All Blog
ขอเพียงคำขอโทษ
“ในโลกที่สมบูรณ์แบบ การขอโทษคงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่เพราะโลกเรานั้นหาสมบูรณ์แบบไม่ ดังนั้น เราคงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากสิ่งนี้”

“In a perfect world, there would be no need for apologies. But because the world is imperfect, we cannot survive without them.”
Gary Chapman and Jennifer Thomas
The Five Languages of Apology

เพราะโลกเรานั้นไม่สมบูรณ์แบบ เรายังคงมีข้อผิดพลาด เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง อยู่เป็นเนืองๆ ความขัดแย้ง ข้อพิพาทและการกระทบกระทั่งต่ออารมณ์ ความรู้สึกและความสัมพันธ์ มีอยู่ให้เห็นเป็นประจำ จนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลกใบนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อรอยร้าวเกิดขึ้นในระหว่างกลางความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น ระหว่าง พ่อแม่พี่น้อง คนในครอบครัว ในที่ทำงาน ในทางธุรกิจ หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน แต่บังเอิญร้อยวันพันปีมาบรรจบพบหน้าแล้วดันเกิดข้อทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา จำเป็นหรือไม่ที่จะผูกใจเจ็บอาฆาตมาดร้ายผูกพยาบาทจองเวรกันไม่จบไม่สิ้น
ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” การให้อภัยแก่กัน นับเป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อเรายังคงอยู่ในอารมณ์โกรธ ก็คงไม่ง่ายนักที่จะละความโกรธนั้นเสีย และให้อภัยเขาเหล่านั้นผู้เป็นต้นเหตุ แม้เราจะพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา นับหนึ่งถึงร้อย หรือแม้แต่จะมาใคร่ครวญว่าเรานั้นเองก็มีส่วนผิดอยู่ด้วยก็ตาม แต่หากจะให้เราแต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ดับสิ่งนี้ โดยอีกฝ่ายไม่ได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ฟื้นฟูความสัมพันธ์หรือความรู้สึกขึ้นมาบ้าง ก็ยากในการทำใจเช่นกัน
ในทางกลับกัน หากเราเสียเองเป็นต้นเหตุของเรื่องราวความขัดแย้งหรือปัญหาทั้งหมด แล้วเราจะอยู่นิ่งเฉย โดยไม่ทำอะไรเลย ก็คงไม่เกิดอะไรดีขึ้น ไทยเรามีภาษิตว่า “คนดีชอบแก้ไข” แต่บางที บางสถานการณ์ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นการแก้ไข เมื่ออยู่ในภาวะเช่นนี้ อย่างน้อยการชดเชยความรู้สึกให้กับคู่กรณีอีกฝ่ายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้ในเชิงสร้างสรรค์
มีอยู่หลายครั้งทีเดียวในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่ฝ่ายผู้เสียหายนั้นบอกว่า สิ่งอยากได้เห็น ได้ยิน คือการขอโทษ หรือสิ่งที่รอจากอีกฝ่ายคือคำขอโทษ สิ่งนี้สำหรับหลายคน เป็นสิ่งที่มีค่ามากมายนัก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรียกว่า การขอโทษนี้ คงไม่ใช่เพียงคำขอโทษที่ออกมาจากปาก แต่เป็นการขออภัย ที่ออกมาจากใจ ด้วยความรู้สึกสำนึก ถึง ความผิดพลาด ความรุนแรง ความเสียหายและยอมรับผิด ในสิ่งที่ได้กระทำลงไป และพร้อมจะปรับปรุงตน ไม่ยอมให้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในอนาคต
อันดับแรก เริ่มต้นด้วยการแสดงความเสียใจ เช่น ผมเสียใจจริงๆ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดิฉันไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดเช่นนี้ ดิฉันเสียใจจริงๆ หรือพวกเรารู้สึกแย่มากที่ทำให้คุณผิดหวัง และเสียใจอย่างยิ่งที่เป็นต้นเหตุให้คุณได้รับความเสียหาย
อันดับต่อมา เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับในความผิดที่เกิดขึ้น เช่น ผมทราบว่าผมได้กระทำความผิดครั้งยิ่งใหญ่ ผมไม่ได้คิดให้ดีเสียก่อนที่จะทำมันลงไป สิ่งที่ผมพูดไปนั้นมันรุนแรงและไม่สมควร ผมพูดไปเด้วยความโกรธ หวังว่าคุณจะให้อภัยในความผิดครั้งนี้ของผม
ตามมาด้วยความพยายามแก้ไขเยียวยา ด้วยความสำนึกที่จะทำให้สิ่งต่างๆกลับมาดีดังเดิม หรือกลับมาถูกต้อง อย่างที่ควรจะเป็น เช่น มีสิ่งใดที่ผมพอจะทำได้ในตอนนี้เพื่อให้ทุกสิ่งกลับมาดีดังเดิม ผมรู้ว่าเพียงคำขอโทษนั้นไม่เพียงพอ ผมอยากแก้ไขในสิ่งเหล่านี้ คุณพอจะบอกผมได้บ้างไหมว่า มีสิ่งใดที่ผมพอจะทำได้
เพื่อป้องกันว่าสิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต จำเป็นที่จะต้องแสดงความจริงใจว่า จะป้องกันมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำ เพราะหลายคนไม่ได้ต้องการเพียงคำขอโทษ แต่ต้องการคำยืนยันว่า เหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก เช่น ผมจะพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและจะไม่ทำสิ่งนี้ซ้ำอีก ผมรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลยแต่อยากจะขอให้คุณรอดูว่า ผมจริงใจที่จะเปลี่ยนแปลงและจะทำทุกสิ่งให้ดีขึ้น ต่อไปนี้ขอให้คุณมั่นใจว่า พวกเราได้สำนึกในความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไปและต่อไปในอนาคต เราจะไม่ยอมปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด
สุดท้ายคือการขออภัย ขอให้อีกฝ่ายยกโทษให้ ซึ่งจุดนี้ในสถานการณ์จริง หลายคนอาจจะกลัวหรือไม่กล้าที่พูด เพราะกลัวว่า จะถูกปฏิเสธ กลัวเสียหน้า แต่ขอให้คิดว่า การขออภัยนั้นเป็นความพยายามที่รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันไว้ ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะปฏิเสธ ไม่ให้อภัยในตอนนั้น แต่ในอนาคต เมื่อเราได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ทุกสิ่งดีขึ้น เขาก็อาจจะให้อภัยในที่สุด
การแสดงความเสียใจและขอโทษที่ออกมาจากใจจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ขอให้ออกมาจากภายใน ด้วยความรู้สึก อย่างจริงใจ มิใช่เพียงต้องการหวังผลว่า อีกฝ่ายจะให้อภัย แล้วให้ผ่านสถานการณ์ที่ต้องเผชิญไปได้เท่านั้น เพราะการให้อภัยนั้น บางครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายและยิ่งยากหากจะให้เขาให้อภัยอีกป็นครั้งที่สอง




Create Date : 03 เมษายน 2553
Last Update : 3 เมษายน 2553 23:41:18 น.
Counter : 462 Pageviews.

1 comments
  
กำลังมีคดีความจำเลยเจ้าของสุนัขเข้ามากัดกระต่ายของดิฉันตาย จำเลยไม่สำนึกผิด ดิฉันไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหาย 50000 บาท จำเลยแจ้งศาลว่าจะจ่ายให้ 1000 บาทเท่านั้น ศาลเห็นว่าน่าจะไกล่เกลี่ยได้ สำหรับดิฉันเงินไม่สำคัญจริงๆ แต่ต้องการจะสั่งสอนความรับผิดชอบให้จำเลย เสียน้อยเสียมากก็ต้องให้เสีย ไม่ใช่ปล่อยสุนัขมานอกบ้านทำร้ายคนอื่นเล่นได้เสมอไป
ดิฉันเรียนถามในกรณีนี้ผู้ไกล่เกลี่ยจะทำยังไงคะ หากจำเลยยืนกรานเช่นนี้ เงินที่ได้ดิฉันจะนำไปบริจาคโรงพยาบาลสัตว์จุฬาและเกษตรที่เคยพากระต่ายไปรักษาทั้งหมดค่ะ ดิฉันต้องไปศาลต้นเดือนกรกฎาคม กลัวจะระงับอารมณืไม่อยู่ น้องชายเลยรับอาสาจะไปทำหน้าที่ให้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรคะ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ที่ให้ความรู้แก่ผู้ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายค่ะ
โดย: โดนใจค่ะ (จูน สารัตถะ ) วันที่: 9 มิถุนายน 2553 เวลา:11:48:34 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments