คุ้มสมุนไพร "ภูมิปัญญาไทย เพื่อสุขภาพและความงามคุณ" บริการ อยู่ไฟ หลังคลอด ถึงบ้าน และจำหน่ายชุด อยู่ไฟ ด้วยตนเอง
 

ลูกน้อยร้องไม่หยุด...จะทำไงดี

น.พ. กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น



เรื่องนี้เป็นปัญหาหญ้าปากคอกจริงๆ ครับ ซึ่งก็หมายความว่าดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว ไม่น่าจะมีอะไร แต่บางทีก็เป็นปัญหามากสำหรับคุณพ่อคุณแม่
โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งจะมีลูกคนแรก เวลาลูกร้อง ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน คุณพ่อคุณแม่หลายคนเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็มักจะเอาขวดนมใส่ปากลูกเลย เพื่อให้หยุดร้อง หรือถ้าลูกกินนมแม่ แม่จะเปิดเต้านมให้กินทุกครั้งที่ร้อง
บางทีอาจทุกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นลักษณะของการให้ "กินนมตามร้อง" ซึ่งเด็กแรกเกิดมักหยุดร้องชั่วคราวจริงครับ แต่มันเกิดจากกลไกทางระบบประสาทที่เรียกว่ารีเฟล็กซ์ (Reflex)

โดยเมื่อมีวัตถุเข้ามาสัมผัสในปากเด็กก็จะเกิดการดูดแบบอัตโนมัติ เหมือนเวลาเราล้มแล้วมีการกางแขนเพื่อค้ำยันร่างกายครับ ดังนั้นรีเฟล็กซ์การดูด (Sucking reflex) นี้จะทำให้เด็กทารกดูดทันทีที่มีจุกนมหรือหัวนมแม่เข้ามาในปาก เมื่อมีการดูดเกิดขึ้น เด็กก็จะต้องหยุดร้อง เหตุการณ์ซ้ำๆ แบบนี้ จะทำให้พ่อแม่หลายคนคิดว่าลูก "ร้องเพราะหิว" ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเด็กอายุแรกเกิดถึง 3 เดือนที่กินนมผสมจนเต็มอิ่มแล้ว อีก 3 - 4 ชั่วโมงถึงจะหิวอีกครั้ง หรือถ้ากินนมแม่ ซึ่งย่อยง่ายกว่าก็อาจจะหิวเร็วกว่า แต่ก็ควรประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงครับ

แล้วถ้าลูกน้อยร้องจะให้ทำยังไง
วิธีการปฏิบัติเมื่อลูกร้องนี้ มักจะใช้กับเด็กทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 3 - 4 เดือนครับ เพราะการร้องไม่หยุดมักจะเป็นปัญหาในเด็กวัยนี้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับการร้องเวลากลางคืนได้ด้วยครับ เมื่อลูกร้องจึงควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้ครับ

1. ลองหาสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องก่อน
เช่นความไม่สบายตัวจากการเปียกฉี่ เปียกอึ อากาศร้อนไป เย็นไป มีเสียงดังรบกวน หรือบางครั้งเป็นสาเหตุการร้องกลางคืนง่ายๆ ที่เรานึกไม่ถึง เช่นเด็กทารกบางคนแหวะนมออกมาใส่หมอน พอหลับต่อก็ร้องเป็นพักๆ จากการที่เด็กเหม็นคราบนมที่ตัวเองอาเจียนออกมาเลอะหมอน

2. ถ้าหาสาเหตุไม่พบ
ให้ลองอุ้มปลอบดูก่อน ผมเคยเห็นเด็กทารกที่ร้องไห้โยเยอยู่ในอ้อมกอดแม่ แม่อุ้มปลอบเท่าไรก็ไม่ยอมหยุด แต่พอส่งให้ยายอุ้มปลอบ แป๊บเดียวเด็กหยุดร้องเลยครับ คุณยายมีท่าการอุ้ม มีการปลอบโยนที่สามารถทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและหยุดร้องได้ ซึ่งอันนี้เป็นเทคนิคและประสบการณ์ แต่ก็สามารถฝึกกันได้ครับ

3. ถ้าอุ้มปลอบแล้วลูกน้อยก็ยังไม่หยุดร้อง อนุญาตให้เด็กดูดน้ำจากขวดนมได้ แต่เป็นน้ำนะครับ ไม่ใช่นม
การดูดน้ำจากขวดทำให้เด็กทารกหยุดร้องได้จากรีเฟล็กซ์ที่บอกไปแล้ว การที่เด็กกินน้ำเดี๋ยวก็ปัสสาวะออกไป ไม่เป็นไร แต่นมเป็นอาหารต้องย่อย อาจเกิดปัญหาได้ถ้าเราให้บ่อยๆ เช่นย่อยไม่ทัน ทำให้อาเจียนหรือแหวะนมออกมา การให้น้ำแทน จะทำให้เรายืดระยะเวลากินนมของเด็กทารกออกไปได้

4. เมื่อทำถึงขั้นนี้แล้วเด็กทารกส่วนใหญ่มักหยุดร้อง แต่ถ้ายังไม่หยุดร้องจริงๆ อาจใช้จุกนมปลอมชั่วคราวให้เด็กดูด เด็กก็จะหยุดร้อง
โดยปกติแล้วไม่แนะนำให้ใช้จุกนมปลอมเลยถ้าไม่จำเป็นเพราะจะทำให้เด็กดูดจนติดเป็นนิสัย และอาจมีผลต่อการเรียงตัวของฟันเมื่อเด็กมีฟันขึ้นแล้ว แต่กรณีนี้เป็นการใช้ชั่วคราวกับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 - 4 เดือนเท่านั้นครับ ไม่ได้ให้ใช้ไปตลอด


ร้องโคลิคเป็นอย่างไร
นอกจากการร้องแบบทั่วไปแล้ว เด็กบางคนอาจร้องแบบโคลิค (Infantile Colic) หรือที่ชาวบ้านรู้จัก และเรียกกันว่าร้อง 3 เดือน ที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะการร้องแบบนี้มักเกิดกับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 3 เดือนครับ เป็นการร้องดัง ร้องนาน ไม่ยอมหยุด และไม่มีเหตุผล ร้องจนพ่อแม่เครียด มักร้องตรงช่วงเวลาเช่นบางคนร้องช่วงเย็นถึงหัวค่ำ ก็จะร้องช่วงนี้ซ้ำๆเกือบทุกวัน เมื่อเด็กอายุถึง 3 เดือนแล้ว อาการนี้มักหายไปเอง

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบครับ ส่วนใหญ่มักหาสาเหตุไม่ได้ แต่มีเด็กที่ร้องโคลิคส่วนหนึ่งอาจจะมีสาเหตุจากการแพ้โปรตีนจากนมวัว (Cow milk protein allergy) ย้ำว่าส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ และเป็นส่วนน้อย ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าสงสัย แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์จะดีกว่าครับ

การปฏิบัติต่อการร้องของลูกอย่างถูกต้องนี้จะมีผลดีต่อการเลี้ยงดูครับ นอกจากจะทำให้เด็กหลายคนเลี้ยงง่ายขึ้น ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์แล้วยังจะทำให้ปัญหาการนอนน้อยลงด้วย เด็กจะได้ไม่ตื่นร้องกินนมในเวลากลางคืนไปจนโต ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้พูดคุยกันต่อไปในครั้งหน้าครับ


ขอขอบคุณ นิตยสารแม่และเด็ก




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2550 14:43:55 น.
Counter : 1532 Pageviews.  

Body & Mind ที่เปลี่ยนไป (หลังคลอด)



ยินดีกับคุณแม่คนใหม่ (หรือคุณแม่บางท่านอาจจะใหม่เป้นครั้งที่สองหรือสาม) ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่คงกำลังชื่นชมทารกตัวน้อยที่น่ารักกันอย่างมีความสุข สมกับความอดทนที่รอคอยมานานตั้ง 9 เดือน แต่ในช่วงนี้คุณแม่ก็ต้องหันมาสนใจตัวเองด้วยนะครับ เพราะคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างมากอีกครั้ง…เปลี่ยนอย่างไรไปดูกันครับ

ร่างกายแม่…หลังคลอด


การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่เกิดขึ้นจาก 2 ส่วนด้วยกันนะครับ คือ สรีระร่างกาย ฮอร์โมนและจิตใจ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่และปฏิบัติอย่างถูกต้องอาจจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้


แต่ก่อนอื่นเราต้องทราบความหมายของระยะหลังก่อนนี้เสียก่อนว่า ระยะหลังคลอดเริ่มนับตั้งแต่จุดที่ทารกและรกคลอดจนกระทั่งอวัยวะสืบพันธุ์และฮอร์โมนต่างๆ ของการตั้งครรภ์กลับคืนเข้าสู่ภาวะเหมือนตอนไม่ตั้งครรภ์ โดยจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ แต่การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกลับเข้าสู่ปกติใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งอวัยวะที่เปลี่ยนแปลงและมักจะพบปัญหาบ่อยก็มีดังนี้ครับ

Mom's Body


มดลูก จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “มดลูกเข้าอู่” โดยวันแรกหลังการคลอด มดลูกมดลูกจะหดรัดตัวมาอยู่ที่ระดับสะดือ มีน้ำหนักประมาณ 1,000 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม หลังจากนั้นจะลดขนาดลงวันละประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในสองสัปดาห์จะลดขนาดลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกราน ทำให้เราคลำจากทางหน้าท้องไม่พบ


หลังคลอด 6 สัปดาห์ มดลูกจะกลับมามีน้ำหนักเท่ากับระยะก่อนตั้งครรภ์ คือประมาณ 50 กรัมเท่านั้น ลดลงถึง 20 เท่า! การหดรัดตัวของมดลูกนี้มีกลไกที่สำคัญมากในการหยุดเลือดหลังการคลอด ดังนั้น ถ้ามีการหดรัดตัวที่ไม่ดีอาจเกิดการตกเลือดหลังคลอดขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันหากมดลูกหดรัดอย่างรุนแรง ช่วง 2-3 วันแรกจะทำให้เกิดอาการปวดมดลูกคล้ายอาการปวดประจำเดือนได้


คุณแม่ควรสังเกตระดับมดลูกในช่วงสัปดาห์แรกของการคลอดว่ามดลูกลดขนาดลงตามปกติหรือไม่ ถ้าลดขนาดช้ากว่าปกติร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก จำเป็นต้องรีบกลับไปพบแพทย์


ตกไข่และประจำเดือน การกลับมาตกไข่และมีประจำเดือนจะแตกต่างไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นกับการให้นมลูกด้วย ถ้าคุณแม่ไม่ได้ให้นมลูกด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะกลับมามีประจำเดือนในช่วง 7-9 สัปดาห์หลังคลอดแต่ถ้าให้นมลูกด้วย ประจำเดือนก็จะกลับมาช้า ยิ่งให้ไปนานๆ ก็จะช้าไปกว่า 7-9 เดือนหลังคลอด


คุมกำเนิดหลังคลอด คุณแม่หลังคลอดทุกคนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อน้ำคาวปลาหมดและไม่เจ็บแผลฝีเย็บครับ แต่ควรคุมกำเนิดทุกครั้งเพราะไข่อาจจะตกและเกิดการตั้งครรภ์ได้ทั้งๆ ที่ยังไม่มีประจำเดือนวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมในระยะนี้คือการใช้ถุงยางคุมกำเนิด


น้ำคาวปลา เลือดและน้ำที่ไหลออกจากช่องคลอดใหม่ๆ เราเรียกว่า “น้ำคาวปลา” ครับ เป็นส่วนผสมของเลือดและเซลล์ที่หลุดลอกจากผนังโพรงมดลูก น้ำคาวปลาจะเป็นสีเลือดสด ในช่วงหลังคลอดวันแรกๆ และจะจางลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นมุกขาวใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา คุณแม่บางคนอาจมีน้ำคาวปลาได้นานถึง 6-8 สัปดาห์สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดน้ำคาวปลาจะหมดเร็วกว่าคุณแม่ที่คลอดเอง

สีน้ำคาวปลากลับแดงเข้มขึ้นจากเดิมที่สีค่อยๆ จางลง

มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ปนออกมา

มีกลิ่นเหม็นเน่าหรือเหม็นคาวมาก ถ้าพบอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

สำหรับการอยู่ไฟหรืองดการแสลง หรือการรับประทานการขับน้ำคาวปลา เพื่อเร่งน้ำคาวปลาแห้งเร้วขึ้นยังไม่พบว่ามีประโยชน์ชัดเจนแต่อย่างใดครับ


สังเกตน้ำคาวปลาอาการที่สังเกตของน้ำคาวปลา

หลังคลอด สี ส่วนประกอบ
1-3 วัน แดงเข้ม เลือด/เมือก/เยื่อบุโพรงมดลูก/ไขและขี้เทาของทารก
4-9 วัน ชมพู-น้ำตาล เม็ดเลือดขาว/เยื่อบุโพรงมดลูก/เม็ดเลือดแดง/แบคทีเรีย
10-14 วัน เหลืองใสขาว เม็ดเลือดขาว/เมือก/แบคทีเรีย



ช่องคลอด หลังจากขยายตัวมากในช่วงคลอด เมื่อคลอดแล้วช่องคลอดจะหดเล็กลง รอยย่นภายในช่องคลอดก็จะน้อยลงด้วยเยื่อพรหมจรรย์ในช่องคลอดก็จะน้อยลงด้วยเยื่อพรหมจรรย์จะเห็นเป็นเพียงติ่งเนื้อเล็กๆ


กระชับช่องคลอด หากต้องการให้ช่องคลอดกระชับ คุณแม่ควรฝึกขมิบช่องคลอดและทวารหนัก ขมิบแล้วนับ 1-5 คลายออก นับ 1-5 เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อน วันแรกอาจจะขมิบเช้า-เย็น รอบละ 5 ครั้งแล้วค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นจนถึง 10 ครั้งต่อวัน เมื่อทำได้สักระยะก็ให้เพิ่มจำนวนขึ้นไปเป็น 1-10 ครั้ง


การคลอดลูกตามธรรมชาติคุณหมอมักจะตัดฝีเย็บเพื่อช่วยคลอดและสะดวกต่อการเย็นซ่อมแซม ดังนั้น หลังคลอดคุณแม่จะปวดบริเวณแผลฝีเย็บพอควร ซึ่งแผลจะเริ่มติดประสานและหายในสัปดาห์แรกหลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์แผลก็จะหายสนิทส่วนใหญ่คุณหมอจะเย็บโดยใช้ไหมละลายซึ่งจะละลายสลายไปเองได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ คุณแม่ไม่ต้องกังวลอาจจะพบเศษไหมละลายในกางเกงชั้นใน


ดูแลฝีเย็บ

การทำความสะอาดแผลควรล้างแผลฝีเย็บด้วยนำอุ่นสะอาดแล้วซับให้แห้ง


หลังอาบน้ำและทำธุระส่วนตัวให้ใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าช่องคลอดไปด้านหลังทวารหนักห้ามใช้น้ำฉีดล้างชำระโดยเด็กขาด


หากคุณแม่ปวดแผล และแผลบวมแดงกดเจ็บ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดแผลผ่าตัดคลอดหน้าท้องจะติดสนิทภายนอก 7-10 วัน และอาการเจ็บแผลจะหายภายใน 14-21 วัน ควรหลีกเลี่ยงแผลผ่าตัดไม่ให้ถูกน้ำจนกว่าคุณหมอจะอนุญาต


เต้านม ร่างกายคุณแม่มีการเตรียมสร้างน้ำนมและเก็บกักไว้ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ เมื่อคลอดและถูกกระตุ้นที่หัวนมก็จะทำให้เกิดการหลั่งน้ำนมขึ้น ถ้าคุณแม่ให้นมลูกเต้านมจะคัดตึงใน 48-72 ชั่วโมงหลังคลอดอาการคัดตึงเต้านมในแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ส่วนมากจะรู้สึกหนักเต้านม เต้านมขยายใหญ่รู้สึกอุ่นและตึงเมื่อสัมผัส แต่บางคนอาจตึงจนเจ็บหรือมีไข้ต่ำๆ ได้


ดูแลเต้านม

1. การให้นมลูกหรือบีบน้ำนมออกบ้างจะช่วยลดอาการเจ็บคัดเต้านมลงได้มาก


2. ควรล้างทำความสะอาดเต้านมและหัวนมด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ เช็ดให้แห้งทั้งก่อนและหลังให้นมลูก


3. ถ้าคุณแม่มีไข้สูง หนาวสั่น ปอดมากและกดและกดเจ็บที่เต้านมเป็นจุดเฉพาะ เป็นสัญญาณเตือนว่ามีการติดเชื้อที่เต้านม ควรงดให้นมลูกและไปพบคุณหมอ


4. หากคุณแม่ไม่ได้ให้นมลูก ควรใส่เสื้อชั้นในหรือใช้ผ้าสะอาดรัดบริเวณหน้าอกเพื่อลดการคัดเต้านม และหลีกเลี่ยงการกระตุ้นหัวนม ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการปวดอาจใช้ยาแก้ปวดแบบอ่อน ห้ามใช้น้ำร้อนประคบและหลีกเลี่ยงการโดนน้ำอุ่นที่เต้านม



ผนังหน้าท้อง จะยังหย่อนอยู่ครับ เพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยืดขยายออกเมื่อช่วงกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยืดขยายออกเมื่อช่วงท้องจะค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์


ออกกำลังหน้าท้อง หมั่นออกกำลังกายเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อดึงตัวดีขึ้น ส่วนรอยย่นที่หน้าท้องก็อาจไม่ได้หายไปไหน และไม่เป็นอันตราย


น้ำหนัก หลังคลอดลูกแล้วน้ำหนักคุณแม่จะลดลงทันที 5-6 กก. จากนั้นจะลดลงอีก 2-3 กก. ในสัปดาห์แรกเนื่องจากการขับปัสสาวะและเหงื่อ ช่วงเดือนแรกน้ำหนักจะลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นน้ำหนักจะค่อยๆ ลดเฉลี่ยเดือนละ 1 กก. ส่วนน้ำหนักตัวที่เพิ่มเกินพอดีระหว่างตั้งครรภ์จะกลายเป็นส่วนเกินหลังคลอดได้ง่าย อย่างไรก็ตามประมาณ 80% ของคุณแม่มักจะกลับมามีน้ำหนักเท่าเดิมเมื่อ 18-24 เดือนหลังคลอด


ผิวหนัง/เส้นผม เปลี่ยนแปลงเพราะระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้บริเวณลานหัวนม ต้นขาด้านใน เส้นกลางท้อง และฝ้า ซึ่งเคยมีสีเข้มในช่วงตั้งครรภ์จางลง แต่รอยแตกที่หน้าท้องกลับจะสามารถเห็นได้ชัดกว่าช่วงตั้งครรภ์ มีสีอกแดงๆ แต่สีนี้จะจางลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นแนวสีเงินขาวและปรากฏร่องรอยตลอดไป


ดูแลผิวหลังคลอด

1. คุณแม่ควรป้องกันรอยแตกตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ เช่น ใช้มอยส์เจอไรเซอร์เข้มข้นทาหน้าท้อง ส่วนสิวบริเวณหน้าและลำตัวช่วงตั้งครรภ์มักจะหายเป็นปกติใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอดไม่ต้องกังวลครับ


2. หลังคลอดช่วง 6 เดือนแรก ผมอาจจะร่วงเป็นหย่อมๆ มักจะร่วงเวลาสระผมหรือหวีผม เนื่องจากฮอร์โมนที่ลดลง อาการนี้จะเป็นเพียงชั่วคราวหลังจากนั้นจะมีผมงอกขึ้นมาทดแทนครับ


Mom' Mind


อารมณ์เศร้า คุณแม่หลังคลอดจำนวนมากเกิดอาการหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ร้องไห้ได้แบบไม่มีสาเหตุ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์เศร้านี้เกิดจากการอดนอนกังวลในการเลี้ยงบุตร อาการไม่สบายตัวหลังคลอด กังวลถึงรูปร่างที่เปลี่ยนไป รวมถึงกลัวสามีจะไม่สนใจและรักเหมือนเดิม เรียกอาการนี้ Baby blue หรือซึมเศร้าหลังคลอด อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นมากหรือมีอาการนานกว่า 10 วัน ควรปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วนครับการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดยังเกิดในอีกหลายระบบ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ หลอดเลือดและหลอดหัวใจ โดยจะมีอาการแตกต่างไปในแต่ละบุคคล บางครั้งอาการอาจไม่ชัดเจนมากนัก


โดยสรุประยะหลังคลอดจึงเป็นระยะที่มีความสำคัญอย่างมากที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะคุณแม่หลังคลอดจำต้องมีการปรับตัวปรับใจ ปรับร่างกายพร้อมที่จะรับภาระใหม่อย่างรวดเร็ว ผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยได้มาก คือ สามี ซึ่งควรต้องคอยดูแลเอาใจใส่ รวมทั้งให้กำลังใจแก่คุณแม่หลังคลอด คอยช่วยเหลือในการเลี้ยงบุตรตลอดจนช่วยกันประกอบกิจวัตรประจำวันเพื่อที่จะให้คุณแม่หลังคลอดคลายความเครียดและลดความกังวลในการปรับตัว เพื่อจะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ต่อไปครับ

หากเกิดอาการเหล่านี้ คุณแม่ต้องรีบพบคุณหมอโดยด่วน

ไข้สูง ไข้หนาวสั่น

ปวดท้องน้อยหรือบริเวณช่องคลอด

แผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดคลอดปอดบวมมากขึ้น มีหนองหรือเลือดไหลออกมา

น้ำคาวปลากลับแดงเข้มขึ้น มีเลือดปนโดยสังเกตจากจำนวนผ้าอนามัยที่ต้องใช้มากขึ้น

เต้านมบวม แดง ร้อน กดเจ็บเฉพาะที่

หัวนมแตก มีเลือดไหล

ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด

ขาปวดบวมขึ้น

ซึมเศร้ามากกว่าหนึ่งสัปดาห์

ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2550 14:36:53 น.
Counter : 884 Pageviews.  

เต้านมดูดี ยามท้อง ไม่ยาก



ช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายส่วนที่เปลี่ยนแปลงมากพอควรและอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ก็คือ เต้านมนั่นเองค่ะ ทั้งขยายตัว คัด ตึง เจ็บ บางทีหัวนมแห้งแตก เพราะฉะนั้น ควรดูแลกันหน่อยในช่วงนี้ เพื่อให้เต้านมคงความสวยงามและไม่ก่อปัญหาต่างๆ ที่มักจะเกิดเสมอในช่วงตั้งครรภ์ค่ะ

ยกทรงต้องรับกับทรง

คุณแม่อย่าดันทุรังสวมยกทรงตัวเดิมอยู่เลยค่ะ เมื่อเต้านมมีขนาดขยายใหญ่ขึ้น ควรหาซื้อยกทรงที่เหมาะกับขนาดของเต้านม เดี๋ยวนี้เขามียกทรงสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยนะคะ อาจจะไปลองหามาใส่สักตัวก็ได้ หรือถ้าไม่อยากซื้อเฉพาะเจาะจงขนาดนั้นก็แค่เปลี่ยนขนาดยกทรงให้ใหญ่ขึ้นรับกับทรงที่เปลี่ยนไปก็ได้ค่ะ เลือกยกทรงที่เนื้อนิ่ม ไม่ระคายเคือง เป็นผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี


บำรุงผิวเต้านมให้ชุ่มชื้น

ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปในช่วงตั้งครรภ์จะทำให้หัวนมสีคล้ำขึ้น ผิวเต้านมตึง บางคนอาจจะมีอาการหัวนมแห้งแตก คุณแม่จึงไม่ควรถูสบู่บริเวณหัวนมนะคะ เพราะจะยิ่งทำให้ระคายเคืองเพียงใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดผิวที่ลอกแตกออกเบาๆ ปล่อยให้แห้งแล้วหมั่นทาครีมบำรุงรอบๆ เต้านมและหัวนมเพื่อให้ผิวชุ่มชื้


บริหารเต้านมด้วยสองมือ

ในช่วงไตรมาสสุดท้าย คุณแม่ควรจะเตรียมเต้านมให้พร้อมสำหรับการให้นมบุตรโดยการ

คลึงหัวนม ใช้นิ้วคลึงเบาๆ บริเวณหัวนมและแถบสีคล้ำรอบๆ หัวนม เป็นการป้องกันหัวนมบอด เพื่อให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาต้องให้นม


นวดเต้านม ใช้มือทั้งสองข้างนวดเต้านมเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดี และกระตุ้นการขับน้ำนมเหลือง


บีบน้ำนมน้ำเหลือง เดือนสุดท้ายก่อนคลอด คุณแม่ควรจะบีบน้ำนมออกครั้งละ 2-3 หยดทุกวัน เพื่อให้ท่อน้ำนมปิด ไม่เกิดการอุดตัน ช่วยลดการคั่งของน้ำนมหรือนมคัดในสัปดาห์แรกหลังคลอดด้วย โดยใช้มือข้างที่ไม่ถนัดประคองเต้านม แล้วใช้มือข้างที่ถนัดจับบริเวณลานหัวนม ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ค่อยๆ บีบบริเวณลานนมเข้าหากัน แต่อย่าบีบถึงหัวนม ค่อยๆ หมุนนิ้วมือและบีบไปรอบๆ ให้ทั่วลานนม



กลัวคล้อย & ยาน...บริหารแต่เนิ่นๆ

ว่างๆ ก็ลองบริหารท่าพวกนี้ เพื่อยกกระชับกล้ามเนื้อหน้าอกให้แข็งแรงอยู่เสมอ


ท่าที่ 1 ยืนหันหน้าเข้าหาผนังห่างประมาณ 1 ช่วงแขน โดยให้ฝ่ามือวางทาบกับผนังพอดี หายใจเข้าพร้อมกับงอศอก ดันลำตัวช่วงบนเข้าหาผนัง ให้ใบหน้าเกือบแนบกับผนัง แล้วจึงค่อยๆ ยืดแขนออกให้ลำตัวห่างออกจากผนัง พร้อมกับหายใจออก ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง


ท่าที่ 2 นั่งขัดสมาธิ หลังตรง กำมือซ้ายงอศอกให้มืออยู่ในระดับหน้าอก มือขวาแบออก งอข้อศอกแล้วเอาฝ่ามือขวามาประสานกับมือซ้ายที่กำอยู่ ค่อยๆ แยกมือทั้งสองเหยียดออกไปด้านข้างลำตัวช้าๆ ให้ตึง แล้วค่อยๆ เลื่อนมือกลับมาประสานกันที่หน้าอกเหมือนเดิม ดันมือเข้าหากันให้แน่นเล็กน้อย และเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเพียงนิด จนรู้สึกว่าหน้าอกตั้งชันขึ้น ท่านี้จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อหน้าอกให้แข็งแรงไม่หย่อนคล้อยยานค่ะ



อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ก่อนนะคะว่าสามารถออกกำลังกายแบบนี้ได้หรือไม่

ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2550 14:32:26 น.
Counter : 7028 Pageviews.  

รู้จักลูกน้อยวัยอุแว้



ระยะแรกของทารกแรกเกิด ยังเป็นระยะที่มีอัตราการเกิดโรค และอัตราการเสียชีวิตสูง เพราะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การต่อสู้กับเชื้อโรคยังไม่ดี ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย การดูแลและป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ทารกสุขภาพดี ก่อนอื่น เรามารู้จักกับคำว่า “ทารก” กันก่อนค่ะ
ทารกแรกเกิด หมายถึง ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 28 วัน เป็นระยะที่มีอัตราตายสูงสุดเมื่อเทียบกับระยะอื่นๆ ของชีวิต แบ่งรายละเอียดดังนี้

ทารกครบกำหนด หมายถึง ทารกที่เกิดภายหลังจากมารดาตั้งครรภ์ตั้งแต่ 37-42 สัปดาห์ เป็นระยะที่ทารกมีความสมบูรณ์สูงสุดน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3,200 กรัม

ทารกเกิดก่อนกำหนด หมายถึง ทารกที่เกิดจากภายหลังมารดาตั้งครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ทารกพวกนี้มักมีน้ำหนักน้อย อัตราตายสูงกว่าทารกครบกำหนด

ทารกแรกเกิดกำหนด หมายถึง ทารกที่มีอายุในครรภ์เกิน 42 สัปดาห์

ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย หมายถึง ทารกที่มีน้ำหนักเมื่อแรกคลอดต่ำกว่า 2,500 กรัม (2.5 กิโลกรัม) อาจเป็นทารกที่ครบกำหนดหรือก่อนกำหนดก็ได้ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์
อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดเกี่ยวข้องกับน้ำหนักแรกเกิดโดยตรง กล่าวคือ น้ำหนักยิ่งน้อย อัตราเสียชีวิตยิ่งสูง ตัวอย่างเช่นทารกมีน้ำหนักปกติ มีอัตราการเสียชีวิตไม่ถึงร้อยละหนึ่ง น้ำหนักแรกเกิดระหว่าง 1.5-2 กิโลกรัม มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 15 และถ้าน้ำหนักระหว่าง 1-1.5 กิโลกรัม อัตราการเสียชีวิตจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 50 เป็นต้น

ทารกแรกเกิดเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จึงต้องการความรัก ความอบอุ่นและความเอาใจใส่เช่นเดียวกับทุกคน การเจริญเติบโตจะเป็นไปตามธรรมชาติ ผู้เลี้ยงดูจึงเป็นผู้ช่วยให้ความช่วยเหลือ และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น


ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด
น้ำหนัก โดยปกติจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3,200 กรัม (สำหรับประเทศไทย) ตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลักษณะศรีษะค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับลำตัว สามารถที่จะเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน ถ้าจับให้นอนคว่ำ ก็สามารถที่จะหันศรีษะไปด้านใดด้านหนึ่งได้ โดยไม่ทำให้หายใจลำบาก ถ้ามีเสียงดังหรือได้รับความกระเทือน ทารกจะรู้สึกสะดุ้งตกใจพร้อมๆ กันก็จะกางแขนออก ต่อจากนั้นจึงงอข้อศอกให้ข้อมือเข้าหากันแล้วจึงร้องมีเสียงดัง ปฏิกิริยาเช่นนี้ถือว่าเป็นปกติธรรมชาติ ในทางตรงกันข้าม ถ้าทารกนอนเฉยหรือซึม แสดงว่าอาจมีความผิดปกติของสมอง

ศรีษะ โดยปกติมักดูใหญ่เส้นรอบศรีษะ 35 เซนติเมตร มีผมปกคลุมเด็กในวันแรกๆ อาจมีลักษณะค่อนข้างยาว ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากการคลอดตรงกลางศรีษะด้านหน้า เหนือหน้าผากขึ้นไปจะมีลักษณะเป็นช่องนุ่มๆ สี่เหลี่ยมเรียกว่า “ขม่อม” จึงต้องคอยระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นบริเวณนี้เนื่องจากมีมันสมองอยู่ภายในและไม่มีกระดูกแข็งหุ้ม ขม่อมนี้จะปิดเมื่อทารกอายุประมาณ 1 ปี

อุจจาระ ทารกปกติจะถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อุจจาระนี้มีสีเทาปนดำ เรียกว่า “ขี้เทา” (meconium) ไม่มีกลิ่น ต่อมาเมื่อทารกได้รับประทานน้ำนมแล้วขี้เทาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเทาเข้ม เขียว เขียวเหลือง และเหลืองในที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน โดยปกติจะถ่ายอุจจาระเกือบทุกครั้งที่รับประทานนม จึงอาจถ่ายวันละ 3-6 ครั้งก็ได้

สะดือ ในวันแรกๆ สายสะดือจะมีสีเขียว ต่อมาก็ค่อยๆ แห้งลง เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและดำในที่สุด และจะหลุดไปราววันที่ 7-10 หลังคลอด แต่อาจจะหลุดก่อนหรือหลังกว่านี้ก็ได้ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ความสะอาดเป็นความสำคัญ เพราะสะดือเด็กจะเป็นสถานที่ที่เชื้อโรคจะเข้าไปได้ง่าย คนส่วนมากมักจะกลัวว่าทารกจะเจ็บ ไม่กล้าทำความสะอาดอย่างจริงจังโดยความจริงแล้วทารกไม่รู้สึกเจ็บ เพราะเส้นประสาทบริเวณนั้นถูกตัดสายสะดือ จึงค่อยๆ แห้ง และหลุดตายไป จึงต้องรักษาความสะอาดและให้แห้งอยู่เสมอ โดยใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดให้ทั่วทุกครั้งที่อาบน้ำหรือสกปรกจากอย่างอื่น วันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหลุด

การหายใจ เด็กทารกปกติหายใจโดยใช้ท้องเป็นหลัก คือการเคลื่อนไหวของท้องมากกว่าทรวงอก หายใจประมาณนาทีละ 30-40 ครั้ง ซึ่งมากกว่าเด็กโตๆ ประมาณเท่าตัว ถ้าไม่มีอาการไอหอบหรือตัวเขียวถือว่าปกติ

เต้านม ทารกปกติไม่ว่าชายหรือหญิง ถ้าครบกำหนดมักจะมีเต้านมที่สามารถคลำได้ในบางคนอาจมีน้ำนม 2-3 หยดไหลออกมาก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่ควรไปบีบเล่น เพราะอาจมีอันตรายและเกิดการอักเสบขึ้นได้ ถ้าทิ้งไว้เฉยๆ ก็จะเล็กลงเป็นปกติได้เอง

การมีโลหิตไหลออกทางช่องคลอด อาจพบได้ในทารกหญิงที่ครบกำหนดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดของฮอร์โมนเมื่ออายุ 3-4 วัน อาจมีโลหิตออกได้เล็กน้อยจะเป็นอยู่ครั้งเดียวและเป็นปกติไม่มีอันตรายหรือต้องรักษาอย่างใด

ตา โดยปกติไม่ต้องการยาหรือการรักษาพิเศษ อาจปล่อยไว้เฉยๆ หรือเพียงใช้สำลีชุบน้ำสุกเช็ดภายนอก ไม่ควรล้างตาถ้าไม่จำเป็น ธรรมชาติสร้างน้ำตาไว้ล้างเรียบร้อยแล้วมนุษย์ทุกคนไม่ว่าอายุเท่าใดจึงไม่จำเป็นต้องล้างตา ยกเว้นในการรักษาโรคตาบางชนิด

หู ไม่ต้องการการรักษาพิเศษอย่างใด อาจใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดผง หรือขี้หูออกได้เฉพาะส่วนที่มองเห็น ที่อยู่ภายในไม่จำเป็นต้องล้างแต่อย่างใด

จมูก อาจใช้สำลีเช็ดได้เช่นเดียวกัน

ปาก ปากทารกในระยะแรกนี้ ไม่ต้องการการทำความสะอาด การใช้ยาสีม่วง (gentian violet) ทาจึงไม่มีความจำเป็นในทารกปกติ

อวัยวะเพศ ไม่ว่าชายหรือหญิง หลังจากาบน้ำ แล้วเพียงแต่เช็ดให้แห้ง ระวังไม่ให้สกปรกโดยเฉพาะภายหลังจากถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ใช้สำลีชุบน้ำสุกเช็ดออกก็เป็นการเพียงพอ การขริบอวัยวะเพศในเด็กชาย ตามปกติไม่มีความจำเป็น นอกจากเป็นธรรมเนียมในบางเชื้อชาติและบางศาสนา ทารกปกติทั่วไปมักจะร้องเวลาปวดปัสสาวะ เมื่อถ่ายออกมาแล้วจะเงียบ ถือเป็นภาวะปกติ ความเชื่อที่ว่าเมื่อขริบแล้วจะทำให้พบโรคมะเร็งน้อยลง ก็ยังไม่มีผู้พิสูจน์ชัดเจน คำอ้างที่ว่าทำความสะอาดง่ายขึ้นก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะทารกและเด็กก็ไม่ได้มีความสกปรกที่จะต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษแต่อย่างใด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนมาก แม้ในประเทศที่ชนเผ่านิยมขริบปลายอวัยวะเพศ ก็ยังแนะนำว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำ

เล็บ ควรตัดให้สั้นทุก 3-4 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ขีดข่วนลำตัวหรือหน้า อาจป้องกันด้วยการใส่ถุงคลุมมือทั้ง 2 ข้างก็ได้

ภาวะปกติทารกแรกเกิด

ภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิดได้แก่สิ่ง ต่อไปนี้
การสะดุ้งหรือผวา (Moro reflex)
การสะดุ้งหรือการผวาเวลามีเสียงดัง หรือเวลาสัมผัสทารกเป็นสิ่งที่ทารกทุกคนต้องมี เพราะแสดงถึงระบบประสาทที่ปกติทารกตอบสนองโดยการยกแขนออกแล้วโอบแขนเข้าหากัน พบทั้งในภาวะตื่นหรือหลับสนิท พบได้จนถึงอายุ 6 เดือน

การกระตุก (TwitchingX)
ขณะทารกหลับจะมีกระตุเล็กน้อยที่แขนหรือขา เวลาตื่นไม่มีอาการกระตุก ผู้ใหญ่บางครั้งก็มีการกระตุกก่อนรู้สึกตัวตื่นบางครั้งพ่อแม่คิดว่า ลูกชัก หากบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีความรู้เรื่องนี้ทารกมักถูกรับไว้ในโรงพยาบาล

การบิดตัว
ทารกครบกำหนด มีการเคลื่อนไหว เวลาตื่นนอนคล้ายผู้ใหญ่บิดขี้เกียจทารกยกแขนเหนือศรีษะ งอ ข้อสะโพก และข้อเข่าและบิดลำตัว ลักษณะเคลื่อนไหวแบบนี้ พบในทารกที่ปกติ และอาจพบมากในทางบางคน อาจบิดตัวจนหน้าแดง

การสะอึก
การสะอึก อาจพบภายหลังดูดนม เนื่องจากการทำงาน ของกะบังลมยังไม่ปกติ แยกการที่ทารกกลืนลมทำให้จุก โดยจับทารกนั่งหรืออุ้มพาดบ่าสัก 5-10 นาที ภายหลังทารกดูดนมจนอิ่ม แล้วยังมีอาการสะอึกอีก ถือว่าเกิดจากกะบังลมทำงานไม่ปกติซึ่งไม่ต้องการรักษาใดๆ

การแหวะนม
หูรูดกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิด ยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้รูดปิดไม่สนิท มีผลให้ทารกแหวะนมเล็กๆ น้อยๆ หลังมื้อนม และอาจออกมาทางจมูกและปากน้ำนมที่ออกมา อาจมีลักษณะเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้ เนื่องจากถูกกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร

ซึ่งเป็นขั้นตอนของการย่อยอาหาร พ่อแม่เข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่ย่อย และนมที่ให้ลูกไม่ดี

การแก้ไขการแหวะนม คือ การไล่ลม ร่วมกับการจัดให้ทารกนอนศรีษะสูง และตะแคงขวาหลังดูดนมประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านอนดังกล่าวหูรูดของกระเพาะอาหารจะอยู่สูงทำให้น้ำนมไหลย้อนไม่ได้

ผู้ดูแลบางคนปล่อยให้ทารกนอนราบ ขณะดูดนมแล้วใช้ผ้าหนุนขวดนม การปฏิบัติเช่นนั้นทำให้ทารกจะกลืนน้ำนม และลมเข้าไปทารกจะเรอ และแหวะน้ำนมออกมาด้วย หากการแหวะนมเกิดขณะที่ทารกนอนราบ ทารกอาจสูดสำลักนมเข้าปอดได้

การป้อนนมที่ถูกต้องจะต้องอุ้มทารกให้อยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนเสมอ และถือขวดนมให้น้ำนมท่วมจุก นมตลอดเวลา

ภายหลังดูดนมหมดแล้วต้องจับทารกนั่ง หรืออุ้มพาดบ่าเพื่อไล่ลม

ทารกไม่ดูดน้ำ
น้ำนมมารดามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 88%

นมผงก่อนที่จะป้อนทารกก็ต้องผสมน้ำในอัตราส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้มีส่วนประกอบใกล้เคียงกับนมมารดา ทารกจึงได้น้ำอย่างเพียงพอจากน้ำนม และไม่จำเป็นต้องดูดน้ำเปล่าเพิ่มเติม เพื่อแก้หิวน้ำ โดยเฉพาะทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ การดูดน้ำ หรือการป้อนน้ำเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ว่าทารกควรได้รับนมแม้อย่างเดียว (exclusive breastfeeding) 4-6 เดือน หากพ่อแม่ไม่เข้าใจจุดนี้ จะวิตกกังวลที่ทารกไม่ดูดน้ำ เวลาให้น้ำเปล่า และแก้ไขโดยผสมกลูโคส หรือน้ำผึ้ง เพื่อให้ทารกดูดน้ำ อันตรายของการผสมกลูโคส หรือน้ำผึ้ง คืออาจทำให้ทารกดูดนมน้อยลง เป็นเหตุให้น้ำหนักตัวขึ้นช้ากว่าปกติและเกิดท้องร่วง เพราะน้ำที่เจือกลูโคสหรือน้ำผึ้งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน

การถ่ายอุจจาระบ่อย
ทารกแรกเกิด ที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวอาจถ่ายอุจจาระกะปริดกะปรอย ขณะดูดนมแม่บิดตัว หรือผายลม จะมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วยทำให้เข้าใจผิดว่า ทารกท้องเดิน เพราะอาจนับการถ่ายอุจจาระได้ถึง 10-20 ครั้งต่อวัน อุจจาระมีสีเหลืองเข้มคล้ายสีทองคำใหม่ๆ และมีกลิ่นเปรี้ยว

สาเหตุ เกิดจากนมแม่มีนมเหลือง (colostrum) เจือปน ซึ่งช่วยระบายท้อง

นมน้ำเหลือง จะหมดไปเหลือแต่น้ำนมแม่แท้เมื่อเข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ 4 หลังคลอด

ร้องเวลาถ่ายปัสสาวะ
เมื่ออายุใกล้หนึ่งเดือน ทารกบางรายเริ่มรับความรู้สึกปวดปัสสาวะ ทำให้ทารกร้อง เหมือนมีการเจ็บปวดก่อนถ่ายปัสสาวะ ภาวะนี้เป็นเฉพาะเวลาที่ทากถ่ายปัสสาวะขณะตื่น หากถ่ายปัสสาวะขณะนอนหลับทารกจะไม่ร้อง ทารกจะไม่มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นหยดๆ หรือเบ่งอาการนี้จะหายเองภายใน 1 เดือน

ตัวเหลือง
ทารกที่ได้รับนมแม่มีโอกาสเกิดตัวเหลืองได้ 2 ลักษณะ

1. breastfeeding Jaundice พบใน 2-4 วันหลังคลอด เกิดจากการได้รับนมแม่ไม่พอเพราะจำกัดจำนวนครั้งของการดูด ร่วมกับการให้ดูดน้ำเปล่า หรือน้ำกลูโคสการป้องกันภาวะนี้คือให้ทารกอยู่กับมารดาตลอดเวลา ให้ดูดนมแม่บ่อย (มากกว่า 8 มื้อ/วัน) งดน้ำเปล่าหรือน้ำกลูโคส

2. Breastmilk jaundice ซึ่งเริ่มปรากฏปลายสัปดาห์แรก และในสัปดาห์ที่ 2-3 หลังคลอด เมื่อให้นมแม่ต่อไปจะค่อยๆ เหลืองลดลง จนปกติ เมื่ออายุ 3-12 สัปดาห์กลไกการเกิด breastmilk jaundice ยังไม่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ตาม ทารกตัวเหลืองทุกราย ควรปรึกษากุมารแพทย์และนำมาติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

ผิวหนังลอก
ขบวนการสร้าง Keratin ของผิวหนังแสดงถึงภาวะการเจริญเต็มที่ของผิวหนังโดยทารกในครรภ์ ต้องมีภาวะโภชนาการปกติผิวหนังจะมีการลอก ภายหลังอายุ 24-28 ชั่วโมง มักพบที่มือ และเท้า ผิวหนังที่ลอกจะหายไปในเวลา 2-3 วัน โดยไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ในทารกเกิดก่อนกำหนดผิวหนังจะลอกช้ากว่า โดยจะปรากฏเมื่อ 2-3 สัปดาห์หลังคลอด และอาจลอกมาก

ปานแดงชนิดเรียบ
ปานแดงที่เปลือกตาบน หน้าผากและท้ายทอย พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของทารกแรกเกิด ปานชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน และจะแดงขึ้น เวลาทารกร้องปานแดงที่เปลือกตา มักหายไปเมื่อทารกมีอายุหนึ่งปี ปานแดงที่หน้าผาก มักพบร่วมกับปานแดงที่ท้ายทอย มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมโดยมีฐานอยู่ที่ชายผม และมุมชี้ไปทางจมูก stork mark ปรากฏนานกว่าหนึ่งปี และอาจคงอยู่ให้เห็นในเด็กโต หรือผู้ใหญ่เป็นครั้งคราวเวลาโกรธ

ภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้า
เป็นภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้าเกิดจากการมีเลือดคั่ง และมีจุดห้อเลือด (petechiae) จำนวนมาก เกิดจากการถูกบีบรัด โดยการคลอดตามธรรมชาติ หรือจากสายสะดือพันคอจุดห้อเลือดมักหายอย่างรวดเร็วใน 2-3 วัน

ผิวหนังลายเหมือนร่างแห (Cutis marmorata)
ผิวหนังมีลวดลายเหมือนร่างแห หรือเหมือนลายหินอ่อน เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดฝอย พบในทารกแรกเกิดที่ปกติแล้วยังพบในทารกที่อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมเย็นหรือร้อนไป

ภาวะเขียวที่มือและเท้า
ภาวะเขียวที่มือและที่เท้าพบได้บ่อยในทารก 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เกิดจากการไหลเวียนเลือดที่มือ และเท้าช้าลง หรืออยู่ในที่เย็นและอาจมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ

เลือดออกที่ตาขาว
เลือดออกที่ตาขาว หรือรอบแก้วตาเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์

ตุ่มขาว
ภาวะนี้ มักลักษณะเป็นตุ่มนูนจากพื้นผิวมีสีนวลหรือสีขาวขนาด 1 มม.พบที่แก้ม ดั้งจมูก หน้าผาก เพดานแข็ง เหงือก หัวนม และปลายอวัยวะเพศของทารกเพศชาย ภาวะนี้พบร้อยละ 40 ของทารกครบกำหนด มักแตกและหายไปเมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์ หรืออยู่ได้นานถึง 2 เดือน

ตุ่มขาวในปาก
ที่กลางเพดานปากของทารกแรกเกิด อาจมีเม็ดสีขาวขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม.) เรียกว่า epithelial pearl หรือ Epstein pear/I ซึ่งเป็นของปกติในทารกแรกเกิด อาจมีจำนวนมากน้อยต่างกัน ตุ่มเล็กๆ นี้ไม่ทำให้ทารกไม่ดูดนม และจะหลุดไปเองอาจพบตุ่มขาว ลักษณะนี้ที่เหงือก ที่หัวนมและปลายอวัยวะเพศชาย คนสูงอายุเรียก “หละ” และเชื่อว่าทำให้ทารกไม่ดูด

ลิ้นขาว
ลิ้นขาว พบได้ในทารกแรกเกิด โดยปรากฏสีขาวกระจายเท่าๆ กัน บริเวณกลางลิ้น จึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ การวินิจฉัยแยกโรคจากเชื้อรา ซึ่งพบมีแผ่นสีขาวเป็นหย่อมๆ ที่ลิ้น และพบร่วมกับที่เพดานปาก กระพุ้งแก้ม หรือที่ริมฝีปากด้วย

ริมฝีปากแห้งและลอกเป็นแผ่น
ขอบริมฝีปากของทารก อาจมีเม็ดพอง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 5-8 มม. อาจพบตลอดริมฝีปากบน หรือล่าง หรือพบเฉพาะที่กลางริมฝีปากบนเม็ดนี้จะแห้งและลอกหลุดเป็นแผ่นแล้วขึ้นมาใหม่ เม็ดพองชนิดนี้มีชื่อว่า sucking blister

ผื่นแดง (Erythema toxicum)
ผื่นแดงที่ตรงกลาง มีตุ่มนูนขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ซึ่งมีสีนวล หรือซีดบางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกระจาย พบได้ตามผิวหนังทั่วไป ภาวะนี้พบร้อยละ 50-70 ของทารก ครบกำหนด อาจพบหลังคลอดทันที พบบ่อยที่สุดอายุ 24-48 ชั่วโมง และ อาจพบได้จนกว่าทารกมีอายุ 1-2 สัปดาห์ ในทารกบางรายอาจพบได้จนถึงอายุ 3 สัปดาห์

ปานดำ (Mongolian spot)
เป็นสีของผิวหนัง ที่มีสีเขียวเทาหรือสีน้ำเงินดำมีขอบเขตไม่ชัดเจน เกิดจากการมีเซลล์เมลานินแทรกซึมอยู่ในชั้นผิวหนังมาก พบที่บริเวณก้นกบ ก้นและหลังส่วนเอว อาจพบได้ที่หลัง ส่วนบนหัวไหล่ แขนและขา ภาวะนี้พบร้อยละ 90 ของทารกแรกเกิด โดยพบตั้งแต่ทารกคลอดออกมา และมักหายไปก่อนพ้นวัยทารก

นมเป็นเต้า
นมมีลักษณะเป็นเต้า พบได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย บางครั้งอาจมีน้ำนมภาวะนี้จะปรากฏจนอยู่หลายสัปดาห์ในทารกเพศหญิงอาจปรากฏจนถึงขวบปีแรก ภาวะนี้เป็นลักษณะเฉพาะของทารกครบกำหนด อาจเป็นผลของฮอร์โมนที่ผ่านรกมาสู่ทารก กลไกของการเกิดยังไม่ทราบ คนสูงอายุมีความเชื่อว่า ต้องบีบให้นมแห้ง และเต้านมยุบจึงต้องแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบีบเค้นเพราะอาจทำให้เต้านมอักเสบ

ถุงอัณฑะยาน
ถุงอัณฑะอาจยานจนเกือบสัมผัสที่นอน คนสูงอายุมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และให้การรักษา โดยการประคบถุงอัณฑะด้วยใบพลูลนไฟ ถุงอัณฑะยานมาก หรือน้อย ใช้เป็นลักษณะหนึ่งในการประเมินอายุครรภ์ของทารก ถุงอัณฑะยานพบในทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนดหรือเกินกำหนดได้

ของเหลวไหลออกทางช่องคลอด
ทารกมีเมือกสีขาวข้น ออกมาทางช่องคลอด บางครั้งอาจมีเลือดที่มาจากหลุดของเยื่อบุมดลูกปน ออกมามากที่สุด ในระหว่างวันที่ 3-5 หลังคลอด และหายไปภายใน 2 สัปดาห์กลไกที่ทำให้เกิด ยังไม่ทราบ

ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2550    
Last Update : 31 ตุลาคม 2550 15:58:12 น.
Counter : 730 Pageviews.  

เคล็ดวิธีบอกลาท้องผูก

แม่ท้องหลายคนมักประสบปัญหาท้องผูกค่ะ ทำให้การเบ่งอึอึ๊กลายเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะฉะนั้นอย่าอดทนอีกต่อไปเลยนะคะคุณขา… มาบอกลาอาการท้องผูกกันดีกว่า

อาการท้องผูกเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับแม่ท้อง ไม่ใช่เพราะคุณดูแลตัวเองไม่ดีนะคะ แต่เป็นเพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปต่างหาก เวลาเราท้องมดลูกจะขยายใหญ่ขึ้น…ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปเบียดเบียนเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ จากที่เคยมีพื้นที่ให้ของเสียไหลได้คล่องปรู๊ด ก็เหลือพื้นที่ไม่มาก ยิ่งใกล้คลอดพื้นที่ยิ่งเหลือน้อย ทำให้คุณแม่ท้องแก่หลายคนจะเริ่มท้องผูกมากขึ้น

เพราะฉะนั้น เราต้องหาผู้ช่วยทำให้อึอึ๊ได้สบาย นั่นก็คือ


ถ่ายสบาย by อาหาร

เพราะการขับถ่ายสัมพันธ์กับการกินโดยตรง เพราะฉะนั้น อยากถ่ายง่ายก็ต้องกินอาหารที่ย่อยง่าย กากใยเยอะ ซึ่งอาหารที่ว่ามีรายนามดังต่อนี้ค่ะ
1. ผักใบเขียวและไม่เขียวทุกชนิด ขอให้ขึ้นชื่อว่าผักเถอะ สามารถช่วยในการขับถ่ายของคุณแม่ได้ทั้งนั้น เพราะผักจะมีสารอาหารจำพวกกากใย โดยเฉพาะพวกผักพื้นบ้านทั้งหลายอย่างเช่น มะเขือพวง สะเดา ขนุนอ่อน ใบบัวบก

แต่…ผักดองทั้งหลายนี่ไม่ควรเลยนะคะ เพราะในผักดองหรือของหมักทั้งหลายจะมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ไม่ดีกับเจ้าตัวเล็กค่ะ

2. ผลไม้ ไม่ว่าจะเป็น กล้วยน้ำว้า มะละกอ มะขาม ลูกพรุน ส้ม ฝรั่ง แอปเปิล ฯลฯ ล้วนมีกากใยที่ช่วยในการขับถ่ายได้ทั้งสิ้นค่ะ จริงๆ แล้วผลไม้ชนิดอื่นๆ ก็สามารถกินได้หมดแต่ผลไม้บางชนิดจะมีรสหวานจัด ทำให้คุณแม่อ้วนได้ง่ายค่ะ

คุณแม่บางคนจะมีความไวต่อผลไม้บางชนิดที่กินเข้าไปต่างกัน เช่น บางคนอาจจะไวต่อมะขาม หรือลูกพรุน คือกินปุ๊บออกปั๊บ แบบนี้ก็ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะทำให้คุณแม่ถ่ายเยอะราวกับกินยาถ่าย ส่งผลให้มดลูกบีบตัว กระตุ้นให้เจ้าตัวเล็กของคุณอาจขอลืมตาดูโลกเร็วกว่ากำหนด

3. น้ำผลไม้ช่วยได้ค่ะ อย่างน้ำส้ม น้ำลูกพรุน น้ำมะขาม ได้ผลมานักต่อนัก

4. ถ้าเบื่อผักผลไม้ ก็ลองกินพวกโยเกิร์ต นมเปรี้ยว เพราะช่วยให้ขับถ่ายได้คล่องเช่นกันแล้วยังมีหลายรสให้เลือกอีกด้วย

5. ลองเปลี่ยนจากอาหารสีขาวๆ ที่ขัดสีเป็นโทนสีน้ำตาลแบบไม่ขัดสีดูบ้าง เพราะกากใยจะเยอะกว่า อย่างข้าวขาวก็เปลี่ยนมาเป็นข้าวกล้อง ขนมปังก็ลองกินแบบโฮลวีตดูบ้างนะคะธัญพืชทั้งหลายช่วยได้ดีค่ะ

แบบไหนเรียกท้องผูก

ใครที่เคยเข้าใจว่าท้องผูกคือ การไม่ถ่ายทุกวัน หรือถ่าย 2 วันครั้ง ไม่ใช่นะคะท้องผูกหรือไม่นั้นเราสังเกตได้จาก
1. อึแข็ง สังเกตตรงหัวอุจจาระ จะแข็งมากกว่าตรงส่วนอื่น ทำให้เวลาเบ่งเจ็บและถ่ายลำบาก ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้บ่อยๆ จะเกิดริดสีดวงได้

2. อึเป็นกระสุน ถ้าเมื่อไรที่คุณแม่อึเป็นกระสุนๆ นั่นเป็นสัญญาณไม่ดีแล้วค่ะแสดงว่าท้องผูกอย่างหนักจนไม่สามารถเบ่งออกมาได้ทั้งหมดทั้งก้อนค่ะ ต้องรีบไปปรึกษาคุณหมอด่วนจี๋เลยนะคะ

Tip : Mix & Match

สำหรับคนขี้เบื่อ ชอบรสชาติแปลกใหม่ ขอแนะนำให้ลองนำอาหารที่กินอยู่เป็นประจำมาผสมกันดูใหม่ก็ได้นะคะ โดยลองผสมตามแบบต่อไปนี้ดู หรือจะลองครีเอทเองก็ได้ค่ะ
กล้วยหอม + strawberry + yogurt + นม
กะได้เองตามชอบนะคะ แล้วมาปั่นรวมกัน

น้ำมะนาว 1-2 ลูก + น้ำผึ้ง 1-2 หยด
นำมาปั่นกับน้ำแข็ง หรือกินสดๆ ก็ได้จ้ะ

โยเกิร์ต + นมสด + มะนาว + น้ำผึ้ง
ผสมรวมกันดื่มตอนเช้า

กล้วย
นำมาปิ้ง ตาก อบ กินยามว่างก็ช่วยขับถ่ายสบายดีนะ

Don't forget !

เมื่อทำตาม 5 ข้อข้างบนแล้ว อย่าลืม 5 ข้อข่างล่างต่อไปนี้ด้วยจ้ะ
1. ดื่มน้ำเปล่าทุกวันๆ ละ 2 ลิตร หรือ 8-10 แก้ว
2. ออกกำลังกายเบาๆ จะเดินเล่น ว่ายน้ำ โยคะ ก็ดีต่อร่างกายและการขับถ่ายจ้ะ
3. ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาค่ะ และอย่าออกแรงเบ่งจนเกินไป เนื่องจากการเบ่งมากจะทำให้เลือดคั่งบริเวณทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อปากทวารหนักบวมและยื่นออกมาได้
4. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอและเป็นเวลา
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายเคืองทางเดินอาหาร เช่น อาหารรสจัด ชา กาแฟ อาหารจำพวกเนื้อวัว เนื้อหมู กินให้น้อยลง แต่เน้นเนื้อปลาแทน เพราะจะย่อยได้ง่ายกว่าค่ะ
วิธีง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้คุณแม่เลิกรากับอาการท้องผูกได้อย่างถาวรแล้วล่ะค่ะ


ที่มา.. นิตยสารรักลูก




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2550    
Last Update : 31 ตุลาคม 2550 15:51:48 น.
Counter : 14271 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  
 
 

Healthy Service
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุ้มสมุนไพรบริการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอด
จำหน่าย ชุดอยู่ไฟ และสมุนไพร
สายด่วน 08-5426-7578 (24 ชม. ทุกวัน)http://www.KUMsamunpai.com/


จำนวนผู้เข้าเว็บ Best Free Hit Counters
Maternity Wear
Maternity Wear 234x60 70% off on over 3,000 designer fragrances SkinStore Special Offers Free Shipping
[Add Healthy Service's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com