัศจรรรย์อย่างที่สุด แม้ว่าเรารู้ว่ามันเป็น CG แต่มันเหมือนมีชีวิตจริงมากๆ

ตัวละครชาวเนวีที่ตอนดูในตัวอย่างหนังเมื่อคืน ต่างจากฉบับสามมิติมาก มันมีการแสดงสีหน้าอารมณ์และการเคลื่อนไหวที่ลื่นไหลเหมือนมีชีวิตมากๆ
มีรายละเอียดที่แทบจะเหมือนสิ่งมีชีวิตจริงๆ ยิ่งตอนโคลสอัพแล้ว รายละเอียดการแสดงอารมณ์นั้นสุดยอดมาก

ฉากตัวละครมนุษย์ทำให้นึกถึงดูละครเวทีครับ มันมีความลึกแบบลักษณะนั้น เพียงแต่ตัวละครนั้นก็ใหญ่เต็มจอ

ฉากที่วิจิตรสุดๆ ก็คงเป็นดินแดนแพนดอร่าตอนกลางคืนครับ ที่พืชพันธุ์ต่างๆ เรืองแสงได้ นึกถึงภาพในคอนเสิร์ตของพี่เบิร์ดที่ใช้เทคนิคแบล็คไลท์เลย เพียงแต่สวยและมีชีวิตชีวา มีมิติกว่าหลายเท่า

เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเห็นจากหนังเรื่องไหนมาก่อนจริงๆ




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2552   
Last Update : 21 สิงหาคม 2552 21:10:31 น.   
Counter : 2047 Pageviews.  


อยากให้สตีเฟ่น ดาลดรี่ นำ Billy Elliot กลับมารีเมกใหม่

แต่ในฉบับหนังเพลงครับ

หลังจากผู้กำกับสตีเฟ่น ดาลดรี่ กำกับหนัง Billy Elliot ออกฉายเมื่อปี 2000 ก็ได้ดัดแปลงใหม่อีกครั้งเป็นละครเพลงไปเปิดเล่นที่ West End จนประสบความสำเร็จ แล้วเพิ่งไปเล่นที่บรอดเวย์เมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด จากการประกาศผู้เข้าชิงรางวัลโทนี่ อวอร์ด เมื่อเร็วๆ นี้ Billy Elliot the Musical ได้เข้าชิงถึง 15 รางวัล เป็นการเข้าชิงมากกว่าทุกเรื่องและเป็นการเข้าชิงในทุกสาขารางวัล ซึ่งที่ผ่านมามีเพียง The Producer ที่เคยเข้าชิงครบทุกสาขารางวัลแบบนี้ครับ

ด้านล่างนี้เป็น press clip จากโปรดักชั่นบรอดเวย์ครับ แต่ละโปรดักชั่นของละครเพลงเรื่องนี้ ใช้เด็กสามคนมารับบทเป็นบิลลี่ เอลเลียต สลับรอบกันเล่น คลิปนี้มี Kiril Kulish รับบทนำครับ



เพลงเอกของละครเรื่องนี้น่าจะเป็น ELETRICITY ที่เป็นฉากตอนบิลลี่ไปสอบเข้า The Royal Ballet School แล้วตอบคำถามครูว่าเวลาเข้าเต้นแล้วรู้สึกเหมือนตัวเขาเป็นกระแสไฟฟ้า ใครที่เคยดูหนังคงจำฉากนี้ได้

ด้านล่างนี้เป็นฉากเต็มๆ ที่ของ ELETRICITY จากโปรดักชั่นของเวสต์เอ็นด์ ที่ไปแสดงในรายการทีวีของบีบีซีครับ ผู้แสดงคือ LIAM MOWER หนึ่งในผู้รับบทเป็นบิลลี่



ดนตรีทั้งหมดของละครเพลงเรื่องนี้แต่งโดย เอลตัน จอห์น ส่วนเนื้อเพลง แต่งโดย ลี ฮอลล์ ซึ่งเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ด้วย เพลง Electricity ก็เคยถ่ายทำเป็น MV ให้ท่านเซอร์ร้องด้วยครับ



ในการฉลองครบรอบ 60 ปี ของรางวัล BAFTA ได้นำนักแสดงทั้งหมดที่เคยรับบทเป็นบิลลี่ในฉบับละครเพลงอังกฤษ มาร่วมกันแสดงฉากเอกนี้ ในฐานะที่ฉบับหนังก็เคยได้รางวัลจากเวทีนี้








 

Create Date : 07 มิถุนายน 2552   
Last Update : 7 มิถุนายน 2552 13:54:12 น.   
Counter : 1266 Pageviews.  


ณ ขณะรัก: ความคิด ณ ขณะนี้

ได้ไปชมหนัง ณ ขณะรักมาแล้วครับ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน
อาจจะมาเขียนวิจารณ์ให้อ่าน (ถ้าว่าง)

อยากมาแบ่งปันความรู้สึกหลังจากชมครับ เผื่อใครกำลังตัดสินใจอยู่
ด้านล่างนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องประมาณหนึ่งครับ

โดยแก่นเรื่องหลักน่าจะอยู่ที่การให้โอกาสที่สองแก่ความรัก
ตัวเอกในเรื่องซึ่งก็คือ กรุง (คุณสุเชาว์) กับ อรัญญา (เดือนเต็ม) ที่เกิดความรักกันในช่วงที่ช้าเกินไป เพราะต่างฝ่ายต่างมีคนรักและแต่งงานกันแล้วทั้งคู่ แล้วต่างก็รู้สึกผิด จึงเลิกลากันไป จากกันไปกว่า 30 ปี แล้วได้มาพบกันอีกครั้งเพื่อให้โอกาสใหม่แก่กัน

ขณะเดียวกันก็มีโครงเรื่องรองเป็นเรื่องราวของกร (ชาคริต) ลูกชายของกรุง ซึ่งเป็นผู้กำกับละครเวที ที่มีเรื่องทะเลาะกับคนรัก พล (นภัสกร) และกำลังตัดสินใจที่จะเลิกกัน

หลังจากชมเสร็จ ผมคิดว่าพระเอกหรือเสน่ห์ที่เด่นสุดของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องราวความรักครับ แต่เป็นวิธีการเล่าเรื่อง ที่ใช้ละครเวที มาผสมกับหนังได้อย่างเนียน และรู้สึกแปลกใหม่ไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผมหลงใหล อยากติดตามไปจนจบ

เรื่องราวความรักนั้นไม่ใช่อะไรที่ใหม่ แต่การเล่าเรื่องนี่สิที่ใหม่ มันเหมือนการนำเรื่องราวเดิมๆ มาเล่าด้วยวิธีใหม่ ที่แปลก ที่มีสีสัน ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ทำให้รู้สึกชอบมากๆ

นักแสดงเล่นกันดีมาก โดยเฉพาะคุณเดือนเต็ม คุณสุเชาว์ และคุณน้อย ดูพอเหมาะพอดี
คุณชาคริตกับคุณนภัสกรดูจะฟูมฟายเกินไปในบางฉาก รู้สึกว่ามันเกินไปนิด แต่หลายฉากก็ถือว่าทำได้ดี โดยเฉพาะฉากย้อนความหลังตอนที่มีความสุขกัน ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าคุณชาคริตเล่นได้แตกต่างจากผลงานก่อนๆ เท่าไหร่ จึงทำให้ไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นเกย์

โดยรวมแล้วชอบครับ จะมีติบ้างก็โดยรายละเอียดเล็กน้อยครับ




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552   
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 0:57:54 น.   
Counter : 1632 Pageviews.  


JEDIYUTH’s Review: Revolutionary Road ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์

Revolutionary Road เป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งของคู่ขวัญไททานิก ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เคต วินสเลต ที่สร้างตำนานรักบันลือโลกบนแผ่นฟิล์มร่วมกันเมื่อสิบปีที่แล้ว มีชื่อภาษาไทยที่ฟังดูหวานว่า “ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์” ซึ่งถ้าใครไม่รู้เนื้อเรื่อง หรือไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับที่เขียนโดยริชาร์ด เยตส์ มาก่อน ก็คงคิดว่านี่จะเป็นหนังรักโรแมนติก เรื่องราวการต่อสู้ความฝันของคู่รัก ที่จริงแล้วไม่เลยครับ มันเป็นหนังสะท้อนปัญหาชีวิตครอบครัวในแง่มุมของความเป็นจริงจนบางคนอาจคิดว่า ถ้าแจ็คกับโรสหนีตามกันสำเร็จ ได้ไปใช้ชีวิตร่วมกันดังที่ฝันไว้ พวกเขาก็อาจติดกับชีวิตชานเมืองอันน่าเบื่อแบบในหนังเรื่องนี้ และลงเอยเหมือนกันก็เป็นได้

หนังเปิดเรื่องด้วยการนำเราไปรู้จักคู่สามีภรรยา แฟรงก์ (ดิคาปริโอ) และ เอพริล (วินสเลต) วีเลอร์ ที่ใครต่อใครมองว่าพวกเขาเป็นคู่ที่ “พิเศษ” เป็นคู่ที่เหมาะสมและหล่อสวยด้วยกันทั้งคู่ สามีเป็นพนักงานบริษัทใหญ่โตในนิยอร์กชื่อว่าน็อกซ์ ส่วนภรรยาก็มีเป็นแม่บ้านที่เพียบพร้อม แต่บนฉากหน้าที่ดูน่ารักเหมือนบ้านที่พวกเขาอยู่นั้น ทั้งคู่ต่างมีชีวิตคู่ที่ระหองระแหงกันมาตลอด

แฟรงก์ไม่ได้ชอบงานที่เขาทำ เขาเกลียดมันด้วยซ้ำ พ่อของเขาเคยทำงานที่บริษัทนี้และเขาก็เคยฝันในตอนเด็กว่าจะไม่ลงเอยแบบพ่อ แต่เขาก็กลับลงเอยแบบเดียวกัน ขณะที่เอพริลก็พยายามดิ้นรนด้วยการเป็นนักแสดงละครเวทีตามที่ฝัน แต่ก็กลับล้มเหลว และชีวิตพวกเขาไม่ได้พิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่นเลย แฟรงก์ใส่สูทและหมวกไปทำงานออฟฟิศในนิวยอร์กด้วยชุดที่แทบแยกไม่ออกจากคนทำงานอื่นๆ ชีวิตแม่บ้านของเอพริลก็แทบไม่ต่างจากเพื่อนบ้านในถนนสายเดียวกัน

ทั้งคู่ดูจะมีหวังหลุดพ้นจากชีวิตชานเมืองอันน่าเบื่อนี้เมื่อเอพริลนึกถึงสมัยที่พวกเขาคบกันใหม่ๆ ทั้งคู่เคยฝันถึงการใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียนในปารีส และเป็นสิ่งที่แฟรงก์เคยสัญญาเอพริลก่อนแต่งงานว่าจะไปใช้ชีวิตร่วมกันเช่นนั้น เธอเสนอความคิดแก่เขาเรื่องย้ายไปอยู่ปารีส เธอจะทำงานเลี้ยงแฟรงก์เองขณะที่เขาก็ค้นหาตัวเองไปว่าอยากทำอะไรกับชีวิต ความคิดของเอพริลได้เติมสีสันคืนกลับมาให้ชีวิตคู่นี้อีกครั้ง แม้ว่าจะถูกมองจากใครต่อใคร ว่า เป็นการตัดสินใจแบบเด็กๆ มีเพียงจอห์น กีฟวิ่งส์ (ไมเคิล แชนนอน) หนุ่มนักคณิตศาสตร์ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลบ้าที่ดูจะเข้าใจพวกเขามากที่สุด

แต่แล้วความฝันของทั้งคู่ก็พังครืนเมื่อแฟรงก์เริ่มลังเลหลังจากได้เลื่อนขั้นในบริษัทให้มีตำแหน่งสูงขึ้น และได้เงินเดือนเยอะขึ้น มันเหมือนกับว่าแฟรงก์เริ่มพอใจกับชีวิตขณะนั้นแล้ว ขณะที่เอพริลเองก็ตั้งครรภ์ลูกคนที่สามยิ่งเป็นเหตุผลให้แฟรงก์เอามาอ้างไม่ให้ย้ายไปปารีส

เมื่อแฟรงก์สารภาพว่าเขาเคยนอกใจยิ่งทำให้เอพริลรู้ว่าเธอนั้นหมดรักในตัวของแฟรงก์แล้ว และไม่อาจเชื่อคำสัญญาของแฟรงก์ได้อีกต่อไป เธอมองออกว่าชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร และก็คงเป็นอย่างนั้นตลอดไป จนนำไปสู่การตัดสินใจที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม

Revolutionary Road ในฉบับนิยายนั้น ได้รับการยกย่องอย่างมากเพราะการประพันธ์อันทรงพลังของเยตส์ที่วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของผู้คนยุค 50 ของสหรัฐ ที่ถูกรัฐสร้างค่านิยมภาพลวงของครอบครัวในฝัน ให้ว่าทุกครอบครัวดำเนินชีวิตไปอย่างสอดคล้องคล้ายคลึงกัน เพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศชาติ ใครมีแนวคิดที่แตกต่างก็มักถูกมองว่าไม่เป็นอเมริกัน ถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นบ้า หรือเป็นพวกที่เพี้ยน ซึ่งเยตส์มองว่าแนวคิดนั้นถือเป็นการทรยศต่อจิตวิญญาณการเป็นนักปฏิวัติอันกล้าหาญที่สุดและดีที่สุดของชาวอเมริกัน ซึ่งจิตวิญญาณนั้นได้ถูกใส่ไว้ในตัวละครของเอพริล

“ผมหมายความว่าชื่อเรื่องของนิยายนั้นบอกถึงถนนสายปฏิวัติที่มีมาตั้งแต่ปี 1776 ได้มาถึงทางตันในยุค 50” เยตส์เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ปี 1972 ซึ่งชะตากรรมของลูกคนที่สามของครอบครัววีเลอร์และของเอพริลก็ได้เป็นสัญลักษณ์ของเส้นทางปฏิวัติที่พบ “ทางตัน” ตามที่เยตส์บอก

การดัดแปลงเป็นบทหนังของจัสติน เฮย์เธนั้นสะท้อนปัญหาชีวิตครอบครัวชานเมืองของอเมริกันตามขนบนิยมที่เป็นสาระสำคัญของฉบับนิยายออกมาได้ดีครับ แต่ไม่อาจสะท้อนยุคสมัยออกมาได้ จึงทำให้หนัง Revolutionary Road ดูมีความเป็นหนังย้อนยุคน้อยมากในแง่ของอารมณ์หนัง ทำให้หลังจากชมจบแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันก่อนหน้านี้นัก เช่น American Beauty ที่สร้างชื่อให้เมนเดสเอง หรือหนังอังกฤษที่ตั้งคำถามต่อชีวิตคล้ายๆกันอย่าง Metroland หรือหนังในโทนที่อบอุ่นกว่าอย่าง Pleasantville หนังในโทนสยองขวัญอย่าง The Stepford Wives หรือแม้แต่แง่คิดแฝงในหนังตลกอย่าง The Adams Family จะต่างกันก็เพียงพูดถึงตัวละครคนละตัวและเลือกใช้การตัดสินใจคนละอย่างกันเท่านั้น ดังนั้นถ้าหนังเรื่องนี้ออกฉายสักเมื่อสิบปีก่อน ผมคงรู้สึกว่าเป็นหนังที่น่าตื่นเต้นในแง่เนื้อหากว่านี้ และตอนจบของหนังคงเป็นอะไรที่ทรงพลังกว่านี้ครับ

ในแง่ของการเล่าเรื่อง เมนเดสใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยภาพแบบเดียวกับที่เขาใช้ใน American Beauty แต่ไม่อาจทำให้กระชากใจเท่า หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าหนังแน่นิ่งเกินไป และไม่ไปไหน การแสดงของวินสเลตนั้นยอดเยี่ยม เธอได้มีโอกาสเล่นบทที่ท้าทายหลายฉากมาก รวมถึงได้ปล่อยคำพูดเด็ดๆ หลายช่วง ขณะที่ดิคาปริโอนั้นก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แม้ว่าจะยังคงเป็นบทของผู้ชายที่ดูกระล่อน ขี้คุย และเจ้าชู้ คล้ายหนังหลายเรื่องก่อนหน้านี้ของเขา จะแตกต่างอยู่ก็แต่ในรายละเอียดของตัวละคร แต่ที่ลืมไม่ได้เลยก็คือบทบาทการแสดงของไมเคิล แชนอน ออกเพียงสองฉาก แต่ทำให้รู้สึกว่าเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดในหนัง

หลังจากชมหนังเรื่องนี้จบ อย่างหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีก็คือรู้สึกว่าโชคดีครับที่ไม่ได้มีชีวิตร่วมสังคมเดียวกับตัวละคร ผู้คนในสังคมของเราและยุคของเรานั้นมีทางเลือกมากกว่า มีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตตามที่ฝันกันมากขึ้น แม้บางคนไม่ได้ใช้ชีวิตตามที่ฝัน ก็รู้จักให้ถนนของความฝันกับถนนของความจริงไปคู่กันได้ มิเช่นนั้น ความฝันของเราก็คงไม่ต่างจากชะตากรรมของเด็กในท้องของเอพริล

คะแนน 7/10

Revolutionary Road ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์

กำกับ : แซม เมนเดส

นำแสดง : ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, เคต วินสเลต, เคธี่ เบ็ตส์, ไมเคิล แชนน่อน, แคธรีน ฮาห์น, เดวิด ฮาร์เบอร์, โซอี้ คาซาน

เว็บไซต์ภาพยนตร์: //www.revolutionaryroadmovie.com




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2552   
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 10:38:07 น.   
Counter : 2135 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  

JEDIYUTH
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




เป็นนักทำซับไตเติ้ลครับ แปลซับหนังครั้งแรกในปี 2538 ครับ ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ เริ่มจากแปลหนังขาวดำให้แก่ช่อง TNT ก่อน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำให้ HBO และ Cinemax Asia จนถึงวันนี้ก็เลย 10 ปีแล้ว ต่อมาก็เริ่มมีโอกาสได้ทำซับไตเติ้ลให้ช่องอื่นบ้างรวมถึงหนังในโรงภาพยนตร์บ้างในระยะหลังนี้

ผลงานซับไตเติ้ล
เคเบิ้ลทีวี: ในหลายๆ ตอนของ Sex and the City และ Six Feet Under, Battlestar Galactica, The Smith, The Company, Heroes ซีซั่น 1, Dune, Star Trek: The Motion Pictures, Star Trek II: Wroth of Khan, Star Trek: The Final Frontier, Star Trek: Generation, Star Trek: First Contact, Star Trek: Insurrection, Star Trek: Nemesis, Apollo 13, Red Planet, Grease, Rent, Forrest Gump, Twister, Men in Black, Nightmare Before Christmas, Prince of Egypt, Jurassic Park, The Lost World, Back to the Future III, The Matrix, The Postman, Godfather Part II etc.

ผลงานซับไตเติ้ลในโรงภาพยนตร์: The Chorus, Swiming Pool, The Company, A Home at the End of World, Step Up 2

งานไม่ประจำ: ขีดๆ เขียนๆ ตามหนังสือที่รับเชิญไป

งานอดิเรก: ทำเว็บไซต์ข่าวสารภาพยนตร์ซึ่งเน้นของฮอลลีวู้ดเป็นหลัก ชื่อ JEDIYUTH.Com
[Add JEDIYUTH's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com