โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 กรกฏาคม 2551
 
 

พลาโต้ และ Academy

พลาโต้ (Plato) ผู้นี้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 427-360 ก่อนค.ศ.เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง มีลักษณะท่าทางสง่างามและมีหลักฐานดี ทางการเมืองเขาเป็นฝ่ายอภิชนและอภิชนาธิปไตย (Aristocracy แอริซทอค-ระซิ) ในสมัยมรสุมทางการเมืองของกรีกขณะนั้น พลาโต้เป็นศิษย์ตัวยงของ ซอกราตีส และมีความใกล้ชิดพอถึงกับได้บันทึกชีวิตและผลงานของซอกราตีสไว้ ถ้าไม่ได้ พลาโต้โลกอาจไม่รู้จักซอกราตีส ด้วยซ้ำไป
พลาโต้เป็นนักบันทึกและนักเขียน ฉะนั้นข้อเขียนทางปรัชญาของเขา จึงมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง ต้องนับว่าพลาโต้เป็นนักปรัชญาคนแรกของยุโรป ซึ่งมีปรัชญาวางไว้เป็นหลักๆเป็นระบบ (System ซีซ-เท็ม) อย่างเรียบร้อย แม้เขาจะเป็นศิษย์ซอกราตีส แต่เขาก็มีทรรศนะปรัชญาของเขาเองแนวคิดของเขานั้นคล้ายคลึงกับของเฮอราคลิตัส(Heraclitus) ปีธากอรัส (Pythagoras) และซอกราตีส (Socretes)รวมกัน
ในสมัยนั้นยังไม่มีมติอะไรแน่นอนลงไปว่า ความรู้ของคนเรานั้นจะมีได้อย่างจริงจังหรือไม่ ทั้งนี้เพราะเฮอราคลิตัสสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ไม่มีอะไรคงทนแน่นอนที่คนเราจะยึดถือเป็นความรู้ได้ ในเวลาเดียวกันปีธากอรัส ก็สอนเรื่องส่วนสัดต่างๆว่ามีความสำคัญกว่าเนื้อธาตุ เช่นนี้พลาโต้จึงคิดหาทางออก
เขาสอนว่าความรู้อันถ่องแท้นั้นเรามีได้ แต่ไม่ใช่ความรู้สามัญจากความจัดเจน (Experience เอ็คซพี-เรียนซ) อันได้มาทางอวัยวะรับสัมผัส หากต้องเป็นความรู้เกี่ยวกับของจริงอันอยู่เหนือสัมผัส เรียกว่าแม่พิมพ์ หรือรูปสมบูรณ์ (Form ฟอม) คือเป็นความรู้ในรูปสมบูรณ์ (Knowledge of The Form นอล-เอ็จ อ็อฝ ฑิ ฟอม) สรรพสิ่งอันเปลี่ยนแปลงนั้นมีความแท้จริงต่ำกว่า และเป็นเสมือนรูปใกล้เคียงต่อรูปสมบูรณ์นี้เท่านั้น
เช่นดอกกุหลาบดอกหนึ่งมีสีใดสีหนึ่งนั้น จะผ่านภาวะตูมเป็นสีเขียวใบไม้ไปกระทั่งเริ่มแย้มเห็นกลีบดอกมีสีแดงหรือขาวแล้วก็เบ่งเต็มที่งดงาม กระทั่งต่อมาไม่นานก็เหี่ยวและร่วงโรยไป เช่นนี้อะไรเล่าที่เรียกว่าดอกกุหลาบ คนเราสามัญย่อมถือว่าดอกกุหลาบคือดอกที่บานสมบูรณ์เต็มที่ นั่นคือรูปสมบูรณ์ (The Form ฑิ ฟอม) ของมัน เวลายังตูมเราว่าดอกกุหลาบตูม เวลาบานเต็มที่เราเรียกว่าดอกกุหลาบธรรมดา เวลาโรยเราก็ว่ากุหลาบโรย นี่แสดงว่าเราถือดอกที่บานเบ่งเต็มที่เป็นมาตรฐานเป็นรูปสมบูรณ์ และความรู้เกี่ยวกับดอกกุหลาบคือความรู้ในดอกที่บานเต็มที่นี้ มโนภาพอันเป็นความรู้ ก็คือมโนภาพอย่างนี้
พลาโต้ว่า รูปสมบูรณ์ของสรรพสิ่งอันเปลี่ยนแปลงนี้แหละ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ส่วนกุหลาบที่เปลี่ยนแปลงไปเท่าที่ประจักษ์ทางอวัยวะรับสัมผัสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จริง ตามมติของเขาแล้ว สิ่งที่จริงย่อมไม่เปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงของเฮอราคลิตัสนั้น พลาโต้ว่าเป็นสิ่งลวงเช่นเดียวกับพวกอีเลียติค (Eleatic) สรรพสิ่งอันประจักษ์แก่เราทางอวัยวะรับสัมผัสนั้นล้วนเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น แต่รูปสมบูรณ์ของมันซึ่งเป็นความจริงนั้นไม่เปลี่ยนแปลง มันทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งได้ คือเป็นความรู้ในรูปสมบูรณ์ของมัน
ด้วยเหตุที่มีรูปสมบูรณ์ของกุหลาบเป็นต้นเหตุอยู่ จึงได้มีดอกกุหลาบเกิดอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน และรูปสมบูรณ์ของม้าก็ทำให้เกิดม้าอยู่ตลอดไป ไม่เพียงแต่สรรพสิ่งอันประจักษ์แก่เราทางอวัยวะรับสัมผัสจะมีรูปสมบูรณ์เท่านั้น แม้ที่ไม่ประจักษ์เช่นภาวะอันเป็นกลางระหว่างสรรพสิ่ง หรือที่เรียกกันว่านามธรรมก็มีรูปสมบูรณ์ด้วย ดอกไม้ต่างๆล้วนแสดงให้เห็นความงดงามที่มีร่วมกันอยู่ ความงดงามจึงเป็นรูปสมบูรณ์ทางนามธรรม ศีลธรรมในความประพฤติของคนเราแสดงถึงการมีรูปสมบูรณ์ที่เรียกว่าคุณธรรมอันเป็นนามธรรม นอกจากนี้กฏซึ่งครอบงำความเป็นไปของสรรพสิ่งอันเป็นนามธรรม เช่นกฏธรรมชาติก็ถูกถือเป็นรูปสมบูรณ์อย่างหนึ่งด้วย
พลาโต้เชื่อว่าสากลโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีส่วนต่างๆทั้งที่ เป็นรูปธรรม (The Concrete ฑิ คอน-ครีท) และที่เป็นนามธรรม (The Abstract ฑิ แอบ-สทแร็คท) ยึดโยงติดกันหมด และส่วนต่างๆเหล่านี้นั้นมิใช่ว่า จะแปรผันไปอย่างกลไก อันไร้ความสามารถก็หามิได้ หากแปรผันไปโดยมีวัตถุประสงค์เป็นรูปสมบูรณ์คือ คุณธรรมดึงไปจนกว่าจะถึงวาระที่สุดซึ่งมันจะปรากฏขึ้น
พลาโต้เชื่อว่ามีวิญญาณ (Soul โซล หรือ Psyche ไซคิ) ในร่างกายมนุษย์ วิญญาณเป็นสิ่งซึ่งก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวตัวเอง มันเป็นสิ่งซึ่งให้ชีวิต และบัญชาให้มองดู รู้ และตั้งเจตจำนง วิญญาณมีสามระดับคือ ระดับรู้เหตุผล ระดับแกล้วกล้า และระดับเกิดความใคร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ศีรษะ ที่หัวใจและที่ท้องตามลำดับ วิญญาณ ณ ระดับเหตุผลเท่านั้น จึงจะเป็นอมตะ มีเจตจำนงอย่างอิสระและเป็นรูปสมบูรณ์ ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงสร้างขึ้น เมื่อสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปดั่งที่ปรากฏต่อเราในโลกนี้ ก็ต้องมีโลกแห่งรูปอยู่ซ้อนกับโลกเราซึ่งในโลกอย่างนั้นบรรดารูปสมบูรณ์และนามธรรมอันไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหลาย จะอยู่ร่วมกับวิญญาณอมตะของมนุษย์ ผู้ใดได้เข้าไปอยู่ในโลกแห่งรูปสมบูรณ์นั้นจะประสบความนิรันดรแห่งสรรพสิ่งทั้งปวงและจะเป็นสุขสมบูรณ์ การที่ในชาตินี้คนเราเห็นสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไป แต่รู้ว่ามันมีรูปสมบูรณ์อันคงกระพันนั้น พลาโต้ว่าเป็นด้วยเมื่อชาติก่อนๆเราเคยอยู่ในโลกแห่งรูปสมบูรณ์มาแล้ว นี่เป็นข้อคิดเกี่ยวกับการระลึกชาติอย่างเดียวที่พวกกรีกมี แต่ไม่มีการระบุเรื่องเกี่ยวกับกรรมของส่วนบุคคลแต่อย่างใดเลย
พลาโต้ได้ตั้งสำนักปรัชญาไว้ ชื่อว่าอะแคด-เอะมิ (Academy) ที่นี่นักคิดกรีกผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งได้มาเป็นศิษย์ของเขา ผู้นี้คืออาริสโตเติ้ล (Aristotle) อะแคด-เอะมินี้ต่อมาได้ให้กำเนิดวิทยาลัยห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์สถานต่างๆของโลก
พลาโต้มีความคิดเห็นตรงกับซอกราตีสในข้อที่ว่าคนดีมีปัญญาควรเป็นผู้ดำเนินประเทศ และคนดีมีปัญญาย่อมหมายถึงอภิชนกรีก เพราะคนยากจนย่อมไม่มีเวลาจะหาปัญญาใส่ตัว และย่อมไม่มีทรัพย์พอที่จะเป็นคนดีกับเขาได้ พลาโต้มองเห็นอย่างนี้ เพราะเขาเป็นนักจิตนิยมอย่างรุนแรง เขาคิดไปเสียว่าคนชั่วไร้ปัญญานั้นเป็นคนไม่แสวงหาปัญญาและไม่ชอบประพฤติดี เมื่อนครแอธ-เอ็นส (Athens) รับคนพวกนี้ไว้ในจำนวนผู้ที่มีสิทธิรับเลือกตั้ง พลาโต้ก็เห็นว่าผิดถนัด
เขาจึงวาดภาพการปกครองที่ถูกต้องไว้ในหนังสือมหาชนรัฐ (Republic ริพับ-ลิค) ของเขาดังนี้คือ เริ่มต้นตั้งแต่เด็ก เพราะว่าพวกผู้ใหญ่ในเวลานั้นใช้ไม่ได้เสียแล้ว เด็กในนครแห่งอุดมการณ์ หรือนครมหาชนรัฐ (Republic ริพับ-ลิค) จะต้องจัดการให้เกิดการสืบพันธุ์ร่วมกัน ผู้ชายที่ดีที่สุดจะต้องได้สืบพันธุ์กับผู้หญิงที่ดีที่สุด นี่คือลัทธิ Eugenics (จุเจน-อิคซ)ของกรีกนั่นเอง พลาโต้แนะให้คนเราแต่งงานหมู่อย่างชุมชนบุพกาล เพราะต้องการกำจัดครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวอันเต็มไปด้วยความลำเอียง เด็กที่เกิดมาแล้วต้องถูกตัดจากวงสัมพันธ์กับบิดามารดา นี่ก็เพื่อป้องกันอคติเหมือนกัน ทั้งนี้โดยเอาไปเลี้ยงไว้ในโรงเลี้ยงเด็กของรัฐ ด้วยประการฉะนี้จะเหลือจะก็แต่ภราดรภาพระหว่างกันเท่านั้น ฉันทาคติเฉพาะตัวจะไม่มีเลย ในรัฐสังคมนิยมเช่นนี้ จึงจะเกิดความรู้สึกได้จริงๆว่าทุกคนเป็นพี่น้องกันหมด เกี่ยวกับบิดามารดานั้น, เมื่อจับคู่ได้บุตรแล้วก็ให้หาคู่ใหม่ได้ตามใจชอบ หรือจะทำให้ลูกแท้งเสียก็ได้ กล่าวคือหลังจากที่ได้ให้บุตรแก่รัฐแล้ว ก็อาจมีชีวิตส่วนตัวได้โดยอิสระ รัฐต้องการเพียงไม่ให้ชีวิตส่วนตัวมาทำความเดือดร้อนให้แก่กันเท่านั้น เด็กในอารักขาของรัฐนี้ ระหว่างมีอายุไม่ถึง 24 ปีจะได้รับการศึกษาเหมือนกันหมด การศึกษาเบื้องต้นได้แก่การบริหารและดนตรี ทั้งนี้เพื่อทำให้วิญญาณได้ส่วน คนใดไม่มีดนตรีการ วิญญาณย่อมไว้ใจไม่ได้ เพราะจิตใจของเขาเป็นโรคทุพพลภาพ ก่อนอายุ 20 ปี เด็กจะได้รับการศึกษาทางดนตรี เด็กหญิงกับเด็กชายจะเรียนด้วยกัน เล่นด้วยกันเวลาออกกำลังกายก็ให้เปลือยกายด้วยกันทั้งสองเพศ ทั้งนี้เพราะจะได้ดัดตนให้ร่างกายสมส่วนงดงาม พลาโต้อ้างว่าประชาชนแห่งรัฐอันสูงส่งนี้มีเครื่องปกปิดเป็นคุณธรรมเพียงพอแล้ว เด็กๆจะต้องไม่โง่ และขี้อาย จะต้องไม่ตื่นเต้นและติดนิสัยล้อเลียนเมื่อเห็นร่างเปลือยของมนุษย์ การศึกษาจะต้องจัดให้เป็นที่พอใจแก่เด็กโดยไม่มีการบังคับ การเรียนต้องให้สนุกเหมือนกีฬา แม้การเรียนทางใจก็ต้องเป็นเช่นนั้น เด็กๆจะต้องแข่งขันเอาชนะกันในทางวิชาการเหมือนในการเล่นกีฬานั้นด้วย ภายหลังอายุ 20 ปีจะต้องมีการสอบคัดเลือกขนานใหญ่ผู้ที่เรียนต่อไปไม่ไหวจะจัดให้ไปเป็นชาวนา กรรมกร และนักธุรกิจ คนเหล่านี้จัดเป็นคนสามัญของรัฐ พวกเด็กที่เหลือจะผ่านการศึกษาอีก 10 ปี โดยเรียนวิชาสูงขึ้นไปมีวิทยาศาสตร์ เลขคณิต เรขาคณิต และดาราศาสตร์
พวกกรีกถือวิชาเหล่านี้เป็นของสูง ไม่เหมาะสำหรับเอาไปใช้งาน หากเหมาะสำหรับเรียนเป็นปัญญาเท่านั้น การเรียนเลขนั้นพลาโต้ว่าเป็นเรื่องทางปรัชญา โดยจะทำให้มองเห็นว่าหลายเป็นหนึ่งได้อย่างไร และเหมาะแก่การจัดกองทัพเป็นหมวดหมู่ด้วย
ครั้นถึงอายุ 30 ปีแล้วก็สอบอีกครั้งหนึ่ง พวกที่ตกก็ปัดไปเป็นคนชั้นกลางซึ่งเป็นพวกทหาร มีหน้าที่ป้องกันรัฐแต่ไม่ใช่เอาไว้รุกราน พลาโต้เกลียดชังสงครามเพราะนครแอธ-เอ็นส (Athens) ยับเยินด้วยสงครามเห็นได้ชัดๆ แต่เขาก็ปรารถนาจะเห็นนครแอธ-เอ็นส (Athens) มีกำลังป้องกันตัวอย่างแข็งแกร่ง พร้อมที่จะขับผู้รุกรานออกไปได้
มหาชนรัฐ (Republic ริพับ-ลิค) จึงมีคนชั้นต่ำและชั้นกลางซึ่งเป็นทหาร พลาโต้เรียกทหารว่าผู้รักษาเมือง ส่วนที่ผ่านการสอบไล่ไปในชั้นสองนี้นั้นก็ให้เรียนปรัชญา เป็นชายหรือหญิงซึ่งจะได้รับการอบรมทางการปกครองรัฐต่อไป เมื่อเรียนครบ 5 ปีแล้วก็เป็นอันว่าจบหลักสูตรทางทฤษฎีจึงต้องผ่านการเรียนปฏิบัติอีกโดยไปหัดปกครองอย่างดีอีก 15 ปีถึง 50 ปีจึงพร้อมที่จะรับตำแหน่งปรัชญาราชย์ (Philosopher King ฟิลอซ-โอะเฟอะ คิง) ได้
พลาโต้เห็นว่าสตรีกับบุรุษควรจะมีฐานะเสมอกัน ในริพับลิคของเขาชายและหญิงจึงเรียนรวมกัน เป็นสหายสนิทสนมกัน ดังที่เรียกว่า(Platonic friendship พละทอน-อิค ฟเร็น-ฌิพ) นักปรัชญาชั้นปกครองซึ่งเลือกแล้วทั้งหญิงและชายนี้จะต้องไม่มีทรัพย์สินเป็นส่วนตัว จะต้องใช้ของร่วมกัน กินอาหารรวมกันในห้องอาหารของรัฐ และนอนรวมกันในสถานที่ของรัฐ ความสนใจเป็นส่วนตัวของเขาจะไม่มีขึ้นเลย นัก ปกครองจะพ้นจากการฉ้อราชบังหลวง และจะมุ่งไปในทางสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์โดยตลอดไป
พลาโต้ได้กล่าวสรุปไว้ว่า หากไม่ได้นักปรัชญามาเป็นนักปกครอง หรือได้นักปกครองที่ไม่รู้ปรัชญาแล้วไซร้ จะไม่มีวันสิ้นสุดแห่งความทุกข์ยากของมนุษย์อย่างแน่นอน !
จริงอยู่พลาโต้ให้อุดมการณ์ริพับลิคของเขาไว้โดยไม่แจ้งถึงวิธีการเข้าสู่ภาวะอย่างนั้น เขาเป็นนักฝันยิ่งกว่านักปฏิบัติ ฉะนั้นแทนที่เขาจะเล่นการเมืองสำเร็จ ดังที่วาดภาพไว้ การเมืองเดินโดยนักปกครองที่ไม่รู้ปรัชญานั่นเองได้มาเล่นเขา เขาอยู่กับทารุณราช (Tyrant ไทแร็นท) ชื่อไดโอนิเชียส (Dionysius) ณ เกาะซิซีลี และคงจะได้แย้มๆเรื่องริพับลิคให้พระองค์ทราบ ไดโอนิเชียสตกใจมากและคงจะทรงพระพิโรธที่พระองค์เองไม่ได้เป็นนักปรัชญา จึงไม่สมควรปกครองประเทศตามมติของ พลาโต้ พระองค์ทรงจะจับเขาฆ่าเสีย แต่พวกเพื่อนๆของพลาโต้ทัดทานไว้ พระองค์จึงเพียงแต่เอาเขาไปขายเป็นทาสที่เกาะดีลอส(Delos) บัดนี้นักปรัชญาของเราผู้นิยมอภิชน
และไม่มองพวกทาสเลย เลยกลายเป็นทาสไปเสียเอง!
เคราะห์ดีที่มีเศรษฐีซื้อเขาไปเป็นครูแก่พวกลูกๆ แล้วก็ปล่อยให้ เขาเป็นอิสระกลับไปยังนครแอธ-เอ็นส (Athens) ได้ ที่นั่นเขาได้ตั้งอาศรมหรือวิทยาลัย,เรียกว่าอะแคด-เอะมิ (Academy) และเผยแพร่ความคิดของเขาออกไป ภายหลังไดโอนิเชียสทรงเขียนมาขอโทษเขาและเชิญให้เขากลับมาอยู่กับพระองค์อีก แต่พลาโต้ได้เข็ดเสียแล้ว
ในทางจริยศาสตร์ พลาโต้เห็นตรงกับซอกราตีส และได้บันทึกไว้ว่า การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวิทยาศาสตร์ทุกสาขา การกระทำและการเลือกสรรทุกๆอย่างต่างก็มุ่งไปสู่ผลอันดีงาม ฉะนั้นความดีงามจึงเป็นจุดหมายปลายทางของสรรพทั้งปวง




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2551
1 comments
Last Update : 11 กรกฎาคม 2551 11:08:13 น.
Counter : 1635 Pageviews.

 

มาเริ่มอ่านตรงนี้ก่อนค่ะ เพราะว่าเคยเรียนเรื่องราวของเพลโตมาบ้าง น่าจะอ่านต่อให้เข้าใจได้ไม่ยาก

 

โดย: gluhp 12 กรกฎาคม 2551 22:16:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com