ผู้เสียภาษี โดย เชิดชัย ขันธ์นะภา



ช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นเทศกาล“เสียภาษี”(จ่ายภาษีให้รัฐบาล) ทั้งที่ช่วงนี้ (ปลายเดือนมีนาคม) เป็นเวลาที่ต้องสรุปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภงด.ธรรมดา) ที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลสำหรับปีภาษีที่เพิ่งผ่านพ้นไป

 

ปกติในเทศกาลนี้ จะมีประชาชนซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ หนึ่ง กลุ่มที่ได้รับเงินภาษีคืนกลับมา (เพราะชำระภาษีไป      เกินภาระภาษีเงินได้ที่มี)  สอง คือกลุ่มที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม (เพราะนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่าย เอาไว้ไม่มากพอสำหรับคุ้มภาระภาษีที่บุคคลมี ตามกฎหมาย) และ สามคือ กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบชำระภาษี (และไม่ต้องยื่นแบบชำระภาษี) โดย สองกลุ่มแรกน่าจะประมาณ 55% ของประชากร ส่วนที่เหลือ น่าจะหมายความว่า ยังไม่อยู่ในเรดาร์ของหน่วยงาน (ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะหมายถึงระดับรายได้ยังไม่เข้าเกณฑ์ตามกฏหมาย)

ช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีความคึกคักเกี่ยวกับการชำระภาษี อันเกี่ยวกับภาษีตัวเดียวนี้แหละ(ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) จริงๆการเก็บภาษีตัวนี้เริ่มมาตั้ง 15 เดือน ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อนายจ้างทำการหัก ณ ที่จ่าย จากเงินจ่ายให้ผู้เสียภาษีเพื่อนำส่งสรรพากร มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งปีภาษี รวม 12 ครั้ง หรือทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายเงินได้ให้ตามมาตรา 40 ของประมวลรัษฎากร เพียงเท่านั้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาไป

ภาษีอื่นๆ มีให้ประชาชนต้องดูแล และประชาชนจ่ายอยู่ตลอดเวลา เช่น ภาษีปิโตรเลียม ทุกครั้งที่เติมน้ำมันรถ ภาษีแว๊ต ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าและบริการที่มีแว๊ต   ภาษีสรรพสามิตต่างๆ ทุกครั้งที่บริโภค(เสพ) สินค้าบริการที่มีภาษีสรรพสามิต ฯลฯ แต่การชำระภาษีเหล่านั้นมีผลกระทบต่อความรู้สึก ต่ำ อาจเป็นเพราะจำนวนเงินที่จ่ายแต่ละครั้งเป็นเงินไม่มาก และภาษีเหล่านั้นไม่ได้รอเวลานำมาชำระ “ปิดงวด” ปลายปีภาษี เหมือนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความมี “ทัศนวิสัย” ที่สูงของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ ทำให้เกิดความคิดเชิงวิเคราะห์ เกี่ยวกับภาษีที่ประชาชนแบกรับอยู่ หลายๆประการ เรามาคุยกันเรื่องนี้ เท่าที่มีเวลา

ประการแรก ภาษีเป็นทรัพยากรบังคับที่รัฐภายใต้การบริหารงานของคนกลุ่มหนึ่ง บังคับด้วยกฎหมาย มาจากประชาชน ด้วยความเข้าใจว่า เป็นทรัพย์ที่เอาไปบำรุงพัฒนาบ้านเมือง (ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ทำให้ประชาชนมีความสุข ความพอใจ ไม่ใช่เอาไปสร้างจรวดนำวิถีหรือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในขณะที่ประชาชนอดจะตายอยู่ในบางประเทศ) ดังนั้น ประชาชนย่อมไม่พอใจหากมีการทุจริตในกระบวนการระดมภาษีอากรเพื่อเอาไปพัฒนาประเทศ หน่วยรัฐที่มีอำนาจเก็บเงินภาษีอากรและค่าธรรมเนียมจากประชาชนมีมากมาย มีการดูแลดีเพียงใดไม่ให้เกิดการประพฤติมิชอบในการนี้ ยกตัวอย่าง เงินเรียกเก็บจากประชาชนและธุรกิจที่ไม่มีใบเสร็จกำกับ แต่เป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะคนของรัฐเรียกในการให้บริการ มันไม่ผิดที่เรียกเก็บภาษีอากร แต่มันผิดที่ไม่มีใบเสร็จเพื่อกำกับเจ้าของเงิน(คือรัฐ)  ทำให้เจ้าหน้าที่ทุจริตและลงเอยโดยเงินจำนวนนั้นไม่ได้ไหลเข้าคลังแผ่นดิน

ประชาชนเสียภาษีอากรก็เพื่อให้มีการพัฒนาประเทศ แต่ก็ต้องทำตามแผนงานที่ตกลงกันไว้ นะครับ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจหรือความต้องการของผู้ใช้อำนาจ แผนงานที่ว่าคือ แผนงานที่สะท้อนและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เราจะพบว่ามีรายการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากที่มาจากความต้องการของผู้ใช้อำนาจ (ซึ่งจริงๆเขาคือลูกจ้างของประชาชน แต่พอใส่เครื่องแบบเข้าไปแล้ว มันเลยใหญ่โตกว่าประชาชน อำนาจรัฐถูกไฮแจ๊กเข้ามาในร่างของผู้ใช้อำนาจเกิน ในประเทศที่ล้าหลังแบบนี้) พฤติกรรมแบบนี้(Bureaucracy Overgrowth) เขารู้กันมานานแล้ว นักรัฐศาสตร์นั่นแหละกล่าวถึงพฤติกรรมนี้ กล่าวคืองบประมาณแผ่นดินที่ได้รับอนุมัติ จะมีขนาดที่ใหญ่โตกว่างบประมาณสำหรับกิจกรรมที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการ เนื่องด้วยผู้ใช้อำนาจแอบเพิ่มเติมรายการสำหรับขยายอาณาจักรของผู้ใช้อำนาจด้วย (จะเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นมากขึ้น สำนักงานที่โอ่ขึ้น ข้าทาสที่มากขึ้น รายการสันทนาการที่แพงขึ้น ฯลฯ) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ใช้อำนาจหาความสุขสบายได้นอกเหนือการใช้อำนาจซึ่งประชาชนอยากให้ใช้จริงๆ

งบประมาณแผ่นดินประเทศไทยในปัจจุบัน ใหญ่โตขึ้นมาอยู่ในระดับ 3 ล้านๆ บาทแล้ว ผู้แบกรับการจ่ายเงิน 3 ล้านๆ บาทนี้ จึงต้องการความสบายใจหลายประการเกี่ยวกับเงินนี้ อาทิ

(ก) กรุณาใช้เงินแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในประเด็น ความซ้ำซ้อนของหน่วยงานซึ่งทำกิจกรรมซ้ำๆกันในหลายๆ หน่วยงาน ทำให้งบประมาณบานปลาย ถ้าขาดความซ้ำซ้อนของการใช้จ่ายได้ จะประหยัดงบประมาณได้มาก ซึ่งการประหยัดที่เกิดขึ้น อาจเอาไปขยายโครงการจำเป็นที่ขาดเงิน หรือ นำไปทำโครงการใหม่ที่ประเทศต้องการ หรือ ลดภาษีให้ประชาชน เพราะจริงๆ มีการใช้จ่ายแบบกิจกรรมซ้ำซ้อนอยู่ในหลายหน่วยงาน

(ข) เงินประชาชนที่ผู้ใช้อำนาจเอาไปใช้จ่ายมีอยู่จำนวนหนึ่ง (เป็นปริมาณที่มาก) ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการอนุมัติที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยมีการใช้กลไกกฎหมายย่อย (เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง ฯลฯ) เปิดช่องทางให้เกิดค่าใช้จ่าย (แบบ “ปิดตา” รับรู้) เช่น ให้เอกชนทำการวิจัย แล้วนำงบวิจัยไปหักภาษีได้ 3 เท่า หรือ กิจกรรมมากมายในลักษณะนี้ ที่มีกฎหมายย่อยรองรับ ดังที่กล่าว   ทำให้ ภาษีที่พึงไหลเข้ารัฐเป็นปกติ ต้องเหือดหายไป อีกทั้งกลไกตามรัฐธรรมนูญที่มีสำหรับการอนุมัติการใช้จ่ายที่เกิดจากภาษีอากรของประชาชน ไม่มีโอกาสและไม่มีสิทธิ์อนุมัติหรือไม่อนุมัติพฤติกรรมเหล่านั้น  พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากผู้ใช้อำนาจเห็นควรให้ทำกิจกรรมปลอดภาษี (โดยไม่ได้หารือต่อรัฐสภา) จึงใช้พระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง (เป็นส่วนใหญ่) ทำการยกเว้นภาระภาษีสำหรับพฤติกรรมที่ผู้ใช้อำนาจ (ไม่ใช่ประชาชน) ส่งเสริม   กลไกรัฐธรรมนูญจึงถูกตัดออกไปจากวงจรการอนุมัติการใช้เงินภาษีอากรในกรณีเช่นนี้

(ค) การกำหนดกติกาการชำระภาษีในกฎหมายภาษีต่างๆ ยังขาดความยุติธรรมในหลายๆ ประการ เอาเฉพาะเรื่องพื้นๆ ที่เรารู้กัน จะขอกล่าวถึงกรณีต่อไปนี้

(i) ภาษีทางอ้อมเป็นสัดสวนที่สูงเกินไปมาก ทำให้ระบบภาษีของประเทศไทย เป็นระบบภาษีที่ถดถอย (หมายความว่า คนรวยสามารถหนีการเสียภาษี ทำให้สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม) จะดูตัวอย่างง่ายๆ ของการหนีภาษีแบบนี้ หาดูได้ที่แบบการเสีย ภงด.ธรรมดา จะเห็นว่า ผู้มีเงินได้สุทธิ 4 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 35% เท่ากันหมด   ทำไมจึงอยุติธรรมอย่างนี้   เพราะถ้ากติกาเป็นอย่างนั้น
ผู้มีเงินได้ 5  10  100  ฯลฯ ล้านบาท ก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 35
% (ซึ่งเท่ากับอัตราสำหรับผู้มีเงินได้ 4 ล้านบาท) เป็นธรรมในสังคมไหม?

(ii) ใน 1 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลรำพึงถึงการ”ขึ้นภาษีเพียง 1เพื่อให้ได้รายได้เข้ามา “ตั้ง 100,000 ล้านบาท” คำถามคือ ทำไมไม่เก็บ ภงด. ธรรมดา สำหรับสำหรับผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 4 ล้านขึ้นไป ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะได้ทั้งเงิน และได้ทั้งความยุติธรรมในสังคม ครับ

(iii) กรณี PANAMA PAPERS ตามข่าวเมื่อปีที่แล้ว บ่งบอกชัดเจนว่ามีคนไทย เอาสมบัติไปกองไว้นอกประเทศมากมาย ทำไมรัฐบาลไทยไม่เก็บภาษีจากทรัพย์เหล่านั้น หรือออกกฎหมายให้สามารถเก็บภาษีจากทรัพย์เหล่านั้น เพราะเขาเหล่านั้นที่เอาทรัพย์ไปกองไว้นอกราชอาณาจักรมีเจตนาที่ต้องการเลี่ยงการเสียภาษีอยู่แล้ว ผู้ใช้อำนาจรู้อยู่แล้ว  แล้วทำไมไม่แก้ไข ต้องร้อนถึงประชาชนอีกแล้ว

ประชาชนผู้เสียภาษีรู้ดีว่าไม่มีอะไรจะแน่นอนไปกว่าความตายและการต้องเสียภาษี แต่ประชาชนจะไม่เสียภาษีแบบยังไงก็ได้ หรือแล้วแต่ผู้ใช้อำนาจจะต้องการ จบไปแล้ว จบไปนานแล้ว เรื่องการรีดไถภาษีจากประชาชน ถ้ากฎหมายงบประมาณแผ่นดินอยู่ในสภาวะการควบคุมที่หละหลวมและไร้วินัย โปรดอย่าคิดรีดเงินภาษีอากรจากประชาชน เท่าที่รีดไปแล้วก็เยอะแยะน่าดู เอาไปจัดสรรจัดการให้คุ้มก่อน อย่ารีดเพิ่ม จนกว่าจะให้ประชาชนควบคุมกระบวนการจัดการบริหารงานงบประมาณแผ่นดินที่รัดกุมและสะท้อนความต้องการของประชาชน

ที่มา thaitribune




Create Date : 26 มีนาคม 2560
Last Update : 26 มีนาคม 2560 20:26:48 น. 0 comments
Counter : 305 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.