คุ้มสมุนไพร "ภูมิปัญญาไทย เพื่อสุขภาพและความงามคุณ" บริการ อยู่ไฟ หลังคลอด ถึงบ้าน และจำหน่ายชุด อยู่ไฟ ด้วยตนเอง
 

โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์




แม่ทุกคนปรารถนาอยากให้ลูกที่เกิดมา มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่ก็มีแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจว่าจะต้องมีการปฏิบัติตัวในด้านอาหารการกินอย่างไรในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้กินอาหารไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย และมีผลกระทบต่อทั้งแม่และลูก


แม่ที่กินอาหารที่มีคุณค่า ให้สารอาหารครบในปริมาณเพียงพอ ลูกที่เกิดมาจะเจริญเติบโตและแข็งแรงดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าแม่กินอาหารที่ด้อยคุณภาพ ให้สารอาหารไม่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการสำหรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ ลูกก็จะนำอาหารที่แม่สะสมไว้ในร่างกายมาใช้ ซึ่งอาจจะเพียงพอหรือไม่ก็ได้ เป็นเหตุให้แม่อ่อนแอ ลูกที่เกิดมาก็จะอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร สามวันดีสี่วันไข้ กลายเป็นเด็กขี้โรค และเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร


หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือ หมู่ข้าว แป้งและธัญพืช หมู่ผัก หมู่ผักผลไม้ หมู่เนื้อสัตว์ และหมู่ไขมัน ในปริมาณที่จะให้ได้รับสารอาหาร คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่และน้ำ อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในขณะนั้น สารอาหารในอาหารทั้ง 5 หมู่นี้ มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันออกไป บางหมู่ต้องรับประทานเพิ่มขึ้น บางหมู่น้อยลง จึงต้องกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้นดังนี้

โปรตีน หญิงตั้งครรภ์ต้องการโปรตีนเพิ่มมากกว่าปกติทั่วไป เพื่อนำไปสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ลูก ปริมาณโปรตีนเพิ่มจากปกติประมาณวันละ 20-30 กรัม ถ้าคิดเป็นเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ขีด หรือถ้าเป็นนมสดประมาณ 2-3 แก้ว อาหารที่ให้โปรตีนที่ดี มีคุณภาพสูงเป็นอาหารที่มาจากหมู่เนื้อสัตว์ ซึ่งรวมถึงนม ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง


แคลเซียม เด็กในครรภ์ต้องการแคลเซียมเพื่อสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งเป็นโครงสร้างของร่างกาย แม่จึงต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ถ้าแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ลูกจะดึงเอาแคลเซียมที่สะสมในตัวแม่ออกมาใช้ ทำให้แม่มีปัญหาเกี่ยวกับฟันระหว่างตั้งครรภ์ และลูกที่เกิดมาอาจมีปัญหาเป็นโรคกระดูกอ่อนได้ อาหารที่มีแคลเซียมสูงคือ อาหารในหมู่เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอาหารทะเล ปลาเล็กปลาน้อย หรือปลาทอดกรอบและสามารถกินได้ทั้งก้างด้วย นมและไข่ก็มีแคลเซียมสูง และยังให้โปรตีนสูงด้วย หมู่ผัก โดยเฉพาะผักใบเขียวเข้มให้แคลเซียมสูง เช่น คะน้า ชะพลู ยอดแค ผักกระเฉด


เหล็ก ร่างกายต้องการเหล็กเพื่อนำไปสร้างเม็ดเลือดของแม่และลูก ประกอบกับแม่ต้องเสียเลือดมากขณะที่คลอด จึงจำเป็นที่แม่ต้องได้รับเหล็กอย่างเพียงพอมิฉะนั้นแม่อาจมีปัญหาโลหิตจางได้ อาหารที่มีเหล็กสูงเป็นอาหารในหมู่เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะตับ เลือดหมู เลือดไก่ กุ้งฝอยหรือกุ้งตัวเล็ก หมู่ข้าว แป้งและธัญพืช มีมากในถั่วเมล็ดแห้ง ส่วนหมู่ผัก มีมากในผักที่มีสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม ตำลึง เป็นต้น แพทย์อาจจะเสริมในรูปของยาเม็ดเมื่อไปฝากครรภ์ เพื่อให้ได้รับเหล็กอย่างเพียงพอ


ไอโอดีน ระหว่างตั้งครรภ์ แม่ต้องการไอโอดีนสูงขึ้น ถ้าได้รับไม่เพียงพออาจเป็นโรคคอพอกเพราะขาดไอโอดีนได้ง่าย อาหารที่มีไอโอดีนสูง ได้แก่ อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู และปลาทะเล ควรใช้เกลือที่เติมไอโอดีนในการประกอบอาหารเพื่อเสริมให้ได้รับไอโอดีนเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟัน แสงแดดสามารถเปลี่ยนสารที่อยู่ใต้ผิวหนังของคนให้เป็นวิตามิน ดี ได้ หญิงตั้งครรภ์จึงควรได้รับแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า-เย็นบ้าง ปัญหาการขาดวิตามิน ดี ในบ้านเราไม่ค่อยพบ เพราะมีแสงแดดมากเกินพอ แต่พบมากในประเทศที่มีแสงแดดน้อย และรับประทานอาหารที่มีวิตามิน ดี ไม่เพียงพอ ส่วนวิตามินชนิดอื่นๆ นั้น จะได้รับอย่าง เหมาะสมถ้ารับประทานอาหารให้ถูกต้องครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ




นอกจากหญิงตั้งครรภ์จะต้องเลือกรับประทานอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการแล้ว ยังต้องระวังเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นด้วย หญิงตั้งครรภ์บางคนมีความอยากรับประทานอาหารมากขึ้น ประกอบกับรู้สึกว่าจะต้องรับประทานสำหรับสองคน จึงเพิ่มทั้งปริมาณและจำนวนครั้งให้มากกว่าปกติ ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก น้ำหนักของแม่ที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่แรกตั้งครรภ์จนถึงก่อนคลอดไม่ควรเกิน 9-10 กิโลกรัม


ระยะ 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ น้ำหนักแม่ไม่ควรเพิ่มมาก และอาหารก็ไม่ควรรับประทานมากกว่าปกติ เพราะในระยะนี้เด็กเพิ่งจะเริ่มก่อตัว ความเจริญยังมีไม่มาก ถ้าแม่มีน้ำหนักเพิ่มมากในระยะนี้ จะเป็นน้ำหนกัของแม่มากกว่าของลูก ซึ่งจะเป็นปัญหาแก่แม่หลังคลอดแล้ว คือ อ้วนและลดน้ำหนักลงได้ยาก จึงต้องระวังในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ขนมหวานและไขมัน เพราะจะทำให้อ้วนได้ง่าย


ระยะ 3 เดือนก่อนคลอด แม่ควรได้รับอาหารและบำรุงร่างกายเต็มที่ เพราะเป็นระยะที่เด็กกำลังเติบโต น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเร็วและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็มักจะเป็นน้ำหนักของลูกมากกว่าของแม่ การลดน้ำหนักหลังคลอดของแม่จึงทำได้ไม่ยากนัก


ในทางตรงกันข้าม แม่บางคนห่วงเรื่องรูปร่างมากเกินไป กลัวอ้วนจนลืมนึกถึงสุขภาพและความต้องการสารอาหารของตนเองและลูกในระยะนั้น จะเอาอะไรเข้าปากแต่ละครั้งก็คิดแล้วคิดอีก เพราะกลัวอ้วน และพยายามอดอาหาร ผลสุดท้ายลูกที่คลอดออกมาผอมแห้ง มีน้ำหนักน้อย และกลายเป็นเด็กที่ไม่แข็งแรง เป็นภาระแก่พ่อแม่ในภายหลัง


เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกที่เกิดมาผอมแห้งและแม่ไม่อ้วนมากเกินไป แม่อาจจะสำรวจปริมาณอาหารที่รับประทานแต่ละวันว่ามากหรือน้อยกว่านี้หรือไม่

น้ำนม 2-3 แก้ว/วัน

ไข่ 2-3 ฟอง/สัปดาห์

เนื้อสัตว์ 1-1 1/2 ขีด/วัน

ผักสด อย่างน้อย 1-11/2 ทัพพีทุกมื้อโดยเฉพาะผักใบเขียว

ผลไม้ 2-3 ครั้ง/วัน (ครั้งละ 8-10 คำ)

ข้าว รับประทานเท่าเดิมเหมือนก่อนตั้งครรภ์ และควรเป็นข้าวซ้อมมือและถั่วเมล็ดแห้งบ้าง

ไขมัน น้ำมัน 2-3 ช้อนชา/วัน และควรเป็นน้ำมันพืช


ถ้าแม่รับประทานอาหารได้ในปริมาณนี้ ก็เชื่อแน่ว่าทั้งแม่และลูกจะสมบูรณ์แข็งแรงดี ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ และหลังคลอด ลูกที่เกิดมาจะเจริญเติบโต ไม่ขี้โรค แม่ก็สามารถลดน้ำหนักลงได้เข้าสู่สภาพเดิมก่อนการตั้งครรภ์ได้ง่าย จึงไม่ควรลังเลที่จะปฏิบัติตนและเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อทั้งแม่และลูกในภาวะตั้งครรภ์

ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2551 16:45:24 น.
Counter : 3049 Pageviews.  

เรื่องอ้วนกับการตั้งครรภ์



มีคำถามถามผมมาว่า “คุณแม่ถ้าอ้วนนั้นไม่ดีอย่างไร?” ก่อนอื่นต้องตีความหมายกันก่อน คุณแม่ในที่นี้หมายถึง คุณผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องและกำลังจะเป็นคุณแม่ ไม่ดีในที่นี้คงไม่ได้หมายความว่า นิสัยไม่ดี แต่คงจะหมายถึงว่าความอ้วนนั้นมันทำให้มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร


เอาละเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ ก็จะขอสาธยายกันเลย ว่าไปแล้วคนอ้วนหรือใครๆ อ้วนนั้นไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน บางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ดีกินดี โดยเฉพาะประเทศแถบเมืองหนาว ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องสะสมไขมันไว้เพื่อสร้างความอบอุ่น คุณผู้หญิงประเทศเหล่านั้น จึงพากันทำหุ่นให้อ้วนโดยมิได้ตั้งใจ


คุณผู้หญิงชาวไทยโชคดีหน่อย ที่อยู่ในประเทศแถบเมืองร้อน การสะสมไขมันเอป้องกันความหนาว จึงไม่ค่อยมีความจำเป็นอะไรเลย แต่ถึงกระนั้นคงเป็นเพราะอาหารการกินบ้านเรานั้นมันถูกปากชาวไทยประเภทเหนือชั้นกว่าอาหารหลายๆ ชาติ จึงเป็นเหตุให้จำนวนไม่น้อยรับประทานแบบตามใจปาก จึงอ้วนเป็นหมูในที่สุด


พูดถึงการตั้งครรภ์กับการอ้วนนั้นไม่มีอะไรดีสักอย่าง


เริ่มต้นกันตั้งแต่การมีลูก ความอ้วนจะเป็นต้นเหตุให้ท้องยาก ทั้งนี้เพราะความอ้วนมันมีความสัมพันธ์กับการทำงานของรังไข่ ความอ้วนทำให้รังไข่ทำงานแบบขี้เกียจ ไข่มักไม่ตก สังเกตได้จากความเพี้ยนของรอบเดือนหลายๆ คนเมื่อสามารถลดความอ้วนลงจนได้ที่ก็จะสามารถตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น

1. ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อ้วน ก็ลองลดความอ้วนให้จริงจังดูบางทีจะช่วยให้คุณมีลูกง่ายขึ้นนะครับ หรือคุณไม่รู้ตัวว่าคุณนั้นมีรูปร่างอ้วน แต่เข้าใจว่าตัวเองไม่ผอมต่างหาก ก็คำนวณดูมวลสารในร่างกายคุณเองได้นะครับ โดยทำการคำนวณได้ด้วยสูตรง่ายๆ ดังนี้ คือ เอาน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมตั้ง แล้วหารด้วยความสูงมีหน่วยเป็นเมตรของคุณยกกำลังสอง เมื่อผลลัพธ์ออกมาว่ามากกว่า 25 ขึ้นไปก็หมายความว่าคุณมีรูปร่างโตกว่ามาตราฐานแล้ว และหากผลลัพธ์ออกมาสัก 30 นั่นก็แสดงว่าคุณอ้วนเป็นหมูตัวจริงโดยปฏิเสธไม่ได้เลย ต้องรีบลดน้ำหนักลดความอ้วนกันอย่างจริงจังก่อนที่จะตั้งท้อง


2. เมื่อตั้งท้องด้วยความยากลำบาก หนอยแน่ะ ความอ้วนแท้ๆ เป็นต้นเหตุที่ทำให้แท้งง่ายกว่าคนผอมเสียอีก ไม่อยากแท้งก็อย่าอ้วนก่อนท้องนะครับ


3. หากไม่มีการแท้งเกิดขึ้นเสียก่อน และการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เมื่อคุณมีความอ้วนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น โอกาสที่คุณจะเป็นโรคเบาหวานแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ก็จะมีโอกาสมากขึ้น ไม่อยากเป็นเบาหวานก็อย่าอ้วนนะครับ


4. ส่งเสริมการเกิดโรคหัวใจให้มีมากขึ้น ตามลำพังความอ้วนก็มีส่วนให้หัวใจทำงานหนักอยู่แล้ว ก็ลองนึกภาพดูซิครับ เมื่อเปรียบเสมือนปั๊มน้ำตัวกะจิริด ต้องปั๊มน้ำเลี้ยงคนทั้งคอนโดขนาดยี่สิบชั้น คงทำงานได้ไม่กี่วันปั๊มพังแน่นอน หัวใจของคนอ้วนก็เช่นเดียวกันครับ มันทำงานหนักเมื่อไหร่เป็นเหตุให้มันเหนื่อย แล้วก็ล้มเหลวเอาได้ง่ายๆ และถ้าหากมีการตั้งครรภ์ร่วมด้วย ก็เท่ากับว่าหัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมเข้าไปอีก เป็นเหตุให้มันพาลเบี้ยวงานเอาได้ง่ายๆ


ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าคือ อย่าอ้วนตอนตั้งครรภ์หรือถ้าอ้วนเป็นทุนเดิม ก็พยายามลดความอ้วนกันอย่างเต็มที่ วงเล็บนะครับว่าอย่าลดความอ้วนด้วยการใช้ยาโดยเด็ดขาด แต่ลดด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ทางที่ดีปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยให้คุณลดน้ำหนักอย่างได้ผล


ลดความอ้วนได้แล้วค่อยปล่อยให้ตั้งครรภ์นะครับและต้องระวังด้วยว่าในช่วงการตั้งครรภ์นั้น คุณมีโอกาสกลับมาอ้วนได้อีกง่ายดาย ถ้าไม่ระวังเรื่องของอาหารการกิน


5. มีโอกาสมีโรคความดันโลหิตแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะความอ้วนเป็นต้นเหตุและก็เท่ากับว่าจะเพิ่มโอกาสให้คุณมีโรคครรภ์เป็นพิษแทรกซ้อนขึ้นมาได้ระหว่างหารตั้งครภ์ นับแต่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป


ไม่มีสูติท่านไหน ชอบครรภ์เป็นพิษหรอกครับ ไม่เกิดครรภ์เป็นพิษได้เป็นดีที่สุดเลยครับ


6. ความอ้วนทำให้คุณคลอดยากและมักลงเอยด้วยการผ่าตัดคลอด ทั้งนี้เพราะว่าเด็กมักจะตัวโต ทางคลอดมักจะแคบเพราะคุณมีเนื้อหนากับไขมันที่พอกพูนขึ้นมา ทำให้ทางคลอดที่เรียกว่า SOFT BIRTH PASSAGE แคบจนกระทั่งคลอดไม่ได้ หรือคลอดด้วยความยากลำบากจนต้องผ่าคลอดในที่สุดถ้าไม่อยากผ่าคลอดก็อย่าอ้วนตอนท้องนะครับ


7. เมื่อผ่าคลอดแล้ว แผลผ่าตัดจะหายยากกว่าคนผอมนะครับ นั่นหมายความว่าโอกาสที่แผลจะอักเสบติดเชื้อและเป็นหนองง่ายขึ้น เพราะความอ้วนที่มีชั้นไขมันหนาๆ นี่แหละครับ ไม่ต้องการแผลอักเสบเป็นหนองให้ลำบากตัว ก็อย่าอ้วนนะครับ


เขียนถึงความไม่ดีของความอ้วนกับการตั้งครรภ์มาได้ 7 ประการ ซึ่งผมเชื่อว่ายังไม่หมดหรอกนะครับกับความไม่ดีของความอ้วนที่จะมีผลกระทบกับการตั้งครรภ์ไม่ว่ากับตัวทารกหรือว่ากับคุณเอง ก็ขอให้พิจารณานะครับว่า คุณจะเลือกแบบไหนดี


ที่มา..นิตยสารบันทึกคุณแม่




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2551 16:39:53 น.
Counter : 1565 Pageviews.  

เมื่อคลอดลูกรกค้างต้องทำ อย่างไร?

เช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคม คุณวีรวรรณ ซึ่งตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์แล้วได้พักผ่อนอยู่ที่บ้านพัก พร้อมกับลูกสาวคนโตอายุ 14 ปี ซึ่งไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะไม่สบายเป็นไข้หวัด คุณวีรวรรณมีลูกแล้วทั้งหมด 4 คน แต่เนื่องจจากเป็นลูกสาวทั้งหมดจึงต้องการลูกชายไว้สืบสกุลตามธรรมเนียมจีน ลูกคนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นี้จากผลการตรวจอัลตร้าซาวด์ดูแล้วโชคดีที่เป็นเพศชายสมตามความปราถนา เพราะตอนนี้คุณวีรวรรณอายุ 41 ปีแล้ว ถ้าเป็นลูกสาวอีกคงไม่อยากจะมีบุตรอีกแล้ว ลูกสาวสามคนแรกนั้นคลอดเองปกติ แต่คนที่สี่นั้นทารกเป็นท่าขวางจึงต้องทำการผ่าตัดออก และคุณวีรวรรณมีกำหนดที่จะผ่าตัดคลอดลูกชายในสัปดาห์หน้านี้แล้ว………….


นับตั้งแต่เช้ามาคุณวีรวรรณรู้สึกเจ็บครรภ์เตือนหลายครั้ง จนกระทั่งเกือบเที่ยงก็รู้สึกเจ็บถี่ขึ้นตามประสบการณ์รู้ว่าควรจะต้องไปโรงพยาบาลแล้วเพราะท้องหลังๆ เช่นนี้จะคลิดเร็ว จึงโทร.บอกให้สามีขับรถกลับมารับ และให้ลูกสาวคนโตไปเตรียมของ หลังจากเวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมงคุณวีรวรรณไปเข้าห้องน้ำแล้วจึงสังเกตเห็นว่ามีน้ำอุ่นๆ ไหลออกมามากกว่าปัสสาวะปกติ ซึ่งคาดว่าถุงน้ำคร่ำจะแตกและมีน้ำเดินแล้ว ไม่นานสามีก็มาถึงและรับไปยังโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ก็พาไปยังห้องคลอด คุณหมอบอกว่าปากมดลูกเปิดหมดแล้วและเห็นศรีษะเด็กแล้วจึงให้ลองคลอดเองก่อน และเพียงไม่นานต่อมานั้นคุณวีรวรรณก็ได้คลอดลูกชายออกมา ทารกร้องเองโดยธรรมชาติและดูเหมือนจะแข็งแรงดีคุณหมอได้ตัดสายสะดือให้และทำคลอดรก เหตุการณ์ทุกอย่างดูราบรื่นดีกว่าที่คิดไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงไม่มีการคลอดรกออกมา คุณหมอบอกว่าจะต้องทำการล้วงรกออกมาให้เพราะว่ารกไม่ลอกตัวออกมาเอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้รกไม่หดตัวลงและคุณวีรวรรณได้เสียเลือดไปมาก จึงได้ย้ายคุณวีรวรรณไปยังห้องผ่าตัดเพื่อให้ยาระงับความรู้สึกแล้วทำการล้วงรกออกมาให้


หลังจากนั้นประมาณสองชั่วโมงคุณวีรวรรณตื่นขึ้นมา และสุขภาพทั่วไปก็แข็งแรงดี เพียงแต่อ่อนเพลียเนื่องจากเสียเลือดไปมากเท่านั้น วันแรกพยาบาลนำลูกมาให้คุณวีรวรรณให้นมที่ห้องพัก และวันรุ่งขึ้นคุณวีรวรรณก็สามารถเดินไปให้นมลูกได้เอง คุณวีรวรรณได้ออกจากโรงพยาบาลสามวันหลังจากนั้น และครอบครัวก็มีสมาชิกใหม่ซึ่งนำความยินดีมาให้แก่ทุกคน


ไขปัญหาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


ทางการแพทย์จะแบ่งการคลอดออกเป็นสามระยะ คือ

1. First stage of labor คือการเริ่มจากการเจ็บครรภ์จริงไปจนกระทั่งปากมดลูกเปิดขยายหมดคือ 10 เซนติเมตร โดยปกติในครรภ์แรกจะกินเวลานานหลายชั่วโมง แต่ในครรภ์หลังๆ จะใช้เวลาน้อยลงมาก


2. Second stage of labor คือเริ่มจากปากมดลูกเปิดหมดไปจนกระทั่งคลอดทารกออกมา


3. Third stage of labor คือเริ่มจากภายหลังจากทารกคลอดไปจนกระทั่งรกคลอดออกมา ซึ่งไม่ควรยาวนานเกินกว่าหนึ่งชั่วโมง


4. Fourth stage of labor คือระยะ 1 ชั่วโมงภายหลังจากรกคลอดออกมาแล้วโดยธรรมชาตินั้นเมื่อทารกคลอดออกมา และเส้นเลือดที่เชื่อมออกผนังมดลูกของแม่กับรกที่ขาดออกจากกันนั้นจะถูกบีบรัดเพื่อหยุดเลือดโดยการหดตัวของมดลูกนั่นเอง ดังนั้นในกรณีของคุณวีรวรรณ เมื่อรกไม่คลอดออกมาหลังจากที่เด็กคลอดออกมาเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี และเกิดการเสียเลือด เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ในอันดับแรกแพทย์จะทำการช่วยเหลือโดยการให้ยาช่วยการหดรัดตัวของมดลูกก่อน แต่ถ้าหากไม่ได้ผล และในระยะ Third stage of labor กินเวลาเกินกว่า 1 ชั่วโมง แพทย์จะทำการล้วงรกออกให้และเมื่อรกออกมาครบแล้วมดลูกก็จะหดรัดตัวได้ดีขึ้น ซึ่งในระยะหลังรกคลอดแล้วนั้นผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจดูการหดรัดตัวของมดลูกต่อไป เนื่องจากมีบางกรณีที่เมื่อล้วงรกออกมาแล้วมดลูกยังไม่สามารถหดรัดตัวได้ เนื่องจากมีการแทรกของเนื้อรกเข้าไปอยู่ตามกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งถ้าหากทำให้มารดามีการเสียเลือดมากก็จำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้ง



การที่รกมีการเกาะแน่นอยู่ในมดลูกและไม่สามารถลดออกมาได้เองนั้นทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและการที่รกเกาะแน่นนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. Accreta คือมีการเกาะตัวของรกกับเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่อย่างแน่นหนาทำให้รกลอกตัวออกมาได้ยากหรือลอกตัวออกมาเองไม่ได้ ในกรณีนี่เมื่อทำการล้วงรกออกมาแล้ว มดลูกจะสามารถออกมามีการหดรัดตัวได้ดีตามปกติ


2. Increta คือมีการเกาะตัวของรกกับชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกของแม่ ทำให้รกลอกตัวออกมาได้ไม่หมดหรือลอกตัวเองออกมาไม่ได้ ในกรณีนี้เมื่อทำการล้วงรกออกมาแล้ว มดลูกอาจจะไม่สามารถกลับมาหดรัดตัวได้ตามปกติ และถ้าหากมีการสูญเสียเลือดมากอาจต้องทำการตัดมดลูกทิ้ง


3. Percreta คือมีการเกาะตัวของรกผ่านทะลุชั้นกล้ามเนื้อมดลูกออกมาจนถึงเยื่อหุ้มมดลูกในช่องท้องของแม่ ทำให้รกลอกตัวออกมาเองไม่ได้ ในกรณีนี่เมื่อทำการล้วงรกออกมาแล้ว มดลูกมักจะไม่สามารถกลับมาหดรัดตัวได้ตามปกติ และมักต้องทำการตัดมดลูกทิ้ง


ที่มา..นิตยสารบันทึกคุณแม่




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2551 16:20:19 น.
Counter : 1475 Pageviews.  

ท้องแบบไหนถึงผ่าคลอด



ใช่จะรณรงค์ให้แม่ไทยหันมาผ่าคลอดเหมือนกระแสนิยมสมัยนี้นะคะ เพราะเรากำลังจะบอกคุณๆ ค่ะว่า การผ่าตัดคลอดนั้นเป็นเรื่องเฉพาะจริงๆ สำหรับแม่บางคน และบากรณีเท่านั้น หนำซ้ำการผ่าตัดคลอดยังอาจมีข้อเสียบางอย่างด้วยสิ !

ผ่าตัดคลอด หรือ Caesarean Section เป็นการผ่าตัดคลอดทารกทางหน้าท้องบริเวณด้านล่างของมดลูก วิธีคลอดแบบนี้ไม่ใช่วิธีธรรมชาติดังที่คุณๆ กลังเขาใจกันอยู่นะคะ และหมอสูติฯ ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกให้ผ่าตัดคลอดในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

แต่ถึงแม้จะมีเหตุผลดังว่าก็ตาม ตัวเลขการผ่าตัดคลอดในปัจจุบันกลับเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก แม้ในไทยเอง แม่ไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าการผ่าตัดคลอดเป็นวิธีที่ทันสมัยเหมาะกับแม่ยุคใหม่ เพราะทันใจ ทันเวลา ได้เห็นหน้าค่าตาลูกอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องนอนแกร่วปวดท้องรอคลอดเป็นวันๆ แถมริ้วรอยของการผ่าตัดก็นิดเดียว ไม่นานก็กลับมาสวยได้เหมือนเดิม

ส่วนมุมมองของหมอสูติฯ ที่สนับสนุนการผ่าตัดคลอดก็เห็นว่า การผ่าตัดคลอดนั้นดี สามารถระบุวันและเวลาการผ่าตัดได้ตามสะดวก ไม่ต้องรอนานเป็นวันๆ ใช้เวลารวดเร็วทำให้คุณหมอสามารถไปปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ได้อีก และรายได้ก็ดีกว่าด้วย

ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ “การผ่าตัดคลอด” จึงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเสียงต่อต้านออกมาเป็นระยะๆ ก็ตาม ว่าการคลอดแบบนี้ควรเกิดขึ้นในกรณีเฉพาะจริงๆ เท่านั้น

และก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกทางไหน... ผ่าตัดคลอดหรือคลอดธรรมชาติ รักลูกอยากให้คุณพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้อย่างละเอียดค่ะ

ผ่าตัดคลอดจำเป็นเมื่อ...

เด็กอยู่ในท่าผิดปกติภายในมดลูก เช่น อยู่ในท่าหันข้างเอาก้นลง หรือเอาเท้าลง ซึ่งโดยทั่วไป เด็กจะต้องเอาหัวลงจึงจะถือเป็นท่าปกติ

แม่มีความดันเลือดสูง (ครรภ์เป็นพิษ) หรือเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ

ตั้งท้องแฝดมากกว่าสองคน

ไม่มีความคืบหน้าในการคลอด เนื่องจากการกระตุ้นการคลอดไม่สำเร็จ

สายสะดือเคลื่อนออกทางช่องคลอด

รกเกาะตัวต่ำจนครอบบริเวณปากมดลูก

เด็กตัวโตมาก

มีการตกเลือดก่อนคลอด เนื่องจากรกลอกตัวก่อนกำหนด ฯลฯ



ยาชามีกี่แบบ

แน่นอนค่ะ เมื่อผ่าตัดก็ย่อมต้องมียาชา ยาสลบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งวิธีการที่ใช้ในกระบวนการผ่าคลอดนั้นทำได้หลายวิธีดังนี้

การฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังแบบเอพิดูรัล (Epidural) ซึ่งนิยมกันมากที่สุด วิธีนี้แม่จะรู้สึกตัวตลอด ระยะเวลาของการผ่าตัด เมื่อคลอดเสร็จจะสามารถอุ้มลูกได้ทันที การฉีดยาชาแบบนี้แม่จะได้ยินเสียงดูดของเหลวต่างๆ และรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของแรงดันในท้องและการดึงรั้งในขณะที่ลูกกำลังคลอด


การฉีดยาชาเข้าไปในช่องไขสันหลัง (Spinal Anaesthetic) วิธีนี้จะคล้ายกับวิธีแรก แต่ยาจะออกฤทธิ์เร็วกว่าและระยะเวลาสั้นกว่า ส่วนใหญ่หมอจะใช้ในกรณีฉุกเฉิน วิธีนี้จะคล้ายกับวิธีแรก แต่ยาจะออกฤทธิ์เร็วกว่าและระยะเวลาสั้นกว่า ส่วนใหญ่หมอจะใช้ในกรณีฉุกเฉิน


การให้ยาสลบ (General Anaesthetic) วิธีนี้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเหมือนวิธีที่สอง และการผ่าตัดต้องทำในทันที โดยแม่จะเสียการรับรู้ทั้งหมด



ขั้นตอนการผ่าตัด

1. โกนขนบริเวณหัวหน่าว และทำความสะอาด

2. ใส่สายสวนคาไว้ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อไม่ให้มีปัสสาวะค้าง

3. ให้น้ำเกลือเข้าเส้นที่หลังมือ

4. รัดสายวัดความดันที่แขน เพื่ออ่านความดันเลือดได้คลอดเวลา

5. คลุมผ้าสะอาดบริเวณที่จะผ่าตัด กั้นม่านไม่ให้แม่เห็นบริเวณที่จะผ่าตัด

6. เริ่มให้ยาชาเข้าไขสันหลัง รอเวลาให้ยาชาออกฤทธิ์เต็มที่

7. เมื่อแน่ใจว่ายาสลบทำงานเรียบร้อยดีแล้ว หมอจะเริ่มผ่าบริเวณหน้าท้องด้านล่าง ซึ่งมักผ่าตามแนวที่เรียกว่า “บิกินี่”

8. ยกกระเพาะปัสสาวะขึ้น แล้วกรีดมีดที่มดลูก

9. เจาะถุงน้ำแล้วดูดน้ำคร่ำที่อยู่รอบๆ ตัวเด็กออก

10. ดึงตัวเด็กออกมา บางครั้งต้องใช้คีมดึงหัวออกมากรณีที่หัวอาจติดแน่นในช่องเชิงกราน

11. ถ้าหมอฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังหรือเข้าไปช่องไขสันหลัง เราอาจเห็นลูกขณะที่คลอดออกมา แถมยังได้ยินเสียงและได้อุ้มลูกในทันที

12. ขณะที่ลูกคลอดจะมีการฉีดยาซินโทมิทรีนเพื่อช่วยให้รกลอกตัว และทำคลอดรก จากนั้นจึงเย็บปิดแผล

13. หลังผ่าตัดเสร็จ แม่จะถูกพาไปห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดเพื่อเฝ้าดูอาการ ส่วนลูกอาจไปที่ห้องทารกแรกเกิดเพื่อเฝ้าดูอาการ


ผ่าตัดดีกับแม่อย่างไร ?


ข้อดี

ช่วยชีวิตแม่ ในกรณีที่การคลอดนั้นๆ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม่


แผลสมานได้ง่าย การผ่าตัดคลอดที่บริเวณมดลูกด้านล่างจะมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดด้านตรง และแผลจะหายได้เร็ว ไม่เป็นแผลเป็น




ข้อเสีย

เสี่ยงต่อการเสียชีวิต สูงกว่าคลอดธรรมชาติสองเท่า


เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในช่องท้อง เพราะการผ่าตัดคลอดต้องผ่าเข้าทางช่องท้อง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง และเส้นเลือดต่างๆ


เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้แม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น ทำให้การพักฟื้นหลังผ่าตัดนานออกไป และอาจส่งผลต่อการให้นมลูก


เสี่ยงต่อผลแทรกซ้อน เพราะการผ่าตัดคลอดต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ ซึ่งอาจมีผลแทรกซ้อนต่อแม่ได้


ตั้งท้องยากขึ้น เพราะหลังจากผ่าตัดคลอดครั้งแรกแล้ว โอกาสตั้งท้องครั้งต่อไปอาจเกิดภาวะการเคลื่อนตัวของไข่ได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ท้องนอกมดลูกได้ ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดอีกหน


รู้สึกผิดหวัง เพราะผู้หญิงบางคนเมื่อเป็นแม่ก็อยากจะรับรู้ความรู้สึกของความเป็นแม่ผ่านการคลอดเองตามธรรมชาติ ดังนั้นการผ่าตัดคลอดอาจทำให้แม่ไม่ได้ซึมซับความรู้สึกดังกล่าวได้


แยกกันหลังคลอดทันที เพราะการผ่าตัดคลอดทั้งแม่และลูกจะต้องแยกกันอยู่คนละห้อง โดยลูกต้องอยู่ในห้องทารกแรกเกิด ส่วนแม่ต้องพักฟื้นในห้องผู้ป่วยนอก ตรงนี้ทำให้สายสัมพันธ์แรกคลอด (Bonding) ระหว่างแม่ลูกขาดหายไปได้ในระยะแรกๆ


ระยะฟื้นตัวจะยาวนานกว่า คือต้องรอให้แผลสมานกันดีประมาณ 1 เดือน



ผ่าตัดคลอดมีประโยชน์กับลูกอย่างไร ?


ข้อดี


ช่วยชีวิตเด็ก ในบางกรณีการผ่าตัดคลอดจำเป็น เพื่อช่วยชีวิตเด็กเอาไว้


กระทบกระเทือนเด็กน้อยกว่า ในกรณีมีข้อสงสัยที่ว่าเด็กในท้องอาจมีปัญหา การผ่าตัดคลอดช่วยลดการกระทบกระเทือนต่อเด็กได้ เมื่อเทียบกับการคลอดทางช่องคลอด




ข้อเสีย

ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กที่ได้รับการผ่าตัดคลอดมักจะเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนใหญ่จะคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นจึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของการผ่าตัด คือ ยาจะไปกดทางเดินหายใจของลูก ทำให้หายใจยากเข้าไปอีก


ผลกระทบจากยาชา เด็กบางคนอาจได้รับผลเสียจากการใช้ยาชาหรือยาสลบ


ผลกระทบจากมีดผ่าตัด ในบางกรณีเด็กบางคนอาจถูกมีดบาดในขณะที่หมอกรีดเปิดมดลูก


อาจมีปัญหาการหายใจ เพราะการผ่าตัดคลอดจำเป็นต้องนัดผ่า และอาจทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทำให้มีปัญหาการหายใจได้ เนื่องจากขาดฮอร์โมนบางชนิดที่เด็กสร้างขึ้นระหว่างการคลอดปกติ (ฮอร์โมนดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสารเคลือบเยื่อบุปอด ทำให้ปอดขยายตัวเต็มที่ ส่งผลให้เด็กหายใจได้ตามปกติ)


สายสัมพันธ์แรกคลอดขาดหายไป เพราะการที่แม่และลูกต้องแยกจากกันทันทีหลังคลอด อาจส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์แรกคลอดได้


ลูกไม่ได้ดูดนมแม่ทันที เพราะหลังผ่าตัดคลอด ทั้งแม่และลูกต้องแยกกันอยู่คนละห้องทำให้โอกาสที่ลูกจะได้ดูดนมแม่น้อยลง

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าการผ่าตัดคลอดเป็นวิธีที่เฉพาะจริงๆ สำหรับแม่บางกรณีเท่านั้น ทีนี้ถ้าหมอคนไหนอยากลงมือเอามีดผ่าตัดโดยไม่บอกสาเหตุ หยิบยกข้อมูลนี้ท้วงติงเลยค่ะ

ที่มา..นิตยสารรักลูก




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2551 16:18:20 น.
Counter : 1025 Pageviews.  

แผลฝีเย็บกับการขับถ่าย

สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับแม่หลังคลอด คือความสะอาดค่ะ ยิ่งสวนที่เป็นแผลใกล้ๆ กับจุดซ่อนเร้น ยิ่งต้องดูแลและรักษาความสะอาดภายในอย่างดีเลยนะคะ




หลังคลอดสำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติแผลฝีเย็บกับช่องคลอดค่ะ ซึ่งเป็นช่องทางเดียวกับการทำธุระส่วนตัวแบบเบาๆ เป็นจุดที่ต้องรักษาความสะอาดและให้ความสำคัญนะคะเพราะเสี่ยงต่อการอับชื้น หมักหมมและเกิดการอักเสบได้ง่ายด้วยค่ะ


ในครั้งแรกที่คุณแม่เห็นเลือดปนออกมาในขณะปัสสาวะหรืออุจจาระ อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะเพราะเลือดที่เห็นอาจจะเป็นน้ำคาวปลาซึ่งจะค่อยๆ หายไปเองภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ นอกจากนี้ หากคุณแม่มีอาการเจ็บปวดที่แผลถือเป็นเรื่องปกติค่ะ สามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการกินยาแก้ปวดนะคะ

คุณแม่คลอดธรรมชาติ


Take Care

คุณแม่ที่ผ่าตัดหน้าท้องจะไม่เหมือนกับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาตินะคะ อยากอาบน้ำคงต้องอดใจรอไปก่อน ทำได้ก็เพียงเช็ดตัวและชำระจุดซ่อนเร้น แต่อย่าเพิ่งให้โดนที่แผลเด็ดขาด เพราะแผลที่เปียกอาจจะทำให้อักเสบได้ง่ายค่ะ


แล้วหลังจากนี้ประมาณ 1 อาทิตย์ไม่ว่าจะเป็นไหมละลายหรือต้องตัดไหม แผลผ่าตัดก็จะเริ่มสมานและแห้งสนิทดี คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ตามปกติค่ะ แต่หลังจากอาบน้ำเสร็จควรใช้สำลีหรือผ้าสะอาดซับบริเวณแผลให้แห้งสนิทก่อนสวมเสื้อผ้านะคะ


Don't

เวลาขับถ่ายควรระวังช่วงที่เบ่งให้ดี เพราะอาจเจ็บแผลได้ทางที่ดีไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกหรือถ่ายยากจนต้องเบ่งแรงๆ


อย่าใช้น้ำยาล้างแผลหรือแอลกอฮอล์เช็ดที่แผล ปล่อยให้แผลแห้งเองดีกว่าค่ะ ส่วนสะเก็ดที่เกาะบนแผลก็ไม่ควรแกะออก ให้หลุดไปเอง จะได้ไม่เป็นการทำให้เกิดแผลซ้ำซ้อนจากการแกะเพิ่มค่ะ


หากติดการนวดอยากผ่อนคลายเสียเหลือเกิน ก็นวดได้ค่ะแต่ต้องอย่านวดบริเวณหน้าท้องใกล้กับแผลผ่าตัด เห็นเพียงภายนอกยังตัดสินไม่ได้ว่าแผลหายสนิท เพราะแผลที่เย็บหลายชั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนกว่าที่แผลบริเวณนั้นจะมีความแข็งแรงเหมือนเดิมนะคะ


รู้ว่ากำลังเห่อลูกแล้วอยากใกล้ชิดและทำให้ลูกทุกอย่าง แต่ถึงอย่างไรก็อย่าลืมรักษาสุขภาพคุณแม่เพื่อสุขภาพคุณลูกด้วยนะคะ


Concer

หากแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดมีอาการบวม แดง แผลแตกแยกออกจากกันและเลือดไหล รู้สึกปวดและมีอาการไข้ร่วมด้วย ควรรีบพบคุณหมอดีกว่า เพราะแผลอาจจะอักเสบได้ค่ะ


ช่วงที่แผลผ่าตัดหรือแผลฝีเย็บยังไม่หาย คุณแม่ควรระวังอย่าให้ท้องเสียนะคะเพราะการต้องเช็ดทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดบ่อยครั้ง ส่งผลไม่ดีต่อแผลฝีเย็บ หรือแม้กระทั่งการนั่งห้องน้ำบ่อยและนาน ก็ส่งผลถึงแผลผ่าคลอดที่หน้าท้องได้เหมือนกัน แถมอาการท้องเสียยังทำให้คุณแม่ร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย ควรกินอาหารที่สะอาดและไม่กินของแสลง จะดีกว่ากินของพิศดารค่ะ


ส่วนท้องผูกก็ส่งผลกระทบให้คุณแม่ไม่สบายตัว และเกิดอาการแน่นตึงที่ท้องดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นดื่มน้ำสะอาด รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ จะช่วยลดอาการท้องผูกได้ค่ะ

ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อ




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2551 16:14:01 น.
Counter : 13550 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  
 
 

Healthy Service
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุ้มสมุนไพรบริการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอด
จำหน่าย ชุดอยู่ไฟ และสมุนไพร
สายด่วน 08-5426-7578 (24 ชม. ทุกวัน)http://www.KUMsamunpai.com/


จำนวนผู้เข้าเว็บ Best Free Hit Counters
Maternity Wear
Maternity Wear 234x60 70% off on over 3,000 designer fragrances SkinStore Special Offers Free Shipping
[Add Healthy Service's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com