All Blog
บทบาทของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งที่มีต่อการไกล่เกลี่ยในอังกฤษและเวลส์
บทบาทของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งที่มีต่อการไกล่เกลี่ย
มีการเปรียบการดำเนินคดีไว้ว่า เป็นเสมือนเครื่องจักรที่เวลาเข้าไป เป็นตัวหมูแต่เมื่อออกมาแล้วเป็นไส้กรอก หรือบางครั้งก็เปรียบเปรยว่า เป็นการยอมเสียเนื้อเพื่อรักษากระดูกเอาไว้ ซึ่งแสดงให้เห็น ทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลและกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และทำให้ข้อพิพาททางแพ่งจำนวนมากจบลงก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี
ตาม Beldam Report ซึ่งนำเสนอต่อสภาใหญ่ของสภาทนายสรุปว่า การไกล่เกลี่ยควรนำมาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนพิจารณาคดีในศาลอังกฤษ
ข้อเท็จจริงที่ว่า การดำเนินคดีไม่ใช่แต่เพียงมีความหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการระงับข้อพิพาทอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแต่อย่างเดียวเท่านั้น ได้รับการอ้างอิงโดย Lord Woolf เพื่อรวมเอาการไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาททางเลือกอื่นมาใช้ในการปรับปรุงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลอังกฤษ โดยในรายงานของ Lord Woolf ให้ข้อแนะนำว่า
- ศาลควรส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก
- คู่ความควรแจ้งนับแต่ขั้นตอนการประชุมจัดการคดีและขั้นตอนก่อนพิจารณาคดีว่า จะนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้หรือไม่
- ผู้พิพากษาควรให้ความสนใจหากคู่ความปฏิเสธการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเมื่อพิจารณาการกระทำต่อไปในคดี

จุดประสงค์ของ Lord Woolf ก็คือ ต้องการให้มีการลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการดำเนินคดีโดยการนำการไกล่เกลี่ยมาใช้นั่นเอง ตาม Final Report ของ Lord Woolf ได้วางแนวทางกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งไว้ดังนี้
- ให้หลีกเลี่ยงการพิจารณาคดีหากเป็นไปได้
- ลดความเป็นปฏิปักษ์ของคู่ความลงแล้วใช้การดำเนินคดีแบบร่วมมือกันให้มากขึ้น
- ลดความซับซ้อนของการดำเนินคดี
- ระยะเวลาของการดำเนินคดีต้องสั้นลงและมีความแน่นอนมากขึ้น
- ต้องมีความเสมอภาคกันในระหว่างคู่ความ
- โครงสร้างของศาลต้องตอบสนองต่อความต้องการของคู่ความ
- มีการจัดการคดีโดยผู้พิพากษา
นอกจากนี้ยังคำนึงถึงหลักการอีกหลายประการได้แก่
- การปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรม
- ผลลัพธ์ที่ยุติธรรม
- ราคาค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
- รวดเร็วตามสมควรแก่เหตุและผล
- เป็นระบบยุติธรรมทางแพ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้
- มีความแน่นอน
- มีประสิทธิภาพ
ในเดือนตุลาคม 1997 ประธานศาลฎีกาของอังกฤษได้ประกาศโครงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งหลายประการ ได้แก่
- ทำกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้เป็นเอกภาพ
- ในกระบวนการก่อนพิจารณาคดีนั้น ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสอบสวนศึกษาคดีอย่างเต็มที่ก่อนที่จะเริ่มกระบวนพิจารณาและให้พยายามรอมชอมก่อนดำเนินกระบวนพิจารณา
- แบ่งคดีเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางการดำเนินคดีมโนสาเร่ (Small claims) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5,000 ปอนด์ (แต่ถ้าเป็นเรื่องความเสียหายส่วนบุคคล (Personal injury) ทุนทรัพย์ไม่เกิน 1,000 ปอนด์) ช่องทางด่วน (Fast track) สำหรับคดีที่มีทุนทรัพย์สูงขึ้นแต่ไม่เกิน 15,000 ปอนด์ และช่องทาง Multi-track สำหรับคดีที่มีทุนทรัพย์กว่า 15,000 บาท และมีความซับซ้อนแต่มีคุณค่าน้อย(Low Value)
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 1999 มีการบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (Civil Procedural Rules, CPR) ซึ่งใช้กับ High Court และ County Court ในอังกฤษและเวลส์ โดยมีหลักการที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนภาพหลักการตามรายงานของ Lord Woolf ซึ่งมีหลักการสำคัญๆ ได้แก่ การประกันความมั่นใจว่า คู่ความจะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน ประหยัดค่าใช้จ่าย การจัดการระงับข้อพิพาทในคดีนั้นเป็นในทางที่ได้สัดส่วนเหมาะสมกับทุนทรัพย์และความซับซ้อนของคดี ด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงการใช้ทรัพยาการของศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด



Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 5 มีนาคม 2551 12:04:35 น.
Counter : 859 Pageviews.

0 comment
การไกล่เกลี่ยในศาล ในอังกฤษและเวลส์
สำหรับการไกล่เกลี่ยในศาล ในอังกฤษและเวลส์นั้นเดิมจำกัดเฉพาะข้อพิพาทในศาลครอบครัว(Family Court) แต่ปัจจุบันได้แพร่หลายออกไปยังข้อพิพาทเรื่องอื่นๆ แต่ในส่วนของไอร์แลนด์เหนือและสก๊อตแลนด์นั้นยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในคดีครอบครัวเท่านั้น
การไกล่เกลี่ยในสหราชอาณาจักรนั้นได้รับอิทธิพลจากการระงับข้อพิพาททางเลือกสมัยใหม่จากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ฮ่องกง แอฟริกาใต้ และนิวซีแลนด์ โดยพยายามนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนพัฒนาการทางกฎหมาย
การไกล่เกลี่ยมีพัฒนาการและนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งก็ยิ่งทำให้การไกล่เกลี่ยเข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น อาทิ ความเชื่อมั่นของสังคมในระบบการไกล่เกลี่ย ปัญหาว่า การเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของคู่ความนั้น สามารถบังคับได้หรือไม่ หรือจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจเท่านั้น ชนิดหรือประเภทของคดีที่จะทำการไกล่เกลี่ยในศาล การฝึกอบรมและมาตรฐานของผู้ไกล่เกลี่ย เป็นต้น และหลายประเด็นยังไม่เป็นที่ยุติ



Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 5 มีนาคม 2551 11:41:13 น.
Counter : 420 Pageviews.

0 comment
วิวัฒนาการการไกล่เกลี่ยในสหราชอาณาจักร
การไกล่เกลี่ยนั้นมีรากฐานความเป็นยาวนานย้อนหลังไปนับพันปี เป็นการหาทางออกในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของคนในสังคม แต่การไกล่เกลี่ยที่ประพฤติปฏิบัติกันมานั้นก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่า กฎเกณฑ์ และกระบวนการที่ใช้นั้นมีหน้าตาอย่างไร รวมทั้งประมวลจริยธรรมของผู้ไกล่เกลี่ยมีอยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ชัดก็คือ ไม่ปรากฏว่า เป็นการจัดทำโดยสถาบัน แต่เป็นการดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการและไม่มีโครงสร้างที่แน่นอนชัดเจนเหมือนในปัจจุบัน
ต่อมาในยุคอุตสาหกรรม ประชาชนประกอบธุรกรรมทางพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ข้อพิพาทเริ่มมีความซับซ้อน และสภาพสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นปัจเจกชนนิยม มุ่งเน้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ส่งผลต่อพัฒนาการของวัฒนธรรมการระงับข้อพิพาทในทางที่มุ่งค้นหาฝ่ายที่ผิด (Fault-base Culture) การฟ้องคดีต่อศาลถือเป็นการระงับข้อพิพาทที่ใช้เป็นปกติ โดยเน้นที่การยืนยันในสิทธิ หน้าที่และความรับผิด
ในสหราชอาณาจักรนั้น ได้มีการเริ่มพูดถึงการนำการไกล่เกลี่ยสมัยใหม่มาใช้ในการระงับข้อพิพาท ในยุคต้นทศวรรษ 1970 โดยมีการเสนอให้ใช้การไกล่เกลี่ยสำหรับข้อพิพาทในครอบครัว และมีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยอิสระสำหรับข้อพิพาทในครอบครัว (Independent Family Mediation Services) ที่เมืองบริสตอลในปี 1978 การจัดตั้งสำนักงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวแห่งลอนดอนตะวันตกเฉียงใต้ (South East London Family Mediation Bureau) ที่บรอมลีย์ในปี 1978 และการจัดตั้งสภาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวแห่งชาติ (National Family Conciliation Council)ในปี 1981 ซึ่งเป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีครอบครัวในศาล ที่ทำโดยผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก (Welfare officer) โดยเริ่มต้นที่ศาลในภาคตะวันตก(Western Circuit) เมื่อปี 1977 และค่อยๆเพิ่มจำนวนกระจายออกไป โดยในปี 1993 มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวโดยศูนย์ไกล่เกลี่ยอิสระ จำนวนประมาณ 6,500 เรื่องและมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครอบครัวในศาลจำนวนประมาณ 19,000 เรื่อง
นอกจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวแล้ว การไกล่เกลี่ยชุมชนก็เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 และเพิ่มจำนวนการให้บริการอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ โดยเมื่อปี 1985 มีศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชนในอังกฤษและเวลส์เพียง 6 แห่ง ต่อมาในปี 1995 เพิ่มเป็น 36 แห่ง และในปี 1996 เพิ่มจำนวนเป็น 65 แห่ง ศูนย์แรกๆที่มีการจัดตั้ง ได้แก่ ศูนย์ระงับข้อพิพาทเพื่อนบ้านที่โบลตัน (Bolton Neighbour Dispute Service) ซึ่งเป็นแม่แบบแก่ศูนย์ที่จัดตั้งในลักษณะเดียวกันในอังกฤษ ในปี 1991 มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และจัดการอบรมอาสาสมัคร 25 คนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปได้ถึง 50 เรื่องในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของการเปิดบริการ การไกล่เกลี่ยในเรื่องอื่นๆ เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางพาณิชย์ก็เริ่มต้นในยุคทศวรรษ 1990 เช่นกัน แต่ในบางด้าน อาทิ ข้อพิพาทเกี่ยวกับความเสียหายส่วนบุคคล (Personal Injury) และความเสียหายจากความประมาทในการรักษาพยาบาล(Clinical negligence) เริ่มมีเมื่อไม่นานเท่าใดนัก



Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 5 มีนาคม 2551 11:38:40 น.
Counter : 632 Pageviews.

0 comment
การไกล่เกลี่ยในสหราชอาณาจักร

ในสหราชอาณาจักรมีการนำการไกล่เกลี่ยมาใช้ในการระงับข้อพิพาท แต่คำจำกัดความของคำว่า การไกล่เกลี่ย (Mediation) นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แม้แต่คำว่า การระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution, ADR) ก็ยังไม่มีนิยามที่ยอมรับอย่างเป็นสากล ตามกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง (Civil Procedural Rules, CPR) ซึ่งใช้ในอังกฤษและเวลส์ได้อธิบายคำว่า ADR ในฐานะที่เป็นวิธีการต่างๆในการระงับข้อพิพาททางอื่น นอกเหนือจากการพิจารณาคดีตามปกติของศาล



Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 5 มีนาคม 2551 11:34:39 น.
Counter : 415 Pageviews.

0 comment
หน้าที่10 ประการของผู้ไกล่เกลี่ย

สนับสนุนให้มีการสื่อสารที่สร้างสรรค์ระหว่างคู่พิพาท
ช่วยเหลือคู่พิพาทในการระบุประเด็นข้อพิพาท
ช่วยเหลือคู่พิพาทให้เข้าใจลักษณะที่แท้จริงและเหตุผลอันเป็นที่มาของข้อพิพาท
ช่วยเหลือคู่พิพาทในการแจกแจงมุมมองต่อปัญหาข้อพิพาทของตนให้เกิดความชัดเจนและทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตนและขณะเดียวกันก็จะช่วยให้เข้าใจมุมมองและความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
สนับสนุนการสร้างข้อเสนอ หรือวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้โดยคู่พิพาทเอง
ช่วยเหลือคู่พิพาทในการค้นหาหลักเกณฑ์อ้างอิงที่เป็นภาวะวิสัยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคู่พิพาทเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งมีความดึงดูดใจต่อความรู้สึกถึงความเป็นธรรมของคู่พิพาทเพื่อใช้ในการประเมินประเด็นปัญหาข้อพิพาทต่างๆ
สอบถามเกี่ยวกับทางเลือกอื่นที่คู่พิพาทแต่ละฝ่ายมีอยู่นอกเหนือจากการตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างกัน และช่วยเหลือคู่พิพาทให้เข้าใจถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ตกลงระงับข้อพิพาท
ช่วยเหลือคู่พิพาทให้แยกปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของคู่พิพาท
ฝ่ายหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจแก่คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง หรือที่เรียกว่าเป็นปัญหาของความสัมพันธ์ออกจากปัญหาที่เนื้อหาสาระของข้อพิพาท
และกระตุ้นให้คู่พิพาทตอบสนองในเชิงบวกต่อกัน
ช่วยเหลือคู่พิพาทค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับความต้องการของคู่พิพาททุกฝ่าย และ
ช่วยเหลือคู่พิพาทในการยกร่างข้อผูกพันที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจากบรรดาข้อเสนอที่คู่พิพาทคิดขึ้น




Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 5 มีนาคม 2551 11:31:53 น.
Counter : 716 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments