สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 
ข้อควรระวัง! ในการถอดแอร์แบบปล่อยน้ำยาทิ้ง

เมื่อแอร์เครื่องหนึ่งถูกนำมาติดตั้งใช้งาน และหลังจากใช้งานไปสักพัก ก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องถอดแอร์เครื่องดังกล่าวออกจากจุดที่ติดตั้ง โดยที่แอร์เครื่องนั้นยังคงสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ซึ่งการถอดออกนี้ไม่ว่าจะเป็นการถอดออกเพื่อเก็บไว้ หรือถอดออกนำไปติดตั้งยังสถานที่อีกแห่งนั้น จำเป็นต้องมีการถอดลงมาอย่างถูกต้อง และเก็บอย่างเหมาะสม

ที่ต้องมีขั้นตอนในการถอดอย่างเหมาะสม ก็เพราะเนื่องจากแอร์ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบทั่วๆไป ที่เพียงจะคลายสกรูที่ยึดติดแล้วแค่ปลดสายไฟก็ถอดออกมาได้ แต่เพราะว่าแอร์แบบที่ใช้กันในปัจจุบันมีระบบท่อน้ำยาหรือท่อทางเดินของสารทำความเย็นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการจัดการที่ไม่ถูกต้องนั้น อาจส่งผลเสียต่อแอร์และต่อผู้ปฏิบัติงานได้นั่นเอง




ในบทความชุดนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง การถอดย้ายแอร์แบบที่ไม่ถูกต้อง โดยปล่อยแรงดันน้ำยาหรือสารทำความเย็นออกมาทิ้งสู่บรรยากาศภายนอก ซึ่งไม่ได้ทำการไว้ในที่ที่เหมาะสมและส่วนใหญ่การถอดแบบปล่อยน้ำยาทิ้ง ก็มักจะเป็นการถอดลงมาด้วยตนเองโดยผู้ใช้งานหรือผู้ที่ไม่ได้เป็นช่างแอร์ ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบแอร์

ซึ่งถ้าหากเป็นการถอดด้วยตนเองโดยที่ผู้ถอดไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบแอร์ เกือบจะทุกรายก็มักจะถอดและเก็บอย่างผิดวิธี



การถอดแอร์โดยที่ไม่ได้เก็บน้ำยาหรือสารทำความเย็นไว้ในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ทำให้สารทำความเย็นที่มีแรงดันสูงในระบบ ถูกปล่อยออกมาทิ้งสู่บรรยากาศภายนอก

ซึ่งหลายท่านที่เคยทำการถอดแอร์ลงมาด้วยตนเองและปล่อยสารทำความเย็นในระบบทิ้ง ก็มักจะปล่อยสารทำความเย็นออกมาทางวาล์วลูกศรหรือบางรายก็อาจจะใช้การคลายเกลียว(แฟร์) ที่เป็นจุดต่อในระบบท่อแอร์ เพื่อเปิดทางให้สารทำความเย็นแรงดันสูงออกมานั่นเอง แต่บางรายที่เลวร้ายสุดคือการหักหรือบิดท่อทองแดงให้มีรอยแตกเพื่อให้แรงดันในระบบพุ่งทะลักออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำเช่นนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ปฏิบัติงานได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นการระบายแรงดันสารทำความเย็นออกด้วยช่องทางใดก็ตาม ก็ล้วนมีผลเสียตามมาหลายอย่างด้วยกัน



ผลเสียอย่างแรกสุดคงหนีไม่พ้น ผลเสียต่อระบบแอร์ เพราะการปล่อยแรงดันสารทำความเย็นออกสู่บรรยากาศนั้น หากไม่มีการควบคุมการระบายแรงดันอย่างช้าๆทีละน้อย แต่ปล่อยให้แรงดันในระบบพุ่งทะลักออกมาที่ละมากๆ แรงดันสารทำความเย็นที่พุ่งทะลักออกมานั้น ไม่ได้ออกมาเฉพาะแค่สารทำความเย็น แต่มันได้นำพาน้ำมันหล่อลื่นที่รวมอยู่ในระบบ ให้ไหลทะลักออกมาพร้อมกันด้วย และจนกว่าที่แรงดันในระบบจะถูกระบายออกมาจนหมด ระหว่างนั้นก็ทำให้น้ำมันจำนวนไม่น้อยไหลจามออกมา

เมื่อมีการนำแอร์เครื่องนั้นไปติดตั้งในสถานที่ใหม่ หลายท่านก็คงทราบดีว่าการนำมาติดตั้งใหม่ก็ต้องเดิมสารทำความเย็นหรือน้ำยาเข้าไปใหม่ แต่...สำหรับน้ำมันหล่อลื่นในระบบ ที่ออกมาพร้อมกับการปล่อยสารทำความเย็นทิ้งในครั้งก่อน ส่วนใหญ่แล้วในกรณีที่นำแอร์เครื่องนั้นไปใช้ในอีกสถานที่หนึ่ง น้ำมันส่วนที่ขาดหายนี้มักจะไม่ค่อยถูกเติมเพิ่มเข้าไป เพราะในงานติดตั้งของจริงมักจะไม่มีการวัดปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ในระบบ และเราก็ไม่ทราบว่าในระหว่างที่น้ำมันพุ่งออกมาพร้อมแรงดันสารทำความเย็นนั้น น้ำมันส่วนที่ออกมานั้น หายออกไปจากระบบปริมาณเท่าไหร่


ในส่วนของน้ำมันที่ว่ามานั้นก็คือน้ำมันหล่อลื่น หรือเรียกกันทั่วไปว่า “น้ำมันคอมเพรสเซอร์” เป็นน้ำมันหล่อลื่นสูตรเฉพาะสำหรับการใช้งานในระบบเครื่องทำความเย็น น้ำมันที่ว่านี้จะที่ถูกบรรจุเข้าไปในระบบแอร์ โดยส่วนใหญ่แล้วน้ำมันหล่อลื่นจะถูกตวงและบรรจุมาจากโรงงานที่ผลิตคอมเพรสเซอร์

น้ำมันหล่อลื่นที่ใส่เข้าไปนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มันหมุนเวียนในระบบไปพร้อมๆกับสารทำความเย็นที่ไหลเวียนในขณะที่เครื่องทำงาน ทำหน้าที่หล่อลื่นและระบายความร้อน ให้กับชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์นั่นเอง



หากปริมาณของน้ำมันในระบบมีอยู่ไม่เพียงพอตามที่ผู้ผลิตได้ออกแบบและกำหนดไว้ ก็จะส่งผลให้เกิดการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์ก่อนเวลาอันควร และในการใช้งานต่อเนื่อง ปริมาณน้ำมันที่มีน้อยจนเกินไปอาจจะไหลเวียนและระบายความร้อนให้กับคอมเพรสเซอร์ได้ไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาที่เรียกว่า “คอมเพรสเซอร์น็อก” และหากเป็นเช่นนี้ จะต้องเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ในรายของแอร์ที่ใช้กันอยู่ตามบ้านนั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์หนึ่งครั้ง อาจจะคิดออกมาได้ที่ราวๆ 30-40 ของราคาแอร์ทั้งชุดเลยก็เป็นได้


และการปล่อยสารทำความเย็นออกมาทิ้งนั้น นอกจากจะมีความเสียงที่แอร์เครื่องนั้นจะนำไปใช้งานต่อได้ในเวลาไม่นานก็ชำรุจ ยังมีข้อเสียที่เป็นผลกระทบที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ในกรณีที่เป็น R-22 ซึ่งมีส่วนผสมของสาร CFCs หรือสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน การปล่อยสารทำความเย็นออกมาสู่บรรยากาศ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งบางท่านอาจจะเถียงโดยมีความคิดว่า “ก็แค่แอร์เครื่องเดียวจะไปมีผลอะไร” ซึ่งหากใครคิดเช่นนี้อยู่ ผู้เขียนเองก็ขอถามกลับไปว่า... “แอร์ที่ใช้ R-22ทั้งโลกนี้มันมีแต่ของคุณอยู่เพียงเครื่องเดียวหรือเปล่า” ? อย่าลืมว่ามันไม่ได้มีใช้กันอยู่เครื่องเดียวและหากทุกคนต่างคิดแบบนี้ ก็ไม่ได้มีคนๆเดียวที่ปล่อยมันทิ้งสู่บรรยากาศ


มาถึงการถอดย้ายแอร์อย่างถูกวิธี ก่อนที่จะถอดระบบไฟฟ้า และระบบท่อสารทำความเย็นออก จะต้องมีการเก็บสารทำความเย็นหรือน้ำยา ให้อยู่ในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) เป็นวิธีที่เรียกกันในภาษาช่างว่า “ปั๊มดาวน์”

ขั้นตอนคร่าวๆของการปั๊มดาวน์ผู้เขียนจะขออธิบายให้พอเข้าใจเบื้องตน คือก่อนการปั๊มดาวน์จะต้องมีการเดินเครื่องก่อนเพื่อให้สารทำความเย็นไหลวนในระบบสักพัก ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีเกจแมนิโฟลด์ต่อวัดแรงดันในระบบด้วย เมื่อเดินเครื่องจนระดับแรงดันในระบบคงที่แล้ว จากนั้นจึงทำการหมุนปิดวาล์วของท่อด้านที่อัดสารทำความเย็นออกมา แล้วสังเกตที่หน้าปัดของเกจแมนิโฟลด์ค่าแรงดันจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และเมื่อค่าที่แสดงเข้าใกล้ 0 ให้รีบทำการหมุนปิดวาล์วของท่อด้านดูดทันที และจากนั้นต้องตัดการจ่ายไฟหรือปิดสวิทช์เพื่อให้เครื่องหยุดทำงานอย่ารวดเร็ว เพราะการปล่อยให้เครื่องเดินต่อไปโดยที่วาล์วถูกปิดส่งผลให้แรงดันไม่มีการไหลเวียนตามวัฎจักร ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เครื่องทำงานต่อไปอีกจะส่งผลทำให้แรงดันในระบบสูงมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจจะระเบิดได้



ดังนั้นขั้นตอนการถอดแอร์ที่ถูกต้องจะต้องทำการปั๊มดาวน์ เพื่อเก็บสารทำความเย็นเข้าไว้ในชุดคอยล์ร้อน แต่การปั๊มดาวน์นั้นจำเป็นจะต้องทำโดยผู้ชำนาญ หรือผู้ที่มีทักษะเบื้องต้นในงานระบบแอร์ เพราะหากไม่มีทักษะทางด้านนี้ ไม่ไม่ความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง ไม่เคยทำมาก่อนก็ควรปล่อยให้เป็นการถอดย้ายโดยช่างผู้ชำนาญจะดีที่สุด เพื่อที่เป็นการป้องกันอันตรายและจะไม่เกิดเหตุการณ์ตามภาษิตที่ว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”





Create Date : 21 ธันวาคม 2557
Last Update : 21 ธันวาคม 2557 22:15:04 น. 7 comments
Counter : 43658 Pageviews.

 
เป็นกำลังใจให้ท่านผู้เขียนครับ ให้เขียนบทความที่มีประโยขน์ต่อไป


โดย: isara IP: 27.55.110.236 วันที่: 21 ธันวาคม 2557 เวลา:22:32:42 น.  

 
ขอขอบคุณ คุณ isara ด้วยนะครับ สำหรับกำลังใจที่มีให้
หากมีเวลา ผมจะพยายามนำเรื่องที่น่าสนใจ มาเขียนเป็นบทความให้ได้อ่านอย่างต่อเนื่องครับ


โดย: KanichiKoong วันที่: 21 ธันวาคม 2557 เวลา:22:53:44 น.  

 
ใด้ประโยชน์จริงๆ อยากเป็นช่างแอร์บ้างเคยเป็นช่างอีเล็คโทรนิคส์


โดย: เก้าเด่น IP: 27.55.151.132 วันที่: 3 พฤษภาคม 2558 เวลา:19:39:27 น.  

 
น้ำมันคอมsuniso 3GS 4GS 5GS ใช้งานแตกต่างกันอย่างไร


โดย: อยากรู้ IP: 171.5.178.206 วันที่: 4 กันยายน 2558 เวลา:10:25:13 น.  

 


โดย: noomauto วันที่: 5 ตุลาคม 2559 เวลา:6:41:28 น.  

 
ถ้าผมปิดแอร์เเร้วปิดวาร์วเรยเปนรัยมัยคับ



โดย: โต้ IP: 223.24.104.145 วันที่: 12 ตุลาคม 2559 เวลา:5:54:03 น.  

 
ถ้าถอดแอร์บ้านโดนที่ไม่มีไฟฟ้า (ไฟฟ้าถูกต้ดจะย้ายบ้าน) สามารถทำได้ปะครับ


โดย: มานพ สุภีพุฒ IP: 223.24.20.126 วันที่: 22 เมษายน 2562 เวลา:20:21:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.