All Blog
ขั้นตอนการดำเนินการจัดการความขัดแย้ง
ขั้นตอนการดำเนินการจัดการความขัดแย้ง
ขั้นตอนในการคำเนินการจัดการความขัดแย้งอาจแบ่งพิจารณาเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ขั้นตอนก่อนเริ่มกระบวนการ ขั้นตอนระหว่างดำเนินการ ขั้นตอนหลังกระบวนการ
ขั้นตอนก่อนเริ่มกระบวนการ
การประเมินสถานการณ์ การสร้างความเชื่อถือ การสร้างความเข้าใจในกระบวนกา การกำหนดกฎกติกาพื้นฐาน

-การประเมินสถานการณ์ เป็นธรรมดาที่ก่อนที่เราจะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งนั้น เราจำต้องประเมินดูเสียก่อนว่า สถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่นั้น เป็นอย่างไร เหมาะสมที่จะใช้กระบวนการนี้ได้หรือไม่ และจะดำเนินการไปในแนวทางใด
-การสร้างความเชื่อถือ ในการเข้าไปจัดการความขัดแย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องเข้าไปเป็นตัวแทนในการร่วมเจรจาก็ดี คนกลางในการไกล่เกลี่ยก็ดี ในการตัดสินชี้ขาดก็ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเกิดความเชื่อถือ ทั้งในตัวของเราและกระบานการที่จะนำมาใช้ โดยต้องมีความโปร่งใส ไม่ลำเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
-การสร้างความเข้าใจในกระบวนการ การที่ผู้เข้าร่วมในการแก้ไขความขัดแย้งจะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้นั้น มีความเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจในกระบวนการระงับความขัดแย้งนั้นเสียก่อน มิฉะนั้น การดำเนินการคงจะเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น นอกจากนี้ ยังจะทำให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขความขัดแย้งนั้นเกิดความเชื่อถือและมั่นใจในกระบวนการที่นำมาใช้มากยิ่งขึ้น
-การกำหนดกฎกติกาพื้นฐาน การที่จะทำให้กระบวนการในการหาทางออกเพื่อระงับความขัดแย้งเป็นไปโดยราบรื่นอีกประการหนึ่งก็คือการกำหนดกติกาพื้นฐาน อย่างเช่น ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ผู้ไกล่เกลี่ยควรตั้งกฎกับคู่กรณีว่า จะเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้พูดและกล่าวถึงปัญหาและข้อเรียกร้องของตนอย่างเท่าเทียมกัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกำลังพูดอยู่ขอให้อีกฝ่ายอย่างเพิ่งพูดแทรก แล้วหลังจากนั้น ผู้ไกล่เกลี่ยจะเปิดโอกาสให้พูดในเวลาต่อมา ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายในขณะดำเนินการไกล่เกลี่ย เป็นต้น
ขั้นตอนระหว่างดำเนินการ
-การค้นหาความต้องการ ในการระงับความขัดแย้งนั้น เบื้องต้นเราต้องค้นหาความต้องการของคู่กรณีแต่ฝ่ายเสียก่อนและควรจะเป็นความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายนั้น เพราะบ่อยครั้งที่การแสดงออกของคู่กรณีไม่ได้แสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเอง หากแต่ทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือเพื่อแสดงความไม่พอใจคู่กรณีอีกฝ่ายในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังพิพาทกันอยู่เลย เช่น คดีมีฟ้องต่อศาลหลายคดีที่มารดาฟ้องขอเรียกคืนการให้ด้วยเหตุเนรคุณ แต่ความจริงแล้ว มารดานั้นไม่พอใจที่ลูกชายหลังจากมีครอบครัวไปแล้ว ไม่ค่อยมาเยี่ยมมารดา ทำให้มารดาเกิดความน้อยใจ
-การแสวงหาทางออก เมื่อได้ทราบความต้องการของคู่กรณีแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการหาทางออก ทางออกที่ดีคือ คู่กรณีทุกฝ่ายต่างก็ได้รับในสิ่งที่ตนพึงได้ และเกิดความพอใจกันทุกฝ่าย อย่างไรก็ดี มันเป็นการยากพอสมควรที่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ เราก็อาจคิดในทางกลับกันว่า ให้เกิดความไม่พอใจน้อยที่สุด ในขั้นตอนนี้ เราอาจจำต้องนำหลักการประสานผลประโยชน์ทุกฝ่ายและหากเป็นผู้ไกล่เกลี่ยก็คงต้องพยายามชี้ให้คู่กรณีเห็นจุดดีของทางออกที่นำเสนอและการยอมลดหรือถอยจากข้อเรียกร้องบางประการเพื่อให้ข้อพิพาทจบลง และสามารถจะดำเนินการต่อไปในอนาคตได้โดยไม่ต้องมาคอยกังวลในเรื่องที่พิพาทกันอีกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เช่น นายจ้างอยู่ในภาวะขาดทุนเริ่มให้คนงานออกจากงานทำให้ลูกจ้างไม่พอใจแล้วเดินขบวนประท้วงเรียกร้องไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างงาน แต่ปัญหาของนายจ้างคือไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าแรงงานและการขาดทุนอีกต่อไปได้ ส่วนลูกจ้างก็ต้องการให้มีงานทำต่อ ในการแก้ไขความขัดย้งนั้น หากทั้งสองฝ่ายพยายามปรับเข้าหากัน โดยลูกจ้างอาจจะยอมลดค่าจ้างลง ให้อยู่ในอัตราที่ต่างฝ่ายต่างรับได้ ไปสักระยะหนึ่งก่อน และหากต่อมากิจการของนายจ้างกระเตื้องขึ้นก็ค่อยปรับมาเป็นอัตราค่าจ้างตามปกติ และต่อมาหากผลประกอบการดีขึ้นมาก นายจ้างก็ตอบแทนลูกจ้างด้วยโบนัสในฐานะที่ยอมลำบากฝ่าฟันจนพ้นวิกฤตการณ์มาด้วยกัน เป็นต้น อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงก็อาจจะเป็นการยากที่จะใช้วิธีการเช่นนั้น เพราะหากมีโรงงานอื่นที่สามารถให้ค่าตอบแทนได้ดีกว่า ก็คงจะย้ายไปทำงานที่อื่นแทน แต่ก็เป็นการปลดภาระของนายจ้างไปได้ส่วนหนึ่ง หากมองแง่นี้ก็สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
การหาทางออกนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ยาก แต่มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ความขัดแย้งนั้นจะสามารถยุติลงได้หรือไม่เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความรู้และประสบการณ์ของผู้ที่เข้าไปแก้สถานการณ์ ทั้งผู้ที่เป็นตัวแทนเข้าไปเจรจาต่อรองหรือเข้าไปไกล่เกลี่ย ตลอดจนคู่กรณีและแก่นของปัญหาที่ขัดแย้งกันนั้น

-การทำข้อตกลง เมื่อสามารถหาทางออกสำหรับความขัดแย้งได้แล้ว ก็อาจจำเป็นต้องทำข้อตกลงระหว่างกัน ตามที่ได้มีการเจรจาหรือไกล่เกลี่ยกันไว้ อาจอยู่ในรูปบันทึกความตกลง สัญญา หรือสัญญาประนีประนอมยอมความ ในการทำสัญญาระหว่างกันนั้นผู้จัดทำควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคนิกการร่างสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องบ้าง มิฉะนั้นข้อตกลงหรือสัญญานั้นอาจไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ในเรื่องแบบของสัญญากฎหมายมีการกำหนดแบบของสัญญาประเภทต่างๆไว้ เช่นสัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ หรือสัญญาประนีประนอมยอมความ อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด ดังนั้น หากมีการตกลงยุติข้อพิพาทกันแล้ว และมีการกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาได้
ขั้นตอนหลังกระบวนการ
หลังจากขั้นตอนการทำความตกลงแล้ว ก็จะขั้นตอนหลังกระบวนการระงับความขัดแย้ง ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน กล่าวคือ เมื่อตกลงยุติความขัดแย้งกันได้ แต่ไม่มีการทำตามข้อตกลง กระบวนการระงับความขัดแย้งที่ลงทุนทำไปก็คงไม่เป็นผลสำเร็จ บรรลุตามจุดมุ่งหมาย และอาจเกิดความขัดแย้งต่อเนื่องบานปลายจนยากแก่การแก้ไขเยียวยา
-การปฏิบัติตามข้อตกลง เมื่อมีข้อตกลงแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการปฏิบัติตามข้อตกลง คู่สัญญานั้นมีหน้าที่ในอันที่จะปฏิบัติตามข้อตกลง มิฉะนั้นการระงับข้อขัดแย้งที่ได้ทำลงไปย่อมเป็นการเสียเปล่า และอาจเกิดปัญหาต่อเนื่องตามมาเป็นลูกโซ่
-การติดตามประเมินผล ในบางครั้งเราอาจจะต้องติดตามประเมินผลว่าการระงับข้อพิพาทที่บรรลุถึงขั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วนั้น มีการปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ เพียงใด เพราะหากยังมิได้มีการดำเนินการตามข้อตกลงจนเสร็จสิ้น ก็ยังอาจไม่ถือได้ว่าการระงับความขัดแย้งนั้นประสบผลสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์
-สภาพบังคับและผลของการไม่ปฏิบัติตาม ในการทำข้อตกลงนั้นควรมีการกำหนดให้มีสภาพบังคับ เช่นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นระหว่างกันนั้น หากมีการปิดพริ้วโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องเพื่อให้มีการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้ แต่ที่สำคัญก็คือ สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นต้องทำให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของกฎหมายและหน้าที่และความรับผิดที่กำหนดไว้นั้น ตามจะบังคับได้ด้วย ดังน้น ผู้ที่ทำหรือช่วยทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็ควรมีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยตามสมควร




Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2559 0:54:38 น.
Counter : 406 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments