"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
18 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
Gretchen Parlato เสียงจากสายลมบนเส้นทางระหว่างตึงและหย่อน




ความเป็นอิตาลีที่เราคนไทยรู้จัก อาจจะเป็นเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวฟุตบอลที่แสนจะเร้าใจ, ประเทศที่รุ่มรวยด้วยอารยธรรม, โบราณวัตถุและโบราณสถาน อย่าง วิหารเซนต์ปีเตอร์, สนามกีฬาโคลอสเซียม, หอเอน เมืองปิซาหรือรูปปั้นดาวิด หมายรวมถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ถือสัญชาติอิตาเลียน อย่าง มิเคลันเจโล ดิ โลโดวีโก บัวเนอโรติ ซิโมนี หรือที่เราเรียกง่ายๆ ว่า ไมเคิล แองเจโล, ลีโอนาโด ดา วินชี ยานยนต์เครื่องแรง อย่าง เฟอร์รารี, คีตกวีคนสำคัญแห่งคลาสสิกพิภพ อย่าง จูเซ็ปเป แวร์ดี, อันโตนิโอ วิวัลดี, จูออคคิโน รอสสินี, วินเซนโซ เบลลินี, กาเอตาโน โดนิเซ็ตติ, จาโคโม ปุชชี รวมถึงวงการมายาและวงการแฟชัน อีกมากมายที่สาธยายไม่หมดสำหรับเมืองรองเท้าบูตแห่งนี้

นอกจากนักประพันธ์ที่กล่าวไปบ้างข้างต้น ก็ยังมีนักร้องโอเปราเชื้อสายอิตาเลียนที่บ้านเราก็รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น เอ็นริโก คารูโซ, ลูเชียโน พาวาร็อตติ, แอนเดรีย โบเชลลี, เซซิเลีย บาร์ทอลี มาจนถึงดนตรีแจ๊ส หากจะพูดถึงแจ๊สสายยุโรปแล้ว ในสายตาของเรามองว่า ประเทศอิตาลีเป็นฐานผลิตนักดนตรีแจ๊สชั้นดีออกมาไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในยุโรป ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ดนตรีกระแสหลักที่หาซื้อมาฟังได้ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะยากจนเกินไป บางคนอาจจะมองว่าดนตรีเหล่านี้ “ฟังยาก เข้าถึงยาก” ในความเป็นจริงแล้ว ดนตรีจะฟังง่ายหรือยาก ขึ้นอยู่กับการเปิดรับของปัจเจกบุคคลเสียมากกว่า เพราะดนตรีคือเรื่องของ “เสียง” ที่กระทบเข้าโสตประสาทล้วนๆ หากแต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปัจเจก ดังนั้นจึงยากอยู่สักหน่อยที่จะทำให้ใครรู้สึกว่า เพลงนี้ฟังยาก หรือเพลงนี้ฟังง่าย แต่ถ้าฟังแล้วมีความสุข ก็ถือว่าดนตรีได้บรรลุหน้าที่เบื้องต้นของมันแล้ว

ในระดับสากล อิตาลียังมีนักร้องเสียงขยี้น้ำค้าง อย่าง โรเบอร์ตา กัมบารินีที่เริ่มเข้าไปตีตลาดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โรเบอร์ตาเป็นนักร้องที่มีเนื้อเสียงชั้นดี ตีความการร้องออกมาได้เยี่ยมยอดและมีแบบแผน ในขณะที่เกร็ตเชน พาร์ลาโต นักร้องแจ๊สวัยไล่เลี่ยมีเอกลักษณ์ในการร้องที่แตกต่างอย่างมีอัตลักษณ์ เกร็ตเชนเป็นชาวลอส แองเจลิส ติดเชื้อสายอิตาเลียน เสียงของเธอเปรียบเสมือนเสียงที่ล่องลอยมาจากสายลมเบื้องบน ไม่แกร่ง ไม่แรง ไม่บาดลึก อยู่ตรงกลางระหว่างตึงและหย่อน นั่นคือ “เกร็ตเชน”

เกร็ตเชนเคยอยู่ในคราบของคุณแม็กเคนซี สวมวิกผมสีฟ้า มาพร้อมกับการร้องอิมโพรไวส์ประหลาดๆ ขณะรอแฟนแฟนหนุ่มมารับ เป็นวิดีโอที่อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ยูทูบ ส่อให้เห็นถึงความสามารถของเธอในระดับหนึ่ง เสียงร้องของเธอเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้คนแจ๊สตกตะลึงในพรสวรรค์ทางดนตรีที่ไม่มีหมดของเธอ อดีตหญิงสาวคนธรรมดาจากนครแอลเอบอกว่า “ไม่ค่อยมีใครถามฉันเกี่ยวกับเรื่องแต่งตัวตลกๆ นี้หรอกค่ะ มีไม่กี่คนจะได้เห็นนะคะ ซึ่งฉันบอกได้เลยว่าไม่ใช่คนที่จะแสดงออกความเป็นตัวตนของตัวเองให้คนอื่นรู้หมด คนหนึ่งก็เห็นด้านหนึ่งอย่างนี้ล่ะค่ะ บางครั้งฉันก็อยากเล่นตลกบ้าง ในวิดีโอนั่นก็เป็นตัวเลือกที่ฉันใช้สำหรับแสดงออก เป็นการด้นสดทั้งหมดโดยอิงบุคลิกของคนในครอบครัวเพื่อเป็นการล้อเลียนสนุกๆ ค่ะ (หัวเราะ) ถ้าฉันใส่วิกเมื่อไร ก็จะกลายเป็นอีกคนทันที ฉันยังนั่งคิดอยู่นะคะว่า จะเอาด้านแรงๆ มาบวกกับด้านตลกๆ ของตัวเองใส่เข้าไปในเพลงได้อย่างไร ก่อนจะมาเป็นนักร้อง ฉันรักคาบเรียนการแสดงมากเลยล่ะ”

สมาชิกในครอบครัวของเกร็ตเชนล้วนแต่เป็นศิลปินไม่ทางด้านใดก็ด้านหนึ่ง บ้างก็เป็นนักแสดง บ้างก็ทำงานในแวดวงศิลปะ อย่าง กราฟิกดีไซเนอร์ หรือไม่ก็ทำงานในแวดวงบันเทิง ดังนั้งจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เกร็ตเชนจะชอบการแสดงออกต่อหน้าสาธารณชน ราวกับว่าเธอถูกลิขิตให้ก้าวเดินมาบนเส้นทางสายนี้

หญิงสาวปรากฏตัวบนเวทีแห่งความบันเทิงครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 13 เมื่อเธอต้องไปออดิชันเพื่อช่วงชิงบทนำในละครเพลง Bye Bye Birdie เธอก็ตกหลุมรักการขึ้นเวทีอย่างถอนตัวไม่ขึ้น พร้อมกับความรู้สึกดีๆ ที่มีขณะที่อยู่บนนั้น เธอดำเนินการตามคำแนะนำของบรรดาครูที่บอกให้เธอไปออดิชัน เพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าเรียนศิลปะในโรงเรียนรัฐบาลในแอลเอ ในตอนนั้น เกร็ตเชนยังไม่ได้คิดเอาไว้เลยว่า เธออยากจะเรียนการแสดงหรือว่าดนตรีกันแน่ ใจหนึ่งก็อยากเรียนการแสดง หากแต่ด้วยความที่เธอบอกว่าตัวเองไม่สู้จะขยันเท่าไร ประกอบกับได้ยินมาว่าเอกการแสดงนั้นเรียนยาก เธอจึงตัดสินใจออดิชันเพื่อเข้าเรียนดนตรี

ณ จุดนั้นเองคือจุดเปลี่ยนของชีวิตเด็กสาวจากแอลเอ จากนั้นมาเธอก็เก็บเกี่ยวคำชื่นชมหลากหลาย อาทิ “นักร้องที่มีเวทมนต์ลึกล้ำดำดิ่งสู่ดนตรี” นี่เป็นคำเยินยอจากเฮอร์บี แฮนค็อก เกร็ตเชนเคยไปปรากฏตัวร่วมเวทีกับเวย์น ชอร์เทอร์ที่เทศกาลลา วิลเล็ต แจ๊สที่กรุงปารีส เขาบอกว่ายามเธอสแก็ต เธอทำได้ราวกับแน็ต คิง โคลพรมนิ้วลงบนลิ่มเปียโน ยามเธอร้องเพลง ก็เหมือนกับตอนที่เขาร้อง เธอสามารถทำได้ทั้งสองอย่าง”

ชื่อของเกร็ตเชนอยู่ในรายชื่อนักร้องที่บรรดานักดนตรีแจ๊สชื่อดังคนอื่นๆ อยากได้ไปร่วมงานด้วย อาทิ ไลออนเนล สูคี มือกีตาร์ชาวอัฟริกันอเมริกันฝีมือฉมัง ซึ่งเธอได้ฝากฝีมือเอาไว้ในเพลง Insensatez ให้แฟนเพลงได้ประทับใจด้วยอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาทางน้ำเสียงโซปราโนอันเปราะบาง และในผลงานของมอร์รี ลูเดนด้วย

ผลงานชิ้นแรกของเกร็ตเชนใช้ชื่อว่า Gretchen Parlato ก็มิอาจจะดูแคลนในฐานะศิลปินใหม่ได้ เพราะถึงแม้จะเป็นอัลบัมแรก หากแต่เธอได้กรุยทางอันยาวไกลบนถนนขรุขระเส้นนี้ตั้งแต่ปี 1994 ในฐานะศิลปินรับเชิญมาโดยตลอด นับเป็นเวลาสิบปีเต็มๆ กว่าที่เธอจะได้มีผลงานเดี่ยวภายใต้ชื่อของตัวเอง อีกทั้งเมื่อปี 2001 เธอยังได้เป็นนักร้องคนแรกที่เข้าทำเนียบในสถาบันแจ๊สเธลอเนียส มังก์ จึงเป็นที่น่ายินดีเพราะว่าอัลบัมชุดนี้ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกอย่างล้นหลาม





เพลงที่เกร็ตเชนเลือกมาถ่ายทอดนั้นก็มักจะต้องเป็นเพลงที่ผูกพันกับเธอเป็นการส่วนตัว นั่นเป็นความสามารถของเธอในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเป็นนักเขียนเพลงกับนักฟัง “เพลงที่ฉันร้องทุกเพลงต้องมีเนื้อร้องเกี่ยวพันอะไรบางอย่างกับชีวิตส่วนตัวของฉัน ฉันค่อนข้างจะเป็นคนช่างเลือกในทุกๆ เพลงที่เอามาร้องหรือว่าบันทึกเสียง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ฉันสามารถถ่ายทอดเนื้อหา, อารมณ์, ความจริงใจ, ไม่เสแสร้ง, ไร้ตำหนิในทุกตัวโน้ตที่เปล่งออกไป และในความเป็นตัวของฉันเอง ฉันเลือกเพลงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตฉันโดยตรง ฉันบอกได้เลยว่าเป็นเหตุการณ์ไหน แล้วก็เกี่ยวกับเพลงนั้นอย่างไร เพลงทุกเพลงมีเรื่องราวอยู่ในนั้น ซึ่งฉันคิดว่ามันเป็นหัวใจสำคัญที่นักร้องทุกคนต้องเข้าถึงเพลงแต่ละเพลง แล้วพอคุณมีความรู้สึกร่วม คุณก็จะสื่อออกมาให้คนฟังได้รับรู้เช่นเดียวกัน”

ความอ่อนไหวและเปิดกว้างต่อสิ่งรอบข้าง ทำให้เธอสามารถส่งผ่านอารมณ์ซึมซับเข้าสู่บทเพลง แต่ในบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้แบบเปิดปุ๊บติดปั๊บ เธอยืนหลับตาร้องเพลงท่ามกลางคนดูข้างหน้า หรือนั่งบนเก้าอี้บาร์เพื่อดื่มด่ำลงสู่ห้วงอารมณ์ ต้องใช้เวลาถึงจะทำให้เราเปิดรับอะไรได้อย่างเต็มที่ “เมื่อคนฟังตอบสนองต่อเพลงและอารมณ์ ฉันก็ว่าฉันได้เติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว สิ่งที่ฉันถือเป็นที่สุดของคำชมเลยก็คือ เวลาที่แฟนเพลงบอกฉันว่าเขารู้สึกคล้อยตามเวลาที่ฟังฉันร้องเพลง ถ้าคุณดูภาพเขียน แล้วคุณรู้สึกมีปฏิกิริยาอะไรบางอย่างในร่างกายเกิดขึ้น ฉันว่านั่นแหละคือจุดหมายและความงดงามของศิลปะอย่างแท้จริง”

เกร็ตเชนยังคงรู้สึกขอบคุณสิ่งที่ทำให้เธอก้าวมาถึง ณ จุดนี้ “เมื่อพบสิ่งที่คุณทำได้ เหมือนอย่างฉันพบว่าตัวเองร้องเพลงได้ สิ่งนั้นจะกลายเป็นความหลงใหลจนทำให้คุณถอนตัวไม่ขึ้น บุคลิกส่วนตัวที่หลากหลายของฉันสามารถสื่อออกมาผ่านเสียงเพลง ฉันรู้สึกดีใจมากที่ได้มายืนตรงนี้” เธอทำลายกำแพงแห่งเสียงเพลงลง แล้วรวบรวมเอาเครื่องดนตรีต่างๆ มาใช้เพื่อตอบสนองความเป็นตัวของตัวเอง “ฉันชอบใช้โรดส์, อัพไรต์ เบส, เบสไฟฟ้า, เปียโน และกลองชุด แทนที่จะใช้พวกเพอร์คัสชัน เพลงของฉันจะค่อนข้างคลุมเครือ, ไม่ได้เจาะจงถึงสิ่งใดอย่างชัดเจน และมีความเร่าร้อนในตัวมันเอง สำหรับฉันแล้ว ควรจะมีส่วนประกอบทั้งทางด้านมิติ, วิญญาณ และกรูฟที่วงของฉันสร้างขึ้นมา จากนั้นฉันก็มาเติมแต้มสีสันที่ต้องทำต่อ พอเปลี่ยนเครื่องดนตรีแล้ว ก็จะเป็นการบังคับให้ฉันเปลี่ยนวิธีการร้องให้แตกต่างออกไป”

เคนนี เบอร์เรลเป็นคนบอกกับเกร็ตเชนตอนที่เธอเรียนอยู่ที่ UCLA ว่า ต้องเล่นกับนักดนตรีที่คอยให้พลังกระตุ้นเธออยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าเธอจะเก่งกว่าพวกเขา แต่เธอต้องการแรงกระตุ้นจากวงแบ็กอัพของตัวเองต่างหาก เกร็ตเชนดำเนินรอยตามคำแนะนำของนักกีตาร์แจ๊สนามอุโฆษด้วยการทำงานกับไลออนเนล ลูคี มือกีตาร์หน้าใหม่ แต่ฝีมือเก๋าอย่างหาตัวจับยาก บ็อบ แซดิน (โปรดิวเซอร์อัลบัม Virgin Forest ของไลออนเนลที่เกร็ตเชนเป็นนักร้องรับเชิญ) เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของเธอ “บ็อบมักจะกระตือรือล้นอยู่เสมอในทุกๆ เรื่อง เมื่อเขาได้ยินเสียงที่คิดว่ามันงดงาม ก็จะเปล่งเสียงร้องออกมา แล้วก็กระโดดโลดเต้นยังกับเด็กๆ เขามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเพลงโดยสัญชาตญาณ นั่นคือความเร่าร้อน หลงใหล คือสิ่งที่เรียกว่างานศิลป์”

เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ได้ฤกษ์อีกคราหนึ่งที่เกร็ตเชนจะออกผลงานส่วนตัวชุดที่สอง เป็นเวลาสี่ปีหลังจากชุด Gretchen Parlato ได้ออกมาวาดลวดลายในครั้งแรก คราวนี้เธอทำงานภายใต้สังกัดออบลิก ซาวด์ ค่ายเพลงเล็กๆ แต่ใจไม่เล็กในมหานครนิวยอร์ก ความเลือนลางระหว่างตึงกับหย่อนยังคงเป็นเอกลักษณ์คู่กายของเธออยู่เสมอในฐานะนักร้องที่ร้องเพลง หรือชิ้นเครื่องดนตรีที่ผลิตเสียงต่างๆ ออกมาในขณะที่เธออิมโพรไวส์อย่างงดงามด้วยเสียงร้องอันเบาบาง ราวกับเธออยู่ในห้วงแห่งภวังค์ดุจดังชื่ออัลบัม In a Dream

ด้วยบุคลิกที่ไม่ธรรมดาของเกร็ตเชน ที่ไม่ได้ดูเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ หรือเหมือนหญิงสาวรุ่นใหญ่ในฐานะนักร้องเพลงแจ๊ส หากแต่ดูประเปรียว เฉี่ยวโฉบ หวานซ่อนเปรี้ยว และอื่นๆ ที่ยากจะหาคำอธิบายได้ตรงใจ เพียงปกอัลบัม In a Dream ก็ทำให้เธอเข้าไปติดอันดับ 4 ใน 10 ของสุดยอดปกอัลบัม และติด 1 ใน 50 อัลบัมประจำปี 2009 ที่นิตยสารแจ๊สไทม์ได้ทำไว้เมื่อเดือนธันวาคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาตามลำดับ ไม่นับรวมถึงองค์กรและนิตยสารหรือเว็บไซต์อื่นๆ ที่ต่างก็วิจารณ์ผลงานของเธอไปในทางบวก
ใน In a Dream เกร็ตเชนเริ่มลงรายละเอียดในทั้งการทำเพลงต้นฉบับของตัวเอง และการนำเอาเพลงดั้งเดิมมาขับร้องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นของสตีวี วันเดอร์, ดุก เอลลิงตัน, เฮอร์บี แฮนค็อก, เวย์น ชอร์เทอร์ เป็นต้น เธอแต่งแต้มเพลงแต่ละเพลงด้วยสไตล์ของตัวเอง และร้อยเรียงเอาไว้ให้อยู่ในเส้นด้ายเส้นเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ คงจะเป็นความโชคดีของเกร็ตเชนเองด้วยที่สามารถรวบรวมเอานักดนตรีฝีมือเยี่ยมมาเล่นในวงสี่ชิ้นวงนี้ ไม่ว่าจะเป็นไลออนเนล ลูคี (กีตาร์), แอรอน พาร์กส (เปียโน, เฟนเดอร์ โรดส์), เดอร์ริก ฮอดจ์ (อะคูสติกและอิเล็กทริก เบส) และเคนดริก สก็อต (กลอง)

ไลออนเนลชื่นชมเธอมาก เขากล่าวเอาไว้ว่า “เกร็ตเชนเป็นเหมือนน้องสาวฝาแฝดทางดนตรีของผม เหมือนเรามีจิตวิญญาณทางดนตรีที่ต่างคนก็ต่างอ่านซึ่งกันและกันปรุโปร่ง ตั้งแต่แรกแล้วที่เหมือนกับเรามีอะไรที่คุ้นเคยกัน เคมีในตัวที่มันเกิดขึ้นมาเอง เธอเป็นนักร้องคนเดียวที่ผมไม่ต้องอธิบายอะไรให้ฟังมาก หรือต้องเปลี่ยนวิธีการเล่นเพื่อให้เข้ากันได้ กีตาร์ของผมกับเสียงของเธอมันถ่วงดุลย์กันได้อย่างดี เราเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันครับ” ใครได้รับคำชมอย่างนี้ ก็คงต้องตัวลอยเป็นแน่แท้ ดังนั้นอัลบัม In a Dream จึงเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ที่จะยกระดับการเป็นนักร้องแจ๊สมืออาชีพให้กับเกร็ตเชน

I Can’t Help It เพลงเปิดอัลบัม เดิมเป็นเพลงของสตีวี วันเดอร์ แต่หลายๆ คนอาจจะรู้จักในฐานะที่เป็นเพลงฮิตเพลงหนึ่งในอัลบัม Off The Wall ของนักร้องผิวสีผู้ล่วงลับ ไมเคิล แจ็กสัน หากแต่เวอร์ชันการตีความของเกร็ตเชน สร้างสีสันที่แตกต่างออกไปจากริธึมแอนด์บลูส์อย่างที่เคยฟังกันมา ฟุ้งอวลไปด้วยกลิ่นไอหอมกรุ่นของบอสซาโนวา ไลออนเนลช่วยฮัมและเดาะลิ้นสร้างจังหวะให้กับตัวเพลง ซึ่งเรียบเรียงมาเพียงแค่เสียงร้องกับเสียงกีตาร์เท่านั้น เสียงอื่นๆ นอกจากนั้นมาจากอวัยวะล้วนๆ ทั้งการฮัม, เดาะลิ้นของมือกีตาร์หนุ่ม และการสแก็ตของเกร็ตเชน ซึ่งสอดประสานกันอย่างลงตัวกับเสียงกีตาร์สายเอ็นหวานๆ





Within Me และ On The Other Side ผลงานของฟรานซิส เจค็อบ เพลงแรกเปิดด้วยไลน์ของอัพไรต์ เบสตามด้วยบรรทัดของเปียโนที่แผ่วพลิ้ว หวามไหวชวนให้หลงอยู่ในวังวนตลอดทั้งเพลง และเสียงแส้สัมผัสกับหนังกลองเป็นจังหวะระรัวเกือบถี่ยิบ บวกรวมกับเสียงร้องแหบพร่ากระซิบกระซาบของเกร็ตเชนแล้ว สร้างความเย้ายวนให้กับเพลงขึ้นมาอย่างเหมาะเหม็งกับเนื้อเพลงที่หญิงสาวในห้วงแห่งรักคงจะเข้าใจได้เป็นอย่างดี

But when you walk through the door,
My sun, my clouds, my rain leave me.
But when your dark eyes hit me,
My deep green jungle fades away.

ส่วนเพลงหลังให้จังหวะครึกครื้นมากกว่าในแบบของดนตรีอิเล็กทริก แอรอนใช้เฟนเดอร์ โรดส์ในเพลงนี้สร้างท่วงทีลีลากลิ่นอายฟังก์เบาบาง แน่นกระชับ ควบคู่ไปกับการเดินเบสของเดอร์ริก และการดีดกีตาร์ของไลออนเนล ซึ่งยังคงทำหน้าที่ร้องแบ็กอัพและสแก็ตอีกด้วย โดยรวมของ On The Other Side ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ อารมณ์ดีอยู่ในที ถึงแม้ว่าเนื้อเพลงจะไม่ได้บอกอย่างนั้นก็ตาม

Butterfly ต้นฉบับเป็นของเฮอร์บี แฮนค็อก เขียนเนื้อร้องโดย จีน แฮนค็อก เกร็ตเชนบอกว่า เพลงนี้เป็นเรื่องของความงามที่เรียบง่ายและจังหวะที่เหมาะสม เพลงไม่ได้เปิดด้วยออร์แกนเหมือนดั่งเพลงต้นฉบับ หากแต่เป็นคลิปเสียงของเกร็ตเชนเองในวัยสองขวบ คอร์ดต่างๆ ถูกเล่นย้ำวนไปมาอย่างตั้งใจ พร้อมกับเสียงสแก็ต และการเดาะลิ้นเป็นท่วงทำนองแทนการใช้เพอร์คัสชัน เธอบอกว่าตั้งใจจะใช้จังหวะย้ำแบบนี้ ในขณะที่ยังมีพื้นที่ส่วนของเนื้อร้องด้วย เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพลงนี้มากนัก โครงสร้างยังคงเดิม เพียงแต่เรียบเรียงพื้นผิวใหม่ที่แตกต่างออกไป ในเพลง E.S.P. (ของเวย์น ชอร์เทอร์) เธอก็ทำเช่นเดียวกันนี้ อีกทั้งยังใช้แซมเปิลเสียงของเธออีกครั้งในช่วงเปิดเพลง ตามด้วยเสียงร้องฮัม, เครื่องเคาะ, เฟนเดอร์ โรดส์ ซึ่งอิมโพรไวส์ได้อย่างมีเสน่ห์ และลื่นไหลราวกับสายธารในหน้าฝน เกร็ตเชนยังสอดแทรกเสียงวัยเด็กของเธอนั้นเอาไว้ในตัวเพลงเป็นช่วงๆ เนื่องจากว่าเพลงนี้เป็นเพลงบรรเลง เฟนเดอร์ โรดส์, การบรรเลงกลองของเคนดริก และเสียงฮัมของเธอจึงเป็นตัวเอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับจังหวะ 6/8 ที่เธอเลือกใช้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความแปลกหู และก็คงจะเป็นเพลงที่มีกลิ่นอายของแจ๊สอบอวลมากที่สุดในบรรดาเพลงทั้งหมดของอัลบัม In a Dream นี้

เรามาที่เพลงที่เกร็ตเชนเขียนเองกันบ้าง In a Dream เพลงไตเติลแทร็กที่ทำออกมาได้ประหนึ่งอยู่ในฝันจริงๆ ประการหนึ่งก็ด้วยน้ำเสียงของเกร็ตเชน และการเรียบเรียงแบบสมูธแจ๊ส เพลงนี้เขียนทำนองโดยโรเบิร์ต แกลสเปอร์ นักเปียโนผิวสีหนุ่มดาวรุ่งแห่งค่ายบลูโน้ต ท่วงทำนองเรียบง่าย ไหลลื่นไปกับทำนองที่รุ่มรวย กีตาร์, ออร์แกน และโรดส์เคล้าคลอเป็นแบ็คกราวด์อยู่เบื้องหลัง สนับสนุนให้เป็นเพลงที่อิ่มเอมไปด้วยห้วงแห่งความรัก Turning Into Blue ได้อลัน แฮมป์ตันเขียนทำนองให้ เกร็ตเชนเปิดโอกาสให้แก่แอรอนได้อิมโพรไวส์เปียโนอย่างเต็มที่ตั้งแต่ช่วงต้นเพลง อันเป็นเสน่ห์ของเพลงนี้ไปโดยปริยาย จังหวะการเล่นที่แอรอนใช้นั้นซับซ้อนในระดับหนึ่ง แต่เป็นความซับซ้อนที่ถ่ายทอดออกมาให้เข้ากันกับเนื้อหา และไม่ยากต่อการซึมซับของแฟนเพลง สิ่งหนึ่งที่ได้จากเพลงนี้คือ ลวดลายเปียโนของแอรอนที่น่าสนใจ และในฐานะแฟนเพลงแจ๊สอย่างเรา คงต้องติดตามผลงานของเขาต่อไป

Azure เพลงบัลลาดของดุก เอลลิงตันที่ให้อารมณ์เหมือนฝันอีกเพลงหนึ่ง หากเป็นความฝันที่อยู่ในความโรยรา เพลงนี้เปิดช่องให้เดอร์ริก มือเบสได้โชว์การอิมโพรไวส์ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นท่อนสั้นๆ แต่เขาก็ตรึงความสนใจของคนฟังได้ไม่น้อย Doralice เพลงบราซิลเลียนต้นฉบับโดยอันโตนิโอ อัลเมดาและดอรีวัล ไคย์มี ที่จาว กิลแบร์โต และสแตน เก็ตซ์เคยเล่นไว้ในอัลบัมอมตะ Getz/Gilberto เกร็ตเชนใช้อวัยวะในการสร้างเสียงและจังหวะเกือบทั้งหมดในเพลงนี้ ทำให้ย้อนรำลึกไปถึงเพลงบอสซาโนวาในยุคก่อน
Weak ปิดท้ายอัลบัมด้วยเพลงอาร์แอนด์บีขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งของวง SWV ที่ทำออกมาเมื่อปี 1992 เกร็ตเชนนำมาเรียบเรียงใหม่ ขัดเกลาเอาความเป็นอาร์แอนด์บีในแบบเกิร์ลกรุ๊ปออกไปแทบไม่เหลือ คงเหลือไว้เพียงเพลงในแบบป็อปแจ๊สของเธอเท่านั้น

ส่วนที่สร้างสีสันและเป็นเสน่ห์ให้กับอัลบัมนี้ ส่วนหนึ่งต้องยกให้การใช้ปากและลิ้นในการสร้างจังหวะ รวมไปถึงการสแก็ต ทั้งจากเธอเองและไลออนเนล ลูคี มือกีตาร์ที่ร้องสแก็ตได้ดี มีเสน่ห์คนหนึ่ง หลายๆ เพลงในอัลบัมก็มีเสน่ห์ขึ้นด้วยการร้องสแก็ตอย่างเห็นได้ชัด เหล่านี้สนับสนุนคำพูดของนักกีตาร์หนุ่มได้เป็นอย่างดีในความเข้าขาและเป็นคู่หูทางดนตรีของคนทั้งสอง แนวทางการร้องเพลงเกร็ตเชนนั้นไม่ได้เดินตามแบบของขนบของการร้องเพลงแบบที่เราเคยได้เสพกันมาแต่ไหนแต่ไร เธอผสมผสาน เล่นแร่แปรวิธีการจนได้มาซึ่งอัตลักษณ์อันยากจะเลียนแบบ เกร็ตเชนไม่ได้มีน้ำเสียงที่โดดเด่นขั้นระฆังเงิน ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ร้องเพลงไม่เป็นหรือเสียงป่าช้าแตก ดังนั้นเสียงและการร้องเพลงของเธอจึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างขนบอันเคร่งครัดกับความย่อหย่อน

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จใน In a Dream ก็คือนักดนตรีอีกสี่หน่อในวงของเธอ ซึ่งแต่ละคนก็มีส่วนในการถ่ายทอดเสียงดนตรีให้ตรงกับเป้าประสงค์ของเกร็ตเชน โดยเฉพาะไลออนเนลและแอรอน ตัวจักรสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ไม่แน่ว่าหากไม่ใช่ไลออนเนลแล้ว การตีความเพลงต่างๆ ในอัลบัมนี้อาจจะเปลี่ยนแนวทางไปจากที่เราฟังอยู่ อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้อัลบัมนี้มีก็คือ การเลือกสรรเพลงที่ค่อนข้างจะหลากหลาย ถ้าเป็นอาหารก็มีเปรี้ยว หวาน มัน และเค็ม มีเพลงที่ร้อยเรียงจากศิลปินผู้ล่วงลับ ไล่ระเรื่อยมาจนถึงเพลงที่เธอเขียนขึ้นมาใหม่ๆ เพื่อใส่รวมลงไปในนั้น ด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์และคอนเซ็ปต์ทางดนตรีที่มีอัตลักษณ์ของเกร็ตเชน พาร์ลาโต ทำให้เราเองต้องยอมรับว่า การฟังแผ่นซีดีของเธอนั้นเป็นสุนทรีย์อย่างหนึ่งที่สามารถทำซ้ำๆ ได้ในเวลาติดต่อกัน โดยมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นการสร้างความเบื่อหน่ายให้กับตนเองอย่างไม่จำเป็น




Gretchen Parlato - In a Dream

ดูแลการผลิต มิเคเล โลคาเทลลี

นักดนตรี

เกร็ตเชน พาร์ลาโต ร้องนำ, เสียงปรบมือ, เพอร์คัสชัน
ไลออนเนล ลูคี กีตาร์, ร้อง
แอรอน พาร์กส เปียโน, เฟนเดอร์ โรดส์, ออร์แกน, กล็อกเคนสปีล (ลักษณะคล้ายระนาดฝรั่ง), ซินธ์
เดอร์ริก ฮอดจ์ อะคูสติกและอิเล็กทริก เบส
เคนดริก สก็อต กลอง, เพอร์คัสชัน

รายชื่อเพลง

1. I Can’t Help It (Wonder/Greene)
2. Within Me (Jacob)
3. Butterfly (Hancock/Maupin)
4. In a Dream (Glasper/Parlato)
5. Doralice (Almeida/Caymmi)
6. Turning Into Blue (Hampton/Parlato)
7. E.S.P. (Shorter)
8. Azure (Ellington)
9. On The Other Side (Jacob)
10. Weak (Morgan/Murdock/Troutman)

ผลงานน่าสนใจของเกร็ตเชน พาร์ลาโต

Gretchen Parlato – In a Dream (ออบริก ซาวด์, 2009)
Gretchen Parlato - Gretchen Parlato (เกร็ตเชน พาร์ลาโต มิวสิก, 2005)
DJ Center – Everything in Time (พุช เดอะ เฟเดอร์, 2010)
New West Guitar – Sleeping Lady (นิว เวสต์, 2009)
Esperanza Spaulding – Esperanza (เฮดส์ อัพ, 2008)
Kenny Barron – The Traveler (อีมาร์ซี, 2008)
Lionel Loueke – Virgin Forest (ออบลิกซาวด์, 2007)
Terence Blanchard – Flow (บลู โน้ต, 2005)




Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2555 11:11:07 น. 3 comments
Counter : 1845 Pageviews.

 


ขอฝากดอกไม้แทนใจ อาจช้าไปหน่อย ขอโทษด้วยจ๊ะ

ก็เป็นคนโสดที่ไม่ค่อยว่างเลย....อิอิ


*~*~*~*..แวะมาทักทายจ๊ะ..ขอให้มีความสุข สดใส..หัวใจเบิกบาน..*~*~*~*




เดือนแห่งความรัก คนโสดก็ยังโสดต่อไป เพราะครูภาษาไทย สอนแต่

สระอิ,สระอา, สระอุ, สระอู แต่ไม่ยอมสอนให้เรา .. "สละโสด"


..HappY BrightDaY..





โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:13:46:19 น.  

 
สวัสดีเดือนแห่งความรัก







content pipes


โดย: เพื่อนปราจีน วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:16:31:22 น.  

 



ขอฝากดอกไม้แทนใจ แทนคำขอบคุณจ๊ะ

เดือนแห่งความรัก ความรักก็ล้อมรอบตัวคุณ




*~..แวะมาทักทายจ๊ะ..ขอให้มีความสุข สดใส..หัวใจเบิกบาน..~*




เดือนแห่งความรัก คนโสดก็ยังโสดต่อไป เพราะครูภาษาไทย สอนแต่

สระอิ,สระอา, สระอุ, สระอู แต่ไม่ยอมสอนให้เรา .. "สละโสด"


..HappY BrightDaY..



โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:06:19 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.