โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 กรกฏาคม 2551
 
 

ทางเดินของปัญญาชนไทย 2

ก่อนจะถึงการต่อสู้ในเดือนตุลา 2516: ความเงียบของสุชาติ สวัสดิ์ศรี กับการแหวกล้อมค่านิยมของวิทยากร เชียงกูล
การประท้วงสังคมของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่
ภายหลังจากที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี มารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์สืบต่อจากสุลักษณ์,เนื้อหาของหนังสือก็ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และมุ่งต่อการอำนวยแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพ การณ์ที่เป็นอยู่ในสมัยรัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส ให้แก่ปัญญาชนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่างไม่ขาดสาย สังคมศาสตร์ปริทัศน์ กลายเป็นเวทีที่เป็นศูนย์กลางทางความคิดใก้แก่บรรดากลุ่มนักศึกษาต่างๆในมหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนทัศนะ, ความคิดเห็นทางการเมืองและสังคมอยู่ตลอดระยะ และในบรรดาประมวลความคิดเห็นทั้งหมดเหล่านี้ ได้ถูกเชื่อมร้อยรัด,ผสมผสานกัน จนกลายเป็นความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลและสภาวะการณ์ของสังคมในช่วงนั้น ความไม่พอใจเหล่านี้อัดแน่นๆกันเข้าและก็เคลื่อนตัวถี่ๆ พร้อมกับที่ระบบเศรษฐกิจสังคมเสื่อมทรุดและเต็มไปด้วยปัญหาซึ่งเผชิญหน้า และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ, การผูกพันตัวเองเข้ากับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของอเมริกาอย่างหัวหกก้นขวิดโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศชาติ เหล่านี้คือพันธนาการที่รัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส ไม่ยอมรับรู้ว่ากำลังบีบรัดพวกเขาอย่างหนักหนาสาหัสเพียงใด

นักคิดและปัญญาชนรุ่นหนุ่มสาวช่วงก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2516 ล้วนเติบโตมาจากภายใต้สภาพบรรยากาศของความไม่พอใจ ที่มีต่อสังคมอย่างรุนแรง, การบีบรัดการแสวงหาทางปัญญาเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ทุกคนเผชิญชะตากรรมร่วมกัน ความตายของโกมล คีมทอง และรัตนา สกุลไทย แม้ว่าด้านหนึ่ง จะถูกถือว่าเป็นลักษณะอุดมคติของคนหนุ่มสาว ที่ควรปฏิบัติตาม แต่ด้านหนึ่งก็สร้างความรู้สึกอึดอัดและสิ้นไร้ไม้ตอกให้กับคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง ปฏิกิริยาที่สะท้อนออกมาคือ การต่อต้านค่านิยมและประเพณีของสังคมที่ดำรงอยู่ในเวลานั้น การเสียดสีเยาะเย้ยถากถางรัฐบาล,

ความรู้สึกเก็บกดเงียบ ว้าเหว่ และแปลกแยก (alienation) กับสังคมอย่างรุนแรงในภาวะการณ์เหล่านี้ ปัญญาชนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มจับกลุ่มถกเถียงปัญหาทางการเมือง,สังคม และข่าวสารจากขบวนการต่อสู้ต่างๆในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด การพัฒนาของกลุ่มเหล่านี้กระทำกันอย่างเปิดเผยและค่อยๆพัฒนามาเป็นลำดับ, มีการตีพิมพ์งานของนักคิดรุ่นก่อนออกเผยแพร่เช่นงานของจิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์, เสนีย์ เสาวพงษ์ฯลฯ และช่วงการสั่งสมภูมิปัญญาในอันที่จะปฏิบัติการในอนาคตกำลังเริ่มต้นอย่างเอาจริงเอาจังในบรรดากลุ่ม ต่างๆเหล่านี้, กลุ่มที่จัดว่าเด่นที่สุดซึ่งในเวลาต่อมาจะสร้างนักกิจกรรม, นักคิด และนักต่อสู้ที่อัดแน่น ด้วยพลังวิริยะภาพอย่างมากที่สุด ต่อการต่อสู้ในเดือนตุลาคม2516 กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก้าวเข้ามาในยุคแสวงหาอย่างเงียบๆ แต่ทว่าเต็มไปด้วยความไม่พอใจต่อสภาพสังคม, ช่วงการพัฒนาทางความคิดและเรียนรู้โลก คือ การนั่งอ่านหนังสืออย่างเหงาหงอยอยู่ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, โดยสภาพสังคมในช่วงนั้น ทำให้สุชาติฯผูกพันความคิดของตนเข้ากับรากฐานปรัชญาสาขาหนึ่งที่มีที่มาจากยุโรป และแสดงออกในผลงานทางวรรณกรรมโดยนักเขียน 2 คนที่โงดังมากในยุโรป แนวคิดนี้ชื่อลัทธิอัตถิภวนิยม (Existencialism) และนักเขียนชาวฝรั่งเศส 2 คนนี้คือ ซาร์ตกับกามูส์
ผลงานทางความคิด และที่ซึ่งการดำรงอยู่ทางอิทธิพลความคิดของเขามีต่อหนุ่มสาวทั่วไปในยุคแสวงหา ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในด้านผลงานวรรณกรรม อาทิ การวิจารณ์วรรณกรรม,เรื่องสั้น,บทกวี และการแปลเรื่องสั้นจากต่างประเทศ รูปแบบวรรณกรรมที่สุชาติฯสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ทั้งในงานเขียนเรื่องสั้น,บทกวี ขัดแย้งกับรูปแบบวรรณกรรมเก่าที่นิยมมีโครงเรื่อง (Plot) และฉันทลักษณ์ สุชาติฯสร้างรูปแบบวรรณกรรมที่ให้คลื่นสำนึก (Stream of Conciousness) พาไปเองและบทกวีแบบกลอนเปล่าที่ใช้ทั้งสัญลักษณ์และเหนือจริงเข้าช่วย เรื่องสั้นและบทกวีของสุชาติฯส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่ต่อต้านค่านิยมและประเพณีของสังคม, ลักษณะเรียก ร้องให้กบฏอย่างรุนแรง, การไม่เชื่อฟัง และการไม่ยอมรับวิถีชีวิตแบบชนชั้นกลาง ฯลฯ

เช่นเดียวกับนักคิดร่วมสมัยโดยทั่วไป, ความคิดเชิงการเมืองและสังคมของเขาปฏิเสธอำนาจทุกชนิด และเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลที่จะแสวงหาเสรีภาพได้โดยไม่ต้องยอมต่อกฎเกณฑ์ ละค่านิยมในสังคมแบบเก่า สุชาติฯไม่มีรูปสังคมในอุดมคติที่เด่นชัด เขาเน้นในเรื่องความเป็นมนุษย์ที่มีเสรี มนุษย์ในทรรศนะของสุชาติฯ เป็นองค์ประกอบที่ซับซ้อน, มีอารมณ์, มีเจตจำนงในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะถูกหรือผิดอย่างไร ในแง่นี้อาจพูดได้ว่าเขามีลักษณะเช่นเดียวกับวรพุทธิ์ฯ คือมีลักษณะอนาธิปัตย์นิยม แม้ว่าสุชาติฯจะให้ความสนใจแนวคิดของม้าร์กซิสต์, แต่ว่าแนวโน้มที่เขาเลือกให้ความสนใจจะอยู่บนพื้นฐานที่มีมนุษย์เป็นเป้าหมายสุดท้าย และปฏิเสธอำนาจบงการของพรรคหรือรัฐแบบราชการ (Bureaucracy) ที่สตาลินกระทำอยู่ในโซเวียตรัสเซีย, แนว โน้มเช่นนี้ เป็นผลมาจากการก่อตัวของการตีความม้าร์กซิสต์แนวใหม่ที่ปฏิเสธการตีความม้าร์กซิส’ม แต่เพียงด้านเดียวของมอสโคว์ของบรรดาผู้นำม้าร์กซิสต์รุ่นใหม่ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งมีพื้นภูมิหลังจากยุโรปตะวันตก แต่ท่ว่า, ภูมิหลังและภาวะของสังคมสยามที่อำนาจรวมศูนย์แบบเบ็ดเสร็จ เป็นประสบการณ์ด้านตรงที่นักคิดและปัญญาชนสยามในช่วงนี้ จะหยิบยื่นเอาหลักคิดบางประการจากยุโรปมาใช้ตีความเพื่อปฎิเสธอำนาจชนิดนี้ในสังคมสยามเช่นกัน, แม้ว่าสถานการณ์จะแตกต่างกันออก ไป แต่จุดเริ่มต้นอยู่ที่ความไม่พอใจ, ความเบื่อหน่ายและการแสวงหาหนทางออก
ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิทยากร เชียงกูล เริ่มตั้งคำถามถึงค่านิยมในด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัย, ตั้งคำถามกับระบบสังคมที่เป็นอยู่ถึงความยุติธรรม, ความเสมอภาคโดยเฉพาะกับชาวนาในชนบทที่ยากจนและล้าหลัง ตั้งคำถามกับความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของชนชั้นผู้มีอันจะกินในเมือง, กับปัญญาชนผู้ที่ตามกระแสสังคมส่วนใหญ่โดยไม่ใช่สมองคิด ผลงานของวิทยากรมีพัฒนาการมาคล้ายคลึงกับสุชาติฯและอาจกล่าวได้ว่าความคิดของเขาทั้งสองมีลักษณะใกล้เคียงกันมากเมื่อมองในแง่ของการต่อต้านและเปิดโปงค่านิยมของระบบสังคม และพยายามเสนอทาง เลือกใหม่ให้แก่ทางออกของปัญญาชนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่จะต่อสู้เพื่อประชาชน
ทั้งสุชาติ สวัสดิ์ศรีและวิทยาการ เชียงกูลมีส่วนบันดาลความคิดในยุคสมัยของการแสวงหาเท่านั้น, แต่ภาระกิจในการลงมือกระทำการตกเป็นหน้าที่ของกลุ่มการเมืองของปัญญาชนหนุ่มสาว ในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆซึ่งฝ่าช่วงการเบียดขับออกมาด้วยช่วงเร่งที่ดูรุนแรง,กร้าวแกร่งและออกจะหาญกล้าอยู่ไม่น้อย คนเหล่านี้ไม่อาจยอมทนอยู่กับระบบได้อีกแล้ว,แม้ว่าสำนึกทางประวัติศาสตร์ในหมู่คนเหล่านี้ยังพร่ามัว และไม่อาจไปถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมถึงการจัดระเบียบสังคมใหม่ได้ ด้วยว่าประสบการณ์และความเยาว์วัยยังดำรงอยู่ และเช่นเดียวกับคณะราษฎรปี 2475 ปัญหาด้านการจัดองค์กรและความสัมพันธ์ทางด้านอุดมการณ์ในกลุ่มด้วยกัน มีปัญหาด้านความหละหลวงและไร้ระเบียบอยู่ค่อนข้างมาก แต่ส่วนที่มาเสริมและชดเชยในด้านนี้ คือความฉับไว ความคมชัด และประสิทธิภาพที่รวดเร็วในระดับบุคคล, ท่วงทำนองและวิธีการเช่นนี้เป็นผลมาจากการดูดซับเอาสิ่งที่อเมริกามีอยู่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าประสิทธิภาพแบบอเมริกาของบรรดาปัญญาชนรุ่นนั้น
บรรดาบุคคลที่เรียกได้อีกชื่อว่า กลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่างๆในช่วงนั้น กำลังเดินทางก้าวขึ้นสู่เวทีประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ, ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจถือได้ว่า เป็นตอนต่อจากบทนำ (Introduction) ของพงศาวดารแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ปัญญาชนสยามแต่ละระยะได้ช่วยกันร่างขึ้นมานับแต่ท่านปรีดี พนมยงค์ แต่มันเป็นบทนำที่กินเวลายาวนานเหลือเกิน และบทนำนี้ยังถือได้ว่าเป็นจุด เริ่มต้นที่ยังมีตอนต่อที่ไม่รู้จัดจบฉายซ้ำเข้ามาอีก
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธีรยุทธ บุญมี กับการต่อสู้ที่เพิ่งเริ่มต้นของขบวนการปัญญาชนในทศวรรษใหม่
ทั้งเสกสรรค์ฯและธีรยุทธฯ มิได้มีอะไรแตกต่างและพิเศษไปกว่านักคิดและนักต่อสู้ในรุ่นเดียวกันกับเขา ไม่ว่าในแง่ประวัติการเติบโตและการพัฒนาความคิดทางการเมืองและสังคม ทั้งสองพยายามรณรงค์ความ
เป็นอิสระทางด้านอุดมการณ์ และค่านิยมแบบเก่าที่มีลักษณะจารีตของสังคม, สิ่งเหล่านี้อาจพบได้ในตัวเสกสรรค์ฯมากกว่าธีรยุทธฯ แต่ลักษณะร่วมของปัญหาที่เขาทั้งสองเผชิญอยู่ ในฐานะผู้อยู่บนหัวสุดของขบวนการเคลื่อน ไหวของปัญญาชนหนุ่มสาวในยุคนั้น ทำให้เขาทั้งสองเป็นผู้ที่มีสายตาคมชัด มองการณ์ไกล และมีลักษณะริเริ่มคิดค้นอยู่เสมอๆภูมิหลังชีวิตในเยาว์วัย และพื้นฐานทางครอบครัวทำให้เสกสรรค์ฯมีลักษณะต่อสู้กับชีวิตค่อนข้างมาก และสะสมความกร้าว, แข็งแกร่ง และค่อนไปทางลักษณะอำนาจนิยมอยู่สูง การไต่บันไดชีวิตไปขั้นการศึกษาในมหาวิทยาลัย และการแสวงหาปัญญาอยู่ไม่ขาดสายทำให้เขารู้จักโลกและสังคม โดยเฉพาะกับประเพณีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นชนบทที่เขาเกิดอย่างซึมซาบ แต่ความเป็นเสรีชนในช่วงแสวงหาทางปัญญา และการได้ไปเรียนอเมริกาโดยทุน A.F.S. นี่แหละ ได้เพาะเอาท่วงทำนองและวิธีคิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีลกัษณะกบฏอยู่เสมอ เขาจัดได้ว่าเป็นตัวแทนทางความคิดของกลุ่มอิสระ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี ด้วยฐานะตัวแทนการประสานงานกับมวลชนนักศึกษาที่มีลักษณะเป็นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่โตกว่ากลุ่มอิสระ, เมื่อเทียบกับเสกสรรค์ฯแล้ว ประสบการณ์ในชีวิตเยาว์วัย ผ่านมาอย่างราบรื่นกว่า, การศึกษา ในสายวิทยาศาสตร์ของเขา ปูพื้นฐานต่อระบบและวิธีการคิดที่อำนวยต่อความมั่นคงในจิตใจของเขา สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมแบบฉบับของความเยือกเย็น, สุขุมรอบคอบ, ความอ่อน โยนและการสามารถสานผลประโยชน์ของบุคคลต่างๆได้ดี อย่างไรก็ตาม,เมื่อเทียบประสบการณ์ทางการต่อสู้แล้ว เสกสรรค์ฯมีช่วงวิ่งที่ยาวนานกว่า และมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาในระยะเฉพาะหน้าหรือในสถานการณ์ตึงเครียดได้ดีกว่าเราจะพบบทพิสูจน์นี้ได้เมื่อการต่อสู้ครั้งเดือนตุลา 2516 มาถึง

ความเป็นจริงที่จะต้องรุ้อีกประการในช่วงสมัยนั้นก็คือ มันเป็นช่วงเวลาของการลงมือปฏิบัติการจริงแล้ว การบีบรัดให้เงื่อนไขนี้สุกงอมเร็วเข้าก็คือการรัฐประหารตัวเองของถนอม ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 การกระทำครั้งนี้ถือเป็นฆาตกรรมตัวเอง เพราะมันยิ่งเร่งให้พลังฝ่ายประชาธิปไตยทั้งมวลที่มีนักศึกษาเป็นหัวหอก (Vanguard) ระดมพลและรวมความคิดกันเร็วเข้า, สัญญาณไฟเขียวของการต่อสู้ได้เริ่มต้นนับแต่วัน ที่มีการอ่านคำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 1 สิ้นสุดลง ช่วงสมัยนี้ทั้งช่วง,หลักคิดทุกรูปแบบ และการรับเอาประสบการณ์การเคลื่อนไหวจากทุกมุมโลกเพื่อมาเปรียบเทียบ แลกเปลี่ยนในบรรดานักคิดและปัญญาชนสยามกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น อาทิรูปแบบการเคลื่อนไหวต่อต้านสง ครามเวียดนามของปัญญาชนหนุ่มสาว และอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในฝรั่งเศส ค.ศ.1968, ขบวนการปฏิวัติวัฒน ธรรมของจีน, ขบวนการอหิงสธรรมของคานธีในอินเดีย, ขบวนการชาวพุทธในเวียดนาม,ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลาตินอเมริกา และหรือไปไกลถึงรูปแ บบการเคลื่อนไหวของคอมมูนปารีสด้วยซ้ำ

ก่อนหน้าคืนวันเดือนตุลาคม 2516, เสกสรรค์ฯร่วมอยู่ในกลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเขาเป็นผู้นำและผู้ริเริ่มคนสำคัญของกลุ่ม ลักษณะเด่นของกลุ่มสภาหน้าโดมก็คือการถกเถียงทางการเมืองและปรัชญาแนวคิดตระกูลต่างๆอย่างสม่ำเสมอและเคร่งเครียด, วิญญาณและบุคลิกภาพแบบปัจเจกชนนิยม และการพัฒนาแนวคิดที่ก้าวไปข้าง หน้าอย่างรวดเร็ว ตัวเสกสรรค์ฯเองนั้นจัดได้ว่าเป็นกำลังสำคัญทางความ คิดของกลุ่ม เขามีงานเขียนพิมพ์เป็นเล่มเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม และงานเขียนทางความคิดที่ตีพิมพ์ลงใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ช่วงสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบ.ก.อยู่เนืองๆ และช่วงนี้ กลุ่มอิสระ ตามมหาวิยาลัยต่างๆเริ่มรู้จักเขา และรูความสัมพันธ์พบปะระหว่างกลุ่มก็กำลังดำเนินไป การพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มที่ดำเนินไปจะกลายเป็นรากฐานอันสำคัญสำหรับอนาคตของการต่อสู้ของพวกเขาเอง

เช่นเดียวกับปรีดี พนมยงค์, เสกสรรค์ฯก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2516 เป็นนักประชาธิปไตยหัวรุนแรง หรือมีแนวคิดทางด้านคติเสรีนิยมที่ค่อนไปทางสังคมนิยม เขาศึกษาแนวคิดทุกประเภทอย่างลึกซึ้ง เพื่อหาความเหมาะสมกับลักษณะสังคมสยามที่เขาเหยียบยืนอยู่ การหาความสังเคราะห์ (Synthesis) สำหรับเงื่อนไขของสังคมเอเชียโดยเฉพาะสยาม, ทำให้เขาหันไปศึกษาการสร้างสรรค์สังคมนิยมในโลกที่สามโดยเฉพาะแทนซาเนีย ,จีนคิวบา ฯลฯ และเลยไปถึงการศึกษาศาสนาพุทธ์ในแง่จริยศาสตร์ที่พยายามตีความเข้ากับลักษณะรวมหมู่แบบสังคมนิยม เขาเขียนงานชิ้นหนึ่งที่พูด ถึงการหาความสังเคราะห์ในปัญญานี้ไว้ชื่อ พุทธสังคมนิยม สำหรับเสกสรรค์ฯ การมองปัญหาโดยไม่มีความสังเคราะห์ หรือการเอาแนวคิดชนิดดุ้นๆมาอธิบายโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางปฏิบัติ หรือการยกเอารูปธรรมมายัดใส่ให้กับแนวคิดสำเร็จรูปใดๆอย่างไม่ผสานกลมกลืน กันแล้ว เขายอมรับไม่ได้,ในแง่นี้ เสกสรรค์ฯ จึงนิยมชมชอบจิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนม้าร์กซิสต์คนแรกของสยาม ที่ริเริ่มสำรวจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของสยามด้วยทฤษฎีม้าร์กซิส’มอย่างเอาจริงเอาจัง

ผลงานทางความคิดของเขาปรากฏอยู่ทั้งในช่วงก่อนหน้า และภาย หลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516, ข้อเขียนของเขาชิ้นหนึ่งที่แสดงถึงว่า เขาได้ยอมรับโลกทัศน์แบบลัทธิม้าร์กซิส’ม เกิดขึ้นช่วงหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 แต่ทว่าการอธิบายเนื้อความรากฐานทางปรัชญาของลัทธิม้าร์กซิส’มซึ่งเขาเรียกว่า วัตถุนิยมแบบปฏิวัฒนาการ (วัตถุนิยมวิภาษวิธี: Dialectical Materialism) นั้น, เขาได้ริเริ่มพยายามนำมันมาตรวจสอบและประเมินถึงแนวคิดทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในสังคมสยาม การจำแนกแยกแยะระหว่างทัศนจิตนิยม (Idealism), วัตถุนิยมแบบกลศาสตร์ (Mechanistic Materialism: วัตถุนิยมกลไก) และแนวคิดแบบเมตาฟิสิกส์ (Metaphysic: อภิปรัชญา) ปรากฏในผลงาน วิเคราะห์สังคมสยามโดยความ คิดวัตถุนิยม งานชิ้นนี้อาจถือได้ว่าเป็นผลงานการตีความปรัชญาสำนักม้าร์กซิส’ม ที่ริเริ่มโดยสภาพความเป็นจริงในการอาศัยข้อมูลในสังคมสยามมาเป็นหลัก เกือบระยะต้นๆที่แนวคิดนี้กำลังหลั่งไหลเข้าสู่สังคมสยาม

ระยะเฟื่องฟูของขบวนการปัญญาชนฝ่ายซ้ายในสยาม ช่วงหลังเหตุ การณ์เดือนตุลาคม 2516, ทำให้เสกสรรค์ฯต้องหันกลับมามองขบวนการปัญญาชนหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายอย่างพินิจพิเคราะห์ เพราะเวลานั้น แนวคิดแบบสำเร็จรูป, ทัศนะแบบกลไก, และไปถึงการปฏิเสธและสวมหมวก ให้กับผู้นำและขบวนการปัญญาชนในช่วงยุคแสวงหากำลังดำเนินไป ตัวแบบ (Model) การสร้างสรรค์สังคมนิยมและปฏิบัติการตลอดจนแนวคิดของการปฏิวัติจีนกำลังเฟื่องฟู และครอบครองฐานะหลักในที่มั่นทางความคิดของปัญญาชนฝ่ายซ้ายสยาม เหตุผลเหล่านี้ทำให้เขาผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จุดประการไฟเดือนตุลาคม 2516 จำต้องวิจารณ์ออกไป, ผลงานชิ้นนี้ของเขาคือว่าด้วยซ้ายสยาม แต่เสกสรรค์ฯพลาดไป, แม้ว่าเขาจะมองสถานการณ์ได้เฉียบคมขนาดไหน หรือคาดการณ์ในระยะยาวไกลได้อย่างลึกซึ้งเพียงใด, แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังจำกัดอยู่ในอันที่จะเรียนรู้ว่า มีเหตุผลกลใดที่ซ่อนไว้ อยู่ภายใต้ความบันดาลใจของปัญญาชนหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายในรุ่นหลังเขาความพยายามของเขาครั้งนี้ถูกตอบโต้มาอย่างรุนแรง และมีการกล่าวหาอย่างลึกๆภายในขบวนช่วงนั้นว่า เขาไม่อยู่กับร่องกับรอยที่เป็นหลักทางทฤษฎี, เขามีลักษณะเอกชนเหมือนผู้นำช่วงยุคแสวงหาทั่วๆไป และเลยไปถึงพยายามจะลบคุณูปการของเขา ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 โดยผู้ที่หมั่นไส้เขาภายในขบวนการ แต่ทว่า,การเริ่มต้นวิจารณ์ของเขามีคุณค่าอย่างลึกซึ้งเมื่อมองมาถึงในปัจจุบัน,เหตุการณ์ได้พยายาม พลิกกลับลำเรือแต่เหตุการณ์ก็กำลังดึงให้ลำเรือหันพลิกกลับมาตามเดิม อาจจะยอมรับได้บ้างว่างานว่าด้วยซ้ายสยาม ขอบเขาถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการรณรงค์ ความเป็นอิสระทางด้านอุดมการณ์ของขบวนการปัญญาชนในทศวรรษใหม่จากอุดมการณ์ของขบวนการฝ่ายซ้ายในช่วงที่ผ่านมา, แม้ตามความเป็นจริงแล้วเสกสรรค์ฯเองยังไม่รู้แน่ชัด อะไร คือ รากเหง้าของความคิดและทรรศนะที่คับแคบเป็นสูตรสำเร็จ ของกระแสที่เติบใหญ่ในหมู่ปัญญาชนหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายในช่วงนั้น จนกระทั่งเขาต้องเข้าไปอยู่กับ รากเหง้าของมันภายหลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 นั่นแหละ, เขาถึงได้ข้อสรุปที่แลกมาอย่างเจ็บปวดจากประสบการณ์ของเขาเอง งานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขาก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2519 คือ มนุษย ธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น ก็ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ภายในขบวนการปัญญาชนฝ่ายซ้ายในช่วงนั้นขนานใหญ่, แต่ทว่าการวิจารณ์ที่ศอกกลับมามิใช่ว่างานของเขาจะมีคุณค่าเป็นบวก, แม้ว่างานชิ้นนี้ในหลายๆทางจะพยายามเปิดประเด็นปัญหาการมองการต่อสู้ให้กว้างขึ้น และยอมรับแนวคิดขั้นรากฐานของความเป็นจริง ในเรื่ององค์ประกอบของมนุษย์ ที่มีมูลเหตุการตัดสินใจในการเข้าร่วมการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกัน,แต่ทว่างานชิ้นนี้อาจจะซับซ้อนไปหน่อย และเป็นปรัชญามากเกินไปในขณะที่กระแสแบบมาตรฐานเดียวของฝ่ายซ้ายสยามกำลังทวีคูณ อันที่จริงงานชิ้นนี้เกือบมิได้ขัดแย้งกับมาร์กซ์ เพราะสิ่งที่เสกสรรค์ฯพยายามจะอธิบายก็คือแม้แต่การเริ่มต้นอย่างลึกซึ้ง แต่ในระยะที่พัฒนาไปแล้วเท่า นั้นที่มาร์กซ์จึงจะเข้าใจเงื่อนไขของการต่อสู้ทางชนชั้น เหตุผลของการตีความเช่นนี้ เสกสรรค์ฯรับเอากระบวนการรับรู้ที่มี 2 ขั้นตอน ของมนุษย์มาใช้อธิบาย คือ ขั้นตอนของความรับรู้ขั้นรู้สึก กับขั้นตอนของเหตุผล และแน่นอนมาตรฐานอันนี้ จะช่วยอธิบายถึงกรณีของปัญญาชนเสรีนิยมของสยามที่อาจจะมีความรู้เห็นใจคนยากจน แต่ไม่จำเป็นต้องยอมรับการต่อสู้ทางชนชั้นเสมอไป, และจะช่วยให้ฝ่ายม้าร์กซิสต์เปิดใจกว้างและร่วมงานกันพวกเขาเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องใช้คำขวัญเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นไปขมขู่หรือเรียกร้องหรือประณามเขาในทางการเมืองเช่นบรรยากาศที่เป็นอยู่ในช่วงนั้น แต่เสกสรรค์ฯก็ผิดหวังอีกตามเคย, ดูเหมือนมีสิ่งลึกลับ และเทพนิยมบางอย่าง อยู่ในสมองของปัญญาชนฝ่ายซ้ายในช่วงนั้นแล้วอย่างแน่นอน และเป็นสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความหวังของพวกเขาได้มากกว่าลงมือและลงแรงคิดด้วยตัวเอง

เสกสรรค์ฯและคู่ชีวิต พร้อมกับเพื่อนร่วมตายของเขาใน สภาหน้าโดม อีกคนหนึ่งเดินทางไปฝรั่งเศส และ ณ ที่นี้เขาเดินทางต่อไปในเขตป่า ซึ่งครั้งหนึ่ง จิตร ภูมิศกัดิ์ เคยเข้าไป เขาเดินทางไปพร้อมด้วยความหวังในดินแดนอันเป็นที่สถิตย์อยู่ของสิ่งลึกลับหรือขบวนการปฏิวัติ ที่มีชีวิตมายาวนานหลายๆปี, และ ณ ที่นี้เขาได้เรียนรู้ต้นธารใหญ่ของเทพนิยายลึกลับมากมาย ที่เป็นที่สงสัยของเขามาตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเมือง, ในที่ สุดความลึกลับก็ถูกเปิดเผยขึ้น พร้อมๆกับที่ขบวนการปัญญาชนหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายหลายคนที่เดินทางไปพบกับมัน ก็เริ่มเข้าใจปัญหาต่างๆมากขึ้น ผลดำเนินของเหตุการณ์ทั้งหมด ที่มีวิกฤตกาลของแนวคิดสังคมนิยม ในระดับสากล เป็นเงื่อนไขภายนอก, ผลักให้จุดหักเลี้ยวของสถานการณ์ภาย ในขบวนการปัญญาชนม้าร์กซิสต์สยาม จำต้องหันกลับมาทบทวนสิ่งที่ผ่านมาแล้วเกือบทั้งหมด, แน่นอน, ความสับสนในหลายต่อหลายปัญหานำมาสู่ห้วงของความผิดหวังในสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อมั่น, สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะใหญ่โตและเกินกำลังที่พวกเขาได้ตั้งใจว่าจะเอาชนะมัน ในระยะเวลาที่กำหนด แต่นี่นำมาซึ่งการตั้งคำถามว่า จะทำอะไรดี? เป็นครั้งแรกในหมู่พวกเขา และเป็นสิ่งซึ่งนักคิดและนักต่อสู้คนสำคัญๆของสยามในช่วงก่อนเดือนตุลาคม 2516 เคยตั้งคำถามไว้เช่นกันในหมู่พวกเขาวัฎฏจักรของเหตุการณ์เหล่านี้กำลังมาซ้ำกัน แต่ด้วยคุณภาพที่ก้าวคืบ หน้าไปกว่าเดิมเพราะจุดหักเลี้ยวครั้งนี้ เขาจำต้องเดินเข้าไปเพื่อแสวงหาวิญญาณที่เป็นของประชาชาติสยาม และที่ซึ่งวีรบุรุษนักคิด, นักต่อสู้ก่อนหน้าเขาได้เคยหักร้างถางพงไว้ให้ความบากบั่น, มุมานะ,และด้วยชีวิตของแต่ละท่าน

จะทำอะไรดี? จุดเริ่มต้นของวันนี้

จวบจนกระทั่งถึงวันนี้, บทนำของฉากแห่งการเปลี่ยนแปลงยังไม่สิ้นสุดลงท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้ลั่นกระสุนฉากนำของการเปลี่ยนแปลงเริ่ม
เหนื่อยอ่อนและชราภาพลงมากแล้ว บทสัมภาษณ์ของท่านที่พูดไว้ว่า
เมื่อข้าพเจ้ายังมีอำนาจอยู่ข้าพเจ้าไร้ประสบการณ์ และยังเยาว์วัย แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์มากขึ้นข้าพเจ้าไร้อำนาจเสียแล้ว
ทำให้ต้องหวนรำลึกถึงความเป็นอนิจจังมากยิ่งขึ้นทุกที แต่ไม่ว่า เหตุผลของการบีบบังคับทางประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร ปัญญาชนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเหตุการณ์ของฉากการเคลื่อนไหวระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 จะต้องฝ่าเงื่อนไขที่บีบรัดเหมือนคีมเหล็กออกมาให้ได้ ปราการที่เขาจะ ต้องฝ่ามันออกมา ก็เช่นเดียวกับเนื้อแท้ของฉากแห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกประเทศคือ จะต้องรณรงค์ความเป็นอิสระทางด้านอุดมการณ์จากขบวนการ และประสบการณ์ของขบวนการปัญญาชนในรุ่นทศวรรษโน้น ซึ่งมิใช่มีความหมายแคบๆเฉพาะเพียงการปฏิเสธทุกอย่าง แต่นั่นหมายถึงการรับเอาประสบการณ์จากความเป็นจริงของฉากการเคลื่อนไหว นับแต่ปีพ.ศ.2475 มาวิพากษ์แยกแยกอย่างละเอียดละออโดยเคารพต่อสิ่งที่ปัญญา ชนรุ่นทศวรรษโน้นได้สร้างไว้ และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่จะก่อตัวโดยคนรุ่นใหม่, ปัญหาในลำดับต่อมา จะต้อง รณรงค์ความเป็นอิสระทางด้านอุดมการณ์และความเป็นไทจากแนวคิดของขบวนการเปลี่ยนแปลงในประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างถวายหัว, จะต้องยืน ยันในการค้นคว้าและสืบสาวที่มาของประเพณีและอิทธิพลทางวัฒนธรรมของประชาชนสยาม ที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายๆพันปีมานี้ และนำภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไปเป็นประสบการณ์ อันมีค่าเพื่อก่อสร้างรากฐาน และหลักการทางประวัติศาสตร์แบบใหม่อย่างเชื่อ มั่นในชะตากรรมของตนเอง มิใช่การปฏิเสธ และไม่ยอมรับรู้ แล้วพากันไปแสวงหาตัวแบบ (Model) ของประเทศอื่นๆ อย่างง่ายดาย , ในกรณีนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ อาจนับเป็นแบบอย่างที่ดีเมื่อเขาสร้างผลงาน ความเป็นมาของคำสยาม ไท ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติขึ้นมาให้อ่านและศึกษาค้นคว้าถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง
ถ้าปัญญาชนในทศวรรษนี้ ไม่อาจแสวงหาประสบการณ์ที่ก่อตัวมาจากรากเหง้าในฉากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของประเทศสยามได้อย่างจริง จัง, ก็เท่ากับว่าเขากำลังตัดขาดตัวเองออกจากประวัติศาสตร์พัฒนาการของสังคมสยามที่ต่อเนื่องกันมาช้านาน และเท่ากับว่าเขากำลังยืนอยู่บนวิมานในอากาศอันปราศจากตัวตน แน่นอน,อนาคตหรือความหวังก็จะเลื่อนหลุดไปจากมือของเขาเหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยหลุดไปจากมือของ ฯพณฯรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้หายไปจากประวัติศาสตร์สยามตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

ปลายเดือนธันวาคม 2523
กรุงเทพฯ ประเทศไทย
แด่.....Mr.Ruth,นายเข้ม ยิ่งเย็น
วรพุทธิ์ ชัยนาม และนายไท อิสรา
--------------------------------------------------------------




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2551
2 comments
Last Update : 11 กรกฎาคม 2551 11:00:21 น.
Counter : 1053 Pageviews.

 

ผมอยู่ในกลุ่มและมีฐานะเป็นประธานชมรมรัฐศึกษา จุฬาฯ ....หลัง๑๗พย.๑๔ไม่กี่วัน
ได้ทำการระดมนิสิตเต็มหอประชุมฯเพื่อให้เพื่อนๆได้ตระหนักถึง...ภัยเผด็จการถนอมประภาส

 

โดย: ขามเรียง IP: 58.64.70.198 12 กรกฎาคม 2551 1:57:04 น.  

 

มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับที่ได้รู้จักคุณขามเรียง มีอะไรจะติหรือแนะนำก็จะขอบคุณอย่างยิ่งครับ

 

โดย: ลุงกฤช IP: 118.174.122.120 15 กรกฎาคม 2551 6:51:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com