คำแนะนำการรักษาสุขภาพจิตในระหว่างเกิดความเศร้าโศกสูญเสีย-ให้กำลังใจปลอบโยนซึ่งกันและกัน



ท่ามกลางบรรยากาศความโศกเศร้าของคนไทยทั้งประเทศ จิตแพทย์กรมสุขภาพจิต เตือนให้สมาชิกในครอบครัวเฝ้าระวังภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่เต็มไปด้วยประสบการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจย่อมทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ

 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2559 น.พ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่า มีความเสี่ยงให้ประชาชนเกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเรื้อรังต่างๆ รวมทั้งผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าผิดปกติ ที่ไม่รับประทานอาหาร ลูกหลานจึงไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพังและต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งรับฟังไถ่ถามความรู้สึก ควบคู่กับการสัมผัส เช่น จับมือและกอด

น.พ.อภิชาติ ยังแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในความโศกเศร้า เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน หรือกิจกรรมทางศาสนาที่ตัวเองนับถือ หรือเขียนบรรยายความรู้สึกที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เพื่อช่วยบรรเทาความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น ส่วนคนรอบข้างต้องแสดงตัวว่าจะอยู่เคียงข้าง เพื่อผ่านช่วงเวลาของความทุกข์โศกไปด้วยกัน

ความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียนับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตอันเป็นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปนั้น ย่อมทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ทุกคนควรทำคือการดูแลสุขภาพจิตของตนเองให้พร้อมรับกับเหตุการณ์อันก่อให้เกิดความเศร้าเสียใจ สำหรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิตจากกรมสุขภาพจิตมีดังต่อไปนี้

ประชาชนชาวไทยทั่วไป

1.ไม่ควรเก็บกดความรู้สึกไว้

เนื่องจากการสูญเสียทำให้เกิดความเศร้าเสียใจ สิ่งที่เกิดขึ้นจากความเสียใจล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ และคุณไม่ควรเก็บกดความรู้สึกไว้ หากต้องการร้องไห้ให้ร้องไห้ออกจนหมด เมื่อร้องไห้แล้วความรู้สึกโศกเศร้า หนักอึ้ง หมดแรงหมดพลังจะผ่อนคลายไปได้มาก

2.ควรอยู่ในอาการที่สงบ

เนื่องจากว่าความเสียใจอาจจะนำมาซึ่งการขาดสติหรือทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำ  ได้แก่  การดำรงตนอยู่ในอาการที่สงบ เศร้าเสียใจอย่างสำรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ไม่ควรร้องไห้ฟูมฟายมากเกินไปจนขาดสติเพื่อไม่ให้ตนเองเกิดความตึงเครียดมากจนเกินไป

3.ดำรงตนอยู่ในหลักศาสนา

ในห้วงยามแห่งการสูญเสียนี้ไม่มีสิ่งใดดีไปกว่าการใช้ศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ คุณควรใช้หลักของธรรมะเข้าข่ม โดยคิดในแง่ศาสนาว่าการเกิดแก่ เจ็บตายเป็นกฎทางธรรมชาติที่เราทุกคนล้วนต้องประสบพบเจอ ไม่มีผู้ใดที่สามารถก้าวข้ามผ่านกฎเกณฑ์นี้ไปได้ สิ่งที่ทำได้คือการทำบุญ สวดมนต์ตามหลักศาสนาของคุณเพื่อให้ผลบุญที่มีส่งไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

4.ใช้เวลากับคนใกล้ชิด

สำหรับสิ่งที่ควรทำมากที่สุดยามเกิดความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียนั้น คือ การอยู่กับคนที่เข้าใจในตัวของคุณมากที่สุด เนื่องจากการอยู่กับคนใกล้ชิดนั้นจะทำให้ความโศกเศร้าคลายลงไปได้มาก คนที่เข้าไปใกล้ชิดจะช่วยปลอบโยนให้ความรู้สึกสูญเสียลดลงไป

5.ระบายความรู้สึก

การระบายความรู้สึกเศร้าเสียใจถึงสภาพจิตใจที่เป็นอยู่จะทำให้คุณลดความเสียใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการระบายความเศร้าด้วยคำพูดกับคนใกล้ตัว หรือการโพสต์แสดงความเศร้าเสียใจลงในสื่อโซเชียลเน็ทเวิร์กนั้นนับเป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจได้ทั้งสิ้น

6.ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ในสภาวะเช่นนี้ทุกคนต่างมีความเศร้าเสียใจไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุด  ได้แก่  การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีการให้กำลังใจต่อกัน สถานการณ์นี้อาจจะพบเจอเมื่อคุณอยู่ในที่สาธารณะ เช่น การไปเข้าเฝ้าขบวนพระบรมศพหรือการเดินทางไปเพื่อรวมใจกันไว้อาลัย เป็นต้น หากพบเจอผู้ที่กำลังเศร้าเสียใจหรือร้องไห้ให้พยายามปลอบใจซึ่งกันและกัน

7.ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศล

สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศคือการทำบุญเพื่อถวายในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากผลบุญจะส่งไปยังพระองค์ท่านแล้ว ผู้ที่ทำบุญยังรู้สึกสบายใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เปรียบเสมือนกับการเสริมกำลังใจให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม

8.ทำกิจวัตรตามเดิม

หน้าที่คือสิ่งสำคัญ นี่คือพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มอบให้ไว้ เพราะฉะนั้นหากต้องการน้อมนำคำสอนของพ่อหลวงมาใช้จึงควรทำกิจวัตรไปตามเดิม หากคุณมีหน้าที่ใด ๆ อยู่ควรรับผิดชอบหน้าที่นั้นให้สำเร็จ หน้าที่และภาระการงานจะทำให้คลายความโศกเศร้าไปได้มาก

9.พยายามคิดในเรื่องอื่นๆ ด้วย

สิ่งสำคัญคือการก้าวเดินต่อไป แม้จิตใจจะอยู่ในสภาวะสูญเสีย คุณควรจัดการภาระหน้าที่ของตนเองและคิดเรื่องอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยกัน เพราะหากว่าคุณคิดเพียงเรื่องเดียวอาจทำให้สภาพจิตใจเสียสมดุลได้

10.งดเสพสื่อหากมีอาการเพิ่มมากขึ้น

ในกรณีที่ผู้เสพสื่อมากเกินไปรู้สึกหดหู่จิตใจและจมดิ่งอยู่กับความทุกข์ สิ่งที่สำคัญที่สุด  ได้แก่  การงดเสพข่าวสารทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โซเชียลเน็ทเวิร์กหรือสื่อต่าง ๆ อันอาจจะนำพาความหดหู่ยากยับยั้งมาให้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าภาพที่ปรากฏในสื่ออาจเป็นตัวกระตุ้นความเศร้าได้

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นผู้ที่มีสภาพจิตใจโน้มเอียงไปทางความเศร้าเสียใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

1.ปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่

สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรทำคือการปรึกษาจิตแพทย์ที่รักษาอยู่ด้วย พร้อมทั้งปรึกษาอาการที่เกิดขึ้น บอกเล่าสภาพความคิดและจิตใจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจิตแพทย์จะทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าควรให้ยาร่วมในการเยียวยาจิตใจหรือไม่

2.ญาติควรดูแลอย่างใกล้ชิด

ญาติและคนใกล้ชิดควรเอาใจใส่ความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นพิเศษและควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยรับรู้ข่าวสารของความเศร้าโศกมากเกินไป

สิ่งที่บุคคลทั่วไปควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาหากมีอาการ

1.เสียใจจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเป็นเวลานาน

หากว่าบุคคลที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีอาการเศร้าเสียใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีความรู้สึกต้องการทำร้ายตนเอง หวาดกลัวสิ่งต่าง ๆ อย่างไร้เหตุผล รวมไปถึงได้ยินเสียงจากมโนคติที่สร้างขึ้นเอง มีอาการประสาทหลอน สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนว่าควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

2.มีอาการชักเกร็ง

หากมีอาการชักเกร็งเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด ย่อมเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากความเศร้าโศกมากเกินไป ควรพาตนเองออกจากสถานการณ์นั้นและรีบพบแพทย์

สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปลอบโยนซึ่งกันและกัน พยายามปล่อยวางและละอคติเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและเปรียบเสมือนการนำคำสอนของพ่อหลวงในเรื่องความสามัคคีมาปฏิบัติอย่างแท้จริง

ที่มา thaitribune




Create Date : 16 ตุลาคม 2559
Last Update : 16 ตุลาคม 2559 16:55:13 น. 0 comments
Counter : 239 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.