All Blog
บารมี จริยธรรมและภาวะผู้นำของผู้ประนีประนอมกับความไว้เนื้อเชื่อใจของคู่พิพาท

“ในฐานะผู้นำของชุมชน ที่ได้รับฉันทามติให้มาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเพื่อยุติปัญหาที่เราต่างร่วมกันเผชิญอยู่ผมขอวิงวอนให้คู่พิพาททุกฝ่าย โปรดลืมปัญหาที่ค้างคาใจระหว่างกัน แล้วหันมาจับมือกันร่วมมือกัน พัฒนาสังคมเราให้น่าอยู่ มีแต่ความเจริญและสันติสุขตลอดไป”

เป็นที่ยอมรับกันว่า การไกล่เกลี่ยจะประสบความสำเร็จได้นั้นตัวผู้ประนีประนอมและตัวคู่พิพาทถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การที่คู่พิพาทจะยอมรับในกระบวนการไกล่เกลี่ยก็ด้วยเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวผู้ประนีประนอมในขณะที่ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดมีขึ้นก็ด้วยการมีบารมีจริยธรรมและภาวะผู้นำของผู้ประนีประนอม ดังนั้น การที่ผู้ประนีประนอมจะมีอิทธิพลทำให้คู่พิพาทยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันยอมประนีประนอมรอมชอม หันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหายุติข้อพิพาท และพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ตามถ้อยคำพูดข้างต้นบุคคลนั้นควรจะต้องมีบารมี (Charisma) จริยธรรม (Ethics)และภาวะผู้นำ (Leadership) เพียงพอ ในขณะเดียวกันคู่พิพาทก็จะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ในตัวบุคคลนั้นเพียงพอเช่นกัน

คำว่า “ภาวะผู้นำ (Leadership)” คือ ความสามารถของบุคคลหรือผู้นำที่มีอิทธิพลต่อผู้ตาม ส่วน ”บารมี (Charisma)” นั้นเป็นความสามารถพิเศษหรือคุณสมบัติพิเศษที่ดึงดูดใจคนจำนวนมากให้คล้อยตามได้คำว่า “Charisma” นั้นไม่ตรงกับคำว่า “บารมี” เสียทีเดียวแต่จะตรงกับเสน่ห์พิเศษ มากกว่าโดยเป็นเสน่ห์จากบุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสาร สามารถดึงดูดและโน้มน้าวให้ฝูงชนคล้อยตามได้แล้วบารมีเป็นผลของ “Charisma” อีกทีหนึ่ง

บางคนเชื่อว่าบารมีเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวบุคคลที่ยากจะลอกเลียนแบบกันแต่บางคนมองว่าบารมีเป็นคุณสมบัติพิเศษของบุคคลที่เกิดจากชุดของพฤติกรรม (Set of Behaviors) ดังนั้น จึงสามารถพัฒนาให้บุคคลมีคุณสมบัติพิเศษเชิงบุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสารเช่นว่านั้นได้เช่นกันหากดำเนินตามชุดพฤติกรรมนั้น แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะขาดเสียมิได้คือ “จริยธรรม” ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างหรือสนับสนุนให้เกิดความมีบารมีและภาวะผู้นำอย่างแท้จริง(Authentic Leadership)

ในการไกล่เกลี่ยบางครั้งมีเทคนิคที่คล้ายกับเป็นการนำบารมีและภาวะผู้นำของผู้ประนีประนอมมาใช้โดยการเลือกตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาทำหน้าที่ อาทิ กรณีการเลือกผู้ประนีประนอมที่เป็นผู้นำชุมชนหรือบุคคลที่ได้รับการเคารพยอมรับจากทุกฝ่ายโดยมีบุคลิกที่ได้รับการเคารพนับถือและมีความสามารถในการสื่อสารโน้มน้าวบุคคลอื่น เมื่อมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้กับสมาชิกในชุมชนนั้นกระบวนการไกล่เกลี่ยสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้ประนีประนอมเราอาจพัฒนาบุคลิกภาพให้มีเสน่ห์ดึงดูดเป็นที่เคารพเชื่อถือและมีความสามารถในการสื่อสารโน้มน้าวคู่พิพาทได้โดยศึกษาและพัฒนาบุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสาร โดยผู้นำที่มีภาวะผู้นำเชิงบารมี (CharismaLeadership) นั้น หากสรุปจากคุณลักษณะและพฤติกรรมที่มีนักวิชาการต่างๆนำเสนอไว้ อาจกล่าวได้ว่า มักเป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์และสามารถสื่อสารวิสัยทัศน์ของเขาให้แก่ผู้อื่นได้มีความสามารถในการรับรู้ความคิดและความต้องการของผู้ตาม ตลอดจนรับรู้การเปลี่ยนแปลงของบริบทสภาพแวดล้อมสามารถใช้ภาวะผู้นำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและขจัดทุกข์ของผู้ตามได้มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ตาม นำเสนออุดมคติที่สูงกว่าและการมีคุณธรรมจริยธรรม

ดังนั้นผู้ประนีประนอมอาจนำคุณลักษณะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ โดยการพัฒนาความมีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาและสื่อสารวิสัยทัศน์ของตนให้แก่คู่พิพาท มีความสามารถในการรับรู้ความคิดและความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาทตลอดจนรับรู้การเปลี่ยนแปลงของบริบทสภาพแวดล้อม สามารถใช้ภาวะผู้นำเพื่อให้คู่พิพาทเดินตามขั้นตอนการไกล่เกลี่ยและนำไปสู่ทางออกที่จะช่วยขจัดทุกข์หรือยุติปัญหาระหว่างคู่พิพาทได้เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตนเองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คู่พิพาทนำเสนออุดมคติหรือคุณค่าที่สูงกว่า รวมทั้งการมีและแสดงออกซึ่งความศรัทธาและยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมของผู้ประนีประนอมอาทิ การยึดมั่นในคุณธรรมความเป็นกลาง ปราศจากอคติ ความซื่อสัตย์สุจริตการรักษาความลับของคู่พิพาท และการวางตนให้เหมาะควรเป็นที่เคารพ เป็นต้น

ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญที่พึงระลึกถึงเสมอคือ การรักษาไว้ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ของคู่พิพาทในตัวผู้ประนีประนอมซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยจะยังสามารถดำเนินการและคงอยู่ต่อไป

ดร.คมวัชร เอี้ยงอ่อง




Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2559 11:30:55 น.
Counter : 806 Pageviews.

0 comment
การประเมินทางออกในการแก้ไขปัญหา

มีปัญหาข้อพิพาทอยู่หลายกรณีที่ยุ่งยากซับซ้อนอาจเป็นเพราะการที่ได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือความไม่รู้ข้อกฎหมายเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่รู้ว่า ทางใดจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีกว่ากันทำให้ต้องชั่งใจว่า วิธีการใดจะเหมาะสมกว่า หรือดีกว่ากัน รวมทั้ง ระหว่างการดำเนินคดีจนรอให้มีคำพิพากษาแล้วบังคับคดีกับการเจรจาไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างกัน จนได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายรับได้ซึ่งอาจได้จำนวนไม่ถึงกับที่มีการฟ้องเรียกร้องมา แต่ได้รับการเยียวในเวลาที่รวดเร็วกว่าคู่พิพาทจะเลือกวิธีใดดี

มีข้อพิพาทอยู่เรื่องหนึ่งน้องสาวไปเห็นที่ดินแปลงหนึ่งสวยถูกใจ น่าซื้อไว้เก็งกำไร และอยากได้ไว้จึงไปสอบถามชาวบ้านละแวกนั้น ได้ข้อมูลมาว่า เจ้าของที่ดินได้ไปขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวไว้กับนายทุนน้องสาวจึงไปหานายทุนคนดังกล่าว และได้รับแจ้งว่า เลยเวลาไถ่ถอนแล้ว ซึ่งตามกฎหมายนายทุนสามารถนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายให้ใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขายคืนให้เจ้าของที่ดินที่มาขายฝากไว้น้องสาวแสดงความประสงค์ว่าต้องการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว นายทุนบอกราคาที่จะขายเป็นเงินหนึ่งล้านบาทน้องสาวมีเงินไม่พอจึงไปยืมเงินพี่ชายมาซื้อ โดยบอกว่าที่ดินสวยสามารถซื้อเพื่อเก็งกำไรได้ พี่ชายจึงให้เงินน้องสาวมาซื้อเมื่อไปทำสัญญาซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดินแล้วน้องสาวก็เข้าไปในที่ดินเพื่อทำประโยชน์ แต่มีบุคคลอื่นมาอ้างว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และทำประโยชน์มาโดยตลอด น้องสาวจึงไปฟ้องขับไล่บุคคลดังกล่าวแต่ศาลตัดสินให้แพ้คดี น้องสาวไม่อุทธรณ์คำพิพากษาภายในกำหนดเวลาแต่มาฟ้องนายทุนเป็นคดีเพื่อขอเงินที่ชำระไปคืน นายทุนไม่ยอมคืนให้เพราะตนรับซื้อฝากไว้กับผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์และบุคคลที่มาอ้างกับน้องสาวว่าเป็นเจ้าของที่ดินนั้นไม่ใช่ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นญาติของผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์และยังเคยมาขอไถ่ถอนที่จากนายทุนด้วย แต่มีเงินไม่พอกับราคาที่มาขายฝากไว้จึงยังไม่มีการไถ่ถอนคืน ดังนั้น การรับซื้อฝากไว้ของนายทุนเป็นการรับซื้อไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาจึงมีว่าน้องสาวจะเรียกเงินจากนายทุนคืนได้หรือไม่พี่ชายซึ่งเป็นเจ้าของเงินขอให้นายทุนคืนเงินค่าที่ดินมาเพราะซื้อแล้วไม่ได้ที่ดินส่วนนายทุนไม่ยอมคืนให้เพราะมองว่า น้องสาวทำให้นายทุนต้องสูญเสียที่ดินไป ถ้าพิจารณาในมิติของกฎหมายก็จะเป็นเรื่องการรอนสิทธิหมายถึง น้องสาวไปซื้อที่ดินแล้วมีบุคคลอื่นมาอ้างว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าแต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากการคิดในเชิงกฎหมายแล้ว ยังมีการคิดในแง่มุมอื่นได้อีกเช่น ระหว่างการรอฟังผลของคดี โดยมีการสืบพยานหลักฐานและศาลมีคำพิพากษาหลังจากนั้นก็มีการบังคับคดีกัน แต่ระหว่างนั้นอาจมีการอุทธรณ์ฎีกาและขอทุเลาการบังคับคดีไว้ ซึ่งแม้น้องสาวจะชนะคดีแต่ก็ต้องรอกระบวนการบังคับคดีซึ่งต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งและไม่แน่ว่าศาลจะพิพากษาให้นายทุนคืนเงินให้น้องสาวหรือไม่ และจำนวนเท่าใด แต่หากลองเปลี่ยนมาใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยพูดคุยเพื่อขอความเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างน้องสาวกับนายทุนซึ่งอาจมีการคืนเงินให้แต่ไม่ถึงจำนวนที่ซื้อขายที่ดินกันโดยเป็นราคาในจุดที่ต่างฝ่ายต่างรับได้ แต่มีการคืนเงินกันทันทีหรือผ่อนชำระคืนในเวลาอันสมควร จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจหรือไม่

มีวิธีการที่จะช่วยให้คู่พิพาทตัดสินโดยการให้คู่พิพาทลองประเมินทางออกของตนเองว่า ถ้าเลือกทางอื่นเช่นรอผลการพิจารณาพิพากษาคดีแทนการเจรจาตกลงกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นแบบใดซึ่งจะมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่

ทางเลือกอื่นที่ดีที่สุดแทนการเจรจาตกลง(BestAlternative to a Negotiated Agreement: BATNA) หมายถึงหากไม่เจรจาตกลงกันแล้ว ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เช่นหากให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา มีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายตนคืออะไร

ทางเลือกอื่นที่แย่ที่สุดแทนการเจรจาตกลง(WorstAlternative to a Negotiated Agreement: WATNA) หมายถึงหากไม่เจรจาตกลงกันแล้ว ผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เช่นหากให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา มีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายตนคืออะไร

และทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้มากที่สุดแทนการเจรจาตกลง(Most LikelyAlternative to a Negotiated Agreement: MLATNA) หมายถึงหากไม่เจรจาตกลงกันแล้ว ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เช่นหากให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา มีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายตนคืออะไร

ในเรื่องนี้ หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นปรับความเข้าใจ และขอความเห็นใจซึ่งกันและกันอยู่เป็นเวลาพอสมควรในที่สุดน้องสาวและพี่ชายยอมลดยอดเงินที่จะเรียกร้องคืนจากนายทุนลงมา ในขณะที่นายทุนก็เกิดความเห็นใจชำระเงินจำนวนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้ให้แก่น้องสาวในวันนั้นเลยเป็นอันยุติข้อพิพาทระหว่างกัน

การดำเนินคดีนั้นจุดมุ่งหมายที่สำคัญประการหนึ่ง คือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งคู่พิพาทมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยอาจเลือกใช้กระบวนการศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาหรืออนุญาโตตุลาการจนมีคำชี้ขาด หรือเลือกการเจรจาไกล่เกลี่ยจนสามารถประนีประนอมยอมความกันเพียงแต่ควรลองประเมินทางเลือกที่มีอยู่ว่า ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่ออกมา ทางใดจะเหมาะสมเป็นประโยชน์มากกว่ากัน

ดร.คมวัชร เอี้ยงอ่อง




Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2559 23:02:28 น.
Counter : 236 Pageviews.

0 comment
เข็มใต้ภูเขาน้ำแข็ง
"ในบางกรณี ปมความต้องการที่ซ่อนอยู่ อาจเป็นความปรารถนาเพียงบางอย่าง แต่มีแรงผลักดันให้บุคคลนั้นทำเรื่องต่างๆ ขึ้นมากมาย เปรียบได้กับเข็มเพียงเล่มหนึ่งเท่านั้นที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งอาจยากที่จะหาให้พบ แต่เมื่อพบแล้วก็จะช่วยให้สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้"

                                                ดร.คมวัชร เอี้ยงอ่อง
                                                ศิลปะในการไกล่เกลี่ย



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2559 22:44:14 น.
Counter : 589 Pageviews.

0 comment
หนังสือศิลปะในการไกล่เกลี่ย
แนะนำหนังสือ ศิลปะในการไกล่เกลี่ย
โดยดร.คมวัชร เอี้ยงอ่อง
รวบรวมวิธีการ เทคนิคและกลยุทธ์ในการไกล่เกลี่ย.
ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ค. 120 หน้า
ราคา 120 บาท
ติดต่อ drcomkrub@gmail.com
โทร.0873619119



Create Date : 24 ธันวาคม 2558
Last Update : 24 ธันวาคม 2558 23:53:36 น.
Counter : 712 Pageviews.

2 comment
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง
เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในชีวิตจริง หรือในละคร ภาพยนตร์ มักมีปมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องราวต่างๆมากมาย ข้อพิพาทก็เช่นเดียวกัน คู่ความที่นำข้อพิพาทมาสู่ศาล สู่การไกล่เกลี่ย ก็มักมีปมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง อันเป็นที่มาของข้อพิพาทนั้นๆ หากจะคลี่คลายความขัดแย้งนั้นลง คงต้องค้นหาปมปัญหาที่ซ่อนอยู่ให้พบ แล้วค่อยๆคลายปมนั้นออกไปเสีย
ในหลายคดีที่พบ อย่างเช่น การฟ้องขอเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531 ซึ่งบ่อยครั้งมักเป็นคดีที่บุพการีอันได้แก่ บิดา มารดา ได้เคยให้ทรัพย์สินใดๆ แก่บุตรไป ภายหลังต่อมาปรากฏว่า บุตรไม่ยอมเลี้ยงดูบิดา มารดา ที่ต่อมามีชีวิตที่ยากไร้ ทั้งที่ให้ได้ พูดเป็นภาษาทั่วไป ก็คือ ไม่ยอมดูดำดูดีพ่อแม่ของตัว หรือบางทีก็เรียกคืนเพราะ พูดจาทำให้บิดา มารดาเสีย ชื่อเสียง ด่าว่า ด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร ซึ่งตามวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยเรา การกระทำเช่นนี้ ไม่สมควรที่ผู้เป็นลูกจะกระทำต่อพ่อแม่ และเป็นธรรมดาที่ผู้เป็นลูกจะบอกว่า ตนไม่เคยประพฤติเยี่ยงนั้นเลย อย่างไรก็ดี เมื่อได้ลองสอบถาม หรือลองให้คู่พิพาทเล่าเรื่องราวไปสักพัก กลับพบว่า คุณแม่ก็ไม่ได้มีความลำบากแต่อย่างใดเลย ยังคงนั่งเมอร์ซีเดส เบนซ์ไปจ่ายตลาด ไปเสริมสวย เข้าสปา ไปไหนมาไหนตามปกติ ส่วนคุณลูกก็ไม่เคยว่ากล่าวคุณแม่เลย เพียงแต่ว่า เมื่อแต่งงานแยกครอบครัวไปแล้ว จากที่เคยมาเยี่ยมมาหา ให้แม่ได้เห็นหน้าทุกเดือน ทุกเทศกาล กลายเป็นว่า ปีใหม่ แม่ก็นั่งตั้งตาคอย แต่ไม่เห็นหน้า สงกรานต์ผ่านไป เ ข้าพรรษา วันแม่ ออกพรรษา มาบรรจบถึงวันพ่อ เจ้าลูกชายก็ไม่มา จนแม่นั่งตาลอย เข้าภาษิตได้เมียแล้วลืมแม่ ส่วนฝ่ายคุณลูกชาย ก็ประสบพบปัญหาตามภาษิตอีกข้อก็คือ เรื่องแม่ผัวกับลูกสะใภ้ อยู่ใกล้กันไม่ได้ เลยใช้วิธีการที่จักรวรรดิอังกฤษใช้ปกครองเหล่าอาณานิคม คือ divide and rule หมายถึง แบ่งแยกแล้วปกครอง พูกง่ายๆก็คือ แยกๆกันอยู่ไม่เจอกันน่ะดีแล้ว แต่วิธีนี้ก็ใช้ได้ไม่นาน เพราะยังมีภาษิตไทยอีกข้อ เกลียดปลาไหลแต่กินน้ำแกง พอมีหลานขึ้นมา ไม่ว่าจะบ่นจะว่าแค่ไหน ขอให้ได้เห็นหน้าหลานหน่อยเถอะ ปรากฏว่า ไม่ได้เจอ ทำอย่างไรดีสำหรับคุณแม่ที่เปลี่ยนเป็นคุณย่าแล้ว ก็ฟ้องเรียกถอนคืนการให้เสียเลย จะได้รู้สึกสำนึกในพระคุณแม่ ปมมันอยู่ตรงนี้ ปํญหาว่า แล้วจะคลายปมนี้ได้อย่างไร
ตามหนังสือ Getting to Yes ของ Roger Fisher และ William Ury เขาพูดถึง คำว่า จุดยืน และความต้องการที่แท้จริง จุดยืนที่เรียกร้องที่แสดงออกมา อาจเป็นสิ่งเดียวกันหรือต่างกันกับความต้องการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง สำหรับเรื่องนี้ จุดยืนของคุณแม่ตามข้อเรียกร้องหรือที่ขอมาในฟ้องก็คือ ขอเรียกคืนทรัพย์สินต่างๆที่เคยได้ยกให้บุตรชายไป แต่ความต้องการที่แท้จริงเป็นคนละเรื่องกันเลย คุณแม่อยากเจอหน้าลูก คุณย่าอยากเจอหน้าหลาน อยากอุ้ม ส่วนลูกสะใภ้จะมาด้วยก็ไม่เป็นไรแล้วตอนนี้ มีหลานให้ชื่นใจแล้ว ภายหลังเมื่อพบปมปัญหา ค้นพบความต้องการที่แท้จริงแล้ว เรื่องนี้ก็สามารถจบลงได้ด้วยการไกล่เกลี่ย ที่คู่กรณีตกลงเป็นคนละเรื่องคนละราวกับคำฟ้องและคำให้การ โดยคุณแม่ยอมถอนฟ้องไป เพียงแต่ขอให้มีการให้คำมั่นสัญญาจากลูกชายและลูกสะใภ้ว่า จะพาหลานไปเยี่ยมไปหาบ้าง ทุกๆเดือน หรือทุกเทศกาล อย่าได้หลงลืมแม่คนนี้อีก นี่ล่ะครับ อานุภาพของความรัก ยิ่งสายเลือดด้วยแล้ว ยิ่งมากมายและใหญ่หลวงนัก เรื่องนี้ถ้าหลังจบเรื่องจบราว ออกจากศาลไปกันแล้ว คุณลูกชายพาหลานไปให้คุณย่าอุ้มบ่อยๆ นอกจากจะไม่เรียกคืนสิ่งของที่เคยให้แล้ว ยังอาจจะได้ของอย่างอื่นเพิ่มอีกก็ได้
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เหมือนคลื่นใต้น้ำ เหมือนน้ำแข็งมหึมา ที่พยุงภูเขาน้ำแข็งทั้งลูกให้โผล่พ้นน้ำจนสูงเสียดฟ้า มันมีขนาดและพลานุภาพเหนือส่วนที่พ้นน้ำขึ้นมามากมายนัก ขนาดเรือไตตานิกที่ผู้สร้างเรือโฆษณาว่า เป็นเรือที่ไม่มีวันจม แต่ก็ต้องดำดิ่งสู่ก้นบึ้งของมหาสมุทรแอตแลนติกในการเดินเรือเพียงเที่ยวแรก เพราะชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งในระหว่างการเดินทาง น้ำแข็งใต้น้ำมีอานุภาพฉันใด ความต้องการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในใจก็มีอานุภาพฉันนั้น เพียงแต่ว่า ในการไกล่เกลี่ย ทำอย่างไรที่จะค้นหาสิ่งนี้ให้เจอ เท่านั้นเอง





Create Date : 04 เมษายน 2553
Last Update : 4 เมษายน 2553 0:00:17 น.
Counter : 484 Pageviews.

3 comment
1  2  3  4  5  

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments