MY LIFE AS JEDIYUTH
 
 

Freddy vs. Jason : ผีสองตัวอยู่บนจอเดียวกันไม่ได้

เมื่อพูดถึงผีร้ายบนจอภาพยนตร์ สิ่งที่คนดูนึกถึงในอันดับต้น ๆ ผมเชื่อว่าคงมีทั้ง เฟรดดี้ จากหนังชุด นิ้วเขมือบ หรือ Nightmare on Elm Street และ เจสัน ผีนักฆ่าจากหนังชุด ศุกร์ 13 คืนสยอง หรือ Friday the 13th เพราะทั้งคู่จัดว่าเป็นผีร้ายที่โด่งดังที่สุดในโลกภาพยนตร์เลยก็ว่าได้ พวกมันมีประวัติยาวนานตั้งแต่ช่วงยุค 80 เป็นผีที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง โดดเด่นไปกันคนละแบบ ผ่านช่วงที่รุ่งและร่วงมาด้วยกันทั้งคู่ และฮอลลีวูดก็มีแนวคิดจะให้พวกมันมาพบกันกว่าสิบปีแล้ว ตั้งแต่ภาคสุดท้ายของศุกร์ 13 (ที่ไม่ใช่ Jason X) ที่ตอนจบของหนังให้มีรูปมือมีดโกนของเฟรดดี้มาหยิบหน้ากากฮ็อคกี้ของเจสันไป และตอนนี้พวกมันก็ได้มาพบกันและฟัดกันให้เราดูกันเสียที

แม้ไม่ได้ติดตามหนังศุกร์ 13 และนิ้วเขมือบมาทุกภาค แต่ก็คิดว่าจะพอแยกแยะลักษณะของหนังทั้งสองเรื่องนี้ได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือแบบที่เน้นความสยองผสมความเขย่าขวัญหรือความหลอน กับแบบที่เน้นการฆ่าแบบโหดผสมความฮา ใส่มุขตลกไปกับฉากการฆ่าให้ดูเป็นตลกร้าย ตัวอย่างของแบบแรกเห็นได้ชัดจากภาคแรกดั้งเดิมของหนังทั้งสองชุด ผมจำได้ว่าฉากการฆ่าในห้องน้ำและฉากตอนฆาตกรไล่ตามนางเอกท้ายเรื่องในศุกร์ 13 ภาคแรก เป็นฉากที่ทำออกมาได้เขย่าขวัญมาก ๆ ส่วนหนังนิ้วเขมือบภาคแรกนั้น ฉากที่นางเอกฝันเห็นร่างของเพื่อนผู้หญิงที่ตายตอนต้นเรื่องถูกพันห่อไว้ และเรียกให้ตามไปก็เป็นฉากที่ทำได้น่ากลัว หรือฉากที่กลุ่มเด็กผู้หญิงโดดเชือกก็มีบรรยากาศหลอน ๆ เหมือนอยู่ในแดนพิศวง ฉากที่จอห์นนี่ เดปป์ ถูกฆ่าก็โหดสยอง ความสยองขวัญเหล่านี้เป็นเสน่ห์ให้คนดูอยากดูอีก และสร้างกันต่อมาอีกหลายภาค เพียงแต่ในภาคหลัง ๆ เมื่อไม่อาจสร้างความสยองขวัญให้ดูเขย่าขวัญหรือหลอนได้เท่าต้นฉบับ เพราะคนดูสามารถจับจังหวะของเรื่องราวได้ถูก จึงพอเดาออกว่าใครกำลังจะถูกฆ่า ใครจะอยู่ ใครจะตาย หนังจึงขาดความสดใหม่ และหันไปเน้นไปที่การฆ่าแบบโหดผสมความตลกร้ายเพื่อให้คนดูได้ขำแทน

เมื่อจะนำเฟรดดี้กับเจสันมาพบกัน สตูดิโอต้องการให้หนังออกมาเป็นแบบไหน คุณอาจเดาได้จากการเลือกรอนนี่ หยู มาเป็นผู้กำกับ ผู้ที่เคยทำหนังจีนกำลังภายในอย่าง เดชนางพญาผมขาว ฉบับที่หลินชิงเสียนำแสดง และเป็นผู้ที่เปลี่ยนหนังผีสยองขวัญน่ากลัว ๆ แบบ Child's Play ให้เป็นหนังผีผสมตลกร้าย ดังนั้นใครที่จะไปดูหนังเรื่องนี้เอาความเขย่าขวัญ น่ากลัว คุณอาจผิดหวัง แต่ถ้าจะเอาความมัน ผสมความโหดและความฮาล่ะก็ คุณน่าจะสมหวัง โดยเฉพาะฉากที่เจสันกับเฟรดดี้ฟัดกันครึ่งหลังของเรื่อง น่าจะถูกเลือกเป็นหนึ่งในฉากต่อสู้สุดยอดของปีในการประกาศรางวัล MTV Movie Awards เพราะคุณได้เห็นเฟรดดี้ผู้ที่อยู่มุมน้ำเงิน มีท่ามาก กรีดกรายแบบ Goldust และความกระล่อนยียวนแบบ Eddie Guerrero แถมมีลีลาศอกเข่าประมาณว่ามีคุณพันนา ฤทธิไกร เป็นครูฝึกให้ (โรเบิร์ต อิงก์แลนด์ยังคงสร้างเสน่ห์แบบร้าย ๆ ให้เฟรดดี้ได้เหมือนเดิม) ส่วนมุมแดงนั้น เจสัน (รับบทโดยเคน เคอร์ซิงเกอร์) มีความโหด ดุดัน แบบ Big Show ผสมกับ Kane แต่ทนทายาดแบบ The Hulk ทั้งสองฝ่ายสู้กันแบบไม่ยั้งมือ ไม่มีใครยอมใคร งัดทุกกระบวนท่ามาฟาดฟัน แบบที่ต้องให้ตายกันไปข้าง และนี่คือความมันของหนังเรื่องนี้ ผมชอบฉากต่อสู้ในเรื่องนี้มากกว่าดูสามนางฟ้าสู้กับเดมี่ มัวร์ หรือ คนเหล็กสู้กันใน T3 เสียอีก

แต่ใช่ว่า Freddy vs. Jason จะมีความมันให้ดูตลอดเรื่อง ผมพบว่าครึ่งแรกของหนังออกจะจืดไปหน่อย หนังเปิดเรื่องด้วยการให้เฟรดดี้ออกมาอารัมภบทถึงที่มาที่ไปของตัวมัน และการคิดนำเอาเจสันมาทำให้มันกลับมาเป็นที่จดจำอีกครั้ง ผมเข้าใจว่าคนทำหนังต้องการปูพื้นให้คนที่ไม่เคยดูมาก่อน แต่เป็นการปูเรื่องที่เยิ่นเย้อไปนิดสำหรับคนที่รู้ที่มาที่ไปของผีสองตัวนี้ดีอยู่แล้ว และไม่มีชั้นเชิงในการเล่าเอาเลย แม้ว่าแนวคิดจะดีมากในการหาเหตุผลให้ผีสองตัวนี้มาพบกัน แต่การให้เฟรดดี้ออกมาเล่าให้คนดูฟัง ออกจะง่ายไปและใช้เวลานานไปหน่อย

พอหลังจากเจสันถูกเฟรดดี้หลอกให้มายัง Elm Street และเริ่มฆ่าคนแล้ว เรื่องราวเริ่มเล่าผ่านกลุ่มวัยรุ่นที่พากันสืบหาว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ในช่วงนี้ก็มีไม่กี่ฉากเองที่สนุกหรือที่ผมชอบ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เดาง่ายและบรรดาวัยรุ่นก็ดูจะรู้กันเร็วไปนิดว่าเกิดอะไรขึ้น บางตอนก็โพล่งออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอย่างเช่นตอนที่ปลัดหนุ่มมาบอกว่า ?เหมือนคดีลอกสูตรฆ่าที่คริสตัล เลค เลย? ผมนึกอยู่ในใจ ?เอายังงี้เลยเหรอ พี่?

นอกจากนี้แล้ว เราก็ไม่ได้เห็นฉากฆ่าที่น่ากลัวเท่าต้นฉบับเลย นอกจากจับสูตรการฆ่าของเฟรดดี้กับเจสันมาผสมกัน แบบที่ให้เรารู้ว่าตรงนี้คือวิธีฆ่าเฟรดดี้ ตรงนี้คือวิธีฆ่าของเจสัน หรือตรงนี้คือส่วนที่เนื้อเรื่องของเจสันต้องมี ตรงนี้คือส่วนที่เนื้อเรื่องของเฟรดดี้ต้องมี อาจเป็นไปได้ว่าคนทำหนังต้องการเพียงให้เราดูคั่นเวลาและหาเหตุให้ผีสองตัวนี้ต้องมาฟาดฟันกันในที่สุดตอนครึ่งหลัง คล้าย ๆ กับจะบอกว่าที่จริงแล้ว สิ่งที่จะให้เราดูจริง ๆ อยู่ครึ่งหลังของเรื่อง แต่ก่อนที่เราจะได้ดูก็ต้องปูพื้นหน่อยเพื่อให้ฉากสู้กันท้ายเรื่องดูน่าเชื่อ

Sean Cunningham ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้เคยบอกว่า ต้องการทำหนังเรื่องนี้ให้คนสามกลุ่มดู กลุ่มแรกคือพวกที่เติบโตมากับหนังทั้งสองเรื่องนี้ กลุ่มที่สองคือพวกที่มาดูหนังทั้งสองเรื่องและชอบมันในภายหลัง และกลุ่มที่สามคือพวกที่เพิ่งมารู้จักพวกมันจากหนังเรื่องนี้ เมื่อมองอย่างเป็นกลางแล้ว ผมคิดว่าคนสองกลุ่มแรกเท่านั้นที่จะสนุกกับหนังเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเป็นแฟนตัวยงและหลงเสน่ห์ผีทั้งสองตัว ได้ดูพวกมันมาสู้กันแบบมัน ๆ ให้ดู ก็เหมือนดูนักมวยสองคนที่เราชอบฝีไม้ลายมือมานาน หรือทีมฟุตบอลสองทีมที่เราหลงรักในลีลาการเล่น แต่ไม่เคยมีโอกาสแข่งกันให้เราดูเลย เมื่อโอกาสมาถึง ทั้งคู่นำไม้เด็ดที่มีอยู่ทั้งหมดมาอัดใส่กัน ในขณะที่ส่วนที่เข้ามาเสริมฉากฟัดกัน เป็นส่วนที่ไม่ดีนัก ก็คงมีแต่แฟนตัวจริงเท่านั้นที่สนุก คนที่ไม่ใช่แฟน ผมไม่แน่ใจนักว่าเขาจะสนใจดูพวกมันฟัดกันแค่ไหน




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2552   
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 10:29:23 น.   
Counter : 3476 Pageviews.  


The Phantom of the Opera, แฟนธอม ของ ชูมัคเกอร์

ถ้าจะให้พูดถึงผลงานของผู้กำกับโจเอล ชูมัคเกอร์ ผมนึกถึงห่อของขวัญสวยๆ ที่รูปแบบภายนอกดูสะดุดตา ชูมัคเกอร์เก่งตรงนี้ เขาสร้างหนังของเขาให้ดูสะดุดตา น่าค้นหา ด้วยงานสร้าง ด้วยแนวคิด ด้วยโครงเรื่อง ตัวอย่างหนังที่มีสีสัน เย้ายวนให้เราอยากเข้าไปแกะดู แต่เมื่อเปิดกล่องดูของข้างในแล้วนั่นเป็นอีกเรื่อง หนังของชูมัคเกอร์หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้เพราะเขาได้บทหรือนักแสดงที่ดี ซึ่งเป็นเหมือนของที่อยู่ในกล่องที่เราไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร แต่บางครั้งเปิดออกมาก็ถูกใจเรา เป็นต้นว่า Phone Booth ที่ได้การแสดงที่ลื่นไหลของคอลิน ฟาเรล กับ คีเฟอร์ ซุทเธอร์แลนด์ ช่วยเอาไว้ หรือ Flatliners ที่ได้แนวคิดที่แปลกใหม่กับการเล่าเรื่องที่ดีของชูมัคเกอร์ทำให้เราสนุกตาม แต่หลายเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะบทหนังไม่ดี แม้ว่าจะได้นักแสดงที่ดีก็ตาม เป็นต้นว่า The Good Company ที่แนวคิดการนำแอนโธนี ฮอปกิ้น ประชันกับคริส ร็อก เป็นแนวคิดที่ดูเย้ายวน แต่หนังที่น่าเบื่อมากๆ


แล้ว The Phantom of the Opera นี่ล่ะ ภายนอกของหนังเป็นอะไรที่เย้ายวน ดูมีเสน่ห์จริงๆ แต่เมื่อเข้าไปดูข้างในแล้ว มันก็เป็นของที่ใช้ได้ครับ มันไม่ถูกใจผมทั้งหมด มันเกือบน่าเบื่อ แม้ว่าผมจะค่อนข้างตั้งความหวังกับชูมัคเกอร์ไว้สูงสำหรับหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่านี่เป็นหนังที่เป็นทางของเขา คือสามารถให้เขาสร้างสรรค์งานสร้างได้อลังการในรูปแบบที่เขาถนัด หนังมีเรื่องราวสยองขวัญที่เป็นแนวหนังที่เขาทำประสบความสำเร็จที่สุด เขาน่าจะทำออกมาได้ยอดเยี่ยม แต่หนังทำได้ยอดเยี่ยมเพียงด้านงานสร้างและเทคนิคเท่านั้น หนังกลับดูธรรมดาในแง่ของการเล่าเรื่อง ปัจจัยสำคัญที่ช่วยอุ้มหนังเรื่องนี้ให้ผมดูได้ตลอดรอดฝั่งก็คือ เอมี่ รอสซั่ม ผู้มารับบทคริสตีน และเพลงอันอมตะของแอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์


แล้วหนังเรื่องนี้ของชูมัคเกอร์ผิดพลาดตรงไหน ผมคิดว่าหนังเป็นเพราะชูมัคเกอร์มองเรื่องราวของ The Phantom of the Opera เป็นเรื่องราวของรักสามเส้า โรแมนติกมากกว่าเป็นเรื่องราวสยองขวัญ และเน้นไปที่เรื่องราวความรักระหว่างคนสามคนมากเกินไป นั่นก็คือตัวของแฟนธอมที่รับบทโดยเจอราร์ด บัทเลอร์, ราอูล ที่รับบทโดยแพทริค วิลสัน และคริสตีน ที่รับบทโดยรอสซั่ม แทนที่จะแสดงความร้ายกาจของแฟนธอม ผู้ที่เป็นเหมือนอัจฉริยะโรคจิตแบบฮันนิบาล เล็คเตอร์ ให้มากกว่านี้ ทำให้หนังความยาวสองชั่วโมงนิดๆ ดูน่าเบื่อไปในบางครั้ง ขาดความตื่นเต้นเท่าที่ควร แต่นี่อาจเป็นเนื้อเรื่องดั้งเดิมในฉบับละครบรอดเวย์ของลอยด์ เว็บเบอร์ ก็เป็นได้ ผมไม่เคยได้ดูงานละครเรื่องนี้ นอกจากฉบับหนังสยองขวัญขาวดำของลอน เชนนี่ย์ แต่ผู้กำกับหนังที่ดีควรรู้ว่าส่วนไหนควรนำมาถ่ายทอดและดัดแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะสม


หนึ่งฉากที่ผมชอบที่สุดในหนังก็คือฉากเปิดเรื่องตอนที่ตัวละครในวัยชราแล้วไปที่โรงละครเพื่อประมูลสิ่งของในโรงละครโอเปร่า จากนั้นเราก็ย้อนสู่ยุคที่โรงละครแห่งนี้รุ่งเรืองผ่านสายตาของตัวละคร ฉากที่เปลี่ยนจากขาวดำเป็นสีทำออกมาได้น่าตื่นตาตื่นใจมาก รวมถึงการแพนของกล้องที่ชอนไชให้เห็นทุกส่วนของโรงละครไปพร้อมๆ กับเพลงเปิดฉาก เป็นภาพที่น่าทึ่งจริงๆ ครับ ส่วนอีกฉากที่ผมชอบที่สุดก็คือฉากงานเต้นรำสวมหน้ากากที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของชูมัคเกอร์เรื่องการควบคุมงานสร้าง เป็นหนังที่ทำได้ตื่นตาไม่แพ้กัน


ในส่วนของนักแสดง อย่างที่เกริ่นตอนต้นว่าหนังเรื่องนี้ได้รอสซั่มช่วยอุ้มเอาไว้ เธอเป็นจุดศูนย์กลางของหนังและเธอก็ถ่ายทอดตัวละครออกมาให้มีเสน่ห์ รวมถึงใบหน้าที่สวยแบบไร้เดียงสาของเธอ หนังดูน่าดูทุกครั้งที่มีเธออยู่บนจอ เธอร้องเพลงได้ไพเราะ ถ่ายทอดเพลงออกมาได้ไปพร้อมๆ กับการแสดงสีหน้าที่เข้ากับเพลง วิลสันนั้นก็ทำได้ดีในบทของสุภาพบุรุษหน้ามลผู้รักจริง เรื่องเสียงร้องนั้นไม่ต้องพูดถึง เขาเป็นนักแสดงละครบรอดเวย์อยู่แล้ว นักแสดงสมทบทุกคนก็ทำได้ดีเช่นกัน มิแรนดา ริชาร์ดสันในบทครูฝึก เคียอาเรน ไฮนด์ และ ไซมอน โคเวน ในบทสองผู้จัดการโรงละคร สร้างสีสันให้กับหนังได้ดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสองคนหลังที่ทำให้ผมรู้สึกขบขันได้อยู่ตลอดที่ออกฉากมา ส่วนมีมี่ ไดเวอร์ในบทดาราใหญ่ของโรงละครออกจะดูเวอร์ไปนิดจนเหมือนนางอิจฉาในละครดาวพระศุกร์ บางครั้งก็เวอร์กำลังดี บางครั้งก็เวอร์จนน่ารำคาญ


ส่วนแฟนธอมของเรา เป็นตัวละครสำคัญ แต่ความสำคัญกลับถูกคริสตีนกลบหมด อาจเพราะการแสดงที่หาความน่าเกรมขาม น่ากลัวไม่ได้เลยของบัทเลอร์ ตัวละครในหนังพูดถึงความน่ากลัวสารพัดของแฟนธอม แต่ทุกครั้งที่ออกฉาก เขาดูเหมือนซอร์โรมากกว่าจะเป็นแฟนธอม ดูลึกลับบ้าง แต่ไม่น่ากลัว ไม่รู้สึกเลยสักนิดว่าชายผู้นี้จะเป็นฆาตกรโหดได้ บัทเลอร์ไม่สามารถถ่ายทอดด้านที่น่ากลัวของแฟนธอมออกมาได้เลย ทำให้ดูไม่น่าเชื่อเมื่อเขาทำสิ่งที่ร้ายกาจ และแม้ว่าเขาจะมีเสียงที่เหมาะสมกับแฟนธอม แต่เขาดูเหมือนออกมา ?ร้องเพลง? มากกว่า ?แสดงหนังเพลง? ส่วนที่ดีที่สุดในการแสดงของบัทเลอร์อยู่ช่วงท้ายเรื่องที่แสดงความเจ็บปวดรวดร้าว เขาทำได้ดีในช่วงนั้น


มาที่เรื่องของเพลงบ้าง ลอยด์ เว็บเบอร์เก่งอยู่แล้ว เพลงละครของเขาเป็นอมตะและฟังกี่ครั้งก็ยังไพเราะ ผมฟังซาวด์แทร็คของ The Phantom of the Opera ครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน ได้ฟังอีกครั้งในหนังก็ยังชื่นชอบอยู่ ด้วยภาพอันน่าตื่นตาและการแสดงของรอสซั่มทำให้เคลิบเคลิ้ม แต่ชูมัคเกอร์น่าจะตัดทอนบางส่วนออกไปบ้าง ถ้าไม่ใช่เพราะมีเพลงที่ไพเราะมากๆ และการแสดงที่ดีของนักแสดง การใช้บทเพลงเป็นบทสนทนาตลอด 2 ชั่วโมงของหนัง ทำให้เราเบื่อได้ ตัวอย่างเช่นฉากที่สุสานนั่น ตอนนั้นเป็นตอนที่ผมรู้สึกเริ่มจะเบื่อแล้ว ยังดีเติมฉากฟันดาบเข้าไปทำให้มีแอ็คชั่นที่ทำให้รู้สึกตื่นขึ้นมา


กล่าวโดยสรุป อย่างที่ผมเกริ่นเอาไว้ ผมหวังไว้สูงสำหรับหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นธรรมดาที่คาดหวังสูงก็ย่อมรู้สึกผิดหวังบ้างเมื่อหนังทำไม่ได้ตามที่คาดหวัง แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่แย่ เป็นเพียงหนังเพลงที่ใช้ได้เรื่องหนึ่ง




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2552   
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 10:18:58 น.   
Counter : 1967 Pageviews.  


JEDIYUTH’s Review: Eagle Eye

** บอกเนื้อเรื่องสำคัญ **
“Eagle Eye” เป็นหนังที่มีจุดประสงค์หลักด้านความบันเทิงในแง่ที่ทำให้เรารู้สึกลุ้นระทึก เขย่าขวัญ และหวาดกลัว หนังประสบความสำเร็จด้านนี้ในระดับใช้ได้ แต่เนื้อเรื่องของหนังนั้นค่อนข้างหลุดออกไปจากที่คาดหวัง

ออกจะยากสักหน่อยหากจะวิจารณ์หนังเรื่องนี้โดยไม่เผยเนื้อเรื่องบางส่วนครับ แต่ผมจะเผยให้น้อยที่สุดเพราะเมื่อคุณรู้ปมบางอย่าง มันอาจจะทำให้คุณเดาทางของหนังถูก และอาจสนุกในการชมน้อยลงมาก

หนังเปิดเรื่องด้วยภารกิจสังหารผู้ก่อการร้ายของสหรัฐที่ได้รับคำสั่งจากประธานาธิบดีให้ดำเนินการแม้ว่าการวิเคราะห์เตือนแล้วว่าเป้าหมายนั้นมีโอกาสใช่เพียง 51 เปอร์เซ็นต์ ผลที่ตามมาของการตัดสินใจอันผิดพลาดครั้งนี้นำไปสู่แผนการลอบสังหารและก่อการร้ายอันน่ากลัว โดยมีเจอรี่ ชอว์ (ไชอา ลาเบิร์ฟ) และ เรเชล (มิเชล โมนาแกห์น) เป็นหมากสำคัญในการเดินเกม

เจอรี่มีพี่ชายฝาแฝดซึ่งเป็นทหารที่ทำงานในเพนตาก้อน ผู้ซึ่งต่างจากเขาโดยสิ้นเชิงทั้งในด้านหน้าที่การงานและความฉลาด พี่ชายของเจอรี่เป็นเด็กอัจฉริยะ และเก่งกาจในทุกเรื่อง เจอรี่จึงมักได้รับการเอาใจใส่จากพ่อต่างจากพี่ชาย ทำให้เขาน้อยเนื้อต่ำใจ จึงออกจากบ้านมาต่อสู้ด้วยลำแข้งของตัวเอง และทำงานเป็นเด็กในร้านถ่ายเอกสาร และหลังจากที่พี่ชายของเขาตายได้สองวัน เจอรี่ก็พบว่าในห้องของเขามีอาวุธสงครามเต็มไปหมด และเขากลายเป็นคนร้ายของเอฟบีไอ และก็ยังมีเสียงโทรศัพท์ลึกลับมาบงการเขา ซึ่งไม่ว่าเขาขัดขืนยังไง เสียงผู้หญิงในโทรศัพท์นั่นก็หาทางให้เขาต้องทำตามให้ได้ในที่สุด

ส่วนมิเชลเป็นผู้ช่วยทนายที่ต้องเลี้ยงลูกตัวคนเดียว และเธอก็ต้องทำตามเสียงในโทรศัพท์เมื่อถูกขู่ว่าลูกของเธอที่กำลังเดินทางไปแสดงดนตรีของโรงเรียนจะต้องตายหากเธอไม่ทำตาม แล้วเสียงนั้นก็สั่งให้ทั้งคู่ร่วมมือกันในงานที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร นอกเหนือจากที่ต้องถือกระเป๋าเอกสารใบหนึ่งที่ตั้งเวลาไว้ และถือมันไปด้วยตามที่ต่างๆ ที่เสียงนั้นบอก

เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ และหนีการตามล่าของเอฟบีไอที่นำการล่าโดยตัวเจ้าหน้าที่โธมัส (บิลลี่ บ๊อบ ธอร์นตัน) ไปเรื่อยๆ โดยมีเสียงคอยช่วยเหลือและสั่งการ ทั้งคู่ก็ยิ่งพบว่าพวกเขาอยู่ในฐานะที่ไม่อาจต่อต้านอะไรได้เลย และไม่อาจรู้ว่าจะรอดจากการเป็นหมากนี้ไปได้ยังไง

ในตอนกลางเรื่อง ที่มาของเสียงได้เผยตัวตนให้ทั้งคู่รู้ว่าเป็นใคร พร้อมๆ กับบอกคนดูไปในตัว ณ จุดนี้ถือเป็นการหักมุมครั้งสำคัญของหนังซึ่งผมเองยังไม่แน่ใจว่าเป็นการหักมุมที่ดีไหม มันเป็นการหักมุมที่ทำให้จากเดิมทีดูเหมือนเป็นหนังประเภทเขย่าขวัญแนวผู้ก่อการร้ายเรื่องหนึ่งกลายเป็นหนังไซไฟไปเลย เหมือนกับว่าทีแรกคุณดูหนังคล้ายๆ กับเรื่อง Enemy of the State ผสม Nick of Time และ Phone Booth แต่พอหักมุมปั๊บ หนังกลายเป็นหนังที่คล้าย I, Robot หรือ 2001: A Space Odyssey และในวูบหนึ่ง ทำให้ผมนึกถึงครึ่งหลังของหนัง Wall-E ด้วย การหักมุมแบบนี้ ถ้าใครรับได้ก็จะดีไป แต่ถ้าใครรับไม่ได้ก็จะรู้สึกในทางลบกับหนังขึ้นมาทันที เพราะนอกจากจะยังเกินจริงแล้ว สารที่หนังจะบอกก็ยังเชยเพราะมีหนังหลายเรื่องเคยหยิบประเด็นนี้มานำเสนอแล้วดังรายชื่อหนังที่ผมเอ่ยถึงข้างบน เพียงแต่นำประเด็นความกลัวต่อผู้ก่อการร้ายมาใส่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผมมองว่าหนังยังมีองค์ประกอบด้านอื่นที่ดีพอจะทำให้มองข้ามความเกินจริงของหนังได้บ้าง

องค์ประกอบด้านดีที่ว่านี้ก็คือการสร้างความรู้สึกระทึก ความลึกลับ ปมปริศนา ความรู้สึกหวาดกลัวและจนตรอก หนังสร้างบรรยากาศส่วนนี้ได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ดีจนให้รู้สึกว่าต่างจากหนังในแนวเดียวกันที่เห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งถ้าผู้กำกับสตีเวน สปีลเบิร์กรับหน้าที่กำกับดังที่ตั้งใจไว้แต่ทีแรกแทนการอำนวยการสร้างเพียงอย่างเดียวแล้วให้ดี.เจ. คารูโซ มากำกับ ชั้นเชิงในการสร้างฉากระทึกและความสามารถในการเล่าเรื่องของสปีลเบิร์กน่าจะทำให้ Eagle Eye กลายเป็นหนังที่ตื่นเต้นในระดับเดียวกับ Jaws, Jurassic Park หรืออย่างน้อยในระดับ War of the Worlds หรือ The Minority Report ได้

ในส่วนการแสดงนั้น นักแสดงทุกคนทำหน้าที่ได้ดี บทของลาเบิร์ฟและโมนาแกห์นนั้นมีความลึกระดับหนึ่ง ทั้งคู่ก็ถ่ายทอดได้ดี ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นองค์ประกอบที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ ขณะที่ตัวละครของธอร์นตันนั้น ถ้าบทหนังทำให้รู้สึกผูกพันกับตัวละครมากกว่านี้ก็คงจะส่งผลให้เกิดความสะเทือนใจได้มากกว่าในองค์สุดท้ายของหนัง

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าการที่คุณจะชอบหนังเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนนั้น คงอยู่ที่คุณรับได้มากน้อยแค่ไหนในบทที่ดูหลุดออกไปจากความคาดหวังครับ เพราะองค์ประกอบที่เหลือนั้นไม่ได้โดดเด่นอะไร

6.5/10

ข้อมูลหนัง Eagle Eye
ผู้กำกับ: ดีเจ คารูโซ
นักแสดง: ไชอา ลาเบิร์ฟ, มิเชล โมนาแกห์น, บิลลี่ บ๊อบ ธอร์นตัน, โรซาริโอ ดอว์สัน, ไมเคิล ชิกลิก
กำหนดฉาย: 25 กันยายน 2551
เว็บไซต์ทางการ: //www.eagleeyemovie.com/




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2552   
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 10:08:07 น.   
Counter : 2928 Pageviews.  


October Sky : บางครั้ง หนึ่งความฝัน...ก็จุดทั้งท้องฟ้าให้สว่างไสว



หนังที่สร้างจากประวัติของ Homer Hickam นักวิศวกรอวกาศของนาซ่า จากหนังสือที่เขาเขียนขึ้นเองชื่อ The Rocket Boys กำกับการแสดงโดย Joe Johnson ผู้กำกับ Jurassic Park III และ Jumanji เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1957 ในช่วงสงครามเย็น รัสเซียส่งดาวเทียมชื่อ สปุทนิ้ก ขึ้นโคจรเหนือพื้นโลก เป็นดาวเทียมดวงแรกของโลก และได้สร้างคลื่นความกดดันทั่วโลกและในอเมริกาเอง ซึ่งในเวลานั้น ยังล้าหลังด้านเทคโนโลยีอวกาศกว่ารัสเซียมาก

ไกลออกไป ณ หมู่บ้านโคลวู้ด หมู่บ้านทำเหมืองถ่านหินแห่งใหญ่ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ขณะที่ทุกคนในหมู่บ้านแหงนมองท้องฟ้ายามค่ำคืนในเดือนตุลาคม เพื่อดูดาวเทียมสปุทนิ้ก โฮเมอร์ เด็กหนุ่มคนหนึ่งในหมู่บ้านได้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างจรวดขึ้น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวความฝันเล็กๆ และการฟ่าฟันสู่จุดหมาย

หนังเปิดเรื่องโดยการให้เรารู้จักกับโฮเมอร์ ตัวเอกของเรื่อง เด็กหนุ่มไฮสคูลธรรมดา กับเพื่อนที่อีก 2 คนคือ โอเดล และ รอย ลี ในหมู่บ้านเหมืองถ่านหิน ที่เด็กทุกคนเติบโตมา ล้วนต้องเจริญรอยตามพ่อแม่ด้วยการเป็นคงงานเหมือง แต่พวกเขาสามคนฝันไปไกลกว่านั้น อยากที่จะหลุดจากโคลวู้ดแห่งนี้ ไปมีอาชีพอื่น ซึ่งน้อยคนจะทำได้ เช่น จิม พี่ชายของโฮเมอร์ที่เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน และได้ทุนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่จากการได้เห็นดาวเทียมสปุทนิกในคืนนั้น ได้จุดประกายให้โฮเมอร์อยากสร้างจรวดด้วย เพราะอเมริกาในเวลานั้น ยังล้าหลังในการแข่งขันไปอวกาศกับรัสเซีย โฮเมอร์อยากเป็นเหมือน ดร.วอน บรอน นักวิศวกรที่ดูแลการสร้างจรวดให้สหรัฐในเวลานั้น เขาบอกกับพ่อแม่ในคืนนั้นว่าเขาจะสร้างจรวด แต่ไม่มีใครคิดเป็นเรื่องจริงจัง แม่ยังบอกเขาด้วยซ้ำว่า อย่าระเบิดตัวเองแล้วกัน

โฮเมอร์ เริ่มจากลองผิดลองถูก ทำจรวดแต่ก็ไประเบิดรั้วบ้านตัวเองพัง แต่ด้วยความมุ่งมั่น โฮเมอร์ยอมเป็นมิตรกับเควนติน เด็กเนิร์ดที่เป็นแกะดำของโรงเรียน และให้เขาช่วยแนะนำในการสร้างจรวด แต่เมื่อทำเสร็จ จรวดก็พุ่งเข้าไปในเหมืองเกือบทำร้ายผู้คน ทำให้พ่อของโฮเมอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานเหมืองโกรธอย่างมาก สั่งห้ามเขาเล่นจรวดอีก

โฮเมอร์พาเพื่อนเดินไปไกลถึง 8 ไมล์ เพื่อให้พ้นเขตบริษัทของพ่อ และทำลานทดลองยิงจรวดของตัวเอง ในเวลาเดียวกัน โฮเมอร์ก็ได้แรงบันดาลใจจากครูไรลี่ย์ (ลอร่า เดิร์น) ในการทำจรวดเพื่อเข้าแข่งขันในงานวันวิทยาศาสตร์ และตั้งแต่นั้นมา โฮเมอร์กับกลุ่มเพื่อนร็อคเก็ตบอยของเขา ก็ร่วมแรงร่วมใจประดิษฐ์จรวด เพื่อนำไปประกวดในงานวันวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะชนะและได้ทุนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไปเป็นสิ่งที่ตนหวัง และสิ่งที่โฮเมอร์หวังก็คือการได้ทำงานที่นาซ่า

อุปสรรคของโฮเมอร์ไม่ใช่การทำจรวด แต่เป็นความไม่ศรัทธาในตัวพวกเขาของชาวบ้านโคลวู้ด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอห์น (คริส คูเปอร์) พ่อของโฮเมอร์ และครูใหญ่ของโรงเรียนที่เห็นว่า การทำจรวดของพวกเขาเป็นเรื่องไร้สาระ และก่อให้เกิดอันตราย

พ่อของโฮเมอร์ เป็นผู้ที่ภูมิใจในอาชีพทำเหมืองมาก และอยากให้ลูกชายคนเล็กของเขาเจริญรอยตาม เขาบอกกับโฮเมอร์ว่า "ถ่านหินของเราถูกนำไปหลอมเหล็ก ไม่มีเหล็กอเมริกาก็อยู่ไม่ได้" ในขณะที่โฮเมอร์บอกว่า เขาจะไม่มีวันทำงานเหมืองเด็ดขาด ฝ่ายครูใหญ่ของโรงเรียน ซึ่งเห็นว่าเด็กในโรงเรียนควรทำงานเหมือง ก็ตักเตือนครูไรลี่ว่า อาชีพของครูคือให้การศึกษา ไม่ใช่ให้ความหวังลมๆ แล้งๆ แต่ครูไรลี่ก็ย้อนตอบไปว่า เธอทนนั่งดูลูกศิษย์ของเธอสูดฝุ่นถ่านหินไปตลอดชีวิตไม่ได้

แต่เหมือนผีซ้ำกรรมซัด โฮเมอร์กับร็อคเก็ตบอยถูกป้ายความผิดว่าเป็นต้นเหตุของไฟไหม้ป่า ขณะเดียวกัน พ่อของโฮเมอร์ก็ประสบอุบัติเหตุ จนโฮเมอร์ต้องลาออกจากโรงเรียนไปทำงานเหมืองแทน ความฝันของเขาริบหรี่ลง แต่ก็เพราะครูไรลี่ได้จุดประกายให้โฮเมอร์อีกครั้ง โฮเมอร์ใช้เวลาพักในเหมือง แอบศึกษาสูตรฟิสิกส์และคณิตศาสตร์จนเก่ง และใช้ช่วยเขากับเพื่อนพ้นผิดในคดีไฟไหม้ป่า ขณะเดียวกันเมื่อพ่ออาการดีขึ้น โฮเมอร์ก็กลับไปทำจรวดอีกครั้ง เขาบอกพ่อว่า เขาจะไม่มีวันลงไปในเหมืองอีก เพราะที่ของเขาคือบนอวกาศ...

สิ่งที่ต้องถือว่ายอดเยี่ยมอีกอย่างในหนังเรื่องนี้ คือการแสดงของ คริส คูเปอร์ ในบทจอห์น พ่อของโฮเมอร์ แม้ทั้งคู่จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอดเรื่อง เพราะมีความเห็นแตกต่างกัน จอห์นเห็นว่าการทำจรวดของลูกเหลวไหลไร้สาระและฝันเฟื่อง เขาไม่ขัดขวางลูก แต่ก็ไม่ให้กำลังใจ แต่เพราะความมุ่งมั่นของลูก เมื่อใดที่ลูกต้องการให้ช่วย เขาก็ช่วยเหลือ เพียงแต่ทำเป็นว่าไม่ได้ช่วย หรือช่วยแบบขอไปทีเพราะกลัวเสียหน้า จอห์นเป็นพ่อที่รักลูก เพียงแต่สื่อสารความรักกับลูกไม่เป็น ดูแล้วนึกถึงพ่อของ Billy Elliot ขึ้นมาตะหงิดๆ

ใครที่ชอบหนังอย่าง Billy Elliot ลองหาเรื่องนี้มาดู เป็นหนังปี 1999 เป็นหนังที่ทำให้หัวใจเราพองโตได้อีกเรื่อง

หมายเหตุ
1. เป็นบทวิจารณ์ที่เขียนไว้ในปี 2545 หลังจากได้มีโอกาสทำบทซับไตเติ้ลให้ HBO แล้วประทับใจหนังเรื่องนี้มาก
2. ชื่อหนัง October Sky มาจากคำว่า The Rocket Boys ที่นำตัวหนังสือมาสลับตำแหน่งกัน
3. เป็นหนังเรื่องแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักเจค จินเลนฮอล และติดตามผลงานเรื่อยมาตั้งแต่นั้น





 

Create Date : 17 กันยายน 2549   
Last Update : 17 กันยายน 2549 11:24:44 น.   
Counter : 3202 Pageviews.  


Spider-Man : เทพนิยายซูเปอร์ฮีโร่

สไปเดอร์แมน หรือ ไอ้แมงมุม หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่แฟนๆ ของการ์ตูนตัวนี้รอมาแสนนาน และเชื่อว่าใครที่เป็นแฟนไอ้แมงมุมอยู่แล้ว จะต้องไม่ผิดหวัง เพราะหนังจับเสน่ห์ของการ์ตูนมาร์เมล คอมมิก ไว้ได้ครบถ้วน และคนที่ไม่ใช่แฟนตัวจริงก็สนุกกับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก ผมเคยอ่านบ้างตอนเด็กๆ แต่ก็ไม่ได้ติดตามอะไรมากมาย เพราะชอบเรื่องราวแบบไอ้มดแดง หรือชอบตัวละครแบบวูล์ฟวารีนมากกว่า แต่ก็ดูแล้วสนุกดีครับ

หนังบอกเล่าเรื่องราวที่คล้ายๆ เทพนิยาย เล่าผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอก ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (Tobey Maguire) เด็กหนุ่มกำพร้าที่อาศัยอยู่กับลุงและป้า ซึ่งก่อนจะได้พลังพิเศษแบบแมงมุมมา เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มธรรมดา บ้าเรียน ขี้อาย ใส่แว่นตา เข้าสังคมไม่เก่ง และอยากเอาชนะใจสาวคนที่แอบรัก แมรี่ เจน (Kirsten Dunst) ที่ทั้งสวย โด่งดัง และเนื้อหอม และเมื่อปีเตอร์ได้พลังพิเศษมา เขาก็ไม่ต่างจากคนธรรมดา ที่อาจคิดเพียงใช้มันไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

แต่ด้วยการอบรมสั่งสอนที่ดีของลุงและป้า ที่อยากให้เขาเป็นคนดี เหมือนที่ลุงเขาบอกว่า “With great power comes great responsibility.” และการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว ซึ่งเขาน่าจะยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นได้ เขาจึงเปลี่ยนนำมันไปใช้ต่อกรกับเหล่าร้าย และปราบอาชญากร

ที่บอกว่าคล้ายๆ เทพนิยายคือ นึกถึงเรื่องราวของหนุ่มผู้ต่ำต้อย ไปรักหญิงสูงศักดิ์ แล้ววันหนึ่งได้พรวิเศษ (ในที่นี้คือโดนแมงมุมอาบรังสีกัด) จนตัวเขามีพลังวิเศษ แล้วเอาชนะใจหญิงสาวได้ เนื้อเรื่องพื้นๆ แบบนี้ แต่เอามาปรับแต่งเป็นเทพนิยายยุคใหม่ ใส่รายละเอียดและมิติของตัวละครลงไปในบท ให้เป็นเรื่องราวการผจญภัยของไอ้แมงมุม

ด้วยเรื่องราวที่อาจไม่ซับซ้อนและ 'ดูเหมือน' เป็นหนังตลาด แต่เพราะการเขียนบทที่ให้รายละเอียด และที่มาที่ไปของตัวละครได้ดี กอปรกับการแสดงที่ดูน่าเชื่อของนักแสดง ทำให้หนังเรื่องนี้มีมิติขึ้นมา ทั้งนี้อาจเพราะการกำกับด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่า หลังจาก Batman ซึ่งกำกับโดย ทิม เบอร์ตัน เป็นต้นมา หนังซูเปอร์ฮีโร่หลายเรื่องที่สร้างตาม (แต่ไม่ทุกเรื่อง) มีการเลือกผู้กำกับหนังแนวจริงจังมากำกับ (เช่นให้อังลีกำกับ Hulk หรือให้ ไบรอัน ซิงเกอร์ กำกับ X-Men) แทนที่จะเลือกผู้กำกับหนังบู๊ตลาดทั่วไปมากำกับ เพราะรู้ว่าผู้กำกับเหล่านี้จะทำให้หนังดูน่าสนใจขึ้นได้

เช่นเดียวกับการเลือกนักแสดง บางครั้งหนังที่มีเนื้อหาไม่ซับซ้อนมาก แต่เลือกนักแสดงที่มีความสามารถมารับบท ก็ทำให้หนังน่าติดตามและดูน่าเชื่อได้เช่นกัน เหมือนกับการเลือก แจ็ค นิโคลสัน มารับบท โจ๊คเกอร์ จนได้เข้าชิงออสการ์ หรือให้ มิเชล ไฟเฟอร์ เป็น นางแมวป่า (ถ้าไม่นับรวมหนังซูเปอร์ฮีโร่ก็เช่น Moulin Rouge ที่ให้ นิโคล คิดแมน มารับบท Satin บทของเธอไม่มีอะไรมาก แต่การแสดงของคิดแมน ทำให้ซาตินมีเลือดเนื้อขึ้นมาเลย)

Spider-Man เลือกเอา โทบี้ แม็คไกวร์ มารับบท ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ในความรู้สึกของผม บทนี้ไม่ต่างจากตัวเอกใน Pleasantville ที่เขาเล่นเท่าไหร่นัก และแม็คไกว์ก็เล่นได้ดี ทั้งสีหน้าและแววตา เขาทำให้รู้สึกว่า Spider-Man ก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป มีโลภ โกรธ หลง เคียดแค้น Kirsten Dunst ก็ทำให้บทของเอ็มเจดูมีสีสันขึ้นมา ทำให้รู้สึกว่าในเบื้องหน้าที่ดูเป็นเด็กสาวร่าเริง มั่นใจในตัวเอง แท้จริงแล้วเธอสับสน ช่างฝัน และเปราะบางอยู่ลึกๆ

Williem Dafoe ก็ทำได้ดีเช่นกัน ในการต่อสู้กับจิตใจชั่วร้ายของตัวเอง แม้ว่าบทของ Green Goblin ดูน่าจะมีอะไรผลักดันให้เขาทำชั่วมากกว่านี้ James Franco ซึ่งเพิ่งคว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาจากบท เจมส์ ดีน ในหนังทางทีวี ก็เล่นได้ดีในบทของแฮรี่ ดูเป็นเด็กที่มีปมด้อย อยากให้พ่อรักและภูมิใจ และลึกลับอยู่ในที เขาอาจอิจฉาปีเตอร์อยู่ลึกๆ ด้วยซ้ำ ลืมไม่ได้ คือ J.K. Simmons ในบทเจ้าของหนังสือพิมพ์ J. Jonah Jameson ที่แม้ออกไม่กี่ฉาก ก็ดูเด่นด้วยการพูดเร็วและมุขร้ายๆ ประจำตัว ส่วน Cliff Roberson กับ Rosemary Harris ในบทลุงเบ็นกับป้าเมย์ ก็เล่นได้อย่างที่ควรเป็น

ในส่วนของบท หนังผสมความเป็นดราม่าและฉากแอ็คชั่นได้กลมกลืน ไม่มาก ไม่น้อยไป และเป็นในแบบของไอ้แมงมุมอย่างที่ควรเป็น มีมุขตลกแทรกในแบบที่ไม่ลดความจริงจังของหนัง พร้อมแอบกัดซูเปอร์ฮีโร่ตัวอื่นเล็กๆ เช่น ซูเปอร์แมน ไม่รู้มีใครคิดเหมือนผมไหมว่า หุ้นส่วนบริษัทของตัวละครที่เดโฟเล่นในเรื่อง คนที่หัวล้านนั่งรถเข็นน่ะ ผมดูแล้วนึกถึง ดร.ซาเวียร์ ใน X-Men ขึ้นมาเลย

ในส่วนของเทคนิค ยอมรับว่ายังไม่เนียนพอ การ CG โทบี้ แม็คไกวร์ ในฉากต้นๆ ที่กระโดดข้ามตึกไปมานั้นเห็นชัดมากว่าเป็น CG ครั้นพอตัดเข้ามาที่ตัวแม็คไกวร์ที่เป็นคนจริงเล่น เห็นชัดเลยว่าภาพมันโดดอยู่ แต่เทคนิคพิเศษตอนที่ต่อสู้กับกรีน กอบลิน ช่วงนั้น ทำออกมาได้ดีใช้ได้ครับ

สรุปแล้วจากความเห็นผม Spider-Man เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่สนุกและดีเรื่องหนึ่ง และผมชอบ แต่นี่เป็นแค่ความเห็นของผมเท่านั้นครับ ใครจะชอบเหมือนกันไหม ต้องไปดูกันเอาเอง

เกร็ดเกี่ยวกับตัวละครใน Spider-Man

สไปเดอร์-แมน ปรากฎโฉมให้ผู้อ่านการ์ตูนได้รู้จักครั้งแรกใน Amazing Fantasy ฉบับที่ 15 เดือนสิงหาคม ปี 1962 และปีนี้เป็นปีที่การ์ตูนเรื่องนี้มีอายุครบ 40 ปี เขาถูกสร้างขึ้นโดย Stan Lee นักเขียนการ์ตูนวัย 79 และ Steve Ditko วัย 74 ลีบอกว่าเขาไม่แปลกใจที่ Spider-Man เป็นตัวการ์ตูนของเขาที่อยู่มานาน และเป็นผลงานของเขาที่รู้จักที่สุด ผลงานอื่นๆ ของ ลี คือ Hulk และ Fantastic Four ลีบอกว่า Spider-Man เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เหมือนมนุษย์ธรรมดาสามัญที่สุด

Peter Parker/Spider-Man เด็กกำพร้าที่ถูกเลี้ยงมาโดยลุงเบ็นและป้าเมย์ ได้พลังพิเศษมาเพราะถูกแมงมุมที่อาบรังสีกัด ข่าวลือบอกว่า โทบี้ แม็คไกวร์ ได้รับบทนี้มา โดยเอาชนะคู่แข่งอย่าง ลีโอนาโด ดิคาปริโอ และ เฟร็ดดี้ ปรินท์ จูเนียร์

แมรี่ เจน วัตสัน หรือ เอ็มเจ ปรากฎตัวใน The Amazing Spider-Man ครั้งแรกในฉบับที่ 25 ฉบับเดือนมิถุนายน 1965 แม้ว่าอีกกว่า 2 ปีต่อมา ที่ปีเตอร์จะกล้าชวนเธอออกเดทในฉบับที่ 47 (เมษายน 1967) และอีกกว่า 20 ปีต่อมา ที่พวกเขาจะตกลงเป็นคู่รักกัน ใน Spider-Man Annual No.27 ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1987 Kirsten Dunst (Interview With A Vampire) ยอมย้อมผมแดงเพื่อรับบทนี้

Norman Osborn/ The Green Goblin เป็นนักวิทยาศาสตร์และเจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมทางชีวเคมี เขาได้พลังความแข็งแรงจากอุบัติเหตุการระเบิดในแล็บทดลอง ปรากฎกายใน The Amazing Spider-Man ครั้งแรกในฉบับที่ 14 (กรกฎาคม 1964) ออสบอร์นเป็นศัตรูของไอ้แมงมุมอยู่ 9 ปี ก่อนจะจบชีวิตลงเพราะอาวุธของตัวเองในฉบับที่ 122 (กรกฎาคม 1973)

Harry Osborn บุตรชายของนอร์แมน ออสบอร์น แฮรี่ได้รู้จักกับปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ขณะทั้งคู่เรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยเอมไพร์สเตทของนิวยอร์ก ใน The Amazing Spider-Man No. 31 (ธันวาคม 1965) ภายหลังพบว่า Spider-Man มีส่วนทำให้พ่อของเขาตาย เขาสวมชุดของพ่อแล้วสาบานจะแก้แค้น ในหนังเปลี่ยนให้แฮรี่กับปีเตอร์เป็นเพื่อนกันสมัยเรียนไฮสคูล

J. Jonah Jameson เจ้าของหนังสือพิมพ์ New York Daily Bugle ผู้ปากจัดและรักการสูบซิการ์ ปรากฎกายใน The Amazing Spider-Man ตั้งแต่ฉบับแรก และไม่เคยปกปิดความรู้สึกและอคติต่อสไปเดอร์-แมนเลย โดยโจมตีเขาผ่านหนังสือพิมพ์อยู่เสมอๆ

Aunt May และ Uncle Ben ผู้ชี้นำทางให้ปีเตอร์ ปรากฎตัวใน Amazing Fantasy No. 15 (สิงหาคม 1965) หลังจากลุงเบ็นเสียชีวิต ป้าเมย์ก็จบออดๆ แอดๆ และอยู่ต่อมาได้อีก 40 ปี

ปล. เป็นบทวิจารณ์เก่าที่เคยเขียนไว้ปี 2545 ตอนที่ Spider-Man ภาคแรก เข้าฉายบ้านเราครับ




 

Create Date : 17 กันยายน 2549   
Last Update : 17 กันยายน 2549 11:04:51 น.   
Counter : 1260 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  

JEDIYUTH
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




เป็นนักทำซับไตเติ้ลครับ แปลซับหนังครั้งแรกในปี 2538 ครับ ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ เริ่มจากแปลหนังขาวดำให้แก่ช่อง TNT ก่อน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำให้ HBO และ Cinemax Asia จนถึงวันนี้ก็เลย 10 ปีแล้ว ต่อมาก็เริ่มมีโอกาสได้ทำซับไตเติ้ลให้ช่องอื่นบ้างรวมถึงหนังในโรงภาพยนตร์บ้างในระยะหลังนี้

ผลงานซับไตเติ้ล
เคเบิ้ลทีวี: ในหลายๆ ตอนของ Sex and the City และ Six Feet Under, Battlestar Galactica, The Smith, The Company, Heroes ซีซั่น 1, Dune, Star Trek: The Motion Pictures, Star Trek II: Wroth of Khan, Star Trek: The Final Frontier, Star Trek: Generation, Star Trek: First Contact, Star Trek: Insurrection, Star Trek: Nemesis, Apollo 13, Red Planet, Grease, Rent, Forrest Gump, Twister, Men in Black, Nightmare Before Christmas, Prince of Egypt, Jurassic Park, The Lost World, Back to the Future III, The Matrix, The Postman, Godfather Part II etc.

ผลงานซับไตเติ้ลในโรงภาพยนตร์: The Chorus, Swiming Pool, The Company, A Home at the End of World, Step Up 2

งานไม่ประจำ: ขีดๆ เขียนๆ ตามหนังสือที่รับเชิญไป

งานอดิเรก: ทำเว็บไซต์ข่าวสารภาพยนตร์ซึ่งเน้นของฮอลลีวู้ดเป็นหลัก ชื่อ JEDIYUTH.Com
[Add JEDIYUTH's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com