นาคปรก .. ชายผ้าเหลือง ไสยศาสตร์ มาฆบูชา และมายาของเงิน
สวัสดีค่ะ เพิ่งดูหนังเรื่องนี้เมื่อวาน ยังไงมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะคะ บล็อกนี้มีการเปิดเผยส่วนสำคัญของหนัง ระวัง Spoil นะคะ ^^ - - - - -

เห็นชายผ้าเหลือง
ชอบความหมายที่แตกต่างของป่านกับปอในคำๆ นี้ การได้ "เห็น" ของป่านคือเห็นด้วยตาเนื้อ นั่นคือต้องหาเงินที่ไปขโมยมาให้เจอ แล้วนำไปรักษาแม่ หลังจากนั้นตัวเองและน้องค่อยบวช แต่การได้ "เห็น" ของแม่ ซึ่งป่านคิดว่าเป็นการตอบแทนพระคุณนั้น ต้องแลกมาด้วยการผิดศีลข้อ 2 คือห้ามลักทรัพย์ ชวนให้นึกถึงองค์ประกอบหนึ่งในการทำบุญซึ่งก็คือ บุบพเจตนา คือ การได้ปัจจัยสิ่งของที่ทำทานนั้นต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ บางทีคนเราก็ให้ความสนใจแค่ที่ผล แต่ไม่ได้ดูว่ากว่าที่จะได้ผลอันนั้นมา ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ถูกควรหรือไม่ หากป่านออกจากวัดหลังจากการขึ้นเทศน์ และยอมมอบตัว อีก 4 ปีต่อมาในฉากหลังของหนัง อาจจะมีชายพี่น้อง ได้บวชพร้อมๆ กันก็เป็นได้ เมื่อป่านไม่อาจแสดงความกตัญญูโดยใช้องค์ประกอบอันบริสุทธิ์ได้ ก็เท่ากับว่าได้ทำกรรมชั่วเพิ่มอีกหนึ่ง และเมื่อรวมกับผลกรรมก่อนหน้า ก็ทำให้เขาต้องจบชีวิตไปก่อนที่จะได้เห็นความสุขของแม่
ในขณะที่ปอ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายน้อยที่สุดในกลุ่มโจร เลือกที่จะให้แม่ได้เห็นชายผ้าเหลือง โดยการยอมรับกลไกของกฎหมาย และได้รับการปล่อยตัวในที่สุด แม้ว่าจะต้องปล่อยให้แม่ตาบอดดังเดิม ถึงกระนั้น แม้ว่าแม่จะได้ปลาบปลื้มใจตอนที่ปอกล่าวคำขอบวช ซึ่งควรจะเป็นการ "เห็น" ผ่านการได้ยิน แต่ประเด็นเรื่อง "เห็น" ชายผ้าเหลืองก็กลับมาอีกครั้ง โดยการที่แม่ร้องไห้และบ่นเสียดายว่าไม่ได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก ถึงตอนนี้พระปอได้จับมือแม่ ให้มาสัมผัสกับชายจีวรของท่าน การกระทำเช่นนี้ แม้จะเป็นอาบัติทุกกฎ คืออาบัติที่ต้องสารภาพต่อหน้าพระภิกษุรูปอื่น แต่ก็เป็นทางเลือกที่ให้ผลกระทบน้อยกว่ามาก คล้ายกับหนังกำลังตั้งจะบอกว่า หากจะต้องเลือกทำผิดกฎเกณฑ์ การเลือกทางที่ผิดน้อยกว่า น่าจะเป็นทางที่มนุษย์พึงเลือกมากกว่านั่นเอง
ไสยศาสตร์และพุทธศาสตร์
ความจริงแล้วสองศาสตร์นี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่องค์ประกอบบางอย่างในหนังก็สร้างเส้นที่ซ้อนทับ ระหว่างสองศาสตร์นี้ เช่นให้เจ๊คุมซ่อง มักสวดบนบานก่อนการเล่นไพ่ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน แต่ขณะสวด ก็พร้อมจะตะคอกลูกน้องได้ และการให้พระชื่นสวดมนต์ กับกล่าวว่า ลูกตระหนักแล้วว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระขนาดหนัก ทั้งที่คำกล่าวนี้ไม่ได้มาจากการเห็นด้วยปัญญาที่แท้จริง ว่าขันธ์ดังกล่าวเป็นของหนัก ต้องดูแลรักษาให้น้ำให้อาหาร ชำระล้างเป็นประจำ เป็นภาระแก่ใจ แต่กล่าวเพราะภัยแห่งการทำผิดกำลังย้อนกลับมาหาตัว บ่อยครั้งที่เราเห็นคนเข้าวัดทำบุญ สวดมนต์ ระเบิดอารมณ์จนไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะเข้าวัดจริงๆ เหมือนผีเข้าผีออก และบางครั้งก็มองเทียบกันไปโดยปริยายว่า การสวดมนต์ขอผีสางกับการสวดต่อหน้าพระพุทธรูปหรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นแห่งพระพุทธองค์นั้น ไม่เห็นต่างอะไรกัน แท้ที่จริงแล้ว คนเราจะรู้ค่าของธรรมะได้นั้น อาจไม่ใช่เพียงแค่การรู้ความหมายของบทสวดมนต์ แต่ต้องมาจากความเข้าใจทางปัญญา อันได้แก่ภาวนามยปัญญา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงอะไรสำหรับชาวพุทธยุคนี้ที่มีพระไตรปิฎก และธรรมะจากพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบออนไลน์ในอินเตอร์เน็ต เว้นแต่อาจถูกกิเลสหลอกว่ายากเกินไปที่ตนจะเข้าใจพระธรรม
มาฆบูชา
หนังเข้าใจใช้วันมาฆบูชาซึ่งเกิดเหตุการณ์สำคัญได้แก่พระอรหันต์ 1250 รูปมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย มาเป็นส่วนหนึ่งในหนัง ซึ่งตรงกับช่วงที่พระทุกรูปมาอยู่ในโบสถ์ แต่สิ่งที่ตรงข้ามกันคือพระในหนังไม่ได้มาด้วยความเต็มใจ แต่เป็นเพราะถูกบังคับ ส่วนผู้ที่บังคับก็มีจิตอกุศล คือโลภอยากได้เงินที่ขโมยเขามา การรวมทุกตัวละครสำคัญ ทั้งพระในวัด ฆราวาสทั้งชายหญิง ซึ่งไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์ทางจิตใจนี้ อาจเป็นการตั้งคำถามถึงการปฏิบัติตัวของพุทธบริษัท อันได้แก่ พระสงฆ์และฆราวาส ก็ได้ ว่าพิธีกรรมที่ทำกันในวันสำคัญนั้น พระสงฆ์สามารถให้มากกว่าเครื่องลางของขลังได้หรือไม่ ฆราวาสทำได้ดีกว่าเดินเตะฝุ่นรอบโบสถ์ขณะเวียนเทียนได้หรือไม่ อีกการรวมตัวที่น่าสนใจก็คือ การที่พระป่านเทศน์ว่าให้สอนลูกดีๆ ให้ลูกอยู่รวมกับพ่อแม่เป็นครอบครัว ดีกว่าเข้าเมืองไปหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย ดูคล้ายกับที่พระอริยสงฆ์ทั้ง 1250 รูปนั้นได้รับการบวชโดยพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพ่อแม่ทางธรรม ได้กลับมารวมตัวกันในวันนี้ แม้การกลับมารวมตัวของครอบครัวจะเป็นเหมือนอุดมคติ แต่หากเกิดขึ้นได้ ความอบอุ่นและความสุขในสังคมไทยอาจกลับมาอบอวลใกล้เคียงกับสมัยรุ่นปู่ย่าอีกครา
มายา
พระชื่นกล่าวว่า เงินทองเป็นเพียงมายา ซึ่งก็ตรงกับการที่ผู้ชมไม่เคยได้เห็นเงิน 7 ล้านกับตาสักฉาก แม้เราจะได้เห็นว่า เงินนั้นแปรสภาพเป็นรถเบนซ์ และความสุขสบายที่ทิดชื่นติดตัวมาในฉากสุดท้าย แต่ในที่สุดก็ถูกลงโทษด้วยคดีลักทรัพย์ เงินจึงเป็นเหมือนภาพลวงตา ซึ่งเปลี่ยนมือไปมานับครั้งไม่ถ้วน และไม่ว่าจะร่ำรวยแค่ไหน หากปราศจากความดีและความชอบธรรมในการครอบครองเงินแล้ว ก็ไม่อาจเสพสุขจากเงินได้ตลอดกาล ต้องเห็นเงินหลุดมือไปพร้อมกับอิสรภาพนั่นเอง
Create Date : 25 มีนาคม 2553 |
|
13 comments |
Last Update : 25 มีนาคม 2553 11:10:24 น. |
Counter : 9631 Pageviews. |
|
 |
|
ผมชอบบทหนังกับการแสดงครับ
ปล. แต่แง่คิดในเรื่องนี้มีให้เยอะจริงๆ