"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
10 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
Bobby Broom ความมุ่งมั่นคือสรณะ




หลายฉบับก่อนได้พูดถึงบ็อบบี บรูมเอาไว้ผ่านๆ เพราะว่าเขียนถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เธลอเนียส มังก์ ในฉบับนี้ เราจะลองมารู้จักและฟังผลงานของมือกีตาร์ผิวหมึกหนุ่มใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีผลงานส่วนตัวออกมาอย่างต่อเนื่องมากมายก่ายกอง แต่ถ้าพูดถึงการเป็นไซด์แมนแล้วล่ะก็ เรียกว่าร่ายกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็นไซด์แมนให้กับศิลปินเสาหลักของวงการเพลงแจ๊สอีกต่างหาก

บ็อบบี บรูมเล่นกีตาร์หลากหลายรูปแบบ แต่หลักๆ เท่าที่เคยได้ยินได้ฟังผลงานของเขาแล้ว เอนเอียงไปทางฮาร์ดบ็อปเสียส่วนมาก ถ้าคุณชอบแนวทางแจ๊สหรือว่าการเล่นกีตาร์อย่าง เคนนี เบอร์เรลแล้วล่ะก็ บ็อบบี บรูมก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าในบ้านเรานั้น บ็อบบีจะไม่ได้มีชื่อเสียงหรือมีฐานผู้ฟังมากเท่าเคนนีก็ตาม

เมื่อครั้งที่บ็อบบี บรูมยังเป็นเด็กหนุ่มวัยละอ่อน เขาได้ไปดูการแสดงของเธลอเนียส มังก์ มีแผ่น Bird and Diz ซึ่งเป็นผลงานคลาสสิกในปี 1950 ของชาร์ลี พาร์เกอร์และดิซซี กิลเลสปี มีนักดนตรีนามกระเดื่องมาร่วมงานหลายคน อาทิ เธลอเนียส, เคอร์ลี รัสเซล และบัดดี ริช ไม่เวลาไม่กี่ปีต่อมา บ็อบบีก็เริ่มเล่นเพลงของเธอลอเนียสในขณะที่เขาเรียนดนตรี ณ โรงเรียนมัธยมนิวยอร์กในช่วงกลางยุค 70

ในตอนนั้นบ็อบบีถือเป็นเด็กหนุ่มวัย 16 ที่มีพรสวรรค์และความสามารถอันยากจะหาใครกินลง เขาอยู่ที่อัพเพอร์เวสต์ ไซด์และเล่นดนตรีช่วงกลางคืนกับวงของอัล เฮ็กที่คลับเกรกอรี ณ ถนน 62 และที่นั่นเองที่ซันนี รอลลินส์ได้เดินเข้ามาในชีวิตของมือกีตาร์หนุ่ม ในตอนนั้นออเรล เรย์ มือกีตาร์ลูกวงของซันนีก็ไปเห็นบ็อบบีเล่นเพลง Young, Gifted and Broke เข้า ซึ่งเป็นเพลงในละครเพลงฝีมือของเวลดอน เออร์วีน (ผู้เขียนเนื้อเพลง To Be Young, Gifted and Black) มือกีตาร์รุ่นพี่เห็นแววก็เลยจัดการให้เขากับซันนีได้เจอกันตอนที่ทางวงนัดซ้อม ซึ่งก็ได้ผลที่ไม่น่าผิดหวังเลย เพราะว่าซันนีขอให้บ็อบบีมาออกตระเวณทัวร์กับเขา หากแต่ว่าบ็อบบีก็ได้ปฏิเสธไป เพราะว่ายังเรียนอยู่แค่ชั้นมัธยมปลายเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม ในปี 1977 ซันนีก็ได้ส่งเทียบเชิญให้ไปแสดงกับเขาที่คาร์เนกี ฮอลหนึ่งคืน โดยมีพรรคพวกร่วมวงอย่าง บ็อบ เครนชอว์ (เบส), เอ็ดดี มัวร์ (กลอง), ไมก์ น็อก (เปียโน) และโดนัลด์ เบิร์ด (ทรัมเป็ต)

4 ปีถัดมาหลังจากเทียบเชิญเกียรติยศนั้นแล้ว บ็อบบีก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี เขาจึงได้ใช้เวลานานหกปีเป็นนักดนตรีในวงซันนี แล้วจึงปีกกล้าพร้อมแล้วสำหรับการออกมาเผชิญหน้าความท้าทาย บ็อบบีเล่นให้กับวงของอาร์ต เบลกกี แอนด์เดอะ แจ๊ส แมนเซนเจอร์ ซึ่งมีเจมส์ วิลเลียมส์และบิลลี เพียร์ซ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของสถาบันเบิร์กลี ตอนนั้นมีวงดนตรีสร้างดาวมาทาบทามให้เขาเข้าไปสวมตำแหน่งกีตาร์ พร้อมๆ กับวินตัน มาร์ซาลิส แต่เขาเลือกที่จะเล่นกับเพื่อนๆ ร่วมสถาบันเบิร์กลี อย่าง โอมาร์ ฮาคิม, มาร์คัส มิลเลอร์ และเบอร์นาร์ด ไรต์ ในวงของทอม บราวน์มากกว่า บ็อบบีบอกว่า “ผมนับถือเพื่อนๆ พวกนี้พอๆ กับที่นับถือวินตันครับ พวกเขาเล่นดีกันทั้งนั้น”





หลังจากบ็อบบีมีประสบการณ์การเล่นกับวงของทอมแล้ว เขาก็กลับมาสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองในแนวคล้ายๆ สไปโร ไจรา นั่นคืออัลบัม Clean Sweep เป็นงานจากความตั้งใจจริงชุดแรกของเขาโดยมีส่วนผสมของแจ๊สและเออร์เบิน โซล กลิ่นอายจะค่อนไปทางมือกีตาร์เสียงละมุน จอร์จ เบนสันสักหน่อย สาเหตุอาจจะมาจากความชื่นชอบส่วนตัวที่เขามีให้กับผลงานอย่าง Breezin’ หนึ่งในห้าอัลบัมสุดโปรดของบ็อบบี ดูเหมือนว่าแนวทางนี้จะไม่ใช่แนวทางที่เขาควรจะเดินต่อ นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว เขาบอกว่าชอบอะไร ก็จะทำสิ่งนั้น แล้วยังมั่นใจด้วยว่าสามารถจะเป็นดาวสมูธแจ๊สได้ ถ้าเขาต้องการ แต่บ็อบบีก็ปัดโอกาสเหล่านั้นทิ้งไปพร้อมๆ กับปฏิเสธการทำงานกับอาร์ต เบลกกี ต่อมาในปี 1984 เขาทำผลงานออกมาอีกชุดหนึ่งใช้ชื่อว่า Livin’ For The Beat โดยย้ายไปที่ชิคาโก แม้เขาจะมองว่าเป็นการก้าวถอยหลัง เพราะนักดนตรีแจ๊สดังๆ ต่างก็อยู่ที่นิวยอร์กทั้งสิ้น แต่เพื่อสัมพันธภาพแล้ว บ็อบบียอมคิดว่าเขาสามารถซื้อเวลา 90 นาทีในการบินไปนิวยอร์กได้ คราวนี้เขามาทำงานกับซันนี รอลลินส์ ใช้เวลาในเมืองแห่งสายลมเล่นดนตรีกับชาร์ลส เอียร์แลนด์ (ออร์แกน) และกลุ่มคนหนุ่มไฟแรงอย่าง รอน เบลคและเอริก อเล็กซานเดอร์ ใช้ชื่อวงว่า ESP และก็ยังมีวงของตัวเองที่มุ่งเน้นไปในการบรรเลงอาร์แอนด์บี

บ็อบบีแบ่งเวลาไปสอนหนังสือที่มหาลัยวิทยาลัยรูสเวลต์และเดอพอล ในขณะที่ยังเป็นสมาชิกในวงของเคนนี เบอร์เรลด้วย ช่างเป็นนักดนตรีที่ตารางงานคงจะแน่นขนัดน่าดูชมคนหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากสอนที่มหาวิทยาลัยแล้ว เขายังสอนในโปรแกรมแนะแนวแจ๊สในเทศกาลดนตรีราวีเนีย เฟสติวัลให้กับนักเรียนมัธยมด้วย มือกีตารหนุ่มใหญ่คนนี้เป็นครูสอนหนังสือที่ได้ชื่อว่าเคร่งครัดกับพื้นฐานของนักเรียน ทั้งยังเป็นแบบอย่างของครูซึ่งเป็นที่ต้องการเสียด้วย ราวปี 2005 บ็อบบีได้ทำหน้าที่ควบคู่กันในวงดนตรีถึงสองวง นั่นก็คือวงทริโอของตัวเองกับวงดีพ บลู ออร์แกน ทริโอ แรงผลักดันอีกอย่างคือการได้เล่นในวงของซันนี รอลลินส์อีกครั้ง “ไม่น่าเชื่อว่าจะได้กลับไปเล่นให้ซันนีอีก” เขาบอกไว้ว่าอย่างนั้น ตอนที่ซันนีโทรหาเขาเพื่อให้มาช่วยเล่นในคอนเสิร์ต นักเทเนอร์แซ็กฯ รุ่นลายครามได้โอดครวญถึงการสูญเสีย ลูซิล ภรรยาสุดที่รักไป บ็อบบีเลยคิดว่าคงเป็นการดีที่จะได้ช่วยซันนีในครั้งนี้

“ผมมีคำถามให้กับซันนี ก็คือในการกลับไปครั้งนั้น จะมีที่ว่างเหลือให้ผมเล่นหรือเปล่า คือเวลาผ่านมา 20 ปีผมก็เติบโตในระดับหนึ่งที่จะเล่นได้อย่างเข้มแข็งแล้ว และก็ไม่อยากจะลดตำแหน่งลงมาเล่นแค่แบ็กกราวด์อย่างเดียว ผมอยากจะสลายกำแพงแห่งการเป็นลูกวงเข้าสู่การเล่นโซโลอย่างเต็มตัวซะที ไม่อยากจะเสียสูญไป ณ ตรงนั้น” แล้วบ็อบบีก็ได้รับโอกาสที่จะส่องประกายแสงในตัวเองอย่างที่ต้องการมาตลอด ซันนียังเคยบอกเอาไว้ว่า บ็อบบีเป็นนักดนตรีที่เขาชื่นชอบคนหนึ่งอีกด้วย บ็อบบียังคงเล่นกับซันนีอย่างสม่ำเสมอ อย่างที่เราสามารถหาฟังได้จากผลงานของซันนี อาทิ No Problem (ไมล์สโตน, 1981), Reel Life (ไมล์สโตน, 1983), Sonny, Please (ด็อกซี, 2006) และ Road Shows Vol.1 (ด็อกซี, 2008) รวมทั้งดีวีดีคอนเสิร์ต Sonny in Vienne

บ็อบบีใช้แผนบันไดสามขั้นใส่เกียร์เดินหน้าในเส้นทางแจ๊สสู่ฝัน แผนแรก เขาแยกตัวออกห่างจากแจ๊สกระแสหลักเข้ามาอิงกับการนำเอาดนตรีป็อปร็อกอมตะมาเล่นใหม่ อาทิ Stand ของสไล แอนด์ เดอะ แฟมิลี สโตน, Layla ของเดเร็ก แอนด์ เดอะ โดมิโนส์, Monday Monday ของเดอะ มามาส์ แอนด์ เดอะ ปาปาส์ และ Wichita Lineman ของจิมมี เว็บบ์ ซึ่งอัลบัมชุดแรกที่เขาใช้แนวคิดนี้ออกวางจำหน่ายในชื่อ Modern Man (2001) ได้ลูกวงชั้นดีอย่าง ลอนนี สมิธ, รอนนี คิวเบอร์ และไอดริส มูฮัมหมัด) นักวิจารณ์บางคนก็บอกว่าเพลงป็อปไม่เหมาะจะมาทำเป็นเพลงแจ๊ส เพราะว่าไม่ค่อยมีฮาร์โมนี แต่บ็อบบีก็หาครณาไม่ เขาบอกว่า “ให้ลองไปฟังฮาร์โมนีในเพลง Stand จังหวะ 2-5-1 ซึ่งทันสมัยเอามากๆ ไม่ใช่ 3-6-2-5 (โครงสร้างที่เพลงสแตนดาร์ดอเมริกันนิยมใช้) เพลงพวกนี้ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อเพลงและโครงสร้าง” เขายังบอกอีกว่าคนมักจะเหยียดหยามเขาที่มาเล่นเพลงป็อป แต่เขากลับเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ถึงสิ่งที่เป็นตัวตน โดยไม่ต้องลดระดับการทำงานลงไป

บันไดขั้นที่สอง บ็อบบีออกอัลบัม The Way I Play รวบรวมเอาผลงานแจ๊ส สแตนดาร์ด อาทิ Body and Soul, Airegin, Donna Lee ที่วงทริโอของเขา (กับเดนนิส แคร์รอลและโคบี วัตกินส์) เล่นกันที่ร้านพีต มิลเลอร์ส (ซึ่งเป็นร้านที่บ็อบบีเล่นมานานร่วม 13 ปีทีเดียว) คัดเลือกเพลงเด่นๆ ที่เล่นกันอยู่หลายสัปดาห์ที่ร้าน โดยใช้เพียงมินิดิสก์จากเพื่อนของบ็อบบีบันทึกเสียงไว้ แล้วก็มาถึงอัลบัมล่าสุดของเขา Bobby Broom Plays For Monk ซึ่งได้รับการสรรเสริญอย่างกว้างขวางเมื่อปี 2009 ที่อัลบัมออกวางจำหน่าย จริงๆ แล้วเพลงของเธลอเนียส มังก์นั้นก็น้อยนักที่จะมีมือกีตาร์คนใดนำเอามาบรรเลงใหม่ นั่นก็คงรวมไปถึงอัลบัมโซโล Evidence ของสตีฟ คาห์น (1989) และ Let’s Call This Monk ของ โจชัว เบรกสโตน (1996) ตอนแรกเขาคิดจะถ่ายทอดบทเพลงเดี่ยวเปียโนของเธลอเนียส แต่ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่อย่างที่ต้องการ ก็เลยเกือบจะละทิ้งโปรเจ็กต์นี้ไปในตอนแรก ยิ่งเมื่อมาพบว่าปีเตอร์ เบิร์นสไตน์ มือกีตาร์แจ๊สดาวรุ่งรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง ก็เพิ่งจะออกอัลบัม Monk ไปก่อนหน้านั้น แถมยังเป็นวงทริโอเหมือนกัน และมีแต่เพลงของนักเปียโนผิวหมึกล้วนๆ ซ้ำร้ายเพลงที่เลือกมาก็เกือบจะเหมือนๆ กันด้วย

แต่เมื่อบ็อบบีลองค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปถึงอัลบัมต่างๆ ที่เอาเพลงของเธลอเนียสมาเล่นใหม่ เขาก็ค่อนข้างจะแน่ใจว่า สิ่งที่เขาจะทำออกมานั้นไม่ซ้ำแบบใคร โดยเฉพาะเพื่อนๆ เขาต่างก็ให้กำลังใจบอกว่าอย่าให้อัลบัมของปีเตอร์มาทำให้เสียความมั่นใจในการทำงาน ซันนียังแกล้งแหย่ว่า “งานของปีเตอร์จะดีกว่าของคุณงั้นเหรอ?” ช่างเป็นการแหย่ที่เร้าใจจริงๆ กระทั่งในที่สุดเขาก็ก้าวข้ามความกลัวนั้นลงไปได้ และตัดสินใจทำอัลบัมนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นโชคดีของเราที่มีตัวเลือกเพลงให้ฟังเพิ่มขึ้น

บ็อบบีบอกว่า เพลงของเธลอเนียสอย่าง Straight, No Chaser, Well, You Needn’t และ ‘Round Midnight เป็นเพลงที่ “พลาดไม่ได้” เพราะว่าเพลงเหล่านี้เป็นเหมือนบทบัญญัติของดนตรีแจ๊ส เขาบอกว่าเขาชอบเพลงและสไตล์อันไม่เหมือนใครของนักเปียโนผู้นี้ “เธลอเนียส มังก์เป็นบุคคลสำคัญในวงการแจ๊ส ทั้งในแง่ของนักดนตรี, นักประพันธ์ และนักโซโลด้วย” อัลบัม Plays For Monk เป็นผลงานชุดล่าสุดของบ็อบบีในสังกัดออริจิน เร็คคอร์ดส โดยนำเอาเพลงของเธลอเนียส มังก์มาทั้งหมด 8 เพลงกับเพลงสแตนดาร์ดแพร่หลายอีกสองเพลง ก็คือ Lulu’s Back In Town ของแฮรี วอร์เรน และ Smoke Gets In Your Eyes ของเจโรม เคิร์น แต่ไม่ยักจะมีเพลงสำคัญห้ามพลาดที่ว่ามานั้นแต่อย่างใด แต่นักดนตรีร่วมวงนั้นไม่มีการเซอร์ไพรส์ เพราะว่ายังเป็นเดนนิส แคร์รอล (เบส) ซึ่งร่วมงานกันมาแล้วถึง 18 ปี กับโคบี วัตกินส์ (กลอง) ลดหลั่นลงมาหน่อย ร่วมงานกันมา 7 ปี น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวงที่เพียงแค่เริ่มขยับมือ ก็รู้อกรู้ใจกันไปหมด

Ask Me Now เปิดอัลบัมได้โดดเด่นสมกับเป็นเพลงแรกจริงๆ ถึงแม้จะเป็นเพลงบัลลาดก็ตาม เวอร์ชันของบ็อบบียังคงจังหวะบัลลาดเหมือนกับต้นฉบับ โคบีส่งจังหวะกลองเข้าสู่ตัวเพลง บ็อบบีเล่นกับการทอดจังหวะได้อย่างเหมาะเหม็ง และมีวอยซิงที่สวยงามตลอดทั้งเพลงเลยทีเดียว เช่นกันกับโซโลกีตาร์ที่เนิบนาบอย่างนุ่มนวลชวนฝัน ส่วนเดนนิสก็ได้เปิดฉากการอิมโพรไวส์อันงดงามตั้งแต่เพลงแรก เพลงนี้มักไม่ค่อยถูกนำมาเล่นใหม่บ่อยเท่ากับเพลงเด่นเพลงอื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพลงที่ได้รับการประเมินค่าที่น้อยเกินไปจริงๆ วอยซิงที่หมดจดงดงามของบ็อบบีช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับเพลงนี้อย่างไร้ที่ติ




Evidence โดดเด่นไปด้วยภาคจังหวะที่แน่นเปรี๊ยะของกลองกับเบส และการเล่นซ้ำไปซ้ำมาในจังหวะเดิม ในขณะที่ต้นฉบับเองก็ไม่ได้เน้นการเล่นซ้ำในแบบนี้ เรียกว่าตีความอย่างที่อยากเล่นจริงๆ ซึ่งก็ให้รสชาติของ Evidence ไปอีกแบบ สิ่งที่เหมือนกันในเพลงนี้ของทั้งสองเวอร์ชัน คือไลน์เบสที่คล่องแคล่ว ว่องไว กับการโซโลกีตาร์ของบ็อบบี บรูมที่โชว์สปีดนิ้วให้ฟังกันบ้าง ในช่วงกลางเพลงหลังจากที่จบท่อนโซโลของเขาแล้ว โคบีจึงรับช่วงต่อเพื่ออิมโพรไวส์ ถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงเวลานานนัก แต่ก็เป็นการรับส่งกันอย่างออกรส บ็อบบีเองยังบอกว่า สำหรับเพลงนี้นั้นการเล่นเบสของเดนนิสถือเป็นการแสดงออกซึ่งพลังความมีชีวิตชีวาที่เพลงนี้มีอยู่เป็นวิสัยเดิม พลังงานอันเร่าร้อนของไลน์เบสสร้างความแจ่มกระจ่างให้กับตัวเพลงได้เป็นอย่างดี

Ruby, My Dear เพลงบัลลาดหวามไหวที่มีเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดเพลงหนึ่งของเธลอเนียส ยังคงเป็นอีกเพลงหนึ่งที่บ็อบบีสวมวิญญาณในการทอดจังหวะที่ลงตัวเช่นเดียวกับเจ้าของเพลง เขาอิมโพรไวส์เพลงออกไปอย่างเหมือนวงน้ำที่กระจายตัวออกไป ด้วยสำเนียงที่ติดกลิ่นอายบลูส์ ส่วนเบสและกลองทำหน้าที่ริธึมอย่างกองหนุนมืออาชีพ เนิบนาบสมบูรณ์แบบ คอยเสริมให้กับกีตาร์เพียงอย่างเดียวเพื่อให้เกิดความลงตัวมากที่สุด

In Walked Bud เพลงนี้จากต้นฉบับในอัลบัม Underground นั้นมีจอน เฮนดริกส์มาร้องและสแก็ตเพิ่มความสนุกสนานให้กับเพลง ซึ่งมีจังหวะค่อนข้างกระชั้น บ็อบบีลดความกระชั้นลงไปเล็กน้อย มีรายละเอียดในจังหวะกลองที่หลากหลายของโคบี ซึ่งแพรวพราวทีเดียวถึงแม้ว่าจะเป็นภาคริธึมก็ตาม เพลงนี้เรียบเรียงออกมาใหม่โดยลดบทบาทของกีตาร์ลงไป เพื่อเปิดโอกาสให้เดนนิสกับโคบีได้แจมคู่รับส่งกันอย่างไร้รูปแบบ ส่วนอีกเพลงที่เร็วกระชั้นขึ้นมาอีกก็คือ Rhythm-A-Ning ซึ่งต้นฉบับก็ฉับไวอยู่แล้ว บ็อบบีก็เลยมาเล่นลูกนิ้วที่พราวไปด้วยความคล่องชำนาญให้เราได้ยินยล รวมทั้งการสะบัดคอร์ดกระชับที่ได้ยินตลอดทั้งเพลง จังหวะกระชั้นอย่างนี้ หากว่าเป็นดนตรีเมทัลก็คงไล่ไปถึงขั้นสปีดเมทัลกันเลยทีเดียว โคบีโชว์การโซโลกลองได้สมกับเพลงที่มีสปีดรวดเร็วเยี่ยงในเพลงนี้

Reflections เพลงเด่นเพลงหนึ่งของเธลอเนียสที่ใครๆ ก็ต้องหยิบมาแน่ๆ ถึงแม้จะเป็นบ็อบบีเองก็มิอาจจะต้านทาน เขาเรียบเรียงให้ตัวเพลงยืดออกเกือบเท่าตัวด้วยเวลาหกนาที หากใครเป็นแฟนนักเปียโนคนนี้แล้ว คงต้องไม่พลาดที่จะฟังเพลง Reflections อย่างแน่นอน ซึ่งตัวต้นฉบับเองก็เป็นบัลลาดที่มีท่วงทำนองสวยงามมากเพลงหนึ่ง เรียบเรื่อย แต่เธลอเนียสใส่ลูกนิ้วแพรวพราวเอาไว้ในช่วงกลางเพลง ส่วนฉบับของบ็อบบีนั้นก็เป็นบัลลาดที่เรียบเรื่อยเช่นกัน กีตาร์โชว์เส้นสายลายทำนองไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะเปิดช่องให้เบสได้อิมโพรไวส์ในท่วงทำนองที่สวยงาม พลิ้วไหว ส่วนกลองของโคบีนั้นก็ดำเนินจังหวะของตัวเองไปอย่างสม่ำเสมอ สอดแทรกไปด้วยลูกเล่นลูกขัดตลอดทั้งเพลง ส่วนตัวแล้วชอบภาคริธึมที่แข็งแรงของเพลงนี้ค่อนข้างมากทีเดียว

Work เสียงแส้กลองซู่ซ่าของโคบีในเพลงนี้ช่างฟังแล้วซู่ซ่าตามเสียงของมันเสียจริงๆ อุดมไปด้วยรสชาติที่คุณคุ้นเคยอย่างสวิงตลบอบอวลไปทั่วด้วยไลน์กลองและเบส ที่เสมือนหนึ่งเดินขาเกือบขวิดเป็นฉากหลังให้กับบ็อบบี เช่นกันกับเพลง Bemsha Swing ซึ่งมีท่อนริฟที่ติดหูนักฟังสวิงได้อย่างง่ายดาย เวอร์ชันใหม่นี้ก็นำเอาของดั้งเดิมมาเล่นได้อย่างหมดจด กระชับ และมีความเป็นเธลอเนียสชัดเจน เดนนิสเล่นออกมาได้อย่างผาดโผนและสนุกสนานในท่อนโซโลของเขา

Smoke Gets In Your Eyes และ Lulu’s Back In Town ไม่ใช่เพลงจากปลายปากกาของเธลอเนียสตามที่ได้กล่าวไว้ย่อหน้าก่อน แต่ว่าก็เป็นเพลงที่เขาเคยนำมาเล่นไว้เหมือนกัน โดย Smoke Gets In Your Eyes เล่นไว้ในอัลบัม Monk (1954) และ Lulu’s Back In Town ในอัลบัม It’s Monk Time (1964) เพลงแรกบ็อบบีโชว์การโซโลเดี่ยวส่งท้ายด้วยความพลิ้วไหวและอ่อนหวาน แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดในการเล่นแต่ละตัวโน้ตเป็นอย่างชัดเจน สมกับที่เป็นเพลงโชว์อารมณ์การเล่นมากกว่าจะโชว์เทคนิก อันสื่อผ่านไปถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งบ็อบบีให้ความเคารพ ส่วน Lulu’s Back In Town ในเวอร์ชันของบ็อบบีนั้นละมุนละไมนัก โดยเฉพาะช่วงกลางเพลงที่กำลังจะส่งลูกต่อให้กับเบสได้อิมโพรไวส์

บ็อบบียังได้แสดงความเคารพต่อตัวเธลอเนียส มังก์ด้วยการนำเอาปกอัลบัม Monk’s Music (1957) มาปรับเปลี่ยนจากภาพเธลอเนียสนั่งบนรถลาก มาเป็นกีตาร์วางอยู่บนรถลากแทน ตอนเห็นปกอัลบัมนี้ครั้งแรกก็สะดุดตาเล็กน้อย เพราะความมีอารมณ์ขันของงานออกแบบเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้แล้วบ็อบบี บรูมยังสามารถที่คัดเลือกเพลงจากศิลปินขึ้นหิ้งมาบรรเลงอีกครั้ง โดยที่ยังคงความสดเหมือนใหม่เอาไว้ได้ด้วยฝีมือการเล่นอันเปี่ยมด้วยประสบการณ์ เมื่อกอปรกับบทเพลงที่อมตะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำสรรเสริญก็เห็นจะหนีไม่พ้นไปไหน เส้นทางการทำงานของบ็อบบีนั้นไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ทั้งๆ ที่เขาสามารถจะตะกายดาวไปได้แล้วในหลายโอกาส แต่ก็ยังอยากจะลองผิดลองถูกในการทำงานด้วยความมุ่งมั่นในเจตนารมณ์ของตัวเอง ในวันนี้ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เปี่ยมไปด้วยชื่อเสียงแบบกระฉ่อนไปทั่วทุกหัวระแหง แต่ในแวดวงนักดนตรี, นักเรียน, นักศึกษา และนักฟังเพลงแจ๊สแล้ว ชื่อ “บ็อบบี บรูม” น่าจะอยู่ในหน่วยความจำมานานแล้ว



Bobby Broom – Plays For Monk

Musicians
Bobby Broom – Guitar
Dennis Carroll – Bass
Kobie Watkins – Drums

Tracklisting
1. Ask Me Now (Monk)
2. Evidence (Monk)
3. Ruby, My Dear (Monk)
4. In Walked Bud (Monk)
5. Lulu’s Back In Town (Warren)
6. Reflections (Monk)
7. Work (Monk)
8. Rhythm-A-Ning (Monk)
9. Bemsha Swing (Monk)
10. Smoke Gets In Your Eyes (Kern)

Selected discs

Bobby Broom – No Hype Blues (Criss Cross, 1995)
Bobby Broom – Waitin’ and Waitin’ (Criss Cross, 1997)
Bobby Broom – Stand! (Premonition, 2001)
Bobby Broom – Song and Dance (Origin Records, 2007)
Bobby Broom – The Way I Play: Live in Chicago (Origin Records, 2008)
Bobby Broom – Bobby Broom Plays for Monk (Origin Records, 2009)





Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2555 22:09:30 น. 0 comments
Counter : 2029 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.