โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
มีนาคม 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
1 มีนาคม 2552
 
 

มโนภาพนิยมของเบิ๊ร์คลี่ย์

บทที่ 16 มโนภาพนิยมของบิช๊อบ ยอร์จ เบิ๊ร์คลี่ย์ 1685-1753

การที่ล็อค (Locke) แจ้งความเห็นไว้เป็น 2 ประการ เรื่องคุณภาพชั้นต้นและคุณภาพชั้นสองของสรรพสิ่งนั้น นักปรัชญาต่อมาได้อาศัยช่องโหว่ตรงนี้ของสสารนิยมสร้างปรัชญาจิตนิยมขึ้นทันที เบิ๊ร์คลี่ย์คิดต่อไปตรงจุดที่ว่า แม้คุณภาพชั้นต้นอันเป็นคุณภาพแท้ประจำสรรพสิ่งก็เป็นมโนภาพไปด้วย หรืออีกนัยยะหนึ่งเบิ๊ร์คลี่ย์สอนว่า การกินที่และการเป็นตัวเป็นตนก็เป็นมโนภาพเหมือนกับสีและเสียงเหมือนกัน

ดังนี้ก็เท่ากับเขาทอนส่วนที่เป็นสสารของจักรวาลตามทรรศนะของล็อคลงเป็นความแท้จริงอันไม่ใช่สสารเสียด้วย ทำให้สรรพสิ่งกลายเป็นมโนภาพในความคิด ทำนองเดียวกับที่ไล้บ๎นีซแปลงวัตถุอันมีร่างของ เดส์การ์ตส์ให้กลายเป็นโมนาดไปฉะนั้น และนี่ก็ตรงกับปรัชญาเวทานตะหรือมหายานด้วย ดังที่มหายานอ้างว่า สรรพสิ่งคือดอกไม้ลอยอยู่ในความว่างเปล่า เกิดจากจิตเห็นไปเองฉะนั้น

นี่คือที่มาของปรัชญาเจตภูตินิยมทางชนิดและพหุนิยมทางจำนวนของ เบิ๊ร์คลี่ย์ (Pluralistic Spiritualism พลู-แระลิสทิค ซพี-ริชัวลิส'ม)

16.1 ชีวประวัติ

ยอร์จ เบิ๊ร์คลี่ย์ ผู้เชื่อมั่นในความแท้จริงของมโนภาพ (Ideaไอเดีย) และเจตภูต (Spirit สปิริต) เป็นชาวไอริช (Irish) เกิดที่เมืองคิลเคนนี ไอร์แลนด์ (Kilkenny Ireland) ใน ปี ค.ศ. 1685 เป็นเวลา 5 ปีก่อนล็อคพิมพ์เรื่องของเขาออกเผยแพร่ เมื่ออายุได้ 15 เขาเข้าศึกษาในวิทยาลัยทรินิตี้ (Trinity) และได้รับปริญญาตรี ใน ปี ค.ศ. 1704 ต่อมาอีก 3 ปีเขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นภาคีสมาชิกของวิทยาลัยนี้ ที่ทรินิตี้เกิดมีการถกกันถึงเรื่องบทความทางปรัชญาของล็อคขนานใหญ่

ผลของการนี้คือเบิ๊ร์คลี่ย์ได้คิดปรัชญาขึ้นแย้งมติของล็อค เขาได้ขยายความเรื่องคุณภาพชั้นสอง (Secondary Quality เซค-อันเดริ ควอล-อิทิ่) ของล็อคออกไปเป็นคำสอนทางมโนภาพนิยมหรือจิตนิยมอย่างบริสุทธิ์ ใน ปี ค.ศ.1709 แม้จะเพิ่งมีอายุได้เพียง 24 ปีเท่านั้น เขาก็พิมพ์เรื่องความเรียงเกี่ยวกับทฤษฎีของการรับรู้อย่างใหม่ออกเผยแผ่ ต่อมาอีกปีเดียวเขายังได้เสนอหลักเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์แก่มหาชน งานนี้แม้จะเป็นเล่มเล็กๆ แต่ก็สามารถรวมเอาลักษณะอันสำคัญๆเกี่ยวกับปรัชญาของเขาไว้หมด

ถัดไปจากนี้อีก 3 ปีเขาจึงเขียนปรัชญามโนภาพนิยมขึ้น เป็นบทความเบาๆอ่านกันได้ทั่วไป เรียกว่าคำสนทนา 3 ประการระหว่างไฮลาส (Hylas) กับ ฟิโลเน้าส๎ (Philonous)

ขณะที่เขาคุมการพิมพ์งานชิ้นหลังนี้อยู่ในลอนดอนนั้นเขาก็ได้ รู้จักกับเซ่อร์ ริชาร์ด สตีล (Sir Richard Steele), ดีน สวิฟต์ (Dean Swift), อเล็กซานเดอร์ โพพ (Alexander Pope) และบุคคลต่างๆ ซึ่งผู้มีชื่อสามคนนี้ชักนำมา ใน ปี ค.ศ.1713-1714 เขาไปเยี่ยมอิตาลีในฐานะเป็นบาทหลวงประจำตัวเอิร์ล อ็อฝ ปีเต้อร์ชัม (Earl of Petersham)

อีก 1 ปีต่อมา เขาได้ไปเป็นครูพิเศษอยู่ที่เมืองแอช (Ashe) และได้เพื่อนเป็นบุตรชายของบิช็อบ(Bishop) ชาวไอริชผู้หนึ่ง ทั้งสองคนได้ท่องเที่ยวไปตามประเทศต่างๆในภาคพื้นยุโรปถึง 4 ปี ส่วนมากวนเวียนอยู่ในอิตาลี ใน ปี ค.ศ. 1721 หลังจากกลับมาอังกฤษได้ไม่นานนัก เขาก็ไปเป็นบาทหลวงประจำตัวของดุ๊ก อ็อฝ กราฟตัน (Duke of Grafton) แล้วต่อมาใน ปี ค.ศ.1724 เขาได้รับตำแหน่งอธิการบดีแห่งเดอร์รี่ (Derry) และได้รับผลประโยชน์ถึงปีละ 1,100 ปอนด์ จากรายได้อันงามนี้ทำให้เขามีเวลาสร้างงานชิ้นใหม่ด้วยความขะมักเขม้นเป็นอย่างมาก

ก่อนหน้านี้เบิ๊ร์คลี่ย์เคยมีความคิดอยู่แล้วที่จะจัดตั้งสมาคมชาวอาณานิคมอเมริกันขึ้น ซึ่งฝ่ายศาสนาจะได้ร่วมมือในการสร้างสังคมอันดีงามทางอุดมคติขึ้น ความใฝ่ใจในเรื่องนี้ทำให้มีผู้เลื่อมใสและมาขอร่วมมือกันมาก จึงใน ปี ค.ศ.1728 เขาแล่นเรือใบไปอเมริกา โดยได้คำมั่นสัญญาจากกษัตริย์ยอร์จที่ 1 รับว่าจะให้ที่ดินบนเกาะเบอร์มิวด้า และเงินอีก 20,000 ปอนด์ เขาพาภรรยาเพิ่งแต่งงานใหม่ไปด้วย และมีสหายร่วมใจตามไปอีกสองสามคน แต่พวกนี้ก็ต้องประสบความผิดหวัง งบประมาณที่ว่าจะให้นั้นรัฐบาลได้ใช้ไปเสียในการแต่งงานพวกเจ้าหญิง เกาะ เบอร์มิวด้า (Bermuda) ก็ไม่ได้ไปกัน ไพล่ไปซื้อที่ดินสำหรับช่วยเหลือมหาวิทยาลัยกันเสียที่เกาะโรน (Rhone)

ใน ปี ค.ศ.1734 หลังจากที่เขากลับมาอังกฤษได้ 2 ปี เบิ๊ร์คลี่ย์ก็ได้รับตำแหน่งบิช็อบ อ็อฝ คลอยน๎ (Bishop of Cloyne) ในตำแหน่งนี้เขาได้พยายามช่วยเหลือฐานะของคนยากจน ถึงกับได้ออกหนังสือชื่อ เควิร์สท๎ (Quer’st) ขึ้นใน ปี ค.ศ. 1733 เพื่อยุยั่วให้ประชาชนผลิตสินค้าขึ้นใช้เอง เขากล่าวว่า การหาอาหารให้แก่คนที่หิวโหย และหาเสื้อผ้าให้แก่คนจนที่ถึงกับไม่มีผ้านุ่งนั้น คงจะไม่เป็นงานก้าวก่ายสำหรับนักศาสนา ที่ยังคิด ว่าเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของรัฐ งานปรัชญาชิ้นสุดท้ายของเขาคือ ซิริส (Siris) ได้ถูกเผยแผ่ออกมาใน ปี ค.ศ.1744

ต่อมาอีก 9 ปีเขาก็ถึงแก่มรณะกรรมที่เมืองอ๊อคซ๎เฟิร์ด (Oxford) มีหินอ่อนจารึกเกียรติคุณของเขาไว้ ณ ที่โบถส์คริสต์ (Christ Church, Oxford คริสต์เชิร์ช,อ๊อคซ๎เฟิร์ด) ว่า ชีวิตของคนๆนี้เต็มไปด้วยงานอันคร่ำเคร่ง และเกิดจากการบรรลุจุดหมายอย่างจริงจัง
ข้อนี้เป็นการแก้ให้บรรดานักปรัชญาพ้นข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นพวกชอบเก็งความจริงเรื่อยเปื่อยไป และมีชีวิตไร้ประโยชน์ไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไรสักนิด

16.2 ความแท้จริงคือตัวฉันและมโนภาพของฉัน

ในหนังสือหลักเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์” เบิ๊ร์คลี่ย์ เริ่มด้วยมติที่ว่า วัตถุอันเป็นความรู้ของมนุษย์ คือ สรรพมโนภาพ (Ideas ไอเดียส๎) นอกจากมโนภาพอันเป็นเป้าหมายแห่งความรู้ของมนุษย์แล้ว ก็ต้องมีสิ่งที่เป็นผู้รู้ และมีมโนภาพเหล่านี้ด้วย สิ่งนี้แหละ คือที่เราเรียกกันว่า จิต เจตภูต วิญญาณ หรือตัวตน ญาณวิทยาข้อนี้ตรงกับสุรังคมาสูตรและปรัชญาฮินดูในภควัตคีตา ภควัตคีตากล่าวว่า
ข้อรู้ ผู้รู้ และความรู้ 3 ประการนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่
มโนภาพ คือ ภาพซึ่งเกิดขึ้นในความคิด หรือ ที่เห็นต่อหน้าต่อตาเรา เรารู้โลกภายนอกได้ ก็โดยสามารถสร้างมโนภาพแทนสิ่งที่เห็นจากภายนอกนั้นได้

ความแท้จริงอันเป็น ตัวฉัน หรือ มโนภาพของฉันนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ใกล้ชิด และความรู้สึกใกล้ชิด (Immediacy อิมี-ดีอะซิ) นี้แหละ อาจใช้พิสูจน์ความแท้จริงอื่นๆต่อไปได้ เบิ๊ร์คลี่ย์ไม่ได้พิสูจน์ยืนยันว่าเหตุใด ตัวฉันและมโนภาพของฉันจึงเป็นความแท้จริง เขาเพียงแต่อ้างเฉยๆว่า มโนภาพมีอยู่ จึงจำต้องมีผู้สร้างมโนภาพ

แต่เขาก็ได้ชี้แจงอย่างขาวกระจ่างว่า ตัวฉันไม่ใช่ประมวลแห่งมโนภาพตามลำดับไป เพราะว่า ฉันรู้และรู้สึกตัวตนได้ และตัวฉันเองก็ไม่ใช่มโนภาพของฉัน หากเป็นอย่างอื่น เป็นสิ่งที่คิดและรู้กระทำการ รู้สังเกตตั้งเจตจำนง และกระทำการเกี่ยวกับมโนภาพ ฉันรู้ว่า, ตัวตนซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฉันนั้น, เป็นผู้สังเกต ทั้งสีและเสียง

ฉันรู้ว่า, เจ้าตัวสีเอง จะสังเกตเสียง และเสียงเองจะสังเกตสีนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันรู้ว่า, ด้วยเหตุนี้ฉันจึงเป็นหนึ่งเดียว ผิดจากสีและเสียง และผิดจากบรรดามโนภาพใดๆทั้งสิ้น

16.3 ประเภทของมโนภาพ

เบิ๊ร์คลี่ย์ แบ่งแยกมโนภาพหรือวัตถุแห่งความรู้ ออกเป็น 2 จำพวก คือ มโนภาพในความหมายแคบๆจำพวกหนึ่ง และสิ่งหมายรู้ หรือ สิ่งนึกรู้ (Notion โน-ฌั่น) อีกจำพวกหนึ่ง มโนภาพในความหมายแคบๆนั้น คือ ภาพในความนึก, ที่แทนสิ่งนอกกายอยู่

ส่วนสิ่งหมายรู้นั้นไม่มีภาพอะไรแทนมัน เพราะมันเป็นนามธรรมแต่ก็เป็นความรู้แก่เราได้ มโนภาพ คือ ภาพแทนรูปธรรม (The concrete ฑิ คอน-ครีท) ส่วนสิ่งหมายรู้ คือ การนึกถึงนามธรรมขึ้นมา นั่นเอง มโนภาพในความหมายแคบๆ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

16.3.1 มโนภาพประเภทซึ่งมาให้เรารับรู้โดยตรง ทั้งนี้โดยเราไม่อาจรับรู้บิดเบือนให้เป็นอื่นไปได้ เช่นเมื่อเราเห็นโต๊ะตัวหนึ่งอยู่ตรงหน้าเรานั้น เราจะทำให้มันไม่มีอยู่ หรือจะเห็นให้เป็นรูปร่างอื่นไป มันก็คงมีภาพเช่นนั้นอยู่ตรงหน้าเราเช่นเดิม โต๊ะตรงหน้าเราคือ มโนภาพที่ไม่อาจเป็นอื่นไปได้

16.3.2 ประเภทซึ่งเราคิดขึ้นตามแต่จะปรารถนา นี่,มีอีกชื่อหนึ่งว่าจินตนาการ (Ideas of imagination) เบิ๊ร์คลี่ย์กล่าวว่า มโนภาพอันเรารับรู้ได้ทางอวัยวะรับสัมผัสโดยตรงนั้น มีลักษณะ เข้ม เด่นชัดและจริงจัง ยิ่งกว่าจินตนาการ ส่วนสิ่งหมายรู้นั้น เขาก็แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยคือ

16.3.3 สิ่งหมายรู้เกี่ยวกับจิตของเราเอง สิ่งหมายรู้เกี่ยวกับเจตภูต และสิ่งอันมีกัมมันตภาพทั้งปวงที่เป็นนามธรรม ซึ่งความจริงสิ่งหมายรู้เหล่านี้นั้น เราไม่อาจเห็นเป็นมโนภาพได้เลย นอกจากจะทำเป็นสัญลักษณ์ (Symbols ซีม-บัล) ขึ้นมาแทนมันเท่านั้น

16.3.4 สิ่งหมายรู้เกี่ยวกับความเกี่ยวข้อง (Relation ริเล-ฌั่น) ระหว่างสรรพสิ่งและสรรพมโนภาพ เป็นความเกี่ยวข้องอันไม่ใช่ทั้งสรรพสิ่งหรือมโนภาพที่มาเกี่ยวข้องกันนั้น

ทั้งมโนภาพและสิ่งหมายรู้ก็เป็นความตรึงตรา (Impression อิม พเรฌ-อั้น) ของสิ่งภายนอกเหมือนกัน มโนภาพเป็นสิ่งที่ไร้กัมมันตภาพ (Activity แอ็คทีฝ-อิทิ่) เพราะเป็นแต่เพียงภาพภายในความนึกคิด ไม่ใช่ตัวจริงที่ก่อมโนภาพนั้น มโนภาพจึงกระทำการอะไรไม่ได้ มันไม่เหมือนและไม่ใช่สิ่งจำลองของสิ่งอันมีกัมมันตภาพ

อนึ่งที่เบิ๊ร์คลี่ย์เรียกว่า ตัวฉัน นั้น ตรงกับที่เรียกว่า วิญญาณ (Soul โซล) หรือเจตภูต ความแท้จริงทั้งสิ้นของมโนภาพ อยู่ตรงที่มันถูกสังเกตเท่านั้น แต่วิญญาณหรือเจตภูตมีความแท้จริงดั้งเดิม และเหนือกว่ามโนภาพ

วิญญาณ คือ สิ่งอันมีกัมมันตภาพที่สามารถก่อมโนภาพและสามารถคิด วิญญาณหรือเจตภูตผิดกับมโนภาพตรงที่มันมี กัมมันตภาพ แต่มโนภาพไม่มีกัมมันตภาพ

เบิ๊ร์คลี่ย์สอนว่า จิตหรือตัวฉัน เป็นสิ่งที่รู้ได้ ไม่ใช่เพราะมีกัมมันตภาพเท่านั้น หากเพราะมันแสดงความเป็นเอกในตัว ซึ่งผิดกับลักษณะเป็นหลาย และประมวลของมโนภาพตามลำดับ จิตย่อมมีความเป็นนิรันดร ไม่เหมือนมโนภาพซึ่งรังแต่จะสลายและแปรปรวนไป

16.4 ปฏิเสธนิยม (Acnosticism แอ๊คนอสทิคซ๎ส’ม)
ของเบิ๊ร์คลี่ย์ เกี่ยวกับสสาร (Matter แมท-เท่อะ)

เท่าที่แล้วมาเบิ๊ร์คลี่ย์ยังไม่ได้สอนอะไรแตกต่างจากเดส์การ์ตส์หรือล็อค เพราะสองท่านนี้ก็ยืนยันในความมีอยู่ของตัวฉันเหมือนกัน และ มโนภาพของตัวฉันก็เป็นสิ่งที่นักปรัชญาสองท่านนั้น ยอมรับแล้วว่าเป็นจริง แต่ทว่าเคียงคู่มากับคำสอนเรื่องความมีอยู่ของตัวฉันและมโนภาพของฉัน
เบิ๊ร์คลี่ย์ได้พ่วงคำสอนปฏิเสธความแท้จริงของสิ่งที่ไม่ใช่จิต หรือไม่ใช่เจตภูตด้วย

ตามความเข้าใจของเบิ๊ร์คลี่ย์ สสาร หมายถึงสิ่งซึ่งมีอยู่ได้โดยตัวเอง และจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างใด แม้ทุกๆสิ่งที่รู้สัมผัส และการรับรู้สัมผัสจะได้สูญสิ้นไปแล้ว นอกจากนี้สสารยังไม่ใช่สิ่งเดียวกับพิชาน แต่ตามคำจำกัดความแล้ว ต้องแตกต่างกับพิชานอย่างมากมายด้วย

16.4.1 สสารที่สังเกตได้มีอยู่เพียงเป็นมโนภาพ เบิ๊ร์คลี่ย์ยอมรับว่า สรรพสิ่งที่เรา เห็น ดม ฟัง แตะ และชิมนี้ มีอยู่จริง แต่ที่เขาไม่เชื่อนั้น อยู่ตรงที่ว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่ได้โดยตัวเองนอกจิตใจของเรา อีกนัยยะหนึ่งเขาเชื่อว่า โต๊ะที่ฉันเรียนหนังสือนั้นมีอยู่ แต่มีอยู่โดยที่ฉันเห็นได้และคลำได้ และแม้ฉันจะออกจากห้องทำงานไป ฉันก็พูดได้ว่ามันคงมีอยู่ ทั้งนี้เพราะว่าหากฉันเข้าไปในห้องนั้นอีกก็จะเห็นมันอีก หรือสิ่งที่รู้สัมผัสอื่นๆ ก็จะสังเกตมันได้ ปรากฏกลิ่นขึ้น นี่ก็เพราะว่ากลิ่นนั้นถูกดม มีเสียงขึ้น นี่ก็เพราะเกิดการได้ยิน มีสีหรือมีรูปร่างเกิดขึ้น นี่ก็เป็นด้วยมีตาคอยดู หรือมีมือคลำอยู่ จึงรู้ได้เช่นนั้น
เบิ๊ร์คลี่ย์กล่าวว่า,

เรารู้ว่ามีสิ่งใดอยู่ ก็เพราะเราอนุมานเอาว่า,มันมีอยู่ จากการรับรู้ลักษณะต่างๆของมัน มีรูปร่าง สี เสียง กลิ่น และรส เรา รู้ว่าสิ่งใดมีอยู่ ก็ด้วยประมวลแห่งคุณภาพต่างๆของมัน แต่เมื่อรูปร่าง สี เสียง กลิ่น และรสนั้น ต่างคนต่างเห็นผิดกันไปเสียแล้ว และยิ่งบางทีคนๆเดียวรับรู้อุณหภูมิ ของสิ่งบางอย่างได้ผิดๆกันในเวลาต่างๆกัน เช่นเมื่อเขาเป็นไข้ และเมื่อเขาสบายดีเช่นนี้, ก็ไม่มีอะไรแน่นอนในคุณภาพที่เห็นสักอย่างเดียว อันอาจรับไว้ได้ว่า, เป็นสิ่งแทนการรับรู้นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งรู้ก็ต้องเกี่ยวกับเรา ซึ่งเป็นผู้รู้ และความรู้คือมโนภาพของสิ่งต่างๆนั้นมีอยู่จริง แต่มีอยู่เป็นมโนภาพ หาได้มีอยู่โดยตัวเองไม่

ข้อนี้วิทยาศาสตร์อาจแย้งได้ว่าคุณภาพของสรรพสิ่งมีปริมาณแน่นอนแทนมันอยู่ และใครจะรู้สึกคุณภาพนั้นอย่างไร เราก็อาจรู้ได้จากการรู้ภาวะของผู้นั้นในขณะที่ทำการรับรู้ แต่วิทยาศาสตร์ขณะนั้นยังเจริญไม่ถึงขั้นนี้ เบิ๊ร์คลี่ย์จึงเอาความไม่แน่นอนที่เขาคิดว่าเป็นของคุณภาพเท่าที่รู้สึกได้มาเสริมสร้างลัทธิมโนภาพนิยมของเขาขึ้น

สำหรับคุณภาพชั้นสอง เช่น สี รส กลิ่น ร้อนเย็น แข็งนุ่ม เสียงหนักเบาเหล่านี้นั้น แม้เดส์การ์ตส์กับล็อคก็รับว่า เป็นความรู้สึกที่เราคิดปั้นขึ้นด้วย หาได้เป็นคุณภาพจริงๆของสิ่งนั้นไม่ แต่ทั้งเดส์การ์ตส์และล็อคตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่ามีคุณภาพชั้นต้น ซึ่งเป็นสิ่งแทนตัวสสาร นั่นคือการกินที่และการเคลื่อนไหว สรรพสิ่งมีความแท้จริงอยู่ตรงความกว้าง ความยาว ความสูง และความเร็วของมัน นี่ก็เป็นมติของนักสสารนิยมและนักวิทยาศาสตร์

เบิ๊ร์คลี่ย์ได้เข้าโจมตีเรื่องคุณภาพชั้นต้น ซึ่งมีผู้อ้างว่าแทนตัวสสารนั้น เขาว่า,คุณภาพเช่นนี้ก็หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ ของไกลเห็นเล็กของใกล้เห็นใหญ่ เรืออยู่ไกลวิ่งช้า พอเข้ามาใกล้เห็นวิ่งเร็ว เวลาเราแข็งแรง ยกก้อนอิฐดูเบามาก พอเป็นโรคอ่อนเพลียยกดูใหม่กลับหนัก

ฉะนั้นคุณภาพชั้นต้น ก็มิได้มีอะไรเป็นจริงไปยิ่งกว่าสี กลิ่น รส ฯลฯ อันเป็นคุณภาพชั้นสองนั้นเลย เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่า สสารมีอยู่ได้ด้วยตัวเองหรือไม่ สิ่งที่เราแน่ใจได้ มีแต่มโนภาพซึ่งเกิดขึ้นในความนึกคิดของเราเท่านั้น แต่เบิ๊ร์คลี่ย์ก็กล่าวเตือนว่า ที่พิสูจน์มานี้ไม่ใช่เป็นด้วยเขาเชื่อว่าสิ่งที่พบเห็นนั้นลวงตาก็หามิได้, เขาว่า,สิ่งเหล่านี้มีจริง เรื่องนี้เขาเองก็ไม่สงสัยอะไรเลย เขาเพียงแต่ยืนยันว่า มันมีอยู่จริงในลักษณะเป็น มโนภาพ อันเกิดแก่เราเท่านั้น

เบิ๊ร์คลี่ย์ทราบดีว่ามโนภาพของสรรพสิ่งนั้นผิดกับจินตนาการในสิ่งนั้นๆ เพราะมโนภาพเท่าที่เห็นของสรรพสิ่งนั้นเขาจะทำให้หายไปหรือแปลงมันไปเป็นอื่นก็หาได้ไม่ ไม่เหมือนจินตนาการ ซึ่งเขาจะทำให้หายไป หรือดัดแปลงให้เป็นอย่างใดก็ได้ มโนภาพที่แท้ของสรรพสิ่งนั้น ชัดกว่า และมีความสม่ำเสมอยิ่งกว่าจินตนาการ

สสารมีอยู่จริง,แต่มีอยู่เป็นมโนภาพ มโนภาพ (Idea ไอดี-อะ) นี้เราไม่ได้สร้างขึ้นเอง เพราะถ้าสร้างขึ้นเองก็เป็นจินตนาการอันเราอาจดัดแปลงให้เป็นไปได้ต่างๆตามใจชอบ ถ้าเช่นนั้นมโนภาพที่แท้ เราสร้างขึ้นมาเองไม่ได้นั้น ต้องเป็นผลของการสร้างสรรค์ของพระเป็นเจ้า กล่าวคือ ชั้นแรก มันต้องเป็นผลของผู้สร้างมโนภาพคนอื่นซึ่งไม่ใช่ตัวเรา

ฉะนั้นก็อาจคิดไปได้ว่า เป็นมโนภาพของจิตอันไร้ขอบเขตของพระเป็นเจ้าซึ่งครอบงำจิตของเราอยู่ ดังนี้ความสนใจของเราจึงมุ่งไปสู่ผู้สร้างมโนภาพแท้ หรือมโนภาพสากลอันทำให้คนเรารับรู้ และรู้สึกกันไปต่างๆ

16.4.2 สสารที่อนุมานขึ้นย่อมไม่มีอยู่จริง คงเป็นปัญหาอยู่ที่ว่า มโนภาพที่เป็นอื่นไปไม่ได้นั้น น่าจะเกิดจากสรรพสิ่งหรือสสารซึ่งมีอยู่โดยไม่เกี่ยวกับการรู้เห็นของเราก็ได้กระมัง การอนุมานความแท้จริงของความมีอยู่ของสสารเช่นนี้ เบิ๊ร์คลี่ย์ว่าไม่ถูก ในสมัยของพลาโต้ ได้มีปรัชญาว่าด้วยรูปสมบูรณ์ (Form ฟอม) ของสรรพสิ่งมาแล้ว คือว่า แม้สรรพสิ่งจะปรากฏไปได้ต่างๆแก่บุคคลต่างๆ หรือแก่คนๆเดียวในเวลาต่างๆกันก็ตาม แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกแห่งรูปสมบูรณ์ ซึ่งโลกของเราเป็นเพียงโลกของรูปที่พิมพ์แบบมาจากรูปสมบูรณ์บนแผ่นกระดาษต่างๆกันเท่านั้น

ข้อนี้เบิ๊ร์คลี่ย์ว่า เมื่อสิ่งหนึ่งปรากฏสภาพแก่เราไปได้ต่างๆ หรืออีกนัยยะหนึ่ง เมื่อมีมโนภาพแทนมันตั้งมากหลายเช่นนี้ เราก็ทราบไม่ได้ว่า มันมีอยู่จริงเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะสิ่งที่เราว่ามีนั้น ต้องมีความแน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนที่อนุมานว่าสสารจะต้องมีอยู่เป็นเหตุของการเห็นของเรานั้น เบิ๊ร์คลี่ย์กล่าวว่า เราอาจคิดไปอย่างอื่นก็ได้ คืออาจคิดไปว่า มีจิตอันยิ่งใหญ่อยู่อย่างหนึ่งมาคอยบังคับจิตของเราให้เกิดมโนภาพที่ไม่เป็นอื่นไปได้นั้น อนึ่งตามคำจำกัดความแล้ว สสารย่อมเป็นสิ่งที่ไร้กัมมันตภาพทางจิต ฉะนั้นมันจะทำให้เราเกิดมโนภาพเกี่ยวกับมันได้อย่างไร ถ้าสสารไม่ใช่จิต ไม่รู้คิด จะทำให้เราคิดได้ หรือส่วนที่ถือกันว่าสสาร เป็นสิ่งซึ่งคนเราไม่อาจรู้สภาพได้นั้นก็เท่ากับประกาศว่ามันไม่มีนั่นเอง

ตรงนี้เราก็เห็นกลเม็ดในตรรกวิทยาของท่านบิช๊อบทันที เขาว่าสสารไม่มีกัมมันตภาพทางจิต ตามที่เข้าใจกันทั่วๆไป ข้อนี้เรายอมรับ แต่ที่เขาว่ามันทำให้เราเกิดมโนภาพได้อย่างไรนั้น วิทยาศาสตร์สรีวิทยาต่อมาอธิบายว่า มโนภาพเป็นการสะท้อนขึ้นในสมองจากการรับรู้ทางอวัยวะรับสัมผัส อีกนัยยะหนึ่งเป็นภาพจริงๆ อันมีสสารเป็นต้นเหตุ หาใช่ความคิดไม่

มโนภาพไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางจิตหรือวิญญาณ หากเป็นปรากฏการณ์ทางสสาร เช่นนี้ข้อถกปัญหาแย้งของเขาก็เป็นอันตกไป แม้จิต,เราก็ถือกันในขณะนี้ว่าเป็นปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากสสารด้วย การคิด ก็เป็นเรื่องสสาร จากสสารนอกกายถึงมโนภาพ จิตและความคิด จึงเป็นเรื่องของสสารล้วนๆ แนวคิดเช่นนี้ก็ต้องตามตรรกวิทยาเหมือนกัน และยังถูกต้องตามความเป็นจริงด้วย แต่เบิ๊ร์คลี่ย์ไพล่คิดกลับเป็นเรื่องทางมโนภาพไปหมด

ในสมัยนั้นวิชาสรีรศาสตร์ (Physiology ฟิสิออล-โอะจิ่) ยังไม่เจริญเท่าสมัยนี้ เมื่อเร็วๆมานี้เองศาสตราจารย์โฟกต์ (Vogt) ชาวเยอรมัน บรรยายความเป็นไปในร่างกายไว้ว่า ร่างกายเดินด้วยกระบวนการทางสสาร ถ้าอุดเส้นโลหิตเสียไม่ให้โลหิตเดินไปสู่สมอง ก็จะไม่เกิดความคิดอะไรขึ้นมาได้ เส้นประสาท-สมอง-เหล่านี้ประกอบด้วยสสารทั้งสิ้น ความคิดจึงเป็นปรากฏการณ์ทางสสาร

ในปี พ.ศ. 2496 นี้เอง ก็มีการทดลองเอาขั้วไฟฟ้า เส้นเล็กมากๆเจาะฝังลงไปในมันสมอง แล้วพิสูจน์ได้ว่า ในการคิดมีประจุไฟฟ้าเกิดขึ้นในสสารของสมอง ซึ่งเราวัดแรงดันหรือศักย์ (Potential โพะเทน-แฌ็ล) ของมันไว้ และเคยมีการทดลองใส่ศักย์ไฟฟ้าลงไปในเนื้อสมองของคนไข้โรคจิต ก็เกิดมโนภาพหรืออารมณ์สุขขึ้นได้ ข้อนี้แสดงให้เห็นชัดๆว่าเรื่องทางจิตทั้งปวง มีต้นเค้ามาจากเรื่องทางสสารทั้งสิ้น

แต่เบิ๊ร์คลี่ย์ได้แก้ข้อนี้ไว้นานมาแล้วว่า โลหิต กล้ามเนื้อประสาท และสมอง เป็นเครื่องมือของจิต (Mind ไมน๎ด๎) ไม่ใช่จิต เป็นเครื่องมือของมัน ตัวมันเองก็เป็นสิ่งที่เรารู้ได้ทางมโนภาพ ในที่สุดหากว่าโลหิตประสาท ฯลฯ จะสามารถสร้างความคิดได้ มันก็เป็นเรื่องของมโนภาพ อันเป็นผลของความคิด สร้างความคิดขึ้นมาเอง หาใช่เป็นเรื่องที่สสารสร้างความคิดไม่

ปรัชญาของเบิ๊ร์คลี่ย์เชื่อในตัวตนอันเป็นจิตว่าเป็นความแท้จริง และมโนภาพเป็นผลของการมีตัวตน สสารมีอยู่เป็นมโนภาพ ฉะนั้น โลก จึงมีแต่ ตัวตน กับ มโนภาพ ปรัชญาของเขาจึงเป็นจิตนิยมแบบฉบับโดยแท้
คำว่า Idea (ไอดี-อะ) แปลว่า มโนภาพ จิตนิยมจึงใช้แทนคำว่า Idealism (ไอดี-แอะลิส’ม) ลัทธินี้เนื่องจากสอนว่าจิตมีอยู่เป็นหนึ่งเดียวเป็นตัวตน จึงเรียกว่าเจตภูตนิยม (Spiritualism ซพี-ริชัวลิส'ม) ก็ได้

16.5 ความแท้จริงดังที่อนุมานได้
16.5.1 เจตภูตอันไร้ขอบเขต (The infinity Spirit ฑิ อินฟีน-อิทิ่ ซพี-ริท) หรือพระเป็นเจ้า เมื่อได้ปฏิเสธความแท้จริงของสสารหรือของสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับจิตเสียสิ้นเชิงอย่างนี้แล้ว เบิ๊ร์คลี่ย์ก็กล่าวว่า คงเหลือแต่เพียงความแน่ใจในความมีอยู่ของตัวเขาและมโนภาพของเขาเท่านั้น

แต่เนื่องจากปรากฏว่ามีมโนภาพบางประเภทเกิดขึ้นแก่เราโดยไม่ได้ตั้งใจ จะขัดขืนก็ไม่ได้ มโนภาพเช่นนี้จะต้องเกิดจากเจตภูตอื่น ซึ่งไม่ใช่ตัวผู้ได้รับมโนภาพนั้น เพราะตัวผู้รับสร้างได้แต่จินตนาการ จึงยังเหลือเหตุอีกเพียง 2 ประการสำหรับมโนภาพอันได้จากการรับรู้ทางอวัยวะรับสัมผัสนี้ นั่นคือมโนภาพอย่างอื่นหรือสสาร

แต่เบิ๊ร์คลี่ย์ได้พิสูจน์แล้วว่า สสาร ไม่น่าจะมีอยู่เป็นสสาร และมโนภาพก็ไม่ใช่เจตภูตและไร้กัมมันตภาพ ฉะนั้นจึงเป็นเหตุแห่งมโนภาพอื่นไม่ได้ เขาสอนไว้แล้วว่า เจตภูตเท่านั้นจึงจะมีกัมมันตภาพ และเจตภูตเท่านั้นจึงจะทำให้เราเกิดมโนภาพได้

ฉะนั้นมโนภาพจากอวัยวะรับสัมผัส จึงเกิดได้จากการที่มีเจตภูต,ซึ่งไม่ใช่ตัวผู้รับสัมผัสคอยดลใจผู้มีสัมผัสให้เกิดมโนภาพขึ้น เจตภูตนี้จะต้องมีอยู่ชั่วนิรันดร เพราะว่า ระหว่างที่เราไม่ได้สังเกตอะไรอยู่นั้น มันก็คง มีอยู่เป็นสิ่งนั้น ไม่ได้หายไปไหน ก่อนเราเกิดมา หรือเมื่อตายไปแล้ว สิ่งนั้นก็จะคงอยู่ที่นั่น กลับมาดูอีกเมื่อไรก็จะเห็นมันที่นั่น เช่นนี้ ผู้ซึ่งก่อมโนภาพนี้ขึ้นแก่เรา คือเจตภูตดังกล่าว ก็จะต้องมีอยู่โดยตลอดไป

เมื่อนึกถึงข้อที่ว่า ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เรา ก็อาจมีมโนภาพเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้แล้ว เจตภูตซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งมโนภาพ ก็จะต้องมีความเป็นอยู่ถาวรกว่าใครๆทั้งหมดเช่นนี้ชวนให้คิดไปว่ามีเจตภูตหรือจิตอันยิ่งใหญ่เป็นนิรันดร สามารถรู้และครอบงำสรรพสิ่งทั้งปวง และนำมันมาเผยให้คนเราได้เห็น

อีกประการหนึ่ง ความจัดเจน (Experience เอ็กซ๎พี-เรียนซ๎) อันได้มาทางผัสสะโดยไม่เกี่ยวกับความบันดาลทางความคิดของเรานั้น เมื่อประมวลกันเข้าแล้ว ก็ตรงกันกับโลกแห่งธรรมชาติดังที่เราเข้าใจกันอยู่ ประมวลแห่งความจัดเจนดังกล่าวนี้ คือความรู้เกี่ยวกับมโนภาพของสรรพสิ่งในธรรมชาติ มีดวงดาว มหาสมุทร ชีวิต การโคจรของดาว ความถ่วง สิ่งเหล่านี้ อยู่ใต้กฎเกณฑ์อันมีระเบียบเรียบร้อย จะดูในแง่ซับซ้อนพิสดารก็เหลือที่มนุษย์จะคิดทำให้เหมือนได้

ก็เมื่อมโนภาพเหล่านี้เกิดจากเจตภูตอันยิ่งใหญ่ที่สุด ดังที่เราเรียกกันว่าพระเป็นเจ้าแล้ว พระองค์ก็ต้องทรงอำนาจ มีปัญญา และความดีวิเศษเหนือสรรพสิ่งใดๆทั้งหมด เช่นนี้จะเห็นว่าเบิ๊ร์คลี่ย์ถือว่า พระเป็นเจ้าต้องมีอยู่ ฐานเป็นเหตุแห่งประมวลมโนภาพนอกตัวเรา อันเรียกกันว่าธรรมชาติ จึงไม่ตรงกับความคิดของเดส์การ์ตส์หรือล็อคที่ว่า พระเป็นเจ้าต้องมีอยู่ เพื่อเป็นเหตุแห่งตัวเขาเอง หรือไม่ตรงกับเดส์การ์ตส์ในข้อที่เขาคิดว่า พระเป็นเจ้าต้องทรงมีอยู่ เป็นเหตุแห่งความคิดเกี่ยวกับพระองค์เองในใจของเขา

16.5.2 เจตภูตอื่นๆซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้น การมีอยู่ของเจตภูตอื่นๆ อันถูกสร้างสรรค์ขึ้น และซึ่งเป็นอื่นจากตัวเรานั้น อาจไล่เลียงได้จาก การรับรู้ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเห็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย กล่าวคือ เรามีมโนภาพมากหลายคล้ายคลึงกับมโนภาพของตัวเองเป็นมโนภาพในเจตภูตอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีกัมมันตภาพและก่อมโนภาพได้เอง มโนภาพในเจตภูตอื่นนี้ เราเองซึ่งเป็นเจตภูต ไม่ได้ก่อขึ้น และจะไปเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่ได้ ฉะนั้นเจตภูตอื่นต้องเป็นผู้ก่อมโนภาพดังกล่าวนั้น เจตภูตนี้จะต้องเป็นพระเป็นเจ้าดังได้กล่าวมาแล้ว และด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน เจตภูตอื่นๆที่เป็นมโนภาพอันพระเป็นเจ้าทรงสร้างสรรค์ขึ้นจึงต้องมีอยู่

16.5.3 โลกแห่งธรรมชาติ เบิ๊ร์คลี่ย์กล่าวว่า พระเป็นเจ้า ไม่เพียงทรงสร้างเจตภูตด้อยๆขึ้นเท่านั้น ยังทรงสร้างสรรค์ธรรมชาติทั้งหมดขึ้นด้วย เขาสอนว่า, ธรรมชาติเป็นระบบแห่งมโนภาพอย่างหนึ่ง เป็นประมวลแห่งการรับรู้โลกภายนอกในจิตของเรา

โดยอานุภาพแห่งพระเป็นเจ้า กฎแห่งธรรมชาติเป็นวิธีการอันสม่ำเสมอ และมีระเบียบดี ก็เพราะพระเป็นเจ้าทรงเป็นยอดแห่งระเบียบวินัย ทรงบันดาล มโนภาพของกฎเหล่านี้ขึ้นในจิตของเรา การศึกษาธรรมชาติจึงเป็นการเสาะแสวงอานุภาพในการก่อมโนภาพของพระเป็นเจ้า นี่เป็นมติของหลุยส์อากัสซีซ (Louis Agassiz) นักธรรมชาติวิทยาผู้ลือ นามในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ด้วย

เบิ๊ร์คลี่ย์แบ่งโลกธรรมชาติออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.สิ่งที่ก่อความรับรู้ขึ้นแก่เรา มีต้นไม้ ฟ้า และดอกไม้ ซึ่งขณะนี้เรากำลัง
มองดูอยู่
2. สิ่งที่เป็นความรู้ เช่นตึกราม หรืออนุสาวรีย์ต่างๆ ซึ่งเคยเห็นมาเอง หรือ
ฟังเขาเล่า
3. ปรากฏการณ์ของธรรมชาติเช่นการเคลื่อนไหวของดาว อันรู้ได้จากการ
อนุมานของเราเพื่อประโยชน์ในการอธิบายสิ่งที่เรากำลังสังเกตอยู่
4. เรื่องราว (Event อิเฟนท๎) ของธรรมชาติที่แล้วมา อันเราทำการอนุมานไว้
เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เห็นในปัจจุบัน

โลกแห่งธรรมชาติ 4 ประเภทนี้ เบิ๊ร์คลี่ย์ว่า เป็นมโนภาพในปัจจุบันของพระเป็นเจ้าทั้งสิ้น และเป็นการรู้เห็นในปัจจุบัน หรือเป็นมโนภาพแห่งจินตนาการของเราเอง

ประเภทที่ 1 พระเป็นเจ้าทรงมีมโนภาพร่วมกับเรา โดยทรงบันดาลให้เราเห็น
ประเภทที่ 2 เป็นมโนภาพที่เคยเกิดกับเรา หรือเคยเกิดกับผู้อื่น และบัดนี้เป็นเพียงจินตนาการของเรา
ประเภทที่ 3 เป็นปรากฏการณ์อันมองให้เห็นไม่ได้ แต่เราทำการอนุมาน (Infer อินเฟอ) เอาเองว่า บัดนี้กำลังเป็นเช่นนั้นอยู่
ประเภทที่ 4 เป็นการอนุมานไปจากความสม่ำเสมอของธรรมชาติ เช่นทฤษฎีกำเนิดโลกเป็นตัวอย่าง แต่ก็จะเป็นมโนภาพอันพระเป็นเจ้าทรงบันดาลให้มีไว้ ตั้งแต่เมื่อยังไม่มีโลก หรือตั้งแต่ยังไม่มีผู้รู้คิดคนใดเช่นนี้

โลกธรรมชาติจึงมีความเป็นอยู่ 2 ประการ

ประการที่ 1 มีอยู่อย่างเป็นระบบแห่งมโนภาพอันเกี่ยวข้องติดต่อใกล้ชิดกัน และปรากฏต่อพระเป็นเจ้าชั่วนิรันดร

ประการที่ 2 เป็นระบบแห่งมโนภาพอันสม่ำเสมอ ปรากฏขึ้นในจิตอันจำกัด ตรงตามระบบมโนภาพแห่งพระเป็นเจ้า มโนภาพอันจำกัดนี้ บางอย่างรับตรงมาจากพระเป็นเจ้า บางอย่างเป็นการอนุมานอย่างหลีกไม่พ้น เป็นมโนภาพของจินตนาการตรงกับปรากฏการณ์อันมีในจิตของพระเจ้า ซึ่งไม่เคยมีขึ้นในจิตอันจำกัดโดยตรง

จิตนิยมของบิช๊อบเบิ๊ร์คลี่ย์นั้น จึงเห็นได้ชัดว่ามีไว้ส่งเสริมศาสนา คริสเตียนแท้ ๆ
(คำว่าเบิ๊ร์คลี่ย์ (Berkeley) อ่านว่า บ๊าร์คลี่ย์ก็ได้)
งานต่าง ๆ ของเขามีดังนี้ คือ
1. Treatise Concerning the Principles of Human Knowledge 1710
2. Three Between Dialogues Hylas and Philonous 1713




 

Create Date : 01 มีนาคม 2552
1 comments
Last Update : 2 มีนาคม 2552 15:05:19 น.
Counter : 1856 Pageviews.

 

ขอบคุณมากครับ
สี template กับ อักษร กลืนกัน ลายตาไปหน่อยครับ

 

โดย: ปราชญืทมฬ IP: 1.4.214.23 4 ตุลาคม 2558 7:39:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com