All Blog
การประเมินทางออกในการแก้ไขปัญหา

มีปัญหาข้อพิพาทอยู่หลายกรณีที่ยุ่งยากซับซ้อนอาจเป็นเพราะการที่ได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือความไม่รู้ข้อกฎหมายเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่รู้ว่า ทางใดจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีกว่ากันทำให้ต้องชั่งใจว่า วิธีการใดจะเหมาะสมกว่า หรือดีกว่ากัน รวมทั้ง ระหว่างการดำเนินคดีจนรอให้มีคำพิพากษาแล้วบังคับคดีกับการเจรจาไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างกัน จนได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายรับได้ซึ่งอาจได้จำนวนไม่ถึงกับที่มีการฟ้องเรียกร้องมา แต่ได้รับการเยียวในเวลาที่รวดเร็วกว่าคู่พิพาทจะเลือกวิธีใดดี

มีข้อพิพาทอยู่เรื่องหนึ่งน้องสาวไปเห็นที่ดินแปลงหนึ่งสวยถูกใจ น่าซื้อไว้เก็งกำไร และอยากได้ไว้จึงไปสอบถามชาวบ้านละแวกนั้น ได้ข้อมูลมาว่า เจ้าของที่ดินได้ไปขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวไว้กับนายทุนน้องสาวจึงไปหานายทุนคนดังกล่าว และได้รับแจ้งว่า เลยเวลาไถ่ถอนแล้ว ซึ่งตามกฎหมายนายทุนสามารถนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายให้ใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขายคืนให้เจ้าของที่ดินที่มาขายฝากไว้น้องสาวแสดงความประสงค์ว่าต้องการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว นายทุนบอกราคาที่จะขายเป็นเงินหนึ่งล้านบาทน้องสาวมีเงินไม่พอจึงไปยืมเงินพี่ชายมาซื้อ โดยบอกว่าที่ดินสวยสามารถซื้อเพื่อเก็งกำไรได้ พี่ชายจึงให้เงินน้องสาวมาซื้อเมื่อไปทำสัญญาซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดินแล้วน้องสาวก็เข้าไปในที่ดินเพื่อทำประโยชน์ แต่มีบุคคลอื่นมาอ้างว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และทำประโยชน์มาโดยตลอด น้องสาวจึงไปฟ้องขับไล่บุคคลดังกล่าวแต่ศาลตัดสินให้แพ้คดี น้องสาวไม่อุทธรณ์คำพิพากษาภายในกำหนดเวลาแต่มาฟ้องนายทุนเป็นคดีเพื่อขอเงินที่ชำระไปคืน นายทุนไม่ยอมคืนให้เพราะตนรับซื้อฝากไว้กับผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์และบุคคลที่มาอ้างกับน้องสาวว่าเป็นเจ้าของที่ดินนั้นไม่ใช่ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นญาติของผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์และยังเคยมาขอไถ่ถอนที่จากนายทุนด้วย แต่มีเงินไม่พอกับราคาที่มาขายฝากไว้จึงยังไม่มีการไถ่ถอนคืน ดังนั้น การรับซื้อฝากไว้ของนายทุนเป็นการรับซื้อไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาจึงมีว่าน้องสาวจะเรียกเงินจากนายทุนคืนได้หรือไม่พี่ชายซึ่งเป็นเจ้าของเงินขอให้นายทุนคืนเงินค่าที่ดินมาเพราะซื้อแล้วไม่ได้ที่ดินส่วนนายทุนไม่ยอมคืนให้เพราะมองว่า น้องสาวทำให้นายทุนต้องสูญเสียที่ดินไป ถ้าพิจารณาในมิติของกฎหมายก็จะเป็นเรื่องการรอนสิทธิหมายถึง น้องสาวไปซื้อที่ดินแล้วมีบุคคลอื่นมาอ้างว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าแต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากการคิดในเชิงกฎหมายแล้ว ยังมีการคิดในแง่มุมอื่นได้อีกเช่น ระหว่างการรอฟังผลของคดี โดยมีการสืบพยานหลักฐานและศาลมีคำพิพากษาหลังจากนั้นก็มีการบังคับคดีกัน แต่ระหว่างนั้นอาจมีการอุทธรณ์ฎีกาและขอทุเลาการบังคับคดีไว้ ซึ่งแม้น้องสาวจะชนะคดีแต่ก็ต้องรอกระบวนการบังคับคดีซึ่งต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งและไม่แน่ว่าศาลจะพิพากษาให้นายทุนคืนเงินให้น้องสาวหรือไม่ และจำนวนเท่าใด แต่หากลองเปลี่ยนมาใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยพูดคุยเพื่อขอความเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างน้องสาวกับนายทุนซึ่งอาจมีการคืนเงินให้แต่ไม่ถึงจำนวนที่ซื้อขายที่ดินกันโดยเป็นราคาในจุดที่ต่างฝ่ายต่างรับได้ แต่มีการคืนเงินกันทันทีหรือผ่อนชำระคืนในเวลาอันสมควร จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจหรือไม่

มีวิธีการที่จะช่วยให้คู่พิพาทตัดสินโดยการให้คู่พิพาทลองประเมินทางออกของตนเองว่า ถ้าเลือกทางอื่นเช่นรอผลการพิจารณาพิพากษาคดีแทนการเจรจาตกลงกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นแบบใดซึ่งจะมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่

ทางเลือกอื่นที่ดีที่สุดแทนการเจรจาตกลง(BestAlternative to a Negotiated Agreement: BATNA) หมายถึงหากไม่เจรจาตกลงกันแล้ว ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เช่นหากให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา มีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายตนคืออะไร

ทางเลือกอื่นที่แย่ที่สุดแทนการเจรจาตกลง(WorstAlternative to a Negotiated Agreement: WATNA) หมายถึงหากไม่เจรจาตกลงกันแล้ว ผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เช่นหากให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา มีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายตนคืออะไร

และทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้มากที่สุดแทนการเจรจาตกลง(Most LikelyAlternative to a Negotiated Agreement: MLATNA) หมายถึงหากไม่เจรจาตกลงกันแล้ว ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เช่นหากให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา มีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายตนคืออะไร

ในเรื่องนี้ หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นปรับความเข้าใจ และขอความเห็นใจซึ่งกันและกันอยู่เป็นเวลาพอสมควรในที่สุดน้องสาวและพี่ชายยอมลดยอดเงินที่จะเรียกร้องคืนจากนายทุนลงมา ในขณะที่นายทุนก็เกิดความเห็นใจชำระเงินจำนวนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้ให้แก่น้องสาวในวันนั้นเลยเป็นอันยุติข้อพิพาทระหว่างกัน

การดำเนินคดีนั้นจุดมุ่งหมายที่สำคัญประการหนึ่ง คือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งคู่พิพาทมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยอาจเลือกใช้กระบวนการศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาหรืออนุญาโตตุลาการจนมีคำชี้ขาด หรือเลือกการเจรจาไกล่เกลี่ยจนสามารถประนีประนอมยอมความกันเพียงแต่ควรลองประเมินทางเลือกที่มีอยู่ว่า ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่ออกมา ทางใดจะเหมาะสมเป็นประโยชน์มากกว่ากัน

ดร.คมวัชร เอี้ยงอ่อง




Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2559 23:02:28 น.
Counter : 236 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments