โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
24 สิงหาคม 2551
 
 

ปรัชญาสัมบูรณนิยมของเฮเกล 3

24.7 ความแท้จริงอันติมะเป็นเจตภูต (Spirit ซพี-ริท)
หรือเป็นบุคคล (Person เพอ-ซ'น)
เท่าที่แล้วมาเราได้ตอบปัญหาเรื่องธรรมชาติของความแท้จริงอันติมะเพียงบางส่วนเท่านั้น คงจะจำได้ว่าเราได้แจงถึงข้อคิดในความแท้จริงอันติมะอันอาจเป็นไปได้ทางตรรกวิทยาสามทาง มันอาจมีสภาพเป็นพิชานหรือมีสภาพไม่เป็นพิชาน และถ้าเป็นอย่างหลังนี้มันก็มีลักษณะเป็นโลกธรรมชาติดังที่ทราบ ๆ กันอยู่หรือในทางที่สามอาจเป็นความแท้จริงอันรู้ไม่ได้ (Unknowable อันโน-อะบ'ล) อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งทางจิตและทางกายภาพ แต่คำสอนที่ว่าเรารู้ความแท้จริงอันติมะได้ ได้ตัดปัญหาข้อสุดท้ายออกไป และข้อที่ว่าความแท้จริงอันติมะเป็นความจริงครบถ้วน แต่ไม่ใช่ประมวลหรือกลุ่มรวมของเสี่ยงที่เชื่อมสมานกันภายนอกนั้น ทำให้เราได้ทรรศนะแคบลงไปถึงขั้นที่ว่า ความแท้จริงอันติมะตรงกับโลกกายภาพ เพราะว่ามองในแง่วิทยาศาสตร์ อนินทรีย์ (Inorganic Science อินอแกน-อิค ไซ-เอ็นซ) แล้วโลกเป็นกลุ่มรวมแห่งปรากฏการณ์อันกะไว้เหมาะสมดีแล้วไม่มากก็น้อย โดยเป็นส่วนประกอบของพลัง เป็นผลรวมของเสี่ยงที่ต่างก็มีอิทธิพลครอบงำกัน คงจะเห็นได้ชัดว่า ความแท้จริงอันติมะเช่นนั้นคงจะไม่ลงรอยกับมติที่ว่า ความแท้จริงอันติมะคือสิ่งซึ่งเป็นหนึ่ง และซึ่งแสดงตัวเป็นเสี่ยงต่างๆ เพราะแต่ละเสี่ยงต่างก็เป็นการแสดงตัวอันจำเป็นยิ่งของความแท้จริงอันติมะ
เช่นนี้ก็เป็นที่กระจ่างแล้วว่าโลกธรรมชาติมองในแง่เป็นอนินทรีย์(ซึ่งด้วยเหตุนี้ก็เป็นการมองในแง่เป็นประมวลด้วย) นั้น ไม่ตรงกับสภาพของความแท้จริงอันติมะฐานเป็นสิ่งสัมบูรณ์ คงเหลือความเป็นไปได้ก็แต่ที่มองความแท้จริงอันติมะอย่างไม่เป็นอนินทรีย์ หากมองอย่างเป็นอินทรีย์ (Organic ออแกน-อิค) คือไม่ใช่มองอย่างเป็นสิ่งที่ตาย หากมองอย่างเป็นสิ่งมีชีวิตนี่คือทฤษฎีซึ่งเฮเก็ลทำการวิเคราะห์ต่อไปในบทสรุปของตรรกวิทยาของเขา
24.7.1 การมองความแท้จริงอันติมะในแง่เป็นชีวิตเฉยๆนั้นยังไม่เพียงพอ ในสมัยของเฮเก็ล,เช็ลลิงได้ปล่อยทฤษฎีที่ว่าความแท้จริงอันติมะเป็นชีวิตออกมา ต่อมาในชั้นหลังๆนักชีววิทยาซึ่งมีความคิดเอนเอียงไปในทางปรัชญา เช่นสเปนเซ่อร์(Spencer) และเฮกเค็ล(Haeckel) ได้ทำให้ความนิยมในทฤษฎีอันเป็นสมมติฐานนี้เกิดขึ้นอีก มองดูอย่างเผินๆ สมมติฐานนี้ฟังเข้าทีดี การถือปรากฏการณ์ทาง อนินทรีย์เป็นรองทางอินทรีย์ ก็น่าจะเป็นอย่างผิวเผิน คือถือว่าปรากฏการณ์ ทางอนินทรีย์มีไว้เพื่อหล่อเลี้ยงและกระตุ้นเตือนสิ่งมีชีวิตเท่านั้น และอีกประการหนึ่งให้ถือว่าพิชานเป็นเพียงอุปกรณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางผัสสะ ซึ่งโดยการคิดเช่นนี้จะทำให้ชีวิตเป็นความแท้จริงอันสูงส่งและเป็นแก่นกลางไป ยิ่งกว่านี้อีกอินทรีย์ดูจะเข้าได้กับความคิดเรื่องตัวซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นรูปของความแท้จริงอันติมะ ทั้งนี้ก็เพราะเสี่ยงต่างๆของอินทรีย์มีได้เพราะอินทรีย์ และมีไว้เพื่ออินทรีย์ แทนที่จะเอาเสี่ยงต่างๆหรืออวัยวะต่างๆมารวมกันแล้วทำให้เป็นอินทรีย์นั้นเฮเก็ลได้ให้คำอธิบาย ยอมรับความคล้ายคลึงระหว่างอินทรีย์กับสิ่งที่เป็นหนึ่งอันสัมบูรณ์ที่แสดงออกเป็นเสี่ยงปลีกย่อยต่างๆ เขายอมรับว่าร่างกายหรืออินทรีย์อันมีชีวิตไม่ใช่กลุ่มรวมของเสี่ยงต่างๆที่เป็นอิสระต่อกัน หากเป็นสิ่งอันเป็นหนึ่งที่แสดงตัวเป็นหน่วยต่างๆ หรืออวัยวะต่างๆอันต่างก็เกี่ยวข้องระหว่างกันและเกี่ยวข้องกับอินทรีย์นั้นแต่เขาก็ชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดมีข้อขัดข้องสองประการต่อมติที่ว่า เราควรมองความแท้จริงอันติมะ ในแง่เป็นสิ่งเดียวกับธรรมชาติทางอินทรีย์ ประการแรกนั้นเราแน่ใจว่าคำตอบเช่นนี้ไม่เป็นการเพียงพอเลย เพราะมันตอบปัญหายังไม่ได้เต็มที่ คำว่าธรรมชาติของอินทรีย์หรือชีวิตนั้นเราหมายถึงสิ่งที่ยิ่งไปกว่า สิ่งอนินทรีย์หรือสิ่งที่มีชีวิต
แต่ความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไร้ชีวิตก็ยังอธิบายกันไม่เป็นที่พอใจ ในหมู่นักชีววิทยาหลายคนในหมู่นี้ยืนยันว่าชีวิตถูกกำหนดด้วยกระบวนการอันทอนลงเหลือแต่ความเปลี่ยนแปลงทางเคมีและกายภาพ (Chemical and Physical Change เคม-อิแค็ล แอนด ฟีส-อิแค็ลเชนจ) เป็นต้นว่า การหดตัว การเติมออกซิเจน การสูญเสียความร้อนและขบวนการอื่นที่คล้ายๆกัน และก็มีการเชื่อว่าชีวิตทอนลงได้เป็นการประกอบขึ้นด้วยสารต่างๆในอินทรีย์อันมีชีวิตเป็นต้นว่าโปรตีน ฟอสฟอรัส แอลบูเม็น ฯลฯ อีกนัยยะหนึ่งในสมัยนั้น และแม้ในสมัยก่อนๆ การแบ่งแยกสิ่งมีชีวิตออกจากสิ่งไร้ชีวิตอย่างไม่คลุมเครือนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความจริงนักชีววิทยาสมัยใหม่เช่น โลบ (Loeb) เชื่อว่าเรากำลังจะพบวิธีสร้างชีวิตขึ้นด้วยกระบวนการทางอินทรีย์ ดังนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมองความแท้จริงในแง่เป็นชีวิต ในเมื่อเรายังไม่สามารถแยกตัวชีวิตออกจากสิ่งอันตรงข้ามกับมันตามสมมติฐาน
สำหรับประการที่สองเฮเก็ลได้รื้อฟื้นผลอันเพิ่งพิสูจน์ได้ที่ว่า ความแท้จริงอันติมะครอบงำสิ่งอื่นไว้หมด และมีความครบถ้วนอย่างสุดขีด เขาชี้แจงว่าการมองความแท้จริงอันติมะในแง่เป็นอินทรีย์นั้นไม่ตรงกับสภาพหรือธรรมชาติอย่างที่สองของมัน เพราะตามทรรศนะเช่นนั้นความแท้จริงอันติมะคงจะเป็นอินทรีย์ตัวหนึ่งระหว่างตัวอื่น หรือมิฉะนั้นก็เป็นผลรวมแห่งอดีตปัจจุบันและอนาคตของอินทรีย์เหล่านั้น สมมติฐานแรกดูจะเข้าไม่ได้กับมติเมื่อกี้ว่า ความแท้จริงอันติมะไม่ใช่ความแท้จริงโดดเดี่ยวโดยต้องถูกจำกัดด้วยความมีอยู่ของความแท้จริงอื่น สมมติฐานเป็นสิ่งเดียวกับเชื้อชาติหรือพันธุ์ หรือค่อนไปทางเป็นผลรวมของเชื้อชาติหรือพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกัน
เมื่อยอมรับว่าอินทรีย์เดียวจะเป็นสิ่งเดียวกับความแท้จริงอันติมะไม่ได้ ทฤษฎีนี้ก็ถือว่าชีวิตอันมีอยู่ตลอดไปโดยผ่านหลายๆชั่วชีวิต เป็นชีวิตไม่ใช่ของๆตัว แต่เป็นของธรรมชาติทางอินทรีย์มองในแง่เป็นอินทรีย์เดียวทั้งหมดนั้น คือความแท้จริงอันเป็นรากฐาน เฮเก็ลดำเนินความคิดต่อไปโดยวิเคราะห์ข้อคิดในธรรมชาติทางอินทรีย์ฐานเป็นชีวิตของเชื้อชาติ ซึ่งข้อนี้เช็ลลิงเคยทึกทักเอาเป็นสิ่งอันติมะอย่างขาดความรอบคอบมาแล้ว เฮเก็ลตั้งคำถามว่า เชื้อชาติหรือพันธุ์คืออะไร? เขาตอบว่ามันเป็นเพียงความมากหลาย เป็นขบวนอันยืดยาวอย่างไม่จำกัดของสิ่งมีชีวิต และเนื่องจากได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเอกภาพทางอินทรีย์แห่งบรรดาอันเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่ความแท้จริงอันติมะ ข้อคิดในแง่ความแท้จริง อันติมะเป็นชีวิตของเชื้อชาติก็ต้องเลิก อีกนัยยะหนึ่งในการคิดว่า ความแท้จริงอันติมะตรงกับชีวิตนั้นก็เท่ากับสมมติว่ามันเป็นสิ่งอันเป็นหนึ่งที่แสดงตัวออกเป็นเสี่ยงๆซึ่งจำเป็นยิ่งต่อมัน ตรงกันข้ามทีเดียวเรากลับพบว่าชีวิตหรือธรรมชาติทางอินทรีย์มองจากแง่ทางวิทยาศาสตร์ชีววิทยานั้น ในที่สุดก็หาใช่สิ่งสัมบูรณ์ไม่ แต่เป็นเพียงประมวลของตัวที่เด่นชัดและเกี่ยวข้องกันเพียงภายนอกเท่านั้น
24.7.2 การมองความแท้จริงอันติมะฐานเป็นผลรวมแห่งตัวตนปลีกย่อยนั้นก็ยังไม่เพียงพอ การถือสมมติฐานว่า ความแท้จริงอันติมะมีลักษณะคล้ายโลกกายภาพ (Physical World ฟีส-อิแค็ล เวิลด) นั้น ได้ถูกเปิดเผยให้ทราบแล้วว่ามีจุดอ่อน ดังนี้ก็เป็นที่เด่นชัดออกมาว่า ความแท้จริงอันติมะต้องเป็นพิชาน เพราะมันได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ความแท้จริงอันรู้ไม่ได้หรือธรรมชาติทางกายภาพ ตรงนี้เฮเก็ลอาจนึกถึงลัทธิเอกนิยมทางปริมาณอันเป็นมติของเขามาตั้งแต่ต้น เขาได้กล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ ความแท้จริงอันติมะนั้น โดยที่ทางหนึ่งมันเป็นตัวตนที่สัมบูรณ์ และอีกทางหนึ่งมีพิชาน มันจึงต้องเป็นตัวตนอันสัมบูรณ์ ตรงกันข้ามเขากลับคิดคืบหน้าไปเป็นมติว่า ความแท้จริงอันติมะเป็นพิชานตามที่สังเกตได้อย่างปกติธรรมดา ในข้อที่ว่า,พิชานนั้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามย่อมเป็นผลรวมแห่งตัวตนที่จำกัด และเขาก็ได้ฟื้นฟูสมมติฐานที่ว่า ความแท้จริงอันติมะเป็นผลรวมของอินทรีย์มาแล้ว ทั้งนี้เพราะว่าบรรดาอินทรีย์ต่างๆนั้น โดยที่เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตและไร้พิชาน ก็จะอยู่โดดเดี่ยว ในเมื่อตัวตนซึ่งดูทีจะโดดเดี่ยวจากกันนั้น,ที่จริงติดต่อกัน ข้อนี้ไลบนีซ (Leibniz)ได้ชี้ให้เห็นนานมาแล้ว ตัวตนนั้นติดต่อกันได้เพราะมีพิชานต่อกัน ด้วยประการฉะนี้เนื่องจากสิ่งมีพิชานแต่ละสิ่งอาจมีพิชานในส่วนที่เหลือของเอกภาพได้ เราก็ได้กุญแจไขความลับของเรา อีกนัยยะหนึ่งบางทีผลรวมของมนุษย์อันมีพิชาน คือแต่ละคนมีพิชานในคนอื่นเป็นบางคน และมีพิชานแม้ในแผนของผลรวมนั้นเราอาจมีสิ่งที่เป็นหนึ่งอันสัมบูรณ์ (Absolute One แอบ-โซลยูท วัน) ทางปริมาณและที่เป็นพิชานทางคุณภาพซึ่งแม้กระนั้นก็เป็นหนึ่งของหลาย เฮเก็ลทำการทดสอบสมมติฐานนี้โดยการวิเคราะห์พิชานด้วยความตั้งใจที่จะค้นดูว่า พิชานแห่งสิ่งจำกัดจะทำให้เกิดเอกภาพสัมบูรณ์นี้ได้หรือไม่ เราจะต้องยอมรับกันว่าพิชานมีสองแง่ คือแง่รู้และแง่เจตจำนง แต่การวิเคราะห์แง่รู้ ได้ความว่าทั้งตัวตนเดียวที่รู้หรือผลรวมของตัวตนที่รู้นั้น จะประกอบเป็นความแท้จริงสัมบูรณ์และครบถ้วนในตัวไม่ได้ เพราะตัวตนที่รู้ทุกตัวย่อมต้องเผชิญหน้ากับการขัดแย้งของ โลกใกล้ชิดอันขวางอยู่ข้างหน้า เป็นโลกแห่งความเห็นและความประสงค์ตรงข้ามกับของมันเอง และเป็นโลกแห่งสรรพสิ่งซึ่งมันไม่ได้สร้างขึ้น นี่คือความประจักษ์ทางความจัดเจนในพิชานของคนเรา ดังที่แดสการ์แตสและเบอร์กลี่ย์กับแทบทุกนักปรัชญาได้สอนไว้ เรารู้สึกร้อนและเย็น รู้สึกมืดหน้าด้วยแสงอันเป็นประกาย รู้สึกหูอื้อด้วยเสียงที่ดังลั่น และถูกยุงกัดเป็นที่รำคาญใจและแม้ว่าในการมองโลกเพื่อวิเคราะห์และจัดประเภทข้อเท็จริง เราจะได้ส่งอำนาจความคิดไปครอบงำสิ่งเหล่านั้นตาม ก็คงยังเหลือปัญหาอยู่ว่า เราไม่ได้สร้างมันขึ้น อีกนัยยะหนึ่งความจัดเจนมาสู่เราได้โดยเรามิได้ทำขึ้น บางทีมันกลับมาขัดใจเราด้วยซ้ำ บรรดาตัวตนเพียงแต่รู้จึงไม่สามารถประกอบเป็นตัวตนอันสัมบูรณ์และมีความพอในตัวเองได้
คงมีปัญหาเหลืออยู่ว่า อาจเป็นไปได้หรือไม่ที่ความแท้จริงอันติมะจะประกอบด้วยผลรวมแห่งตัวตนที่มีเจตจำนง ในชั้นแรกดูจะมีทางเป็นไปได้ดังกล่าว เพราะว่าตัวตนเมื่อมีเจตจำนงย่อมทำให้ความแท้จริงภายนอกตกอยู่ใต้ความบันดาลไปตามความประสงค์ ถือความสนใจของตัวเองเป็นใหญ่และสัมบูรณ์ แล้วดำเนินการทำให้โลกเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น แม้เจตจำนงนั้นเอง, ตราบใดที่มันยังแสดงลักษณะของตัวตนปลีกย่อยอยู่,ก็จะต้องการความมีอยู่ของความแท้จริงที่จะขัดแย้งด้วยต้องการสสารสำหรับก่อเป็นรูปเป็นร่าง หรืออีกนัยยะหนึ่งสมมติล่วงหน้าถึงความเป็นอิสระของสิ่งอันเป็นกรรมของเจตจำนงนั้น และด้วยประการฉะนี้จึงถูกจำกัดด้วยความแท้จริงนอกตัวมัน ด้วยประการฉะนี้, ตราบใดที่เรายังนิยมความแท้จริงอันติมะว่าประกอบด้วยตัวตนปลีกย่อย ก็เท่ากับเราถือมันเป็นความแท้จริงแบบประมวล ซึ่งข้อนี้เป็นความคิดอันใช้ไม่ได้ ผลรวมของตัวตนจำกัดจะกลายเป็นประมวลไป หาใช่เป็นตัวตนโดดเดี่ยวที่ไม่ขึ้นกับสิ่งใดไม่ ในประมวลเช่นนั้นความเป็นหนึ่งจะประกอบด้วยผลบวกของพิชานซึ่งตัวตนเดี่ยวมีต่อกัน แต่พิชานในเอกภาพดังที่มีในตัวคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะผิดแผกจากคนอื่นอย่างสัมบูรณ์ตามสมมติฐานนี้ ก็คงผิดแผกจากพิชานในเอกภาพซึ่งแต่ะละคนรู้สึก และเช่นนี้เอกภาพสัมบูรณ์อันสมมติขึ้นก็คงเหลือเป็นเพียงผลบวกของความเกี่ยวข้อง (พิชานในเอกภาพ) อันยังต้องการโยงให้เกี่ยวข้องต่อไปอีก
เฮเก็ลสอนว่าความแท้จริงอันสัมบูรณ์นั้นแม้จะต้องรวมเอาลักษณะอันแน่นอนของธรรมชาติทางอนินทรีย์ไว้ก็ยังไม่ใช่สิ่งเดียวกับธรรมชาติทางอนินทรีย์นั้น เพราะมันเป็นสิ่งซึ่งยิ่งกว่าเอกภาพทางเมคานิคส์ ความแท้จริงอันติมะก็ยังไม่ใช่ชีวิตเฉยๆอันเป็นผลรวมของอินทรีย์ เพราะว่าที่แท้ในกรณีนี้ความเป็นหนึ่งก็ยังไม่สัมบูรณ์ และอินทรีย์ธรรมชาติแต่ละตัวก็มีชีวิตเป็นของตัวเอง ในผลรวมของบรรดาตัวตนเป็นชั้นที่สุดเราก็ได้เอกภาพชนิดที่มีความจำเป็นยิ่งกว่าเอกภาพอื่นๆดังกล่าวมาแล้ว เป็นเอกภาพของพิชานอันเชื่อมตัวเองเข้ากับวัตถุอันเป็นกรรมของมัน แม้กระนั้นแล้วตรงนี้เอกภาพก็ยังไม่ครบถ้วน เพราะว่าพิชานอันเชื่อมตัวอันหนึ่งก็ผิดแผกจากกันและกันโดยสมมติฐาน ความแท้จริงสัมบูรณ์จึงต้องเป็นพิชานและพิชานเชื่อมต่อแต่จะเป็นประมวลไม่ได้ มันย่อมไม่เป็นระบบของตัวตนที่จำกัดและซึ่งต่างก็ผิดแผกจากกัน อีกประการหนึ่งมันจะต้องเป็นตัวประธานเคลื่อนได้เอง และมีกัมมันตภาพ เป็นจิตอันสัมบูรณ์ กล่าวคือเป็นตัวตน เป็นสิ่งสัมบูรณ์และความจริงทั้งหมด เป็นจิตซึ่งคิดถึงตัวเองและเป็นสิ่งเดียวกับตัวเองอย่างครบถ้วนแม้ในแง่ความเป็นอื่นของมัน
ในการตีความข้อความของเฮเก็ลดังกล่าวมาแล้วนั้น เราจะต้องระมัดระวังให้มาก มีคนโดยมากถือกันว่า, ตัวเขามองพิชานสัมบูรณ์ในแง่เป็นความคิดทางนามธรรม เป็นความคิดอันไม่ถูกระทบกระเทือนด้วยอารมณ์หรือเจตจำนงใดๆ และข้อคิดเช่นนี้ก็มีผู้แย้งว่าไปขัดกับอุปกรณ์แห่งพิชานอันจำเป็นและสำคัญต่อชีวิต การตีความเช่นนั้นเกิดจากการเข้าใจความคิดของเฮเก็ลอย่างผิดๆ คำว่าความคิดอันเป็นอาการกิริยาของตัวตนสัมบูรณ์นั้น เขาไม่ได้หมายความไปในทางแห้งแล้งและเลื่อนลอยตามหลักจิตวิทยาอย่างเคร่งครัดหรือตามปรัชญาของพวกวุฒิปัญญานิยม (Intellectualism อินเท็ลเลค-ชัวลิส'ม) แต่หมายความค่อนไปทางพิชาน เฮเก็ลสอนว่าตัวตนสัมบูรณ์อันแตกตัวเป็นสรรพสิ่งต่างๆ นานับประการของโลกธรรมชาติและของเจตภูตอันจำกัดนั้น ไม่ใช่ความคิดอันไร้ชีวิตและอันเป็นทางนามธรรม หากเป็นความคิดทางตัวตนอันเป็นทางรูปธรรม เขากล่าวว่าจุดยอดอันสูงสุดและยิ่งใหญ่ที่สุดคือบุคลิกภาพบริสุทธิ์ ซึ่งตัวของมันเองอย่างเดียวเท่านั้นครอบงำและยึดเหนี่ยวสิ่งทั้งปวงไว้ภายในตัวของมันเอง ทั้งนี้โดยอาศัยไดอเล็กติกสัมบูรณ์อันเป็นธรรมชาติของมัน

24.8 พัฒนาการของสิ่งสัมบูรณ์
24.8.1 กลไกของพัฒนาการ คำว่า ไดอเล็กติกสัมบูรณ์ ควรได้รับการอธิบายในหัวข้อนี้ เพราะว่าคำสอนทางปรัชญาดังกล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น หาได้มีความสำคัญเท่ากับหัวข้อเรื่องพัฒนาการของสิ่งสัมบูรณ์ไม่ เขามีมติว่าสิ่งสัมบูรณ์ (The Absolute ฑิ แอบ-โซลยูท) นั้นแสดงตัวเป็นพัฒนาการต่างๆดังปรากฏเป็นประวัติศาสตร์ของสรรพสิ่ง ทั้งนี้เพราะมันเป็นผลรวมของกาล ทุกๆสิ่งที่มีขึ้นทุกๆยุคสมัย การคลี่คลายตัวเองของสิ่งสัมบูรณ์นี้ เฮเก็ลว่าเป็นไปโดยสาเหตุแห่งการขัดแย้งภายในของมัน การขัดแย้งนี้เขาว่า เป็นไปคล้ายกับการขัดแย้งทางความคิดเห็น,วิภาษวิธี (Dialectic ไดอเล็กติก) ฉะนั้นคำว่าวิภาษวิธี (Dialectic ไดอเล็กติก) จึงถูกใช้ตามนัยยะใหม่ ให้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการขัดแย้งภายใน ไดอเล็กติกสัมบูรณ์หมายถึงพัฒนาการของสิ่งสัมบูรณ์เท่านั้นเอง
กลไกของพัฒนาการ (Development ดิเฝล-อัพเม็นท) นั้น คือ การประนอม (Reconciliation เรค็อนซิลิเอ-ฌัน) ของสิ่งที่แย้งกัน
(Opposite ออพ-โพะสิท) สิ่งหนึ่งพัฒนาไปโดยในชั้นแรกเกิดการแสดงตัวของสิ่งที่ตรงกันข้ามหรือแย้งกับมัน สองสิ่งที่ตรงกันข้ามนี้มาประนอมกันเป็นเอกภาพอย่างครบถ้วนในภายหลัง นี่เป็นการเคลื่อนไหวตัวเองภายใน (Self Movement เซ็ลฝ มูฝ-เม็นท) ตัวอย่างเช่น คนๆหนึ่งในการเติบโตนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปดังนี้คือ ชั้นแรกจะเกิดภาวะภายในอันไม่ใช่คนนั้นขึ้นก่อนเป็นการปฏิเสธ (Negation นิเก-ฌัน) ภาวะแรก นี่ก็เป็นไปเสมือนการเสนอข้อแย้งในวิภาษวิธี (Dialectic ไดอเล็กติก) ฉะนั้น ถัดมาจึงเกิดภาวะที่สามซึ่งปฏิเสธการปฏิเสธเดิม (Negation of the Negation นิเก-ฌัน อ็อฝ ฑิ นิเก-ฌัน) นี่ก็เหมือนมติที่สรุปจากข้อแย้งทั้งสองในวิภาษวิธี ที่นี้ก็มีการตั้งต้นใหม่ สิ่งนั้นหรือคนนั้นจึงปรากฏมีการพัฒนาไปในส่วนภายในของตน พัฒนาการแบบของเฮเก็ลจึงผิดกับของอาริสโตเติ้ล อันได้แก่การเคลื่อนไหวไปสู่รูปสัมบูรณ์ของพันธุ์ (Form ฟอม) ซึ่งการเคลื่อนไหวภายในมุ่งไปสู่ สำหรับทรรศนะของอาริสโตเติ้ลพันธุ์หรือรูปสัมบูรณ์เป็นความแท้จริงเดิม แต่สำหรับเฮเก็ลแล้วอินทรีย์หรือสิ่งนั้นเองเป็นความแท้จริงเดิม ส่วนรูปสัมบูรณ์เป็นภาวะทีหลัง เราจึงเห็นว่ากลไกของพัฒนาของสองท่านนี้ถูกอธิบายไว้อย่างตรงกันข้าม เนื่องจากเราไม่ใคร่เข้าใจถึงกลไกของความเติบโตหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ มติของ เฮเก็ลจึงมีคุณค่ามาก และวิทยาศาสตร์ได้รับเอาไปใช้โดยถือว่าเป็นเรื่องพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์
ส่วนพัฒนาการตามมติทางพุทธศาสนาที่ว่าสิ่งหนึ่งพัฒนาไป โดยการเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ฯลฯ และในการเกิดครั้งหนึ่งๆก็มีภาวะใหม่ติดมานั้น ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้มองในแง่นี้
ในพัฒนาการของสรรพสิ่งเฮเก็ลสอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ (Quantitative Change ควอน-ทิเททิฝ เชนจ) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ (Qualitative Change ควอล-อิเททิฝ เชนจ) ขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีกฎทางวิทยาศาสตร์ครอบงำ และอาจศึกษาให้รู้ได้
ทีนี้เมื่อกลับหวนมาพิจารณาสิ่งสัมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งเราจะเห็นว่า สิ่งสัมบูรณ์ที่สัมบูรณ์จริงๆย่อมต้องพับม้วนรวมเอากาลไว้ด้วย เพราะย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดว่ามันเป็นระบบแห่งสิ่งที่มีเพียงชั่วขณะหนึ่ง หากสิ่งสัมบูรณ์พับม้วนเอาระบบแห่งสิ่งที่มีแต่ละขณะไว้ตลอดกาล มันก็จะเป็นสิ่งที่ไร้กาล(Timeless ไทม-เล็ซ)ได้แต่ทีนี้ก็มีปัญหาตามมาว่าการพัฒนา ของมันนั้นเป็นอย่างไร หรืออีกนัยยะหนึ่งโลกแห่งกาล(Temporal World เทม-โพะแร็ล เวิลด) ดังที่ทราบๆกันอยู่นี้มีได้อย่างไร เฮเก็ลได้ตอบปัญหาข้อนี้ไว้เป็นพัฒนาการของสิ่งสัมบูรณ์
ในพัฒนาการของสิ่งสัมบูรณ์นี้ เขาก็ได้เพิ่มความกระจ่างให้แก่อภิปรัชญาของเขามากขึ้น คือเราทราบว่าเขาถือสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์เป็นมโนภาพ (Idea ไอดี-อะ) หมด คือเป็นมโนภาพจำกัดอันเกี่ยวข้องกันและเชื่อมสมานกันเป็นระบบ อันเป็นการแสดงตัวในขณะหนึ่งๆของสิ่งสัมบูรณ์ ระบบแห่งมโนภาพเป็นการแสดงตัวของสิ่งสัมบูรณ์ นี้ก็ควรแก่นามว่ามโนภาพสัมบูรณ์(Absolute ideaแอบ-โซลยูท ไอดี-อะ) มันเป็นสิ่งที่รวมเอาไว้หมดซึ่งสรรพมโนภาพในอดีต,ปัจจุบันและอนาคตเสมือนเป็นภาพยนตร์ม้วนหนึ่งนั่นเอง
โลกแห่งกาลเกิดขึ้นจากการคลี่คลายของมโนภาพสัมบูรณ์นี้เทียบได้เอาม้วนภาพยนตร์ไปฉาย แต่กลไกแห่งการคลี่คลายนี้เป็นไปอย่างมีการขัดแย้งภายในจึงไม่คล้ายอะไรกับการคลี่ม้วนภาพยนตร์ ในพัฒนาการของมโนภาพสัมบูรณ์นี้ ได้เกิดมโนภาพเป็นระบบๆตามขณะเวลาหนึ่ง ๆ อันเป็นประวัติศาสตร์ ปรัชญาของเฮเก็ลจึงเข้าพิจารณาหลักแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งผลงานอันนี้ฝากชื่อเสียงของเขาไว้แก่โลกอย่างไม่เสื่อมคลายเลย
24.8.2 ประวัติศาสตร์จากพัฒนาการของมโนภาพสัมบูรณ์ เฮเก็ลได้ใช้ปรัชญาสัมบูรณนิยมของเขาก่อความคิดในแง่ต่างๆขึ้น เขามีชื่อจากปรัชญาประยุกต์ (Applied Philosophy แอ็พ-พไลด ฟิลอซ-โอะฟิ) นี้ ไม่น้อยกว่าจากอภิปรัชญาเลย เขาเขียน Phenomenologie (ฟินอม-อิน้อลโอะจี) ปรัชญาว่าด้วยความชอบธรรม, ประวัติศาสนา, ปรัชญาของประวัติศาสตร์ และสุนทรศาสตร์ (Aesthetics เอ็ซเธท-อิคซ) เรื่องทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายให้เห็นความจริงเกี่ยวกับความมีอยู่ของตัวตนสัมบูรณ์ ซึ่งแตกตัว (Differentiate ดิเฟอะเรน-ฌิเอท) และแสดงตัวออกมาเป็นธรรมชาติทางกายภาพ (Physical Nature ฟีส-อิแค็ล เน-เชอะ) และมนุษยชาติ
เขาว่า,บรรดาขบวนแห่งเหตุการณ์ต่างๆนั้นเป็นการเผยตัวอย่างคืบไปข้างหน้าของตัวตนสัมบูรณ์อย่างมีรูปอันเหมาะสมยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น ในชั้นต้นที่สุดนั้น,ไม่มีธรรมชาติและมนษย์ คงมีแต่มโนภาพสัมบูรณ์ (Absolute idea แอบ-โซลยูท ไอดี-อะ) ธรรมชาติอันแย้งตัวเองเป็นการภายใน (Dialectical nature ไดอะเลค-ทิแค็ล เน-เชอะ) ของมโนภาพนี้สำแดงออกมาเป็นการคลี่คลายให้เห็นบรรดาสิ่งที่มีทั้งหลาย และในการนี้ก็เกิดการรู้ตัวเองขึ้นทีละน้อยๆ(Self-knowledgeเซลฟ นอล-เอ็จ) มโนภาพสัมบูรณ์นั้นมีความขัดแย้งในตัวเอง มันเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปกลายตัวเองเป็นสิ่งอื่นและเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับตัวเองไป ในกระบวนการแห่งการเคลื่อนไหวตัวเองอย่างมีการขัดแย้งภายในด้วยวิธีแปลงเป็นสิ่งอันตรงข้ามกับตัวเอง และมีการปฏิเสธต่อไป กล่าวคือเป็นการปฏิเสธต่อการปฏิเสธ (Negation of the negation นิเก-ฌัน อ็อฝ ฑิ นิเก-ฌัน)นี้โนภาพสัมบูรณ์ก็ผ่านขั้นที่สำคัญแห่งความเป็นอยู่ไป 3 ขั้นคือ
ในขั้นแรกมโนภาพนั้นมีอยู่อย่างบริสุทธิ์ในอาณาจักรแห่งความคิดบริสุทธิ์ (Realm of pure thought เร็ลม อ็อฝ พยูร ธอท) ครั้นแล้วมันก็แปลงตัวเองเป็นสิ่งตรงกันข้าม-คือปฏิเสธตัวเองและสำแดงตัวเองในอาณาจักรของปรากฏการณ์ธรรมชาติ (Realm of natural phenomena เร็ลม อ็อฝแนช-แร็ล ฟินอม-อินะ) ในที่สุดมันก็ปฏิเสธตัวเองอีกครั้งหนึ่ง และกลับมาสู่อาณาจักรแห่งความคิด แต่คราวนี้แม้จะขึ้นถึงขั้นพัฒนาการที่สูงกว่าเดิมก็ตาม ก็อยู่เพียงแค่ความคิดของมนุษย์ ในขั้นนี้พิชานส่วนบุคคลอยู่ตรงขั้นหนึ่ง ในเมื่อพิชานทางสังคม อันได้แก่มโนภาพในรูปของศาสนา,ศิลปะและปรัชญานั้น ได้นำพาความรู้ในตัวเองไปสู่ความสมบูรณ์ และนำสู่ขั้นที่สูงขึ้น เฮเก็ลประกาศว่าปรัชญาคือ ความรู้สัมบูรณ์ และถือปรัชญาของเขาเองเป็นขั้นสุดท้ายในการพัฒนาตัวเองของมโนภาพสัมบูรณ์! ระหว่างที่มโนภาพปฏิเสธภาวะเป็นธรรมชาติและกลับมาสู่ภาวะความคิดมนุษย์นั้น พัฒนาการระหว่างนั้นของมโนภาพสัมบูรณ์ก็ปรากฏเป็นประวัติศาสตร์ เฮเก็ลจึงถือโอกาสนี้กล่าวถึงพัฒนาการของปัญญาไว้ด้วย ทั้งนี้เพราะเขาถือว่าปัญญาเป็นการเผยตัวของมโนภาพสัมบูรณ์ทางแง่ความคิดเป็นลำดับๆไป กระทั่งภาวะปัญญาสัมบูรณ์ดังกล่าวแล้ว เขาจึงกล่าวถึงวัฒนธรรมและวัฒนธรรมของมวลมนุษย์เป็นขั้นๆไปเหมือนกัน
ขั้นแรกได้แก่วัฒนธรรม วัฒนธรรมของโลกตะวันออก มีจีนและอินเดียกับตะวันออกใกล้เช่นเมโซโปเตเมีย อิหร่านและอียิปต์ ในเวลานั้นสังคมมีรากฐานมาจากครอบครัวและรัฐ การปฏิบัติทางศาสนาซึ่งมีแพร่หลายอยู่คือการบูชาบรรพชน การปกครองเป็นแบบปิตุลาธิปไตย (Patriarchal system เพทริอา-แค็ล ซีซ-เท็ม) ในระยะนี้ได้เกิดศาสนาพระเป็นเจ้าองค์เดียวขึ้น
ขั้นที่สองในวัฒนธรรมของมนุษย์ได้แก่วัฒนธรรมของกรีก เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตยโบราณขึ้นเหนือระบบทาส มนุษย์ตื่นตัวจากความหลับไหลในปัญญา ได้เกิดศิลปะกรีก,ศาสนา, ปรัชญาและการเมืองอย่างใหม่ๆขึ้น เทพเจ้ากลายเป็นเหมือนมนุษย์ไป และมนุษยนิยมก็เกิดมีขึ้น
ขั้นที่สามของประวัติศาสตร์เป็นของจักรวรรดิโรมันซึ่งมาแทนที่วัฒนธรรมกรีก เป็นการก้าวหน้าของโจรโรมันไปเป็นทหารโรมันและเกิดจักรวรรดิโรมันขึ้น แต่ในท่ามกลางแห่งการปกครองอย่างกดขี่นี้เอง ก็เกิดปัญญาทางกฎหมาย, ระเบียบวินัย และหน้าที่พลเมือง แต่ก็คงยังมีทาส คู่คี่ไปกับความเสมอภาคทางกฎหมายที่พวกโรมันประกาศออกมา ก็เกิดศาสนาคริสเตียนขึ้น ความยุติธรรมก็ค่อยๆ มีมาตามตัวบทกฎหมาย และเกิดศีลธรรมขึ้นป้องกันผู้ที่อ่อนแอจากการบีบคั้นของผู้แข็งแรง จักรวรรดิโรมันได้ล้มละลายไปและเกิดประเทศต่างๆในยุโรปขึ้นตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เกิดปัญญาอย่างใหม่ขึ้นอีกมากมายหลายอย่าง กระทั่งถึงสมัยของเฮเก็ลและปรัชญาสัมบูรณนิยมของเขา ตรงนี้เอง สัมบูรณนิยมทางความคิดก็มาทำให้เฮเก็ลมองเห็นวาระสุดสิ้นของพัฒนาการของมโนภาพสัมบูรณ์ นั่นคือประวัติศาสตร์ในสมัยของเขาและปรัชญาของเขา เฮเก็ลเห็นว่าโลกขณะนั้นเป็นโลกที่ดีที่สุดแล้ว ทั้งๆที่หากเราคิดตรงต่อหลักของพัฒนาการแบบวิภาษวิธี (Dialectic ไดอเล็กติก) แล้ว จะไม่มีการลงเอยสิ้นสุดลง ณ สมัยใดเลย
ตรงนี้เองที่นำลาภผลสู่เฮเก็ล เขาไม่เพียงกล่าวว่า ปรัชญาของเขาเป็นปัญญาสัมบูรณ์เท่านั้น หากได้กล่าวยกยอสังคมปรัซเซียนขณะ นั้นว่าเป็นสังคมที่เลิศที่สุดแล้วด้วยเขากล่าวว่า ระบบปกครองด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นขั้นสูงสุดและท้ายสุดของวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ นี่เป็นการเชิดชูระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันกำลังเกิดขึ้นจากการรวมรัฐของชาวเยอรมันต่างๆเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เพราะขณะนั้นประเทศเยอรมันยังประกอบด้วยรัฐต่างๆซึ่งเป็นเอกราชต่อกัน ดูทีเฮเก็ลจะไม่แยแสต่อการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยในฝรั่งเศส และแม้ในเยอรมันเอง ณ ขณะนั้นเสียด้วยซ้ำ เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่ที่จะรอรับทราบว่า บัดนี้แม้ประชาธิปไตยของเยอรมนีจะมีชัยต่อสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว มันก็ยังพัฒนาต่อไปและบัดนี้มีเยอรมันประชาธิปไตยโซชะลิสต์เคียงคู่กับเยอรมันประชาธิปไตยนายทุน !
อย่างไรก็ตามเฮเก็ลมองเห็นว่าระบบการปกครองของรัฐปรัซเซีย ในขณะนั้นเป็นวิเศษสุดและหยุดพัฒนาแล้วเขาถือว่าวิญญาณแห่งชาติของรัฐนี้เป็นการสิงสถิตของเจตภูตสัมบูรณ์ เขามองเห็นไปว่าในท่าม กลางแห่งความปั่นป่วนและการสับสนชิงดีระหว่างการทหารและการทูตในยุโรป ณ ขณะนั้น อิสรภาพอย่างใหม่ของมนุษยชาติกำลังเกิดขึ้นและ อิสรภาพนี้กำลังเข้ามาในปรัซเซีย กำลังกลายเป็นประเทศมหาอำนาจอันน่าเกรงขามอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าประเทศนี้จะมีอิทธิพลครอบงำตลอดภาคพื้นยุโรป
ข้อสุดท้ายนี้เองส่งเฮเก็ลโด่งไปสู่ตำแหน่งสูงในวงการเมือง ปรัซเซีย และได้รับเกียรติลาภยศกับความสุขตลอดชีวิต แต่มันเป็นเรื่องโอละพ่อสิ้นดี ขณะที่วงการปกครองและนักการเมืองฝ่ายขวาที่สนับสนุนอำนาจเก่าเข้ามาเป็นศิษย์ฝ่ายขวา (Right Hegelian ไรท เฮเก-เลียน) ของเฮเก็ล และรับข้อคิดทางการเมืองตอนท้าย ๆ นี้ไปนั้น ก็เกิดวงการค้านรัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่ต้องการล้มอำนาจเก่าเข้ามาเป็นศิษย์ฝ่ายซ้าย (Left Hegelian เล็ฟท เฮเก-เลียน) ของเขา และรับคำสอนเรื่องพัฒนาการแบบวิภาษวิธี (Dialectic ไดอเล็กติก) ของสังคมไป ทั้งนี้โดยไม่เชื่อคำสอนตอนท้ายๆของเขาที่ว่ารัฐปกครองด้วยกษัตริย์เป็นสังคมที่หยุดพัฒนาแล้ว พวกนี้ถือว่าสังคมยังจะพัฒนาไปอีกเรื่อยๆ และได้เข้าร่วมในการทำให้สังคมพัฒนาต่อไป ทำให้ประวัติศาสตร์ของ ยุโรปแปลงโฉมหน้าไปเพราะเรื่องนี้เป็นอันมาก

24.9 จริยศาสตร์ของเฮเก็ล
เฮเก็ลได้กล่าวย้ำว่า วัตถุประสงค์ของปรัชญา คือวัตถุประสงค์ของศาสนานั่นเอง อภิปรัชญาทั้งหมดของเฮเก็ลก็เป็นการพิสูจน์ด้วย ตรรกวิทยาให้เห็นว่ามีพระเป็นเจ้าเท่านั้นและ ณ ปัจจุบันบัดนี้มันก็กลาย เป็นระบบความคิดอันเทิดทูนศาสนาคริสเตียนอยู่ เฮเก็ลว่าศาสนามีข้อแตกต่างจากปรัชญาเหมือนกัน เพราะศาสนา คือ พิชานในพระเป็นเจ้าโดยไม่ต้องบากบั่นพิสูจน์ปัญหาใดๆทั้งสิ้น คนเราอาจไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเป็นเจ้า แต่ก็อาจเข้าติดต่อได้ใกล้ชิด พระองค์ที่สุด คนเราอาจมีอย่างที่เฮเก็ลว่า คือมีความมั่นใจอย่างใกล้ชิดในความเกี่ยวข้องของตัวเองกับพระองค์ พิชานทางปรัชญานั้นไม่ใช่สิ่งที่รู้สึกได้ใกล้ชิด ในปรัชญาจะต้องมีความพยายามก่อนเสมอที่จะพิสูจน์ให้เห็นธรรมชาติของความแท้จริงอันติมะ ความแท้จริงอันนี้จะรู้ได้โดยความพากเพียรทางความคิดเท่านั้น แต่จะไม่รู้ โดยสัญชาตญาณแม้ทางวุฒิปัญญา ปรัชญาจึงผิดแผกกับศาสนาซึ่งไม่ต้องใช้เหตุผลและซึ่งได้มาด้วยความใกล้ชิด (Immediacy อิมี-ดีอะซิ) แต่อีกทางหนึ่งนั้นเฮเก็ลถือว่าพิชานอันสูงสุดทางศาสนานั้นจะเข้าถึงได้ก็ด้วยวิถีทางแห่งความคิดเท่านั้นและศาสนามองในแง่นี้ย่อมต้องรวมเอาความคิดทางปรัชญาไว้ด้วยแม้มันจะอยู่เหนือปรัชญาก็ตาม การผิดแผกเป็นประการที่สองระหว่างปรัชญากับศาสนาปรากฏในข้อคิดเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า (God ก็อด) ปรัชญาจะต้องถือว่าพระเป็นเจ้าคือหนึ่งเดียวกับตัวตนมนุษย์ นี่เป็นมติของนักจิตนิยมชาวอินเดียเหมือนกัน แต่เฮเก็ลว่าศาสนานั้นถือว่าพระเจ้าอยู่นอกตัวมนุษย์
นี่ก็เป็นทรรศนะเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าซึ่งมีในศาสนาชั้นต้นๆ อันเป็นศาสนาขั้นปฐมและศาสนาคนโบราณ ที่วาดภาพพระเป็นเจ้าให้คล้ายมนุษย์ และรู้สึกในพระองค์ไปตามอารมณ์ของมนุษย์ดึกดำบรรพ์อย่างเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู และก็เป็นข้อคิดของนักวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เหมือนกันที่ถือธรรมชาติอันเป็นสสารเป็นเหตุเบื้องต้นและเป็นสิ่งอยู่นอกตัวตนมนุษย์ กล่าวคือเป็น ความแท้จริงภายนอกพ้นตัวคนเราอย่างอยู่ใกล้หรือไกลเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู
สรุปคำสอนของเฮเก็ลได้ว่า ศาสนาผิดกับปรัชญาตรงที่มันเป็นความเกี่ยวข้องส่วนบุคคล ไม่ใช่ความคิด ศาสนานั้นเราอาจเข้าถึงได้ด้วยความใกล้ชิดหรือด้วยเหตุผล ศาสนาอาจไม่ประกอบหรือประกอบด้วยความคิดก็ได้ วัตถุประสงค์ของศาสนานั้นอาจถูกมองอย่างผิดๆในแง่ อยู่นอกตัวมนุษย์ ทั้งๆที่เราอาจรู้ได้ว่าวัตถุประสงค์ที่ศาสนามุ่งค้นนั้นเป็นตัวตนที่รวมเอาไว้ซึ่งสิ่งทั้งปวง อีกทางหนึ่งนั้นปรัชญาคือพิชานระหว่างซึ่งกันและกัน และพระเป็นเจ้าหรือสิ่งสัมบูรณ์ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำหรับเพ่งเล็ง ย่อมได้ชื่อว่าเป็นตัวตนสัมบูรณ์เสมอ อีกนัยยะหนึ่งปรัชญาคือความคิดเกี่ยวกับความแท้จริงในเมื่อศาสนาคือความจัดเจน (Experience เอ็คซพี-เรียนซ) ไม่ใช่เป็นความคิดเฉยๆ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ตรัสรู้ได้ด้วยความใกล้ชิด หรือเป็นศรัทธาอันสมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็นการบูชาพระเป็นเจ้าที่ห่างไกล หรือพระเป็นเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับตัวตนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาในรูปแรกเริ่มที่สุดหรือในรูปชั้นสูงสุดก็ตาม อย่างไรก็ดีในขั้นสูงสุดแล้ว ศาสนาก็เหมือนปรัชญา คือ เป็นพิชานในสิ่งสัมบูรณ์นั่นเอง
คนเราย่อมมีพัฒนาการ (Development ดิเฝล-อัพเม็นท) 4 ขั้นด้วยกันขั้นที่ 1 เรียกว่าขั้นในตัวเอง คือเป็นขั้นดั้งเดิมซึ่งยังไม่ได้พัฒนา ขั้นนี้สำหรับคนเราคือวัยทารก ขั้นที่ 2 เรียกว่าขั้นสำหรับตัวเอง เป็นขั้นแห่งการยืนหยัดตัวเอง (Self Assertion เซ็ลฟ แอ็ซเซอ-ฌัน) ขั้นนี้สำหรับคนเราคือวันหนุ่มสาวอันกำลังก้าวหน้าและมีจิตใจเต็มไปด้วยอารมณ์ร้อนแรง ขั้นที่ 3 คือขั้นสำหรับผู้อื่น เป็นขั้นยอมรับนับถือผู้อื่น สำหรับคนเราก็ได้แก่ตอนที่ได้งานทำเป็นฝั่งเป็นฝาสำหรับเป็นอาชีพแล้ว ขั้นที่ 4 คือขั้นในตัวเองและเพื่อตัวเอง เป็นขั้นพัฒนาเต็มที่ ซึ่งธรรมชาติของตัวเองถูกสำนึกเข้าใจแล้วว่า ย่อมประกอบด้วยความเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ในขั้นนี้บุคลิกภาพจะครบถ้วน ตอนนี้เองคนเราจะกำหนดทางดำเนินชีวิตของตัวเองให้แน่ลงไป แต่ในเวลาเดียวกันก็ยอมรับนับถือสิทธิของผู้อื่น ทั้งนี้แม้ในขณะที่กำลังทำการบังคับบัญชาคนเหล่านั้นอยู่ก็ตาม
งานชิ้นสำคัญ ๆ ของเฮเก็ลมีดังนี้
1. Phenomenology of Mind 1807
2. Science of Logic 1812-1816
3. Encyclopedia of the Philosophical Sciencess (Short
logic,Philosophy of Nature, Philosophy of Mind) 1817
4. Philosophy of Right 1821
5. Posthumously Published works include Lectures on
the History of Philosophy 1833-1836
6. Philosophy of History 1837
7. Philosophy of Art 1836-1838




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2551
0 comments
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 11:34:41 น.
Counter : 2408 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com