"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
3 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 

40 ปีแห่งอิสรภาพไร้ขีดจำกัด Bitches Brew…. (2)

Pharoah’s Dance คือเพลงของซาวินัลที่เดวิสปรับแต่งเสียยกใหญ่ Sanctuary เป็นของเวย์น ชอร์เทอร์ที่เคยบันทึกเสียงร่วมกับไมล์ส, แฮนค็อก, คาร์เทอร์, วิลเลียมส์ และจอร์จ เบนสันเมื่อหนึ่งปีครึ่งก่อนหน้านี้ กว่าเวอร์ชันนั้นจะได้ออกวางจำหน่าย ก็ล่วงเข้าปี 1979 ไปแล้ว ส่วนอีกสี่เพลงที่มาลงใน Bitches Brew มีชื่อของไมล์ส เดวิสในฐานะคนแต่งทั้งหมด Spanish Key, John McLaughlin, Miles Runs the Voodoo Down และ Bitches Brew ในไลเนอร์โน้ตบนปกอัลบัม The Complete Bitches Brew Sessions ที่ผลิตออกมาใหม่โดยบ็อบ เบลเดน กล่าวไว้ว่า Bitches Brew แบ่งออกเป็นงานประพันธ์ทั้งหมด 5 ส่วน ส่วนที่หนึ่งและสองออกวางในชื่อ Bitches Brew ส่วนที่สามในชื่อ John McLaughlin ส่วนที่สี่มีการบันทึกเสียงไว้ แต่ไม่มีการวางจำหน่าย และส่วนสุดท้ายไม่ได้มีการบันทึกเสียง “เราเล่นตามเสียง” ไมล์ส เดวิสให้สัมภาษณ์หนังสือโรลลิง สโตนส์เมื่อปี 1969 “ผมจะบอกคอร์ดให้กับชิก แล้วก็บอกว่าผมอยากจะได้ซาวด์แบบไหนจากคอร์ดนั้น เขารู้ดีว่าผมปราดเปรื่องเรื่องดนตรีพอที่จะบอกเขาให้ทำแบบนั้นได้ ถ้าผมไม่บอกซาวด์และวิธีการ เขาก็จะไม่สามารถเล่นออกมาอย่างที่ผมต้องการฟัง แต่มันก็มีตัวแปรหลายอย่างในซาวด์ที่ผมบอกเขาไป เพราะงั้นเขาถึงต้องหาซาวด์ให้ได้ก่อน”




“เรามีทำนองบางส่วน” เมาพินเล่าเสริม “บางทีเราก็จะเล่นธีมพวกนั้นก่อน แล้วก็เล่นๆ ไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องเล่นเหมือนกันตลอดทุกครั้ง แต่ไมล์สจะมีธงในสิ่งที่ต้องการอยู่แล้ว เขาตั้งไว้ว่ามันจะต้องเปิดกว้าง พอเขาให้ผมเพิ่มอะไรที่แบบพูดคุยได้เข้าไป พอถึงเวลา เขาก็จะส่งสัญญาณว่าทำได้เลย เวย์นกับไมล์สอยู่คนละด้านกัน เขาก็จะพูดกับแค่ผมคนเดียว มันเป็นอะไรที่สดมากครับ ถ้าคุณฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ คุณก็จะเห็นว่ามีเมโลดีหลายช่วงที่ผมเล่น มันไปเหมือนกับของเขา บางทีอาจจะช้ากว่าหน่อย เพราะว่าเขาชอบแนวคิดเรื่องเสียงสะท้อน”

ผลงานเพลงใน Bitches Brew ก็คือผลงานของเดวิส, ซาวินัล และชอร์เทอร์ และเรียบเรียงสดด้วยฝีมือของเดวิส อันสร้างให้บทเพลงในอัลบัมแตกต่างจากดนตรีที่จิมมี เฮนดริกซ์และซานทานาเล่นที่วู้ดสต็อก มือกีตาร์สองคนนั้นจะอิมโพรไวส์อยู่บนพื้นฐานของคอร์ดเพลงบลูส์และละตินที่คุ้นเคย เดวิสและเพื่อนๆ ของเขาอิมโพรไวส์อิงศูนย์กลางเสียง โดยใช้การเปลี่ยนคอร์ดนิดหน่อย, ริธึมสุดคลาสสิก และไม่ใช้โครงสร้างแบบย้อนกลับไปที่ท่อนคอรัส ด้วยซาวด์ที่แตกต่าง เดวิสได้ปลดปล่อยแจ๊สออกจากทรราชย์แห่งการเปลี่ยนคอร์ดอย่างที่ออร์เน็ต โคลแมนเป็น “ทุกครั้งที่เล่นขั้นคู่ ก็จะมีขั้นคู่อีกเพียบตามมาพร้อมๆ กัน” เบลเดนเล่า “คุณจะมองเห็นว่ามันจะไปทิศทางไหน สามารถเติมตัวโน้ตที่ขาดหายได้ จินตนาการจะทำหน้าที่นั้น เขาพยายามที่จะดิ้นออกจากคอร์ดเปลี่ยนเหมือนออร์เน็ต แต่ของออร์เน็ตนั้นเป็นเหมือนวงแชมเบอร์ ส่วนของไมล์สจะเป็นวงออร์เคสตรามากกว่า มันเป็นเรื่องของเทนชัน ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือโอเปรา ไมล์สรักโอเปรามาก ถ้าคุณไม่เข้าใจโอเปรา ก็จะไม่มีวันเล่น Bitches Brew ได้ถูกต้อง คุณต้องรู้จักที่จะสร้างความเป็นดรามา สร้างแรงกดดันยังไง ดูแลคนฟังให้ปลอดภัย แล้วจังหวะไหนที่ตัวโกงจะเงื้อมีดแทงเข้าหัวใจของนางเอก”

“มันเป็นคอร์ดเปิดมากๆ” ไวต์เห็นพ้องด้วย “ไม่เหมือนกับเพลงสแตนดาร์ดที่ต้องเล่นคอร์ดใหม่ๆ ทุกบาร์ หรือทุกๆ กี่บาร์ก็ว่าไป เล่นวนแล้วก็กลับมาเริ่มใหม่อีก คุณอาจจะเล่นคอร์ดซีเมเจอร์ แต่ทุกคนมีตัวเลือกที่จะเปล่งเสียงคอร์ดนั้นออกมายังไงก็ได้อย่างที่ต้องการ บางคนอาจจะเล่นวอยซิงที่ผิดธรรมชาติก็ได้ แล้วคนอื่นก็เล่นตามไป มือคีย์บอร์ดคนหนึ่งอาจจะเล่นซีเมเจอร์ตรงๆ แต่อีกคนอาจจะเล่นคอร์ดขยายเพื่อให้เป็นซี 13 และเบสก็อาจจะเล่นด้วยรากที่แตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงเริ่มต้นมาจากซีเมเจอร์ แล้วก็ค่อยกลายเป็นอย่างอื่น มือเบสก็เปลี่ยนรากคอร์ด แล้วก็กลายเป็นอย่างอื่นไปอีก”

“ด้วยคอร์ดซีที่มือเบสบรรเลงอยู่” เดวิสเล่าให้หนังสือดาวน์บีตฟังในการสัมภาษณ์เมื่อปี 1970 “คุณจะเล่นแย้งมายังไงก็ได้ … คุณเขียนเพลงเพื่อสร้างอารมณ์ขึ้นมา นั่นแหละคือสิ่งที่ต้องการ แล้วจากนั้นเราก็เล่นได้เป็นชั่วโมงๆ ถ้าคุณเล่นได้และเล่นจนจบ นั่นคือคุณทำสำเร็จแล้ว เมื่อใดที่คุณแก้ได้หมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรอีก แต่เมื่อมันเปิดขึ้นมาเมื่อไร คุณก็พักมันไว้ก่อนได้”

กระบวนการนี้จะไม่สัมฤทธิ์ผลเลย ถ้าทางวงเดินตามต้นแบบของกลุ่มสตูดิโอในยุค 1960 ที่ผลิตอัลบัมเพลงแจ๊สออกมาได้ภายในวันเดียว การค้นหาที่ยังไม่มีผลลัพธ์จะสำเร็จได้เมื่อทางวงใช้เวลาหลายชั่วโมงเพียงเพื่อเล่นเพลงเพลงเดียว ด้วยความโชคดีที่มีอัลบัม Sgt.Pepper’s Lonely Heart Club Band ของเดอะ บีเทิลส์เป็นหัวหอกนำความเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามสองปีก่อนหน้า และในตอนนี้โคลัมเบีย เร็คคอร์ดสก็ยินยอมพร้อมใจที่จะให้อิสระในการทำงานกับไมล์ส เดวิสอย่างเต็มที่ แนวคิดที่ว่าค่ายเพลงก็ถูกชี้นำได้เหมือนเครื่องดนตรี อาจจะเป็นแนวคิดอหังการที่สุดที่เดวิสหยิบยืมมาจากแวดวงเพลงร็อกมากกว่าเรื่องทางเทคนิกซาวด์เอฟเฟ็กต์เสียอีก “ไมล์สสามารถจะแยกแยะการแสดงสดออกจากการทำงานสตูดิโอได้เป็นอย่างดี” เบลเดนย้ำ “ไมล์สจะทดลองทำสิ่งต่างๆ เวลาทำงานสตูดิโอ เข้าห้องอัดแล้วก็บันทึกเสียง เพลงหนึ่งเพลงก็จะใช้เวลาสามชั่วโมง ซึ่งในตอนนั้นยังถือเป็นเรื่องแปลกอยู่ ส่วนบนเวทีจะมาบอกว่า “เฮ้ เดี๋ยวเราจะลองเปลี่ยนท่อนจบดูนะ ลองเล่นอีกที จะได้เอาให้ลงตัวซะที” ไม่ได้หรอกครับ ถ้าอยู่สตูดิโอก็พูดอย่างนั้นได้ ไมล์สเป็นคนไม่ค่อยชอบตะโกน เวลาจะพูดอะไรกับใคร เขาก็ต้องเข้าไปใกล้ๆ แล้วกระซิบกระซาบ เขามักจะรอให้ได้เวลาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถ้าคุณต้องอรรถาธิบายมากความให้นักดนตรีฟังแล้วล่ะก็ นั่นอาจจะหมายความว่าเขาไม่เหมาะจะเล่นกับคุณก็ได้”

“เราไม่ต้องหยุดเทปเหมือนการอัดเสียงยุคเก่า” มาเซโรให้สัมภาษณ์หนังสือซันเดย์ รีวิวในปี 1971 เอาไว้ “เทปมันจะวิ่งไปจนกว่าวงดนตรีจะหยุดเล่น แล้วเราถึงย้อนกลับไปฟัง ตัดสินใจร่วมกันว่าจะเอาท่อนไหนมาเชื่อมกับท่อนไหน มันก็กลายเป็นกิจวัตรเสาะหาไป แล้วในที่สุดก็เจออยู่ตรงนั้นแหละ มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะปะติดปะต่อมันยังไง”

หลังจากบันทึกเสียงได้สามนัดแล้วตั้งแต่วันที่ 19, 20 และ 21 สิงหาคม จะเริ่มงานกันตั้งแต่ช่วงสายและจบวันในช่วงบ่ายๆ เดวิสได้เทปมาทั้งหมดเก้าชั่วโมง แต่ไม่มีเทคเลย ช่วงต้นชัดเจน, ช่วงกลางแข็งแกร่ง และช่วงท้ายก็เป็นที่น่าพึงใจ นักทรัมเป็ตผิวสีคนเก่งก็ไม่ได้กระวนกระวายใจแต่อย่างใด เขารู้ว่าเนื้อหาที่ต้องการฝังตัวอยู่ตรงไหนของเทปเหล่านั้นบ้าง แล้วก็จะบอกรายละเอียดให้มาเซโรจัดการสานต่อจากม้วนสู่ม้วนให้เป็นหนึ่งเดียว มาเซโรได้ทำออกมาได้อย่างเยี่ยมยอดถึง 19 ร่างในเพลง Pharoah’s Dance ไม่ใช่เพียงแค่ร้อยเรียงดนตรีจากเทปต่างม้วนเท่านั้น แต่ยังเล่นบางท่อนซ้ำในบางครั้งอีกด้วย เขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่เกลี่ยทั้งห้าส่วนให้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ซาวินัลผู้ซึ่งรู้สึกผิดหวังมาจากการบันทึกเสียงครั้งนั้น เข้าไปที่ออฟฟิศของโคลัมเบียตอนฤดูใบไม้ร่วง พอเขาได้ยินเสียงเพลงไม่คุ้นลอยเข้าหู แต่ว่าเขาชอบมันมาก ก็เลยจัดแจงถามเลขาฯ ว่านี่มันเพลงอะไร เลขาฯ ก็ตอบกลับมาว่า “เอ้อ คุณซาวินัล คุณเป็นคนเล่นเพลงนี้กับไมล์สใน Bitches Brew”

เมื่อผลงาน Bitches Brew ออกวางจำหน่ายเมื่อเมษายน ปี 1970 ก็ได้สร้างความตกตะลึงให้กับวงการแจ๊สเป็นที่ยิ่ง ก่อนอื่นเลยก็ชื่ออัลบัมที่ส่อความหมายล่อแหลมทางเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมาจากความชื่นชมในทางโลกของคนอย่างเดวิส ส่งผ่านให้ลูกวงคนโปรดของเขาต่างหาก “คุณได้ยินที่คีธ (จาร์เร็ตต์) เล่นข้างหลังผมนี่ไม๊?” เขาถามขณะที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารดาวน์บีตเมื่อปี 1970 “เขาเป็นไอ้ตัวแสบ ชิกก็เหมือนกัน” ระหว่างการบันทึกเสียงตามที่ได้เล่าสืบต่อกันมา เดวิสบอกเลนนี ไวต์ว่า นักดนตรีทั้งหมดในนั้นเป็น “ไอ้ตัวแสบ” แล้วมือกลองก็ควรจะกวนไอ้ตัวแสบให้เข้ากัน เหมือนการต้มเบียร์ในถังที่เสียงหนึ่งจะสามารถซึมซาบเข้าสู่อีกเสียงหนึ่งได้

นอกจากเรื่องชื่ออัลบัม ก็ยังมีเรื่องงานศิลปะบนแผ่นปกของ Bitches Brew ด้วย เป็นผลงานของอับดุล มาที คลาร์วีน ศิลปินชาวเยอรมันที่เพิ่มขนาดหน้าปกถึง 24 นิ้วสำหรับแผ่นเสียง ภาพพรรณนาถึงคู่รักชาวแอฟริกันตะวันตกกำลังโอบกอดกันจ้องมองข้ามฟากจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปสู่ฝั่งอเมริกา อีกด้านหนึ่งเป็นนักรบแอฟริกันที่ดูเหมือนกำลังกระโจนเข้าสู่ห้วงอวกาศอันดารดาษด้วยดวงดาววาววับ ตรงกลางเป็นภาพดอกไม้สีแดงเพลิง และศีรษะที่มีใบหน้าสีดำและสีขาวสองด้าน หันออกจากกัน ภาพปกอัลบัมชุดนี้ถูกตาต้องใจจนศิลปินผู้วาดได้ถูกเรียกตัวไปไปรังสรรค์ปกอัลบัมอีกหลายชุดอาทิ Live Evil ของเดวิส, Abraxas ของซานทานา, This Is Madness ของเดอะ ลาสต์ โพเอ็ต, Earthquake Island ของจอน แฮสเซิล และอื่นๆ อีกมากมาย

บทเพลงข้างในก็ดูเหมือนจะทำให้คนฟังคิ้วผูกโบว์ได้เช่นกัน เป็นเวลานานแล้วที่แฟนเพลงฝั่งแจ๊สของเดวิสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบถึงการไร้ซึ่งจังหวะสวิง, เครื่องดนตรีใช้ไฟฟ้า, ความแปลกแยกจากแบบแผนดั้งเดิม และโครงสร้างของเพลง ส่วนแฟนเพลงแนวอื่นๆ กลับอ้าแขนต้อนรับเป็นอย่างดี อีกทั้งจู่ๆ ก็สามารถถอดรหัสการอิมโพรไวส์แบบแจ๊สได้ เพราะว่าในที่สุดมันก็กลายเป็นเสียงและภาษาจังหวะที่คุ้นเคย แฟนเพลงกลุ่มหลังนี้เองที่ทำให้ผลงาน Bitches Brew ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในชีวิตการเป็นนักดนตรีของไมล์ส เดวิสเลยทีเดียว ไม่เพียงแค่ติดชาร์ตบิลบอร์ดแจ๊ส แต่ยังไปติดอันดับ 4 ในชาร์ตอาร์แอนด์บี และอันดับ 35 ในป็อปชาร์ต เท่านั้นไม่พอ มันยังเป็นผลงานชิ้นแรกของนักทรัมเป็ตผิวสีที่ทำยอดขายได้ในระดับแผ่นเสียงทองคำ และในปี 2003 ก็ได้รับการรับรองในฐานะแพล็ตตินัม (ขายได้เกินหนึ่งล้านก็อปปี)



ทั้งคนชังและคนรัก Bitches Brew ต่างก็ยังมีความเข้าใจผิดต่อผลงานอยู่ พวกเขายังคงระบุว่ามันเป็นอัลบัมเพลงร็อก ในเมื่อทั้งคอมโพสิชันและการอิมโพรไวส์ล้วนแต่มาจากทางแจ๊สทั้งสิ้นโดยไม่ต้องสนใจว่าจะใช้เครื่องดนตรีอะไร ทั้งสองข้างยังคงมองว่ามันเป็นการยกระดับต่อเนื่องจากอัลบัมก่อนหน้าของเดวิส เมื่อเห็นชัดๆ ว่าเป็นคือวิวัฒนาการขั้นกว่าโดยมีร่องรอยจาก Filles de Kilimanjaro, In a Silent Way และการแสดงสดของวงควินเต็ต วิวัฒนาการยิ่งสำแดงชัดเจนขึ้นเมื่อโคลัมเบียตัดสินออกวางจำหน่ายอัลบัมที่ไม่เคยวางมาก่อนในช่วงปี 1968-69 “มันเหมือนการพัฒนาที่บริสุทธิ์สำหรับพวกเราในวง” ฮอลแลนด์ชี้ “แต่ว่ามีคำวิพากษ์ออกมาจากกลุ่มของนักวิจารณ์ เป็นคนที่ไมล์สรักใคร่ชอบพอทั้งนั้น ในปี 1969 เราไปแสดงที่วิลเลจ แวนการ์ดกับเธลอเนียส มังก์และเอ็ดดี แฮริส ผมจำได้ว่าเพื่อนสูงวัยกว่าของไมล์สอยู่ในห้องแต่งตัวด้วยกัน บอกกับเขาว่าไมล์สกำลังทำลายดนตรีแจ๊ส พวกนั้นพูดจาแรงกับไมล์ส จนผมฟังไม่ไหว ก็เลยเดินออกมา แต่ไมล์สเป็นคนมีความเข้มแข็งเชื่อมั่น และยึดมั่นในปณิธานเสมอ

“สิ่งที่แตกต่างก็คือ สไตล์การเล่นทรัมเป็ต ในฐานะนักดนตรีคุณก็พัฒนาภาษาของตัวเอง ซึ่งมันก็ไปได้เท่าที่คุณทำ แต่ปัจจัยบางอย่างมันยังอยู่ เขาเป็นคนที่มีฮาร์โมนิกที่ตัวเองสนใจ และมีกรูฟบางอย่าง ดนตรีของไมล์สมีความต่อเนื่อง ถ้าคุณฟัง Juju มันมีไทมิงที่คุณจะได้ยินจาก ‘Round About Midnight ที่มีอารมณ์ของความว่างเหมือนกัน อารมณ์ที่จับจังหวะเข้าและออกได้อย่างเหมาะเหม็งนั่นเอง”





 

Create Date : 03 ธันวาคม 2554
2 comments
Last Update : 3 ธันวาคม 2554 14:36:55 น.
Counter : 2081 Pageviews.

 

 

โดย: todsvuth1 3 ธันวาคม 2554 22:25:57 น.  

 

ขอบคุณค่ะ ว่างๆ ลองอ่านดูอันเก่าๆ ก็ได้นะคะ :)

 

โดย: nunaggie 7 ธันวาคม 2554 21:00:27 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.