"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
3 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
วีเจย์ ไอเยอร์ เมื่อศาสตร์ปะทะศิลป์ จึงเกิด “แจ๊สปัญญาชน”





ตั้งใจว่าจะบอกเล่าถึงศิลปินแจ๊สสัญชาติอินเดียน-อเมริกันผู้พร้อมมูลไปด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งดนตรีคนนี้มานานพอสมควร แต่ก็ติดอัลบัมโน้นอัลบัมนี้ชิงพื้นที่ไปเสียก่อน จวบจนผ่านไปหลายเดือน จึงได้ฤกษ์เขียนเรื่องราวของเขาเสียที คนอินเดียถือเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่เป็นมันสมองขับเคลื่อนโลกใบนี้อยู่ในหลากหลายสายอาชีพ ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ เราคงไม่ปฏิเสธว่าดนตรีผื้นบ้านของอินเดียนั้นมีความโดดเด่น และมีมนต์ขลังสยบผู้ฟังให้ต้องมนต์ เพียงแค่เสียงของซีตาร์หรือทะบลาเท่านั้นก็น่าจะซึบซาบถึงเสน่ห์ของมันในระดับหนึ่ง

วีเจย์ ไอเยอร์ (บางท่านอาจแปลชื่อของหนุ่มคนนี้ว่า “วิชัย” แต่อ่านไปอ่านมาจะหลงคิดว่าเป็นคนไทย จึงขอคงการออกเสียงแบบดั้งเดิมไว้ตามนี้) คือ ชายหนุ่มนักเปียโนเชื้อสายอินเดียน-อเมริกันที่กล่าวถึงเมื่อบรรทัดแรก วีเจย์มีพื้นเพอยู่ที่โรเชสเตอร์ กรุงนิวยอร์ก ศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมดนตรีแจ๊สในโลกปัจจุบัน วีเจย์เกิดในปี 1971 เป็นบุตรชายของชาวอินเดียตอนใต้ที่อพยพเข้ามาอยู่สหรัฐอเมริกา เขาได้รับการบ่มเพาะฝึกฝนในดนตรีคลาสสิกตะวันตกมาเป็นเวลาถึง 15 ปี โดยมีไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกเมื่ออายุได้เพียงสามขวบ เขายังได้เริ่มเล่นเปียโนด้วยการฝึกฟัง และฝึกฝนด้วยตนเองมาเกือบตลอด นอกจากเครื่องดนตรีตะวันตกแล้ว วีเจย์น้อยยังสนใจเครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดียและเพลงสวดอีกด้วย ในช่วงมัธยมปลายจึงได้เริ่มเบนความสนใจให้กับดนตรีแจ๊ส หลังจากศึกษาจนจบปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเยลด้วยอายุเพียงยี่สิบปีแล้ว วีเจย์ก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์มุ่งทำปริญญาเอกในสาขาฟิสิกส์ จากนั้นเขาจึงได้มุ่งหน้าสืบสานความสนใจในแจ๊สต่อด้วยการเป็นนักเปียโนประจำคลับเบิร์ดเคจ คลับมีชื่อในนอร์ธ โอ๊คแลนด์ ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของนักดนตรีดีๆ ในย่านนั้นอย่าง เอ็ด เคลลี และสไมลี วินเทอร์ส พร้อมด้วยแขกรับเชิญหัวกะทิอย่าง ฟาโรห์ แซนเดอร์ส ซึ่งเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์อันทรงคุณค่าที่ส่งเสริมให้วีเจย์เข้าใจแก่นแท้ของแจ๊ส และประสบการณ์แจ๊สที่ยังไม่ตาย เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมพบว่า ดนตรีที่เราเล่นกันอยู่นี้เป็นดนตรีที่หยั่งรากลึกของชีวิตของทั้งคนเล่นและคนฟัง”
เรามาดูความเข้มข้นของวีเจย์คนนี้กันต่อว่า เขาเป็นศิลปินเขี้ยวลากดินระดับไหนกัน?

ตั้งแต่เข้าสู่เส้นทางสายนี้ตั้งแต่ราวปี 1995 ส่วนใหญ่แล้ววีเจย์มักจะได้รับคำสรรเสริญเยินยอเสียมาก ดังจะเห็นได้จากนานารางวี่รางวัลที่เขาได้รับ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ซึ่งอยากจะเรียกเหลือเกินว่าเป็นปีทองของหนุ่มใหญ่เชื้อสายอินเดียคนนี้อย่างแท้จริงกับผลงาน Historicity (2009, เอซีที มิวสิก) ไม่ว่าจะเป็นราววัลศิลปินยอดเยี่ยมประจำปี 2010 จากสมาคมผู้สื่อข่าวสายแจ๊ส, อัลบัมแจ๊สยอดเยี่ยมประจำปีจากนิวยอร์ก ไทม์ส, ลอส แองเจลิส ไทม์ส, ชิคาโก ทริบูน, ดีทรอยต์ เมโทร ไทม์ส, สถานีวิทยุเอ็นพีอาร์, popmatters.com ซึ่งพร้อมใจกันมอบรางวัลให้กับเขา นอกจากนี้ยังได้รับการโหวตจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ของนิตยสารดาวน์บีต ให้เป็นอัลบัมยอดเยี่ยมแห่งปี และในฐานะศิลปินทริโอแจ๊สดาวรุ่งพุ่งแรงอีกรางวัลหนึ่ง เท่านั้นยังไม่พอ ยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บเกี่ยวรางวัลเอ็กโค อะวอร์ดส หรือแกรมมีเยอรมัน ในสาขาวงอองซอมเบลอยอดเยี่ยมจากต่างประเทศ

อัลบัม Historicity เป็นผลงานที่เขาทำออกมาในรูปแบบวงทริโอ ประสบความสำเร็จในแง่ของคำวิจารณ์อย่างท่วมท้นในฐานะที่เป็นดนตรีแจ๊สสมัยใหม่ ที่มีรากเหง้ามาจากดนตรีของนักดนตรีระดับตำนานอย่าง ดุก เอลลิงตันที่เคยทำอัลบัมร่วมสมัยอย่าง Money Jungle (1962, สังกัดบลูโน้ต ร่วมกับชาร์ลส มิงกัสและแม็กซ์ โรช), วงเล็กๆ ของแอนดรูว์ ฮิล และวงทริโอกลิ่นอายอัฟริกันของแรนดี เวสตัน นอกเหนือไปจากงานดนตรีอมตะเหล่านี้แล้ว วีเจย์ยังสนใจดนตรีหลายแขนงด้วยกัน อาทิ อาร์แอนด์บี ฟังก์จากยุค 70, จอร์จ ลิเกติ คีตกวีโพลีโทนัล หรือฮิปฮอปที่ใช้จังหวะเป็นโครงสร้างอย่าง M.I.A. หรือมายา ซึ่งเป็นศิลปินฮิปฮอปแร็พเชื้อสายศรีลังกา ถึงแม้ว่า Historicity จะไม่มีกีตาร์มาเป็นตัวประกอบ แต่ก็ยังคงให้ความรู้สึกอันเจือจางของ Band Of Gypsys ของจิมมี เฮนดริกซ์ (สังกัดแคปปิตอล, 1970) ซึ่งวีเจย์เคยบอกไว้ว่ามันเป็นอัลบัมอ้างอิงชุดหนึ่งของเขา




วงดนตรีสามชิ้นคือ แกนหลักที่วีเจย์มักจะใช้ในการทำงานของเขา บางครั้งอาจจะเป็นวงสี่ชิ้นถ้าเขาร่วมงานกับรูเดรช มหันทาพา นักอัลโตแซ็กฯ เชื้อสายอินเดียเช่นเดียวกับเขา ส่วนสมาชิกประจำอีกสองคนก็คือ สตีเฟน ครัมป์ มือเบสและมาร์คัส กิลมอร์ มือกลอง (มาร์คัสเป็นหลานชายแท้ๆ ของรอย เฮย์นส มือกลองแจ๊สระดับตำนานคนหนึ่ง) อัลบัม Memorophilia ก็เป็นอัลบัมวงทริโอชิ้นแรกที่วีเจย์ทำออกมาเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว นอกจากเพื่อนซี้สองคนนี้แล้ว เขายังทำงานทดลองทางดนตรีในรูปแบบอื่น อาทิ วงทริโอภาคสนาม (ซึ่งวีเจย์ร่วมงานกับสตีฟ เลห์แมน นักแซ็กโซโฟนผู้หน้าที่ทั้งเป็นแกนนำร่วมและแต่งเพลงร่วม และไทชอว์น ซอเรย์ มือกลอง), งานคู่กับรูเดรช มหันทาพา มืออัลโตแซ็กโซโฟน ใช้ชื่อชุดว่า Raw Materials และงานคู่ผสมผสานทางอิเล็กโทรนิกกับไมก์ แลดด์ ศิลปินมากความสามารถ บทเพลงในอัลบัมที่ผ่านๆ มานั้น เขาจะให้น้ำหนักกับเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ในขณะที่ Historicity เป็นเพลงคัฟเวอร์เกือบทั้งอัลบัม จริงๆ แล้วในวงการแจ๊สยุคต้นๆ ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์ของการคัฟเวอร์เพลง เพราะว่าทุกคนก็ล้วนแล้วแต่นำเพลงของคนอื่นมาเล่นทั้งสิ้น วีเจย์เองก็เป็นผลผลิตของยุคร็อกแอนด์โรล, โซลในช่วงทศวรรษที่ 60-80 ซึ่งศิลปินยุคนั้นมักจะเขียนเพลงของตัวเองเกือบทั้งสิ้น ในจุดนี้เขาก็เดินตามแนวทางนั้นมาเช่นกัน

วีเจย์ให้ความสำคัญกับรากเหง้าของดนตรีเป็นอย่างมาก จากการให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งของเขาเมื่อไม่นานมานี้กับนิตยสารดาวน์บีตในฐานะอาจารย์ดนตรีของมหาวิยาลัยนิวยอร์ก ใจความว่า “ผมพยายามพาผู้คนกลับสู่รากฐานเมื่อนับสิบๆ ปีก่อน ผมผลักดันให้เด็กนักเรียนถอดเพลงของเธลอเนียส มังก์และดุก เอลลิงตัน คือคุณรู้ไหม ผมพบว่านักดนตรีที่คนรุ่นใหม่ๆ สมัยนี้ใช้อ้างอิงเนี่ย คือ เดฟ ดักลาส, คริส พอตเตอร์, แบด พลัส, โรเบิร์ต กลาสเปอร์ คือผมรักนักดนตรีพวกนี้นะครับ แต่พวกเขาก็เรียนรู้ดนตรีมาจากประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ อีกนัยหนึ่งก็คือผมพยายามจะนำเสนอให้เราพินิจพิเคราะห์ถึงความต่อเนื่องทางดนตรี” สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะร้อยเรียงเนื้อแท้ของความเป็นวีเจย์และอัลบัม Historicity ได้อย่างชัดเจน

นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว วีเจย์อิงโครงสร้างของเพลงแต่ละเพลงในการคัดเลือกเพื่อมาตีความใหม่ โดยให้น้ำหนักในเรื่องคอร์ด โปรเกรสชันและเมโลดี ซึ่งทำให้เขามีแนวโน้มในการเลือกเพลงยุคฟรีแจ๊ส, อาร์แอนด์บี และร็อก เพื่อก่อให้เกิดผลพัฒนาเพลงเหล่านั้นมากไปกว่าความไพเราะในท่วงทำนอง ด้วยคำอธิบายชื่ออัลบัม Historicity ที่บอกเล่าไว้ผ่านปกอัลบัมว่า เป็นศักยภาพในจุดยืนของงานชิ้นหนึ่งๆ ที่จะสามารถมีที่ทางของมันเองท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากชิ้นงานขึ้นหิ้งและเพลงแต่งใหม่แล้ว เขายังได้เลือกเพลง Galang ของมายาเข้ามาบรรจุด้วย ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่เขาได้สื่อความหมายของ Historicity โดยใช้เพลงอย่าง Galang กับ Somewhere ซึ่งเรียกได้ว่ามาจากคนละยุคสมัยอย่างแท้จริง ทั้งยังตรงกันข้ามในทุกมุม แต่ความเหมือนกันข้อหนึ่งที่ “เชื่อมโยง” ทั้งสองเพลงนี้เข้าไว้ด้วยกันคือ โครงสร้างที่เรียบง่าย เล่นย้ำโน้ตเพียงไม่กี่ตัว และใช้มันคลี่ขยายออกไปในรูปแบบเดียวกัน ตรงนี้เองที่วีเจย์ใช้ผูกร้อยมันเข้าด้วยกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าดนตรีสื่อสารและมีความสัมพันธ์ต่อกัน การลำดับเพลงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และร้อยเรียงกันอย่างกลมกลืนจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักเปียโนคนนี้ให้ความสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่เอาเพลงมาเรียงลำดับต่อกันเท่านั้น




เปิดอัลบัมด้วย Historicity (วีเจย์ ไอเยอร์) เพลงที่มีความยาวเกือบแปดนาที วีเจย์ท้าทายคนฟังด้วยความซับซ้อนของเพลงในการเปลี่ยนคีย์ บวกด้วยความยาวของมัน เขาเคยบอกพูดเรื่องความยาวของเพลงเอาไว้ว่า มันจะเป็นหนทางให้นักดนตรีได้เกิดอิสรภาพในการเล่นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าเราไม่ได้ฟังแบบเอาความบันเทิง รื่นหูแต่เพียงอย่างเดียว เราจะพบว่าในความยาวนั้น สอดแทรกไปด้วยความเป็นเอกภาพในความคิดของนักดนตรี ที่เกี่ยวร้อยกันไว้ด้วยการเปลี่ยนคีย์ในเพลง ทำให้เวลาแปดนาทีผ่านไปอย่างมีความหมาย ปราศจากความเบื่อหน่ายโดยสิ้นเชิง เพียงแค่เพลงแรกวีเจย์ก็ไม่ทำให้คนฟังกังขาถึงฝีมือการบรรเลงเปียโนของเขาเลย โดยเฉพาะถ้าคุณไม่เคยฟังเพลงของเขามาก่อน

Somewhere (เลนเนิร์ด เบิร์นสไตน์, สตีเฟน ซอนด์ไฮม์) เปิดทางเข้าสู่เพลงด้วยการเดินเบสเบาๆ ที่อาจจะทำให้คุณคิดว่า เอ หรือฉันจะได้ฟังเพลงเบาๆ ในอัลบัมนายนักเปียโนแขกคนนี้? แต่เปล่าเลย… วีเจย์เอาเพลงที่เต็มไปด้วยความง่ายงามมาปรุงแต่งเติมแต้มลูกเล่นเข้าไปด้วยจังหวะที่ถูกเร่งให้กระชั้นขึ้นมาเล็กน้อย ไม่เหมือนกับที่เขาเคยตีความเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอนเอาไว้เมื่อครั้งในอัลบัม Reimagining ซึ่งเรียกได้ว่า “ปล่อยของ” ไปพอสมควร แต่การปล่อยของไม่ได้ถูกนำมาใช้กับ Somewhere ในแง่ของการโชว์ฝีมือการเล่นเปียโน แต่ถูกแสดงออกมาในแง่ของการอะเรนจ์เพลง โดยเฉพาะท่อนอิมโพรไวส์ที่เปียโนและเบสต่างรับส่งกันอย่างไม่ออมมือในช่วงกลางเพลง จุดเชื่อมโยงของเพลงนี้ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้คือ การเล่นย้ำตัวโน้ตและการอิมโพรไวส์ที่ทอดความยาวของเพลงออกไปถึงเจ็ดนาที

ต่อด้วยเพลง Galang (มายา) ซึ่งเรียงลำดับได้อย่างเหมาะเจาะต่อเนื่องกับ Somewhere ได้อย่างไม่คาดคิดว่าสองเพลงนี้จะต่อกันได้อย่างแนบเนียน หากว่าฟังแต่เพลงต้นฉบับ Galang เป็นเพลงฮิตทั่วโลกเมื่อปี 2003 จากอัลบัม Arular ของมายา ต้องบอกว่าวีเจย์รีอะเรนจ์ Somewhere ออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในขณะที่ Galang นั้นไม่จำเป็นต้องรีอะเรนจ์สักเท่าไร เพราะความลงตัวและเรียบง่าย ประกอบกับโครงสร้างจังหวะที่ดีพร้อมอยู่แล้วกับแนวทางนี้ วีเจย์ใช้ความสามารถในการเรียบเรียงและเล่นเปียโน เพื่อถ่ายทอดความเป็นต้นฉบับออกมาได้อย่างมีรสชาติ โดยให้มาร์คัส มือกลองถ่ายทอดจังหวะกลองไฟฟ้าออกมา เขาเล่นกับฉาบแฉอย่างออกรส วีเจย์เรียกเวอร์ชันนี้ว่า Riot version เพราะมันมาจากท่อนสุดท้ายในเพลงต้นฉบับ มายาจะทอดเสียงโหยหวนออกไปจนกระทั่งจบเพลง แต่ในเมื่อเปียโนไม่สามารถจะทอดเสียงให้หวนแบบนั้นได้ ความชุลมุนด้วยเสียงสั้นๆ ต่อการกดลิ่มเปียโนหนึ่งครั้งด้วยจังหวะระรัวก็บังเกิดขึ้นสดๆ ในห้องอัด สุดท้ายแล้ว มันคือเวอร์ชันที่อลหม่านจริงๆ

Helix (วีเจย์ ไอเยอร์) คือเพลงที่ทำให้หยุดหายใจได้สักพัก หลังจากความอลม่านบนลิ่มเปียโนได้ทำให้เราเกือบลืมหายใจในเพลง Galang ด้วยการเริ่มต้นแบบเนิบช้าราวกับที่เขาทำในเพลง Somewhere เราคิดว่าจะได้ฟังเพลงบัลลาดเนียนๆ สไตล์ปัญญาชนกับเขาสักเพลง แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะวีเจย์ค่อยๆ ผันแปรอารมณ์เข้าสู่ความคลุมเครือ บีบคั้นด้วยเสียงกลองอันเร่งเร้า จังหวะช่วงท้ายเพลงถูกเร่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับตอนต้นเพลง

Smokestack (แอนดรูว์ ฮิล) เสียงเปียโนต้นเพลงบ่งบอกถึงลีลาการเล่นในแบบอย่างของเธลอเนียส มังก์ เพลงนี้ดั้งเดิมแล้วมาจากอัลบัม Smokestack ซึ่งแอนดรูว์บันทึกเสียงอัลบัมดีๆ ไว้หลายชุดให้กับค่ายบลูโน้ต แอนดรูว์เป็นนักเปียโนอีกคนหนึ่งที่ส่งอิทธิพลให้นักเปียโนรุ่นลูกอย่างวีเจย์มาก ทั้งในฐานะนักเปียโนและนักแต่งเพลง มาร์คัสใส่ช่วงอิมโพรไวส์กลองเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่งในการแสดงทักษะการเล่นประหนึ่งว่าเขามีเกินสองมือและสองเท้าก็ไม่ปาน ในเวอร์ชันของแอนดรูว์นั้นก็ถือเป็นเพลงเด่นของรอย เฮย์นส ผู้ที่ทำหน้าที่มือกลองเช่นกัน ส่วนสตีเฟนนั้นถ่ายทอดเพลงนี้ออกมาด้วยเบสเพียงตัวเดียว โดยที่เวอร์ชันต้นฉบับนั้นเป็นเบสสองตัว (ริชาร์ด เดวิสและเอ็ดดี คาห์น) ถึงแม้ว่าสมาชิกจะไม่ครบเท่ากับวงควอร์เต็ตของแอนดรูว์ แต่ภาคริธึมของวีเจย์ในเพลงนี้ ก็ทำให้เราหลับตาฟังแบบลืมโลกไปได้ชั่วอึดใจหนึ่งเหมือนกัน เพลง Helix และ Smokestack ยังมีจุดเชื่อมโยงกับเพลงอื่นๆ ในแง่ของการเล่นย้ำชุดตัวโน้ตสั้นๆ วนไปมา

ผ่อนจังหวะลงมาเล็กน้อยในเพลง Big Brother (สตีวี วันเดอร์) วีเจย์เรียบเรียงจุดเชื่อมโยงของการเล่นวนโน้ตซ้ำๆ ให้เราได้ยินอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับสี่เพลงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งโครงสร้างของจังหวะที่โดดเด่นออกมาเช่นเดียวกับเพลง Galang ซึ่งก็มาจากโครงสร้างของต้นฉบับที่วีเจย์ได้คัดสรรมาแล้ว เขาเรียบเรียงใหม่เพิ่มจังหวะกระชั้นขึ้นมากกว่าต้นฉบับ ที่ยังพอจะมีความสดใสในสไตล์โซล เขาเล่นกับคีย์ต่ำของเปียโนกับจังหวะเร้าใจของกลองอยู่ตลอดทั้งเพลง แต่ไม่ใช่ด้วยลีลาที่แพรวพราวอย่างใน Smokestack หากควบคู่ไปด้วยเสียงเมโลดีที่วีเจย์เป็นคนถ่ายทอดออกมา ในช่วงสุดท้ายของเพลง เสียงเบสของสตีเฟนค่อยสอดแทรกขึ้นมา โดยไม่ได้เป็นการเดินเบสทั่วๆ ไป แต่ใช้คันชักสีก่อนที่จังหวะทั้งมวลจะจางหายไป ทำไมเขาถึงเรียบเรียงเพลงเอาไว้อย่างนี้นะหรือ?




Dogon A.D. (จูเลียส เฮมฟิล) ถูกวางต่อเนื่องกับ Big Brother อย่างแทบจะไร้รอยต่อ ถ้าเป็นอัลบัมเพลงเต้นรำ ก็เป็นผลงานไร้รอยตะเข็บให้ต้องติดขัดด้วยฝีมือดีเจที่เก่งฉกาจ คันชักที่สตีเฟนเพิ่งสาวออกมาท้ายเพลง Big Brother ถูกจัดวางเป็นจังหวะเพื่อให้ร้อยกับ Dogon A.D. อย่างหวังผล เมื่อเพลงเปิดด้วยเสียงเบสและกลองกับจังหวะที่เร้าใจ ในช่วงกลางเพลง ทริโอวงนี้แสดงการอิมโพรไวส์ในสไตล์อะวองต์การ์ดกันอย่างไม่ออมมือ โดยอาศัยจังหวะเล่นวนไปมาของโน้ตหลักเพียงไม่กี่ตัว เพลงนี้มีความยาวถึงเก้านาทีกว่าๆ ไม่แพ้เพลงต้นฉบับเลย ดั้งเดิมเพลงนี้เป็นของจูเลียส เฮมฟิล นักแซ็กโซโฟนแนวฟรีแจ๊สผู้ล่วงลับไปแล้ว Dogon A.D. มาจากอัลบัมชื่อเดียวกันนี้ อีกทั้งยังเป็นผลงานเปิดตัวชุดแรกของจูเลียสที่ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญถึงคุณภาพอันเข้มข้น ด้วยชิ้นเครื่องดนตรีหลากหลายที่ใช้ประกอบในวง อาทิ ฟลู้ต, ทรัมเป็ต, เชลโล และกลอง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ ณ ห้วงเวลานั้น พอบอกว่าเป็นฟรีแจ๊สหรืออะวองการ์ดแล้ว คุณอาจจะคิดว่ายากที่จะฟัง หรือฟังแล้วอาจจะหนวกหู แต่ขอรับรองว่าถ้าคุณได้ฟังเพลงนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีความคิดอย่างนั้นเหลืออยู่ เพราะการเรียบเรียงที่ทำให้ฟังไม่ยาก ประกอบกับความได้เปรียบของเครื่องดนตรีอย่างเปียโน ที่ซึมซับเข้าสู่โสตประสาทได้ง่าย และการอิมโพรไวส์ของเครื่องดนตรีทั้งสามชิ้น ที่อาจจะฟังดูสับสนอลหม่านไปบ้าง แต่เมื่อเปิดใจรับฟังลีลาการเล่นในแต่ละชิ้นแล้ว ก็มีความสุขในการฟังไปอีกแบบ โดยเฉพาะการเรียบเรียงที่เพิ่มบทบาทของเบสเข้ามาอย่างโดดเด่น เพราะในต้นฉบับนั้นออกจะเป็นศึกอิมโพรไวส์ของเครื่องเป่าทองเหลืองเกือบทั้งเพลง

Mystic Brew (รอนนี ฟอสเตอร์) เริ่มเข้าเพลงด้วยเปียโนเสียงจางๆ ที่มีกลิ่นอายคล้ายๆ กับแฮงก์ โจนส์ นักเปียโนระดับขึ้นหิ้งที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เดิมเพลงนี้เป็นของรอนนี ฟอสเตอร์ ศิลปินแจ๊สค่ายบลูโน้ตซึ่งงานของเขาตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายฟังก์ที่มีออร์แกนเป็นเครื่องดนตรีหลัก Mystic Brew ฉบับของวีเจย์เน้นจังหวะหนักแน่นของกลองตั้งแต่เปิดเพลง คงไว้ซึ่งโครงสร้างของจังหวะของต้นฉบับเดิม เขาเล่นแร่แปรธาตุกับคีย์และจังหวะของมันอย่างเริงรมย์ผสมไปด้วยศาสตร์ของการเรียบเรียง และศิลปะแห่งการบรรเลง รวมไปถึงโชว์ลูกนิ้วเปียโนแพรวพราวตั้งแต่ช่วงอิมโพรไวส์กลางเพลง ไปจนกระทั่งถึงจุดไคลแม็กซ์ในช่วงท้าย ซึ่งขอรับประกันว่าแฟนเพลงที่รักเนื้อหนังของการอิมโพรไวส์ จะไม่ผิดหวังกับสิ่งเหล่านี้เลย

Big Brother, Dogon A.D. และ Mystic Brew ต่างก็มีความสัมพันธ์กันในแง่ของห้วงเวลา ทั้งสามเพลงต่างเป็นเพลงในปี 1972 เหมือนกัน เป็นเรื่องบังเอิญที่วีเจย์บอกไว้ว่าไม่ได้ตั้งใจ อีกทั้งปี 1972 ก็ยังเป็นปีเกิดของเขาอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว 1972 ยังเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมายหลายอย่างด้วยกันในประเทศอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดจบของสงครามเวียตนาม, เป็นช่วงขับเคลื่อนของพลังคนผิวดำ แถมยังมีเรื่องราวอย่างคดีวอเตอร์เกต ซึ่งต่างๆ นานาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านภาพความซับซ้อนในบทเพลงของยุคนั้น ซึ่งทุกเพลงที่วีเจย์เรียบเรียงต่างลงเอยด้วยการอิมโพรไวส์อัดใส่คนฟังอย่างไม่เกรงใจ

Trident: 2010 และ Segment For Sentiment #2 สองเพลงปิดท้ายที่วีเจย์เรียบเรียงขึ้น ใหม่ เพลง Trident: 2010 เคยปรากฏในอัลบัม Architextures (1998, เอเชียน อิมพรูฟ/เรด ไจแอนต์ เร็กคอร์ดส) แล้วครั้งหนึ่ง ในตอนนั้นเพลงนี้ยาวเพียงหกนาที แต่เวอร์ชันใหม่มีความยาวเก้านาทีเศษๆ เหลือเฟือกับการอิมโพรไวส์ที่เขาเปิดช่องให้กับมาร์คัสและสตีเฟนได้ถ่ายทอดฝีมือ รวมไปถึงการพัฒนาตัวเพลงที่ค่อยๆ บีบคั้นขึ้นมาเป็นลำดับ จนถึงช่วงปลดปล่อยตอนท้ายเพลง เพลงนี้คือ การเปิดกว้างให้อิสระอย่างเต็มที่ในการเล่นภายใต้โครงสร้างของเพลง ส่วน Segment For Sentiment #2 ก็เป็นอีกเพลงที่วีเจย์นำมาจากอัลบัมแรกในชีวิต Memorophilia (1996, เอเชียน อิมพรูฟ เร็กคอร์ดส)ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นบัลลาดประจำอัลบัมนี้เลยก็ว่าได้ (ซึ่งในที่สุดก็มีเพลงช้าจนได้!) วีเจย์เรียบเรียงออกมาให้เพลงดำเนินไปอย่างเนิบนาบ สละสลวย สตีเฟนเดินเบสเหมือนเดินเล่นทอดหุ่ยไปเรื่อยๆ แต่หนักแน่นอยู่ในที

Historicity มีธีมที่ชัดเจนในการเล่นอยู่กับโครงสร้างของเพลงดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น เลือกที่จะเติมแต้มสีสันให้บทเพลงด้วยการเล่นคีย์และจังหวะของเพลงนั้นๆ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดวีเจย์ถึงต้องคัดสรรเพลงที่จะนำมาบรรจุในอัลบัมอย่างประณีตบรรจง หากว่าฟังและจับสังเกตในแต่ละเพลงสักหน่อย ก็จะพบความสัมพันธ์ในธีมหลักที่เขาถอดความคิดออกมาใส่ไว้ ถึงแม้ว่า Historicity จะไม่ใช่เพียงแค่งานที่ฟังเอาความบันเทิงแต่เพียงถ่ายเดียว แต่ก็หาใช่งานที่เท้าไม่ติดดิน มันน่าจะเป็นงานดนตรีแจ๊สที่ด็อกเตอร์หนุ่มวีเจย์ ไอเยอร์ ผู้ที่รุ่มรวยไปด้วยความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ถ่ายทอดออกมาให้แฟนเพลงได้ลิ้มรสรูปแบบแจ๊สที่คงจะเรียกได้ว่าเป็น “แจ๊สปัญญาชน”



Vijay Iyer – Historicity (ACT Music, 2009)
ดูแลการผลิต วีเจย์ ไอเยอร์
นักดนตรี
วีเจย์ ไอเยอร์ เปียโน
มาร์คัส กิลมอร์ กลอง
สตีเฟน ครัมป์ เบส

รายชื่อเพลงในอัลบัม
1. Historicity (วีเจย์ ไอเยอร์) 7:50
2. Somewhere (เลนเนิร์ด เบิร์นสไตน์, สตีเฟน ซอนด์ไฮม์) 6:57
3. Galang (Trio Riot Version) (มายา) 2:40
4. Helix (วีเจย์ ไอเยอร์) 4:00
5. Smokestack (แอนดรูว์ ฮิล) 8:09
6. Big Brother (สตีวี วันเดอร์) 4:47
7. Dogon A.D. (จูเลียส เฮมฟิล) 9:19
8. Mystic Brew (รอนนี ฟอสเตอร์) 4:56
9. Trident: 2010 (วีเจย์ ไอเยอร์) 9:10
10. Segment For Sentiment #2 (วีเจย์ ไอเยอร์) 4:03

อัลบัมคัดสรรของวีเจย์ ไอเยอร์

Vijay Iyer - Memorophilia (1996, เอเชียน อิมพรูฟ เร็กคอร์ดส)
Vijay Iyer - Architextures (1998, เอเชียน อิมพรูฟ/เรด ไจแอนต์ เร็กคอร์ดส)
Vijay Iyer - Panoptic Modes (2001, เรด ไจแอนต์ เร็กคอร์ดส)
Fieldwork - Your Life Flashes (2002, ไพ เร็กคอร์ดิงส์)
Vijay Iyer & Mike Ladd - In What Language? (2003, ไพ เร็กคอร์ดิงส์)
Vijay Iyer - Blood Sutra (2003, อาร์ทิสต์ เฮาส์)
Vijay Iyer - Reimagining (2005, ซาวอย แจ๊ส)
Fieldwork - Simulated Progress (2005, ไพ เร็กคอร์ดิงส์)
Vijay Iyer & Rudresh Mahanthappa - Raw Materials (2006, ซาวอย แจ๊ส)
Vijay Iyer & Mike Ladd - Still Life with Commentator (2007, ซาวอย แจ๊ส)
Fieldwork - Door (2008, ไพ เร็กคอร์ดิงส์)
Vijay Iyer - Tragicomic (2008, ซันนีไซด์)
Vijay Iyer - Historicity (2009, เอซีที มิวสิก)
Vijay Iyer – Solo (2010, เอซีที มิวสิก)



Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2555 13:06:37 น. 0 comments
Counter : 1675 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.