JEDIYUTHs Review: Revolutionary Road ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์
Revolutionary Road เป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งของคู่ขวัญไททานิก ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เคต วินสเลต ที่สร้างตำนานรักบันลือโลกบนแผ่นฟิล์มร่วมกันเมื่อสิบปีที่แล้ว มีชื่อภาษาไทยที่ฟังดูหวานว่า ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์ ซึ่งถ้าใครไม่รู้เนื้อเรื่อง หรือไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับที่เขียนโดยริชาร์ด เยตส์ มาก่อน ก็คงคิดว่านี่จะเป็นหนังรักโรแมนติก เรื่องราวการต่อสู้ความฝันของคู่รัก ที่จริงแล้วไม่เลยครับ มันเป็นหนังสะท้อนปัญหาชีวิตครอบครัวในแง่มุมของความเป็นจริงจนบางคนอาจคิดว่า ถ้าแจ็คกับโรสหนีตามกันสำเร็จ ได้ไปใช้ชีวิตร่วมกันดังที่ฝันไว้ พวกเขาก็อาจติดกับชีวิตชานเมืองอันน่าเบื่อแบบในหนังเรื่องนี้ และลงเอยเหมือนกันก็เป็นได้ หนังเปิดเรื่องด้วยการนำเราไปรู้จักคู่สามีภรรยา แฟรงก์ (ดิคาปริโอ) และ เอพริล (วินสเลต) วีเลอร์ ที่ใครต่อใครมองว่าพวกเขาเป็นคู่ที่ พิเศษ เป็นคู่ที่เหมาะสมและหล่อสวยด้วยกันทั้งคู่ สามีเป็นพนักงานบริษัทใหญ่โตในนิยอร์กชื่อว่าน็อกซ์ ส่วนภรรยาก็มีเป็นแม่บ้านที่เพียบพร้อม แต่บนฉากหน้าที่ดูน่ารักเหมือนบ้านที่พวกเขาอยู่นั้น ทั้งคู่ต่างมีชีวิตคู่ที่ระหองระแหงกันมาตลอด แฟรงก์ไม่ได้ชอบงานที่เขาทำ เขาเกลียดมันด้วยซ้ำ พ่อของเขาเคยทำงานที่บริษัทนี้และเขาก็เคยฝันในตอนเด็กว่าจะไม่ลงเอยแบบพ่อ แต่เขาก็กลับลงเอยแบบเดียวกัน ขณะที่เอพริลก็พยายามดิ้นรนด้วยการเป็นนักแสดงละครเวทีตามที่ฝัน แต่ก็กลับล้มเหลว และชีวิตพวกเขาไม่ได้พิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่นเลย แฟรงก์ใส่สูทและหมวกไปทำงานออฟฟิศในนิวยอร์กด้วยชุดที่แทบแยกไม่ออกจากคนทำงานอื่นๆ ชีวิตแม่บ้านของเอพริลก็แทบไม่ต่างจากเพื่อนบ้านในถนนสายเดียวกัน ทั้งคู่ดูจะมีหวังหลุดพ้นจากชีวิตชานเมืองอันน่าเบื่อนี้เมื่อเอพริลนึกถึงสมัยที่พวกเขาคบกันใหม่ๆ ทั้งคู่เคยฝันถึงการใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียนในปารีส และเป็นสิ่งที่แฟรงก์เคยสัญญาเอพริลก่อนแต่งงานว่าจะไปใช้ชีวิตร่วมกันเช่นนั้น เธอเสนอความคิดแก่เขาเรื่องย้ายไปอยู่ปารีส เธอจะทำงานเลี้ยงแฟรงก์เองขณะที่เขาก็ค้นหาตัวเองไปว่าอยากทำอะไรกับชีวิต ความคิดของเอพริลได้เติมสีสันคืนกลับมาให้ชีวิตคู่นี้อีกครั้ง แม้ว่าจะถูกมองจากใครต่อใคร ว่า เป็นการตัดสินใจแบบเด็กๆ มีเพียงจอห์น กีฟวิ่งส์ (ไมเคิล แชนนอน) หนุ่มนักคณิตศาสตร์ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลบ้าที่ดูจะเข้าใจพวกเขามากที่สุด แต่แล้วความฝันของทั้งคู่ก็พังครืนเมื่อแฟรงก์เริ่มลังเลหลังจากได้เลื่อนขั้นในบริษัทให้มีตำแหน่งสูงขึ้น และได้เงินเดือนเยอะขึ้น มันเหมือนกับว่าแฟรงก์เริ่มพอใจกับชีวิตขณะนั้นแล้ว ขณะที่เอพริลเองก็ตั้งครรภ์ลูกคนที่สามยิ่งเป็นเหตุผลให้แฟรงก์เอามาอ้างไม่ให้ย้ายไปปารีส เมื่อแฟรงก์สารภาพว่าเขาเคยนอกใจยิ่งทำให้เอพริลรู้ว่าเธอนั้นหมดรักในตัวของแฟรงก์แล้ว และไม่อาจเชื่อคำสัญญาของแฟรงก์ได้อีกต่อไป เธอมองออกว่าชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร และก็คงเป็นอย่างนั้นตลอดไป จนนำไปสู่การตัดสินใจที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม Revolutionary Road ในฉบับนิยายนั้น ได้รับการยกย่องอย่างมากเพราะการประพันธ์อันทรงพลังของเยตส์ที่วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของผู้คนยุค 50 ของสหรัฐ ที่ถูกรัฐสร้างค่านิยมภาพลวงของครอบครัวในฝัน ให้ว่าทุกครอบครัวดำเนินชีวิตไปอย่างสอดคล้องคล้ายคลึงกัน เพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศชาติ ใครมีแนวคิดที่แตกต่างก็มักถูกมองว่าไม่เป็นอเมริกัน ถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นบ้า หรือเป็นพวกที่เพี้ยน ซึ่งเยตส์มองว่าแนวคิดนั้นถือเป็นการทรยศต่อจิตวิญญาณการเป็นนักปฏิวัติอันกล้าหาญที่สุดและดีที่สุดของชาวอเมริกัน ซึ่งจิตวิญญาณนั้นได้ถูกใส่ไว้ในตัวละครของเอพริล ผมหมายความว่าชื่อเรื่องของนิยายนั้นบอกถึงถนนสายปฏิวัติที่มีมาตั้งแต่ปี 1776 ได้มาถึงทางตันในยุค 50 เยตส์เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ปี 1972 ซึ่งชะตากรรมของลูกคนที่สามของครอบครัววีเลอร์และของเอพริลก็ได้เป็นสัญลักษณ์ของเส้นทางปฏิวัติที่พบ ทางตัน ตามที่เยตส์บอก การดัดแปลงเป็นบทหนังของจัสติน เฮย์เธนั้นสะท้อนปัญหาชีวิตครอบครัวชานเมืองของอเมริกันตามขนบนิยมที่เป็นสาระสำคัญของฉบับนิยายออกมาได้ดีครับ แต่ไม่อาจสะท้อนยุคสมัยออกมาได้ จึงทำให้หนัง Revolutionary Road ดูมีความเป็นหนังย้อนยุคน้อยมากในแง่ของอารมณ์หนัง ทำให้หลังจากชมจบแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันก่อนหน้านี้นัก เช่น American Beauty ที่สร้างชื่อให้เมนเดสเอง หรือหนังอังกฤษที่ตั้งคำถามต่อชีวิตคล้ายๆกันอย่าง Metroland หรือหนังในโทนที่อบอุ่นกว่าอย่าง Pleasantville หนังในโทนสยองขวัญอย่าง The Stepford Wives หรือแม้แต่แง่คิดแฝงในหนังตลกอย่าง The Adams Family จะต่างกันก็เพียงพูดถึงตัวละครคนละตัวและเลือกใช้การตัดสินใจคนละอย่างกันเท่านั้น ดังนั้นถ้าหนังเรื่องนี้ออกฉายสักเมื่อสิบปีก่อน ผมคงรู้สึกว่าเป็นหนังที่น่าตื่นเต้นในแง่เนื้อหากว่านี้ และตอนจบของหนังคงเป็นอะไรที่ทรงพลังกว่านี้ครับ ในแง่ของการเล่าเรื่อง เมนเดสใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยภาพแบบเดียวกับที่เขาใช้ใน American Beauty แต่ไม่อาจทำให้กระชากใจเท่า หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าหนังแน่นิ่งเกินไป และไม่ไปไหน การแสดงของวินสเลตนั้นยอดเยี่ยม เธอได้มีโอกาสเล่นบทที่ท้าทายหลายฉากมาก รวมถึงได้ปล่อยคำพูดเด็ดๆ หลายช่วง ขณะที่ดิคาปริโอนั้นก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แม้ว่าจะยังคงเป็นบทของผู้ชายที่ดูกระล่อน ขี้คุย และเจ้าชู้ คล้ายหนังหลายเรื่องก่อนหน้านี้ของเขา จะแตกต่างอยู่ก็แต่ในรายละเอียดของตัวละคร แต่ที่ลืมไม่ได้เลยก็คือบทบาทการแสดงของไมเคิล แชนอน ออกเพียงสองฉาก แต่ทำให้รู้สึกว่าเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดในหนัง หลังจากชมหนังเรื่องนี้จบ อย่างหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีก็คือรู้สึกว่าโชคดีครับที่ไม่ได้มีชีวิตร่วมสังคมเดียวกับตัวละคร ผู้คนในสังคมของเราและยุคของเรานั้นมีทางเลือกมากกว่า มีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตตามที่ฝันกันมากขึ้น แม้บางคนไม่ได้ใช้ชีวิตตามที่ฝัน ก็รู้จักให้ถนนของความฝันกับถนนของความจริงไปคู่กันได้ มิเช่นนั้น ความฝันของเราก็คงไม่ต่างจากชะตากรรมของเด็กในท้องของเอพริล คะแนน 7/10Revolutionary Road ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์ กำกับ : แซม เมนเดส นำแสดง : ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, เคต วินสเลต, เคธี่ เบ็ตส์, ไมเคิล แชนน่อน, แคธรีน ฮาห์น, เดวิด ฮาร์เบอร์, โซอี้ คาซาน เว็บไซต์ภาพยนตร์: //www.revolutionaryroadmovie.com
Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 10:38:07 น.
0 comments
Counter : 2135 Pageviews.
JEDIYUTH
Location :
กรุงเทพ Thailand
[Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [? ]
เป็นนักทำซับไตเติ้ลครับ แปลซับหนังครั้งแรกในปี 2538 ครับ ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ เริ่มจากแปลหนังขาวดำให้แก่ช่อง TNT ก่อน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำให้ HBO และ Cinemax Asia จนถึงวันนี้ก็เลย 10 ปีแล้ว ต่อมาก็เริ่มมีโอกาสได้ทำซับไตเติ้ลให้ช่องอื่นบ้างรวมถึงหนังในโรงภาพยนตร์บ้างในระยะหลังนี้ ผลงานซับไตเติ้ล เคเบิ้ลทีวี: ในหลายๆ ตอนของ Sex and the City และ Six Feet Under, Battlestar Galactica, The Smith, The Company, Heroes ซีซั่น 1, Dune, Star Trek: The Motion Pictures, Star Trek II: Wroth of Khan, Star Trek: The Final Frontier, Star Trek: Generation, Star Trek: First Contact, Star Trek: Insurrection, Star Trek: Nemesis, Apollo 13, Red Planet, Grease, Rent, Forrest Gump, Twister, Men in Black, Nightmare Before Christmas, Prince of Egypt, Jurassic Park, The Lost World, Back to the Future III, The Matrix, The Postman, Godfather Part II etc. ผลงานซับไตเติ้ลในโรงภาพยนตร์: The Chorus, Swiming Pool, The Company, A Home at the End of World, Step Up 2 งานไม่ประจำ: ขีดๆ เขียนๆ ตามหนังสือที่รับเชิญไป งานอดิเรก: ทำเว็บไซต์ข่าวสารภาพยนตร์ซึ่งเน้นของฮอลลีวู้ดเป็นหลัก ชื่อ JEDIYUTH.Com