จีน โดย เชิดชัย ขันธ์นะภา



ประเทศจีนเป็นที่กล่าวถึงกันมากในทุกวันนี้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ธุรกิจ เศรษฐกิจ และเรื่องด้านอื่นๆ ทั่วๆ ไป เราจะได้ยินการอ้างถึงจีน หรือการพาดพิงที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานั้นๆ การพูดถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นที่มนุษย์กำลังหาข้อสรุป หรือคำตอบ เช่น เศรษฐกิจโลกซบเซาเนื่องด้วยจีนทรุดลงมาจากเดิม การแก้ไขปัญหาการเมืองในซีเรียยุติได้ไม่ง่ายเพราะจีนยังหนุนหลังรัฐบาลของนายอาซาด โลกจะร้อนขึ้นเพราะจีนยังไม่ตกลงลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา ฯลฯ

 

24 กันยายน 2559- จะเห็นว่าน้ำหนักของจีนในกิจการของโลกทุกวันนี้มีมากขึ้นจากเดิมมาก อิทธิพลของจีน เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจ ทุกวันนี้เกิดจากการเข้าไปเป็นสมาชิกสำคัญ ในสถาบันต่างๆ อาทิ สภาความมั่นคงสหประชาชาติ ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก ฯลฯ อีกทั้งจีนได้สะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้มากกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ สรอ. และจีนก็ได้ขยายตัวในทุกวงการ

ชาวโลกกำลังสงสัยกันอยู่ว่าศตวรรษที่ 21 นี้จะเป็นศตวรรษของจีนหรืออย่างไร ดังที่เคยกล่าวกันว่า ศตวรรษที่เพิ่งผ่านไป เป็นศตวรรษของสหรัฐอเมริกา แต่ละคนก็จะมีมุมมองแตกต่างกันไป บทความนี้จะใช้มุมมองทั่วๆ ไป เพื่อแสดงความเห็นนี้

   จริงอยู่อารยธรรมจีนได้อุบัติขึ้นมาเป็นเวลามากกว่า 4,000 ปีแล้ว และได้มีการวิวัฒนาการในเรื่องต่างๆ มากมาย การรวมตัวของกลุ่มเล็กๆ ผ่านการสงครามและการรวมเผ่า ได้ทำให้ประชากรของจีนขยายเติบโตมาโดยตลอด แต่ชนกลุ่มเป็นจำนวนมากได้ถูกกลืนเข้าไปในวัฒนธรรมของจีน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองจีน ทุกวันนี้ จีนเป็นประเทศที่ประกอบด้วยคน  56 เชื้อชาติ   (โดยมีกลุ่ม 10 กลุ่มใหญ่สุดคือ HAN ZHUANG HUI MANCHU UIGHUR MIAO YI TUJIA TIBETAN และ MONGOL)  ดังนั้นวัฒนธรรมจึงมีส่วนในการขยายชาติจีนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดและการเขียน ประเพณี ความเชื่อและการนับถือด้านจิตวิญญาณ นอกจากนั้น การนำมาใช้ระบบการปกครองด้วยข้าราชการจากส่วนกลางก็มีส่วนในการยึดโยงอาณาจักรต่างๆ เข้าเป็นแผ่นดินเดียว แต่ก็ต้องทำสงครามกันนับไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ของจีนที่ยาวนานภายใต้การปกครองของราชวงศ์จำนวนกว่า 10 ราชวงศ์ เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ XIA (2,100-1,600 ปี ก่อนคริสตกาล)  ราชวงศ์ SHANG (1,600-1,029 ปี ก่อนคริสตกาล)  ราชวงศ์ ZHOU (1,029-771 ปี ก่อนคริสตกาล) จนจบที่ราชวงศ์ QING (ค.ศ. 1644-1911) จีนได้อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ที่เป็นต่างชาติที่รุกรานจีนสำเร็จ 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ YUAN (ค.ศ. 1271-1368) ที่เกิดจากการรุกรานของมองโกล (โดยเจ็งกิสข่านไม่สนใจประทับในเมืองหลวงในจีน แต่กุบไลข่านได้ประทับอยู่ที่นครปักกิ่ง) และ ต่างชาติอีกชาติที่ยึดครองและปกครองจีนในอดีต คือ เผ่ามันจูในชื่อราชวงศ์ QING

   จีนไม่ได้เผชิญการรุกรานจากภายนอกเฉพาะจากเขตภายในทวีปเท่านั้น ทางทะเล จีนก็เคยเผชิญการรุกรานจากญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1592-1597 ในยุคของราชวงศ์หมิง โดยกองทัพของโชกุน HIDEYOSHI TOYOTOMI  ได้รุกรานเข้ามาทางเกาหลี  และ อีกครั้งที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนก็ในยุคปัจจุบัน ระหว่างปี ค.ศ. 1894-1895 โดยจีนแพ้สงคราม และระหว่างปี ค.ศ. 1932-1939 จีนแพ้สงครามอีก แต่ความเหิมเกริมของญี่ปุ่น (น่าจะเกิดจากความหมั่นไส้ที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปช่วยจีนในช่วง ค.ศ. 1932-1939) ญี่ปุ่นไปก่อสงครามกับสหรัฐอเมริกา (ธันวาคม ค.ศ. 1941) คราวนี้ญี่ปุ่นแพ้เลยต้องสูญเสียทุกอย่างที่เคยได้มาจากการชนะประเทศต่างๆ รวมทั้งจีน ย้อนหลังกลับถึงปี ค.ศ. 1894

 อีกหนึ่งมุมมองเกี่ยวกับจีนที่น่าสังเกตคือ ระบบการเมืองที่จีนใช้ จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นปรัชญาคิดขึ้นมาโดยชาวเยอรมัน 2 คน Engels และ Marx แต่จีนมีนักปราชญ์ และนักคิดมากมาย ทำไมจีนจึงต้องพึ่งความคิดของคนเยอรมัน2คน  ก็ในอดีตจีนก็ได้ปกครองชาติอยู่ภายใต้ราชวงศ์ต่างๆ โดยใช้ปรัชญาของจีนเอง (จากขงจื้อ) ปกครองประเทศมายาวนานถึง 2,500 ปี แต่เมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองใน ค.ศ. 1911 ปรัชญาทางการเมืองก็เจอกับวิกฤติด้วย การต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างทางเลือกเก่า (ขงจื้อ) กับทางเลือกใหม่ (ประชาธิปไตย ภายใต้ซุนยัทเซ็น) แม้ทางเลือกใหม่จะชนะแต่ก็ร้าวฉานระหว่างคนถือปืน (ก๊กมินตั๋ง นำโดยเจียงไคเช็ค) กับคนนักคิด (ลัทธิมาร์กซิส นำโดยเหมาเจ๋อตุง)   ซุนยัทเซ็นเลือกสาธารณรัฐ เจียงไคเช็คเลือกวัฒนธรรมตะวันตก และเหมาเจ๋อตุงเลือกประชาชนคนจีน  การตัดสินใจในที่สุดก็ต้องใช้สงครามมาตัดสิน โดยมีตัวโจ๊กเก้อร่วมอยู่ด้วย 2 ตัว คือ ญี่ปุ่นที่ทำตัวเสมือนตั๋งโต๊ะที่ทุกฝ่ายเกลียดชัง และสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังฝึกการทำสงครามตัวแทนในการแผ่อำนาจแบบไม่แถลงอะไรชัดๆ   ผลสุดท้ายประชาชนนั่นแหละที่เป็นปัจจัยที่ชี้ว่าใครจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน อาญาสิทธิ์จากสวรรค์ได้ถึงวันอัสดงอับปางอย่างถาวร  ตั๋งโต๊ะถูกรุมกินโต๊ะในที่สุด และการเล่นสงครามตัวแทนก็จบลงโดยผู้ที่ห้อยโหนอยู่กับ สรอ. ก็ต้องระเห็จไปอยู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแทน

   แต่จีนไม่ได้ใช้เพียงลัทธิการเมือง (และเศรษฐกิจ) ที่คนเยอรมัน 2 คน คิดขึ้นมาเป็นแนวทางการต่อสู้ จีนยังได้พัฒนาปรัชญาการรบซึ่งไม่มีชาติใดคิดได้  นั่นคือ สงครามกองโจรซึ่งจีนภายใต้เหมาเจ๋อตุงใช้ต่อสู้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น และยุทโธปกรณ์ชั้นนำของตะวันตก (ภายใต้การนำของเจียงไคเช็ค) และได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492)   การเลือกหรือความนิยมปรัชญาทางการเมืองของคนเยอรมัน 2 คนนั้น ดูไม่ได้เกิดจากการไปศึกษาและเลือกเฟ้น แต่เกิดจากการใช้ลัทธิเอาอย่าง คือ เหมาเจ๋อตุงในช่วงแรกๆ ที่ต่อสู้กับพวกก๊กมินตั๋ง เห็นว่ารัสเซียภายใต้การนำของ เลนิน-สตาลิน ประสบชัยชนะและความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง จึงเลือกความคิดแนวทางมาร์คส์-เลนิน เพื่อนำขบวนการทางการเมืองของเขา โดยเหมาเจ๋อตุงเอาตัวเองและพรรคเข้าไปแนบสนิทกับประชาชน และนี่แหละที่ทำให้เหมาเจ๋อตุงชนะในที่สุด ไม่ได้เกี่ยวกับความฉมังของลัทธิมาร์คส์-เลนินเลย ความพยายามหลายๆ อย่างภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง ส่อให้เห็นถึงการก้าวไปสู่สถานะ “เบอร์หนึ่ง” ต่อมา อาทิ การกระโดดเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมโดยให้พยายาม “ผลิตเหล็ก” หลังบ้านประชาชน ทั้งๆ ที่การกินการอยู่ของคนทั่วไปยังไม่ได้อุดมสมบูรณ์ และการเปิดโอกาสให้ “ดอกไม้แสนต้นออกดอกเติบโต” ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่าง ไม่ประสบความสำเร็จทันที แต่ทิศทางการเดินหมากทางการเมืองมันส่อออกมาแล้ว

   ความต่ำต้อยของจีนยังคงมีอยู่แม้จะได้รับชัยชนะทางการเมืองและการทหาร จีนยังล้าหลังทางเศรษฐกิจ การศึกษา สวัสดิการ ฯลฯ แต่จีนก็เข้าแก้ไขอุปสรรคทันที จะจับหนู (นโยบาย)จีนไม่พิถีพิถันเกี่ยวกับว่าจะใช้แมวสีอะไร แล้วจะไม่แซงเพื่อนๆ ได้อย่างไร  จีนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เซ็งลี้กับมหาทุนจากประเทศตะวันตก ในประเทศจีน ผลิตรถยนต์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯและเข้าถึงแนวหน้าของเทคโนโลยีทุกๆ ด้าน ยังไม่ถึงเวลาที่ชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นใหญ่ อย่าหลงผิด อย่าก้าวผิดเชียวนะ ขณะนี้จีนกำลังแข่งกับชาติตะวันตกด้านการเงินโดยเข้าไปใช้กลไกทางการเงินทุกประเภทที่ตะวันตกได้คิดค้นมา และจะเอาชนะให้ได้ในการใช้กลไกเหล่านั้น นี่คือจีนในยุคคอมมิวนิสต์ ต่างจากจีนภายใต้ราชวงศ์ YUAN หรือ ราชวงศ์ QING หากเปรียบเทียบเซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. 1916 กับเซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. 2016 ต่างชาติต้องยกนิ้วให้จีน แต่จีนอาจจะบอกว่า กั้วเจี่ยงเล่อ

 แล้วศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของจีน หรือไม่ ดูจากแรงเฉื่อยที่เกิดในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมาน่าจะใช่ แต่ถ้าดูประวัติศาสตร์ ก็ไม่แน่ (โดยเฉพาะ ค.ศ.1271  ค.ศ.1644 และ ค.ศ.1939) พิจารณาปัจจัยประชากรและพื้นที่ครอบครอง ก็ไม่น่าจะใช่ พื้นที่ครอบครองไม่ใช่นับเพียงแผ่นดิน หันไปดูความเฉลียวฉลาดและระดับความมีปัญญา จีนก็คงต้องแข่งกับชาติอื่นๆ อีกมาก ทั้งในเรื่องนวัตกรรม การวิจัย ทรัพย์สินทางปัญญา การค้นพบ ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ชี้ความเป็นความตายและชัยชนะในเบื้องหน้า สหรัฐอเมริกาได้ครองศตวรรษที่ผ่านมาไม่ใช่โดยการประจันหน้ากับระบบของชาวโลก  แต่ใช้วิธีช่วยสร้างระบบใหม่ให้ชาวโลกโดยสอดแทรกตนเองเข้าไปในระบบใหม่  แต่จีนได้ดำเนินการอีกแบบ เช่น ในกรณีหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ (SPRATLY   PRATAS  และ PARACELS) จีนแสดงอย่างเปิดเผยว่าไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล(สากล) และบรรยากาศเหนือพื้นที่ดังกล่าว   แต่ในจังหวะและโอกาสที่จีนต้องอ้างอิงระบบระหว่างประเทศ (เช่น อยากเป็นสมาชิก WTO) จีนก็จะประพฤติดีและเข้ามาร่วมด้วยในลักษณะยอมรับกติการ่วมกัน

ที่มา thaitribune




Create Date : 25 กันยายน 2559
Last Update : 25 กันยายน 2559 1:44:08 น. 0 comments
Counter : 475 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.