คุ้มสมุนไพร "ภูมิปัญญาไทย เพื่อสุขภาพและความงามคุณ" บริการ อยู่ไฟ หลังคลอด ถึงบ้าน และจำหน่ายชุด อยู่ไฟ ด้วยตนเอง
 

บำรุงสายตาของลูกรักอย่างไรดี




ลูกน้อยขวบปีแรก เป็นวัยที่ร่างกายเจริญเติบโต รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพทางสายตา ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งต่อการเรียนรู้ และการเคลื่อนไหว ฯลฯ นมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ที่ช่วยบำรุงสายตาให้กับลูกได้ แต่เมื่อลูกพ้นขวบปีแล้ว สารอาหารในนมแม่นั้นไม่เพียงพอ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีอาหารอะไรบ้างนะ ที่จะช่วยทำให้การมองเห็นของลูกน้อยแจ่มชัด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวและการเคลื่อนไหวของลูกน้อบได้ดียิ่งขึ้น

สารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาของลูก ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของวิตามินที่หลากหลายในอาหารหลากชนิด จึงไม่ยากที่คุณพ่อคุณแม่จะจัดหามาให้ลูกรับประทาน ถึงกระนั้นคนเราต้องได้รับวิตามินทุกตัวผสมผสานกัน จึงจะสริมให้ดวงตามีศักยภาพที่ดีได้ เริ่มจาก…
วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา มีมากในตับ ไข่แดง นม น้ำมันสกัดจากตับปลา มาการีน ผักที่มีสารสีเขียวจัด สีแสด สีเหลือง ที่ให้แคโรทีนมาก เช่น ผักบุ้ง มะละกอ ฟักทอง ผักตำลึง บล็อคโคลี่ แครอท วิตามินบีรวม มีอยู่หลายตัวด้วยกัน ประกอบด้วยวิตามินบี 1 - 12

วิตามินบี 1 มีมากในธัญพืช ข้าวกล้อง และข้าวที่ยังไม่ถูกขัดสี ตับ และเนื้อวัว หรือนมวัว หรือหมู ปลา ไข่ นม เต้าหู้ หรือถั่วหมัก ถั่วต่างๆ รำข้าว ข้าวซ้อมมือ งา กระเทียม

วิตามินบี 2 มีมากในตับ หัวใจ ไข่ นม และผักใบเขียว

ไมอาซิน อยู่ในตระกูลวิตามินบี 3 มีมากใน เครื่องในสัตว์ และเครื่องในสัตว์

วิตามินบี 6 มีมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่ว กล้วย และผักใบเขียว

ไบโอติน อยู่ในตระกูลวิตามินบี 6 มีมากใน ตับ ถั่ว และดอกกะหล่ำ

โฟลาซินหรือโฟเลต อยู่ในตระกูลวิตามินบี 9 มีมากในผักใบสีเขียวสด ยีสต์ เนื้อสัตว์ นม ถั่ว หน่อไม้ เห็ด และตับ

วิตามินบี 12 พบในอาหารจากสัตว์ เช่น น้ำปลาที่ได้มาตราฐาน แต่ไม่พบในพืช

กรดแรนโทเธนิก อยู่ในตระกูลบี 12 โอกาสที่คุณจะขาดวิตามินนานาชนิดนี้มีน้อย สารอาหารมีมากใน ตับ ไข่แดง และผักสด

วิตามินดี มีมากในน้ำมันตับปลา และผิวหนังของผู้ที่ได้รับแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้า และบ่ายคล้อยแสงแดดที่ได้รับจะเปลี่ยนเป็นวิตามินดีได้

วิตามินซี ส้มและผลไม้ที่ออกรสเปรี้ยวทุกชนิด เช่น มะนาว ฯลฯ ผักเขียวอมเหลืองอย่างพริกหยวกหรือบร็อคโคลี่ ผักใบเขียว มะเขือเทศ เนื้อดิบ ตับดิบ

วิตามินอี มีมากในถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเปลือกอ่อน และน้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำ น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย

วิตามินเค วิตามินเคมีมากในตับวัว และผักใบเขียว เช่น ผักกาดหอม กะหล่ำปลี
ดังนั้นตัวอย่างอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาสำหรับเด็ก ที่ใช้ไก้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป ได้แก่ ตับไก่ ตับหมู ฟักทอง ไข่แดง ผักบุ้ง แครอท ผักตำลึง ผักโขม ปูทะเล ผักคะน้า เนย ส่วนผลไม้ ได้แก่ มะละกอ มะม่วงสุก ฯลฯ

ส่วนเด็กที่มีปัญหาทางสายตา หรือเด็กที่ใช้สายตามากๆ ในการอยู่หน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานานๆ ควรรับประทานผักใบเขียว ข้าวโพด ไข่ ฟักทอง และองุ่นแดง เพื่อรักษาสายตาไม่ให้เสื่อมเร็ว เพราะอาหารดังล่าวอุดมด้วยสารลูตินและซีแตนติน โดยเฉพาะข้าวโพดที่มีสารลูติน สามารถป้องกันความเสื่อมของจุดรับแสงในดวงตา และผักใบเขียว เพื่อป้องกันการเสื่อมของเนื้อเยื่อดวงตา อันเป็นส่วนหนึ่งของเรตินาได้ค่ะ.

ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่








 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2551 16:30:40 น.
Counter : 457 Pageviews.  

น้ำนมที่ปรับเปลี่ยน



น้ำนมแม่ถือเป็นความล้ำลึกของธรรมชาติที่สร้างไว้เพื่อสรรพสิ่งในโลก เพราะความที่มดลูกและเต้านมเติบโตมาพร้อมกัน ลูกในครรภ์กับน้ำนมที่ผลิตก็มีการปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกันตามอายุของทารกที่เกิดมา เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า น้ำนมแม่ย่อมเหมาะกับการเติบโตของลูกมากที่สุด

สีและส่วนประกอบ
น้ำนมแม่ตอนหลังคลอด 3-4 วันแรก จะมีสีส้มใสหน่อย เพราะมีโปรตีนและวิตามินเอสูง เอาไว้สร้างเซลล์สมอง และบำรุงสายตา เมื่อผ่านไปสีน้ำนมจะเป็นสีขาวมากขึ้นเพราะมีปริมาณไขมัน และคาร์โบไฮเดรตมากขึ้นเอาไว้เป็นแหล่งพลังงานให้ลูกโตวันโตคืน
สารอาหารในน้ำนมแม่มีไม่มากเกินไป จนรบกวนระบบการทำงานของร่างกาย และไม่น้อยเกินไปจนขาดและต้องหาทางเสริม และยังใช้ได้ทุกส่วนไม่เหลือ เป็นของเสียในร่างกายเหมือนนมอื่นๆ ค่ะ
ลักษณะของน้ำนมในระยะต่างๆ
ต้นใส ท้ายข้น น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีของการเปลี่ยนแปลงของน้ำนมค่ะ เพราะน้ำนมช่วงต้นๆ ที่ลูกดูดจะมีเกลือแร่ วิตามิน โปรตีนสูง ดูใสหน่อย เปรียบเสมือนเครื่องดื่มแก้กระหายสำหรับลูก ขณะเดียวกันนมแม่ก็เข้มข้นและมีไขมันมากขึ้น เหมือนลูกได้กินข้าวจึงอิ่มนาน พวกฝรั่งว่าน้ำนมแม่เมื่อดูดไป จะค่อยๆ เปลี่ยนจากนมพร่องมันเนย (SKIM MILK) แล้วจะข้นขึ้นเป็นนมธรรมดาทั่วไป (WHOLE MILK) และจะข้นขึ้นอีกจนเป็นครีม (FULL-CREAM MILK)
จำเป็นไหมที่ต้องกำหนดเวลาและเปลี่ยนข้างเพื่อให้นมลูก
ร่างกายจะสร้างน้ำนมแม่ให้กลับคืนมาโดยใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ลูกตอนเล็กๆ มักกำหนดเวลาหิวไม่ได้ จึงไม่ควรจัดตารางเวลากินนมของลูกโดยการตั้งนาฬิกา แต่ขอให้ดูตามความเหมาะสมซึ่งก็คือเมื่อหิวก็กิน เมื่อกินแล้วก็ให้กินหมดเป็นข้างๆ ไปเพื่อให้อิ่มนานและน้ำหนักขึ้นดี

ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2551 16:27:09 น.
Counter : 611 Pageviews.  

ปัญหาในทารกแรกเกิด

ภาวะตัวเหลือง

ตัวเหลืองหรือที่หลายคนคุ้นกันในชื่อดีซ่าน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกคลอด 7 วันแรกครับ
ผิวหนังของทารกจะสีเหลืองเห็นได้ชัดบริเวณใบหน้าและลำตัว ตัวเหลืองที่เป็นภาวะเหลืองปกติของเด็กแรกคลอด 7 วันแรกจะเหลืองไม่มากครับ ถ้าเหลืองเข้มมากหรือตัวเหลือง ตลอดลงไปถึงบริเวณปลายเท้าของทารก มักจะแสดงถึงภาวะเหลืองที่ผิดปกติครับ

ขณะคลอดทารกอาจได้รับกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ เกิดเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ คลำดูบริเวณที่มีเลือดคั่งอยู่ จะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่มหยุ่นๆ คล้ายถุงน้ำ เลือดที่คั่งอยู่นี้สามารถทำให้ทารกตัวเหลืองได้ครับ ซึ่งไม่มีอันตรายแต่อย่างใดหายได้เองทั้งก้อนที่ศีรษะและภาวะตัวเหลืองครับ

ทารกที่ดูดนมน้อยอาจทำให้ตัวเหลืองมากหรือนานขึ้น ถ้าเด็กมีอาการซึม ไม่ค่อยร้อง ดูดนมได้ไม่ดีอาจแสดงว่าเด็กไม่สบายหรือเป็นโรคติดเชื้อ ต้องพาไปหาแพทย์ครับ
เด็กที่เป็นภาวะเหลืองชนิดปกติจะมีอาการดี ดูดนมเก่ง ปัสสาวะสีไม่เหลืองเข้ม ตับไม่โต ม้ามไม่โต เป็นภาวะตัวเหลืองที่พบได้ทั่วไปในทารกแรกเกิด และจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าจะให้หายเหลืองเร็วขึ้นจะบอกวิธีให้

นำทารกไปนอนในห้องที่มีแสงแดดส่องอ่อนๆ ตอนเช้า หรือเย็นๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวางทารกไว้กลางแดดนะครับ วางตรงที่สว่างๆ หน่อยก็พอ ถอดเสื้อผ้าทารกออกให้หมดเพื่อให้แสงกระทบผิวหนังโดยตรง ทำสักวันละ 1 ชั่วโมงเพียง 3-4 วันก็หายเหลือง
ถ้าอากาศภายนอกเย็นมาก เมื่อถอดเสื้อผ้าออกเด็กอาจจะหนาว ต้องเอาเด็กไว้ในห้องที่อบอุ่นที่แสงเข้าถึงได้แทนครับ

ทารกที่ดูดนมแม่บางคนอาจตัวเหลืองนานถึง 1-2 เดือนได้โดยไม่ผิดปกติ ทารกพวกนี้จะเห็นตัวเหลืองชัดเจนหลังอายุ 1 สัปดาห์ไปแล้ว อุจจาระเหลืองผิดปกติ ปัสสาวะสีไม่เข้ม พ่อแม่ที่ไม่สบายใจอาจพาเด็กไปปรึกษาแพทย์ดูก็ได้
อาการเหลืองจากดูดนมแม่จะไม่มีอันตรายครับ ถ้าแพทย์ตรวจเลือดเด็กแล้วเหลืองไม่มาก ก็ยังดูดนมมารดาต่อไปได้ ถ้าเหลืองปานกลางอาจให้หยุดนมมารดาสัก 2 วันแล้วให้ดูดใหม่ได้ กรณีเหลืองมากจึงจำเป็นต้องหยุดให้นมมารดาและนำเด็กมาส่องไฟสว่าง เพื่อลดความเหลืองลงครับ

ผมขอสรุปว่าทารกตัวเหลืองที่อาจผิดปกติและควรนำไปพบแพทย์คือ
1. ตัวเหลืองแล้วซึม ดูดนมน้อยไม่ค่อยร้อง
2. ตัวเหลืองแล้วมีก้อนในท้องบ่งถึงตัวม้ามโต
3. ตัวเหลืองแล้วอุจจาระสีซีดและปัสสาวะสีเหลืองเข้ม
4. ตัวเหลืองมาก
5. ตัวเหลืองหลังอายุสัปดาห์แรกไปแล้วที่ไม่ใช่เกิดจากดูดนมมารดา

สำรอกและอาเจียน

อาการสำรอกมีทั้งที่ปกติและผิดปกติครับ ทารกแรกเกิดที่ปกติอาจมีอาการสำรอกได้ โดยเฉพาะช่วง 3-4 สัปดาห์แรก มักเกิดตอนหลังดูดนมใหม่ๆ
การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องทำให้สำรอกได้บ่อย เช่น
ไม่ได้จับให้เด็กเรอหลังดูดนม จับให้นอนลงเลย
รูของจุกนมเล็กเกินไป ทำให้เด็กดูดนาน มีลมเข้าไปมาก
ตั้งขวดนมให้ดูดโดยไม่คอยจับให้นมท่วมจุกอยู่เสมอ
ได้นมไม่พอทำให้ร้องไห้บ่อย
ได้นมมากเกินไป
ถูกอุ้มเปลี่ยนท่าโดยเร็วหรือบ่อยหลังดูดนมเสร็จใหม่ๆ
อาการสำรอกโดยทั่วไปจะหายเมื่ออายุเลย 6 เดือนไปแล้ว เมื่อได้แก้ไขวิธีการเลี้ยงดูให้ถูกต้องด้วย
หากพบว่าเด็กสำรอกมากแก้ไขไม่หาย สำรอกทุกมื้อ น้ำหนักตัวลดลง หรืออาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ควรส่งพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาครับ

อาการอาเจียนก็พบได้บ่อยในทารกปกติ อายุ 1-2 เดือน จะอาเจียนไม่มาก ไม่ถี่และน้ำหนักตัวของเด็กยังเพิ่มไปได้เป็นปกติ
ต้นเหตุของปัญหามักเกิดจากให้นมมากเกินไป ลองคำนวณดูครับ หากเด็กได้นมมากกว่า 6 ออนซ์ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แสดงว่ามากเกินไป เช่น ถ้าเด็กหนัก 3.5 กิโลกรัม ก็ควรได้นมไม่เกิน 21 ออนซ์ใน 1 วันครับ

อาการอาเจียนที่ผิดปกติ ได้แก่
อาเจียนร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น
อาเจียนออกมามีน้ำดีหรือเลือดปน
ท้องอืด ไม่ถ่ายอุจจาระ
ร่วมกับท้องเสีย
ร่วมกับ ซึม ดูดนมไม่ดี ร้องเสียงแหลม กระหม่อมโป่งตึง
อาเจียนแบบนี้เกิดจากโรคในตัวเด็กครับ เช่น ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นต้น รีบไปพบแพทย์ด่วนครับ

ท้องเสีย

ท่านทราบไหมครับว่า ทารกแรกเกิดอาจถ่ายบ่อยใน 4-5 วันแรก โดยไม่ถือว่าผิดปกติครับ อุจจาระค่อนข้างเหลว ปนน้ำสีเขียวเหลือง แบบนี้ไม่ใช่ท้องเสียนำครับ เป็นธรรมดา ไม่ต้องรักษา เมื่อทารกอายุได้ 7 วัน ก็จะมีลักษณะอุจจาระเหมือนเด็กโตปกติ
ทารกที่ถูกนมมารดาอาจถ่ายวันละ 4-5 ครั้ง โดยอุจจาระลักษณะปกติ มีน้ำเล็กน้อย ไม่มีมูกปน
แม่ที่กินยาดองเหล้าหรือยาขับน้ำคาวปลา อาจมีตัวยาที่ออกมากับน้ำนม ทำให้ลูกถ่ายเหลวได้ครับ ถ้าเด็กถ่ายมากควรให้แม่หยุดยานั้นเถอะครับ
เด็กทารกอาจท้องเสียได้ง่ายจากการติดเชื้อลงลำไส้ เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส
อุจจาระจะเหลวเป็นน้ำถ่ายพุง อาจมีไข้หรือไม่มี
หลักปฏิบัติทั่วไปคือ ชงนมให้จางลงให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ร่วมไปด้วย ถ้าเด็กอาการซึมลง ดูดนมได้น้อย มีอาการขาดน้ำมีไข้ควรพาไปพบแพทย์

ท้องผูก

ท่านอาจสงสัยว่าแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเด็กท้องผูก
ทารกบางทีไม่ถ่ายอุจจาระทุกวันอาจถ่ายวันเว้นวัน หรือ 3-4 วันถ่ายหนหนึ่ง ถ้าอุจจาระยังลักษณะปกติ ไม่ถึงขนาดแข็งเป็นลูกกระสุนกลมๆ ล่ะก็ไม่ถือว่าทารกท้องผูกครับ และไม่ควรสวนอุจจาระหรือให้ยาระบายแก่เด็ก ปล่อยให้ถ่ายเองตามธรรมชาติไปดีกว่า และให้กลับมาดูการชงนมหน่อยว่าถูกสัดส่วนหรือไม่ครับ การชงที่เจือจางไป หรือเข้มข้นไปอาจทำให้ทารกท้องผูกได้

น้ำตาไหลมากผิดปกติ

โดยธรรมชาติน้ำตาจากเบ้าตาจะมีช่องทางตรงหัวตาเป็นท่อให้น้ำตา ไหลลงสู่โพรงจมูกได้ ทารกแรกเกิดอาจมีอาการตีบของท่อนี้ทำให้น้ำตาเอ่อเบ้า ไหลออกนอกตามากได้ครับ
วิธีแก้ไขคือลองนวดหัวตาบ่อยๆ โดยตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาด แล้วใช้ปลายนิ้วก้อยนวดคลึงบริเวณหัวตาด้านใน เมื่อท่อน้ำตาไหลสะดวก อาการก็จะหายไป ถ้ายังไม่หายคงต้องหาจักษุแพทย์ล่ะครับ

เยื่อตาอักเสบ

ลักษณะอาการของเยื่อตาอักเสบ คือ หลังตาจะบวม แดง และมีขี้ตาแฉะเต็มตา ต้องรีบไปพบแพทย์ครับ เพราะต้องดูว่าเกิดจากเชื้ออะไร
เชื้อร้ายแรงบางอย่างอาจเป็นอันตรายต่อตาได้มาก ต้องรีบรักษาโดยด่วนเลยครับ

เชื้อราในปาก

คราบนมในปากทารกมักติดเฉพาะลิ้น และเช็ดออกได้ง่าย ผิดกับคราบขาวของเชื้อรา ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นนูนๆ ตามกระพุ้งแก้ม เพดาน ลิ้นและเหงือก เช็ดให้หลุดออกได้ยากกว่าคราบนม
เมื่อสงสัยว่าเป็นเชื้อราในปากแน่ก็ควรปรึกษาแพทย์ ได้ยามาหยอดหรือมาป้าย ไม่เกิน 7 วัน ก็หายครับ
คอเอียง

ลักษณะคอเอียงที่ผิดปกติคือ ทารกจะเอียงคอไปด้านหนึ่ง และไม่ชอบหันหน้าไปด้านตรงข้าม เมื่อจับฝืนให้หันไปจะร้องเหมือนปวด ให้ลองคลำกล้ามเนื้อด้านข้างของลำคอด้านที่ทารกเอียงศีรษะไปดูครับ อาจพบก้อนกลมๆ ขนาด 2-3 ซม.ค่อนข้างแข็ง มักคลำเจอเมื่ออายุได้ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป
วิธีแก้ไขคือ พยายามจับเด็กให้ศีรษะหันไปมาทั้ง 2 ข้าง เวลานอนก็ตะแคงใบหน้าสลับกันทั้ง 2 ข้าง อย่าให้หันหน้าเพียงด้านเดียว วิธีนี้จะทำให้ก้อนเล็กลงและหายคอเอียงภายใน 6 เดือนครับ
ถ้าไม่หายคงต้องปรึกษาแพทย์กันล่ะ ถ้าจำเป็นอาจต้องผ่าตัดแก้ไขครับ มิฉะนั้นอาจจะเป็นโรคคอเอียงตลอดไปเลย

ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ






 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2551 16:22:59 น.
Counter : 4301 Pageviews.  

เทคนิค...ฟื้นตัวหลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดควรจะดูแลตัวเองอย่างไร ถึงจะกลับมาฟื้นตัวฟิต สดใสเหมือนเก่า คุณหมออานนท์มีคำแนะนำดีๆ มาฝาก


หลังจากหายหน้าหายตาไปนาน ฉบับนี้กลับมารับใช้เล่าเรื่องราวยากๆ ทางการแพทย์ให้คุณแม่มือใหม่ฟังกันแบบง่ายๆ สบายๆ ตามสไตล์ผมก็แล้วกันนะครับ


คราวนี้เป็นเรื่องของคุณแม่ตอนหลังคลอดครับ การดูแลหลังคลอดเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับตัวคุณแม่เอง คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การดูแลระหว่างท้องนั้นสำคัญที่สุด เลยปล่อยปละละเลยช่วงหลังคลอดไป ยิ่งพอลูกจะคลอดออกมาเรียบร้อยแล้วแม่ก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปที่ลูกซะหมดจนไม่มีเวลาให้กับตัวเอง แต่ที่จริงแล้วช่วงหลังคลอดเป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ถ้าคุณแม่สนใจตัวเองสักหน่อยดูแลตัวอย่างถูกต้องในระยะหลังคลอดก็จะช่วยให้ร่างกายกลับฟื้นคืนสภาพได้อย่างราบรื่นปราศจากภาวะแทรกซ้อน นอกจากเรื่องทางการแพทย์แล้ว ชีวิตของคุณแม่ในระยะหลังคลอดก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก คุณแม่ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของคุณแม่ที่ดีและเป็นภรรยาที่ดีในเวลาเดียวกัน


เรามาดูกันสิว่า หลังจากคลอดลูกแล้วร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง


มดลูก


ทันทีที่ลูกตัวน้อยคลอดโผล่พ้นออกมาจากช่องคลอด มดลูกของคุณแม่ก็จะหดเล็กลงจากโตเท่าลูกแตงโมก็จะหดเล็กลงเหลือเท่าลูกส้มโอ คลำได้เป็นก้อนแข็งๆ กลมๆ ที่ท้องน้อย ยอดของมดลูกจะคลำได้อยู่แถวๆ สะดือของคุณแม่ หลังจากนั้นก็จะหดเล็กลงประมาณวันละ 1 นิ้วมือ แล้วก็เล็กลง...เล็กลง จนหายเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน ไม่สามารถคลำได้ทางหน้าท้องใน 2 สัปดาห์ แล้วก็จะเล็กลงอีกจนเหลือเท่าขนาดปกติก่อนที่จะตั้งครรภ์ใน 4 สัปดาห์


หลังคลอดใหม่ๆ มดลูกจะบีบตัวแข็งเป๊ก เกร็งเป็นก้อนแข็งๆ ตอนนี้ยิ่งแข็งก็ยิ่งดีนะครับ เพราะถ้ามดลูกบีบตัวดี ก็จะทำให้ไม่เสียเลือดมากในระยะหลังคลอด คุณแม่จะมีอาการปวดท้องน้อยคล้ายๆ กับอาการปวดประจำเดือน แต่ก็จะปวดมากกว่า จะปวดเป็นพักๆ ใน 2-3 วันแรกหลังคลอด ท้องสองจะปวดมดลูกมากกว่าท้องแรก ท้องสามก็จะปวดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อแม่กำลังให้นมแก่ลูกน้อย เนื่องจากการที่ลูกดูดนมแม่จะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนออกมาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มดลูกก็จะเข้าอู่เร็วกว่าคุณแม่ที่มิได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เวลาปวดก็ทนเอาหน่อยก็แล้วกันนะครับ ท่องคาถาเอาไว้ “ยุบหนอ-ยุบหนอ” ยิ่งบีบพุงก็ยิ่งยุบ คิดอย่างนี้ค่อยมีกำลังใจหน่อย


แผลฝีเย็บ


ในระหว่างการคลอด ตอนช่วงไคลแมกซ์ ขณะที่หัวของลูกกำลังจะโผล่ออกมาภายนอก ปากช่องคลอดก็จะยืดขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ ดูราวกับว่าจะปริฉีกขาดออกจากกัน ตอนนี้คุณหมอก็จะช่วยตัดฝีเย็บ เพื่อขยายปากช่องคลอดให้กว้างขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดการฉีกขาดรุ่งริ่ง ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อรอบๆ ปากช่องคลอดยืดขยายมากเกินไป หลังจากคลอดเสร็จแล้ว คุณหมอก็จะเย็บแผลฝีเย็บกลับเข้าที่เหมือนเดิม โดยมากแล้วก็มักจะเย็บแผลด้วยไหมละลาย เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลากลับมาตัดไหมกันอีกครั้ง อีกทั้งแผลก็ยังดูดีสวยงามกว่าอีกด้วย หลังคลอดวันแรกถ้าแผลฝีเย็บมีอาการบวมและเจ็บมาก การใช้น้ำแข็งประคบจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลและยังช่วยลดบวมได้ แต่ถ้าเลยวันแรกไปแล้วก็จะอบแผลด้วยความร้อนเพื่อช่วยลดอาการบวม ถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บแผล ก็ให้รับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล 2 เม็ด ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ โดยยานี้จะไม่มีผลต่อลูกน้อยเมื่อให้นมแม่แต่อย่างใด ในรายที่แผลบวมมาก เจ็บมาก จนนั่งไม่สะดวก อาจใช้ห่วงยางอันเล็กๆ คล้ายๆ กับที่ใช้ในรายที่เป็นริดสีดวงทวารนั่นแหละครับรองนั่ง ก็จะรู้สึกสบายขึ้น แถวๆ ฝีเย็บจะค่อนข้างไวต่อความรู้สึก เวลาเจ็บก็จะเจ็บเยอะ แต่ก็มักจะหายเร็วด้วยครับ โดยมาก 7 วันก็หายเจ็บแล้ว และมักจะหายสนิทภายในเวลา 3 สัปดาห์หลังคลอด


แผลที่ฝีเย็บนี่ก็แตกต่างจากแผลที่อื่นๆ ครับ แผลที่ไหนๆ หมอก็มักจะติดพลาสเตอร์ใส่ยาเป็นอย่างดี แถมกำชับซะอีกว่าไม่ให้โดนน้ำ แต่แผลฝีเย็บนี่ ปิดแผลก็ไม่ได้ปิด แถมโดนน้ำโดนเลือดแฉะอยู่อยู่ตลอดทั้งวัน ก็เลยต้องดูแลเอาใจใส่กันเป็นพิเศษหน่อย การดูแลแผลฝีเย็บอย่างถูกต้องก็จะช่วยป้องกันปัญหาการอักเสบติดเชื้อได้ หลังคลอดควรเช็ดทำความสะอาดแผลฝีเย็บอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นๆ เช็ดทำความสะอาด โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ หลังจากนั้นก็ควรซับให้แห้งทุกครั้ง ถ้ามีน้ำคาวปลาออกมาก ก็ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ อย่าปล่อยให้เฉอะแฉะชื้นเพราะจะทำให้มีเชื้อโรคสะสมเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นหลังจากถ่ายอุจจาระ ก็ควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคซึ่งมีอยู่มากมายในอุจจาระมาปนเปื้อนเข้าไปโดนแผล ทำให้แผลเกิดการอักเสบได้


น้ำคาวปลา


เลือดที่ออกมาทางช่องคลอดในช่วงหลังคลอดนี้ก็จะเป็นเลือดใสคล้ายๆ กับเลือดในกะละมังปลาตามตลาด โดยจะซึมไหลออกมาจากผนังมดลูกตรงตำแหน่งที่รกเคยเกาะติดอยู่ พอรกลอกหลุดออกไปแล้วเลือดก็จะซึมออกมาจากรอยนี้แล้วจะค่อยจางลงๆ ในที่สุด นอกจากนี้เยื่อบุมดลูกก็จะลอกหลุดออกมาปะปนกับเลือดที่ว่านี้ด้วย 3 วันแรกน้ำคาวปลาก็จะมีมากเป็นสีแดงสด หลังจากนั้นก็จะน้อยและจางลงจนกลายเป็นสีชมพูเรื่อๆ หลังจาก 10 วันไปแล้ว ก็จะกลายเป็นมูกสีขาวๆ และมักหมดไปภายใน 14 วันหลังคลอด บางคนอาจจะมีนานกว่านี้นิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ต้องตกใจครับ


สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง น้ำคาวปลาอาจจะหมดเร็วกว่าคุณแม่ที่คลอดปกติก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ เนื่องจากตอนผ่าคุณหมอก็จะช่วยเช็ดถูทำความสะอาดภายในโพรงมดลูกจนเกลี้ยงไม่มีอะไรเหลือแล้วครับ เดี๋ยวเห็นน้ำคาวปลาออกน้อยแล้วจะไม่สบายใจ เพราะบางคนอาจจะกลัวว่าน้ำคาวปลาไม่ไหลเดี๋ยวมันจะตกค้าง เป็นอันตรายหรือเปล่า ก็ไม่ต้องกังวลครับ ผ่าท้องคลอดกินยาขับให้ตายก็ไม่ออก


ช่องคลอดและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน


ปกติแล้วผู้หญิงเราจะมีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องคลอดประมาณ 2 ซม. แต่ในขณะที่กำลังคลอดหัวเด็กกำลังจะโผล่ หัวของลูกจะแทรกผ่านออกมาทางช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดของคุณแม่ขยายกว้างออกขนาดหัวลูกผ่านได้ก็จะไปถึง 10 ซม. คิดแล้วก็น่าตกใจนะครับว่าช่องคลอดของเราจะขยายได้กว้างมากมายอะไรปานนั้น เนื้อเยื่อต่างๆ รอบๆ ก็จะยืดขยายออกตามไปด้วย เหมือนเราดึงขยายยางหนังสติ๊กให้ยืดกว้างออก พอปล่อยกลับสู่สภาพเดิมก็มักจะยืดกว้างออกมามากกว่าปกติ ดังนั้นหลังจากคลอดบุตรไปแล้ว ช่องคลอดก็มักจะขยายกว้างมากขึ้นมากกว่าเดิม กล้ามเนื้อต่างๆ ภายในอุ้งเชิงกรานก็จะยืดขยายออกด้วยเช่นกัน บางคนอาจเรียกการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ว่า “กะบังลมหย่อน”


ดังนั้นหลังคลอดไปแล้วคุณแม่ควรออกกำลังกาย ฟื้นฟูสภาพให้ช่องคลอดกลับมาสู่สภาพเดิมเหมือนเมื่อยังสาวโดยการทำ “Squeeze exercise” หรือการ “ขมิบก้น” นั่นเอง ควรทำวันละ 20-30 ครั้ง คุณแม่สามารถทำได้ทันทีในช่วงหลังคลอด ส่วนคุณแม่ที่ยังเจ็บแผลฝีเย็บอยู่ อาจเริ่มทำในสัปดาห์ที่สองหลังคลอดก็ได้ คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจจะบริหารกะบังลมโดยการขมิบก้นในระหว่างที่ให้นมลูกก็ได้เพลินดีเหมือนกัน


คุณแม่ที่บริหารช่องคลอดและกะบังลมอย่างสม่ำเสมอ ช่องคลอดก็มักจะกลับมากระชับแข็งแรงเหมือนปกติภายในเวลา 3 เดือน ส่วนคุณแม่ที่ไม่ได้ทำการบริหารอย่างเต็มที่อาจจะทำให้มีอาการกะบังลมหย่อน มีปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม บางคนมีอาการปวดท้องน้อยบ่อยๆ เวลายกของหนัก เนื่องจากแรงเบ่งในช่องท้องจะดันมดลูกให้เลื่อนต่ำลงผ่านออกมาทางช่องกะบังลมที่ยังขยายกว้างอยู่ทำให้เกิดการตึงเจ็บที่ปีกมดลูกทั้งสองข้าง


อย่าลืมนะครับ คุณแม่ที่ผ่านการคลอดมาแล้ว ถ้าบริหารช่องคลอดและกะบังลมอย่างสม่ำเสมอก็สามารถฟื้นฟูสภาพกลับมาตึงกระชับเหมือนสาวๆ ได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าหมั่นบริหารอยู่เสมอ สาวๆ บางทียังสู้ไม่ได้เลยครับ


สำหรับคุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าตัดออกทางหน้าท้อง จะมีรอยผ่าตัดยาวประมาณ 10-12 ซม. ที่บริเวณหน้าท้องส่วนล่าง แผลอาจจะเป็นแผลยาวตรงกลาง ซึ่งมักจะเย็บด้วยไหมตัด จึงต้องกลับไปตัดไหมอีกครั้งประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด ส่วนกรณีที่แผลผ่าตัดเป็นรอยขวางที่หัวหน่าวก็มักจะเป็นไหมละลาย ไม่จำเป็นต้องตัดไหม นอกจากนั้นในปัจจุบันพลาสเตอร์ปิดแผลยังสามารถกันน้ำได้ ทำให้คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ในช่วงหลังคลอด ดังนั้นก่อนออกจากโรงพยาบาล คุณแม่ควรสอบถามให้แน่ใจทุกครั้งว่าต้องตัดไหมหรือเปล่า อาบน้ำได้หรือไม่


โดยปกติแล้วแผลผ่าตัดจะแห้งและติดสนิทในเวลาประมาณ 7-10 วัน หลังจากนั้นคุณแม่ก็จะสามารถอาบน้ำได้ หลังอาบน้ำแล้วก็ควรเช็ดบริเวณแผลให้แห้ง อาจใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดแผลในระยะแรกๆ ในระยะที่แผลกำลังหาย อาจมีอาการคันยุบยับบ้าง แต่ก็ไม่ควรเกานะครับเพราะจะทำให้แผลนูนหนากลายเป็นแผลเป็นได้ง่าย


นอกจากนั้นคุณแม่หลังคลอดควรหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงชั้นในประเภทบิกินีตัวเล็กตัวน้อย เพราะขอบยางยืดของกางเกงในจะกดเสียดสีที่รอยแผล ทำให้แผลนูนหนาแข็งเป็นแผลเป็นได้ กางเกงในประเภทตัวใหญ่ๆ เชยๆ จะดีสำหรับคุณแม่หลังผ่าตัดมากกว่า


คุณแม่ที่ชอบใส่กางเกงเป็นประจำ ก็ควรหลีกเลี่ยงกางเกงคับๆ ประเภทกางเกงยีนส์ เพราะซิบตรงกลางจะกดเสียดสีกับแผลบ่อยๆ ทำให้ตรงกลางนูนขึ้นดูไม่สวย ดังนั้นคุณแม่หลังผ่าตัดควรใส่เสื้อผ้าหลวมสบายจะดีกว่า


หน้าท้อง


ระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ หน้าท้องสวยๆ ของว่าที่คุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปจนน่าตกใจ ทั้งหนา ทั้งดำ ทั้งลาย เห็นสภาพหน้าท้องของตัวเองแล้วก็กลุ้มใจ การดูแลตัวเองในระยะหลังคลอด ก็จะช่วยให้หน้าท้องกลับมาดูดีขึ้น แม้ว่าจะไม่สวยเท่าแต่ก่อน แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้กลายพะโล้เป็นตุ่มต่อขานะครับ


ตอนท้องขนาดของมดลูกที่โตขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ผนังหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหน้าท้องยืดขยายออก อีกทั้งคุณแม่บางคนก็ไม่ค่อยระวังเรื่องอาหารการกิน กินอะไรก็อร่อยไปหมด ไขมันส่วนเกินก็เลยสะสมไว้ที่หน้าท้องมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังคลอดหน้าท้องของคุณแม่จะทั้งหย่อนทั้งหนาจนน่าหนักใจ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระยะหลังคลอดก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และยังช่วยลดไขมันหน้าท้องได้อีกด้วย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะได้ประโยชน์แก่ลูกน้อยอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะยังช่วยระบายไขมันส่วนเกินออกไปได้อีกด้วย ของเก่าก็ยังเหลืออีกตั้งเยอะ ของใหม่ก็อย่าเพิ่งเติมเข้าไปอีก อาหารประเภทไขมัน ของหวาน อาหารประเภทแป้งทั้งหลาย ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้มีไขมันสะสมที่หน้าท้องของคุณแม่มากขึ้น


หน้าท้องของคุณแม่บางคนจะมีสีคล้ำดำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ในระยะหลังคลอดผิวหนังชุดเดิมซึ่งมีสีคล้ำจะค่อยๆ ลอกหลุดออกไปเป็นขี้ไคลภายใน 3-4 เดือน ผิวหนังชุดใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทนเรื่อยๆ ตามธรรมชาติก็จะมีสีเหมือนปกติ ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรกังวลหรือร้อนรนจนเกินไป บางคนถึงกับอบตัวขัดผิว เสียเงินเสียทองไปเยอะแยะ ถ้าให้เวลาแก่ร่างกายสักหน่อย ผลที่ได้ก็ไม่แตกต่างกันเลย


ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากช่วงหลังคลอด ร่างกายก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงมากด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลตัวเองให้ดีด้วยนะครับ เรื่องสำคัญอย่างนี้ละเลยไม่ได้เชียว

ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2550 15:11:47 น.
Counter : 46834 Pageviews.  

รับมือภาวะหลังคลอด

ช่วงหลังคลอดร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย จะมีวิธีดูแลและปฏิบัติตัวอย่างไรดี ต้องติดตามครับ


ปกติแล้วช่วงหลังคลอดคุณแม่ก็ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลอีกประมาณ 2-3 วัน เพราะภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าจะเกิดก็มักจะเป็นใน 2 วันแรกนี้แหละครับ ดังนั้นในช่วงนี้อยู่ใกล้ๆ หมอไว้เป็นดีที่สุด นอกจากนั้นตอนอยู่โรงพยาบาลก็จะมีคุณพยาบาลคนสวยมาคอยสอนแนะนำวิธีอุ้มลูก วิธีให้นมลูก วิธีอาบน้ำลูก ถ้าพลาดตอนนี้รับรองเสียดายแย่เลย


ระยะหลังคลอด...ในโรงพยาบาล


มาดูกันตั้งแต่คลอดลูกออกไปเรียบร้อยกันเลยดีกว่า... เมื่อลูกคลอดออกไปแล้ว มันก็เหมือนกับยกภูเขาออกจากอกเลยทีเดียวครับ ความเจ็บปวด ความทรมาน ความแน่นอึดอัด ความกลัว ความกังวลก็หายไปเป็นปลิดทิ้งเลยทีเดียว พอคลอดแล้วคุณหมอมักจะนำลูกน้อยตัวดี ซึ่งก่อนหน้านี้ยังดิ้นอยู่ในท้องอยู่เลย แต่ตอนนี้คุณแม่ก็จะได้โอบกอด ชื่นชมสมกับที่รอคอยมานาน สีหน้าแววตาของคุณแม่ในตอนนี้ดูมีความสุขปลาบปลื้มที่ใครเห็นก็อดยืนดีด้วยไม่ได้ เห็นหน้าเห็นตาแนะนำตัวกันเรียบร้อยแล้ว คุณพยาบาลก็จะลองให้ลูกได้ดูดนมแม่จากเต้าสักแป๊บนึง เพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ของความเป็นแม่ และยังช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้เร็วขึ้นด้วย


ช่วงนี้เพื่อไม่ให้เสียเวลาคุณหมอก็จะตั้งหน้าตั้งตาเย็บซ่อมแซมแผลฝีเย็บที่คุณหมอตัดออกเพื่อทำคลอดให้กลับเข้าที่เรียบร้อยเหมือนเดิม เสร็จแล้วก็จะให้คุณแม่นอนพักเหนื่อยอยู่ในห้องคลอดอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ช่วงนี้คุณพยาบาลก็จะมาตรวจวัดความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ดูว่ามดลูกแข็งตัวดีมั้ย มีเลือดออกทางช่องคลอดมากเกินไปหรือเปล่า เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็จะย้ายคุณแม่กลับเข้าห้องพัก ช่วงนี้คุณพ่อหรือญาติๆ ทั้งหลายก็ยังไม่ควรไปเยี่ยม หรือรบกวนมากในช่วงนี้ ปล่อยให้คุณแม่ได้นอนพักสบายๆ อย่างน้อยสัก 4-6 ชั่วโมงจะดีกว่า


เมื่อตื่นแล้วคุณแม่อย่าเพิ่งรีบลุกขึ้นจากเตียงทันทีทันใด เพราะอาจมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้ ให้ลืมตาดูรอบๆ ก่อน ถ้าไม่มีอาการเวียนหัวตาลาย ก็ลุกนั่งก่อนสักครู่จึงค่อยๆ ลุกขึ้นช้าๆ คุณแม่บางคนที่มีอาการอ่อนเพลียหรือเสียเลือดมาก มักจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้ง่าย ทางที่ดีก็ควรหาใครสักคนอยู่เป็นเพื่อนด้วยจะได้ช่วยเหลือกันได้อย่างทันท่วงที


เมื่อคุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว ก็ถึงบทที่ต้องฝึกหัดความเป็นแม่กันแล้ว ช่วงหลังคลอดในโรงพยาบาล คุณแม่ควรใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด แทนที่จะเอาแต่นอนอย่างเดียวคุณแม่ควรได้ลองหัดเลี้ยงดูลูกบ่อยๆ เรียนรู้เทคนิคต่างๆ จากคุณพยาบาลที่จะคอยสอนให้หัดให้นมลูก อุ้มให้เรอ ดูแลทำความสะอาดก้น เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ หัดทำให้คล่อง แล้วคุณแม่ก็จะมีความมั่นใจ เมื่อต้องกลับไปดูแลลูกน้อยด้วยตัวเองที่บ้าน อย่าลืมให้คุณพ่อหัดช่วยดูแลลูกน้อยไปพร้อมๆ กันด้วย เวลากลับบ้านไปแล้วคุณพ่อจะได้มีส่วนร่วมในการดูแลลูกด้วย เป็นการสร้างความรักความผูกพันในครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะบางครั้งคุณแม่ผูกขาดทำทุกอย่างเองเสียหมด เอาแต่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกน้อย จนในบางครั้งคุณพ่ออาจจะรู้สึกเหมือนเป็นส่วนเกินในบ้าน เดี๋ยวเขาจะน้อยใจ


ความผิดปกติในช่วงหลังคลอดก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางราย ที่สำคัญจำง่ายตามสูตรผมก็คือ หนึ่ง...ต้องไม่มีไข้ สอง...ต้องเจ็บแผลน้อยลง สาม...ต้องปวดท้องน้อยลง สี่...เลือดต้องออกน้อยลง

ไข้ต้องไม่มี เพราะการที่มีไข้ก็แสดงว่าอาจมีบางสิ่งบางอย่างไม่ปกติ เช่น แผลอักเสบ มดลูกอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่บางทีนมคัดก็ทำให้มีไข้ได้เหมือนกัน


แผลต้องเจ็บน้อยลง แผลที่ดีต้องไม่บวม ไม่แดง ไม่เจ็บมากขึ้น ถ้าแผลบวม แผลแดง เจ็บมากขึ้น นั่นก็แปลว่าแผลกำลังอักเสบ อีกสองวันแผลก็แยกแล้วครับ


ท้องต้องปวดน้อยลง หลังคลอดมดลูกก็จะบีบตัวเล็กลงเรื่อยๆ ยิ่งบีบก็ยิ่งเล็ก แต่บีบทีก็จะปวดๆ เหมือนปวดประจำเดือน ยิ่งลูกกินนมแม่ก็จะยิ่งบีบ แต่โดยรวมแล้วความปวดก็ต้องน้อยลงทุกวัน


เลือดต้องออกน้อยลง เลือดที่ว่าก็คือน้ำคาวปลานั่นเองครับ สีต้องจางลง ปริมาณต้องน้อยลง ถ้าเลือดสดมากขึ้น ออกมากขึ้นอย่างนี้ก็แย่หน่อยครับ




ถ้าเป็นอะไรขึ้นมาไม่ว่าจะรกค้าง ตกเลือด แผลอักเสบ มดลูกอักเสบ อาการก็ไม่หนีสี่ข้อนี้แหละครับ


ก่อนกลับบ้านคุณหมอจะอธิบายการปฏิบัติเมื่อกลับบ้าน อาหารการกิน การบริหารร่างกาย ภาวะผิดปกติที่ต้องกลับมาพบแพทย์ และคุณหมอจะนัดตรวจหลังคลอดใน 4-6 สัปดาห์ข้างหน้า


ระยะหลังคลอด...ที่บ้าน


เมื่อกลับมาบ้านแล้ว คราวนี้คุณแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองแล้วครับ คุณแม่บางคนอาจจะกลัวเลี้ยงลูกไม่เป็น แต่สัญชาตญาณของความเป็นแม่จะช่วยให้คุณแม่สามารถผ่านพ้นระยะนี้ไปได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ยิ่งถ้าคุณแม่มีพี่เลี้ยงดีๆ เช่น คุณยายของลูกที่คอยช่วยสอนช่วยดูอยู่ก็จะยิ่งสบายไปกันใหญ่ บางทีคุณยายอาจแย่งเอาไปเลี้ยงเองหน้าตาเฉย คุณแม่ก็เลยสบายไป


อย่างไรก็ตามการเลี้ยงลูกก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สอนกันไม่ค่อยได้ บางคนก็อาจจะทำได้ดี บางคนก็อาจจะทำไม่ได้เรื่อง เหมือนการลองผิดลองถูก แต่คุณแม่ทุกคนก็มักจะอยากให้ลูกได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุด ในปัจจุบันก็มีหนังสือคู่มือการเลี้ยงลูกวางจำหน่ายทั่วไป คุณแม่ลองเลือกเอาเล่มดีๆ สักเล่ม ไว้เป็นคู่มือประจำกายก็จะสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องลองผิดลองถูกต่อไปอีก หนังสือคู่มือเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้คุณแม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างมั่นใจแล้ว ยังช่วยทำให้คุณแม่เข้าใจในพัฒนาการขั้นต่างๆ ของลูก ความผิดปกติของลูกที่อาจเกิดขึ้นได้ บางทีคุณแม่อาจจะรู้มากจนคุณหมอยอมแพ้ไปเลยก็ได้


การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปของคุณแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าครบถ้วน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง และของหวาน เพราะจะทำให้คุณแม่ยิ่งอ้วนขึ้นกว่าเก่าอาหารที่ดีในระยะหลังคลอดก็ควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมทั้งผักสด ผลไม้ต่างๆ รวมทั้งควรดื่มน้ำสะอาดเยอะๆ ด้วยครับ


ของที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างที่ลูกกินนมแม่ก็มีไม่กี่อย่างหรอกครับ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ยาดองเหล้าทั้งหลาย รวมทั้งผักที่มีกลิ่นแรงๆ เช่น สะตอ ชะอม ผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่าย เพราะจะทำให้น้ำนมมีกลิ่นเหม็นเขียว แล้วลูกก็จะไม่ยอมกินนมแม่ไปซะเฉยๆ


คุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน วันสองวันแรกหลังคลอดอาจจะยังไม่มีน้ำนมไหลออกมา คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจหรือกังวลว่าจะไม่มีน้ำนมให้ลูกกินนะครับ ต้องอาศัยเวลากันบ้าง เทคนิคสำคัญคือ พยายามให้ลูกได้ดูดนมจากอกแม่บ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง สลับกันทั้งสองข้าง ถ้าลูกดูดแล้วหลับไปก็ต้องคอยกระตุ้นให้ดูดต่อเนื่องนานพอ ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้อง นมก็จะเริ่มคัดและมีน้ำนมไหลภายใน 1-2 วันต่อมา แต่บางคนก็อาจจะมาช้ากว่านี้ก็ได้ น้ำนมที่ออกมาในช่วงแรกๆ จะมีลักษณะเป็นสีเหลืองใสๆ คล้ายน้ำเหลือง อันนี้เป็นน้ำนมที่มีความสำคัญมาก เรียกว่า “Colostrum” หรือนมน้ำเหลือง ที่จะมี “ภูมิต้านทาน” ของแม่ถ่ายทอดไปให้ลูกด้วย น้ำนมนี้จะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ดีอีกด้วย นมน้ำเหลืองนี้จะมีอยู่ในช่วง 5 วันแรก แล้วก็จะขุ่นขาวขึ้นจนกลายเป็นน้ำนมปกติ


ช่วงที่กำลังนมคัด คุณแม่ก็ต้องจำเอาไว้เสมอว่า “นมคัด-นมหนัก-ยืดยาว” นั่นก็แปลว่า ช่วงที่นมกำลังคัดเป่ง คุณแม่ก็ควรใส่ยกทรงที่อุ้มกระชับรับน้ำหนักได้ดีเอาไว้เสมอ หากไม่ใส่อะไรเดินโทงเทงทั้งวัน อีกไม่กี่เดือนมันก็จะย้วยยาวจนวางบนตักได้เลยล่ะครับ ที่สำคัญการดูแลป้องกันดีกว่ามาแก้ หากยานไปแล้วก็ไม่มียากินให้หดกลับเข้าที่ ไปผ่าตัดก็เจ็บตัว เสียสตางค์ แถมดูยังไงมันก็ไม่เป็นธรรมชาติ ใส่ยกทรงแบบเปิดฝาหน้าได้ ลงทุนไม่เท่าไร รับรองคุ้มค่า ยมการันตีได้เลยครับ


ยา...หลังคลอด


โดยปกติในระยะหลังคลอดคุณหมอจะให้รับประทานยาแก้อักเสบยาแก้ปวด และยาบำรุงเท่านั้น คุณแม่ก็ควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง เคร่งครัดจนหมด ส่วนยาวิตามิน ยาธาตุเหล็ก ก็ควรรับประทานต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อช่วยเสริมสร้างทดแทนเลือดที่เสียไปในระหว่างการคลอดและช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนั้นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะเสียแคลเซียมออกทางน้ำนมไปด้วย ทำให้คุณแม่อาจมีอาการเป็นตะคริว ฟันผุ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ง่ายในช่วงหลังคลอด ดังนั้นการรับประทานยาเสริมแคลเซียมก็จะช่วยทำให้คุณแม่ไม่ขาดแร่ธาตุนี้ และยังเป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยอีกด้วย


คุณแม่บางคนมีอาการท้องผูกในช่วงหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจากเจ็บแผลฝีเย็บ เลยไม่กล้าเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ หรือจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอก็ได้ ดังนั้นในระยะหลังคลอดคุณแม่ก็ควรดื่มน้ำให้มาก รับประทานผักสด ผลไม้ อาหารมีกากให้เพียงพอ ที่สำคัญห้ามซื้อยาถ่าย ยาระบายมารับประทานเอง เพราะยาบางประเภทอาจหลังออกมาทางน้ำนม ทำให้ลูกที่กินนมแม่มีอาการท้องเสียได้


ในระยะหลังคลอดที่ลูกกินนมแม่อยู่ คุณแม่ควรระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้ยาด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่า แม่กินยาอะไรลูกก็กินยานั้นด้วย


การตรวจหลังคลอด


หนึ่งเดือนผ่านไปแล้ว ในแต่ละวันที่คุณแม่สาละวนดูแลเจ้าตัวน้อย ร่างกายของคุณแม่ก็มีการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติในเวลาเดียวกัน โดยมากแล้วคุณหมอจะนัดคุณแม่มาตรวจอีกครั้ง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูว่าอวัยวะภายในต่างๆ ว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติเข้าที่เข้าทางดีแล้วหรือยัง


การตรวจหลังคลอดคุณหมอก็จะดูว่าแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัด มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ดูน้ำคาวปลา ตกขาว ดูว่าปากมดลูกปิดแล้วหรือยัง รวมทั้งตรวจหามะเร็งปากมดลูกด้วยเลยในคราวเดียวกัน แล้วก็จะดูว่ามดลูกหดเล็กลงเข้าที่ดีแล้วหรือยัง มีเจ็บมีอักเสบตรงไหนผิดปกติหรือเปล่า


สุดท้ายก็ต้องเตรียมตัวกลับไปเป็นภรรยาที่ดี เพราะอีก 2 สัปดาห์หน้าก็จะเริ่มมีอะไรกันได้ ก็เลยต้องมาวางแผนการคุมกำเนิดกันก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวลูกยังไม่ทันจะสามเดือนก็ท้องอีกแล้ว จะคุมวิธีไหนก็คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ก็อย่าลืมคุมซะให้เรียบร้อยนะครับ ไม่ได้มีอะไรกันมานาน เชื้อมันอัดอั้น เปิดปุ๊บ...ติดปั๊บมีเยอะแยะไป เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน


เห็นไหมครับว่า ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ถ้ารู้และเข้าใจคุณแม่ก็สามารถรับมือภาวะหลังคลอดได้สบายมาก

ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2550 15:06:09 น.
Counter : 864 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  
 
 

Healthy Service
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุ้มสมุนไพรบริการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอด
จำหน่าย ชุดอยู่ไฟ และสมุนไพร
สายด่วน 08-5426-7578 (24 ชม. ทุกวัน)http://www.KUMsamunpai.com/


จำนวนผู้เข้าเว็บ Best Free Hit Counters
Maternity Wear
Maternity Wear 234x60 70% off on over 3,000 designer fragrances SkinStore Special Offers Free Shipping
[Add Healthy Service's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com