โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
12 กรกฏาคม 2551
 
 

เรื่องที่ 29 ปรัช (ชะ) ญา - ปรัดยา

จากทางเลือกใหม่ของชีวิตฯพิมพ์ครั้งที่ 4
โดย วินิจฉัย แสงสว่างวัฒนะ

เมื่อพูดถึง ปรัชญา แม้ไม่เคยศึกษา แต่เราก็ได้ยินคำๆนี้คุ้นหูกันอยู่อย่างไม่สนใจอยากจะศึกษา เพราะนึกว่าเป็นเรื่องของนักวิชาการ ของนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์หรือไม่ก็เป็นเครื่องลายคราม ที่มีคุณค่าเพียงแค่มีเก็บไว้ประดับบารมีเท่านั้น
ไม่เกี่ยวกับเรื่องปัจจุบัน หรือ เรื่องทำมาหากินในชีวิตประจำวันอย่างไร แต่แท้จริงแล้ว เป็นวิชาที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นวิชาพื้นฐานของวิชาอาชีพทั้งปวง
เพราะไม่สนใจ จึงมักอ่านกันผิดๆว่า ปรัดชะยา แต่ราชบัณฑิตย์ท่านกำหนดให้เราอ่านว่า ปรัด-ยา ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมจึงให้อ่านอย่างนั้น เพราะผมเองก็คิดเหมือนคนทั่วไปว่าอ่านอย่างแรกน่ะมันถูกแล้ว แต่ก็คงต้องอ่านตามท่าน (แต่ถ้าเป็นคำจากภาษาอังกฤษ มากำหนดให้ไม่มีวรรณยุกต์ ผมไม่เอาด้วย เพราะผมกลัวว่าคนบ้านนอกที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษมาก่อนเลย อ่านแล้วคนกรุงฟังเข้า ก็จะไปว่าแกเชย)
ที่เราได้ยินคำๆนี้บ่อยๆ ก็เพราะเป็นคำที่เอามาใช้ในความหมายของคำว่า หลัก เช่นที่เราพูดว่า เรามีปรัชญาในเรื่องนั้นเรื่องนี้...หรือเรามีปรัชญาของความรัก. ปรัชญาของพุทธ ปรัชญาของขงจื๊อเป็นต้น ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ผิด เพราะความหมายอีกนัยหนึ่งของปรัชญานั้น ก็เป็นเรื่องของหลัก (Principle พรีน-ซิพ'ล) นั่นเอง
นักปรัชญาสยาม ท่านแปลมาจากคำ Philosophy (ฟิลอซ-โอะฟิ) มีรากศัพท์มาจากคำ Philosophia (ฟิลอซ-โอะฟิอะ) ในภาษากรีก แปลว่า ความรักในปัญญา
เนื่องจากปัญญาในสมัยวัฒนธรรมคนเมืองโบราณ ไม่ว่าในอินเดีย หรือในกรีกก็ตาม ความเป็นผู้มีปัญญาในสมัยนั้น หมายถึงการมีปัญญาทางศาสนา กับปัญญาทางปรัชญาเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการมีศรัทธาในศาสนา, ปรัชญา คือเชื่อโดยไม่ถามเหตุผล
หรือหากจะใช้เหตุผลหรือคิดหาเหตุผล ก็จะคิดหาเหตุไปจากผล คิดหาผลไปจากเหตุ อันเป็นคู่เหตุคู่ผล ที่ได้ถูกบัญญัติไว้แล้วโดยเจ้าศาสดานั้นๆเท่านั้น เราจึงเรียกเหตุผลอย่างนี้ว่า ตรรกบัญญัติหรือเหตุผลแบบฉบับ (Formal Logic ฟอ-แม็ล ลอจ-อิค)
ส่วนปัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงทรัพย์แผ่นดิน การประดิษฐ์ของใช้ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญญาเกี่ยวแก่ การผลิต อันก่อให้เกิดเป็น ผลประโยชน์เพื่อกินเพื่อใช้ทั้งปวงนั้น ปัญญาชน หรือ ชนชั้นปกครองในสมัยนั้น กลับไม่ถือเป็นปัญญา
เพราะการทำงานการผลิตของกินของใช้ทั้งปวงนั้นเป็นภารกิจ เป็นการกระทำด้วยแรงกายของทาส ซึ่งถือเป็นคนชั้นต่ำเยี่ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างหนึ่งในสมัยนั้น
ต่อมา เนื่องจากประชาคมของมนุษย์เติบใหญ่ขึ้น การจะผลิตของกินของใช้ให้เพียงพอแก่ความต้องการบริโภคของนายทาสและอิสรชนได้ ทำให้มีความพยายามค้นหาเทคนิคในการผลิตขึ้น จึงทำให้เกิด วิทยาศาสตร์แรกคลอดขึ้นในวิชาปรัชญา
วิชาปรัชญาในระยะหลังจึงกลายเป็นวิทยาการสำหรับค้นหาความจริงไปด้วย
เมื่อวิทยาศาสตร์เติบใหญ่ขึ้น เพื่อสนองการผลิตโดยตรง จึงแยกตัวออกจากปรัชญา ทำให้ทั้ง วิชาวิทยาศาสตร์ และ วิชาปรัชญา ต่างแยกจากกันอย่างความโดดเด่นมากขึ้น ในการค้นหาความจริงที่สิ้นสุด - ความจริงอันติมะ (Ultimate Reality อัล-ทิมิท ริแอล-อิทิ) ไป
เป็นความจริงสุดท้าย ที่จะค้นหาต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งนักปรัชญาสมัยนั้นคิดว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ และสิ่งนั้นคือ สิ่งสัมบูรณ์ (The Absolute) สิ่งสัมบูรณ์ ก็คือ พระเป็นเจ้า ผู้สร้างสากลจักรวาล สร้างแผ่นดิน แผ่นฟ้า ลม ฝน พืช สัตว์ มนุษย์ สรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งปวงขึ้นมา
นี่,ทำให้โลกได้ปรัชญาระบบต่างๆมา แล้วแต่ว่านักปรัชญานั้นๆจะมีโลกทรรศน์ อย่างไร ความหมายที่แท้จริงของปรัชญาในกาลต่อมา จึงสรุปลงตรงที่ว่า
ปรัชญา หมายถึง ระบบแห่งหลักคิดของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ณ สมัยใดสมัยหนึ่ง ซึ่งมนุษย์กลุ่มนั้นๆรับเชื่อและสร้าง วัฒนธรรม (วัตถุวัฒนธรรม และจิตวัฒนธรรม) ตามความเชื่อนั้นๆขึ้นมาใช้เป็นวิถีดำเนินชีวิตร่วมกัน ของกลุ่มคนในสังคมแห่งตน ตามภาวะแวดล้อมนั้นๆ และก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัย
เนื่องจากสังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยแห่งระบบสังคมอันเกี่ยวพัน ยึดโยงอยู่กับระบบการผลิต หรือระบบแห่งความสัมพันธ์ในการผลิต ดังนั้นหลักคิดอันเกิดจากการมองโลก แล้วเห็นโลกอย่างไร หลักของนักปรัชญา ก็จะถูกดึงออกมาวางไว้เป็นระบบแห่งหลักคิด ตามการเห็นของนักปรัชญารุ่นใหม่ๆแห่งกลุ่มชนนั้น ๆ
เมื่อวิถีดำเนินชีวิตของกลุ่มคนในสังคมนั้นๆมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระบบแห่งการ ผลิต หรือความสัมพันธ์ในการผลิต ปรัชญา อันเป็นหลักคิด หรือหลักมองโลก ก็จะเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของระบบแห่งการผลิต และ ความสัมพันธ์ในการผลิตนั้น ๆ ไปด้วย ปัจจุบัน, จึงมีปรัชญาหลายระบบทั้งเก่าและใหม่ยึดถือร่วมกันมา
ทั้งนี้เพราะระบบสังคมในแต่ละประเทศ ต่างก็มีวิวัฒนาการไปไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรกับ วิวัฒนาการของชีวิตนั่นเอง ทำให้มีเผ่าพันธุ์ต่างๆของชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย เช่น มีลิงอยู่ร่วมกับคนฉะนั้น จึงมีคนป่า (Savegery) คนเถื่อน(Barbarism) คนยากจน กราบไหว้สัตว์พิการเพื่อขอหวยขอให้รวย ขอพลังปถมังให้ปัดเป่าความเจ็บไข้ได้ป่วยคุ้มครองให้มีสันติสุขคู่ไปกับขณะที่อีกสังคมหนึ่งมีเศรษฐีอภิสิทธิ์ชนร่ำรวยยิ่งกว่าถูกหวยหลายพันครั้งโดยไม่ต้องซื้อ นั่งเครื่องบินท่องโลก ส่งพลังคลื่นดิจิตอลเป็นภาพเป็นเสียง คนมีเงินซื้ออุปกรณ์ไฮเทคต่างๆได้ จึงมีหูทิพย์ตาทิพย์ มีวิชาตัวเบาเหินฟ้าได้ตามๆกัน
การศึกษาปรัชญาที่ถูกต้อง จึงมิใช่ศึกษาเฉพาะที่ ตัวระบบของปรัชญา อันนักปรัชญาได้ถอดนัยนามธรรมออกมาจากโลก (โบราณ) รอบตัวของเขา หากต้องศึกษาถึงประวัติศาสตร์แห่งที่มาของความนึกคิด ในการถอดนัยนามธรรมนั้นๆของเขาด้วย
ซึ่งเมื่อได้กระทำดังนั้นแล้ว เราก็จะพบว่า นักปรัชญาในอดีตทั้งปวง ได้ปรัชญาจากการ นั่งคิดมาก ไปจาก ข้อเท็จจริงที่น้อยมาก หรือได้ปรัชญาจากการนั่ง หลับตาใคร่ครวญในเหตุผลบัญญัติ จึงได้หลักมองดูโลกแบนๆเบี้ยวๆ มา อันไม่ตรงกับความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ เช่นพลาโต้ ได้ปรัชญาโลกแห่งรูปสมบูรณ์ (World of The Forms : เวิลด อ็อฝ ฑิ ฟอมสฺ) มา อันเป็นโลกที่มีอยู่แต่ในมโนภาพ ไม่มีในความเป็นจริง
ดังนั้นปรัชญาในสมัยปัจจุบัน จึงกลายไปเป็นเรื่องของ นักวิทยาศาสตร์
เพราะนักวิทยาศาสตร์หาความจริงจากการ ลืมตา ค้นหา ไม่ใช่จาก นั่งหลับตาคิดหา ทั้งยัง ค้นหา ด้วยวิธีการที่เรียกว่า การวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ ที่ใช้ทุนมหาศาล
สัจธรรมที่แท้ นั้นก็คือ การนำเอาความจริงที่ค้นหามาได้ (จากการวิจัยทางวิทยา
ศาสตร์) มาเรียงต่อกันตามความเป็นจริง ตามธรรมชาติของมัน แล้วตัดการอนุมานอัน
เป็นทฤษฎีที่เชื่อมต่อไว้ชั่วคราวนั้นออกไป เมื่อค้นพบความจริงอันเป็น กฎ ได้แล้วแต่เมื่อยังค้นความจริงไม่พบก็ใช้ทฤษฎีนั้นเชื่อมต่อความจริงส่วนใหญ่นั้นไว้ก่อน แต่ก็พร้อมจะแก้ไข เมื่อพบว่าไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องแก้ไขไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้นักวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นนักปรัชญาที่ดี แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ทุกคน เป็นเพียงเป็น นักวิทยาศาสตร์เฉพาะเรื่อง เท่านั้น และทำการวิจัยไปเฉพาะเรื่องโดยไร้สำนึกถึง ความแท้จริงรวมที่สิ้นสุด
นี่เองจึงจำเป็นต้องมีนักปรัชญานำเอาความจริงที่นักวิทยาศาสตร์ค้นหาได้หลากหลายและเกี่ยวข้องกันนั้น มาเรียงต่อกัน และ ค้นหาความแท้จริงที่สิ้นสุด ให้ได้ต่อไปดังกล่าวแล้ว
และแล้วปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ ปรัชญาวิทยาศาสตร์ใหม่ ปรัชญาเอสเอ็มจึงเกิดขึ้น
ดังนั้นในการศึกษาปรัชญา หากผู้ศึกษาเป็นผู้บริสุทธิ์ทางปัญญา คือเป็นคนโง่ (เช่นผม) ไม่เคยศึกษาอะไรมาก่อนเลย เขาจะศึกษาปรัชญา (เอสเอ็ม) ได้ง่ายกว่าผู้ที่คิดว่าตนมีปัญญาแล้ว นอกจากผู้มีปัญญานั้น (ไม่หยิ่ง) ศึกษาด้วยใจน้อมรับไว้ก่อน
เหมือนการศึกษาในสมัยเด็ก (เชื่อทุกอย่างที่ผู้ใหญ่สอน) ไม่อย่างนั้นก็เสียเวลาเปล่า
เช่น เมื่อผู้สอน อาจจะยกตัวอย่างความรู้อะไรขึ้นมาเป็นความรู้ ความเห็นใหม่ ๆ แม้จะไม่ตรงกับความรู้เดิม ก็ต้องทำใจรับฟังทั้งระบบ (รับเชื่อ) ให้ได้ไว้ก่อน
เช่น ผู้สอนอาจจะตั้งปัญหาถามว่า ใครเข้าใจว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเรียกกันว่าพระสยามเทวาธิราช ซึ่งเชื่อกันว่าคุ้มครองป้องกันให้สยามประเทศ รอดพ้นจากภัยของจักรวรรดินิยมอังกฤษกับฝรั่งมานั่นน่ะ ใครว่าเป็นอะไร มีลักษณะอย่างไรจ้ะ ซึ่งก็คงมีผู้ตอบไปต่างๆนานา แต่หากผู้สอนจะสรุปว่า พระสยามเทวาธิราชในทรรศนะปรัชญาของเราก็คือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศสยามและปรากฏการณ์ที่เรียกว่ารัฐ (ฐะ) กันชน (Buffer State บัฟเฟ่อร์ สเตท) จ้ะ แน่นอน คำตอบนี้น้อยคนจะรับได้
แต่ผู้ศึกษาก็ต้องทำใจรับเชื่อไว้ก่อนว่า นี่แหละคือพระสยามเทวาธิราชตัวจริง
พูดง่ายๆ การศึกษาปรัชญา การมีความเข้าใจในปรัชญาใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว อันไม่เป็นการเสียเงินเสียเวลาศึกษา และมีประโยชน์มหาศาล ก็ต่อเมื่อคุณศึกษาด้วย
วิธีละวางความศรัทธาในศาสนาและปรัชญาเดิม ที่คุณยึดถือเป็นสรณะอยู่นั่นเอง
มองศาสนา,ปรัชญาเดิมที่คุณนับถืออยู่นั้น เหมือนที่คุณเคยมองและวิจารณ์ (อันที่จริงคือ ดูถูกและเหยียดหยาม) ศาสนาและปรัชญาที่คุณไม่นับถือในใจนั่นแหละ
ปรัชญา มีมากมายหลายระบบ แต่ก็แบ่งออกใหญ่ๆได้เป็น 3 ระบบเท่านั้น
ระบบแรก ก็คือ ปรัชญาจิตนิยม (Idealism ไอดี-แอะลิส'ม) คำ ๆ นี้แม้แต่ผมเองก็อ่านผิด ๆ มาจนติดปากว่า ปรัดยาจิดนิยม ซึ่งผมก็เห็นควรว่าน่าจะอ่านให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมว่า ปรัดยาจิตตะนิยม เหมือนกับที่อ่าน จิตตะวิดทะยา
ระบบที่สอง คือ ปรัชญาสสารนิยม (Materialism มะเทีย-เรียะลิส'ม) แต่นัก ปรัชญาสยามส่วนใหญ่เรียกติดปากว่า ปรัชญาวัตถุนิยม มากกว่า ปรัชญาสสาร(ระ)นิยม
กับอีกระบบหนึ่งก็คือปรัชญาทวินิยม (Dualism ดยู-แอะลิส'ม) อันเป็นปรัชญาผสมระหว่างปรัชญาทั้งสองดังกล่าวแล้ว คือ มีทั้งจิตและสสาร อันต่างเป็นเอกต่อกัน
ผมคิดว่าน่าจะได้อธิบายสาระสำคัญของปรัชญาทั้ง 3 ระบบนี้โดยสังเขป เพื่อให้เป็นพื้นฐานของความเข้าใจไว้บ้าง สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้เรียนปรัชญามาก่อนเลย
ปรัชญาจิตนิยม (Idealism ไอดี-แอะลิส’ม) นั้น หมายถึงหลักคิดและหลักรับเชื่อว่า ความแท้จริง อันเป็นเหตุเบื้องสุด (Ultimate Cause อัล-ทิมิท คอส) ของสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งปวงในสากลจักรวาลเป็น พระเป็นเจ้า (GOD) มีสภาพเป็นวิญญาณ (Soul โซล) จิต เจตภูต (Spirit ซพี-ริท) หรือความคิด (Thought ธอท) เป็นความแท้จริงเบื้องสุด หรือความแท้จริงอันติมะ (Ultimate Reality อัล-ทิมิท ริแอล-อิทิ)
ส่วนสสาร, รูปธรรม วัตถุทั้งปวงนั้น เป็นรองจิต หรือผันแปรไปได้ด้วยความคิดหรือจิต ในปรัชญาของคริสเตียนนั้น พระเป็นเจ้า ถูกเข้าใจว่าเป็น บรมจิต อันเป็นจิตที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้เนรมิตสสารหรือโลกธรรมชาติ ขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของพระองค์ กล่าวคือ โลกสสารทั้งปวง เป็นเพียง มโนภาพในจิตของพระเป็นเจ้า ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับปรัชญาอินเดีย ที่พรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งปวงขึ้นมา
ปรัชญาจิตนิยมนี้ เกิดเมื่อ 50,000 ปีมาแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่มนุษย์รู้จักใช้ไฟ
อันทำให้มนุษย์เข้าไปแย่งถ้ำ อันเป็นที่อยู่ของสัตว์ร้ายได้ เมื่อมนุษย์ได้เข้าไปอยู่ในถ้ำ มีที่หลับนอนสบายแล้ว จึงทำให้ มนุษย์เริ่มฝัน ไม่เหมือนตอนที่มนุษย์ยังต้องนอนเป็นลิงอยู่บนต้นไม้ มนุษย์โบราณนั้น จะมีความฝันแจ่มชัดมาก เพราะสิ่งที่
แวดล้อมตัวเขานั้นก็เป็นธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ทุ่งหญ้า และสัตว์ต่างๆซ้ำๆ อยู่
การได้เห็นร่างของเขาในความฝันเที่ยวไปไหนมาไหนได้ เที่ยวจับสัตว์ เก็บผลหมาก รากไม้กินได้ ฯลฯ การเห็นคนที่กำลังหลับร่างกายจะนิ่งอยู่ ก็ทำให้เขาคิด (คืบ)ไปว่า ร่างกายของมนุษย์นั้น มีวิญญาณอันเป็นร่างเบาบางดุจดังที่เขาเห็นในความฝันนั้นเองแฝงอยู่ และสิ่งนี้เอง ที่ทำให้ตาเห็น หูได้ยิน หรือ ร่างกายเคลื่อนไหวได้ ฯลฯ
นี่ คือปรัชญาวิญญาณนิยม (Animism แอนอิมิส'ม) ดั้งเดิม เมื่อคิด (มีสมมติฐาน) อย่างนี้ มนุษย์จึงฝังของกินของใช้ลงไปในหลุมศพของญาติผู้ตาย เพื่อให้เอาติดตัวไปใช้ในโลกวิญญาณ นี่ เรียกได้ว่า เป็นพิธีศาสนาเบื้องแรกที่สุดของมนุษยชาติด้วย
ส่วน ปรัชญาสสารนิยม (Materialism มะเทีย-เรียะลิส'ม) เป็นปรัชญาที่มีหลักคิด หลักรับเชื่อว่า จักรวาล (Universe ยู-นิเฝิซ) นั้น ประกอบด้วยความแท้จริงอันติมะเพียงอย่างเดียว คือ สสาร (Matter แมท-เทอะ) จาก สสารซึ่งเล็กแสนสุดเล็ก จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้ได้มีการรวมกัน ที่สุดก็เกิดภาวะวิกฤติจนเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ขึ้น ที่เรียกว่า บิ๊กปั้ง (BIG BANG การระเบิดครั้งใหญ่) เมื่อ 15,000 ล้านปีมาแล้ว
นับแต่นั้นมา สสาร ดังกล่าว ก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนเกิดกลายเป็น สรรพสิ่ง สรรพปรากฏการณ์ ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งได้กลายมาเป็นตัวคุณตัวผม
สสารนิยม ถือว่า จิตนั้น เกิดมีขึ้นทีหลัง เมื่อสสารได้พัฒนาจนมีสมองขึ้นแล้ว
สสารนิยม ไม่ได้ปฏิเสธว่า จิตไม่มี แต่จิตนั้นมีอยู่ฐานเป็น ปรากฏการณ์ ของสมอง จึงไม่ใช่ เป็นสิ่งที่มี แต่เป็น ปรากฏการณ์ที่มีของสมอง ไม่มีสมอง ก็ไม่มีจิต ไม่เชื่ออย่างปรัชญาจิตนิยมที่ว่า จิตมีมาก่อนสสาร และจิต (พระเป็นเจ้า )เป็นสิ่งบันดาลให้สสารทั้งปวงเกิดขึ้น
ปรัชญาสสารนิยมนี้ เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 1,000 กว่าปี ก่อนค.ศ. มานี้เอง
จึงเป็นการยากมาก ที่จะลบล้างความคิดทางจิตนิยม ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในความทรงจำ และ ในวัฒนธรรมของมนุษย์ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงห้าหมื่นปี
ส่วน ปรัชญาทวินิยม (Dualism ดยู-แอะลิส'ม) นั้น เป็นปรัชญาที่มีหลักคิด และหลักรับเชื่อว่า ความแท้จริง อันติมะนั้น มีทั้งจิตและสสารอันเป็นเอกจากกัน แต่ ทั้งสองก็รวมกันเป็นเอกภาพ เช่น ลัทธิรูปนามในพุทธศาสนาเป็นต้น ก็เป็น ทวินิยม
ผมบอกแล้วไหมละว่า ถ้าจะศึกษาให้รู้กันจริงๆก็ต้องกินยาขมกันบ้างจ้ะ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2551
1 comments
Last Update : 4 กรกฎาคม 2553 23:07:10 น.
Counter : 1618 Pageviews.

 

อืม...ค่ะ มึนๆ

 

โดย: gluhp 12 กรกฎาคม 2551 22:21:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com